ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของวิทยาศาสตร์

28 พฤษภาคม 2531
เป็นตอนที่ 5 จาก 15 ตอนของ

ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของวิทยาศาสตร์

การที่คนเราพูดถึงแต่ส่วนที่ดี ด้านดีที่เป็นคุณประโยชน์และความหวังต่างๆ ที่เทคโนโลยีจะสนองความต้องการให้นั้น พูดไปด้านเดียวอาจจะเป็นการกล่อมให้เกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหล หมกมุ่น มัวเมา และอยู่กันด้วยความฝัน เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยีให้ถูกต้อง

ท่าทีอย่างที่หนึ่งก็คือ การมองและรู้จักมันตามเป็นจริง ซึ่งก็เป็นหลักการของธรรม หรือพุทธธรรม เพราะฉะนั้น ในเรื่องเทคโนโลยีนี้ ท่าทีอย่างแรกที่เราจะต้องทำให้ถูกต้องคือ จะต้องมองดูให้รู้จักมันตามความเป็นจริง มองดูรู้จักมันตามเป็นจริง ก็เพื่อให้ครบถ้วนรอบด้าน แล้วก็จะได้ไปคุมไปคานกับความเคลิบเคลิ้ม หลงใหล ความฝันเฟื่อง ที่ได้เล่ามาแล้วนั้น

การที่จะมองดูรู้จักตามเป็นจริงได้ก็ต้องดูทั้งคุณและโทษ คือ จะศึกษาเรื่องใดก็ต้องมองให้เห็นคุณและโทษ มองเห็นขอบเขตและขีดจำกัดว่ามันทำอะไรได้แค่ไหน ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ นอกจากผลดีแล้ว ในด้านเสียจะมีผลร้าย หรือจุดอ่อน ข้อบกพร่องอะไรบ้าง ไม่ใช่มองไปเห็นแต่คุณแล้วก็ฝันว่าเทคโนโลยีนั้นทำให้ได้ทุกอย่าง ดีเลิศทุกประการ เมื่อเห็นขอบเขตของมันแล้วก็โยงว่าเทคโนโลยีนี้มีความสัมพันธ์กับด้านอื่นๆ ของชีวิตมนุษย์อย่างไร โยงให้เห็นกันตลอดทุกระบบตลอดสาย แล้วต่อจากนั้นก็มองให้เห็น ฟัง และรู้ให้ทันว่า ในวงการเทคโนโลยีเองเขามีปัญหาอะไรกันบ้าง มีความวิตกกังวลอะไร และแนวโน้มต่อไปจะเป็นอย่างไร มองกันให้รอบด้าน ทั่วตลอดทุกอย่าง ซึ่งจะเป็นการมองตามความเป็นจริง ไม่ใช่อยู่ด้วยความฝัน

ท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็จัดเข้าในเรื่องของการมองดูรู้จักตามเป็นจริงด้วย ก็คือ เราเข้าใจกันว่าเทคโนโลยีคืออะไร เกิดขึ้นมาอย่างไร เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหลายนี้ ล้วนแต่เป็นการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ประโยชน์ สนองความต้องการของมนุษย์ทั้งสิ้น

วิทยาศาสตร์คืออะไร วิทยาศาสตร์ก็คือความรู้ในธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในตัวธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้ว เราก็สามารถเอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ เอามาจัดสรรกระบวนการ ปรุงแต่งเหตุปัจจัย ทำการประดิษฐ์สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ นำมาใช้ประโยชน์สนองความต้องการของเราได้ การนำเอาความรู้ในวิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ สนองความต้องการของเราได้นั้นเป็นเทคโนโลยี ตัวความรู้เองเป็นวิทยาศาสตร์ ส่วนการนำความรู้นั้นมาใช้สร้างสรรค์สนองความต้องการเป็นเทคโนโลยี ดังนั้น เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีก็จะต้องพูดโยงไปถึงวิทยาศาสตร์ด้วย เทคโนโลยีจะเจริญไปได้เพียงไร ก็อยู่ในขอบเขตแห่งความเจริญของวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เจริญไปได้มาก ก็สามารถผลักดันความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขึ้นไปได้มาก

ทีนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นั้นมีมากเท่าใด ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันนี้ พูดได้ว่าเป็นความรู้เพียงบางด้านบางส่วนของธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ ซึ่งยังจะต้องศึกษากันต่อไป เพราะว่ายังรู้ไม่จบสิ้น รู้เท่าไรก็นำมาใช้เท่าที่ใช้ได้ เอามาใช้ประโยชน์สร้างเทคโนโลยีกันไป ก็เจริญต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ

ความรู้ทางวิทยาศาตร์ที่เจริญขึ้นมาและรู้เพียงบางแง่บางส่วนนั้น เช่น สมัยหนึ่งว่าอย่างนี้ถูกต้อง ต่อมาอีกสมัยหนึ่งก็พบว่า อ้าว! ไม่ถูกเสียแล้ว ที่สมัยหนึ่งว่าอย่างนี้เป็นจริง ต่อมากลายเป็นเท็จ เรื่องเช่นนี้ปรากฏอยู่เสมอในวงการวิทยาศาสตร์ เช่น ในสมัยโบราณทีเดียว เมื่อวิทยาศาสตร์เริ่มเจริญ มีการค้นพบอะตอม (atom) หรือปรมาณู ตอนนั้นถือว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ แล้วก็เข้าใจว่าอะตอมนี้เป็นสิ่งที่เล็กที่สุด เป็นหน่วยย่อยสุดท้าย เป็นสิ่งที่แบ่งแยกออกไปอีกไม่ได้ จึงตั้งชื่อว่า อะตอม

คำว่าอะตอมนั้นเอง ก็แปลว่า สิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ แต่ต่อมาอีกนานก็มีผู้ค้นพบเปิดเผยออกมา ที่ว่าปรมาณูแบ่งแยกไม่ได้ เป็นต้นเดิมของสิ่งทั้งหลายในทางวัตถุนั้น มันไม่เป็นจริงเสียแล้ว อะตอมเป็นสิ่งที่แบ่งแยกได้ อะตอมหรือปรมาณูนั้นเกิดจากอนุภาคเล็กลงไป มีนิวตรอน โปรตอน อิเลคตรอนประกอบกันขึ้น อะไรทำนองนี้ ก็กลายเป็นว่า ความรู้เก่าที่ว่ากันมาผิดเสียแล้ว คำว่าอะตอมก็ใช้ไปแล้ว ทำไงได้ จะเปลี่ยนเดี๋ยวก็จะแปลกเกินไป ก็ใช้กันไปสักแต่ว่าเป็นชื่อ ที่จริงความหมายไม่ตรงแล้ว อะตอมแปลว่าแบ่งแยกไม่ได้ (indivisible) แต่ที่จริงมันแบ่งแยกได้ ก็ใช้อย่างรู้กัน ชื่อนั้นก็เป็นเพียงคำเรียกไปอย่างนั้นเอง

สมัยหนึ่ง นิวตัน (Sir Isaac Newton) ได้ค้นพบเรื่องแรงดึงดูดของโลก ที่เรียกว่า กฎความโน้มถ่วง (the law of gravitation) ก็ว่าเป็นความเจริญทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก แต่ต่อมาไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ (the theory of relativity) ขึ้นมา ก็บอกว่า ที่นิวตันว่าเป็นเรื่องแรงดึงดูดของโลกนั้นไม่ใช่ ไม่เป็นความจริง กฎไม่เป็นกฎเสียแล้ว สมัยหนึ่งบอกว่าแสงเดินทางเป็นเส้นตรง ต่อมาตอนหลังเจริญขึ้นไปอีก วิทยาศาสตร์ค้นพบบอกว่า แสงไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงหรอก แสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง ก็เป็นอันว่าค่อยๆ ค้นพบกันไป

วิทยาศาสตร์นี้เจริญมาก็อย่างที่ว่า คือรู้จักความจริงในบางแง่บางส่วน แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้เท่าที่ค้นพบมาได้นี้ ก็นำมาใช้ประโยชน์ได้ในระดับหนึ่ง อย่างเรื่องความรู้เกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลกก็ดี เรื่องแสงเดินทางเป็นเส้นตรงก็ดี ก็นำมาใช้ในทางเทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ได้เป็นประโยชน์มาก พอแก่ความต้องการทีเดียว พอใช้สำหรับมนุษย์ทั้งหลาย แม้แต่จะไม่รู้ความจริงที่เกินกว่านั้น มันก็ใช้ประโยชน์ได้อยู่แล้ว

ฉะนั้น ในแง่เทคโนโลยีนี้ บางทีแม้แต่เมื่อวิทยาศาสตร์รู้เลยไปแล้ว ก็ยังไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถึงขั้นนั้น เอาความรู้เก่าๆ มาก็ใช้ประโยชน์ได้ ทีนี้ที่ว่ามันเป็นปัญหาก็อยู่ตรงนี้ คือการที่รู้ความจริงไม่ทั่วตลอดนี้แหละ เมื่อนำความรู้นั้นมาใช้ แม้จะเป็นประโยชน์ในด้านนั้น แต่ต่อมาก็ปรากฏว่ามันเกิดเป็นปัญหาด้านอื่นขึ้นโดยไม่รู้ตัว

อีกอย่างหนึ่ง แม้เราจะรู้ความจริงหลายด้าน แต่เราก็รู้แยกไปในแต่ละด้านๆ ด้านนั้นเราก็รู้ ด้านนี้เราก็รู้ แต่ความรู้นั้นไม่เชื่อมโยงถึงกัน เมื่อไม่เชื่อมโยงถึงกัน ในเวลาที่สร้างสรรค์ใช้เทคโนโลยี การที่ไม่สามารถเชื่อมโยงประสานความรู้ต่างด้านเข้ามา ก็ทำให้เกิดปัญหาอีก กล่าวคือ บางทีมุ่งให้ได้ประโยชน์ด้านหนึ่ง หรือใช้ความรู้เพียงด้านหนึ่งทำเทคโนโลยีขึ้นมาแล้ว ต่อมามันกลับเป็นปัญหาขึ้นมาในด้านอื่น หรือแม้แต่รู้แล้วไม่ทันนึกก็มี คือ ไม่ทันนึกที่จะเอาความรู้มาเชื่อมโยงกัน ดังตัวอย่างเมื่อกี้กรณียาทาลิโดไมด์ ที่ว่าได้พิสูจน์ทดลองกันแล้วไม่มีปัญหา ไม่เป็นพิษภัย แต่ต่อมากลายเป็นพิษภัยขึ้นมา ก็เพราะเป็นความรู้ที่นึกไม่ทั่วถึง เชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ไม่ตลอดถึงกัน ก็เกิดปัญหาขึ้นมา

ฉะนั้น ปัญหาจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีก็จะมาในสภาพนี้อยู่เรื่อยไป กรณีอื่นๆ ก็มีอยู่มากมาย ถ้าเป็นเรื่องที่ปัญหาเกิดขึ้นมาไว ก็ดีไป ถึงแม้จะร้ายแรงก็มีโอกาสแก้ปัญหากันได้แต่เนิ่นๆ แต่บางเรื่องนั้นกว่าปัญหาจะปรากฏ กินเวลากว่าศตวรรษก็มีและกว่าจะเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาให้รู้ตัวกัน คนเราก็แทบจะแย่แล้ว

ขอยกตัวอย่างเรื่องที่เรารู้ๆ และใช้ประโยชน์กันอยู่นี้ ก็คือพวกเชื้อเพลิงทั้งหลายที่เป็นแหล่งของพลังงานต่างๆ ที่สำคัญในปัจจุบันนี้ ได้แก่ พวกน้ำมัน ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ ซึ่งรวมกันเรียกว่าเป็น ฟอลซิล ฟูเอล (fossil fuel) พลังงานเหล่านี้เราได้ใช้กันมาในกิจการอุตสาหกรรมทำโรงงานต่างๆ แม้แต่รถยนต์ เครื่องบิน และเรือทั้งหลายก็อาศัยพลังงานเหล่านี้ เราได้รับคุณประโยชน์มามากมาย แต่ในระหว่างนั้นเราก็เผาผลาญมันไป ไอเสียจากรถรา และควันจากโรงงานก็ลอยขึ้นไป ออกเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (carbon dioxide) ทีนี้เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำให้เกิดขึ้นมานี้จะมีผลอย่างไร

ต่อมาหลังจากใช้กันเพลินมานาน คงจะเป็นศตวรรษแล้วจึงได้มาค้นพบกันขึ้นว่า บัดนี้ เจ้าคาร์บอนไดอ๊อกไซด์นั้นได้สะสมมากขึ้นๆ ในบรรยากาศของโลก ทำให้บรรยากาศเหนือผิวโลกร้อนยิ่งขึ้น เมื่ออุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น ก็ทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวน เช่น ระบบการไหลเวียนของลมผิดเพี้ยน การตกของฝนตลอดจนฤดูกาลก็อาจจะเปลี่ยนไป

ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือมันทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การที่น้ำทะเลสูงขึ้นก็เพราะว่าความร้อนนี้เองที่เพิ่มขึ้นบนผิวโลก ทำให้น้ำทะเลพองตัวหรือขยายตัว เมื่อน้ำขยายตัวระดับน้ำก็สูงขึ้น และอีกประการหนึ่ง เมื่อบรรยากาศเหนือผิวโลกร้อนขึ้น ก็ทำให้ภูเขาน้ำแข็งและผิวน้ำแข็งที่เปลือกขั้วโลกละลาย เมื่อละลายออกมาแล้วน้ำก็ไหลลงมา ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ตอนนี้ก็มีความกลัวกันว่า ทุกวันนี้น้ำทะเลได้สูงขึ้นปีละ ๑ มิลลิเมตร ทีนี้ ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นถึง ๑ องศาเซลเซียส น้ำทะเลจะสูงขึ้นราว ๒ ฟุต ก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมโลกอีก

อีกตัวอย่างหนึ่งใกล้ๆ กันนั้น ยกเอามาดูเพื่อช่วยให้เห็นชัดขึ้น มีสารเคมีชนิดหนึ่ง เรียกว่า โคลโรฟลูโอโรคาร์บอน (chlorofluorocarbon) สารชนิดนี้เริ่มใช้กันหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เอง โดยได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นสารที่ไม่มีภัยไม่มีอันตรายเลย จึงเอามาใช้กันมากในตู้เย็น ในเครื่องปรับอากาศ และในกระป๋องสเปรย์ที่ฉีดทำให้อากาศหอมอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ใช้กันมานาน จนกระทั่งบัดนี้ สารชนิดนี้ ซึ่งเรียกชื่อย่อๆ ว่า ซีเอฟซี (CFC) นั้น ได้ขึ้นไปอยู่ในบรรยากาศของโลกเกิน ๑๐ ตันแล้ว

ทีนี้ สารที่ว่าไม่มีพิษภัยอันตรายเลยนี้ โดยที่มนุษย์ไม่รู้ตัวมันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา คือว่ามันได้ไปทำลายโอโซน (ozone) โดยไปทำปฏิกิริยากับแสงอุลตราไวโอเลต (ultraviolet) แล้วกลายเป็นคลอรีน (chlorine) ออกมา คลอรีนนี้ออกมาแล้วก็ไปทำให้โอโซนกลายเป็นออกซิเจน (oxygen) เมื่อโอโซนกลายเป็นออกซิเจนแล้ว ผิวระดับบรรยากาศที่เรียกว่า ชั้นโอโซน (ozone layer) ก็บางลงไป เกิดเป็นรูโหว่ที่เขาเรียกว่า ozone hole ขึ้นในชั้นโอโซนนั้น และตามรายงานของคณะนักวิทยาศาสตร์ ที่ไปสำรวจความเป็นไปในบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica) ปรากฏว่ารูโหว่นั้นก็กำลังขยายกว้างออกไปๆ

โอโซนนี้ช่วยกรองไม่ให้แสงอุตราไวโอเลตลงมาที่ผิวโลกมากเกินไป เมื่อชั้นโอโซนที่เป็นตัวกันนี้มันบางลดน้อยลงไป มีช่องโหว่กว้างขึ้นแล้ว แสงอุลตราไวโอเลตผ่านลงมาได้มาก ก็จะเป็นอันตรายแก่ชีวิตในโลก เช่น ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังแก่มนุษย์ และจะลงไปทำอันตรายแก่ชีวิตเล็กๆ บนผิวโลก ในทะเล เมื่อชีวิตเหล่านั้นถูกทำลาย ตายไป ชีวิตใหญ่ๆ ที่อาศัยชีวิตเล็กๆ นั้นก็จะพลอยพินาศตามไป ตามหลักของความอิงอาศัย กันในระบบนิเวศ (ecosystems) ของโลก ระบบนิเวศก็จะเสื่อมเสียไป และอันตรายก็จะมาถึงมนุษย์ในที่สุด1

ปัจจุบันนี้ ปัญหาสภาพแวดล้อมเสียกำลังเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายพากันวิตกกังวลและเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ เป็นปัญหาร้ายแรงขั้นความเป็นความตายของมนุษย์ หรือความพินาศของมนุษยชาติ ที่กำลังโดดเด่นขึ้นมาล้ำหน้าปัญหาภัยนิวเคลียร์ ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏถี่ขึ้นอย่างมาก2 ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของการที่มนุษย์จะก่อภัยอันตรายขึ้นมาแก่ตัวเอง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่เกิดจากความเจริญทางเทคโนโลยี ที่เราจะต้องรู้ ต้องเข้าใจตามความเป็นจริง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เทคโนโลยี : ผู้นำความหวังอันอัศจรรย์เทคโนโลยีกลายเป็นภัย เมื่อคนไม่มีคุณภาพ >>

เชิงอรรถ

  1. ภายหลังปาฐกถาครั้งนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องชั้นโอโซนยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ในระยะใกล้ๆ ก่อนหนังสือนี้ตีพิมพ์ออกมา มีข่าวการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ ในช่วงสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนมีนาคม ๒๕๓๒ นี้ มี International Conference on Ozone Depletion ที่ประเทศอังกฤษ มีประเทศต่างๆ เข้าประชุม ๑๒๓ ชาติ ต่อมาไม่ทันนาน ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมนี้ ก็มีการประชุม ๘๖ ชาติ แบบเดียวกันนี้อีก ที่กรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ (Finland) ที่ประชุมมองความสำคัญของปัญหานี้ ในขั้นเกี่ยวกับความอยู่รอดของมนุษยชาติ และต้องการให้ห้ามใช้สารซีเอฟซีโดยสิ้นเชิง
  2. ก่อนต้นฉบับหนังสือนี้เข้าโรงพิมพ์ ข่าวช่วงหลังแสดงถึงการที่ปัญหาสภาพแวดล้อมเสีย ได้รับความสนใจให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกก้าวหนึ่ง คือ ได้กลายเป็นข้อพิจารณา หรือเงื่อนไขอย่างหนึ่งในการอนุมัติเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ เช่น จะต้องปรากฏชัดว่าโครงการพัฒนาที่ขอรับความช่วยเหลือนั้นไม่ก่อผลเสียหายต่อธรรมชาติแวดล้อม ไม่กระทบกระเทือนต่อป่าไม้เป็นต้น ถ้าเห็นว่าโครงการนั้นจะมีผลกระทบต่อธรรมชาติแวดล้อม ก็จะไม่อนุมัติเงินช่วยเหลือ ดังกรณีธนาคารโลกกับโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อป่าฉ่ำฝน (rain forest) ของประเทศบราซิล (Brazil) เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๓๒ นี้ เป็นต้น

No Comments

Comments are closed.