พิชิตธรรมชาติ หรือผิดธรรมชาติ

28 พฤษภาคม 2531
เป็นตอนที่ 12 จาก 15 ตอนของ

พิชิตธรรมชาติ หรือผิดธรรมชาติ

ขอก้าวสู่ข้อต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เนื่องจากประเด็นที่พูดมาเมื่อกี้ กล่าวคือ เทคโนโลยีที่พัฒนามาในยุคอุตสาหกรรมนั้น ในเมื่อมันมุ่งจะเอาชนะธรรมชาติ พิชิตธรรมชาติ ตลอดจนกระทั่งทำลายธรรมชาติ มันก็มีลักษณะที่ทำให้คนแยกตัวจากธรรมชาติ เทคโนโลยีอย่างนี้จะมีลักษณที่ทำให้เกิดสิ่งแปลกปลอม แปลกหน้าขึ้นมา แล้วก็จะทำให้เสียดุลยภาพในระบบความเป็นอยู่ของมนุษย์และกลายเป็นโทษต่อมนุษย์เอง

อะไรเป็นสิ่งแปลกปลอม แปลกหน้า และเกินพอดีจากเทคโนโลยีเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น เราพยายามสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อช่วยให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้น แม้แต่อาหารการกิน เราก็ต้องการให้มีรสอร่อยน่ากินมากยิ่งขี้น เราจึงให้สารเคมีปรุงแต่งสีสันและรสของอาหารจนผิดธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเอาชนะธรรมชาติอย่างหนึ่ง และก็ทำให้เอร็ดอร่อยกินได้มาก แต่เสร็จแล้วเป็นอย่างไร ก็เป็นอันตราย ตอนแรกที่ใช้ก็ลุ่มหลงกันไป ตื่นเต้น นิยมกันใหญ่ แต่ต่อมา พอรู้ตัวขึ้น ปรากฏว่าสารเคมีที่เจือปนปรุงแต่งรสสีอาหารเป็นอันตราย ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ เป็นต้น ตลอดจนกระทั่งว่า ทั้งๆ ที่กินมาก แต่กลายเป็นโรคขาดอาหาร เพราะอาหารที่กินนั้นไม่มีคุณค่าทางอาหารที่แท้จริงตามธรรมชาติ คือเป็นอาหารแต่ชื่อ ไม่ใช่เป็นอาหารในความหมายที่แท้จริง จะเรียกว่าเป็นอาหารเทียมก็ได้

อีกตัวอย่างหนึ่ง เราใช้เทคโนโลยีในการปรุงแต่งแสงสีและเสียงให้ปลุกเร้าอารมณ์อย่างรุนแรง โดยคิดว่ามนุษย์จะมีความสุขมากขึ้น เช่นในดิสโก้เธค (discotheque) มีการใช้ระบบปรุงแต่งแสง สี เสียง จนเกินธรรมชาติเป็นอย่างมาก แล้วเป็นอย่างไร ก็สนุกมาก แต่ต่อมาเป็นอย่างไร ปรากฏว่าคนจำนวนมากที่ไปเที่ยวดิสโก้เธคเป็นประจำ เป็นโรคหูหนวก ตาบอด ตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ทั้งๆ ที่ว่าสมัยก่อนนี้โดยมากก็อยู่กันไปจนแก่หน่อยจึงจะหูหนวกตาบอดหรือหูหนักหูตึง ตาฝ้าตาฟาง เพราะว่าใช้งานมามาก นี่ก็เป็นการปรุงแต่งที่ว่าเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งบางทีก็มีความหมายเท่ากับผิดธรรมชาติ คือ ถ้าไม่เบียดเบียนทำลายธรรมชาติข้างนอก ตัวคนก็ผิดแปลกไปจากธรรมชาติของตนเอง หรือทำลายทั้งสองอย่างพร้อมไปด้วยกัน

ข้อสังเกตต่อไป เทคโนโลยีแบบที่ว่านี้ เขาสร้างและพัฒนา ให้ปลุกเร้าประสาทสัมผัสอย่างรุนแรง ให้เกิดความต้องการทางอารมณ์อย่างรุนแรง และสนองความต้องการที่จะเสพอารมณ์อย่างรุนแรง เพื่อให้ได้ความสุขอย่างรุนแรง ผลที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนี่งก็คือ ขีดระดับของการที่จะเกิดความพอใจของคนเลื่อนสูงขึ้นไป ทำให้กลายเป็นคนที่มีความสุขยากขึ้นตามลำดับ

ขอยกตัวอย่างเช่น สมัยหนึ่งเราเคยมีเครื่องเสียง อาจจะเป็นวิทยุที่เป็นชั้นสามัญ ฟังเพลง ฟังดนตรีก็รู้สึกว่าไพเราะ เป็นที่สบายเพลิดเพลินดี แต่ต่อมาคนคนเดียวกันนั้น ไปได้เครื่องเสียงที่มีคุณภาพสูงขึ้น เป็นเทคโนโลยีระดับสูง ฟังกระหึ่ม ละเอียดอ่อนนิ่มนวลมากขึ้น ก็รู้สึกว่ามีความสุขมากขึ้น พอคุ้นกับเครื่องเสียงที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้นอันนี้แล้ว หันกลับไปฟังเครื่องเสียงอันเก่าที่มีเทคโนโลยีระดับสามัญ กลายเป็นไม่เพราะเสียแล้ว บางทีกลายเป็นรำคาญเสียด้วยซ้ำ ต้องฟังเครื่องขนาดนี้ที่มีเทคโนโลยีสูงจึงจะมีความสุขได้

ทีนี้ต่อไป เกิดไปได้เครื่องเสียงที่มีเทคโนโลยีสูงกว่านั้นขึ้นไปอีก ความสุชที่จะสนองความต้องการได้ก็เลื่อนขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เครื่องเสียงระดับต่ำกว่านั้นลงมา สองอันเก่ากลายเป็นไม่น่าฟัง ไม่ไพเราะเสียแล้ว แทนที่ว่าเขาจะมีขอบเชตที่จะได้ความสุขมากขึ้น กลับกลายเป็นว่าแดนของความสุขจำกัดแคบลงมา และตัวเขาเองก็มีความสุขยากขึ้น กลายเป็นคนที่มีความสุขได้ยาก แล้วก็มีความรำคาญง่ายขึ้น กลายเป็นว่ามีทุกข์ง่ายขึ้นและมากขึ้น ขอบเขตของความทุกข์ขยายกว้างขวางขึ้น ความสุขเสียพื้นที่ให้แก่ความทุกข์หรือความทุกข์ขยายขอบเขตออกมา กินเนื้อที่ของความสุขไปได้มากขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ศักยภาพที่จะเป็นทุกข์ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น

เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีแบบนี้พัฒนาขึ้นไปมากเท่าไร ขอบเขตที่คนจะมีความทุกข์ก็มากขึ้น ขอบเขตที่เป็นสุขก็น้อยลง เพราะขีดที่จะมีความสุขเลื่อนสูงขึ้นไปเรื่อย คนก็ถอยลงมาไม่ได้

ฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักวางตัววางใจวางท่าทีให้ถูกต้องแล้ว คนในยุคเทคโนโลยีจะมีปัญหาอันนี้มากขึ้น คือขีดระดับที่จะมีความสุขเลื่อนสูงขึ้นไป และกลายเป็นคนที่มีความสุขยากขึ้น และพร้อมกับที่มีความสุขยากขึ้นนั้น ในทางตรงข้าม ก็กลายเป็นคนที่มีความทุกข์ได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างที่บอกเมื่อกี้ เทคโนโลยีที่เคยช่วยให้เขามีความสุขได้ คือ เครื่องเสียงที่เคยฟังไพเราะในสมัยก่อน เดี๋ยวนี้ฟังแล้วรำคาญ เขาจะมีความทุกข์มากขึ้น หรือเพิ่มศักยภาพที่จะมีความทุกข์ เพราะเมื่อต้องเจอเทคโนโลยีที่ต่ำกว่านั้น หรือไม่มีเทคโนโลยีเลย เขาก็จะเป็นสุขไม่ได้ ฉะนั้น คนในยุคนี้จะเป็นคนที่มีลักษณะ เบื่อง่าย เหงา ว้าเหว่ เศร้าซึมได้ง่าย เพราะหาความสุขได้ยากขึ้นทุกที ขีดที่จะเป็นสุขได้เลื่อนสูงขึ้นไปทุกที และขอบเขตที่จะมีความสุขก็แคบลงไปทุกที ในระดับหนึ่งสิ่งที่จะเป็นไปได้มากก็คือ จะเป็นคนที่อยู่โดยปราศจากเทคโนโลยีไม่ได้ ถ้าไม่มีเทคโนโลยีแล้วจะไม่มีความสุข อยู่ตามธรรมชาติไม่ได้ สภาพที่ว่ามานี้เป็นคำอธิบายว่า

ประการแรก ทำไมคนปัจจุบันที่มีเทคโนโลยี มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายทุกอย่าง จึงไม่จำเป็นต้องมีความสุขมากกว่าคนในสมัยโบราณ แม้แต่ในยุคเกษตรกรรมที่มีวัตถุบริโภคน้อย ถ้าคนมีเทคโนโลยีจึงจะเป็นสุข ก็แสดงว่าคนสมัยก่อนไม่มีสิทธิที่จะเป็นสุข แต่ตามความเป็นจริง คนสมัยก่อนมากมายก็มีความสุขได้ และก็อาจจะมีความสุขไม่น้อยกว่าคนในยุคนี้ โดยเฉพาะตามหลักที่ว่าเทคโนโลยีเลื่อนขีดระดับของการมีความสุขได้ขึ้นไป ทำให้คนมีความสุขยากขึ้น นี้ก็เป็นข้อไขที่อธิบายเรื่องนี้ว่า ทำไมคนสมัยนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีความสุขมากกว่าคนสมัยโบราณ หรือในสมัยเดียวกันนี้คนที่มีเทคโนโลยีมาก ก็ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าจะมีความสุขมากกว่าคนในยุคเดียวกัน ที่มีวัตถุบริโภคน้อยกว่าหรือไม่มีเทคโนโลยี บางคนอยู่ในป่าในเขา ก็อาจจะมีความสุขได้เหมือนกัน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

ประการที่สอง เป็นเครื่องอธิบายว่า ทำไมคนในประเทศที่เจริญแล้ว พัฒนาแล้ว พอเทคโนโลยีเจริญมากขึ้น กลับมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้น ฆ่าตัวตายมากขึ้น แต่คนในประเทศด้อยพัฒนา ยากจน ขาดแคลน ไม่มีเทคโนโลยีหรือเทคโนโลยีน้อย กลับไม่มีปัญหาโรคจิต แล้วทั้งๆ ที่น่าจะเป็นทุกข์มาก แต่ไม่มีใครฆ่าตัวตาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสังเกต

ขอยกตัวอย่าง ๒ ประเทศ อเมริกากับเม็กซิโก อยู่ติดกัน อเมริกาอยู่เหนือขึ้นไป เม็กซิโกอยู่ใต้ลงมา เขตแดนติดกัน สองประเทศนี้ต่างกันมากโดยระดับความเจริญ อเมริกามีเทคโนโลยีมากเจริญสูงกว่า เป็นประเทศมั่งคั่งร่ำรวย เม็กซิโกเป็นประเทศที่ยากจนมาก ประเทศอเมริกามีสถิติคนฆ่าตัวตายแสนละ ๑๒.๕ คน เม็กซิโกมีสถิติคนฆ่าตัวตายแสนละ ๑.๗ คน ต่างกัน ๗ เท่า หมายความว่า เม็กซิโกที่ยากจนนั้นมีคนฆ่าตัวตายน้อยกว่าอเมริกาที่ร่ำรวย ๗ เท่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ประเทศที่เจริญพัฒนาแล้วมีเทคโนโลยีสูง คนฆ่าตัวตายมาก มีความทุกข์มาก มีโรคจิตมาก

ผลใกล้ชิดของการใช้เทคโนโลยีแบบนี้ ที่มองเห็นง่ายๆ ไม่ต้องอธิบายลึกซึ้งก็คือ การที่จะต้องทะยานดิ้นรนแสวงหาเทคโนโลยีที่สูงยิ่งขึ้นไป เพื่อสนองความต้องการที่มีความสุขยากนั้น ซึ่งพร้อมกันนั้น ก็หมายถึงการใช้จ่ายเงินทองมากขึ้น เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทำความเดือดร้อนแก่ตนเอง และอาจหมายถึงการเบียดเบียนกันที่เพิ่มขึ้นในสังคมอีกด้วย

เมื่อพูดในเชิงเปรียบเทียบ คนสมัยก่อนมีเทคโนโลยีน้อย ไม่ค่อยมีเครื่องบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบาย เท่ากับว่ามีโอกาสในการที่จะมีความสุขน้อยกว่าคนสมัยปัจจุบัน แต่การที่เขาขาดแคลนเครื่องอำนวยความสะดวกสบายนั้น ก็ทำให้คนสมัยก่อนต้องเพียรพยายามมากในการที่จะมีความสุข การที่ต้องเพียรพยายามต่อสู้ดิ้นรนอดทนมาก ในการสร้างความสุข ก็ทำให้เขามีภูมิต้านทานความทุกข์มากขึ้น และถ้าเขาประสบความสำเร็จ ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกสบายบ้างแม้เพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่มีความทุกข์ยากลำบากน้อยลงบ้าง เขาก็จะเกิดมีความสุขได้ทันที เรียกได้ว่า เขามีความพร้อมที่จะมีความสุขได้ง่าย

ส่วนคนสมัยปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีมาก มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายพรั่งพร้อมบริบูรณ์นั้นตรงกันข้าม ทั้งที่มีโอกาสที่จะมีความสุขมากกว่า แต่ถ้าเทคโนโลยีที่เคยมีเคยใช้ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกสบายบางอย่างลดน้อยขาดหายไป ทั้งที่เทคโนโลยีเครื่องปรนเปรอที่เหลืออยู่ก็แสนจะมากมาย เขาก็ไม่สามารถมีความสุข แต่กลับเกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างง่ายดาย แทนที่จะเป็นคนซึ่งพร้อมที่จะมีความสุข ก็กลับมีความพร้อมที่จะเป็นทุกข์ และแทบจะไม่มีภูมิต้านทานความทุกข์เลย จึงเห็นได้ว่า คนสมัยก่อนมีโอกาสที่จะเป็นสุขน้อยกว่า แต่มีความพร้อมที่จะเป็นสุขมากกว่า ส่วนคนสมัยนี้มีโอกาสที่จะเป็นสุขมากกว่า แต่มีความพร้อมที่จะเป็นสุขน้อยกว่า

แม้ถึงคนในยุคสมัยเดียวกันที่มีฐานะความเป็นอยู่ มีเทคโนโลยีมากน้อยแตกต่างกัน ก็เป็นเช่นที่ว่ามานี้เหมือนกัน โลกมนุษย์เป็นอย่างนี้ ชีวิตจิตใจของมนุษย์มีลักษณะเช่นนี้ ดังนั้น ทั้งที่ว่าโลกเจริญขึ้น เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นอย่างเหลือเกิน ความทุกข์ก็จึงยังเป็นปัญหาที่รังควาญชีวิตและสังคมของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าไม่ลดน้อยลงเลย เพียงแต่เปลี่ยนแปรรูปแบบต่างกันไปบ้างเท่านั้น

ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ความพร้อมที่จะมีความสุขไม่ลดน้อยลง ในขณะที่โอกาสที่จะมีความสุขเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่จะปิดช่องว่างนี้ได้ก็มีแต่ภูมิธรรมในตัวคนเองเท่านั้น การพัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพพร้อมทั้งสุขภาพของจิตใจ พร้อมทั้งพัฒนาปัญญาที่รู้เท่าทันโลกและชีวิตตามความเป็นจริง จะทำให้คนมีภูมิต้านทานความทุกช์และสามารถพัฒนาความพร้อมที่จะมีความสุข ขึ้นมาเป็นคุณสมบัติประจำตัว เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากขึ้น ความพร้อมที่จะมีความสุขก็คงอยู่ ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของโอกาสที่จะมีความสุข อย่างน้อยก็จะทำให้สามารถดำรงรักษาความพร้อมที่จะมีความสุขไว้ได้ ไม่ให้ลดลงไปในขณะที่โอกาสที่จะมีความสุขเพิ่มมากยิ่งขึ้น และยิ่งกว่านั้นจะทำให้พร้อมที่จะมีความสุขได้ แม้แต่เมื่อโอกาสที่จะมีความสุขลดน้อยลงหรือหดหายไป

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ควรพูดไว้ด้วย คือ เมื่อมนุษย์ทำการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งในธรรมชาติ มนุษย์มักจะมองดูหรือมองเห็นธรรมชาติเฉพาะส่วนนั้นที่ตนเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ แล้วก็พูดว่าเอาชนะธรรมชาติได้แล้ว แต่ความจริงสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติอิงอาศัยสัมพันธ์โยงต่อๆ กันไป การเปลี่ยนแปลงของสิ่งหนึ่ง จึงมีผลกระทบส่งทอดไปยังสิ่งอื่นๆ โยงต่อๆ กันไป ทำให้สิ่งอื่นๆ ต้องปรับตัวเปลี่ยนไปตาม ดังนั้น ถ้ามนุษย์จะให้การเปลี่ยนแปลงเกิดผลดีแก่ตนอย่างแท้จริง เมื่อทำการเปลี่ยนแปลงสิ่งหนึ่งแล้วก็จะต้องปรับเปลี่ยนธรรมชาติส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น ให้ประสานกลมกลืนกันไปด้วย

ถ้ามนุษย์ทำความเปลี่ยนแปลงแก่สิ่งหนึ่งแล้ว ไม่จัดสรร ปรับเปลี่ยนสิ่งที่เนื่องกันให้ประสานกลมกลืนกัน สิ่งที่เกี่ยวเนื่องนั้นก็จะต้องเกิดการปรับเปลี่ยนตัวของมันเอง ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทิศทางลักษณะอาการ และทันเวลาที่จะเกื้อกูล หรือตรงกับความต้องการของมนุษย์ก็ดีไป แต่ถ้าสิ่งที่เกี่ยวเนื่องนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางโดยลักษณะอาการหรือไม่ทันเวลาที่จะเกื้อกูล หรือสนองความต้องการของมนุษย์ ผลร้ายก็จะเกิดขึ้นแก่มนุษย์

ปัญหาที่เกิดแก่มนุษย์จากเทคโนโลยีเป็นอันมาก เกิดจากสาเหตุนี้ คือการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเพียงจุดหนึ่งจุดเดียว โดยไม่ได้จัดสรร ปรับเปลี่ยนธรรมชาติส่วนอื่นที่อิงอาศัยสัมพันธ์กันอยู่ ให้ครบถ้วนหรือทั่วตลอด ปรับส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งไม่ได้ปรับตาม ก็เกิดความขัดแย้ง ระส่ำระสาย กลายเป็นปัญหา

ความขัดแย้ง ความระส่ำระสายวิปริตต่างๆ ในธรรมชาตินั้น ว่าที่จริงก็คือความดิ้นรนที่จะกลับเข้าสู่ดุลยภาพ เป็นธรรมดาว่า ธรรมชาติเมื่อเคลื่อนคลาดออกจากดุลยภาพแล้ว ก็ย่อมดิ้นรนคือ เคลื่อนไหวปรับตัวเพื่อเข้าสู่ความประสานกลมกลืนและความสงบที่เป็นดุลยภาพอีก ถ้ามนุษย์เปลี่ยนแปลงสิ่งหนึ่งแล้ว ไม่ปรับเปลี่ยนสิ่งที่เกี่ยวข้องให้ประสานกลมกลืนกัน ก็เท่ากับว่ามนุษย์ทำให้ธรรมชาติสูญเสียดุลยภาพ เมื่อมนุษย์ไม่จัดสรรปรับเปลี่ยนองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องให้ทั่วถึง องค์ประกอบเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวของมันเอง ถ้าการปรับเปลี่ยนนั้นทันเวลาหรือดำเนินไปในทิศทาง และอาการที่เกื้อกูลแก่มนุษย์ ก็ดีไป ดังที่ว่ามาแล้ว แต่ถ้าไม่เป็นไปอย่างนั้น ก็อาจจะเกิดสิ่งที่มนุษย์เรียกว่า เป็นความวิปริตต่างๆ ตลอดจนความพินาศ

แท้จริงแล้ว ความวิปริตทั้งหลายหรือแม้แต่ความพินาศ ก็เป็นเพียงอาการปรับตัวที่ธรรมชาติจะกลับเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ หรือดุลยภาพในขอบเขตที่กว้างขวางออกไป สำหรับมนุษย์มันอาจจะเป็นความพินาศ แต่สำหรับธรรมชาติมันคือความคืนสู่สมดุล ถึงแม้มนุษย์จะอวดอ้างว่าตนพิชิตธรรมชาติได้แล้ว แต่เมื่อมองในวงกว้าง แท้จริงแล้ว ในขั้นสุดท้าย เท่าที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันขณะนี้ ผู้ชนะที่แท้จริง ก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติยังเป็นผู้พิชิตสูงสุดอยู่ดังเดิม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จะอยู่กับใคร: กับคนและธรรมชาติ หรือกับเทคโนโลยีการพัฒนาคน เพื่อให้เทคโนโลยีเป็นคุณ >>

No Comments

Comments are closed.