พระพุทธศาสนากับการศึกษา

1 กรกฎาคม 2529
เป็นตอนที่ 1 จาก 5 ตอนของ

พระพุทธศาสนากับการศึกษา1

เมื่อพูดเรื่องพระพุทธศาสนากับการศึกษา ก็มักคาดหมายกันได้ว่า จะมีการอ้างถึงความเจริญในอดีต เมื่อครั้งที่วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา พระสงฆ์เป็นผู้อบรมสั่งสอนจัดการเล่าเรียน การอ้างเช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาต่อสังคม ซึ่งได้ที่เคยมีมาแล้วก็จริง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นเหมือนการฟ้องตัวเองว่า เวลานี้คุณค่าและประโยชน์นั้นไม่มีเสียแล้ว นับได้ว่าเป็นความเสื่อมอย่างหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น การเมินหน้าจากภาพความสับสนขาดแคลนในปัจจุบัน หันไปเพลิดเพลินภาคภูมิใจกับอดีตอันไพบูลย์ อาจมองได้ว่าเป็นเหมือนอาการของคนสิ้นหวัง ที่หนีความเศร้าในปัจจุบัน หันกลับไปรำพึงความหลัง ชื่นชมกับความสุขสมหวังในอดีต จึงน่าจะมิใช่เป็นสิ่งมงคล หรือเครื่องหมายแห่งความเจริญก้าวหน้าที่ควรยินดีอะไรนัก

บทความเรื่องนี้ ก็คงเข้าทำนองบทความอื่นๆ ในประเภทเดียวกันคือ ถอยหลังไปทวงอดีตอีกว่า วัดเคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาเล่าเรียนของสังคมไทย และพระภิกษุสงฆ์เคยมีบทบาทสำคัญ เป็นผู้อบรมสั่งสอนให้การศึกษาแก่ชุมชนมาแต่โบราณ อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้จะไม่หวนหลังไปพรรณนาว่า วัดเคยเป็นแหล่งการศึกษาอย่างไร พระสงฆ์เคยเป็นผู้ให้การศึกษาอย่างไร เพียงแต่ยกขึ้นอ้างไว้สำหรับเชื่อมโยงกับปัจจุบันเท่านั้น จุดมุ่งสำคัญอยู่ที่ จะพูดพอให้เห็นว่า แม้ในเวลานี้ พระพุทธศาสนาก็มิใช่จะสิ้นสูญหมดความสำคัญทางการศึกษาไปเสียทีเดียว ยังคงมีบทบาทหลงเหลือรอดมือรอดตาอยู่บ้าง และบางทีสิ่งที่หลงเหลืออยู่นี้ ก็มีความสำคัญแก่สังคมไทยไม่น้อยเลย

ประเพณีที่เป็นพื้นฐานแห่งสภาพการศึกษาปัจจุบัน

มีประเพณีสำคัญของไทยทางด้านพระพุทธศาสนากับการศึกษาอยู่ ๒ อย่าง ที่เป็นพื้นฐานแห่งสภาพปัจจุบันในทางการศึกษาของพระพุทธศาสนา คือ

๑. ประเพณีที่วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาเล่าเรียนของชุมชน และพระสงฆ์เป็นครูผู้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน ประเพณีนี้สำหรับชาวกรุงและชาวเมืองในปัจจุบันอาจจะมองไม่ค่อยเห็น แต่สำหรับชาวบ้านในชนบทห่างไกลยังพอมองเห็น แม้ว่าอาจจะไม่ถึงขั้นเป็นศูนย์กลางเหมือนแต่ก่อน ก็พอรู้สึกว่าเป็นช่องทางหรือที่พึ่งแหล่งสุดท้าย

๒. ประเพณีบวชเรียน ซึ่งมีความหมายว่าบวชคู่กับเรียน เมื่อบวชก็ต้องเรียน หรือที่บวชก็เพื่อเรียน แล้วหมายความเลยไปถึงว่าบวชอยู่แค่เรียน เรียนแล้วใคร่อยู่พึงอยู่ ไม่ใคร่อยู่พึงสึกไป กลายเป็นประเพณีบวชชั่วคราว ส่วนหนึ่งของประเพณีนี้ที่ยังรู้จักกันดีในปัจจุบัน ก็คือการบวช ๓ เดือน ที่กำลังหดสั้นลง เหลือ ๑ เดือน ครึ่งเดือน ตลอดจน ๗ วัน อย่างหนึ่ง และการที่เมื่อบวชแล้วจะสึกเมื่อไรก็ได้แล้วแต่สมัครใจ อย่างหนึ่ง

ความจริง ประเพณี ๒ อย่างนี้ เกี่ยวเนื่องกันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่ในที่นี้แยกออกเป็นสอง เพราะผลที่สืบต่อมาถึงปัจจุบันแยกกันออกไป ดังจะเห็นข้างหน้า

ภาวการณ์ที่เป็นสาเหตุสำคัญแห่งสภาพการศึกษาในปัจจุบัน

มีเหตุการณ์และภาวการณ์สำคัญ ๒ อย่างที่เป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้การศึกษาทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีสภาพอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ

๑. การที่รัฐจัดระบบการศึกษาใหม่ตามแบบอย่างของตะวันตก และแยกการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ออกไปจากวัด ระยะแรกจัดโดยร่วมมือกับวัด ให้วัดมีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างสำคัญ ต่อมาห่างออกไปโดยลำดับ จนเรียกได้ว่าแยกโดยสิ้นเชิง

๒. การที่รัฐยังไม่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์อย่างทั่วถึง และยังไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความเสมอภาคแห่งโอกาสที่จะได้รับการศึกษา โดยยังต้องเสียโอกาสไป เพราะสาเหตุทางภูมิศาสตร์ คือถิ่นที่อยู่ไม่มีที่เรียนบ้าง สาเหตุทางเศรษฐกิจ คือเรียนได้ดี แต่ไม่มีทุน จึงไม่ได้เรียนบ้าง

พูดอย่างนี้ เหมือนกับจะเป็นการค่อนว่าติเตียนทางฝ่ายรัฐ ว่าเป็นต้นเหตุของความเสื่อมเสีย แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เรื่องที่พูดมาทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะข้อที่ ๒ นักการศึกษาเองก็ยกขึ้นพูดหารือกัน ทางการก็กำลังพยายามหาทางแก้ไข และที่ตรงข้ามกับติเตียนก็คือ ข้อซึ่งจะบอกต่อไปว่า เพราะภาวการณ์ทางฝ่ายรัฐเป็นเช่นนี้นั่นแหละ จึงทำให้วัดและพระสงฆ์ยังคงมีบทบาททรงความสำคัญทางการศึกษาอยู่บ้าง แต่ถ้าหากรัฐได้กระทำกิจ ๒ ข้อข้างต้นนั้นสำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ดีแล้ว วัดและพระสงฆ์อาจจะสูญสิ้นบทบาท หมดความสำคัญทางการศึกษาไปแล้วโดยสิ้นเชิงก็ได้ เรื่องนี้ไม่ต้องหันไปสมมติอดีตก็ได้ ปัจจุบันก็กำลังเห็นชัดขึ้นๆ ทุกทีว่า เมื่อรัฐขยายและกระจายบริการการศึกษาออกไปได้มากขึ้น ขยายไปถึงไหน บทบาทและความสำคัญของวัดและพระสงฆ์ก็ลดน้อยลงไปถึงนั่น หรือไม่ก็ต้องแปรรูปผิดแปลกออกไป เข้าใจว่าสาเหตุทางฝ่ายรัฐที่จะหมดไปช้าที่สุดหรือหลังสุด และจะช่วยให้วัดและพระสงฆ์ยังมีบทบาททรงความสำคัญทางการศึกษาอยู่ได้ต่อไปอีกนานพอสมควร ก็คือ การขาดความเสมอภาคแห่งโอกาสที่จะได้รับการศึกษา เพราะสาเหตุทางเศรษฐกิจ เมื่อใดรัฐแก้ปัญหา ๒ ข้อข้างต้นนั้นได้สำเร็จเรียบร้อย เมื่อนั้นบทบาททางการศึกษาของวัดและพระสงฆ์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะต้องเสื่อมสูญหมดไป หรือมิฉะนั้น ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างผิดรูปผิดร่างไปไกล ทั้งนี้ขึ้นกับการที่ว่าจะทำการด้วยความรู้เท่าทัน และยอมรับความจริงหรือไม่เพียงใด

สรุปสภาพปัจจุบัน (ผลที่เกิดขึ้น)

สภาพปัจจุบันที่เป็นผลเกิดจากประเพณี ๒ อย่างข้างต้น กระทบเข้ากับสาเหตุใหญ่ ๒ ประการที่กล่าวมาแล้ว สรุปได้ดังนี้

๑. เมื่อรัฐยังไม่มีกำลังพอที่จะขยายการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ หรือสำหรับมวลชนออกไปให้ทั่วถึง และยังไม่สามารถอำนวยโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนอย่างเสมอภาคกัน ชาวนาชาวชนบทผู้ยากจน ก็อาศัยประเพณีบวชเรียน และการที่วัดเป็นแหล่งการศึกษามาแต่โบราณนั้นเป็นช่องทาง ตลอดจนเป็นทางผ่านที่จะให้ลูกหลานของตนได้รับการศึกษาตามมีตามได้ ทำให้เกิดผลตามมาอีกหลายอย่างเช่น

ก. ภิกษุสามเณรที่บวชอยู่ประจำวัดส่วนใหญ่ทั่วประเทศ (ราว ๒๓๐,๐๐๐ รูป) เป็นผู้มาจากครอบครัวกสิกรที่ยากจนในชนบทห่างไกล พระภิกษุสามเณรเหล่านี้หลั่งไหลเข้าสู่วัดในเมืองและวัดในกรุง เพื่อการศึกษาชั้นสูงขึ้นไป ทำให้วัดทั้งหลายแม้แต่ในเมืองหลวง เป็นชุมชนชนบทกลางสังคมกรุง (พระภิกษุสามเณรที่อยู่ประจำวัดในกรุงเทพฯ เป็นชาวชนบทเกินร้อยละ ๙๐)

ข. เป็นธรรมดาที่ว่า พระภิกษุสามเณรเหล่านี้ แม้โดยหน้าที่จะต้องศึกษาวิชาทางพระ แต่โดยพื้นฐานที่มาเดิมและเหตุผลดีงามบางอย่างช่วยสนับสนุน ย่อมมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะต้องการศึกษาวิชาทางโลกด้วย ยิ่งได้เห็นผู้ร่วมวัยที่เล่าเรียนอยู่ในระบบของรัฐ บางทีแรงที่ผลักดันความโน้มเอียงนั้นก็ยิ่งมีมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของวัดและคณะสงฆ์ที่ว่า เมื่อยอมรับภิกษุสามเณรเหล่านั้นเข้ามาบวชแล้ว จะมีวิธีการจูงใจหรือควบคุมให้เล่าเรียนวิชาทางพระได้มากเพียงใด ยอมเอื้ออำนวยแก่ความต้องการที่จะศึกษาวิชาทางโลกแค่ไหน และเป็นธรรมดาอีกด้วยที่ว่า ความต้องการและทัศนคติของพระภิกษุสามเณรในวัยเล่าเรียน กับของคณะสงฆ์หรือพระสงฆ์ระดับบริหารจะขัดแย้งกัน ยิ่งความต้องการกับการศึกษาที่จัดให้หรืออนุญาตให้ ห่างกันออกไปมากเท่าใด ความขัดแย้งก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเท่านั้น เรียกอย่างคนสมัยใหม่บางพวกว่ายิ่งแหลมคมมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นธรรมดาต่อไปอีกว่า พระสงฆ์ระดับบริหารจะเพิ่มความเป็นห่วง เมื่อห่วงมากก็มักโน้มไปในทางที่จะกวดขันหรือแม้กระทั่งบีบบังคับให้ภิกษุสามเณรอยู่ในกรอบที่ขีดให้ เรียกตามภาษาใหม่ว่าทำการในทางลบ ที่ไหนคราวใดมีกำลังอำนาจพอคุมไว้ได้ ก็อิ่มใจไปทีหนึ่ง คราวหนึ่ง แต่ว่าโดยสถานการณ์ทั่วไปดูจะทรุดลงทุกที วิธีที่ได้ผลคิดว่าคงไม่พ้นวิธีโบราณตามประเพณีของไทย คือใช้นโยบายตะล่อมเข้ามา และประสานประโยชน์เสีย ขยายความว่า ประเพณีไทยไม่รังเกียจการใช้ทางผ่าน2 ตรงข้ามกลับสนับสนุนให้ใช้ แต่ให้ผู้ใช้ทางมีส่วนร่วมในการบำรุงทางด้วย ยิ่งใช้ทาง ทางยิ่งเจริญ ทั้งผู้ผ่านทาง ทั้งทางที่ผ่าน ทั้งชุมชนที่ทางผ่าน ต่างงอกงามขึ้นด้วยกัน นอกจากนั้นก็จะมีจำนวนหนึ่งที่คงอยู่ทำงานประจำทางตลอดไป

ค. เมื่อพระเณรท้องถิ่นจากชนบทหลั่งไหลเข้าทางผ่านเพื่อการศึกษาไปสู่เมืองสู่กรุงแล้ว และไม่มีกระแสไหลทวนกลับไป ชนบทก็ยิ่งสูญเสียกำลังอ่อนแอลงไปทุกที ในเมืองและในกรุง พระสงฆ์ถึงแม้ได้เล่าเรียนดีแล้ว ก็ยังไม่พอที่จะสวมฐานะผู้นำ ส่วนในชนบท พระเณรมีความรู้แค่ไหนหรือไม่มีความรู้เลย ชาวบ้านก็ยกให้เป็นผู้นำ แต่พระสงฆ์ที่มีคุณภาพหวังให้เป็นผู้นำที่ดีในชนบทได้ ก็ไปคับคั่งอยู่เสียในเมืองในกรุง เลยเป็นอันเสียผลทั้ง ๒ ทาง

ง. ในเมื่อบทบาทและสภาพทางการศึกษาของพระสงฆ์ ต้องพึ่งพาอาศัยความบกพร่องหรือความยังไม่พร้อมในทางการศึกษาของรัฐ โดยเฉพาะในแง่ผู้ที่จะบวช ครั้นการศึกษาของรัฐขยายไปถึงหรือเจริญขึ้นในถิ่นใด (หรือเศรษฐกิจเจริญขึ้นในถิ่นใด) จำนวนเด็กที่มาบวชเณรในถิ่นนั้นก็ลดลงไป จนถึงขั้นนับได้ว่าไม่มีบวชเลย นอกจากเณรบวชหน้าไฟ หรือไม่ก็รวบรวมเด็กนักเรียนบวชชั่วคราวในฤดูร้อน แม้มีเณรประจำอยู่บ้าง ก็กลายเป็นเณรที่มาบวชจากท้องถิ่นห่างไกลออกไปที่การศึกษาของรัฐยังไม่ถึง ข้อนี้เป็นเหตุเสริมการขาดแคลนพระผู้นำในชนบทให้รุนแรงยิ่งขึ้น พร้อมกับเป็นความทรุดโทรมของวัดและพระศาสนาไปด้วยพร้อมกัน

๒. ในเมื่อภายในระบบการศึกษาของรัฐ การศึกษามีระดับสูงขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งร่นเข้ามารวมอยู่ในเมืองและในกรุงมากขึ้นเท่านั้น ชาวชนบทที่มีฐานะปานกลางพอจะส่งลูกหลานเข้าเรียนในระบบของรัฐได้บ้าง แต่กำลังไม่พอโดยลำพังตนเอง เมื่อลูกหลานเรียนสูงขึ้น จะเข้าสู่ตลาดสู่เมืองและสู่กรุง จึงนำไปฝากให้เป็นศิษย์อยู่ในวัด ทำให้วัดในเมืองและในกรุง กลายเป็นที่พักอาศัยของนักเรียนนักศึกษาในระบบของรัฐนั่นเองที่มาจากชนบท เสริมภาวะที่วัดกลางเมืองกลางกรุงเป็นชุมชนชนบทให้เด่นชัดยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นวัดก็กลายเป็นสถานที่เกื้อกูลแก่การศึกษาของรัฐอีกทางหนึ่งด้วย

๓. ส่วนหนึ่งของประเพณีบวชเรียนที่ยังเหลืออยู่เป็นหลักฐานมากสักหน่อย แม้จะไม่เต็มรูป ก็คือ การบวช ๓ เดือนในระยะเข้าพรรษา แต่ประเพณีนี้ก็ได้ถูกกระทบกระเทือนจากระบบการศึกษาของรัฐเป็นอันมาก เพราะคนหนุ่มจำนวนมากไม่มีโอกาสบวชได้เมื่อถึงวัยอันควร แต่ต้องรอไปก่อนจนกว่าจะจบการศึกษาของตน หรือยืดต่อไปอีกเพราะการงานอาชีพ มีราชการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเพณีนี้นับได้ว่ายังมีประโยชน์แก่สังคมไทยอยู่เป็นอันมาก ที่สำคัญคือ

ก. สำหรับชายหนุ่มในเมืองและในกรุง ซึ่งสภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตทั่วไป ได้ทำให้เหินห่างไปจากวัฒนธรรมประเพณีในสังคมของตน การบวชนี้เป็นเครื่องชักให้กลับมาเป็นคนในสังคมไทยได้เต็มตัว ไม่เป็นคนแปลกหน้ากับวัฒนธรรมประเพณีของตน

ข. สำหรับชายหนุ่มในชนบท นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในทัศนะของผู้เขียนนี้เห็นว่า การฝึกอบรมและความเป็นอยู่ประจำวันในวัด ระหว่างบวชชั่วคราว ๓ เดือนนี้ เป็นการศึกษาที่แท้จริง และได้ผลยิ่งกว่าการเล่าเรียนของเขา เมื่อครั้งเป็นเด็กชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงปีที่ ๔ เพราะเป็นการศึกษาด้วยเอาชีวิตเข้าไปเรียน และเรียนจากชีวิตจริง ภายในสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณี ความเป็นอยู่ ตลอดจนความสัมพันธ์กับบุคคลที่เป็นของชุมชนของตนจริงๆ การบวชที่ว่าทำให้เป็นคนสุก ยังพอจะใช้ได้อยู่สำหรับการบวชของชาวชนบท เพราะทำให้ผู้บวชนั้นเข้าสู่ภาวะเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้พร้อมที่จะเข้าสู่หรือเป็นคนของชุมชนนั้นได้โดยสมบูรณ์ นอกจากวัฒนธรรมประเพณีและขนบธรรมเนียมของชุมชนแล้ว ผู้บวชไม่น้อยได้เรียนวิชาความรู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือตรงกับความต้องการของชุมชนของตน ในระหว่างเวลาที่บวชอยู่นั้น นอกจากนี้ หนุ่มชาวบ้านจำนวนมากเรียนจบ ป. ๔ แล้วไปอยู่กลางนา ลืมวิชาแทบหมด แม้แต่อ่านเขียนภาษาไทย เมื่อมาบวชก็ได้ทบทวนใช้ความรู้นั้น เป็นการฟื้นฟูวิชาอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งในสมัยที่นักการศึกษาบ่นกันว่า การศึกษาในประเทศไทยได้ดำเนินผิดๆ มาเป็นเวลานาน และการศึกษาสมัยใหม่ ได้ทำให้เด็กนักเรียนกลายเป็นคนแปลกหน้ากับชุมชน และวัฒนธรรมประเพณีของตน คุณค่าของการบวชตามประเพณีที่กล่าวมานี้ ก็ยิ่งมีความเด่นชัดมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่า การบวช ๓ เดือนนี้ แม้แต่ในชนบทก็กำลังเสื่อมลงอีก เพราะสภาพทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ทำให้ระยะบวชสั้นลงเป็น ๑ เดือน ครึ่งเดือน ๗ วันบ้าง การฝึกอบรมประจำวันกำลังเลือนลางลงไป หลายแห่งกลายเป็นอยู่กันไปวันๆ บ้าง เกิดภาวะขาดผู้นำ เช่น ขาดพระที่จะเป็นเจ้าอาวาส มีแต่พระ ๑-๒ พรรษา รักษาการวัดอยู่ด้วยสาเหตุข้อต้นๆ ที่กล่าวมาแล้วบ้าง ประโยชน์จากประเพณีส่วนนี้ จึงกำลังเสื่อมถอยลงไป

๔. ในขณะที่พระเณรชาวชนบท กำลังใช้ทางผ่านเพื่อการศึกษานี้ให้เป็นประโยชน์ เรียนวิชาข้างนอกบ้างข้างในบ้าง แล้วส่วนใหญ่ก็ลาสิกขาไป อันเป็นเรื่องธรรมดา และคณะสงฆ์หรือพระสงฆ์ระดับผู้บริหารก็ห่วงใย หาทางกวดขันควบคุมเข้ากรอบ ด้วยความวิตกกังวลบ้าง โดยมั่นใจในกำลังอำนาจบ้าง ในแง่หนึ่งจะเรียกว่ากำลังสาละวนขับเคี่ยวกันอยู่ ก็น่าจะไม่ผิด ในช่วงเวลานี้เองก็ได้มีแนวโน้มใหม่เกิดขึ้น คือการที่คนหนุ่มที่เรียกกันว่าสมัยใหม่ ซึ่งมีการศึกษาสูงบ้าง เรียนรู้โลกมามากแล้วบ้าง เกิดความเบื่อหน่ายโลก หรือเห็นคุณค่าของธรรมวินัย แล้วสมัครใจสละเรือนออกบวชด้วยความตั้งใจ เพื่อการบวชประเภทที่เรียกว่าถาวร แต่ในเวลาเดียวกัน ดูเหมือนว่าคณะสงฆ์จะไม่ได้เตรียมตัวต้อนรับบุคคลเหล่านี้ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา บุคคลเหล่านี้ โดยมากไม่สู้จะเห็นความหมายของการศึกษาตามระบบของคณะสงฆ์เท่าใดนัก และมีวงความสัมพันธ์กว้างออกไปในหมู่นิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของคฤหัสถ์ ซึ่งก็มีกลุ่มมีหมู่ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่เช่นกัน แต่เป็นขอบเขตที่พ้นออกไปจากวงปฏิบัติการของคณะสงฆ์ การบวชของบุคคลระดับนี้เป็นข้อที่น่าจะทำให้เกิดผลดีมากก็จริง แต่หากมิได้มีการศึกษาอย่างถูกต้องเพียงพอ ก็อาจเป็นโทษทำให้เกิดผลร้ายได้มากเหมือนกัน หากคณะสงฆ์ไม่เตรียมตะล่อมประสานเข้ามาโดยถูกต้อง ก็พอมองเห็นเลาๆ ว่า แนวโน้มใหม่นี้จะเป็นพลังใหญ่ ที่เรียกอย่างภาษาใหม่ว่า เข้ามาท้าทายระบบการศึกษาและระบบการปกครองของคณะสงฆ์ทั้งหมดในเวลาไม่ช้านัก

๕. เมื่อแยกการศึกษาออกไปจากวัดแล้วไม่นานนัก ชีวิตความเป็นอยู่ด้านอื่นๆ ของชาวบ้านก็พลอยเหินห่างออกไปจากวัดด้วย เว้นแต่ในชุมชนชนบทซึ่งยังพึ่งพาอาศัยการศึกษาบางส่วนจากวัด และชีวิตยังผูกพันใกล้ชิดกับวัดโดยทางขนบธรรมเนียมประเพณีมากกว่าในกรุงและในเมือง ยิ่งกว่านั้นเมื่อคนรุ่นเก่าหมดไปๆ คนรุ่นหลังๆ ที่เข้ามารับผิดชอบอยู่ในวงงานต่างๆ ของรัฐ และของสังคมสมัยใหม่ ก็เป็นผู้ที่ไม่คุ้นเคยหรือบางทีแม้แต่เกี่ยวข้องกับวัดและพระสงฆ์มาก่อน เมื่อช่วงเวลาเช่นนี้มาถึง วัดกับรัฐก็ดี วัดกับสังคมเมืองก็ดี แม้มีความสัมพันธ์กัน ก็เป็นเพียงความสัมพันธ์แบบคนต่างกลุ่ม ไม่เข้าถึงชีวิตจิตใจที่แท้จริงของกันและกัน ไม่เข้าใจปัญหาของกันและกัน และมักเข้าใจผิดกันง่ายๆ ทั้งนี้เพราะความห่างเหินระหว่างวัดกับรัฐและสังคมเมืองนั้น ทำให้เกิดความพิรุธพิการเริ่มตั้งแต่ทัศนคติไปทีเดียว เช่น

ก. คนส่วนมากในสังคมเมืองสังคมกรุง ไม่รู้จักวัดและพระสงฆ์ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในท่ามกลางสังคมของตนเองว่า คืออะไร อย่างไร มองแต่รูปร่างและความเคลื่อนไหวที่ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งคราวอย่างผิวเผิน แล้วก็คิดกำหนดสร้างภาพขึ้นในใจว่า พระสงฆ์ควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมจึงไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เห็นพระเรียนหนังสือแล้วสึก ก็ติเตียนบ่นว่าอาศัยวัดเรียนหนังสือเอาเปรียบชาวบ้านบ้าง สึกไปแย่งอาชีพเขาบ้าง หรือไม่เห็นบทบาททางสังคมของพระสงฆ์ ก็ว่าพระอยู่เฉยๆ ไม่เห็นทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่สังคมบ้าง ความจริงคำติเตียนของท่านเหล่านี้ที่เป็นส่วนถูกก็มีอยู่ไม่น้อย แต่เพราะเหตุที่เป็นทัศนคติซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจข้อเท็จจริงเป็นพื้นฐาน จึงทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี อย่างน้อยก็จะไม่เป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาได้เลย

ข. ผู้รับผิดชอบในวงงานสำคัญๆ เกี่ยวกับการศึกษาของรัฐรุ่นหลังๆ นี้จำนวนไม่น้อย หรืออาจจะพูดคลุมๆ ว่า ทางฝ่ายรัฐในปัจจุบันคล้ายกับว่าไม่รู้ไม่เข้าใจประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ในด้านการศึกษา ว่ารัฐได้เคยมีส่วนรับผิดชอบการศึกษาของคณะสงฆ์มาตามลำดับโดยตลอดอย่างไร จึงวางท่าทีต่อการศึกษาของพระสงฆ์ไม่ถูก และบางทีก็สับสนขัดแย้งกันเอง เช่น บางท่านบางคราวก็พูดว่า การศึกษาของพระก็เรื่องของพระ การศึกษาของรัฐก็เรื่องของบ้านเมือง ของใครของผู้นั้นก็ต่างคนต่างทำสิ แต่บางท่านบางคราวก็พูดว่า การศึกษาของพระนี่ พระดำเนินการเอาเอง ไม่มีกฎหมายไหนรับรอง ก็เป็นการศึกษาเถื่อน เป็นโรงเรียนเถื่อน เป็นมหาวิทยาลัยเถื่อนสิ

ค. การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาแต่เดิมมา มีความมุ่งหมายในทางส่งเสริมศาสนศึกษาพ่วงอยู่ โดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง แต่เมื่อกิจกรรมในทางการศึกษาของวัดลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ความหมายทางด้านส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ก็เลือนลางจนถึงขาดด้วนไป จะเห็นได้ว่าประชาชนอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาในระยะหลังนี้เพ่งไปด้านวัตถุ คือการก่อสร้างอาคารสถานที่หรือเสนาสนะมากขึ้นเรื่อยๆ แม้พระสงฆ์ก็นำประชาชนให้เป็นไปเช่นนั้นด้วย

ง. พระสงฆ์เกิดความเคยชินกับความรู้สึกที่ว่า การศึกษาสำหรับทวยราษฎร์หรือสำหรับเด็กและเยาวชน บัดนี้อยู่ในความรับผิดชอบของทางฝ่ายบ้านเมืองแล้ว พระสงฆ์เกี่ยวข้องเฉพาะแต่การให้ภิกษุสามเณรเรียนธรรมวินัย ความรู้สึกนี้ฝังสนิทถึงกับว่าโดยทั่วไปเมื่อพูดถึงศาสนศึกษา พระสงฆ์จะมองไปที่พระเณรและเพียงแต่ภายในวัดเท่านั้น ไม่มองพ้นรั้วหรือกำแพงวัดออกไปเลย ไม่คิดเลยไปถึงว่า ท่านเองก็อาจมีส่วนรับผิดชอบต่อการศึกษาทางศาสนาและจริยธรรมของเด็กและเยาวชนทั่วไปด้วย จึงไม่ค่อยได้ใส่ใจติดตามรับรู้ว่า เด็กๆ ลูกชาวบ้านได้รับการฝึกอบรมทางศีลธรรมอย่างไรบ้าง แม้จะนำข่าวคราวและสถานการณ์ต่างๆ มาวิพากษ์วิจารณ์บ้าง ก็จะพูดกันด้วยท่าทีของคนนอกวงความรับผิดชอบ

ท่าทีที่ถูกต้องของผู้บริหารการศึกษาของคณะสงฆ์และภิกษุสามเณรผู้เล่าเรียน

ที่เขียนมานี้ มิใช่มุ่งจะค่อนว่าติเตียนใครหรือฝ่ายใด ว่ากันไปแล้วทุกคนและทุกฝ่าย ก็เป็นผลิตผลของเหตุปัจจัยที่กล่าวมาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น ทางที่ดีจึงควรมาช่วยกันศึกษาข้อเท็จจริงให้เข้าใจ ยอมรับความจริง แล้วร่วมกันแก้ไขปรับปรุง ข้อที่น่าเสียใจอย่างยิ่งก็คือ หลายท่านโดยเฉพาะผู้อยู่ในฐานะที่จะรับผิดชอบกิจการของส่วนรวม ไม่ว่าทางฝ่ายรัฐหรือฝ่ายวัด ฝ่ายคณะสงฆ์หรือฝ่ายบ้านเมือง ชอบตั้งเกณฑ์แห่งความยึดมั่นไว้ในใจว่า ควรจะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อสภาพที่เป็นจริงไม่เป็นอย่างเกณฑ์ที่ตนตั้งไว้ ก็ปฏิเสธสิ้นเชิง ไม่ยอมรับฟัง ไม่ยอมศึกษาความจริงต่อไปด้วยใจเป็นกลาง มุ่งเหตุมุ่งผล ท่านเหล่านี้เป็นผู้มีความปรารถนาดีต่อพระศาสนา เป็นห่วงกิจการ แต่ทว่าความเป็นห่วงและความปรารถนาดีของท่านเหล่านี้นี่แหละ ที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และการกระทำในทางเป็นปฏิปักษ์หรือในทางลบของท่านเหล่านี้นั่นแหละ ก็คือการร่วมมือกับพระเณรนอกรอยของท่าน ในการสร้างสนามขับเคี่ยว ช่วยกันตัดรอนประโยชน์สุขของส่วนรวม และบางทีอาจถึงกับช่วยกันนำการพระศาสนาไปสู่หายนะก็ได้ ที่ว่านี้นอกจากต่อว่าท่านผู้อยู่ในระดับบริหารและมีอำนาจรับผิดชอบแล้ว ก็เป็นการยอมรับไปด้วยว่า มีพระเณรบางส่วนที่มุ่งใช้วัดเป็นช่องทางเล่าเรียนวิชา เพื่อประโยชน์ในทางอาชีพของตนเองอย่างแท้ๆ ในแบบที่เรียกว่าใช้ทางผ่านโดยไม่ช่วยบำรุงทางเลย นอกจากนั้น แม้พระเณรที่ใช้ทางผ่านอย่างมีความสำนึกเหตุผล บนพื้นฐานแห่งความคิดที่จะบำรุงทาง ก็มีไม่น้อยที่มักทำตนเป็นอย่างเมล็ดพืชที่แตกกระจายอยู่ใต้พื้นดิน ต้องแหลกสลายเปื่อยเน่าไปเสียกลางคันแทนที่จะทนถูกย่ำถูกทับถูกรด รอความเติบโตขึ้นมาเงียบๆ อย่างไม่มีใครสังเกตเห็น จนถึงเวลาพร้อมก็ผลิดอกออกใบ ทำให้เขายอมรับด้วยแสดงผลงดงามเป็นของจริงให้ชื่นชม

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปมหาวิทยาลัยสงฆ์ แหล่งรวมคุณค่าแห่งการศึกษาของพระสงฆ์ >>

เชิงอรรถ

  1. พิมพ์ครั้งแรกใน จุลสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ “ฉบับการศึกษา” ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ ม.ค. – เม.ย. ๒๕๒๒
  2. พึงเข้าใจว่า การใช้คำว่า ‘ทางผ่าน’ ในที่นี้ เป็นการพูดเพื่อบรรยายสภาพ หรือเพื่อแสดงปรากฏการณ์ทางสังคมเท่านั้น มิใช่หมายความว่า เป็นเจตนาของภิกษุสามเณรที่จะใช้วัดเป็นทางผ่าน เพราะภิกษุสามเณรส่วนมากเข้ามาสู่วัดตั้งแต่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในสภาพเช่นนี้เลย จึงไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไปว่าตนเข้ามาสู่ทางผ่าน การเข้าวัดของภิกษุสามเณรเหล่านั้นเรียกได้ว่า เป็นผลิตผลทางสังคม ที่วัฒนธรรมประเพณีเป็นต้นกำหนดให้

No Comments

Comments are closed.