การศึกษาจะดำเนินไป มีปัจจัยช่วยเกื้อหนุน

1 สิงหาคม 2544
เป็นตอนที่ 8 จาก 11 ตอนของ

การศึกษาจะดำเนินไป มีปัจจัยช่วยเกื้อหนุน

ขอย้อนย้ำว่า มรรค คือการดำเนินชีวิตหรือวิถีชีวิตที่ดี แต่จะดำเนินชีวิตดีได้ก็ต้องมีการฝึกฝนพัฒนา ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกศึกษาที่เรียกว่า สิกขา

มรรค เป็นจุดหมายของ สิกขา การที่ให้มีไตรสิกขา ก็เพื่อให้คนมีชีวิตที่เป็นมรรค และก้าวไปในมรรคนั้น

ด้วยการฝึกตามระบบแห่งไตรสิกขา องค์ ๘ ของมรรคจะเกิดขึ้นเป็นคุณสมบัติของคน และเจริญพัฒนา ทำให้มีชีวิตดี ที่เป็นมรรค และก้าวไปในมรรคนั้น

อย่างไรก็ดี กระบวนการแห่งสิกขา มิใช่ว่าจะเริ่มขึ้นมาและคืบหน้าไปเองลอยๆ แต่ต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนหรือช่วยกระตุ้น

เนื่องจากปัจจัยที่ว่านี้เป็นตัวนำเข้าสู่สิกขา จึงจัดว่าอยู่ในขั้นก่อนมรรค และการนำเข้าสู่สิกขานี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แบ่งกระบวนการแห่งการศึกษาออกเป็น ๒ ขั้นตอนใหญ่ คือ ขั้นนำเข้าสู่สิกขา และ ขั้นไตรสิกขา

๑. ขั้นนำสู่สิกขา หรือการศึกษาจัดตั้ง

ขั้นก่อนที่จะเข้าสู่ไตรสิกขา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ขั้นก่อนมรรค เพราะมรรค หรือเรียกให้เต็มว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็คือ วิถีแห่งการดำเนินชีวิต ที่เกิดจากการฝึกศึกษาตามหลักไตรสิกขานั่นเอง

เมื่อมองในแง่ของมรรค ก็เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ซึ่งเป็นปัญญาในระดับหนึ่ง

ปัญญาในขั้นนี้ เป็นความเชื่อและความเข้าใจในหลักการทั่วๆ ไป โดยเฉพาะความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือการถือหลักการแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นความเชื่อที่เป็นฐานสำคัญของการศึกษา ที่จะทำให้มีการพัฒนาต่อไปได้ เพราะเมื่อเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอมีอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องคิดค้นสืบสาวหาเหตุปัจจัย และต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับเหตุปัจจัย การศึกษาก็เดินหน้า

ในทางตรงข้าม ถ้ามีทิฏฐิความคิดเห็นเชื่อถือที่ผิด ก็จะตัดหนทางที่จะพัฒนาต่อไป เช่น ถ้าเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปเองแล้วแต่โชค หรือเป็นเพราะการดลบันดาล คนก็ไม่ต้องศึกษาพัฒนาตน เพราะไม่รู้จะพัฒนาไปทำไม

ดังนั้น ในกระบวนการฝึกศึกษาพัฒนาคน เมื่อเริ่มต้นจึงต้องมีปัญญาอยู่บ้าง นั่นคือปัญญาในระดับของความเชื่อในหลักการที่ถูกต้อง ซึ่งเมื่อเชื่อแล้วก็จะนำไปสู่การศึกษา

คราวนี้ สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไป ก็คือ สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นฐานหรือเป็นจุดเริ่มให้คนมีการศึกษาพัฒนาต่อไปได้นี้ จะเกิดขึ้นในตัวบุคคลได้อย่าง ไร หรือทำอย่างไรจะให้บุคคลเกิดมีสัมมาทิฏฐิ

ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดง ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ อย่าง1 คือ

๑. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆสะ
๒. ปัจจัยภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ

ตามหลักการนี้ การมีสัมมาทิฏฐิอาจเริ่มจากปัจจัยภายนอก เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ หรือวัฒนธรรม ซึ่งทำให้บุคคลได้รับอิทธิพลจากความเชื่อ แนวคิด ความเข้าใจ และภูมิธรรมภูมิปัญญา ที่ถ่ายทอดต่อกันมา

ถ้าสิ่งที่ได้รับจากการแนะนำสั่งสอนถ่ายทอดมานั้นเป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง อยู่ในแนวทางของเหตุผล ก็เป็นจุดเริ่มของสัมมาทิฏฐิ ที่จะนำเข้าสู่กระแสการพัฒนาหรือกระบวนการฝึกศึกษา ในกรณีอย่างนี้ สัมมาทิฏฐิเกิดจากปัจจัยภายนอกที่เรียกว่า ปรโตโฆสะ

ถ้าไม่เช่นนั้น บุคคลอาจเข้าสู่กระแสการศึกษาพัฒนาโดยเกิดปัญญาที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐินั้น ด้วยการใช้โยนิโสมนสิการ คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณาด้วยตนเอง

แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าสู่กระแสการศึกษาพัฒนาด้วยปรโตโฆสะ เพราะคนที่มีโยนิโสมนสิการแต่แรกเริ่มนั้น หาได้ยาก

ปรโตโฆสะ” แปลว่า เสียงจากผู้อื่น คืออิทธิพลจากภายนอก เป็นคำที่มีความหมายกลางๆ คืออาจจะดีหรือชั่ว ถูกหรือผิดก็ได้ ถ้าปรโตโฆสะนั้นเป็นบุคคลที่ดี เราเรียกว่า กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปรโตโฆสะชนิดที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะที่ได้เลือกสรรกลั่นกรองแล้ว เพื่อให้มาทำงานในด้านการศึกษา

ถ้าบุคคลและสถาบันที่มีบทบาทสำคัญมากในสังคม เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ สื่อมวลชน และองค์กรทางวัฒนธรรม เป็นปรโตโฆสะที่ดี คือเป็นกัลยาณมิตร ก็จะนำเด็กไปสู้สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นฐานของการพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตาม คนที่พัฒนาดีแล้วจะมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ พึ่งตนได้โดยมีอิสรภาพ แต่คุณสมบัตินี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเขารู้จักใช้ปัจจัยภายใน เพราะถ้าเขายังต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ก็คือ การที่ยังต้องพึ่งพา ยังไม่เป็นอิสระ จึงยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ดังนั้น จุดเน้นจึงอยู่ที่ปัจจัยภายใน

แต่เราอาศัยปัจจัยภายนอกมาเป็นสื่อในเบื้องต้น เพื่อช่วยชักนำให้ผู้เรียนสามารถใช้โยนิโสมนสิการ ที่เป็นปัจจัยภายในของตัวเขาเอง

เมื่อรู้หลักนี้แล้ว เราก็ดำเนินการพัฒนากัลยาณมิตรขึ้นมาช่วยชักนำคนให้รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ

นอกจากปรโตโฆสะที่เป็นกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลัก ๒ อย่างนี้แล้ว ยังมีองค์ประกอบเสริมที่ช่วยเกื้อหนุนในขั้นก่อนเข้าสู่มรรคอีก ๕ อย่าง จึงรวมทั้งหมดมี ๗ ประการ

องค์ธรรมเกื้อหนุนทั้ง ๗ ที่กล่าวมานั้น มีชื่อเรียกว่าบุพนิมิตของมรรค2 เพราะเป็นเครื่องหมายบ่งบอกล่วงหน้าถึงการที่มรรคจะเกิดขึ้น หรือเป็นจุดเริ่มที่จะนำเข้าสู่มรรค อาจเรียกเป็นภาษาง่ายๆ ว่า แสงเงินแสงทองของ (วิถี) ชีวิตที่ดีงาม หรือเรียกในแง่สิกขาว่า รุ่งอรุณของการศึกษา ดังนี้

๑. กัลยาณมิตตตา (มีกัลยาณมิตร=แสวงแหล่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี) ได้แก่ ปรโตโฆสะที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ที่ได้กล่าวแล้ว

๒. ศีลสัมปทา (ทำศีลให้ถึงพร้อม=มีวินัยเป็นฐานของการพัฒนาชีวิต) คือ ประพฤติดี มีวินัย มีระเบียบในการดำเนินชีวิต ตั้งอยู่ในความสุจริต และมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีที่เกื้อกูล

๓. ฉันทสัมปทา (ทำฉันทะให้ถึงพร้อม=มีจิตใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์) คือ พอใจใฝ่รักในความรู้ อยากรู้ให้จริง และปรารถนาจะทำสิ่งทั้งหลายให้ดีงาม3

๔. อัตตสัมปทา (ทำตนให้ถึงพร้อม=มุ่งมั่นฝึกตนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะให้ถึงได้) คือการทำตนให้ถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพของความเป็นมนุษย์ โดยมีจิตสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอ

๕. ทิฏฐิสัมปทา (ทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม=ถือหลักเหตุปัจจัยมองอะไรๆ ตามเหตุและผล) คือ มีความเชื่อที่มีเหตุผล ถือหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

๖. อัปปมาทสัมปทา (ทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม=ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท) คือ มีสติครองตัว เป็นคนกระตือรือร้น ไม่เฉื่อยชา ไม่ปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะมีจิตสำนึกตระหนักในความเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เห็นคุณค่าของกาลเวลา และรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา (ทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม=ฉลาดคิดแยบคายให้ได้ประโยชน์และความจริง) รู้จักคิด รู้จักพิจารณา มองเป็น คิดเป็น เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นไป ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย รู้จักสอบสวนสืบค้นวิเคราะห์วิจัย ให้เห็นความจริง หรือให้เห็นแง่ด้านที่จะทำให้เป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาและจัดทำดำเนินการต่างๆ ให้สำเร็จได้ ด้วยวิธีการแห่งปัญญา ที่จะทำให้พึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้

ในการศึกษานั้น ปัจจัยตัวแรก คือกัลยาณมิตร อาจช่วยชักนำ หรือกระตุ้นให้เกิดปัจจัยตัวอื่น ตั้งแต่ตัวที่ ๒ จนถึงตัวที่ ๗

การที่จะมีกัลยาณมิตรนั้น จัดแยกได้เป็นการพัฒนา ๒ ขั้นตอน

ขั้นแรก กัลยาณมิตรนั้นเกิดจากผู้อื่นหรือสังคมจัดให้ ซึ่งจะทำให้เด็กอยู่ในภาวะที่เป็นผู้รับและยังมีการพึ่งพามาก

ขั้นที่สอง เมื่อเด็กพัฒนามากขึ้น คือรู้จักใช้โยนิโสมนสิการแล้ว เด็กจะมองเห็นคุณค่าของแหล่งความรู้ และนิยมแบบอย่างที่ดี แล้วเลือกหากัลยาณมิตรเอง โดยรู้จักปรึกษาไต่ถาม เลือกอ่านหนังสือ เลือกชมรายการโทรทัศน์ที่ดีมีประโยชน์ เป็นต้น

พัฒนาการในขั้นที่เด็กเป็นฝ่ายเลือกคบหากัลยาณมิตรเองนี้ เป็นความหมายของความมีกัลยาณมิตรที่ต้องการในที่นี้ และเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว เด็กจะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรของผู้อื่นได้ด้วย อันนับเป็นจุดสำคัญของการที่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคม

ถ้าบุคคลมีปัจจัย ๗ ข้อนี้แล้ว ก็เชื่อมั่นได้ว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีงาม และกระบวนการศึกษาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนขยายของมรรค หรือของไตรสิกขานั้นเอง ที่ยื่นออกมาเชื่อมต่อเพื่อรับหรือดึงคนเข้าสู่กระบวนการฝึกศึกษาพัฒนา โดยเป็นทั้งตัวชักนำเข้าสู่ไตรสิกขา และเป็นตัวเร่ง และคอยเสริมให้การฝึกศึกษาของไตรสิกขาเดินหน้าไปด้วยดี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ชีวิตทั้ง ๓ ด้าน การศึกษาทั้ง ๓ ขั้น ประสานพร้อมไปด้วยกันการศึกษา[ที่สังคม]จัดตั้ง ต้องไม่บดบังการศึกษาที่แท้ของชีวิต >>

เชิงอรรถ

  1. องฺ.ทุก. ๒๐/๓๗๑/๑๑๐
  2. ขุ ม. ๑๙/๑๒๙-๑๓๗/๓๖-๓๗ (คำแปลแบบช่วยจำ นำมาจากหนังสือ ธรรมนูญชีวิต พ.ศ. ๒๕๔๒)
  3. ฉันทะ เป็นธรรมที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง มีความหมายเป็นภาษาบาลีว่า “กตฺตุกมฺยตา แปลว่า ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ คือ ต้องการทำ หรืออยากทำ ได้แก่การมีความปรารถนาดีต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่พบเห็นเกี่ยวข้อง และอยากจะทำให้สิ่งนั้นๆ ดีงามสมบูรณ์เต็มตามภาวะที่ดีที่สุดของมัน ฉันทะ เป็นธรรมที่พัฒนาโดยอาศัยปัญญา และพึงพัฒนาขึ้นมาแทนที่ หรืออย่างน้อยให้ดุลกับ ตัณหา (ความอยากเกี่ยวกับตัวตน เช่น อยากได้ อยากเสพ อยากเป็น อยากคงอยู่ตลอดไป อยากสูญสลายหรืออยากทำลาย)

No Comments

Comments are closed.