– ๒ – ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ

23 กันยายน 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

ถึงจะมีคุณสมบัติที่ดี เมื่อใช้ไม่เป็น ก็ถ่วงพัฒนา
แต่ถ้าใช้เป็น ก็ยิ่งมองเห็นทางเจริญก้าวหน้า

เมื่อกี้บอกแล้วว่า ในเมืองไทย เรามักใช้ธรรมในเชิงเพื่อจะได้สบายแล้วก็หยุด เช่น สันโดษแล้วจะได้มีความสุข ทำสมาธิเพื่อจะได้มีความสุขสงบ จบแค่นั้น เราเป็นอย่างนี้กันมาก จึงได้ประโยชน์จากธรรมเพียงส่วนหนึ่ง แต่โทษที่ตามมาอาจจะมาก และอาจจะไม่คุ้ม

ถึงเวลาที่จะต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ให้ถูกต้อง จะต้องย้ำกันว่า ธรรมหรือข้อปฏิบัติแต่ละอย่างมิใช่เพื่อให้สุขสบายแล้วก็หยุดหรือจบเท่านั้น แต่เพื่อช่วยส่งให้ก้าวต่อไปได้ในกระบวนการคืบเคลื่อนไปข้างหน้าของชีวิต ในด้านพฤติกรรมบ้าง ด้านจิตใจบ้าง ด้านปัญญาบ้าง ที่เรียกว่าไตรสิกขา และความสุขสบายที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัตินั้น ก็จะต้องมองความหมายและใช้ให้ถูกต้อง

ทุกข์ หรือปัญหา มีโทษที่ว่ามันบีบคั้น ทำให้ติดขัด คับข้อง ทำอะไรๆ ไม่สะดวก แต่เพราะความบีบคั้นนั่นแหละจึงทำให้คนดิ้นรนเพื่อหาทางออก หรือให้พ้นออกไป ทุกข์จึงทำให้เกิดแรงหรือพลังดิ้น ซึ่งเอาไปใช้ประโยชน์ได้

ส่วนความสุข เป็นภาวะที่พ้นไปจากทุกข์ ทุกข์ระงับไป ไม่มีอะไรบีบคั้น สงบลงได้ จึงทำให้หยุดดิ้นรน แม้จะดี แม้จะสบาย แต่ก็ทำให้โน้มเอียงไปในทางที่จะหยุด เอื่อย เนือย หรือเฉื่อยชาลง และสยบพลัง ถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะเกิดโทษ จึงต้องมองให้ถูกต้องตามความหมายทางธรรม

“สุข” แปลว่า สะดวก คล่อง ง่าย หมายความว่า ในภาวะที่สุขนั้น ไม่มีอะไรบีบคั้น ติดขัด คับข้อง จะทำอะไรก็ทำได้สะดวก ทำได้ง่าย ทำได้คล่อง ความสุขจึงเป็นสภาพคล่อง หรือสภาพเอื้อสำหรับการที่จะทำหรือก้าวต่อไป สุขจึงไม่ใช่เพื่อหยุด แต่เพื่อทำได้สะดวก ความสุขจึงมาช่วยหนุนการก้าวหน้าต่อไปในการพัฒนาชีวิตตามหลักไตรสิกขานั้น

หันกลับมาดูพวกเราในสังคมไทย แม้แต่ปลงอนิจจังเราก็คิดแค่ว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า ความจริงของกฎธรรมชาติมีอยู่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเกิดแล้วก็ต้องดับ เจริญแล้วก็ต้องเสื่อม เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาของมัน อย่าไปคิดอะไรมาก เมื่อเกิดการพลัดพราก เกิดการสูญเสีย ก็ปลงใจได้ เรียกว่าปลงอนิจจัง ก็ได้ผล คือจิตใจเป็นสุข แต่ทำให้หยุด

ขอให้พิจารณาตรวจดูให้ชัดว่า อนิจจังนั้นพระพุทธเจ้าสอนไว้เพื่ออะไรแน่ ถ้าไปดูในคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ พระพุทธเจ้าสอนอนิจจังไว้กับความไม่ประมาท แม้แต่ตอนที่จะปรินิพพาน พระองค์ตรัสปัจฉิมวาจาว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”

ในพุทธพจน์นี้ ท่อนแรกทรงปรารภความจริงว่า “วยธมฺมา สงฺขารา” สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา นี่คือ อนิจจัง ต่อจากนั้นในท่อนหลัง ทรงแนะนำการปฏิบัติให้สอดคล้องหรือได้ประโยชน์จากความจริงนั้นว่า “อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” (เพราะฉะนั้น) จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างความไม่ประมาทกับความเป็นอนิจจัง ที่ไหนพระพุทธเจ้าตรัสถึงความจริงของธรรมชาติที่ไม่เที่ยงไว้ ก็จะตรัสข้อปฏิบัติของมนุษย์คือความไม่ประมาท เพราะอะไร เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง โลกและชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ชีวิตของเราก็เปลี่ยนแปลง สิ่งทั้งหลายรอบตัวเราก็เปลี่ยนแปลง มันไม่รอเรา ตัวเราก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เพราะฉะนั้นเราจะมัวนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ จะทำอะไรก็รีบทำ มีสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ ความดีอะไร ประโยชน์อะไรที่ชีวิตพึงเข้าถึง พึงบรรลุ มนุษย์จะต้องรีบขวนขวาย อนิจจังจึงสัมพันธ์โดยตรงกับความไม่ประมาท แต่คนไทยเอาอนิจจังมาใช้แค่ปลง วางใจได้แล้วก็อยู่สบายดี แสดงว่า เราปฏิบัติธรรมบกพร่องหรือครึ่งๆ กลางๆ

ที่ว่านี้หมายความว่า ที่จริงท่านสอนตามลำดับขั้นว่า อนิจจังเป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ เป็นความจริงของธรรมชาติ ส่วนความไม่ประมาทเป็นข้อปฏิบัติของมนุษย์ สองขั้นนี้สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน คือ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ เราจะปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตอย่างไร นี่คือจริยธรรมสัมพันธ์กับสัจธรรม

ก่อนที่จะดำเนินชีวิต คือปฏิบัติจริยธรรมได้ถูกต้อง ก็ต้องรู้ว่าความจริงคือสัจธรรมเป็นอย่างไร ฉะนั้นจริยธรรมในทางพุทธศาสนา จะต้องอิงอยู่บนสัจธรรมโดยตลอด คือโยงต่อกันว่าเพราะความจริงเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องทำอย่างนี้ (จึงจะเกิดผลดีแก่ชีวิตของเรา หรือว่าเราจึงจะได้ประโยชน์จากความจริงนั้น) เมื่อมีสัจธรรมว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เราก็มีการปฏิบัติเชิงจริยธรรม ๒ ขั้น คือ

๑. ขั้นปรับความรู้สึก หรือขั้นทำใจ เราต้องรู้ทันความจริงของสิ่งเหล่านั้น เพื่อจะได้ปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้องด้วยความรู้ความจริงนั้น จะได้ไม่เป็นอยู่หรือทำอะไรเพียงด้วยความอยาก เรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน มันไม่ได้เป็นไปตามความอยากของเรา เราจะเอาความอยากของเราไปบังคับมันย่อมไม่สำเร็จ เพราะมันไม่เป็นไปตามความอยากของเรา แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องใช้ปัญญาศึกษาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วไปทำไปแก้ไขที่เหตุปัจจัยนั้นๆ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ (=มีความเข้าใจถูกต้อง คือมีสัมมาทิฏฐิ)แล้ว จะได้อะไร

ในขั้นแรก เมื่อรู้ความจริงแล้วก็จะได้ไม่เอาแต่ความอยากของตัวเองเข้าว่า และจะวางใจได้หายทุกข์หายบีบคั้นกดดันภายใน เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันความจริงของกฎธรรมชาติ คือ อนิจจังนั้น ขั้นที่ ๑ ก็ทำให้เราสบายใจ ปลงใจได้ ไม่ทุกข์ หรือว่าทุกข์น้อยลง หรือระงับทุกข์ได้ ขั้นที่ ๑ นี้ เป็นขั้นของการใช้ปัญญารู้เท่าทันเพื่อทำจิตใจให้เป็นอิสระ หรือเพื่อรักษาอิสรภาพของจิตใจ แต่ไม่ใช่หยุดแค่นั้น

๒. ขั้นปฏิบัติ หรือขั้นทำการ เรารู้ด้วยว่า การที่สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป มีความเกิดดับ เจริญและเสื่อมนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือเป็นไปโดยเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย นี่เป็นหลักที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราอยากให้เจริญเราก็ต้องศึกษาเหตุปัจจัยแห่งความเจริญ เมื่อรู้เหตุปัจจัยของความเจริญแล้วก็ทำเหตุปัจจัยของความเจริญ ถ้าเราไม่ต้องการความเสื่อม เราก็ต้องศึกษาเหตุปัจจัยของความเสื่อม เมื่อมีปัญญารู้แล้วก็ป้องกันแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยของความเสื่อม แล้วเราก็จะสามารถเจริญได้โดยไม่เสื่อม ขั้นที่ ๒ นี้ เป็นขั้นของการใช้ปัญญาทำการให้ตรงกับเหตุปัจจัย

ตามหลักที่ว่ามานี้จึงพูดได้ว่า เมื่อเราไม่ประมาท เราก็สามารถเจริญได้โดยไม่เสื่อม ขอให้ดูตัวอย่างหลักอปริหานิยธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าปฏิบัติตามนั้น จะหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม

บางคนอาจจะสงสัยว่า พระพุทธเจ้าตรัสอย่างไร ด้านหนึ่งว่าอนิจจัง สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป เมื่อเจริญแล้วก็ต้องเสื่อมสิ ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าเธอปฏิบัติอย่างนี้ มีแต่เจริญ ไม่มีเสื่อม พระพุทธเจ้าตรัสขัดกันไหม ตอบว่าไม่ขัด แต่หนุนกันด้วย เพราะคำว่า “เจริญ” หรือ “เสื่อม” นี้

๑. เป็นคำที่แสดงถึงภาวะที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัว โดยไม่ต้องมีคำอื่นมาต่อ ไม่ใช่เป็นคำที่แสดงภาวะหยุดนิ่ง

๒. เป็นคำของมนุษย์ที่พูดเอาในความหมายที่วัดด้วยความต้องการของตน คือถ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นผลดีแก่ตน ก็เรียกว่า เจริญ ถ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นผลเสียแก่ตน ก็เรียกว่า เสื่อม

ที่จริงนั้น เจริญก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมก็เปลี่ยนแปลง เจริญแล้วเจริญต่อไปก็เปลี่ยนแปลง เจริญแค่นี้แล้วเจริญยิ่งขึ้นไปก็เปลี่ยนแปลง เจริญแล้วเสื่อมก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเสื่อมต่อไปก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเสื่อมลงไปอีกก็เปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเปลี่ยนเป็นเจริญก็เปลี่ยนแปลงทั้งนั้น จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไหน ก็อยู่ที่ว่าจะมีเหตุปัจจัยให้มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งเมื่อเรารู้แล้ว เราก็ทำเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นไปอย่างนั้น

ปัญญาที่รู้ความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ทำให้เราได้ประโยชน์ ๒ ขั้น

๑. เราอยู่ด้วยความรู้หรือด้วยปัญญารู้เท่าทัน ทำให้ใจเป็นอิสระ ไม่มีความทุกข์ นี่คือ ปลงอนิจจังได้

๒. เราสามารถปฏิบัติการด้วยความไม่ประมาท แล้วสร้างความเจริญป้องกันความเสื่อมได้

ปัญหาอยู่ที่ว่าชาวพุทธไทยเราใช้อนิจจังขั้นเดียว ขั้นว่าปลงได้แล้วสบาย ก็เลยจบกัน

รวมความว่า เรื่องอนิจจัง เรื่องสันโดษ เรื่องสมาธิ เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติครึ่งๆ กลางๆ ที่นำเอาธรรมมาใช้กันผิดพลาด

โดยเฉพาะสมาธิเดี๋ยวนี้ต้องระวังมาก คือมักใช้กันแบบที่ทำให้หยุด เฉื่อยชา เป็นยากล่อม เช่นมีปัญหาจิตใจมาก นอนไม่หลับ มีความทุกข์ พอได้สมาธิมาช่วยให้สบาย หายทุกข์ หายกลุ้ม หายกังวล นอนหลับได้ ก็เอาแค่นั้น แล้วยิ่งกว่านั้น พอใจสบายแล้ว ก็ปล่อยปัญหาข้างนอกไว้ ไม่กระตือรือร้นที่จะแก้ไขดำเนินการเลยจบ สมาธิก็เลยไม่เป็นปัจจัยส่งต่อในกระบวนการพัฒนามนุษย์คือ ไตรสิกขา ไม่ส่งผลแก่ปัญญา แล้วยังแถมทำให้เกิดความประมาทอีกด้วย

จะต้องระลึกไว้ว่า ประโยชน์ของสมาธิอยู่ที่ทำให้จิตเป็นกัมมนีย์ แปลว่าทำให้จิตเหมาะแก่การใช้งาน เมื่อจิตเหมาะแก่การใช้งานก็เอาจิตไปใช้ เช่นในการคิด ในการพิจารณาทางปัญญา เพื่อส่งผลให้เดินหน้าในไตรสิกขาต่อไป

ศึกษาจุดที่พลาดให้ชัดแล้วแก้ไข
สังคมไทยก็จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

เป็นอันว่า เมืองไทยที่ผ่านมานี้ ในเรื่องความอยากก็ผิด ฉันทะหายไป เมื่อเหลือแต่ตัณหาก็ต้องให้กำจัดมัน หรือมิฉะนั้นก็ต้องปลุกเร้า เลยมาเถียงกันอยู่แค่นี้ มองได้แค่ว่าความอยากคือ ตัณหา แล้วพวกหนึ่งก็ว่าถ้าไม่มีตัณหา เดี๋ยวประเทศไม่พัฒนา การพัฒนาก็เลยกลายเป็นการหมักหมมปัญหาจนแทบจะล่มจม อีกพวกหนึ่งก็ว่าอย่าไปมีตัณหา แต่แล้วก็นอนสบายตกอยู่ในความประมาท ทั้งสองฝ่ายผิดทั้งนั้น ผิดแบบสุดโต่งสองข้าง เนื่องจากขาดความเข้าใจ

เมื่อไม่รู้จักฉันทะก็ไปปลุกเร้าผิด คือไปปลุกเร้าตัณหา สมัยก่อนพลาดมาครั้งหนึ่งแล้ว คราวนี้ก็กำลังผิดอีก สุดโต่งทั้งสองสมัย ในยุคก่อน ก็ปลุกเร้าคนให้ทำความดีด้วยมานะ ดังที่มีคำพูดเหลือร่องรอยให้เราเห็นอยู่ คือชอบปลุกใจเด็กว่า ตั้งหน้าตั้งตามานะพากเพียรเรียนไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน นี่คือใช้ความอยากใหญ่ใฝ่อำนาจมายุคน ถึงเวลาที่คนไทยจะต้องติติงกันเอง อย่ามัวปกป้องตัวเอง จะได้แก้ไขได้

มานะ นี้เป็นกิเลส แต่คนไทยนำมาใช้เป็นดีไปได้ และกลายความหมายเป็นเพียรพยายาม มานะกลายเป็นความเพียร เป็นไปได้อย่างไร แปลบาลีเป็นบาลี มานะแปลว่า เกตุกัมยตา คล้ายๆ กับเมื่อกี้นี้ ฉันทะ = “กัตตุกัมยตา” แปลว่า อยากจะทำ แต่ มานะ = “เกตุกัมยตา” แปลว่า อยากจะเป็นดุจธง ก็คืออยากเด่นอยากใหญ่

แต่ก่อนนี้คนไทยกระตุ้นเร้าปลุกใจกันว่า ให้อยากใหญ่ อยากโต อยากเป็นเจ้าคนนายคน แล้วจะได้เพียรพยายามเล่าเรียนทำการทำงาน ตัวที่อยากใหญ่อยากโตก็คือมานะ มานะเป็นตัวกระตุ้น คือ ให้อยากใหญ่อยากโต แล้วจะได้เพียรพยายาม เราใช้มานะเป็นเหตุของความเพียร แต่ไปๆ มาๆ ตัวมานะกลายความหมายเป็นความเพียรไปเอง คนไทยจะพูดควบคู่กันไปว่ามานะพากเพียรเรียนไปเถิด ฉะนั้น มานะก็เปลี่ยนความหมายเป็นเพียรพยายาม

แม้แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ให้ความหมายไว้นัยหนึ่งว่า มานะ แปลว่า ความเพียร แต่ตามความหมายที่แท้จริงนั้นแปลอย่างนี้ผิดเต็มที่ มานะที่คนไทยเอามาใช้ปลุกเร้าคนให้เพียรพยายาม ก็คืออยากใหญ่โต อยากเป็นเจ้าคนนายคน

ต่อมาถึงยุคนี้ ความนิยมอยากใหญ่อยากโต เช่นเป็นข้าราชการ เป็นขุนนางอะไรนี่ชักน้อยลงไป ก็มาเน้นการได้ผลประโยชน์ พอเน้นผลประโยชน์ก็คือมาเน้นตัณหา เช่น อยากให้มีรายได้ดี อยากจะมีของฟุ่มเฟือยใช้ เด็กนักเรียนพอเข้าเรียนเป็นนิสิตนักศึกษาปี ๑ ก็คุยกันว่า เราเรียนจบแล้ว จะไปมีบ้านใหญ่ๆ กี่ล้านบาท จะมีรถยนต์ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ที่หรูหราโก้ที่สุด เดี๋ยวนี้เขาคุยกันแบบนี้ แสดงว่าตัณหามาเร้า เท่ากับว่าเราไม่มีหลักเพราะเราหาตัวเร้าที่ถูกต้องไม่ได้ คือหลงลืมมองข้ามฉันทะ ก็เลยต้องมาใช้มานะและตัณหา รวมแล้วก็อยู่ในเรื่องกิเลส ถ้าอย่างนี้สังคมจะไปรอดได้อย่างไร เพราะมีแต่จะเอาเพื่อตัวเองทั้งนั้น ตัณหาใฝ่เสพ ก็มุ่งทรัพย์ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง มานะก็มุ่งอำนาจ เพื่อความยิ่งใหญ่ของตัวเอง

ถึงเวลาจะต้องกลับไปสู่ฐานที่แท้คือฉันทะ ไม่ใช่เฉพาะครูอาจารย์ ตั้งแต่นักเรียนตัวเล็กๆ การศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่ในครอบครัว จะต้องสร้างฉันทะนี้ให้ได้ ถ้าสร้างฉันทะความอยากที่เป็นกุศลขึ้นมาได้ ก็จะเจริญพัฒนาได้ถูกต้อง

เป็นอันว่า สังคมไทยขณะนี้ จุดที่ต้องแก้ทั้งหมด คือ

๑. การที่ไม่รู้จักฉันทะ ฉันทะหายไป เอาตัณหามานะมาแทน จึงพลาดหมด

๒. สันโดษก็ตัน ไปจบที่สุขแล้วก็นอนสบายอย่างที่ว่า

๓. กรุณาที่พูดถึงก่อนนี้ก็ใช้พลาด ไม่ครบชุดของมัน

การปฏิบัติธรรมที่ผิดพลาดนี้ เกิดจากความเคลื่อนคลาดบกพร่อง ๓ แบบ คือ

๑. แบบขาดไปเลย ดังเช่น ฉันทะ

๒. แบบตัน คือ ไม่เชื่อมโยง ไม่อยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่ส่งต่อไปข้างหน้า เช่น สันโดษ

๓. แบบไม่ครบถ้วน คือ ไม่ครบองค์รวม หรือไม่บูรณาการ เช่น เมตตากรุณา

ถ้าแก้ข้อบกพร่อง ๓ อย่างนี้ได้ ชีวิตและสังคมก็จะได้ประโยชน์จากธรรมอย่างแท้จริงตามที่มันควรจะได้ และสังคมไทยก็จะเจริญมั่นคงอย่างแน่นอน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – จิตใจของนักวิชาการ– ๓ – ความสัมพันธ์ในชุมชนทางวิชาการ >>

หน้า: 1 2 3

No Comments

Comments are closed.