ข้อควรทราบเกี่ยวกับการศึกษาของคณะสงฆ์

1 กรกฎาคม 2529
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

ข้อควรทราบเกี่ยวกับการศึกษาของคณะสงฆ์1

 

สภาพปัจจุบัน ปัญหา และสาเหตุบางอย่างของปัญหา

๑. ในด้านระบบการศึกษา การศึกษาที่พระภิกษุสามเณรเล่าเรียนกันอยู่ในปัจจุบันมีมากมายหลายอย่าง และส่วนมากไม่สัมพันธ์กัน เหมือนกับว่ามีหลายระบบหรือไม่มีระบบ เลยทำให้เกิดความรู้สึกสับสนและความไม่มั่นใจแก่พระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ทั้งที่เป็นผู้เล่าเรียนและผู้เกี่ยวข้องในการให้การศึกษา และเป็นที่มาสำคัญของความไม่เรียบร้อย ความหย่อนประสิทธิภาพ ตลอดจนปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับกิจการในวงการพระศาสนาสมัยปัจจุบัน

โดยสรุป การศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรในปัจจุบัน จัดเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้

๑) การศึกษาที่เป็นระบบของคณะสงฆ์เองโดยเฉพาะ เป็นอิสระต่างหากจากระบบของรัฐ โดยทางการคณะสงฆ์เป็นผู้จัดดำเนินการเอง

– แผนกธรรม ได้แก่ นักธรรมและธรรมศึกษา (มี ๓ ชั้นคือ ชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก)

– แผนกบาลี ได้แก่ เปรียญธรรม (มี ๙ ชั้น คือประโยค ๑-๒ ถึงประโยค ป.ธ. ๙)

๒) การศึกษาที่อยู่ในระบบของรัฐ หรือจัดให้สอดคล้องกับระบบของรัฐ แยกเป็น

ก. การศึกษาทางฝ่ายคณะสงฆ์ที่จัดให้สอดคล้องกับระบบของรัฐ โดยหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลในพระศาสนาเป็นผู้จัดดำเนินงาน ได้แก่

– การศึกษาที่คณะสงฆ์รับเข้าเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่ง คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

– การศึกษาที่รัฐกำหนดขึ้นตามความประสงค์ของคณะสงฆ์ ได้แก่ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา

ข. การศึกษาในระบบของรัฐ ซึ่งหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลจัดให้แก่พระภิกษุสามเณร โดยขออนุญาตจากรัฐ ได้แก่ การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร

๓) การศึกษาที่จัดขึ้นเป็นอิสระต่างหากจากระบบของคณะสงฆ์และระบบของรัฐ ได้แก่ จิตตภาวันวิทยาลัย โรงเรียนอภิธรรม เป็นต้น

การศึกษาตามระบบของคณะสงฆ์ในข้อ ๑) เป็นการศึกษาที่กำหนดให้ หรือการศึกษาที่กำหนดว่าพระภิกษุสามเณรพึงศึกษา ส่วนการศึกษาในข้ออื่นๆ เป็นทางเลือกที่พระภิกษุสามเณรผู้ต้องการและมีคุณสมบัติ อาจเลือกศึกษาได้ หรือเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักนั้นๆ คำว่า “การศึกษาพระปริยัติธรรม” โดยทั่วไป หมายถึงการศึกษาตามระบบของคณะสงฆ์ ในข้อ ๑) นั้น

๒. ในด้านการบริหารและดำเนินงาน มีข้อสังเกตสำคัญ เกี่ยวกับการศึกษาพระปริยัติธรรม ๓ อย่างคือ

ก. คณะสงฆ์รับผิดชอบเฉพาะการจัดสอบ หรือการวัดผลอย่างเดียว ไม่รับผิดชอบในการจัดการศึกษา การจัดให้มีการเล่าเรียน การบริหารและการดำเนินงาน เป็นเรื่องของวัดหรือท้องถิ่นนั้นๆ

ข. คณะสงฆ์เน้นการศึกษาแนวดิ่ง คือ การสอบผ่านขั้นการศึกษาสู่ระดับสูงตามลำดับ และผลการศึกษาตามมาตรฐานของแต่ละขั้น ไม่เน้นการศึกษาแนวราบ คือไม่พุ่งความสนใจมาสู่ปัญหาที่ว่า พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาแล้วได้รับการศึกษาทั่วถึงหรือไม่

ค. การจัดการศึกษาในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ใช้วิธีรวมทุนรวมกำลัง และไม่ใช้วิธีกระจายทุนกระจายกำลัง แต่ใช้วิธีที่ว่าวัดไหนมีทุนมีกำลัง (เช่นมีผู้เรียนและมีผู้สอน) ก็จัดการเรียนการสอนขึ้น วัดไหนไม่มีทุนไม่มีกำลัง หรือปีใดหมดทุนหมดกำลังก็ไม่จัด

เนื่องจากสาเหตุ ๓ ประการนี้โดยตรงหรือไม่ก็ตาม ปัจจุบันนี้ได้เกิดมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาพระปริยัติธรรมดังต่อไปนี้

๑) การศึกษาพระปริยัติธรรมไม่แพร่หลายทั่วถึง ยิ่งในชนบทซึ่งเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว วัดจำนวนมากมายหรือส่วนมาก ไม่มีการสอนเลยแม้แต่ชั้นต่ำสุด พึงสังเกตว่า

– พระภิกษุสามเณรจำนวนมากเข้าสอบประจำปี ตามบัญชีที่วัดส่งเข้าสอบ โดยไม่ได้เล่าเรียนเป็นกิจจะลักษณะเลย (ยิ่งชั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งใช้วิธีถึงเวลาก็เข้าสอบมากยิ่งขึ้น)

– ตามสถิติแสดงว่า วัดจำนวนมากขาดผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าอาวาส มีแต่ผู้รักษาการเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสก็ดี ผู้รักษาการเจ้าอาวาสก็ดี จำนวนมากไม่มีวุฒิทางพระปริยัติธรรมเลย ทำให้ชุมชนชนบทขาดผู้นำที่มีคุณภาพ

๒) พระภิกษุสามเณรที่ต้องการศึกษาเล่าเรียน หลั่งไหลจากชนบทเข้าในเมืองและในกรุง เพื่อแสวงหาสถานที่เล่าเรียนปีละจำนวนมากมาย

– ก่อปัญหาแก่วัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ในการที่จะรับพระภิกษุสามเณรและจัดเสนาสนะให้เหมาะสม นอกจากนั้น จำนวนผู้หลั่งไหลเข้ามาที่มีจำนวนมาก ทำให้ประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ในการคัดเลือกผู้สามารถแล้วติดต่อส่งเข้าศึกษาในสำนักที่เจริญกว่า กำลังจะหมดสิ้นไป กลายเป็นพระภิกษุสามเณรเดินทางไปหาวัดอยู่กันเอง2 บางทีทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องออกไปอีกอย่างหนึ่ง คือความรู้สึกขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าสำนักหรือเจ้าวัดที่ไม่รับเข้าหรือรับเข้ายาก

– พระพุทธศาสนาในชนบท ซึ่งอ่อนกำลังอยู่แล้ว ยิ่งอ่อนแอหนักลงไปอีก

– พระภิกษุสามเณรที่มีการศึกษา มาแออัดกันอยู่ในเมืองและในกรุง ไม่มีโอกาสบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาและชุมชน สังคม หรือประเทศชาติเท่าที่ควร

๓. ในด้านผู้รับการศึกษา มีข้อสังเกตเกี่ยวกับความขัดแย้งต่างๆ ดังนี้

ก. เกิดความขัดแย้งในด้านความต้องการ เพราะการศึกษาที่คณะสงฆ์จัดให้ ไม่สนองความต้องการของพระภิกษุสามเณร พระภิกษุสามเณรไม่สนใจ กลับไปสนใจการศึกษาที่คณะสงฆ์เห็นว่าไม่พึงประสงค์ จะเห็นได้จากจำนวนเปรียบเทียบ ระหว่างผู้เข้าสอบปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ กับนักเรียน (ภิกษุสามเณร) ศึกษาผู้ใหญ่ ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ และ พ.ศ. ๒๕๑๗ (อันเป็นระยะเวลาที่การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับภิกษุสามเณรเป็นปัญหาหนักใจและไม่เป็นที่พึงประสงค์ของคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก)3 ดังนี้

๒๕๑๕ ๒๕๑๗
ผู้เข้าสอบปริยัติธรรมแผนกบาลี ๑๑,๙๒๗ ๑๒,๙๘๖
นักเรียนศึกษาผู้ใหญ่สำหรับภิกษุสามเณร4 ๑๓,๐๒๓ ๒๕,๔๔๘

 

ยิ่งกว่านั้น ในจำนวนนักเรียนปริยัติธรรมแผนกบาลีเอง จำนวนนักเรียนที่ส่งเข้าสอบ กับจำนวนที่เข้าสอบจริง ยังต่างกันออกไปอีกเป็นอันมาก ผู้เข้าสอบจริงมีน้อย และผู้สอบได้ยิ่งน้อยลงไปอีก ดังตัวเลขในปี ๒๕๑๘ (พึงสังเกตตัวเลขเฉพาะของบางชั้น)

ส่งเข้าสอบ ขาดสอบ คงสอบจริง สอบได้
ประโยค ๑-๒ ถึง ป.ธ. ๙ ๑๑,๙๒๖ ๓,๘๐๗ ๘,๑๑๙ ๒,๕๖๙
เฉพาะ ป.ธ. ๓ ถึง ป.ธ. ๙ ๕,๖๙๑ ๒,๐๑๕ ๓,๖๗๕ ๑,๔๖๒
เฉพาะ ป.ธ. ๖ ๘๔๒ ๓๕๓ ๔๘๙ ๑๒๔
เฉพาะ ป.ธ. ๗ ๒๘๔ ๑๑๑ ๑๗๓  ๑๖

 

จะเห็นได้ว่า จำนวนรวมที่ส่งเข้าสอบใน พ.ศ. ๒๕๑๘ กลับลดลงไปเกือบเท่ากับ พ.ศ. ๒๕๑๕ และในชั้นสูงขึ้นไป จำนวนผู้ขาดสอบมีจำนวนมาก บางทีถึงเกือบครึ่งต่อครึ่ง ตรงข้ามกับตัวเลขฝ่ายการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งเข้าสอบจริงเกือบร้อยทั้งร้อย

ข. ผู้บวชเข้ามาในพระศาสนา และเริ่มเรียนพระปริยัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นสามเณรอายุ ๑๒ ขวบ หรือพระภิกษุอายุ ๒๑ ปี หรือบวชเมื่อชราอายุ ๖๐ ปี ไม่ว่าวัยจะต่างกันเท่าใด พื้นฐานการศึกษา และประสบการณ์จะต่างกันอย่างไรก็ตาม จะบวชอยู่ระยะสั้นหรือนานเท่าใดก็ตาม ก็ต้องเรียนชั้นเดียวกัน เรียนวิชาเดียวกัน เนื้อหาวิชาอย่างเดียวกัน ตามหลักสูตรเดียวกัน จึงยากที่จะให้การศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี แม้ว่าจะมีบางสำนักที่จัดหลักสูตรนวกะแยกต่างหากโดยเฉพาะ ก็มีจำนวนน้อยอย่างยิ่ง จะนับเข้าในที่นี้หาได้ไม่

๔. ในด้านคุณภาพและสัมฤทธิผล มีข้อที่ควรกล่าวถึง คือ

ก. การศึกษาพระปริยัติธรรม มีคุณค่า ความหมาย และความสำคัญ ต่อสังคมและชีวิตของคนสมัยปัจจุบันน้อยลงโดยลำดับ คนสมัยนี้โดยทั่วไปไม่รู้สึกว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมเกี่ยวข้องหรือจะอำนวยประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่ชีวิตของเขา หรือแม้แต่จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมแห่งชนชาติเดียวกับเขาด้วย รัฐและสังคมค่อยๆ ลดความยอมรับและความสนใจลงทุกที จนถึงขั้นที่แทบจะไม่รู้จัก แม้จะมีการรื้อฟื้นให้เทียบกับขั้นการศึกษาในระบบของรัฐอีก ก็เป็นไปอย่างฝืนๆ มิใช่เกิดจากการมองเห็นความเหมาะสมที่ควรจะต้องเป็นอย่างนั้น ข้อนี้ยิ่งเป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณรในวัยเล่าเรียนละเลยการศึกษาพระปริยัติธรรม หันไปดิ้นรนใฝ่หาการศึกษาที่เรียกว่าทางโลกมากยิ่งขึ้น

ข. มีความรู้สึกกันอย่างแพร่หลาย และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ถูกต้องบ้างไม่ถูกต้องบ้างว่า

๑) การศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ไม่เพียงพอที่จะสร้างพระภิกษุสามเณรให้เป็นศาสนทายาทที่ดี โดยเฉพาะในด้านความสามารถที่จะปฏิบัติศาสนกิจให้ได้ผลในสังคมปัจจุบันเช่น การเผยแผ่สั่งสอนธรรมแก่ผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างสมัยใหม่เป็นต้น

๒) ส่วนการศึกษาอย่างอื่นๆ สำหรับพระภิกษุสามเณรในแบบสมัยใหม่ หรือที่สอดคล้องกับระบบของรัฐ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผลิตพระภิกษุสามเณรเพื่อให้ลาสิกขาออกไปประกอบอาชีพบ้าง บางระบบไม่มีการศึกษาทางด้านธรรมเลย และทำให้พระภิกษุสามเณรที่กำลังเล่าเรียน มีความประพฤติและกิริยามารยาทไม่เหมาะสมกับสมณเพศบ้าง

๕. ในด้านนโยบายและขอบเขตของบริการศาสนศึกษา ในระยะเวลาประมาณ ๑ ศตวรรษ นับแต่การศึกษาสำหรับทวยราษฏร์ได้แยกออกไปจากวัดแล้วนั้น กล่าวได้ว่า การศึกษาของคณะสงฆ์ได้มีนโยบาย และขอบเขตของบริการจำกัดแคบลงเป็นอันมาก โดยมุ่งให้การศึกษาอบรมแก่บุคคลที่อยู่ในวงในของพระศาสนาอยู่แล้ว อันได้แก่พระภิกษุสามเณร (ยกเว้นธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ ซึ่งก็นับว่ายังไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่จะกล่าวในข้อนี้) และเน้นการศึกษาเพื่อการดำเนินชีวิตภายในวัดหรือชีวิตเกี่ยวกับวัดเป็นสำคัญ บุคคลบางประเภทที่ควรอยู่ในข่าย จึงขาดประโยชน์บางอย่างที่พึงได้ โดยเฉพาะที่ควรกล่าวถึงในที่นี้คือ

๑) ในปีหนึ่งๆ มีชายหนุ่มบวชชั่วคราวตามประเพณี ประมาณ ๗๐,๐๐๐ คน ชายหนุ่มเหล่านี้เป็นพระภิกษุอยู่ในวัด ประมาณ ๓ เดือน ก็ลาสิกขากลับไปดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมคฤหัสถ์ตามเดิม แต่พระภิกษุชั่วคราวเหล่านี้จำนวนมาก ไม่มีโอกาสเรียนรู้พระพุทธศาสนาอย่างเพียงพอ และถึงแม้ได้เรียนก็ต้องเรียนในชั้นเรียนและวิชาเดียวกันกับผู้ที่จะบวชอยู่ในระยะยาว ขาดการเรียนรู้ในแง่ที่จะให้มองเห็นคุณค่า และความหมายที่จะนำไปใช้ดำเนินชีวิตภายในและเพื่อประโยชน์แก่สังคมปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันนี้ระบบบวชชั่วคราวนิยมตัดให้สั้นลงอีกเป็น ๑ เดือน ครึ่งเดือน หรือแม้แต่สัปดาห์เดียว ผู้บวชชั่วคราวจำนวนไม่น้อย จึงไม่ได้เล่าเรียนอะไรเลย เพราะไม่มีหลักสูตรพิเศษระยะสั้นไว้ให้ เว้นแต่บางวัดที่ให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ และมีความสามารถจัดทำ แต่ก็เป็นเรื่องจำเพาะของสำนักนั้นๆ

๒) สมาชิกสำคัญส่วนหนึ่งของวัด คือศิษย์วัด ซึ่งทั่วประเทศปัจจุบันมีจำนวนมากมายประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน (ใกล้เคียงกับจำนวนสามเณรทั่วประเทศ) แต่มักถูกมองข้าม เพราะศิษย์วัดหรือเด็กวัดเหล่านี้ เป็นนักศึกษาและนักเรียนในระบบการศึกษาของรัฐ คณะสงฆ์จึงเห็นว่าอยู่นอกวงความรับผิดชอบในทางการศึกษา และไม่ได้วางนโยบาย หลักการ ตลอดจนหลักสูตรเกี่ยวกับการศึกษาของศิษย์วัดไว้ (บางวัดมีการฝึกอบรมพิเศษบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องจำเพาะสำนักอีกเช่นกัน) ทำให้คนวัดส่วนนี้จำนวนมาก พลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ไม่ได้ประโยชน์จากวัด และไม่เป็นประโยชน์แก่วัดเท่าที่ควร วัดกลายเป็นเพียงที่อยู่อาศัย หรือหอพักนักเรียนนักศึกษา เป็นการสูญเสียประโยชน์ที่พึงได้ทั้งแก่บุคคล แก่พระศาสนา และแก่สังคม

๖. ในด้านที่เกี่ยวข้องกับรัฐ

ก. ในระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐแยกการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ หรือการศึกษาสำหรับมวลชน ออกจากวัดไปจัดตามแบบแผนอย่างสมัยใหม่แล้ว จนบัดนี้รัฐยังไม่สามารถจัดการศึกษาให้ทั่วถึงตามเป้าหมาย และไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษาให้สำเร็จได้ ตลอดระยะเวลาทั้งนี้ การศึกษาของคณะสงฆ์ก็ได้แปรบทบาทมาเป็นช่องทางสำหรับชาวชนบทผู้ยากจนที่จะมีโอกาสได้รับการศึกษา เป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณรส่วนมากในปัจจุบัน แม้แต่ในกรุงเทพฯ เป็นชาวชนบท (ในกรุงเทพฯ พระภิกษุสามเณรที่อยู่ประจำวัดต่างๆ ที่มิใช่ผู้บวชอย่างนวกภิกษุ เกินร้อยละ ๙๐ เป็นผู้มาจากตระกูลชาวนาในชนบท) สภาพนี้ก่อให้เกิดผลทั้งทางดีและทางเสียคือ

๑) อำนวยประโยชน์แก่รัฐ ช่วยผ่อนคลายปัญหาสังคมเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และเป็นเครื่องประสานชาวชนบทไว้ให้ผูกพันกับสังคมไทยส่วนรวม ด้วยการเสริมสร้างความหวังเกี่ยวกับอนาคตของบุตรหลานและความเจริญก้าวหน้าในสังคม

๒) บั่นทอนกำลังของคณะสงฆ์ให้อ่อนแอลงไป ในเมื่อการศึกษาของคณะสงฆ์กลายเป็นเพียงทางผ่าน และกำลังคนที่คณะสงฆ์ผลิตขึ้น ออกไปเป็นกำลังของรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่

ข. เมื่อรัฐรับเอาระบบการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามา และแยกเอาการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ออกจากวัดไปจัดเองแล้ว ความเหินห่างจากกันระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ในด้านการศึกษาก็เกิดมีมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ขาดความใส่ใจและขาดความเข้าใจในปัญหาของกันและกัน ไม่ช่วยกันดำเนินการเท่าที่ควร ในอันที่จะทำให้กิจการของทั้งสองฝ่ายเกื้อกูลแก่กัน บางครั้งถึงกับทำให้เกิดผลติดตามที่ไม่พึงปรารถนา เช่น

๑) เกิดมีทัศนคติว่า การศึกษาของรัฐและการศึกษาของคณะสงฆ์ หรือการศึกษาของวัดกับการศึกษาของบ้านเมือง ของฝ่ายไหนก็ของฝ่ายนั้น ควรจะต่างคนต่างทำ

๒) เกิดปัญหาเกี่ยวกับความยอมรับของรัฐ กล่าวคือ บางบุคคล บางหน่วยราชการ และในกาลบางคราว เห็นว่า การศึกษาของพระสงฆ์เป็นเรื่องของคณะสงฆ์ที่จะดำเนินกันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ บางบุคคล บางหน่วยราชการ และในกาลอีกบางคราว เห็นว่า การศึกษาของพระสงฆ์ก็เป็นกิจการส่วนหนึ่งในรัฐที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว จะต้องได้รับรองจากรัฐ การศึกษาของพระสงฆ์ แบบนั้นแบบนี้เถื่อน ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จากนี้ก็เกิดความลักลั่น การศึกษาบางอย่างของคณะสงฆ์รัฐรับรอง บางอย่างดำเนินอยู่ได้โดยรัฐไม่ได้รับรองหรือแม้แต่รับรู้

๗. ในด้านความสัมพันธ์กับประชาชน คณะสงฆ์เป็นสถาบันสังคมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากที่สุดสถาบันหนึ่ง และดำรงอยู่ได้ด้วยอาศัยความอุปถัมภ์ที่เกิดจากศรัทธาของประชาชน แต่ในปัจจุบันสภาพความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนากับประชาชน หันเหไปในทางที่ไม่สู้จะเกื้อกูลแก่ศาสนกิจด้านการศึกษา เพราะสังคมส่วนใหญ่มักสนใจและแสดงความต้องการต่อพระศาสนาเพียงขั้นศาสนวัตถุและศาสนพิธี ไม่สู้สนใจหรือนึกถึงศาสนศึกษา และพระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็ดูจะโน้มไปในแนวทางเดียวกันเช่นนั้น จนเป็นเหตุให้ความเข้าใจในความหมายของการดำรงศาสนาและรักษาวัดจำกัดแคบลง โดยมักมองกันเพียงแค่การดำรงรักษาเสนาสนะ บูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างต่างๆ เมื่อความเข้าใจและความสนใจหันเหออกไปแล้ว การแสวงหาทุนและการใช้ทุนก็หันเหออกไปด้วย ทุนส่วนใหญ่ของวัดจึงถูกใช้ไปในทางงานก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ ไม่เป็นไปเพื่อส่งเสริมสนับสนุนศาสนศึกษา

 

หลักการสำคัญ และข้อควรคำนึงพิเศษ ในการวางแผนการศึกษาของคณะสงฆ์

๑. จัดระบบการศึกษาสายต่างๆ ของวัดและของคณะสงฆ์ สำหรับพระภิกษุสามเณรก็ดี สำหรับคฤหัสถ์ก็ดี เท่าที่มีอยู่ให้ประสานสอดคล้องรวมเข้าเป็นระบบใหญ่อันเดียวกัน

– ให้มีการศึกษาสายต่างๆ เหล่านั้น ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์ มีจุดเชื่อมโยงถึงกัน

– ให้ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ ประสานสอดคล้อง หรือมีความสัมพันธ์ในรูปใดรูปหนึ่งที่เป็นการเกื้อกูลแก่กันกับระบบการศึกษาของรัฐ และไม่ก้าวก่ายล่วงล้ำกันอย่างที่เป็นอยู่บางส่วนขณะนี้

๒. จะต้องให้มีการศึกษาพื้นฐานขึ้นระดับหนึ่ง (อาจกำหนดเวลา ๑ ปี) เป็นการศึกษาภาคบังคับสำหรับพระภิกษุสามเณรทุกรูป เพื่อให้รู้ธรรมวินัยพอรักษาตัวได้ รู้จักคุณค่าของพระพุทธศาสนาพอเป็นรากฐานของศรัทธาและปัญญา และเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อชั้นสูงขึ้นไปในศาสนศึกษาสายต่างๆ

– จะได้เป็นข้อผูกพันให้คณะสงฆ์ต้องรับผิดชอบต่อการศึกษาอย่างน้อยขั้นหนึ่งนี้อย่างจริงจัง โดยจะต้องระดมกำลังจัดดำเนินการให้มีขึ้นอย่างทั่วถึง และให้ได้ผลจริงจังให้จงได้ เป็นการแก้ปัญหาข้อสำคัญยิ่งยวดในปัจจุบัน ที่ผู้บวชเข้ามาในพระศาสนาแล้วจำนวนมากไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาทางพระศาสนาเลยแม้เพียงขั้นต้นๆ

– จะได้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ที่จะกล่าวถึงต่อไป คือการขาดกำลังคน ในเมื่อยังไม่สามารถจัดการศึกษาได้ทั่วถึงทุกระดับ ก็สามารถดำเนินการได้จริงจังระดับหนึ่ง

๓. จะต้องยอมรับและคำนึงอยู่เสมอซึ่งความจริงอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับสภาพปัจจุบันในวงการศึกษาของคณะสงฆ์ คือ การขาดกำลังคน ซึ่งหมายถึงความขาดแคลนพระภิกษุสามเณรที่จะเป็นครูอาจารย์ให้การศึกษาในท้องถิ่นต่างๆ ความจริงข้อนี้มีความสำคัญหลายด้าน เช่น

– หากจะวางรูปจัดขั้นจัดระดับในระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีทางที่จะดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติขึ้นได้แค่ไหนเพียงไร และอย่างไร

– เมื่อไม่สามารถจัดดำเนินการได้ทั่วถึงทุกระดับ จะได้ระดมกำลังจัดให้ได้ผลจริงจัง ในขั้นพื้นฐานสักระดับหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับ ดังกล่าวในข้อที่แล้ว

– อาจทำให้คิดหาทางกระจายกำลังพระสงฆ์ผู้มีวุฒิทางศาสนศึกษา ซึ่งมาคับคั่งอยู่ในเมืองและในกรุง ให้ออกไปเสริมกำลังแก่ชนบท ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง

– ในเมื่อไม่มีกำลังเพียงพอที่จะจัดให้มีการเรียนการสอนได้ครบถ้วนทุกระดับชั้น และต้องระดมกำลังมาจัดดำเนินการจำเพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับแล้ว ก็จะได้คิดหาวิธีการที่เป็นทางออกหรือทางเลือกสำหรับให้การศึกษาในระดับที่สูงกว่านั้น โดยอาจจะทำในรูปใดรูปหนึ่ง เช่น เปิดโอกาสให้ใครอื่นมาช่วยรับภาระในการจัดการศึกษา หรือหันไปเน้นการศึกษาแบบนอกโรงเรียน การใช้วิธีสมัครสอบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นต้น

๔. ความจริงเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องยอมรับ ได้แก่การลาสิกขาของพระภิกษุสามเณร กล่าวคือ ประเพณีบวชเรียนอันสืบมานานในประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้มีการบวชและสึกตามสมัครใจ ได้ทำให้ผู้บวชแล้วส่วนใหญ่จะดำรงเพศภิกษุสามเณรอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งสั้นบ้างยาวบ้าง แล้วก็ลาสิกขากลับออกมาดำเนินชีวิตในสังคมคฤหัสถ์ตามเดิม อย่างไรก็ตาม ถ้าจำนวนหมุนเวียนของผู้บวชและผู้สึกอยู่ในอัตราที่เหมาะสม คือมีผู้บวชระยะยาวได้ส่วนกับผู้บวชระยะสั้น และมีผู้บวชตลอดชีวิตเหลืออยู่บ้าง (ประมาณว่าสักร้อยละ ๓ ถึง ๕) ก็นับว่าพอสมดุลที่จะดำรงพระศาสนาพร้อมไปกับอำนวยประโยชน์แก่สังคมได้ด้วย แต่ในปัจจุบัน เมื่อการศึกษาในวัดได้กลายเป็นช่องทางผ่านสำหรับการศึกษาของชาวชนบทไปแล้ว อัตราส่วนของผู้ลาสิกขาและผู้บวชระยะสั้นก็ได้มีแนวโน้มในทางเพิ่มขึ้น ในสภาพเช่นนี้ มีข้อควรคำนึง คือ

๑) จะต้องปรับความเข้าใจ ปรับทัศนคติเกี่ยวกับการสึกของพระภิกษุสามเณรให้ถูกต้อง จึงจะวางแผนและจัดการศึกษาให้แก่พระภิกษุสามเณรได้อย่างเหมาะสม เช่น

– ในเมื่อรัฐยังไม่สามารถกระจายการศึกษาสู่ชนบทได้ทั่วถึง ควรหาทางประสานประโยชน์ทำให้การศึกษาในวัดเกื้อกูลทั้งแก่พระศาสนา แก่รัฐ และแก่สังคม

– การศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร ในระดับก่อนขั้นฝึกฝนเพื่อความชำนาญพิเศษ ควรจัดหลักสูตรและเนื้อหาชนิดที่จะทำให้ได้พระเณรดี ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ผลดี และทั้งเป็นผู้ที่จะเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพพึ่งตนได้ เป็นสมาชิกที่มีประโยชน์ของสังคม

– ปรับปรุงคุณภาพศาสนศึกษา และหาวิธีการอื่นๆ ที่จะชักจูงใจให้มีผู้บวชตลอดไปมากขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อให้ได้อัตราส่วนหมุนเวียนที่พอเหมาะพอดี

๒) ต่อแต่นี้ไป ผู้ที่มาบวชจะเป็นผู้สอบได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้วเป็นอย่างต่ำ มิใช่ประถมปีที่ ๔ เหมือนแต่ก่อน จึงจะต้องจัดระดับการศึกษาและหลักสูตร เป็นต้น ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงข้อนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความข้อนี้ยังไม่เป็นปัญหาหนักเท่ากับข้อที่ว่า เมื่อรัฐขยายการศึกษาไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ให้ทั่วถึงหรือแพร่หลายแล้ว จำนวนผู้บวชแต่เด็ก (ซื่งเป็นแกนกำลังของพระศาสนาตลอดเวลาที่ผ่านมา) จะลดน้อยลงเองอย่างฮวบฮาบชัดเจน จนถึงขั้นที่กลายเป็นปัญหาใหม่สำหรับศาสนศึกษา และสถาบันสงฆ์โดยส่วนรวม ดังที่ได้เริ่มเป็นปัญหาขึ้นแล้ว ในจังหวัดภาคกลางบางจังหวัด และจะเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงและความสำคัญมากขึ้นโดยลำดับ สรุปปัญหาในเรื่องนี้ว่า

– ปัญหาการสึก ไม่ใช่ข้อน่าวิตกมากนัก และสัมพันธ์กับการขยายการศึกษาของรัฐ

– เมื่อมีการศึกษาของรัฐแพร่หลายแล้ว และความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ปัญหาร้ายแรงที่คณะสงฆ์จะต้องประสบ ไม่ใช่ปัญหาการสึก แต่จะเป็นปัญหาในข้อที่ว่าไม่มีผู้ที่จะบวช

– แนวโน้มที่สวนทางกับข้างต้น คือ เวลานี้ผู้บวชเมื่ออายุสูงขึ้น หลังจากได้รับการศึกษาดีแล้วบ้าง เจนชีวิตแล้วบ้าง หรือแพ้ชีวิตแล้วบ้าง เบื่อหน่ายโลก และศรัทธาในพระศาสนา บวชด้วยความตั้งใจจริงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าโดยการเปรียบเทียบ จะเป็นจำนวนที่ยังเล็ก แต่ก็เป็นจำนวนที่มีความหมายและเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ควรเริ่มให้ความสนใจ ทั้งในแง่ดีและแง่เสีย

– ในระยะเวลา ๓-๔ ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งการศึกษาในวัดได้โน้มไปสู่สภาพของความเป็นทางผ่านมากยิ่งขึ้นนั้น ได้มีความพยายามกันมากใน ๒ ด้าน คือ ความพยายามฝืนสภาพฝ่ายหนึ่ง กับความพยายามประสานประโยชน์ฝ่ายหนึ่ง สำหรับฝ่ายหลังนั้นได้พยายามในแง่ที่ว่า ยอมให้วัดและคณะสงฆ์เป็นทางผ่าน แต่ให้เป็นทางผ่านชนิดที่ผู้ผ่านทางได้มีส่วนร่วมในการบำรุงทาง และสร้างความเจริญงอกงามแก่เส้นทางนั้นด้วย ในที่สุด ไม่ว่าผู้ใช้ทางจะแยกออกหรือผ่านเลยจากทางออกไปก็ตาม จะอยู่ช่วยบนเส้นทางนั้นตลอดไปก็ตาม ประโยชน์ก็เกิดขึ้นแก่ทั้ง ๒ ฝ่าย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในระยะใกล้ๆ นี้ ได้มีกิจการทางการศึกษา สำหรับพระภิกษุสามเณรอย่างใหม่ๆ เกิดขึ้น ชนิดที่เป็นการใช้ทางอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงทางผ่านเลย ทำให้ทางผ่านมีแต่ทรุดโทรมลง และผู้เดินทางก็ไม่น่าดู

อาจคิดกันต่อไปถึงปัญหาที่ว่า ควรจะจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ชนิดที่เตรียมรับสภาวการณ์นี้หรือไม่ เช่น หลักสูตรสำหรับผู้มีพื้นการศึกษาเดิมสูง เข้ามาบวชในวัยที่สูงขึ้น ด้วยความตั้งใจแบบถาวร ไม่ใช่แบบตามประเพณี ควรเป็นอย่างไร? หรือจะจัดการศึกษาและหลักสูตรอย่างไร ที่จะช่วยให้ยังมีเด็กเข้ามาบวช จำนวนพอควรที่จะรักษาสถาบันพระศาสนาไว้ให้มั่นคงได้ และหากการศึกษาของวัดยังจะต้องมีสภาพเป็นทางผ่าน ก็ให้เป็นทางผ่านชนิดที่ทั้งผู้ผ่านทางและทางผ่านพลอยเจริญงอกงามไปด้วยกัน ไม่ใช่ทางผ่านที่ถูกใช้โทรมไปข้างเดียวและถ่ายเดียว

๕. เท่าที่เป็นมาในสังคมไทย พระสงฆ์มีฐานะเป็นผู้นำประเภทหนึ่ง แม้ในปัจจุบันในชนบทซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ พระสงฆ์ก็ยังมีฐานะนี้อยู่คือ เป็นผู้นำของชุมชน และเป็นผู้นำชนิดประจำถิ่นทีเดียว แต่เป็นที่น่าวิตกว่า ขณะนี้ชนบทกำลังมีผู้นำประจำถิ่นที่หย่อนการศึกษาด้อยคุณภาพลงไปเรื่อยๆ ดังปัญหาเกี่ยวกับเจ้าอาวาสที่กล่าวแล้วข้างต้น ฉะนั้น ในการวางแผนหรือปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ต่อไปนี้ คงจะต้องคำนึงถึงศาสนศึกษา ในฐานะที่เป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเป็นผู้นำในชนบทด้วย

๖. จะต้องจัดให้ผู้ที่เข้ามาบวชชั่วคราวตามประเพณี จะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม ซึ่งปีหนึ่งๆ มีจำนวนมากมาย ได้รับการศึกษาอบรมอย่างเหมาะสม เช่น ด้วยวิธีจัดสร้างหลักสูตรระยะสั้นขึ้น เป็นต้น และหากเป็นไปได้ ควรจัดการศึกษาหลักสูตรพิเศษอีกอย่างหนึ่งให้แก่ศิษย์วัดด้วย

 

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนการศึกษาของคณะสงฆ์

การเรียบเรียงข้อความและหัวข้ออื่นๆ ซึ่งควรกำหนดไว้โดยเหตุผลทั่วไป เห็นว่าคงจะเป็นเรื่องที่พึงทำเพิ่มเติมให้เรียบร้อยในภายหลัง ในที่นี้จะเขียนไว้เฉพาะข้อเสนอแนะที่เห็นว่าสำคัญควรพิจารณาวินิจฉัย เป็นหลักการใหญ่ หรือสิ่งที่ขาดไม่ได้เท่านั้น

 

หมวด ๑
ความมุ่งหมาย

– การศึกษาของคณะสงฆ์ควรเน้นการศึกษาเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ และควรมีประสิทธิภาพในการที่จะช่วยเสริมสร้างชีวิตที่ดีงามสงบสุขของมนุษยชาติ และความอยู่รอดปลอดภัย ความมั่นคง และความผาสุกร่วมกันในสังคมไทย

– ให้เป็นบุคคลผู้สมบูรณ์ทั้งในด้านอัตตหิตสมบัติ และปรหิตสมบัติ คือในฝ่ายตนก็เจริญงอกงามด้วยปัญญาและคุณธรรม พึ่งตัวได้ ในฝ่ายผู้อื่นหรือสังคมก็เจริญงอกงามด้วยกรุณา ดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกิจให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน ช่วยคนอื่นได้

– ให้เป็นผู้พร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือสมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ ด้วยความเจริญก้าวหน้าทั้งในปริยัติและปฏิบัติ

– ให้สามารถเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นสื่อนำให้ประชาชนเลื่อมใสมั่นใจในคุณค่าแห่งธรรม ทั้งในด้านความดีงามและความสงบสุข เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางศีลธรรมและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ

– ให้มีบุคลิกภาพที่พร้อมจะเป็นผู้นำที่ดีของชุมชน

– ความมุ่งหมายข้ออื่นๆ ที่เหมาะสมในแผนการศึกษาของรัฐ

อาจระบุข้อธรรมต่างๆ ที่เป็นคุณสมบัติ หรือเป็นจุดมุ่งหมายลงไปด้วยก็ได้ เช่น สัปปุริสธรรม ๗ สังฆคุณ ๙ อรรถะ ๓ (ทิฏฐธัมมิกัตถะ, สัมปรายิกัตถะ, ปรมัตถะ หรืออัตตัตถะ, ปรัตถะ, อุภยัตถะ)

 

หมวด ๒
แนวนโยบายการศึกษาของคณะสงฆ์

– คณะสงฆ์พึงส่งเสริมและบำรุงการศาสนศึกษา ทั้งในส่วนปริยัติและปฏิบัติ โดยถือว่ามีความสำคัญในอันดับสูงสุดแห่งกิจการของคณะสงฆ์

– คณะสงฆ์พึงจัดหรือส่งเสริมให้มีกิจกรรมการศึกษา ทั้งในส่วนปริยัติและปฏิบัติให้ได้สัดส่วนสมดุลกัน

– คณะสงฆ์จะจัดการศาสนศึกษาและส่งเสริมการศึกษาอื่น ให้เกื้อกูลแก่แนวนโยบายของรัฐโดยไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย

– คณะสงฆ์พึงจัดศาสนศึกษาภาคบังคับให้ทั่วถึงบริบูรณ์

– คณะสงฆ์จะให้ความสำคัญแก่การศึกษานอกโรงเรียน โดยจะส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียน ทั้งศาสนศึกษาและการศึกษาอื่นที่เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐ เท่าที่เหมาะสมและไม่ขัดหรือแย้งต่อพระธรรมวินัย

– คณะสงฆ์พึงเน้นการจัดการศึกษาสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง

– คณะสงฆ์พึงถือเป็นความรับผิดชอบอันสำคัญที่จะจัดให้สำนักศาสนศึกษาต่างๆ มีครูอาจารย์ผู้สามารถให้การศึกษา สมความมุ่งหมายตามแผนการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างทั่วถึง

– คณะสงฆ์พึงจัดให้มีเอกภาพในนโยบายการบริหารการศึกษา และยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารการศึกษา

– คณะสงฆ์พึงสนับสนุนให้การอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาของประชาชน เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษา ทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติให้มากที่สุด

– คณะสงฆ์พึงจัดและสนับสนุนให้มีการผลิตและเผยแพร่พระคัมภีร์ ตำรา บทเรียน และเอกสารทางพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง

– คณะสงฆ์พึงจัดและสนับสนุน ให้ศาสนศึกษาสัมพันธ์และเกื้อกูลแก่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

– คณะสงฆ์พึงดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อให้วัดมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบในการฝึกอบรมพระภิกษุสามเณร ศิษย์ และคนวัด ให้ได้ผลสมบูรณ์ สมความมุ่งหมายตามแผนการศึกษาของคณะสงฆ์ และสนับสนุนให้วัดมีบทบาททางการศึกษาต่อชุมชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในระดับเด็กและเยาวชน ตามแนวนโยบายทั้งของรัฐและของคณะสงฆ์

 

หมวด ๓
ระบบการศึกษา

การศึกษาของคณะสงฆ์แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ

๑. ศาสนศึกษา ได้แก่การศึกษาที่คณะสงฆ์หรือวัด จัดให้แก่พระภิกษุสามเณรและแก่คฤหัสถ์ ตามระบบการศึกษาที่คณะสงฆ์จัดวางขึ้น

๒. สามัญศึกษา ได้แก่การศึกษาที่คณะสงฆ์หรือวัดจัดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ประชาชน ตามระบบการศึกษาของรัฐ

ศาสนศึกษา แบ่งเป็น ๓ ระดับคือ ระดับบุรพศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา (หรือ ระดับบุพพสิกขา ระดับมัชฌิมสิกขา และระดับอุดมสิกขา)

– ระดับบุรพศึกษา เป็นการศึกษาภาคบังคับสำหรับผู้เข้ามาบวชหรืออยู่ประจำในวัด แยกเป็นนวกภูมิสำหรับพระภิกษุ สามเณรภูมิสำหรับสามเณร และธรรมศึกษาสำหรับศิษย์วัด โดยกำหนดเอาธรรมศึกษาเป็นพื้นฐาน เติมวิชาเฉพาะสำหรับสามเณรเป็นสามเณรภูมิ เติมวิชาเฉพาะสำหรับพระภิกษุใหม่เป็นนวกภูมิ ระยะเวลาศึกษาประมาณ ๑ ปี

– ระดับมัธยมศึกษา มีความสัมพันธ์ด้านเนื้อหากับระดับมัธยมศึกษาในระบบของรัฐให้มากที่สุด

– ระดับอุดมศึกษา แยกเป็นสายเปรียญตรี เปรียญโท เปรียญเอก และสายปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก

– การฝึกหัดครูปริยัติธรรม

– การศึกษาหลักสูตรพิเศษ เช่น หลักสูตรนวกภูมิสั้น ๑ เดือน ครึ่งเดือน และ ๑ สัปดาห์สำหรับผู้บวชตามประเพณีระยะสั้น หลักสูตรธรรมศึกษาสำหรับประชาชนผู้สนใจ (มุ่งการสมัครสอบ) หลักสูตรอภิธรรมศึกษา หลักสูตรนวกรรม หลักสูตรเลขานุการ เป็นต้น

สามัญศึกษา ให้เป็นไปตามแผนการศึกษาของรัฐ (รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาสงเคราะห์ที่จัดตามระบบของรัฐด้วย)5

 

หมวด ๔
การบริหารการศึกษา

– คณะสงฆ์อาจวางระเบียบข้อบังคับ (โดยความเห็นชอบ หรือรับทราบของรัฐ) เพื่อควบคุมการศึกษาที่วัดจัด และที่มีผู้จัดสำหรับพระภิกษุสามเณรทั้งหมด ให้เป็นไปสมความมุ่งหมายตามแผนการศึกษา

– การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ พึงประสานสัมพันธ์กับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการศึกษาของรัฐ เพื่อให้สอดคล้องเกื้อกูลกันตามนโยบาย แผนงาน และโครงการต่างๆ ของรัฐ (ข้อนี้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๐ ข้อ ๔๑)

– พึงให้เจ้าคณะและเจ้าอาวาสทั้งหลาย ร่วมกันรับผิดชอบบริหารศาสนศึกษาในท้องถิ่นหนึ่งๆ โดยรับการแต่งตั้งหรือกำหนดโดยตำแหน่งให้เป็นกรรมการในองค์คณะบุคคล เพื่ออำนวยการควบคุมดูแลการบริหารการศึกษาในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา ทั้งนี้เป็นการรวมกำลัง ไม่ให้กระจัดกระจายต่างจัดต่างทำ จนทุรพลอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้น การศึกษาที่วัดจัดให้แก่คฤหัสถ์ ก็อาจเชิญบุคคลที่สมควรในท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นกรรมการ โดยเฉพาะในด้านการอุปถัมภ์บำรุงด้วย

 

หมวด ๕
มาตรฐานการศึกษา

– คณะสงฆ์รับผิดชอบในการควบคุมรักษามาตรฐานศาสนศึกษา และดำเนินการวัดผลเองโดยตรงบ้าง ให้ท้องถิ่นร่วมรับผิดชอบบ้าง ตามความเหมาะสมและความจำเป็นแห่งสภาวการณ์ (สำหรับการศึกษาพระปริยัติธรรม คณะสงฆ์ก็ได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้บ้างแล้ว)

– คณะสงฆ์พึงจัดสรรอุปกรณ์การศึกษา และหาทางให้มีการอุดหนุนในเรื่องนี้

– คณะสงฆ์พึงส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและเรียบเรียงตำรา ทั้งแก่หน่วยงานและบุคคลในวงการศึกษาของคณะสงฆ์เอง และช่วยเกื้อกูลแก่บุคคลภายนอกที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในทางที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

– คณะสงฆ์พึงส่งเสริมให้วัดและสถานศึกษาของคณะสงฆ์ จัดบริการศาสนศึกษาให้แก่สังคม

 

 

หมวด ๖
ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม 
สภาพแวดล้อม และกิจกรรมเยาวชน

– คณะสงฆ์พึงจัดการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความสำนึกในคุณค่า และความสามารถที่จะธำรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม ศาสนา ตลอดจนขนบธรรมเนียมและประเพณีอันดีงาม รวมทั้งสถานที่และวัตถุอันมีค่าทางประวัติศาสตร์

– คณะสงฆ์พึงจัดการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความสำนึกในคุณค่า และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ตลอดจนเข้าใจในเรื่องประชากรศึกษา

– คณะสงฆ์พึงสนับสนุนให้วัดมีบทบาทอย่างจริงจัง ในการส่งเสริมเด็กและเยาวชนในด้านวัฒนธรรมและจริยธรรม

 

หมวด ๗
การรวมกำลังและแสวงความร่วมมือเพื่อการศึกษา

– คณะสงฆ์เป็นกำลังส่วนหนึ่งที่จะร่วมรับภาระทางการศึกษา ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๐ ข้อ ๕๔ และพึงให้รัฐตลอดถึงประชาชนช่วยรับภาระบางอย่างทางด้านศาสนศึกษาด้วย

– พึงสนับสนุนวัดและท้องถิ่นในการจัดการศึกษา

– พึงระดมทุนอุปถัมภ์พระศาสนา ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาให้มาก และใช้ทรัพยากรทางการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมุ่งลดความสูญเปล่าทางการศึกษา

-พึงจัดทุน ปัจจัย และวิธีการอื่นๆ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้อยู่ถิ่นห่างไกล และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับการศึกษาตามสมควรแก่ความสามารถและสติปัญญา

 

 

พิมพ์ครั้งแรก ใน “พุทธจักร” ฉบับกุมภาพันธ์, มีนาคมและเมษายน ๒๕๒๗. ต่อมาพิมพ์รวมใน “บันทึกการสัมมนาพระสงฆ์กับการประยุกต์ศาสนกิจให้สมสมัย” คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนาจัดพิมพ์ ๒๕๒๘

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มหาวิทยาลัยสงฆ์ แหล่งรวมคุณค่าแห่งการศึกษาของพระสงฆ์ภาคผนวก – ความเป็นมาของ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ >>

เชิงอรรถ

  1. ข้อเขียนนี้เป็นข้อเสนอแนะซึ่งได้เขียนขึ้นอย่างคร่าวๆ และอย่างไม่เป็นทางการตามคำขอของวงงานในกรมการศาสนา เพื่อใช้ในงานเกี่ยวกับการศึกษาของคณะสงฆ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
  2. พึงสังเกตในแง่ปัญหาสังคม แต่ละปี ชาวชนบทพวกหนึ่งเข้ามาหางานทำในกรุง ไปอยู่ในสลัม อีกส่วนหนึ่งคือพระภิกษุสามเณร เข้ามาแสวงหาการศึกษา ไปอยู่ในวัด จนปัจจุบันได้เกิดเป็นชุมชนชนบทกลางกรุง ๒ แหล่งสำคัญ คือ วัดกับสลัม แหล่งหนึ่งมีค่าในทางบวก อีกแหล่งหนึ่งมีค่าหนักในทางลบ
  3. บางสำนักพระสงฆ์ขออนุญาตนำเอาการศึกษาผู้ใหญ่มาจัดขึ้นในวัดของตนเสียเอง เพื่อเป็นเครื่องเสริมและกระตุ้นการศึกษาพระปริยัติธรรม แล้วตั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับการที่จะต้องศึกษาพระปริยัติธรรมเอากับศิษย์ในสำนัก ทำให้เกิดการประสานประโยชน์และได้ผลดีพอควร แต่ก็เป็นเรื่องจำเพาะสำนัก
  4. ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณร มีจำนวน ๑๐๒ โรงเรียน ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ จำนวนโรงเรียนเพิ่มขึ้นเป็น ๒๑๔ โรงเรียน
  5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบการศึกษานี้ พูดไว้อย่างคร่าวๆ กว้างๆ เพราะอาจจะต้องมีการประนีประนอมกับระบบศาสนศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

No Comments

Comments are closed.