ภาคผนวก – ความเป็นมาของ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์

1 กรกฎาคม 2529
เป็นตอนที่ 4 จาก 5 ตอนของ

ภาคผนวก

ความเป็นมาของ
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์

 

ขอเจริญพร ท่านอาจารย์และท่านผู้ฟังทั้งหลาย1

วันนี้เป็นวันดีสำหรับชาวศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ ที่ได้มีโอกาสมาพบปะกันอย่างค่อนข้างพร้อมเพรียง สำหรับในโอกาสนี้ ที่ได้นิมนต์อาตมภาพมาพูดในที่นี้ ตอนแรกจะต้องทำความเข้าใจกันนิดหน่อยคือ การมาวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นการได้พบปะศิษย์เก่า ทั้งรุ่นอาจารย์ รุ่นน้องๆ และรุ่นศิษย์ มาเล่าเรื่องเก่าๆ บางอย่างให้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายท่านก็รู้เข้าใจกันดีแล้ว เหมือนกับว่ามาทบทวนกันเท่านั้นเอง ทีนี้อาจจะมีความเข้าใจผิดสักนิดหน่อย คือปรากฏข่าวออกมาว่า เป็นปาฐกถาพิเศษ อาตมาขอทำความเข้าใจว่า ตอนนี้ อาตมาไม่รับพูดโดยทั่วๆ ไป จึงตกลงกันว่ามาพบปะกันในฐานะชาวศิษย์เก่า เป็นการคุยกันแบบสบายๆ ที่ออกตัวเสียก่อนก็ให้ทราบว่า ถ้าหวังให้เป็นปาฐกถาพิเศษละก็ คงผิดหวัง คือว่าคงไม่มีเนื้อหาสาระที่ถึงขั้นเช่นนั้น

เรื่องที่จะคุยกันวันนี้ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เหมือนกับมาทบทวนเล่าความหลัง ความเป็นมาของ พ.ร.บ. เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ สำหรับอาตมาเองนั้น ตอนนี้เป็นเรื่องที่ออกจะเลือนลาง “ในแง่ของความจำ” เพราะว่าเวลาผ่านไปยาวนานมาก จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็เกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว เรื่องก็ไม่จบสิ้นลงสักที เรื่องที่เคยเกิดขึ้นในเบื้องแรก เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้า มันก็เลือนลาง อีกด้านหนึ่งคือ “ในด้านความสนใจ” ในเมื่อเป็นเรื่องไม่รู้จักจบสิ้น เรื้อรังนานนัก ความสนใจก็พลอยจืดจางไปด้วย ทั้งความเลือนลางในแง่ความทรงจำ และความจืดจางในด้านความสนใจเข้ามาผสมกัน ก็เลยทำให้รู้สึกตัวเองเหมือนกับว่า ไม่ค่อยมีเนื้อหาสาระอะไรที่จะเอามาพูด มีอยู่ทางหนึ่งที่พอจะไปได้ก็คือ ในเมื่อมาพบกันแล้วก็มาแลกเปลี่ยนความคิด พูดกันไป พูดกันมา อาตมาเองก็อาจได้แรงกระตุ้นกลับ แล้วตัวอาตมาเองก็จะเกิดความสนใจมากขึ้น และหลังจากนั้น เมื่อเกิดความสนใจขึ้นแล้วจะได้มีความคิด และเอาความคิดทั้ง ๒ ฝ่ายมาแลกเปลี่ยนกัน ก็อาจจะได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งอาตมาก็หวังกลับ แทนที่จะเป็นผู้มาให้ ก็กลายเป็นผู้มารับ ไม่ใช่รับอย่างเดียว คงจะมาแลกกัน และทำให้ความคิดเห็นนั้นงอกงาม เจริญเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไป นี่ก็คือเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน

ทีนี้ จะเริ่มเรื่องอย่างไร ถ้าไปเล่าเรื่องเก่าทีเดียวตั้งแต่แรกสุดนั้น มันน่าเบื่อเพราะเป็นเรื่องเรื้อรังอย่างที่ว่า ก็เอาข่าวที่ใหม่ที่สุด และมีผู้สนใจหรือบางทีถึงกับตื่นเต้นกันไม่น้อยมาประเดิมก่อน คือเมื่อสักประมาณเดือนหนึ่งมาแล้ว มีข่าวราชการออกมาทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และก็มีลงข่าวทางหนังสือพิมพ์ด้วยว่า คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลได้รับหลักการร่าง พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะของผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา ซึ่งมิใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยสงฆ์ การศึกษาฝ่ายสงฆ์นี้ รวมทั้งเปรียญธรรม ๙ ประโยค และปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตและศาสนศาสตรบัณฑิต ทีนี้ เวลาฟังกันแล้วหลายท่านเข้าใจกันว่า อ้อ… นี่เขาเทียบให้เราแล้ว ก็มี ก็ต้องทำความเข้าใจกันว่ายัง ยังไม่เสร็จสิ้น นี่เป็นแค่เพียงว่าคณะรัฐมนตรีรับหลักการร่าง พ.ร.บ. เท่านั้น กระบวนการยังอยู่อีกยาวนานนัก ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ก็เป็นเรื่องภายหน้า และเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ. นั้น เราก็ต้องดูให้แน่เสียก่อนว่าเป็นอย่างไร มีผู้ถามความเห็นอาตมาว่า ในเรื่องของเนื้อหาสาระในร่าง พ.ร.บ. นั้น ถ้าหากว่าเป็นจริงอย่างนั้นจะรู้สึกอย่างไร ความคาดหมายก็คือว่า จะต้องรู้สึกดีใจ ทีนี้อาตมภาพก็ตอบไปว่า อันนี้ขออย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะ ต้องตอบเสียก่อนแล้วทำความเข้าใจกันภายหลัง อาตมาว่า “น่าดีใจ ๑ ส่วน และก็น่าสังเวช ๓ ส่วน” พูดอย่างนี้อย่าเพิ่งตีความหมายผิดไป ต้องทำความเข้าใจกันก่อนอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ทำไมจึงว่าอย่างนี้ เอาไว้พูดกันตอนหลัง เป็นอันว่าได้เกริ่นด้วยเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังสุด หลังจากนั้นแล้วกระบวนการการดำเนินในเรื่องนี้เป็นอย่างไร อาตมภาพยังไม่ทราบชัด ว่าหลังจากรับหลักการแล้วทำอย่างไรต่อไปอีก มีความรู้สึกว่าเรื่องมันค่อนข้างจะช้าอยู่ ในเมื่อมีเรื่องปัจจุบันมาอ้างให้เห็นว่าอะไรต่ออะไรมันไปถึงไหนแล้ว ทีนี้ ก็ค่อยย้อนกลับไปพูดเรื่องเก่า

อาตมาขอทบทวนเรื่องราวที่เป็นมาเกี่ยวกับ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง หลายท่านก็ทราบแล้ว และหลายท่านก็เป็นอย่างที่อาตมาพูดเมื่อกี้นี้ คือพลอยมีความเลือนลางในแง่ความทรงจำไปด้วย เรื่องราวความเป็นมานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกัน เพราะถ้าผลจะเกิดขึ้นแท้จริงแล้วมันเกิดขึ้นอย่างไร เราจะเข้าใจชัดเจนได้ก็ต้องหันไปศึกษาความเป็นมาในอดีตด้วย แม้แต่ในระหว่างกระบวนการที่จะดำเนินเรื่องนี้ ถ้าหากมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจะปฎิบัติได้ดีก็ต่อเมื่อเราเข้าใจภูมิหลัง ฉะนั้น อาตมาว่า เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันที่จะได้มีการทบทวนเรื่องความเป็นมาในอดีต

พ.ร.บ. เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้นมีแง่ที่จะพิจารณาตอนต้นคือ ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่ามีความเข้าใจออกจะมัวๆ อยู่บ้าง ในข้อว่าจะรับรองอะไร ความเข้าใจที่เด่นที่สุดก็คือเป็นการให้รับรองปริญญา แต่เท่าที่เป็นมานั้น พ.ร.บ.ที่ร่างกันไว้มีสาระสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือเป็น “การรับรองฐานะ” หรือที่เรียกกันว่า “สถานภาพตามกฎหมาย” ๒ อย่างนี้ไม่เหมือนกันทีเดียว แต่มีความเชื่อมโยงถึงกัน ส่วนมากนั้นจะเข้าใจกันว่าเป็นการรับรองปริญญา แต่ในร่าง พ.ร.บ. บางร่างจะมุ่งไปที่การรับรองฐานะหรือสถานภาพ และเอาเรื่องรับรองปริญญามาเป็นส่วนพ่วง ขอทำความเข้าใจเรื่องนี้ไว้ก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะ ๒ อย่างนี้ไม่เหมือนกันทีเดียว แม้ว่าจะเนื่องกัน

เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นนี้แล้ว ก็ถอยหลังกลับไปถึงเรื่องราวที่เป็นมาแต่ต้น เรื่องการรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ ไม่ว่าจะรับรองฐานะหรือรับรองปริญญาก็ตาม ได้มีความพยายามกันมามากมาย เริ่มต้นเท่าที่รู้ก็คือสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นระยะก่อนที่จะตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ ได้มีความดำริของรัฐบาลที่จะตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วยซ้ำไป แต่แล้วไปๆ มาๆ รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้ง จนในที่สุดกลายเป็นว่าต่างคนต่างตั้ง คือ ทางคณะสงฆ์ จะพูดว่าคณะสงฆ์ก็ยังพูดยาก เอาเป็นว่าพระสงฆ์ก็แล้วกัน คือพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต ต่างก็ได้ตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ของแต่ละนิกายขึ้น เลยกลายเป็นว่ามีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่ง ดังที่ปรากฏอยู่นี้ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. นั้น ตามที่ทราบมาก็ว่า เมื่อตั้งแล้วก็มีความพยายามที่จะรับรอง จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ จะเสนอเป็น พ.ร.บ. เข้าสู่สภา ก็พอดีใน พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น ได้มีการปฏิวัติรัฐประหาร โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามสิ้นอำนาจ เรื่องเก่าก็ตกไป เป็นอันว่าเรื่องความพยายามที่เลือนลาง ที่คนภายหลังรู้กันไม่ชัดเจนนี้ก็สิ้นสุดลงครั้งหนึ่ง

ทีนี้ต่อมาในช่วงที่ ๒ คือสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันนี้ไม่ค่อยเป็นที่ทราบกัน สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีความพยายามที่จะรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์เหมือนกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีได้ปรารภเรื่องนี้ แต่ได้มีผู้ใหญ่ฝ่ายกฎหมายค้านไว้ ซึ่งท่านผู้ที่ค้านไว้ท่านได้เล่าด้วยตนเอง อาตมภาพไปได้ฟังมาจากตัวท่านเมื่อตอนที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฏราชวิทยาลัยนั่นเอง ในคณะกรรมการกฤษฎีกา คือพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ท่านเล่าให้ฟังว่า สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาว่าจะรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ ผมเอง (หมายถึงพระยาอรรถการีย์นิพนธ์) เป็นคนค้าน เข้าใจว่าตอนนั้นท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านไม่เห็นด้วยและให้ความเห็นของท่านแก่นายกรัฐมนตรีให้ระงับเรื่องเสีย ก็เลยตกไป แต่ในคราวใหม่นี้เรื่องไปถึงท่านอีก ในขณะที่ท่านไม่ได้เป็นรัฐมนตรีเสียแล้ว ไม่ได้นั่งอยู่ในคณะรัฐบาล แต่อยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธาน ท่านบอกว่า ตอนนี้เรื่องมาถึงท่านก็ทำตามหน้าที่ แต่ท่านไม่เห็นด้วย พระยาอรรถการีย์นิพนธ์นี้เป็นผู้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เข้าสู่สภา จนกระทั่งผ่านมติเห็นชอบโดยเอกฉันท์ นี้ท่านเป็นผู้ทำ ท่านบอกตรงๆ เลยว่าท่านไม่เห็นด้วย ท่านทำตามหน้าที่ และก็น่าสรรเสริญ เมื่อท่านทำท่านก็ทำอย่างดีที่สุด หาทางที่จะให้มันเป็นไปด้วยดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรียกได้ว่าท่านเป็นคนตรงพอสมควร อย่างน้อยในเรื่องนี้ เหตุผลของท่าน อาตมภาพว่าก็เหมือนกับคนเก่าๆ โดยทั่วไป คือกลัวเรื่องพระจะสึก กลัวพระไปเรียนวิชาทางโลกอะไรทำนองนี้ ก็ไม่เป็นเหตุผลที่แปลกอะไร และตอนนั้นก็ไม่มีความหมายที่เราจะต้องไปฟื้นความกับท่าน เพราะท่านกำลังจะช่วยทำให้สำเร็จ เพราะเป็นตอนที่รัฐบาลเขาเห็นชอบด้วยแล้ว อันนี้เป็นเรื่องในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ปรากฏเป็นหลักฐานให้เห็นกันทั่วไป

ผ่านจากช่วงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาแล้ว ก็หาทางกันต่อไป แต่ยังไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ คณะสงฆ์โดยความอุปถัมภ์ของรัฐบาล ได้เปิดการศึกษาอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้น โดยสำนักฝึกอบรมตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งเป็นผู้ดำเนินงาน นักศึกษาก็รับผู้สำเร็จจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนั้นเป็นหลัก ระหว่างทำงานนี้ คณะกรรมการดำเนินงานเห็นว่าสมควรขยายการศึกษาของสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้นเป็นปริญญาโท และตกลงกันว่าจะจัดตั้งสถาบันบัณฑิตวิทยาลัยพุทธศาสนาขึ้น โดยให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งเป็นผู้จัดตั้งขึ้นและดำเนินงาน ให้งานฝึกอบรมพระธรรมทูตเป็นกิจการอย่างหนึ่งของสถาบันนี้ และได้ตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมายกร่างระเบียบ อนุกรรมการก็ล้วนแต่เป็นบุคคลของ ๒ มหาวิทยาลัยสงฆ์ (มีกองศาสนศึกษา กรมการศาสนาด้วย) พิจารณากันแล้วก็เห็นว่า การที่จะมีการศึกษาชั้นปริญญาโทขึ้นได้ ปริญญาตรีจะต้องได้รับการรับรองก่อน มิฉะนั้น ปริญญาโทก็จะไร้ความหมาย พลอยกลายเป็นโมฆะไปด้วย จึงลงมติว่าจะต้องขอให้รัฐบาลไทยรับรองฐานะและรับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์เสียก่อน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทราบกันว่าเมื่อเรื่องถึงรัฐบาลๆ มักอ้างว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งนั้น คณะสงฆ์เองก็ยังไม่รับรอง (บางคนเรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยเถื่อน) แล้วจะให้รัฐบาลรับรองได้อย่างไร จึงตกลงกันว่าจะต้องดำเนินการให้คณะสงฆ์รับรองให้เรียบร้อยเสียก่อน จะได้เป็นการปูพื้นฐานไว้ให้พร้อม ปิดทางไม่ให้รัฐบาลยกเหตุผลนี้ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง และได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำงานนี้ จนในที่สุดก็ได้มี “คำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๑๒” ออกมา โดยมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันอังคารที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๑๒

หลังจากนี้ก็เป็นระยะแห่งการพยายามหาทางและรอกันต่อไป เรื่องปลีกย่อยก็ข้ามไปจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ คราวนี้เป็นตอนสำคัญที่ว่า การดำเนินการเพื่อรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้น ได้เป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานและอย่างเป็นจริงเป็นจัง พ.ศ. ๒๕๑๕ นั้น อยู่ในระยะของรัฐบาลปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้มีการปรารภเรื่องนี้ขึ้นมา โดยกรรมการศึกษาของคณะปฏิวัตินั้นมีความเห็นชอบ คือทหารนั่นเองบางท่านซึ่งกำลังอยู่ในระยะที่มีอำนาจ มีความเห็นชอบที่จะให้รับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ สนับสนุนให้ดำเนินการประสานงาน-ติดต่อทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ให้เลขาธิการ หรือผู้แทนไปร่วมกันพิจารณาที่กรมการศาสนา ตกลงกันว่าให้ร่างเป็นประกาศคณะปฏิวัติ และได้ทำประกาศคณะปฏิวัติจนเสร็จ อาตมภาพจำไม่แม่น มี ๗ มาตราหรือประมาณนั้น ก็ร่างกันจนเสร็จเรียบร้อย พอร่างเสร็จเรียบร้อยก็พอดีรัฐบาลปฏิวัติสิ้นสุดลง ยังไม่ทันประกาศ เพราะว่าได้มีประกาศรัฐธรรมนูญขึ้นมา รัฐบาลจอมพลถนอมก็เปลี่ยนจากรัฐบาลปฏิวัติเป็นรัฐบาลปกติ ที่มีสภานิติบัญญัติขึ้นมา แล้วรัฐบาลถึงแม้จะเปลี่ยนจากรัฐบาลปฏิวัติ หัวหน้ารัฐบาลก็ยังเป็นคนเดิมคือรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นแต่เรียกใหม่ ไม่เรียกรัฐบาลคณะปฏิวัติ แต่เรียกว่ารัฐบาลที่มีระบบการบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการครบถ้วนสมบูรณ์ตามปกติ เมื่อรัฐบาลมีหัวหน้าเป็นชุดเดิม และก็เป็นคณะเดิม ของเดิมที่เคยเห็นชอบก็ย่อมดำเนินสืบต่อไปได้ แต่จะออกในรูปใหม่ คือแทนที่จะทำเป็นประกาศคณะปฏิวัติ ก็ต้องหันมาทำตามกระบวนการของกฎหมาย คือออกเป็นพระราชบัญญัติโดยทางรัฐสภา ฉะนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้ประชุมกันและได้ตกลง เมื่อมีความเห็นชอบแล้ว ก็บอกว่าควรจะได้รับความเห็นชอบจากคณะสงฆ์เสียก่อน รัฐบาลจึงส่งเรื่องไปขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม ทางมหาเถรสมาคมตอนนั้นมีสมเด็จพระสังฆราชวัดพระเชตุพน เป็นประธานกรรมการ ได้ประชุมกันที่ตำหนักวาสุกรี และได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๑๖ มีข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่า “หากทางราชการจะรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งก็เป็นการสมควร” ข้อความมีสั้นๆ แค่นี้ เมื่อมหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าช่องทางเปิดให้เดินต่อไปได้ ก็เอาเรื่องนี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ ๒ ตุลาคม ๒๕๑๖ ว่า เห็นชอบในหลักการที่จะรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์

ตอนนี้มีข้อสังเกตนิดหนึ่งก่อน คือได้บอกแล้วว่ามหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบไปแล้ว ต่อมาภายหลังอาตมาได้ยินพระเถระผู้ใหญ่บางท่านพูดว่า เรื่องมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ยังไม่เคยเข้าสู่มหาเถรสมาคม อันนี้รู้สึกว่าขัดแย้งต่อความจริง เพราะฉะนั้นก็ควรต้องนำเรื่องนี้มายืนยันว่ามหาเถรสมาคมได้ให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการไว้นานแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ เอาละ เป็นอันว่ารัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ส่งเรื่องเข้าไปขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบเมื่อ ๑๗ กันยายน ๒๕๑๖ และก็ส่งเรื่องกลับมาคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อ ๒ ตุลาคม ๒๕๑๖ แต่ในเดือน ตุลาคม ๒๕๑๖ นั้น ได้มีเหตุการณ์สำคัญของประเทศเกิดขึ้น ที่เรียกว่าเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ทำให้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ต้องพ้นจากสภาพ ก็ล้มนั่นเอง เวลาผ่านไป ๑๒ วันเท่านั้น ก็เป็นอันว่า รัฐบาลถนอมหมดไป บ้านเมืองก็แก้ไขเหตุการณ์จนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่ คือรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์

ตอนนี้ก็เข้าสู่รัฐบาลที่ ๒ สำหรับเรื่องเดียวกันนี้ โดยถือว่าเป็นเรื่องสืบเนื่องอยู่เพราะเรื่องยังไม่ยุติ รัฐบาลจะล้มก็ล้มไป รัฐบาลใหม่ก็ทำเรื่องต่อ พอรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นมาแล้ว ทางกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าของเรื่อง ก็ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ขอมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ ๓๐ มกราคม ๒๕๑๗ คณะรัฐมนตรีของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็เห็นชอบ ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการร่าง พ.ร.บ. และก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการร่าง มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ตอนนั้นก็ได้แก่ อาจารย์จรูญ วงศ์สายัณห์ อาจารย์จรูญ วงศ์สายัณห์ก็ได้นิมนต์ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งร่วมกันพิจารณายกร่าง อาจารย์จรูญท่านบอกว่า ท่านเห็นชอบเต็มที่ เพราะฉะนั้นจะขอรับเป็นผู้ร่างเอง เมื่อร่างไปแค่ไหนก็จะนัดประชุมมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งมาดูกันเป็นระยะๆ ที่ท่านรับร่างเองก็เพราะต้องการความรวดเร็ว การร่าง พ.ร.บ. ก็ดำเนินไปด้วยดี ร่างกันอยู่ ๔ เดือน ก็เสร็จเรียบร้อย เมื่อร่างเสร็จแล้วทางกระทรวงศึกษาธิการก็นำเรื่องเข้าเสนอคณะรัฐมนตรีอีก คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ. นั้น เมื่อ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๗ ในการร่างครั้งนี้ต้องทราบว่า ได้ตกลงแยกร่าง พ.ร.บ. เป็น ๒ ฉบับ คือเมื่อเริ่มเรื่องตอนแรกก็พิจารณาว่า การร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์ ควรจะร่างเป็นฉบับเดียว หรือแยกกันเป็น ๒ ฉบับ และได้ตกลงกันว่าให้แยกเลย เป็นร่าง พ.ร.บ. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฉบับหนึ่ง ร่าง พ.ร.บ. มหามกุฏราชวิทยาลัยฉบับหนึ่ง เป็นอันว่าร่าง พ.ร.บ. ทั้ง ๒ ฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบเรียบร้อย

เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการของร่าง พ.ร.บ. แล้ว ก็ต้องส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในแง่ของกฎหมาย ช่วงนี้แหละที่ว่าได้ฟังเรื่องจากพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ซึ่งท่านเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เล่าความหลังให้ฟังและได้พิจารณาหาทางว่าจะทำอย่างไร พิจารณารายละเอียดทุกอย่าง ตั้งต้นแต่ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ควรจะขึ้นต่อใคร เราก็บอกว่าขอไม่ให้ขึ้น เพราะว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ต้องการความอิสระ เป็นกิจการของพระ ไปขึ้นต่อหน่วยราชการไม่ได้ เมื่อไม่ขึ้นจะทำอย่างไร ท่านพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ท่านก็หาทางให้เต็มที่ด้วยความเต็มใจว่า เออ..จะต้องไม่ขึ้นต่อทางราชการ แต่จะทำอย่างไร มีตัวอย่างกฎหมายอันไหนบ้างที่บัญญัติเกี่ยวกับหน่วยงานซึ่งไม่ต้องขึ้นกับทางราชการ ท่านก็หาทางให้ว่า อ้อ..มันเข้าแนวรัฐวิสาหกิจ มีกฎหมายแบบรัฐวิสาหกิจ บอกว่าต้องเอามาเป็นตัวอย่าง ท่านก็ไปดูกฎหมายรัฐวิสาหกิจมาเอาเยี่ยงคือไม่ต้องเอาอย่าง ว่าจะร่างอย่างไรให้ได้ความเป็นอิสระที่ต้องการ โดยที่ยังมีความผูกพันไปด้วย ไม่ใช่ว่าไม่มีความสัมพันธ์เลย ไม่สัมพันธ์ก็ไม่ได้ จะต้องมีความสัมพันธ์กัน จะต้องมีใครที่จะเป็นทางประสานงานกับรัฐบาล และก็มีใครที่จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล เช่น เรื่องการอุปถัมภ์ เป็นต้น ก็ตกลงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นรายละเอียดพิจารณากันอยู่นาน อยู่ในขั้นกรรมการกฤษฎีกานี้นานมากเหมือนกัน จนกระทั่งต่อมากรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้วก็ต้องส่งเข้าคณะรัฐมนตรีอีก เพื่อจะนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถึงตอนนี้เอง รัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็สิ้นสุดลง

เป็นอันว่ารัฐบาลสิ้นสุดลงเป็นตอนๆ แต่ พ.ร.บ. นี้ก็คงดำเนินต่อไป หมายความว่า พ.ร.บ. นี้เดินทางยาวนาน หรือมีอายุยืนกว่ารัฐบาลทั้งหลาย เป็นอันว่าผ่านไปอีกรัฐบาลหนึ่ง ต่อมาก็มีรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นมาเป็นผู้สืบต่อ คราวนี้เมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าดำเนินการทำหน้าที่ตามปกติเรียบร้อยแล้ว ก็นำเอาร่างที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วนี้ กลับเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เป็นผู้รับผิดชอบที่จะนำเข้าสู่สภาต่อไป ถือว่าเป็น ร่าง พ.ร.บ. ของรัฐบาล รัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นำร่าง พ.ร.บ. ทั้ง ๒ นี้เข้าเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๘ สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบด้วย เป็นอันว่าไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ผ่านไปแล้ววาระที่ ๑ เมื่อผ่านวาระที่ ๑ แล้วก็เป็นธรรมเนียม เป็นธรรมดาตามกระบวนการของกฎหมาย จะต้องตั้งกรรมาธิการของรัฐสภาขึ้นมาพิจารณาร่าง สภาก็ตั้งกรรมาธิการขึ้นมา แล้วก็ถวายโอกาสพิเศษ ขอให้พระสงฆ์ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งเข้าร่วมพิจารณาด้วย ฉะนั้นทางเลขาธิการหรือผู้แทนเลขาธิการมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เลยต้องไปสภากันอยู่เรื่อย เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ พิจารณากันเรื่อยมาหลายครั้งก็ผ่านไปได้มากพอสมควร พอดีสภาถูกยุบ ร่าง พ.ร.บ. ก็เลยค้างอยู่ที่กรรมาธิการนั่นเอง เมื่อสภายุบแล้ว เป็นอันว่าร่างนี้ที่มีมติเห็นชอบกันมาแต่ต้นเป็นโมฆะไปหมด คือ ไม่มีความหมาย ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ผ่านมาถึง ๓ รัฐบาล จนกระทั่งว่าได้รับความเห็นชอบจากสภาในวาระที่ ๑ ไปแล้ว ก็เลยเป็นอันสิ้นสุดลง นี่เป็นการเดินทางที่ยาวนานที่สุดของร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ยุติลงใน พ.ศ. ๒๕๑๘

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๙ ดูเหมือนว่าจะเป็นสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ได้มีความเพียรพยายามกันใหม่ เรื่องเก่าก็ถือว่าจบไปเลย จะต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ แต่ของเก่าก็ไม่ถึงกับไร้ความหมาย เพราะว่าร่าง พ.ร.บ. อันเก่านั้นก็นำมาใช้อีก นำมาเป็นตัวแบบในการที่จะร่างใหม่ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ ส.ส. ๓ ท่าน นำเอาร่าง พ.ร.บ. เก่านั้นมาดัดแปลงทำเป็นร่างของตนๆ ขึ้น เลยกลายเป็นร่าง พ.ร.บ. ๓ ร่าง หลักการก็คงเดิม คือ ร่างเป็น พ.ร.บ. สำหรับมหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งแยกกัน ฉบับละแห่ง เท่ากับว่าเป็น ๖ ร่าง จัดเป็น ๓ ชุด ส.ส. ๓ ท่านก็นำเข้าเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กระบวนการของนิติบัญญัตินั้นเขาให้โอกาสรัฐบาลไว้ว่า ถ้าเป็นร่างที่ ส.ส. นำเสนอแล้ว รัฐบาลมีสิทธิขอรับไว้พิจารณาก่อน ไม่เหมือนร่างที่รัฐบาลเสนอเอง ทีนี้เมื่อ ส.ส. ๓ ท่านนำเข้าเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลก็ขอรับเอาร่างทั้งหมดนั้นไปพิจารณาก่อน โดยขอเวลา ๖ เดือน ความจริงนั้นเราสามารถถือมติมหาเถรสมาคมที่ให้ไปแล้วได้ แต่ว่าตอนนี้การดำเนินการหรือการเข้าถึงทางในอาจไม่พอ ทำให้คณะรัฐมนตรีไปมีมติกันอีกว่า ให้ขอความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ กลายเป็นเรื่องเริ่มใหม่ เรื่องตอนนี้ อาตมภาพไม่ค่อยทราบชัดนัก เพราะอยู่ต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึงต้นปี ๒๕๒๑ คือตลอดเลย ตั้งแต่ตอนเสนอก็ไม่ได้อยู่ ทีนี้เมื่อรัฐบาลมีมติให้ขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม เรื่องก็เข้าสู่มหาเถรสมาคม คราวนี้มหาเถรสมาคมไม่มีมติเหมือนคราวก่อนเสียแล้ว มหาเถรสมาคมกลับเสนอว่าควรจะร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาใหม่ ให้เป็นฉบับเดียวกัน โดยให้ครอบคลุมการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งหมด และเรียก พ.ร.บ. นี้ว่า “พ.ร.บ. การศึกษาแห่งสงฆ์” มองในแง่หนึ่งเท่ากับมีร่าง พ.ร.บ. ใหม่ขึ้นมาแข่งกับร่าง พ.ร.บ. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และร่าง พ.ร.บ. มหามกุฏราชวิทยาลัย กลายเป็น ๓ ฉบับ แต่ว่ามองในแง่หนึ่ง เท่ากับว่าคณะสงฆ์นี้ต้องการตัดร่าง พ.ร.บ. ๒ ฉบับของมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้นออกไป แล้วเอาร่าง พ.ร.บ. ใหม่นี้ขึ้นมาแทน ร่าง พ.ร.บ. ใหม่นี้คลุมไปถึงการศึกษาปริยัติธรรมทั้งหมดด้วย ทางมหาเถรสมาคมต้องร่าง พ.ร.บ. ใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็ต้องการเวลา ต้องเสียไปกับเรื่องนี้อีกเยอะ เมื่อร่างเสร็จ มหาเถรสมาคมก็ต้องส่งไปทางฝ่ายรัฐบาล ต้องส่งเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทราบว่าเรื่องเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาข้อความในร่างนี้มาก ส่งกลับมาคณะสงฆ์ๆ ก็ไม่เห็นชอบด้วยกับคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ไปเปลี่ยนแปลงของท่าน ก็เลยเกิดความขัดแย้งกัน ผลที่สุด พ.ร.บ. นี้ก็เลยไม่เดินหน้า เงียบหายไปเฉยๆ และเรื่องก็เหมือนจะจบสิ้นหรือระงับไป เป็นอันว่าจบไปอีกตอนหนึ่ง

ทีนี้เพิ่งจะรื้อฟื้นขึ้นมาอีก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ หลังจากเงียบงันไป ๔ ปี ความจริงตลอดระยะนี้ก็มิได้เงียบโดยสิ้นเชิง ได้มีความพยายามกัน แต่ทว่าไม่ปรากฏเป็นทางการ ทีนี้เรื่องมาปรากฏเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๒๓ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น คือ นายขุนทอง ภูผิวเดือน ได้มีบันทึกมาทางกรมการศาสนา ให้ดำเนินการเรื่องที่จะรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ ได้แสดงเหตุผลต่างๆ ประมาณ ๓ ข้อ ที่ว่าควรดำเนินการเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นไป เรื่องดำเนินต่อมา จนถึงเดือนธันวาคมก็ได้มีการประชุมกัน ทางคณะสงฆ์ก็ได้รับนิมนต์ให้เข้าไปร่วมประชุมด้วย และได้พิจารณาตกลงกันว่าควรจะทำให้เสร็จสิ้น แต่การดำเนินการครั้งนี้ไม่ยืดยาว เรื่องก็เงียบหายไป ดูเหมือนว่าจะมอบให้กรมการศาสนาเป็นเจ้าของเรื่อง เมื่อกรมการศาสนาเป็นเจ้าของเรื่องแล้ว ต่อแต่นั้นเรื่องดำเนินการไปอย่างไรก็เงียบ ต้องไปถามที่กรมการศาสนา ผลปรากฏภายนอกก็คือไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ทางกรมการศาสนาอาจจะบอกว่า นี้แหละคือเรื่องนี้ที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน คือเรื่องตั้งแต่ครั้งนั้น มีความเคลื่อนไหวกันมาเป็นระลอกๆ จนกระทั่งถึงว่า ได้มีพรรคการเมืองที่มีความเห็นชอบ และก็ร่าง พ.ร.บ. กันขึ้น มีพรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ทางกระทรวงศึกษาธิการ พรรคกิจสังคมก็อยู่ทางสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมา ได้เอื้ออำนวยให้ทางฝ่ายมหาวิทยาลัยสงฆ์เข้าไปร่วมพิจารณาเข้าไปร่างกันมา ผลที่สุดก็กลายรูปจากร่าง พ.ร.บ. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฉบับหนึ่ง และร่าง พ.ร.บ. มหามกุฏราชวิทยาลัยฉบับหนึ่ง มาเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันใหม่ ซึ่งในตอนสุดท้ายนี้ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบนั้น เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา”

ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์แต่ละแห่งนั้นมีเนื้อหาสาระที่มากมายยืดยาว เรียกว่าสมบูรณ์ในตัว ฉะนั้น แต่ละฉบับจะมีมาตราราวๆ ๔๐ มาตรา หรือกว่านั้น ทีนี้ทางผู้ที่พิจารณาสนับสนุนในระยะหลังนี้เห็นว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอเต็มรูปอย่างนั้นยากที่จะผ่าน ยากที่จะประสบความสำเร็จ และขั้นตอนต่างๆ จะมีอุปสรรคเรื่อยมา และก็จะมีปัญหา จากการที่ได้ฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายแล้ว คิดว่าจะหาทางหลีกเลี่ยงในพวกประเด็นปลีกย่อยข้อที่จะให้เกิดความติดขัดเสีย เอาแต่ขอให้ผ่านไปทีหนึ่งก่อน คือความเห็นในช่วงสุดท้ายนี้ยุติว่า ทำอย่างไรก็ได้ ให้มันเสร็จไปขั้นตอนหนึ่งก่อน แล้วค่อยคิดเดินหน้าแก้ไขกันทีหลัง ขอให้ตระหนักอันนี้ไว้ด้วย คือจะต้องทำใจในเรื่องนี้ ว่าขอให้มันเสร็จไปทีหนึ่งก่อน แล้วค่อยคิดเดินหน้าต่อไป ก็เลยออกมาในรูปที่เรียกว่า กำหนดวิทยฐานะกันเสียก่อน และจะเห็นมีข้อสังเกตที่แปลกขึ้นมาหน่อย ก็คือว่าในร่าง พ.ร.บ. นี้ ไม่ใช่เพียงมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ เท่านั้น ตอนนี้มีเพิ่มเข้ามาอีก คือ เปรียญธรรม ๙ ประโยค อันนี้มองได้หลายอย่าง ในแง่หนึ่งก็คือว่าที่จะให้ทางมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ ผ่าน จะต้องไปเอื้อแก่ฝ่ายคณะสงฆ์ด้วยมองในแง่หนึ่งก็เหมือนไปอาศัยให้ออกมาด้วยกัน จึงจะผ่านไปได้ด้วยดี เป็นอันว่าต้องมีการกำหนดวิทยฐานะของเปรียญธรรม ๙ ประโยคพ่วงมาด้วย ร่าง พ.ร.บ. นี้ก็มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่นี่ สาระสำคัญที่อาตมภาพดูแล้วมี ๒ ส่วน คือ

๑. กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาให้ได้เป็นปริญญาตรี สำหรับเปรียญธรรม ๙ ประโยค พุทธศาสตรบัณฑิต และศาสนศาสตรบัณฑิต

๒. ตั้งคณะกรรมการการศึกษาแห่งสงฆ์ขึ้นมา คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์มีใน ๒ ร่าง เรียกชื่อต่างกัน อันหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการศึกษาแห่งสงฆ์” อีกร่างหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์” ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลควบคุมในบางส่วนที่จะให้งานโดยเฉพาะในด้านวิชาการเป็นไปด้วยดี

นอกจากนั้นก็มีรายละเอียดพิเศษว่า จะต้องมีการให้ปริญญาย้อนหลังแก่ผู้สำเร็จในรุ่นก่อนๆ และก็มีบทลงโทษเป็นส่วนที่พ่วงเป็นส่วนประกอบ หลักการสำคัญก็มี ๒ อย่างดังที่กล่าวแล้ว ส่วนการบริหารภายในของมหาวิทยาลัยนั้นไม่พูดถึง

ในตอนที่รัฐบาลจะให้ความเห็นชอบแก่ร่าง พ.ร.บ. นี้ ก็ต้องให้เหตุผลประกอบด้วย เหตุผลเท่าที่ได้ฟังมี ๒ ประการที่สำคัญ โยงไปถึงว่า ทำไมจึงไม่ออกมาในรูปเป็นร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์แต่ละแห่ง ซึ่งมีข้อความสมบูรณ์ครบถ้วนรวมถึงการบริหารกิจการด้วย เหตุผลข้อที่ ๑ อ้างว่ามหาวิทยาลัยทั้ง ๒ แห่งนี้ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการ ถือว่ามีฐานะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องออก พ.ร.บ. ใหม่เพื่อรับรองฐานะ จะเห็นว่าข้ามประเด็นเรื่องรับรองฐานะไป เอาแต่ประเด็นเรื่องรับรองปริญญา อันนี้ขอให้สังเกตดูข้อที่แยกกันไว้แต่ต้น และเหตุผลอีกข้อหนึ่งบอกว่า เพราะว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ยากแก่การควบคุม ใช้คำพูดอย่างนี้อาจจะทำให้เข้าใจผิด ว่าโดยสาระสำคัญก็หมายความว่า ยากที่จะมาดูแลการบริหารกิจการภายใน ฉะนั้นก็เลยออกมาในรูปที่ไม่ให้มีพันธะที่รัฐจะต้องรับผิดชอบ เพราะถ้าทำร่าง พ.ร.บ. โดยสมบูรณ์แล้ว ทางฝ่ายบริหารคือฝ่ายรัฐบาลบ้านเมือง ต้องมีภาระและพันธะ ซึ่งเห็นว่าควบคุมดูแลได้ยาก

ทีนี้ถ้าเราจะวิจารณ์เพื่อผลดีข้างหน้า ข้อหนึ่ง ในแง่เกี่ยวกับฐานะที่ว่าตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการนี้ ก็พอจะรับได้อยู่ แต่ว่ายังไม่น่าพอใจทีเดียว เรื่องนี้จะยังไม่สิ้นสุดง่ายๆ อาตมภาพบอกไว้แต่ต้นว่า ท่าทีต่อร่าง พ.ร.บ. นี้ที่สำคัญคือต้องให้มองว่า เป็นขั้นตอนหนึ่งของการที่จะเดินต่อไปข้างหน้า ซึ่งขั้นตอนนี้ก็รวมไปถึงเรื่องการรับรองฐานะด้วย จะไปพอใจว่าตั้งโดยพระบรมราชโองการเท่านั้นไม่ได้ เพราะว่า ประการแรก พระบรมราชโองการนั้น ยังมีปัญหาในเรื่องความสมบูรณ์ อันนี้ต้องไปพิจารณากันในรายละเอียด ประการที่ ๒ สถาบันต่างๆ แม้จนตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการ แม้จะสมบูรณ์แล้ว แต่เป็นคนละยุคคนละสมัย สถานะนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ กันในแต่ละยุคแต่ละสมัย จึงต้องมีกฎหมายที่กำหนดฐานะออกมาให้ชัดในยุคนั้นๆ ว่าเป็นอะไร ขั้นไหน ระดับไหน มหาวิทยาลัยสงฆ์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังไม่มีฐานะชัดเจนในสภาพแวดล้อมปัจจุบันว่าเป็นสถานศึกษาระดับไหน ซึ่งจะบอกได้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นอะไร เป็นของหลวง ของรัฐ ของเอกชน ของคณะสงฆ์หรือของใคร ถ้าจะบอกว่าเป็นมหาวิทยาลัยก็ต้องมีตัวกฎหมายที่ระบุไว้ชัด ถึงมหาวิทยาลัยบ้านเมืองที่ตั้งขึ้นมาทุกแห่ง เมื่อเวลาผ่านไป สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องมี พ.ร.บ. ออกมาใหม่ อย่างน้อยก็ต้องมี พ.ร.บ. ฉบับนั้นแก้ไขเพิ่มเติมกันเรื่อยมา ยกตัวอย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ตั้งโดยพระบรมราชโองการ จะถือว่าพอแล้วแค่นั้นไม่ได้ ต้องมี พ.ร.บ. เรื่อยมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ล่าสุดก็ออกใหม่ไม่กี่ปีนี่เอง เพื่อกำหนดให้มันแน่นอนถึงสถานะที่อยู่ในสภาพแวดล้อมขณะนั้นเวลานั้นให้ชัดเจน ฉะนั้น อันนี้ก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องรอการดำเนินการหรือก้าวหน้าต่อไป

ข้อ ๒ ในแง่ที่ว่า ยากแก่การควบคุม อันนี้อย่างน้อยก็เป็นการที่เรียกได้ว่า “ปัดเรื่องให้พ้นไปทีหนึ่ง” ถึงอย่างไรในแง่นี้ก็คงจะน่ายินดีที่ว่า เอาละ ให้มหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ได้ฐานะอย่างน้อยก็ในแง่ของการรับรองปริญญาเสียก่อน แต่ถ้ามองในแง่ของส่วนรวมแล้วไม่น่าสบายใจเท่าไร เพราะเป็นการแสดงว่า กิจการในด้านศาสนศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งหมดไม่ได้รับความเอาใจใส่จริงจัง รัฐและคณะสงฆ์ไม่ถือเป็นสำคัญเท่าที่ควร เต็มไปด้วยการปัดความรับผิดชอบ ตราบใดที่ยังเลี่ยงการรับรองไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง นั่นคือ “การแสดงความไม่อยากรับผิดชอบ” กิจการส่วนรวมโดยเฉพาะการศึกษาของคณะสงฆ์จะดำเนินไปด้วยดี จะต้องมีการรับผิดชอบกันอย่างจริงจัง เอาใจใส่ให้เต็มที่ จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ ขณะนี้ให้ถือว่าการศึกษาของพระเรายังอยู่ในสภาพที่ว่ามีอะไรที่อยากจะปัดก็ปัดออกไปไม่อยากเข้าเกี่ยวข้อง ฉะนั้นในแง่ของผลประโยชน์ส่วนรวมระยะยาวแล้วไม่น่าภูมิใจ อันนี้เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุผลที่ทางรัฐบาลแถลงมา ๒ ข้อนั้น

อาตมามีข้อเสนอแนะว่า ในร่าง พ.ร.บ. นี้ มีอะไรที่ถ้าหากเป็นไปได้ก็น่าจะได้ทำต่อไป ถ้าเรายังอาจและยังมีเวลาเติมก็ควรจะทำ คือว่าถ้าอาศัย พ.ร.บ. ใหม่นี้รับรองฐานะไปเลยก็เป็นการดี เช่น อาจจะให้มีข้อความใน พ.ร.บ. นี้ กำหนดลงไปเสียตอนใดตอนหนึ่งว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้วนั้น” ถ้ามีข้อความนี้ขึ้นมา พ.ร.บ. นี้จะกลายเป็นตัวรับรองไปเอง อันนี้ถึงแม้จะไม่ออกเป็น พ.ร.บ. โดยเฉพาะ แต่เอาข้อความนี้เข้าช่วยก็ใช้ได้ ระหว่างนี้เรื่องยังไม่เสร็จสิ้น ข้อความเดิมก็อาจจะตีความได้ต่างๆ อาตมภาพเกรงว่า ถ้าเกิดมีการตีความกันขึ้น ก็อาจจะเกิดการโต้แย้งกันขึ้นได้ ถ้าหากระบุไว้อย่างชัดเจนก็หมดปัญหาไปเลย

ต่อไป ทำอย่างไรจะให้มีข้อความที่กำหนดไว้ชัดเจน ในเรื่องอำนาจที่จะขยายการศึกษาต่อไป ซึ่งในร่างนั้นอาจจะมีอยู่ แต่ก็ต้องขึ้นต่อการตีความ ทำอย่างไรจะให้ชัดออกมาเลย ใน พ.ร.บ. นี้เน้นไปที่การศึกษาเก่าที่มีอยู่แล้ว รับรองหรือเทียบกำหนดวิทยฐานะประโยค ๙ และปริญญา พธ.บ. และ ศ.บ. เป็นปริญญาตรีทางสังคมศาสตร์ ถ้าจะพิจารณาในรายละเอียด อาจจะต้องเติมมนุษยศาสตร์เข้าไปด้วยละกระมัง แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญตอนนี้ก็คือว่ารับรองแค่ปริญญาตรี ทีนี้ถ้าหากจะดำเนินการถึงปริญญาโท ปริญญาเอก ยังมองไม่เห็นชัดว่าให้อำนาจอยู่ตรงไหน ถ้าจะกำหนดให้ชัดลงไปได้ก็จะดี เราพูดกันไปแล้วว่านี่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง ถ้าเรามีความตระหนักนี้ไว้ ก็คอยหาทางเติมเข้าไป แต่สมมุติว่าถ้าเป็นไปไม่ได้ หรือกำหนดไม่ได้จริงๆ ก็ปล่อยก็เอาเท่านั้นก่อน แต่หมายความว่าต้องเตรียมใจให้พร้อม ที่จะดำเนินการก้าวหน้า จะพอใจแค่นี้ไม่ได้ ถ้าหากสามารถก็กำหนดมาให้ชัดเจน

ทีนี้มีมาตราที่ให้ศักดิ์และสิทธิ์ของปริญญารุ่นก่อนๆ ย้อนหลังในร่าง พ.ร.บ. ๒ ฉบับนี้ไม่เหมือนกัน ตอนนี้มีร่างอยู่ ๒ ร่าง คือ ร่างของพรรคกิจสังคมและร่างของกรมการศาสนาซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน ข้อความคล้ายๆ กัน ไปเปลี่ยนแต่รายละเอียดหรือถ้อยคำ ซึ่งในแง่ของกฎหมายก็สำคัญเหมือนกัน อาตมภาพว่าดูร่างที่มีอยู่ก็จะมีปัญหาได้เหมือนกัน ในการให้ปริญญา ให้ศักดิ์และสิทธิ์ย้อนหลังแก่รุ่นก่อนๆ คือ ในร่างหนึ่งดูคล้ายๆ ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์จะต้องให้ปริญญาใหม่อีกทีแก่รุ่นก่อนๆ ส่วนอีกร่างหนึ่งนั้นให้เลย โดยบอกชัดใน พ.ร.บ. นี้ ก็เป็นข้อพิจารณาว่า ควรจะเอาอันไหน อันที่ให้อำนาจมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปให้ปริญญาย้อนหลังแก่ลูกศิษย์ของตน หรืออันที่กำหนดให้เลย ควรจะเอาอย่างไหน ถ้าตกลงอันไหน ก็ควรจะเอาอันนั้นให้ชัดเจน

คราวนี้อาตมาขอวกกลับมาเรื่องที่พูดตอนต้นว่า ทำไมจึงว่าน่าดีใจ ๑ ส่วน น่าสังเวช ๓ ส่วน ที่พูดอย่างนี้มองในแง่ของฝ่ายพระสงฆ์ ถ้ามองในแง่ของฝ่ายดำเนินการในเรื่องนี้ คือทางรัฐบาล ก็เป็นเรื่องที่น่าจะอนุโมทนา ที่ได้มองเห็นคุณค่าและความสำคัญถึงกับพยายามดำเนินการให้เสร็จสิ้น ส่วนในฝ่ายพระสงฆ์ก็พอดีใจได้อยู่ ในข้อที่ว่าเรื่องราวซึ่งเป็นความปรารถนา เพียรพยายามทำกันมานาน ล้มลุกคลุกคลานไม่สำเร็จสักที ก็จะมาสำเร็จหรือว่ามีหวังมากที่จะสำเร็จในครั้งนี้ ถ้าสำเร็จจริงก็น่าดีใจอยู่ เป็นเรื่องที่ควรดีใจมิใช่เรื่องที่น่าเสียใจ

ส่วนที่ว่าน่าสังเวชนั้น ต้องอธิบายหน่อย สังเวชนี้อาตมภาพพูดตามความหมายในทางพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ในภาษาไทยแท้ๆ คือ ในภาษาไทยกับในภาษาบาลีเดิมนี้ บางทีความหมายของถ้อยคำมันเพี้ยน มันแปรไป สังเวชนี้ ภาษาไทยหมายถึงสลดหดหู่ รู้สึกไม่ดี แต่ในภาษาบาลีในพระพุทธศาสนา สังเวชหมายถึงเป็นเครื่องเตือนใจให้ได้คิด แล้วก็จะได้ทำอะไรให้มันดีงาม เจริญก้าวหน้า เช่นว่า สังเวชนียสถาน ๔ หรือสถานที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช ๔ แห่งที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เราไปดูที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ถ้าเอาคำว่าน่าสังเวชในภาษาไทยไปใช้คงไม่ดีแน่ ความหมายในภาษาบาลีเดิมท่านมิได้หมายตรงกับสังเวชในภาษาไทย แต่หมายความว่า เตือนสติให้ได้คิด แล้วจะได้รีบทำความดี ทำสิ่งที่ดีงาม เร่งแก้ไขปรับปรุงให้มันเจริญก้าวหน้า ข้อที่ควรจะให้สังเวชใจหรือเตือนใจให้เราได้คิด แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงทำให้มันก้าวหน้า เจริญยิ่งขึ้น ก็คือว่า เมื่อ พ.ร.บ. นี้ ออกมา จะเป็นเครื่องประกาศให้รู้ว่า คณะสงฆ์เราน่ะมีการศึกษาแค่ไหน ทางฝ่ายการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่เป็นมาแต่เดิมของคณะสงฆ์เองนี้ ก็มีเปรียญธรรม ๙ ประโยคเป็นสูงสุด มหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งนี้ก็ได้ดำเนินการศึกษามามีผู้สำเร็จสูงสุดได้ พธ.บ. และ ศ.บ. และบัดนี้ราชการจะได้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า การศึกษาสูงสุดของคณะสงฆ์นั้นก็คือปริญญาตรี ปริญญาตรีนั้นในสมัยนี้ เป็นที่รู้จักกันแล้วว่า เป็นปริญญาขั้นต้น หรือขั้นต่ำสุด ถอยหลังไปศตวรรษก่อน เปรียญ ๙ เคยเป็นปริญญาสูงสุดในประเทศไทย ครั้นต่อมา ๖๐ กว่าปีมานี้ การศึกษาฝ่ายบ้านเมืองเริ่มมีการศึกษาขั้นปริญญาตรี การศึกษาของวัดกลายเป็นฝ่ายตามบ้านเมืองเรื่อยมา เปรียญ ๙ เพิ่งจะได้รับฐานะเป็นปริญญาตรีในบัดนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เพิ่งจะมีทีท่าได้รับฐานะมีการศึกษาปริญญาตรี เราจะต้องเดินหน้าต่อไป คือปริญญายังมีสูงขึ้นไปอีก เป็นปริญญาโทและปริญญาเอก

คณะสงฆ์นั้นเป็นผู้รับผิดชอบการพระศาสนา คณะสงฆ์เป็นสถาบันหลักของพระพุทธศาสนา เป็นตัวอย่าง เป็นผู้นำในทางพระพุทธศาสนา ตามฐานะนี้คณะสงฆ์จะต้องเป็นผู้นำในด้านการศึกษาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนา ใช่หรือไม่? แต่ตามสภาพความเป็นจริงที่ทางการประกาศยืนยันในบัดนี้ คณะสงฆ์ซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยขณะนี้ มีการศึกษาสูงสุดแค่ปริญญาตรี ผู้สำเร็จการศึกษาสูงสุดของคณะสงฆ์แล้ว อยากศึกษาต่อให้สูงกว่านั้น “ก็ต้องไปนอก” ไปนอกมี ๒ อย่างคือ

๑. ไปนอกประเทศ ไปเรียนต่อ เช่น ที่ประเทศอินเดีย เป็นต้น อาจจะจบปริญญา พธ.บ. หรือ ศ.บ. แล้วก็ไปเรียน ปริญญาโท-เอก ที่อินเดีย หรือตลอดถึงประเทศในยุโรป อเมริกา หรือสำเร็จเปรียญ ๙ ประโยคก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้ก็ไปต่อปริญญาโทที่อินเดีย หรือไม่อย่างนั้นก็

๒. ไปนอกวัด เดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีสอนบาลีและพุทธศาสนาถึงปริญญาโท และคงมีปริญญาเอกในไม่ช้า เช่นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์มีสอนถึงปริญญาโทภาษาบาลีและคงจะเปิดเอกอีกไม่นาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาปรัชญาก็สามารถทำปริญญาโทวิชาเอกทางพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหิดลก็พยายามจะเปิดปริญญาเอกมา ๒-๓ ปีแล้ว คราวนี้ผู้สำเร็จการศึกษาสูงสุดของคณะสงฆ์ จะเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์หรือปริยัติธรรมเปรียญ ๙ ก็ตาม ถ้าจะเรียนต่อชั้นสูงทางพุทธศาสนาหรือภาษาบาลีในประเทศไทย ก็ต้องไปนอกวัด คือสึก ต้องสึกไปเรียน ไปเป็นคฤหัสถ์ แต่ข้อสำคัญก็คือ เป็นเครื่องแสดงว่า ที่ชาวโลกว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยเจริญหรือเป็นผู้นำนั้นคงจะไม่จริง โดยเฉพาะในแง่การศึกษา เพราะสถาบันหลักของพุทธศาสนาในประเทศไทยนี้ ดำเนินการศึกษาได้แค่ปริญญาตรีเป็นสูงสุด จะเรียนบาลีหรือพุทธศาสนาก็ตาม ถ้าต้องการเรียนต่อต้องไปเรียนที่ประเทศอินเดีย ยุโรป อเมริกา นี้พูดถึงวงกว้าง

หันมาในประเทศไทยด้วยกันเอง มองในประเทศไทย ก็หมายความว่า “คณะสงฆ์มิได้เป็นผู้นำในด้านการศึกษาพุทธศาสนาและภาษาบาลี” เพราะว่ามหาวิทยาลัยทางฝ่ายโลกมีสอนถึงปริญญาโท ปริญญาเอก ทางฝ่ายของพระสงฆ์นั้นมีแค่ปริญญาตรีเป็นสูงสุดในขณะนี้ ถ้าจะเรียนให้สูงกว่านี้ จะต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยทางโลก โดยต้องสึกไปเรียน

อันนี้เป็นข้อเตือนใจให้คิด เป็นที่น่าสังเวช ต้องทำใจว่า การจะรับรองครั้งนี้เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ถ้าหากว่าจะดีใจตื่นเต้นก็ควรจะดีใจนิดหนึ่ง แล้วรีบระงับเสีย แล้วคิดที่จะพยายามแก้ไขปรับปรุงว่า ทำอย่างไรที่จะให้คณะสงฆ์และสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาในฝ่ายของพระสงฆ์ เป็นผู้นำในการศึกษาภาษาบาลีและพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง อันนี้เป็นจุดหมายที่จะพึงตื่นตัว การมองแต่เพียงว่าได้รับรองเทียบปริญญานั้นไม่เพียงพอ เป็นเรื่องที่ควรรับทราบตามความเป็นจริง ว่า เอาละ…มันเป็นความก้าวหน้าก็ดีอย่างหนึ่ง รัฐบาลไทยให้โอกาสแก่พุทธศาสนาไปขั้นตอนหนึ่ง แสดงว่าผู้ปกครองประเทศไทยในสมัยปัจจุบัน ก็ได้มองเห็นว่าการศึกษาเป็นกิจการสำคัญของพระศาสนา และมองเห็นว่าการศึกษาทางพระศาสนามีความสำคัญแก่ประเทศชาติ แต่ต้องตระหนักเสมอว่า “เป็นขั้นตอนที่จะต้องเดินต่อไป” ถ้าหากว่าทำใจได้อย่างนี้ก็ยังเป็นที่น่ายินดี แต่ถ้าไปพอใจว่า “เป็นผลสำเร็จแล้ว” และดีใจตื่นเต้นไป ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะว่า “มันเป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่ควรแก่ความดีใจ” อย่างแท้จริง เพราะในแง่หนึ่งจะเป็นการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่า คณะสงฆ์หรือการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยนี้มันต่ำต้อยด้อยแค่ไหน นี้แหละคือความหมายที่ได้กล่าวในเบื้องต้นที่ว่าให้มีความสังเวช ก็คือ เป็นเครื่องเตือนใจให้ได้คิด แล้วก็จะได้พิจารณาหาทางพยายามแก้ไขปรับปรุงต่อไป

แต่การที่ว่าอย่างนี้ มิใช่ว่าจะไปลงโทษว่ากล่าวติเตียนใคร เป็นของที่อาจต้องทำให้เหมาะสมสำหรับสภาพกาลเวลาหนึ่ง ถ้าจะบอกว่าประโยค ๙ ของปริยัติธรรมในฝ่ายคณะสงฆ์ถือเป็นสูงสุด มันควรจะเป็นปริญญาเอกสิอะไรทำนองนี้ แต่จะให้เป็นได้อย่างไร การที่จะเป็นได้จะต้องพิจารณาให้เหมาะสม เราจะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรอะไรต่ออะไรกัน ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ เช่นว่า ถ้าเราเห็นว่า ประโยค ๙ นี้ เป็นชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์แล้ว ก็ควรจะให้ได้เทียบฐานะที่สูงสุดด้วย ถ้าเราจะคงประโยค ๙ ไว้ให้สูงสุด ก็น่าจะมีการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรเป็นต้น หรือถ้าหากว่า ไม่เป็นไร เอาละประโยค ๙ ปริญญาตรีก็ได้ ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรจะมีหลักสูตรอะไรต่อจากประโยค ๙ เพื่อให้มันสูงยิ่งขึ้นไป ให้สูงสุดจริงๆ เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับทางฝ่ายมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ต้องเพียรพยายามที่จะดำเนินการศึกษาให้ก้าวหน้าไปในชั้นปริญญาโท ปริญญาเอก ในเรื่องเกี่ยวกับบาลีและพุทธศาสนา หรือเรื่องเกี่ยวกับกิจการพระศาสนา เพราะปริญญาตรีเป็นปริญญาพื้นฐานขั้นต้นเท่านั้น จึงอาจจะมีการเรียนวิชาสามัญต่างๆ เข้ามาเยอะแยะ เรื่องปริญญานี้เป็นเรื่องสากล หลักเกณฑ์ของสากล ปริญญาตรีนี้เป็นขั้นต้น ต้องมีวิชาทั่วๆ ไปมาก จะไม่เน้นเอาเป็นสายวิชาเฉพาะของตนเอง อย่างในปริญญาโท ปริญญาเอก ดังนั้นเราก็จะต้องดำเนินการศึกษาในชั้นปริญญาโท ปริญญาเอกที่เด่นเฉพาะภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาให้สำเร็จให้ได้ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคืบหน้าต่อไป

วันนี้อาตมภาพได้พูดเล่าความเป็นมาเกี่ยวกับการดำเนินการ เพื่อให้มี พ.ร.บ. เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสงฆ์มาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ก็ได้เสนอข้อคิดเห็นไปบ้าง ขอยุติเพียงเท่านี้ ในตอนท้ายได้ทราบว่าจะพูดเรื่องนี้กันอีก เราอาจจะมาคุยกัน ตอนนี้ก็ขออนุโมทนา

หมายเหตุ หลังจากการสัมมนาครั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา ได้รับการพิจารณาเห็นชอบในรัฐสภาแล้ว ตามลำดับดังนี้

– สภาผู้แทนราษฎร (ในการประชุมสมัยวิสามัญ ครั้งที่ ๒/๒๕๒๗) มีมติเห็นชอบรับหลักการเป็นเอกฉันท์ ณ วันพุธที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๒๗ และตั้งกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบในวันศุกร์ที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๒๗ และให้เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป

– วุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบรวดเดียว ๓ วาระ ในวันจันทร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๗

 

 

 

พิมพ์ครั้งแรกใน “พุทธจักร” ฉบับพิเศษ ครบรอบวันสถาปนา กันยายน ๒๕๒๗ ต่อมาตีพิมพ์ซ้ำใน “ศิษย์เก่า ม.จ.ร. คืนเหย้า ๒๕๒๗” หน้า ๗-๓๐

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ข้อควรทราบเกี่ยวกับการศึกษาของคณะสงฆ์พระราชบัญญัติ กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา >>

เชิงอรรถ

  1. บรรยายในที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “สถานภาพของมหาวิทยาลัยสงฆ์” จัดโดยสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ณ สำนักธรรมวิจัย ม.จ.ร.

No Comments

Comments are closed.