ความหลากหลายภายในระบบชีวิตของการพัฒนา

1 มกราคม 2532
เป็นตอนที่ 12 จาก 16 ตอนของ

ความหลากหลายภายในระบบชีวิตของการพัฒนา

ลักษณะที่ ๒ คือ การพัฒนาชีวิตในทางธรรม หรือในความเป็นจริง ย่อมมีลักษณะแห่งความหลากหลายของชีวิตที่ดีงาม ความหลากหลายนี้เป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นไปตามธรรมดา แต่ต้องเป็นความหลากหลายที่อยู่ในเอกภาพ คือความหลากหลายในความเป็นหนึ่ง หมายความว่า มีจุดมุ่งหมายและแนวทางอันเดียวกัน คือเดินไปสู่อิสรภาพ และจึงมีหลักการพัฒนาอย่างเดียวกันคือภาวนา ๔ ประการนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกาะกุมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในระหว่างการพัฒนานั้น คนจะมีความหลากหลายได้มาก ถ้าเรายอมรับความจริง เราจะต้องยอมรับสภาพหลากหลายนี้

ในทางพุทธศาสนานี้เรายอมรับคนได้มาก คือเมื่อใดเขาเริ่มต้นพัฒนาชีวิต เมื่อใดเขาเริ่มต้นพัฒนาตนเองแล้ว เมื่อนั้นพระพุทธศาสนารับเข้าหมด ตามหลักนี้จึงถือว่าการเข้าสู่ชุมชนพุทธ คือนับตั้งแต่การที่บุคคลเริ่มพัฒนาตนเอง ฉะนั้น เราจึงไม่จำกัดแคบว่าจะต้องมีชีวิตอย่างเดียว แบบเดียว หรือทำอะไรอย่างเดียวกันหมด หรือว่าต้องอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเป็นพุทธ พุทธศาสนามีเพียงเกณฑ์อย่างต่ำ หมายความว่า ถ้าต่ำกว่านี้แล้วไม่ไหว คือถ้านิ่งเฉย ไม่ยอมพัฒนาตัวเองเลย ก็ยอมรับไม่ได้ แต่ถ้าเริ่มพัฒนาขึ้นมา มีภาวนาขึ้นบ้างแล้ว ต่อแต่นั้นไปก็นับเข้าในชุมชนพุทธ คืออยู่ในวิถีแห่งการพัฒนา เดินหน้าเข้าสู่มรรคแล้วก็เดินไปในมรรค เกณฑ์ตัดสินสำคัญก็คือ ขอให้ท่านพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา คือต้องมีภาวนา ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาที่จะต้องมีความหลากหลายในระดับของการพัฒนา เพราะคนเราเริ่มต้นพัฒนาไม่พร้อมกัน และพัฒนาไปได้ไม่เท่ากัน เมื่อเรามองภาพชีวิตในสังคมขณะหนึ่งขณะใดก็ตาม ในขณะนั้นคนย่อมอยู่ในระดับของการพัฒนาที่ต่างกัน อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา เราจึงจะไปหวังให้ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน และเป็นอย่างเดียวกันไม่ได้ เราต้องยอมรับสภาพนี้ เพียงแต่ว่าข้อสำคัญ คืออย่าลืม อย่าหลง อย่าประมาท อย่าปล่อยปละละเลย จะต้องมีการพัฒนาตนเอง มีการก้าวหน้าไปไม่หยุดอยู่กับที่ ตกลงว่า นี้เป็นแง่ที่หนึ่ง คือมีความหลากหลายในระดับของการพัฒนา จนกระทั่งจบการภาวนาทั้งสี่ ก็เป็นพระอรหันต์

แง่ที่สองคือมีความหลากหลายในด้านความถนัด คนเรานั้นแม้จะพัฒนาอยู่ในระดับเดียวกัน แต่ก็มีความถนัดมีความโน้มเอียงต่างกันได้ แม้แต่พระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งมีระดับของการพัฒนาระดับเดียวกัน คือทุกท่านพัฒนาตนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วด้วยกัน ก็มีความหลากหลายในการดำเนินชีวิต พระมหากัสสปะอยู่ป่าตลอดชีวิต พระสารีบุตรอยู่เมืองตลอดชีวิต ทำงานคนละแบบ แต่ว่าเสริมกัน ไม่ได้เสียหาย มีขอบเขตที่เป็นเกณฑ์อย่างต่ำในทางพระพุทธศาสนาว่า ทุกคนจะแยกตัวโดดเดี่ยวอยู่ในป่าไม่เกี่ยวข้องกับใครโดยสิ้นเชิงไม่ได้ แต่จะคลุกคลีกับสังคมเกินจุดอันหนึ่งก็ไม่ควร แต่ในระหว่างจุดเขตแดนสองด้านนั้นเลือกเอาได้ เช่นจะมีความสัมพันธ์ทางสังคมพอประมาณ ตามความถนัด อัธยาศัยอย่างนี้เป็นต้น

เนื่องจากการพัฒนาชีวิต โดยเนื้อแท้ของมัน เป็นงานที่ทุกชีวิตหรือทุกคนต้องทำให้แก่ตนเอง และการที่แต่ละคนจะทำได้แค่ไหนเพียงไร ก็ต้องอาศัยความพร้อมของเขา ต้องเป็นไปด้วยปัญญาของเขาเอง คนอื่นทำให้ไม่ได้ และจะบังคับกันให้เป็นก็ไม่ได้ ดังนั้น ระบบชีวิตและสังคมแห่งการพัฒนาแบบนี้ จึงต้องมีความหลากหลายเป็นธรรมดา จะให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนกันหมด คือจะให้เป็นอย่างใจของใคร เหมือนระบบที่เป็นการบังคับกันไม่ได้ หรือแม้แต่จะเรียบเป็นกรอบเดียวอย่างระบบศรัทธาก็ไม่ได้ แต่มันก็เป็นระบบที่เป็นไปตามธรรม สอดคล้องกับกฎธรรมชาติอย่างแท้จริง ซึ่งจะเห็นว่าระบบประชาธิปไตยก็ตั้งอยู่บนฐานนี้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบการพัฒนาชีวิตอย่างนี้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นระบบประชาธิปไตยนั่นเอง การปกครองระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็มีหลักการพัฒนาชีวิตแบบนี้

มีผู้กล่าวว่า เราไม่พูดว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่พูดว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่มีความชั่วร้ายน้อยที่สุด คำกล่าวนี้ย่อมสอดคล้องกับระบบแห่งการพัฒนาชีวิตที่เป็นไปตามธรรม มันเป็นธรรมดาของความเป็นจริงแห่งชีวิต และสังคมมนุษย์ที่จะจัดสรรได้ดีที่สุด ตรงตามธรรม หรือเป็นธรรมที่สุด สอดคล้องกับสัจธรรมที่สุด ได้อย่างนี้ และนี้ก็คือหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้ชุมชนชาวพุทธมีลักษณะแห่งความหลากหลาย ภายในมีความผิดแผกแตกต่างกันได้มากๆ จะเอาอย่างใจใคร ให้ชาวพุทธมีชีวิตความเป็นอยู่เป็นแบบเดียวกันหมดไม่ได้ เพราะเขาอยู่ในระดับต่างกันของการพัฒนา มีปัญญาต่างกัน และเราไม่ใช้วิธีบังคับ แม้แต่ด้วยการบังคับความเชื่อ บางทีข้อนี้จะดูเป็นความอ่อนแอของพระพุทธศาสนา เหมือนกับว่าปล่อยหรือเสรีเกินไป แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะมันเป็นไปตามธรรม สอดคล้องกับสัจธรรมอย่างนี้ จะต้องเปิดใจกว้าง ยอมรับความจริงว่า ประชาธิปไตยอาศัยปัญญา จะให้เป็นอย่างเผด็จการด้วยศรัทธาย่อมไม่ได้ สิ่งที่จะทำได้เพื่อกำกับไว้ ไม่ให้เคลื่อนคลาดออกไปเสียจากระบบการพัฒนาชีวิตอย่างนี้ ก็คือ การถือหลักการว่า แต่ละคนทุกๆ คนจะต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะอยู่ในระดับใดของการพัฒนาก็ตาม ก็ต้องพยายามก้าวหน้าไปในวิถีแห่งการพัฒนานั้น ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ นี่คือมาตรฐานวัดความเป็นชาวพุทธ และเพื่อช่วยส่งเสริมบรรยากาศแห่งการพัฒนานี้ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ คอยเป็นกัลยาณมิตรให้แก่กัน และเร่งรัดกันให้เร่งรัดตัวในการพัฒนานั้น ตามหลักแห่งความไม่ประมาท

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พัฒนาสู่อิสรภาพ คือทำให้พึ่งตนได้พัฒนาเพื่อความสุข หรือพัฒนาด้วยความสุข >>

No Comments

Comments are closed.