การแก้ปัญหาที่ตรงไปตรงมา คือให้ชาวพุทธรู้จักศาสนาที่ตัวบอกว่านับถือ

7 กันยายน 2544
เป็นตอนที่ 1 จาก 4 ตอนของ

อุดมศึกษา
ที่โยงตลอดลงมาถึงฐาน1

ขออนุโมทนา ท่านเลขาธิการและอธิการบดี ที่มีดำริเป็นกุศล ระลึกถึงพระพุทธศาสนา และคำนึงถึงความเป็นไทย

การแก้ปัญหาที่ตรงไปตรงมา คือให้ชาวพุทธรู้จักศาสนาที่ตัวบอกว่านับถือ

ตอนแรกที่ท่านเลขาธิการปรารภเกี่ยวกับการนำพระพุทธศาสนามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาการศึกษาของชาตินั้น อาตมาก็มานึกถึงสิ่งที่เคยได้พูดไว้ ซึ่งเป็นเรื่องกว้างๆ ไม่ใช่เฉพาะประเด็นการศึกษา คิดว่าเป็นเรื่องการแก้ปัญหาของสังคมประเทศชาติ ที่ตรงจุด ตรงประเด็น

อย่างที่ทราบกันดีว่า พลเมืองไทยนั้นเป็นพุทธศาสนิกชน ประมาณ ๙๕% แต่ปัญหาที่ทราบกันอยู่ก็คือคนที่เป็นพุทธไม่รู้ไม่เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา และเชื่อถืออะไรผิดๆ ทำอะไรๆ นอกลู่นอกทาง เขวออกไปจากพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาทั้งหมด

ในเมื่อคนไทยไม่รู้หลักคำสอนในศาสนาของตนเอง ไม่รู้จักศาสนาของตัว เชื่อผิด ปฏิบัติผิด จึงเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ให้ตรงจุด ก็ต้องให้คนไทยเหล่านี้ได้รู้จักคำสอนของพระพุทธศาสนา ให้เชื่อให้ถูก และปฏิบัติให้ตรง ก็จะแก้ปัญหาไปในตัวเท่านั้นเอง

ปัญหามีอยู่แค่นี้ นั่นคือ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่รู้เรื่องพุทธศาสนา ทั้งที่มีชื่อว่าเป็นชาวพุทธ ให้รู้เรื่องพระพุทธศาสนา เชื่อให้ถูก ปฏิบัติให้ถูก แค่นี้ก็จะแก้ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทยได้

เริ่มด้วย “วินัยชาวพุทธ” ซึ่งเดี๋ยวนี้คนไทยแทบไม่รู้จัก เมื่อพูดถึงวินัยก็คิดแต่ว่าพระต้องมีวินัย ทั้งที่ความจริงชาวบ้านก็มีวินัย ถามว่าพุทธศาสนาสอนอะไร คนไทยที่บอกว่าเป็นพุทธส่วนใหญ่ตอบไม่ค่อยถูก อย่าว่าแต่ตอบไม่ถูกเลย ตอบไม่เข้าเค้าเสียด้วยซ้ำ

ความเป็นพุทธมีความสัมพันธ์กับความเป็นไทยตรงที่ว่า คนไทยเป็นชาวพุทธกันมานานแล้ว พุทธศาสนาจึงเข้ามาสู่วิถีชีวิต กลายเป็นวัฒนธรรม พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทย แยกกันไม่ออก ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม แม้กระทั่งภาษา

จะเห็นได้ว่า ถ้อยคำที่เราใช้มาจากพระพุทธศาสนา โดยทางภาษาบาลีบ้าง สันสกฤตบ้าง แต่ความหมายเพี้ยนไปมากมาย คิดว่าเหลืออยู่น้อยคำที่คนไทยจะเข้าใจตรงตามหลัก แม้แต่เมตตา กรุณา ก็เลือนรางไม่รู้ว่าความหมายอยู่แค่ไหน แล้วจะปฏิบัติอย่างไรได้ถูก ทั้งๆ ที่เราใช้พูดกันอยู่แต่ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ เรื่องที่พูดอยู่ใช้อยู่ก็ยังพร่ามัวไม่ชัดเจน

เหมือนกับที่ท่านเลขาธิการว่า คือเราไม่รู้จักตัวเองในความเป็นไทย แต่ไปรู้จักอะไรไม่รู้ที่นำเข้ามาจากเมืองนอก คล้ายกับสินค้าเข้า ส่งคนของเราไปเรียนแล้วรับเข้ามา สุกบ้าง ดิบบ้าง ก็เลยกลายเป็นปัญหา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปจะจัดจะแก้ไขอะไร ก็ต้องรู้จักสิ่งที่ตัวจะจัดจะแก้ไขนั้น >>

เชิงอรรถ

  1. ธรรมกถาของ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต) เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ศาสนธรรม ในการปฏิรูปการจัดอุดมศึกษาไทย ตามคำอาราธนาของสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ (บันทึกวีดิทัศน์ เพื่อนำไปเผยแพร่ในที่ประชุมของชาวราชภัฏ ณ สถาบันราชภัฏพระนคร เมื่อวันที่ 7 กันยายน ๒๕๔๔)

No Comments

Comments are closed.