ขันติให้ครบ

5 มีนาคม 2546
เป็นตอนที่ 4 จาก 10 ตอนของ

ขันติให้ครบ

ต่อไป อาการของความอดทนมี ๒ แบบ

๑) อดทนแบบตั้งรับ

๒) อดทนในการบุกฝ่า

อย่ามองแง่เดียว ต้องมองให้ครบ

๑) อดทนแบบตั้งรับ การตั้งรับก็เป็นความอดทนที่สำคัญ และโดยมากคนก็จะคิดถึงความอดทนโดยมองในแง่นี้ คือคอยตั้งรับ เขาทำอะไรมา ก็ตั้งรับ อดทนไปๆ อย่างนี้ก็ต้องระวัง ต้องตั้งรับด้วยปัญญาอย่างมีเหตุมีผล ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นความกดดัน แล้วจะเกิดปัญหาขึ้นมาอีก

ความอดทนในแง่ตั้งรับนี้ ต้องทำใจได้ คือทำใจด้วยปัญญารู้เข้าใจที่ทำให้ใจพร้อมรับ อย่างพระสารีบุตร ที่ท่านมีขันติธรรม ทั้งที่หรือสมกับที่เป็นผู้บริหารสังฆะรองจากองค์พระพุทธเจ้า

ไม่ว่าจะมีเรื่องราวอะไรกระทบกระทั่ง คนโน้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้ พระสารีบุตรก็รับได้

พระสารีบุตรท่านเป็นเหมือนอย่างผืนแผ่นดิน ก็แล้วผืนแผ่นดินเป็นอย่างไรล่ะ คือ ใครจะเอาของดีหรือของเสียเทลงมา เอาอะไรรดใส่ ไม่ว่าจะสกปรกแค่ไหน หรือจะเอาของดีแค่ไหนมาฝังไว้ เช่น ทรัพย์สมบัติ หรือเพชรนิลจินดา อย่างสมัยก่อนที่เขาไปขุดหลุมฝังขุมทรัพย์ไว้ใต้ดิน ของดีก็ฝังไว้ในดิน ของเสียก็เทลงไปในดิน ผืนปฐพีนี้รับได้หมด ไม่ร้องไม่บ่นอะไรทั้งนั้น

คนที่จะอดทน เมื่อถึงคราวตั้งรับ ก็ต้องทำใจให้เหมือนผืนแผ่นดินอย่างนี้ ไม่ว่าเรื่องดีหรือเรื่องร้ายมา ต้องรับได้หมด ก็จะผ่านพ้นปัญหาไปได้ อย่างคุณพ่อคุณแม่ บางทีก็ต้องเป็นเหมือนผืนแผ่นดินนี่แหละ คือรับได้หมดทั้งนั้น

๒) อดทนแบบบุกฝ่า หมายความว่า การงานที่จะทำ หรือสิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์อันดีงาม เราจะต้องก้าวไปทำ หรือทำให้ก้าวไปจนกว่าจะสำเร็จ ถึงจะมีอุปสรรคยากลำบาก ก็ต้องฝ่าฟันไป อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ เป็นคาถาว่า

อหํ นาโคว สงฺคาเม จาปาโต ปติตํ สรํ…

บอกว่า “เรานี้เหมือนช้างศึกเข้าสงคราม ซึ่งทนต่อลูกศรที่พรั่งพรูมา”

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบพระองค์เหมือนช้างศึก คือ พระองค์เสด็จไปประกาศพระศาสนา หรือไปโปรดสัตว์ ทรงเดินทางไปเทศนาสั่งสอน คนก็ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง บางทีขัดใจเขาบ้าง ขัดลาภขัดยศเขาบ้าง เขาก็ด่าว่าหรือแกล้งใส่ร้ายต่างๆ ตลอดจนหาทางทำร้าย พระพุทธเจ้าก็ทรงมีความอดทน

พระองค์เหมือนช้างศึก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายชัดเจน คือจะไปให้ถึงชัยชนะ แต่ในระหว่างนี้ เมื่อมีสิ่งที่เข้ามากระทบกระทั่ง คือ อาวุธ แหลน หลาว ลูกธนู ที่เข้ามาทุกอย่างจากทุกทิศ ช้างศึกก็ต้องอดทน รับได้หมด และฝ่าไปให้ถึงจุดหมาย

เราก็เหมือนกัน ถ้ามีวัตถุประสงค์ที่ดีงามแล้ว แน่ใจแล้ว เราก็ทำ และเดินหน้าไป เมื่อเจอสิ่งที่เข้ามากระทบกระทั่ง ก็ไม่มัวเก็บเอามาเป็นอารมณ์ เมื่อไม่มัวติดข้องอยู่กับเรื่องจุกจิก เราก็จะมุ่งแน่วไปข้างหน้า และผ่านไปด้วยดี

แต่ถ้ามัวเก็บเอาเรื่องขลุกขลิกนอกทางมาเป็นอารมณ์กระทบตัว เราก็จะมัววุ่นวายพันพัวอยู่กับเรื่องเหลวไหล แทนที่ใจจะอยู่กับสิ่งดีงามที่จะทำและแล่นโล่งไปให้ถึงจุดหมาย ก็มัวพะว้าพะวังวุ่นอยู่กับเรื่องแทรกแซงจุกจิกเหลวไหล เลยทำให้ล่าช้า หรือเสียงาน

คนที่มีใจเป็นสมาธิ ตั้งมั่นแน่วแน่ จะมุ่งไปที่จุดหมาย เขาไม่ถือสาอารมณ์เหล่านี้ ก็เลยทนได้โดยไม่ทุกข์ เรื่องก็ผ่านไปๆ นี่ก็เป็นลักษณะของขันติความอดทนที่สำคัญด้านหนึ่ง

เพราะฉะนั้นจึงต้องอดทนให้ถูกทาง ถ้าจะทำสิ่งที่ดีงาม เมื่อมั่นใจแล้ว พระพุทธเจ้าไม่มีท้อถอยเลย พระองค์ประทับนั่งที่ใต้ร่มโพธิ์ ตอนนี้แน่พระทัยแล้ว ก็ตรัสในพระทัยว่า ถ้าไม่บรรลุโพธิญาณ แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดไปเหลือแต่กระดูก ก็จะไม่ลุกขึ้นมา

คนสมัยนี้ ถ้าเอาอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อจะทำงานที่ดีงามสำคัญ มองเห็นเหตุเห็นผลแล้ว ก็ต้องทำให้สำเร็จ

ให้ถึงขั้นที่ว่า ถึงจะต้องคลาน ก็สู้ ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า มีความอดทนที่เป็นตบะ

นี้คือเรื่องขันติ ซึ่งขอนำมาพูดเป็นข้อสังเกต และเป็นการทบทวนไปด้วย

จะเห็นว่า แม้แต่เพียงขันติข้อเดียวนี้ ก็เป็นเรื่องใหญ่มากแล้ว พระพุทธเจ้านำมาตรัสเป็นข้อที่ ๑ เพื่อสอนให้รู้จักใช้ความเข้มแข็งมุ่งมั่นเพียรพยายามให้ถูกทาง

แทนที่จะไปทรมานร่างกาย หรือทำอะไรต่ออะไรที่ไม่เป็นเรื่อง ก็นำกำลังมาใช้ในการทำสิ่งที่ดีงาม ให้สำเร็จผลจนถึงจุดหมาย

การบำเพ็ญตบะ ก็คือการเผาผลาญกิเลส แต่พวกนักบวชสมัยโน้น เขาเผากิเลสด้วยการทรมานร่างกาย

ทีนี้ ขันติ คือความเข้มแข็งอดทนที่ดั้นด้นไปด้วยพลังความเพียรนี้ ก็เผาผลาญกิเลสเช่นความเกียจคร้านเฉื่อยชา เผาผลาญความอยากได้อยากบำรุงบำเรอหมกมุ่นมัวเมาตามใจตัวเอง แล้วก็เผาผลาญอุปสรรคให้เหือดหาย แม้แต่เหล็ก ก็หลอมละลายเอามาปั้นได้ สามารถผ่านพ้นก้าวไป จนถึงความสำเร็จ นี้คือขันติ ที่เป็นตบะ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ตบะทำไมมาอยู่ที่ขันติคนยุคนี้ขี้แย? >>

No Comments

Comments are closed.