พัฒนาเพื่อความสุข หรือพัฒนาด้วยความสุข

1 มกราคม 2532
เป็นตอนที่ 13 จาก 16 ตอนของ

พัฒนาเพื่อความสุข หรือพัฒนาด้วยความสุข

ลักษณะที่ ๓ คือ ในการพัฒนาคนนี้ ย่อมมีปฏิบัติการต่างๆ มากมายที่เป็นกิจกรรมในการพัฒนา ซึ่งทั้งหมดทุกอย่างก็มุ่งเพื่อให้เข้าถึงจุดหมายที่เรียกว่าอิสรภาพ จุดหมายนั้น มองในแง่หนึ่งก็คือความสุขนั่นเอง เพราะอิสรภาพหรือความไร้ทุกข์ไร้ปัญหานั้น ในความหมายหนึ่งก็คือความสุข อย่างที่เรียกว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ความสุขจึงเป็นจุดหมายของชีวิต และก็เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา แต่กระนั้นเราก็มักเลี่ยงการใช้คำนี้ เพราะเป็นคำที่มีปัญหาได้ง่าย คือเป็นคำที่มีความหมายไม่เด็ดขาด มีนัยที่เป็นสัมพัทธ์มาก เรามักจะเรียกว่าภาวะที่หมดปัญหาหรือภาวะไร้ทุกข์มากกว่า แต่ในบางเวลาก็เรียกว่าสุข

เมื่อตอนที่พระพุทธเจ้าจะทรงหันมาปฏิบัติดำเนินในทางที่ถูกต้อง ก่อนที่จะละทิ้งทุกกรกิริยา เลิกบำเพ็ญตบะมาดำเนินในทางสายกลางนั้น พระองค์ได้ปรารภเรื่องนี้ คือพระองค์ได้เห็นว่า คนจำนวนมากยังมองเห็นว่า ความสุขจะต้องบรรลุถึงได้ด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้น เขาก็เลยต้องบำเพ็ญตบะทรมานตนเอง ลัทธินิครนถ์เป็นตัวอย่างของการถือหลักการนี้ เคยมีพวกนิครนถ์บางคนมาสนทนากับพระพุทธเจ้า เขาบอกว่า เขาเชื่อว่าความสุขจะบรรลุได้ด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้น วิธีปฏิบัติของเขาจึงใช้วิธีบำเพ็ญตบะ พระพุทธเจ้าก็เคยบำเพ็ญตบะมาแล้ว พระองค์ตรัสว่า วิธีการที่จะเข้าถึงความสุขด้วยความทุกข์นี้ไม่ถูกต้อง และพระองค์ก็ทรงพิจารณาถึงประสบการณ์ของพระองค์เอง แล้วตรัสเล่าไว้ว่า ทรงได้เคยประสบความสุขด้วยการปฏิบัติทางจิต แล้วพระองค์ยังถามพระองค์เองว่า เรากลัวความสุขนั้นหรือ พระองค์ก็ตอบว่า เราไม่ต้องกลัวความสุขนั้น ความสุขที่ไม่มีโทษใช้ได้ หมายความว่าต้องมีเงื่อนไข คือเป็นความสุขที่ไม่มีโทษ

ความสุขที่ไม่มีโทษ นี้ก็มาเป็นข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่สอนว่าความสุขจะต้องบรรลุถึงด้วยความทุกข์ แต่ความสุขสามารถบรรลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติที่เป็นสุข หมายความว่า เราต้องการจุดหมายคือความสุข และในระหว่างปฏิบัติเราก็ควรมีความสุขด้วย คือมีการปฏิบัติที่เป็นสุข และการปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยมากจะวินิจฉัยด้วยการมีความสุข หลักทั่วไปก็คือ เมื่อปฏิบัติถูกต้องก็จะมีความสุข และผู้ปฏิบัตินั้นก็ไม่ต้องปรารถนาความสุข เพราะความสุขอยู่ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวกับการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น สำหรับการบรรลุสุขด้วยทุกข์นั้น บางครั้งพระองค์ยอมให้บ้างในแง่เป็นเทคนิคหรือเป็นกลวิธี ให้เราใช้สิ่งที่เรียกว่าเป็นทุกข์เป็นความลำบาก แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าความบีบคั้น เป็นเครื่องฝึกตน แต่ต้องเข้าใจตระหนักไว้ว่าเป็นวิธีการในการฝึกฝนอบรมตน หรือในการขัดเกลาตน เรื่องนี้ต้องมองให้ถูกต้อง แม้แต่วัตรปฏิบัติต่างๆ ที่เคร่งครัดทั้งหลายก็ต้องมีความมุ่งหมายในแง่นี้

ในการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น พระพุทธศาสนาจะกล่าวไว้เสมอว่า เมื่อปฏิบัติไปถูกต้องแล้วจะเกิดภาวะจิตที่ดีงาม เกื้อกูลเป็นกุศล อย่างที่หนึ่ง คือเกิดปราโมทย์ ปราโมทย์ คือความร่าเริงเบิกบานใจ คนที่มาถึงระดับแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาแล้ว จะมีความรู้สึกที่เรียกว่าความร่าเริงเบิกบานใจนี้เกิดขึ้น พอมีปราโมทย์ มีความร่าเริงเบิกบานใจแล้ว ก็จะตามมาด้วยภาวะจิตอย่างที่สองคือ ปีติ ความอิ่มใจ ต่อจากปีติความอิ่มใจแล้ว ก็มีภาวะแห่งความผ่อนคลายไม่เครียด เรียกว่าปัสสัทธิ

ปัสสัทธิ คือ ความผ่อนคลายไม่เครียดนี้ เป็นสภาพจิตที่สำคัญมากอย่างหนึ่งสำหรับคนในยุคพัฒนานี้ ทำไมมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ ทั้งที่ว่าเจริญมากแต่กลับมีปัญหามาก ปัญหาใหญ่ของยุคปัจจุบันคือความเครียด ในพระพุทธศาสนานั้นสอนว่า ถ้าปฏิบัติถูกต้องจะไม่มีความเครียด เพราะหลักธรรมต่างๆ ที่บำเพ็ญล้วนแต่เป็นข้อปฏิบัติที่ทำลายความเครียดเสียในระหว่างของการปฏิบัตินั้น คือว่า แม้แต่การปฏิบัติเองก็เป็นตัวทำลายความเครียดเสียแล้ว โดยเฉพาะปัสสัทธิ ความผ่อนคลายไม่เครียด หรือภาวะจิตที่สงบเย็นนี้ก็คือสภาพจิตที่ตรงข้ามกับปัญหาโดยตรงทีเดียว การที่คนยุคปัจจุบันเป็นโรคเครียดมากนั้น อาจจะสืบเนื่องมาจากสภาพจิตของยุคอุตสาหกรรม เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ความเจริญแบบอุตสาหกรรมนั้นมาจากตะวันตก อุตสาหกรรมเจริญเพราะการทำงาน แต่วัฒนธรรมตะวันตกถือว่า งานหรือ work เป็นเรื่องของความหนัก ความเคร่งเครียด ไม่สบาย จึงต้องมีการพักผ่อนบันเทิง หรือ leisure ไว้เป็นคู่กัน สำหรับแก้ ตามวัฒนธรรมแบบนี้ คนที่ทำงาน เหมือนกับตั้งความรู้สึกไว้ก่อนทีเดียวว่า จะต้องทำด้วยความฝืนใจด้วยความหนักความเหนื่อย เมื่อตั้งใจทำไปจิตก็เครียด ไม่มีความสุขในการทำงาน หวังแต่ความสุขจากการพักผ่อนบันเทิงว่า หลังจากเสร็จงานแล้วจะได้หยุดพักหาความสุข แต่ทางพุทธศาสนาบอกว่า การทำงานหนักกับความสุขในจิตใจ เป็นสิ่งที่ไปกันได้ แต่ต้องทำใจให้ถูกต้อง ต้องมีฉันทะในงานและวางใจอย่างรู้เท่าทัน แล้วจะมีความสุขในการทำงาน หรือทำงานด้วยความสุข ในการทำงานที่ถูกต้อง ก็จะมีการปฏิบัติธรรมไปในตัว เมื่อเป็นการปฏิบัติธรรม ก็จึงมีสภาพจิตที่มีปราโมทย์ร่าเริงเบิกบาน มีปีติอิ่มใจ มีปัสสัทธิ ผ่อนคลาย สงบเย็น ไม่เครียด และมีความสุข ตามหลักที่ว่ามานี้ เมื่อทำงานอย่างถูกต้อง จึงได้ทั้งผลงาน คือประโยชน์สุขที่เป็นวัตถุประสงค์ของงานนั้น และได้ทั้งผลการปฏิบัติธรรม คือภาวะจิตที่ดีงาม เป็นสุข ซึ่งแสดงถึงความเจริญงอกงามตามหลักของการพัฒนาชีวิตนี้ด้วย

หลักแสดงไว้ต่อไปว่า มีปัสสัทธิไม่เครียด มีความผ่อนคลายแล้ว ความสุขก็จะเกิดขึ้น พอมีความสุขแล้วสมาธิก็เกิด ตามกฏมีอยู่ว่า ถ้ามีความทุกข์จิตไม่สามารถตั้งแน่วได้ดีในสมาธิ สมาธิเกิดแก่คนมีความสุข และสมาธิเกิดก็ทำให้ยิ่งมีความสุข อย่างไรก็ตาม เมื่อสมาธิทำให้เกิดความสุขแล้ว ถ้าติดในความสุขนั้น ก็ผิดอีก จึงต้องระวัง แต่ว่าโดยหลักทั่วไปก็บอกอย่างนี้ว่า มีความสุขแล้วก็จะมีสมาธิ พอมีสมาธิ จิตก็ควรแก่การใช้งาน หรือเหมาะแก่งาน เราก็เอาจิตนี้ไปใช้งาน จะใช้ทำการทำงานทั่วไปหรือจะใช้คิดพินิจพิจารณาอะไรก็ใช้ได้ผลดี เป็นอันว่า การปฏิบัติที่ถูกต้องดำเนินไปอย่างนี้นี่ เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการพัฒนาชีวิตตามหลักการของพระพุทธศาสนา คือ เป็นกระบวนการที่เจริญงอกงามก้าวหน้าไปพร้อมด้วยความเป็นสุข

รวมความว่า เราต้องการให้คนมีการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วมีภาวะจิตที่ดีงามเป็นสุขเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ เป็นต้นไป สอดคล้องกับหลักที่ว่า ปาโมชฺชพหุโล ทุกฺขสฺสตํ กริสฺสติ บุคคลที่มากด้วยปราโมทย์ คือความร่าเริงเบิกบานใจ จักกระทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้ ฉะนั้น ทุกคนควรเอาหลักนี้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน สร้างความร่าเริงเบิกบานให้เกิดขึ้นในใจเสมออย่างน้อยวันละครั้งสองครั้งตามหลักที่บอกว่า พึงทำวันเวลาไม่ให้ผ่านไปเปล่า จะมากหรือน้อยก็ให้ได้อะไรบ้าง คือให้ได้บ้างไม่มากก็น้อย หลักนี้ก็เอามาใช้กับจิตใจ โดยหมั่นพิจารณาว่า วันนี้เราได้ปราโมทย์บ้างไหม เรามีความร่าเริงเบิกบานใจบ้างไหม ถ้าอย่างนี้ก็จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่ขอเตือนไว้อันหนึ่งคือต้องให้เป็นปราโมทย์ที่ถูกต้อง ให้เป็นปราโมทย์ที่เกิดจากการปฏิบัติของตนเอง เช่นมีความเพียรพยายามหรือได้ปฏิบัติธรรม ดำเนินไปถูกทาง อะไรๆ เข้าที่ตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ก็เกิดความปราโมทย์เบิกบานใจ แต่ถ้าเมื่อไรเกิดความรู้สึกกระหยิ่มใจว่าเรานี่เก่ง เรานี่แน่กว่าคนอื่น เหนือคนอื่น ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา ผิดทันที กลายเป็นมานะ เป็นกิเลสขึ้นมาเลย เรียกว่าปฏิบัติผิด จึงต้องระวัง มีสติเตือน ระลึกเสมอว่า การปฏิบัติธรรมพัฒนาชีวิตมีโอกาสเขวได้เรื่อย จะต้องตรวจสอบให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง

เอาเป็นหลักการว่า ตามแนวการปฏิบัติที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา บุคคลสามารถบรรลุความสุขด้วยความสุข อันนี้เป็นคำตอบที่ว่า ทำไมคนที่เข้ามาสัมผัสพระพุทธศาสนาพวกหนึ่ง เช่นหนังสือหลายเล่มที่เขียนเกี่ยวกับหลักเบื้องต้น หรือหลักทั่วไปของพระพุทธศาสนา บอกว่าพระพุทธศาสนาสอนอริยสัจจ์ข้อแรกคือ ทุกข์ ว่าชีวิตเป็นทุกข์ ขันธ์ห้าเป็นทุกข์ คนที่อ่านก็บอกว่าพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้าย แต่อีกพวกหนึ่งไม่ได้อ่านคำสอนเลย พอเข้ามาในเมืองไทยเจอชาวพุทธยิ้มแย้มแจ่มใส ก็แปลกใจว่า เอ! ชาวพุทธนี่ใจดี มองโลกในแง่ดี ทำไมเป็นอย่างนี้ นี่คือคำตอบ หมายความว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ในแง่ของสภาวะ โดยสอนให้รู้เท่าทันสิ่งที่เป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริง อะไรเป็นปัญหาก็ให้ยอมรับและสู้หน้ามัน แต่ในแง่ของการปฏิบัติก็เป็นเรื่องของความสุข หรือการที่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงความไร้ทุกข์โดยสิ้นเชิง ฉะนั้นจึงขอให้แยกแง่มุมนี้ให้ถูกต้องด้วย รวมความว่า การพัฒนาชีวิตที่ถูกต้องจะมีลักษณะของการที่มีความสุข เริ่มแต่เกิดปราโมทย์ดังได้กล่าวมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ความหลากหลายภายในระบบชีวิตของการพัฒนาการพัฒนาชีวิต อยู่ในกิจกรรมทุกเวลา >>

No Comments

Comments are closed.