ปัญญาที่ต้องการ ในยุคข่าวสารข้อมูล

1 มกราคม 2532
เป็นตอนที่ 10 จาก 16 ตอนของ

ปัญญาที่ต้องการ ในยุคข่าวสารข้อมูล

๔. ปัญญาภาวนา หรือการพัฒนาปัญญา การพัฒนาปัญญานี้ปัจจุบันกำลังสำคัญยิ่งขึ้น เพราะเรากำลังเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งที่จะสร้างเสริมสติปัญญาหรือเอื้อต่อการพัฒนาปัญญา แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าคนปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อข่าวสารข้อมูล คนก็ไม่ได้ปัญญาเหมือนกัน อย่าได้ประมาทว่ามีข่าวสารข้อมูลมากแล้วคนจะมีปัญญา เพราะความจริงปรากฏว่า คนในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ต้องพบกับปัญหาที่ว่า จะรับความรู้ และเชื่อมโยงอย่างไรให้ข่าวสารข้อมูลนำไปสู่การเกิดขึ้นแห่งปัญญา อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก และเรากำลังมีปัญหากันในยุคปัจจุบัน เพราะคนเราไม่พัฒนาความสัมพันธ์กับข่าวสารข้อมูลหรือไม่ได้พัฒนาการปฏิบัติตนต่อข่าวสารข้อมูลอย่างถูกต้อง ถึงแม้จะมีข่าวสารมากมายก็ไม่ได้ผล ไม่ได้ปัญญา

ในทางพระพุทธศาสนา ท่านเรียกข่าวสารข้อมูลว่า สุตะ สุตะ แปลว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ในสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องอุปกรณ์มาก เราก็ได้ข่าวสารข้อมูลจากการได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ศัพท์ที่ใช้สำหรับข่าวสารข้อมูลจึงได้แก่ สุตะ จนกระทั่งเมื่อมนุษย์เจริญขึ้น และได้พัฒนาแหล่งและรูปแบบของข่าวสารข้อมูลออกไปต่างๆ ความหมายของสุตะ ก็ขยายออกไป ความรู้ที่ได้เล่าเรียน ได้อ่าน ได้ดู ก็เป็นสุตะไปหมด พูดสั้นๆ สุตะก็คือข่าวสารข้อมูลนั่นเอง

ข่าวสารข้อมูลเหล่านี้ในยุคปัจจุบัน กำลังเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมาก จึงทำให้เกิดปัญหาว่าคนที่พัฒนาปัญญาไม่ทันจะยิ่งมีความสับสนมากขึ้น และไม่สามารถปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลเหล่านี้โดยถูกต้อง คือ สุตะมาก แต่ไม่มีความชัดเจนในสุตะเหล่านั้น และไม่สามารถถือเอาประโยชน์จากสุตะเหล่านั้นได้ สุตะที่เข้ามากลายเป็นสิ่งที่เลื่อนลอยพร่าไปหมด ในการปฏิบัติที่ถูกต้องที่จะเป็นการพัฒนาปัญญานั้น เริ่มแรกเราจะต้องให้คนมีความชัดเจน เมื่อรับสุตะอะไรมาก็ต้องชัดเจนในสุตะนั้น ต้องจัดแยกได้เป็นเรื่องๆ คนยุคปัจจุบันมีสุตะผ่านเข้ามามากมายนับไม่ทัน ก็เลยพร่าไปหมด เมื่อพร่าไปหมดแล้วความคิดก็ไม่ชัดเจน เมื่อคิดไม่ชัดเจนก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ดี จะวินิจฉัยก็ผิดพลาด เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญหามาก นอกจากนั้น คนที่มีสุตะไม่ชัดเจนนี้จะถูกหลอกได้ง่าย ใครมาหลอกโดยปลุกเร้าทางอารมณ์ก็ดี หรือมาสนองความต้องการด้านอื่นบางอย่าง หรือใช้ถ้อยคำพลิกแพลงหน่อย คนที่มีสุตะมาก แต่ไม่ชัดเจน และพร่าสับสนเหล่านี้ จะถูกหลอกให้หลงไปเลย กลายเป็นคล้อยตามเขาไป ไม่เห็นจริงในเรื่องนั้นๆ สภาพอย่างนี้ก็คือการที่ปัญญาไม่เกิดขึ้น โยงไปถึงการมองไม่เป็น คิดไม่เป็น ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงข้อต่อไป นี้เป็นการพูดกว้างๆ เป็นอันว่า เมื่อไม่รู้จักปฏิบัติต่อข้อมูลให้ถูกต้อง พอข้อมูลเข้ามามากก็พร่า ไม่ชัดเจน ไม่เกิดปัญญา แต่กลายเป็นเกิดความผิดพลาด ถูกหลอกลวง หลงผิดไป

ประการที่สอง ได้บอกเมื่อกี้ว่า ในการปฏิบัติต่อสุตะนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางปัญญา จะต้องมีการแยกเป็นเรื่องๆ ให้ชัดเจน การฝึกฝนพัฒนาปัญญาในกรณีนี้ก็คือ การทำให้คนเกิดความชัดเจนในแต่ละเรื่องนั้น แล้วรู้จักแยกเอาขยะของข้อมูลออกไปทิ้ง กล่าวคือข้อมูลที่เข้ามามากๆ นี่ มันมีทั้งส่วนที่เป็นข้อมูลแท้ ทั้งข้อมูลเท็จ ทั้งขยะข้อมูล ถ้าเราไม่รู้จักแยก ไม่รู้จักเลือก เราอาจจะเก็บเอาขยะเข้ามาเต็มหมด เมื่อเอาขยะข้อมูลมาก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ปัญญาก็ไม่เกิด และไม่พัฒนา เพราะฉะนั้นจะต้องสะสาง เริ่มแต่การพัฒนาปัญญาในชั้นต้นๆ คือการสอนให้รู้จักเลือกคัดสุตะ รู้จักเลือกคัดข้อมูล แล้วมุ่งไปในการทำสุตะนั้นให้ชัดเจนเป็นเรื่องๆ แต่ละเรื่องที่เข้ามานั้นต้องทำให้ชัดเจนก่อน พอแต่ละเรื่องชัดเจนแล้ว ต่อจากนั้นก็โยง ซึ่งหมายถึงว่าปัญญาจะต้องพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือนอกจากชัดในแต่ละเรื่องแล้วก็ต้องโยงเข้าหากันได้ พอจับโยงความสัมพันธ์แล้วก็จะได้ภาพรวมที่ชัดเจน การมองก็ชัดเจน แล้วต่อจากนั้นการคิดก็จะชัดเจนด้วย คิดชัดเจนอย่างไร คือ คิดแล้วเกิดปัญญาสามารถนำเอาความรู้ข่าวสารข้อมูลหรือสุตะนั้นไปใช้ให้เกิดผลสำเร็จประโยชน์ได้ ถ้าเรามองเห็นเรื่องราวชัดเจนแล้ว เวลาโยงก็จะมีความชัดเจนในการคิดวิธีการด้วย จึงสามารถใช้ข้อมูลความรู้นั้นให้เกิดผลสำเร็จตามต้องการได้ ดังนั้นจึงต้องมีความชัดเจนในสุตะแต่ละเรื่อง แล้วก็โยงเรื่องเหล่านั้น เข้ามาสัมพันธ์กัน แล้วก็คิดจัดการเพื่อจัดทำกับเรื่องเหล่านั้น ก็ชัดเจนตลอดสาย แต่ถ้ามองในแต่ละเรื่องไม่ชัดเจน แต่ละเรื่องพร่าอยู่แล้ว พอจับโยง ก็โยงไม่ได้ ก็เสียหมดเลย นี่ก็เป็นเรื่องของการพัฒนาปัญญาอีกด้านหนึ่งที่สำคัญสำหรับสมัยปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีความเท่าทัน ชัดเจน สามารถทั้งในเชิงวิเคราะห์ และสังเคราะห์

อีกด้านหนึ่ง ปัญหาที่เกิดจากความร่ำรวยของข้อมูลและความไหลผ่านไปอย่างรวดเร็วนี้ ก็คือสภาพล้า จะเรียกว่าจิตใจล้าหรือสมองล้าก็แล้วแต่ หมายความว่า เมื่อข่าวสารข้อมูลผ่านเข้ามามากมายท่วมท้น คนก็จะมีความรู้สึกล้า ล้าแล้วก็ไม่อยากคิด ในยุคปัจจุบัน คนตกอยู่ในสภาพนี้มากขึ้น คือความล้าและความอ่อนแรงทางปัญญาที่ไม่ปรารถนาจะคิด จะพิจารณาสิ่งต่างๆ ในยุคที่ข้อมูลและข่าวสารผ่านเข้ามาอย่างท่วมท้นนี้ เมื่อไม่สามารถคิดเองอย่างชัดเจน และไม่ปรารถนาจะคิด ก็รอให้คนอื่นช่วยคิดให้ เลยกลายเป็นปัญหาซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง คือไม่รู้จักคิดเองเป็น ทำให้เกิดปัญหาซึ่งขัดกับหลักพระศาสนา เพราะคนที่รอให้คนอื่นคิดและตัดสินใจให้นั้น ก็จะไม่พัฒนาปัญญาของตนและพึ่งตนเองไม่ได้

ตามหลักพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมหมวดหนึ่งที่ควรจะนำมาพูดกัน เน้นกันให้มากในยุคข่าวสารข้อมูล คือ หลักปัญญาแตกฉาน ๔ ประการ

ข้อที่ ๑. เมื่ออ่าน ฟัง ได้ยินอะไร ก็เข้าใจความหมายของสิ่งที่เขาพูด และเข้าใจความมุ่งหมาย พร้อมที่จะขยายความออกไปจากสิ่งนั้น หมายความว่า เมื่อมีคนพูดถึงหลักการอะไรสักอย่าง หรือพูดอะไรขึ้นมาสั้นๆ ก็สามารถเข้าใจความหมายและสามารถคิดขยายความออกไปได้อย่างถูกต้อง

ข้อที่ ๒. เมื่อรับฟังข่าวสารข้อมูล หรือแม้แต่คำพูดของคนอื่นแล้ว เช่นฟังปาฐกถานี้แล้ว จับประเด็นได้ถูกต้อง จับสาระได้ รู้ชัดว่าตัวเรื่องอยู่ตรงไหน เป็นปัญหาที่จุดไหนในแง่ใด ประเด็นคืออะไร

ข้อที่หนึ่ง กับข้อที่สองนี้กลับกัน คือข้อที่สอง คนพูดอะไรมาเยอะแยะ เราอ่านเราฟังแล้วจับประเด็นได้ แต่ข้อที่หนึ่ง เขาพูดมาสั้นๆ เป็นหลักเป็นใจความ เราก็สามารถเข้าใจความหมาย และสามารถคิดขยายความออกไปได้

ข้อที่ ๓. ต่อจากความสามารถขยายความ คือ ขยายความในใจของตัวเองได้แล้วก็ยังไม่พอ ต้องสามารถถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ หรือสิ่งที่ตนมุ่งหมายออกไปให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตรงกับที่ตนเองต้องการด้วย ข้อนี้เป็นความสามารถในเชิงภาษา คือสามารถใช้ถ้อยคำสื่อสารความคิดความเข้าใจความต้องการของตนให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างชัดเจน

ข้อที่ ๔. สามารถเชื่อมโยงความรู้เก่าที่มีอยู่แล้ว เอามาสังเคราะห์ขึ้นเป็นความรู้ใหม่ ที่ใช้แก้ปัญหาหรือทำประโยชน์ให้สำเร็จได้เหมาะเจาะสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ ตามธรรมดานั้น คนเราทุกคนก็มีความรู้กันอยู่แล้วไม่มากก็น้อย มีมากบ้างน้อยบ้าง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะสามารถเชื่อมโยงความรู้นั้นมาสร้างเป็นความรู้ใหม่ ที่จะใช้ประโยชน์ ใช้แก้ปัญหาเป็นต้นได้หรือไม่ และถูกต้องเหมาะสมกับเหตุการณ์สถานการณ์หรือไม่ การที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่ เอามาปรุงเป็นความรู้ใหม่ เพื่อใช้การหรือแก้ปัญหาได้ทันการ เหมาะสมกับเหตุการณ์สถานการณ์นี้ เป็นปัญญาในข้อที่ ๔

หลักการชุดนี้ให้แนววิธีปฏิบัติที่สำคัญมาก ในการสัมพันธ์กับข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ จึงน่าจะมีการเน้นกันให้มาก หมวดธรรมที่ว่านี้เรียกว่า ปฏิสัมภิทา ๔

๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ในความหมาย ในความมุ่งหมาย เขาพูดอะไรมาแม้แต่สั้นๆ ก็เข้าใจ และพร้อมที่จะขยายความได้ (รู้ความหมาย)

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานหรือแจ้งเจนในตัวธรรมหรือตัวหลัก คือประเด็นหรือสภาวะ เขาพูดมายืดยาว ก็จับสาระจับประเด็นได้ โยงเข้าหาหลักได้ (จับประเด็นได้)

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษาและถ้อยคำ ใช้ถ้อยคำเป็น พูดเป็น พูดให้คนอื่นเข้าใจได้ สื่อสารถ่ายทอดความรู้ความต้องการได้ชัดเจนและได้ผล (สื่อสารถ่ายทอดเป็น)

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ สามารถเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่เอามาสังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ ใช้แก้ปัญหาหรือตอบสนองสถานการณ์ได้สบเหมาะทันการ (ใช้ความรู้ได้ถูกเรื่องทันการ)

ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นปัญญาที่ต้องการมากในยุคปัจจุบัน สำหรับพัฒนาคนให้ทันกับยุคข่าวสารข้อมูล ที่เรากำลังจะเข้าถึง โดยเฉพาะสังคมไทยนี้มีความสับสนมากอยู่ ในแง่ที่ว่าสังคมรับเอาความเจริญของตะวันตกเข้ามา ทั้งๆ ที่ว่าความเจริญหลายอย่างนั้นตนเองยังไม่สามารถสร้างขึ้น แต่สามารถใช้ได้ จากการที่สามารถใช้โดยไม่ต้องสร้าง หรือโดยที่ยังสร้างไม่ได้ ก็ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกหลายอย่างหลายประการ เช่นทำให้กลายเป็นนักบริโภค ไม่เป็นนักผลิต แล้วเกิดปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมอะไรต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เราจึงจะต้องพัฒนาคนในแง่ที่จะให้มาเป็นผู้สร้างพร้อมกับการเป็นผู้ใช้ ทั้งสร้างสำหรับใช้เองและสร้างให้คนอื่นใช้ได้

ที่ว่าเป็นผู้สร้างได้ นี้ก็คือถอยกลับไปเป็นลักษณะเด่นของยุคอุตสาหกรรม ยุคอุตสาหกรรมนั้นเป็นยุคที่ตะวันตกกำลังผ่านไปแล้ว แต่เรายังไม่เข้าถึง เพราะโดยสภาพที่เป็นจริงของประชาชนส่วนใหญ่ สังคมของเรายังอยู่ในยุคเกษตรกรรม เรายังไม่สามารถเข้าถึงยุคอุตสาหกรรมได้จริง ในระยะที่ผ่านมาเราก็เลยไม่เป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิต แต่เป็นผู้ใช้หรือผู้บริโภค ปัจจุบันนี้ยุคข่าวสารข้อมูลก็เข้ามาถึงอีก เราจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะพัฒนาคนของเราให้รับมือกับยุคทั้งสามได้พร้อมกัน คือคนไทยจะต้องมีการศึกษาชนิดที่พร้อมจะอยู่ได้อย่างดีในสังคมเกษตรกรรม ในสังคมอุตสาหกรรม และในสังคมข่าวสารข้อมูล หรือในยุคเกษตรกรรม ในยุคอุตสาหกรรม และในยุคข่าวสารข้อมูลพร้อมกันทั้งหมด

นี่เป็นตัวอย่างในแง่มุมต่างๆ ที่ยกขึ้นมาพูดเพื่อให้เห็นว่า เราจะใช้หลักการพัฒนา ๔ ประการนั้น ในสภาพชีวิตสังคมที่เป็นอยู่จริงนี้อย่างไร โดยยกเอาบริบทของสภาพชีวิตและสังคมในกาละเทศะปัจจุบันนี้เป็นหลักพิจารณา ก็ขอผ่านไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เมื่อเสรีชนปรารถนาสยบยอม สละเสรีภาพ – เลือกเอาความภักดีพัฒนาสู่อิสรภาพ คือทำให้พึ่งตนได้ >>

No Comments

Comments are closed.