– ๒ – ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ

23 กันยายน 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

ถ้าสันโดษถูกต้อง ก็จะไม่สันโดษได้เต็มที่
เมื่อสันโดษดีแล้ว ไม่สันโดษก็ยิ่งดีเต็มที่

ตรงนี้มีข้อสังเกตทางธรรมว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสสันโดษไว้คู่กับไม่สันโดษ แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าสันโดษลอยๆ ไม่ได้ ถ้าสันโดษลอยๆ จะผิดทันที สันโดษจะต้องตามด้วยวัตถุเสพ แล้วก็จะมีธรรมเป็นคู่กันว่าไม่สันโดษ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์ตรัสรู้เพราะไม่สันโดษ พระองค์ตรัสไว้เองว่า

“ภิกษุทั้งหลาย (ที่บรรลุโพธิญาณนี้) เราได้เห็นคุณของธรรม ๒ ประการ คือ

๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรม

๒. การเพียรพยายามไม่ระย่อ”

(องฺ.ทุก.๒๐/๒๕๑)

ไม่สันโดษก็เช่นเดียวกัน จะปล่อยลอยๆ ไม่ได้ ต้องต่อท้ายว่าไม่สันโดษในกุศลธรรม คือสำหรับสิ่งที่ดีงาม ซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ ที่เข้ากับฉันทะแล้ว พระพุทธเจ้าไม่มีสันโดษเลย ถ้าพระพุทธเจ้าสันโดษ ก็ไม่ได้ตรัสรู้ เพราะพอใจแล้ว พระองค์เสด็จไปหาอาจารย์โยคะ ได้สมาธิ ได้ฌาน ได้สมาบัติ ถ้าพระพุทธเจ้าพอใจสันโดษก็หยุดแค่นั้นไม่ไปต่อ แต่พระพุทธเจ้าทรงถือว่า ถ้ายังไม่บรรลุจุดหมายจะหยุดไม่ได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่สันโดษ แต่หมายถึงไม่สันโดษในกุศลธรรม

เมื่อสันโดษในวัตถุเสพ ก็มาหนุนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ ถ้าเราไม่สันโดษในวัตถุเสพ เราก็ไม่สามารถไม่สันโดษในกุศลธรรม คนที่สันโดษในกุศลธรรมก็ไม่สันโดษในสิ่งเสพ เพราะพอใจแล้วในกุศลธรรม เอาแค่นี้ ไม่อยากได้ไม่อยากดีกับความรู้ความดีงามและการสร้างสรรค์ แค่นี้พอแล้ว ไปหาความสนุกสนานเพลิดเพลินดีกว่า นี้คือคนจำพวกที่ไม่สันโดษในวัตถุเสพ แต่สันโดษในกุศลธรรม

พระพุทธเจ้า ทั้งพระองค์เองก็ทรงปฏิบัติ และทรงสอนพวกเราว่า ให้สันโดษในวัตถุเสพ แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม เมื่อไม่สันโดษในกุศลธรรมก็ก้าวต่อไปในไตรสิกขาได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม

เป็นอันว่าสันโดษกับไม่สันโดษนั้นรับกัน ขอทวนอีกทีหนึ่งว่า ถ้าคนไม่สันโดษในวัตถุเสพ เขาก็สันโดษในกุศลธรรม แล้วเขาก็จะวุ่นวายกับการแสวงหาวัตถุเสพบำรุงบำเรอ ทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการพัฒนา ทั้งในสังคมก็มีการแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบกัน และตัวเองก็ไม่มีความสุข แต่ละคนจะเอาให้มากกว่าคนอื่น เกิดการทุจริตมาก เกิดปัญหาติดขัดในการบริหารประเทศชาติ สังคมวุ่นวาย พัฒนาผิดทาง ฝรั่งบางคนเรียกการพัฒนาของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ว่าเป็น misdirected development คือพัฒนาเหมือนกันแต่พัฒนาไม่ถูกทาง เพราะฉะนั้น เมื่อเราสันโดษในสิ่งเสพ ก็ต้องมาต่อด้วยไม่สันโดษในกุศลธรรม อย่าไปหยุดแค่สันโดษในวัตถุเสพ

เมื่อไม่สันโดษในกุศลธรรม ก็จะมีความเพียรเข้ามารับช่วงต่อไป เพราะฉะนั้น ในหมวดธรรมใดพระพุทธเจ้าตรัสสันโดษไว้ ในหมวดธรรมนั้นก็จะตรัสความเพียรไว้ด้วย ขอให้สังเกตดูเถิด และมันรับกันได้ดีด้วย เพราะความสันโดษสร้างความพร้อมที่จะให้เพียรพยายามได้ ถ้าไม่สันโดษ ความเพียรก็มาทำงานไม่ได้ แต่จะถูกขัดขวางเพราะคนจะมัวห่วงใยสิ่งเสพและการที่จะบำรุงบำเรอตัวเองอยู่นั่นแหละ ไม่ไปสักที สันโดษเป็นตัวสร้างความพร้อมที่จะให้เพียรพยายาม จึงเป็นธรรมที่หนุนการก้าวไปในไตรสิกขา นี่คือความสอดคล้องกันของธรรม

ถ้าใครสันโดษในกุศลธรรมเมื่อไร พระพุทธเจ้าจะตรัสติเตียนทันที เรียกว่าเป็นคนประมาท แม้แต่เป็นพระอริยบุคคล ขนาดโสดาบัน หรือสกทาคามี ซึ่งนับว่าปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปมากแล้ว ก็ถูกตำหนิ มีตัวอย่างในพระไตรปิฎกว่า ท่านที่เป็นอริยบุคคล บรรลุผลสำเร็จในการปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปแล้ว ไปเกิดความพอใจขึ้น ท่านใช้คำว่า “สันโดษ” ในคุณสมบัติของตน พระพุทธเจ้าตรัสติเตียนว่าเป็น “ปมาทวิหารี” แปลว่าผู้อยู่ด้วยความประมาท (สํ.ม.๑๙/๑๖๐๑) พระพุทธเจ้ามีแต่ตรัสสอนให้เดินหน้าตลอด ฉะนั้นจึงมีคำตรัสที่ขอยกมาย้ำอีกแห่งหนึ่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้แต่การตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เราสรรเสริญอย่างเดียวแต่การก้าวต่อไปในกุศลธรรมทั้งหลาย”
(องฺ.ทสก.๒๔/๕๓)

นี่ก็เช่นเดียวกับพุทธพจน์ในธรรมบทที่ว่า ภิกษุถึงจะมีศีลวัตร ถึงจะเป็นพหูสูตมีความรู้มาก ถึงจะได้สมาธิ ถึงจะมีความสุขในระดับอนาคามี ถึงจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตราบใดที่ยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ อย่าได้นอนใจ (ขุ.ธ. ๒๕/๒๙)

ความสันโดษ และไม่สันโดษ ทั้งที่ถูกต้อง และผิดพลาด ควรจะสรุปไว้เพื่อให้เห็นภาพรวมดังนี้

๑. ความสันโดษ และไม่สันโดษ ที่ผิด
ก. สันโดษที่ผิด (สันโดษเทียม หรือสันโดษตัน) คือ
๑) สันโดษในวัตถุเสพ ซึ่งจบลงที่ความสุข นำไปสู่ความเกียจคร้านและความประมาท
๒) สันโดษในสิ่งดีงามสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้หยุดหรือเฉื่อยลง นำไปสู่ความประมาทเช่นเดียวกัน
ข. ไม่สันโดษที่ผิด คือ
๑) ไม่สันโดษในวัตถุเสพ ทำให้ละทิ้งหรือไม่ใส่ใจกิจหน้าที่และการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม

๒. ความสันโดษ และความไม่สันโดษ ที่ถูกต้อง
ก. สันโดษที่ถูก (สันโดษแท้ หรือสันโดษเดินหน้า) คือ
๑) สันโดษในวัตถุเสพ เพื่อออมเวลา แรงงาน และความคิดไปใช้ในการทำกิจหน้าที่ทำสิ่งดีงามสร้างสรรค์
ข. ไม่สันโดษที่ถูก คือ
๑) ไม่สันโดษในกุศลธรรม คือ ไม่รู้อิ่ม ไม่รู้พอในการทำกิจหน้าที่ทำสิ่งดีงามสร้างสรรค์

เมื่อจัดสรรความเป็นอยู่ลงตัวดีด้วยสันโดษแล้ว
ก็พร้อมที่จะก้าวแน่วไปในทางของงานและการสร้างสรรค์

ลักษณะทั่วไปของการปฏิบัติในพุทธศาสนา คือต้องก้าวต่อไปจนกว่าจะบรรลุจุดหมายสูงสุด เราจะเห็นปฏิปทาของพระโพธิสัตว์ ว่าเป็นปฏิปทาของการที่ว่า เมื่อตั้งใจบำเพ็ญความดีอะไรแล้ว จะไม่ยอมระย่อท้อถอย จะทำเต็มที่ เรามีคติโพธิสัตว์ไว้เตือนใจให้เกิดกำลังใจที่จะทำความดีอย่างเข้มแข็ง ไม่ท้อถอย แต่ตอนหลัง เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปได้พันกว่าปี ก็เกิดคติโพธิสัตว์แบบใหม่ซึ่งทำให้พลิกคติโพธิสัตว์กลับตรงข้ามไปเลย

คติโพธิสัตว์แบบเดิมถือว่า พระพุทธเจ้าจะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องบำเพ็ญบารมี คือบำเพ็ญความดีอย่างเยี่ยมยอด ยวดยิ่ง ไม่ยอมย่อท้อในการฝึกตนให้ก้าวไปในความดีด้วยความเข้มแข็งและเสียสละ ยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต คติโพธิสัตว์แบบแท้ของเดิมนี้ก็คือการให้กำลังใจแก่ชาวพุทธในแง่ที่เป็นแบบอย่าง ว่าเราต้องทำการสร้างสรรค์ความดีอย่างเข้มแข็ง ถ้าบังเอิญเราท้อใจในการทำความดี ก็จะได้ดูจริยาวัตรของพระโพธิสัตว์ แล้วเราก็จะได้กำลังใจขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าเจอหนักกว่าเราเยอะ ท่านยังสู้ เราเจอแค่นี้จะไปท้อทำไม แล้วเราก็จะฮึดสู้ต่อไป

แต่ตอนหลัง เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปราวพันปี ได้เกิดมีแนวคิดที่จะไปสนองความต้องการแบบรอเทพบันดาล ทำนองเดียวกับเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ที่มาบันดาลผลประโยชน์ให้แก่มนุษย์

จุดเริ่มอยู่ที่ว่า ในสมัยต่อมาเมื่อพุทธศาสนาต้องแข่งกับศาสนาพราหมณ์ ในศาสนาพราหมณ์เขามีเทพเจ้าไว้ให้คนอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ชาวพุทธบางกลุ่มก็มานึกถึงลักษณะของพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าว่าทรงมีความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ และพยายามช่วยเหลือ พระโพธิสัตว์นั้นจะช่วยเหลือใครแม้แต่สละชีวิตของตนก็ยอมได้ ทีนี้ก็เอาคตินี้มาเทียบกับลัทธิอ้อนวอนเทพเจ้าของพราหมณ์ว่า อ้อ พวกฮินดูเขามีเทพเจ้าไว้ คุณมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปหาเทพเจ้า ไปอ้อนวอนท่าน ท่านจะมาช่วย ทีนี้ชาวพุทธเรามีพระโพธิสัตว์ ที่มีเมตตากรุณา ช่วยเหลือผู้อื่นเต็มที่ เมื่อเรามีพระโพธิสัตว์ไว้คอยช่วยแล้วเราก็ไปหาพระโพธิสัตว์อ้อนวอนให้ท่านช่วย นี่คือคติพระโพธิสัตว์แบบใหม่ ซึ่งได้วิวัฒนาการมาเป็นคติอ้อนวอน เช่นอย่างเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์แบบใหม่ กวนอิมเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ราวหกร้อยกว่าปี มีชื่อเดิมว่าพระอวโลกิเตศวร

ถ้าคนไทยไปถือคติโพธิสัตว์แบบหลังนี้ก็น่ากลัว จะอ่อนแอลง คติโพธิสัตว์แบบเดิมแท้ต้องการให้คนได้ตัวอย่างของการบำเพ็ญความดีอย่างเข้มแข็ง ไม่ระย่อท้อถอย และได้กำลังใจจากพระโพธิสัตว์ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า เราเห็นว่าพระโพธิสัตว์เป็นนักช่วยเหลือคน มีมหากรุณา เราก็เข้าไปขอให้ท่านช่วย ฉะนั้นจะต้องระวัง ถ้าจะใช้คติพระโพธิสัตว์แบบพระอวโลกิเตศวรกวนอิม ก็ต้องใช้ในแง่ว่าท่านเป็นโพธิสัตว์บำเพ็ญความดีอย่างไร เราจะต้องทำความดีอย่างเข้มแข็งเสียสละตามแบบท่าน ถ้าอย่างนี้จึงจะไม่เสีย

กลับมาเรื่องเก่า เมื่อกี้เราพูดเรื่องสันโดษ สรุปว่า สันโดษที่แท้จะเป็นตัวหนุนในกระบวนการของไตรสิกขา เมื่อสันโดษต่อวัตถุเสพแล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

๑. เมื่อคนมีวัตถุเสพพอสมควร สมแก่อัตภาพของตัวเอง ซึ่งได้มาเป็นของตนโดยสุจริตแล้ว เขาก็มีความสุข เป็นอันว่าสุขจากวัตถุก็ได้แล้ว ตรงข้ามกับคนไม่สันโดษที่สุขจากวัตถุก็ยังไม่ได้ เพราะความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้

๒. เขาสงวน หรือออมเวลา แรงงาน และความคิดเอาไว้ได้ แล้วก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปทุ่มเทให้กับการเพียรพยายามในกุศลธรรม ด้วยการบำเพ็ญความดี แสวงหาความรู้ หรือทำการสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อสนองฉันทะที่ว่าเมื่อกี้ ซึ่งสอดคล้องกับการไม่สันโดษในกุศลธรรม

๓. เมื่อไปทำงาน ทำหน้าที่ สร้างสรรค์ ทำกุศลธรรม ก็ถูกใจ เต็มใจ และตั้งใจทำ เพราะทำด้วยความรัก ที่อยากจะทำอยู่แล้ว ก็มีความสุขจากการทำงาน ผลดีแก่ชีวิตก็เกิดขึ้น คือตัวเองก็มีความสุข และผลดีแก่ส่วนรวมก็เกิดขึ้น คืองานการก็สำเร็จผลด้วยดี ประโยชน์ที่ต้องการในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สังคมก็สำเร็จด้วยดี

ย้ำว่า ขออย่างเดียวอย่าสันโดษตัน ชนิดที่พอใจสบายแล้ว ทุกข์ไม่บีบก็ไม่ดิ้น เอาแต่นอนเสวยสุข ไม่ใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ในการที่จะก้าวต่อไป

เป็นอันว่า เมื่อปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักการที่แท้แล้ว ผลดีก็สอดคล้องกันหมด ไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลย สันโดษนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

ในวัฒนธรรมของเราถือว่า ผู้ที่เป็นครูอาจารย์จะต้องมีชีวิตแบบสันโดษ แต่สันโดษในความหมายที่ว่า เพื่อจะได้ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – จิตใจของนักวิชาการ– ๓ – ความสัมพันธ์ในชุมชนทางวิชาการ >>

หน้า: 1 2 3

No Comments

Comments are closed.