อยู่กับปัจจุบัน

29 ตุลาคม 2539
เป็นตอนที่ 9 จาก 12 ตอนของ

อยู่กับปัจจุบัน1

วันนี้ จะพูดเรื่องหลักธรรมหรือคำสอนที่มักเข้าใจผิดกันสักข้อหนึ่ง ในช่วงที่แล้วมานี้ ก็ได้พูดเจาะจงเกี่ยวกับธรรมที่มักจะเข้าใจกันผิดมาหลายเรื่อง แต่ยังไม่จบ วันนี้จึงเอามาต่ออีกสักเรื่องหนึ่ง

ในพระพุทธศาสนามีคำสอนสำคัญอย่างหนึ่งว่า ให้เราอยู่กับปัจจุบัน ดังเช่นในคาถาภัทเทกรัตตสูตรว่า

อตีตํ นานฺวาคเมยฺย นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ
ยทตีตมฺปหีนนฺตํ อปฺปตฺตญฺจ อนาคตํ
ปจฺจุปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ

แปลว่า ไม่พึงหวนละห้อยความหลัง ไม่พึงเพ้อหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดเป็นปัจจุบันต่อหน้า ให้มองดูให้รู้ชัดเจน หรือให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นชัดในสิ่งนั้นๆ

นี่ก็เป็นคาถาหนึ่ง และยังมีที่อื่นอีก เช่นมีผู้ไปถามพระองค์หนึ่งที่อยู่ในป่าว่า

“เอ้อ ท่านฉันอาหารมื้อเดียว อยู่ในป่าอย่างนี้ ไม่มีเรื่องบันเทิงอะไร ทำไมดูหน้าตาสดใส”

พระท่านก็ตอบว่า

“ผู้ถึงธรรมแล้ว ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่เพ้อหวังถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ผิวพรรณจึงผ่องใส” ดังนี้เป็นต้น

คำสอนที่ยกมานี้แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้อยู่กับปัจจุบัน ให้จิตใจอยู่กับเรื่องเฉพาะหน้า ก็เลยมีผู้ที่นำไปเป็นข้อว่ากล่าวติเตียนพระพุทธศาสนา คือ

ในแง่ดีก็ยอมรับว่า การอยู่กับปัจจุบันนี้ทำให้เรามีใจสบายเป็นสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีเศร้า

แต่ถ้าอยู่กับปัจจุบัน ไม่เอาเรื่องกับอดีตและอนาคต โดยเฉพาะอนาคต ก็จะทำให้เป็นคนที่ไม่รู้จักวางแผน จะมีชีวิตแบบอยู่ไปเรื่อยๆ ไปๆ มาๆ จะกลายเป็นคนที่อยู่ไปวันๆ เอาแต่เรื่องเฉพาะหน้า ไม่ต้องคิดถึงการข้างหน้า อะไรจะเป็นอย่างไร ก็ช่างมัน ถ้าอย่างนี้ก็จะทำให้ชีวิตไม่เจริญก้าวหน้า ทั้งชีวิตของตัว ทั้งครอบครัว และสังคมจะเป็นอย่างไรก็ไม่เอาเรื่องเอาราว

ข้อสงสัยนี้จะว่าอย่างไร นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจ

ก่อนตอบ ขอติงไว้ให้ได้สติที่มากับปัญญาว่า เมื่อจะติจะว่าอะไร ควรศึกษาสอบสวนสืบค้นเรื่องนั้นให้รู้ชัดเจนก่อน

ในพระพุทธศาสนา เรื่องนี้แยกเป็น ๒ ด้าน คือ เรื่องอดีตและอนาคต ที่เป็นด้านจิตใจ เกี่ยวกับอารมณ์ หรือความรู้สึก อย่างหนึ่ง และเรื่องอดีตและอนาคตทางด้านปัญญา เกี่ยวกับการใช้ความคิดพิจารณา อย่างหนึ่ง

ที่ท่านไม่ให้หวนละห้อยอดีต ไม่ให้เพ้อหวังอนาคตนั้น บอกชัดว่า เป็นเรื่องทางด้านความรู้สีึกหรือที่ภาษาไทยเรียกว่าอารมณ์ แต่ถ้าเป็นเรื่องทางด้านปัญญา เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจแล้ว ท่านมีแต่ให้เอามาพิจารณา

พระพุทธเจ้าสอนหลักธรรมว่าด้วยเหตุปัจจัย ซี่งเป็นเรื่องของความเป็นไปสืบต่อเนื่องกัน ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เมื่อเราพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ว่ามีเหตุปัจจัยอย่างไร เราก็ต้องสืบสาวย้อนหลังไปในอดีต นี่ก็แสดงชัดว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาว่าด้วยเหตุปัจจัยนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอดีตด้วย

อีกด้านหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักธรรมเรื่องความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนั้นเป็นเรื่องของการที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคต และความไม่ประมาทนี้เป็นหลักธรรมที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนา

นอกจากนั้นยังมีคำสอนในพระพุทธศาสนามากมาย ที่เตือนให้ระวังภัยในอนาคต แม้แต่ในเรื่องความเป็นไปของตัวพุทธศาสนาเอง พระพุทธเจ้าก็ตรัสเรื่องอนาคตไว้เป็นพระสูตร

ยกตัวอย่างเรื่องอนาคตภัย หรือภัยในอนาคต พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า ในกาลภายหน้า พระภิกษุทั้งหลาย ไม่ได้พัฒนากาย ไม่ได้พัฒนาศีล ไม่ได้พัฒนาจิต ไม่ได้พัฒนาปัญญา ต่อมาพระเหล่านี้ เจริญขึ้น เป็นผู้ใหญ่ เป็นพระเถระ ตัวเองไม่ได้พัฒนากาย พัฒนาศีล พัฒนาจิต พัฒนาปัญญา ก็ไปเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ ให้การอุปสมบท แล้วก็เป็นผู้สั่งสอนผู้อื่น ตัวเองก็ไม่ได้พัฒนา เป็นอย่างนั้นแล้ว ลูกศิษย์ก็เป็นไปตาม จึงไม่ได้พัฒนากาย ศีล จิต ปัญญา

เมื่อลูกศิษย์ไม่ได้พัฒนาอย่างนั้น ก็ฝึกสอนลูกศิษย์ให้พัฒนาไม่ได้ และเป็นตัวอย่างของลูกศิษย์รุ่นต่อไปอีก ในที่สุดพระพุทธศาสนาก็เสื่อม พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนว่า อันนี้เป็นภัยที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ให้ระวังไว้ และรีบป้องกันเสีย ดังนี้เป็นต้น

คำสอนอย่างนี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าตรัสเตือนให้ระวังเกี่ยวกับเรื่องอนาคต ให้รู้จักวางแผน ให้รู้จักเตรียมการต่างๆ

อนึ่งพระพุทธเจ้าทรงมี ญาณ ที่เกี่ยวกับอดีตและอนาคต เช่น อตีตังสญาณ ญาณหยั่งรู้ส่วนอดีต อนาคตังสญาณ ญาณหยั่งรู้ส่วนอนาคต หรือ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่ในปางก่อน จุตูปปาตญาณ ญาณหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายที่ได้เป็นมาแล้ว นี่ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอดีต และอนาคต

โดยสรุป จึงแยกได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องทางด้านปัญญาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เกี่ยวข้องกับอดีต และอนาคต เต็มที่เลย แต่ในด้านจิตใจที่เป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ที่จะมีความเศร้าหมอง ขุ่นมัวใจ อะไรต่างๆ ท่านไม่ให้ไหวไปตาม

เป็นอันว่าแยกได้ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดไปว่า พระพุทธศาสนาไม่เอาเรื่องอดีต อนาคต ทำให้มีผู้นำไปติเตียน เพราะเข้าใจผิด และบางทีชาวพุทธเองก็ปฏิบัติผิดด้วย โดยที่ไปทำให้เขาเข้าใจอย่างนั้น เขาก็เลยนำมาติเตียน

สรุปความว่า พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลทั้ง ๓ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดยตรัสสอนว่า ให้อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติทางด้านจิตใจ คือด้านความรู้สึก ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน

การที่ให้ใจอยู่กับปัจจุบันนั้น ก็เพื่อให้เราอยู่กับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นไปอยู่ ซึ่งเป็นของจริง แล้วก็ไม่ทำจิตใจให้ขุ่นมัวเศร้าหมองไปกับสิ่งที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ อันนั้นเป็นด้านความรู้สึกในจิตใจ

แต่ในส่วนปัญญาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้หมดทุกกาล คือ ใช้อดีตโดยเอามาพิจารณา เพื่อเรียนรู้ว่าอะไรบกพร่อง อะไรหย่อนไป เหตุปัจจัยในอดีตเป็นอย่างไร แล้วก็วางแผนเตรียมการเพื่ออนาคต โดยจัดการป้องกันแก้ไข และสร้างสรรค์ปรับปรุงให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

ที่ว่ามานี้ เป็นหลักการอันสำคัญ ถ้าจับจุดไม่ได้ ก็อาจเข้าใจผิด แล้วก็ปฏิบัติผิด เมื่อปฏิบัติผิดก็กลายเป็นว่า คำสอนเรื่องอยู่กับปัจจุบัน ทำให้คนตกอยู่ในความประมาท

การตกอยู่ในความประมาทก็คือ เอาเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า อะไรยังไม่มาถึง ก็ไม่เอาใจใส่ อะไรข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน อยู่ไปวันหนึ่งๆ

ดังที่ได้มีผู้ที่พูดอย่างนี้ เช่น หนังสือฝรั่งและนักวิชาการไทยสมัยใหม่บางคนเขียนเป็นเอกสารว่า คนในภาคอีสานของไทยเรานี้ อยู่ไปวันหนึ่งๆ ไม่เอาใจใส่อนาคต ก็อยู่สบายดีเหมือนกัน มีความสุข ใจสบาย แต่ไม่คิดการณ์ข้างหน้าเลย

ฝรั่งและนักวิชาการไทยที่ว่านั้นบอกว่า ลักษณะนิสัยและการมีชีวิตแบบนี้ มีสาเหตุมาจากคำสอนในพุทธศาสนา แล้วก็เลยทำให้คนไทยไม่เจริญ ไม่รู้จักปรับปรุงแก้ไข ไม่พัฒนา

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็แสดงว่าคนไทยเรานำพระพุทธศาสนามาใช้ครึ่งๆ กลางๆ คือไม่ครบถ้วน ไม่ตรงหลัก

พระพุทธศาสนายากตรงนี้แหละ คือเป็นศาสนาที่ต้องใช้ปัญญา จึงเกิดความยากขึ้นว่า ทำอย่างไรจะให้ชาวพุทธได้ความเข้าใจที่ครบถ้วน และปฏิบัติได้ถูกต้อง เพราะปรากฏว่า ในเมืองไทย ในหมู่ชาวพุทธนี้ มีการปฏิบัติชนิดที่ได้ครึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้เยอะไปหมด

เรื่องการปฏิบัติต่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคตนี้ ก็เป็นอันให้รู้จักแยกแยะไดัชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาสอนเราให้ ใจอยู่กับปัจจุบัน แต่ให้ ปัญญาถึงทันทั่วทุกกาล ทะลุตลอดทั้งย้อนไปในอดีต และทะลวงโล่งไปในอนาคต

ที่ว่าใจอยู่กับปัจจุบัน คือใจนั้นเป็นเรื่องของจิตและความรู้สึก ด้านนี้ไม่ให้มัวโหยหาอดีตหวนละห้อยความหลัง และไม่ให้มัวฝันเพ้อละเมอไปในความหวังข้างหน้าเลื่อนลอยไปในอนาคต แต่ให้ใจนั้นอยู่กับความเป็นจริงที่จะต้องอยู่ต้องทำจริงๆ ในปัจจุบัน ส่วนปัญญาต้องรู้ย้อนอดีตเช่นสืบสาวเหตุปัจจัยได้ทั่วตลอด และหยั่งถึงอนาคตที่เหตุปัจจัยจะส่งทอดสืบต่อไป เพื่อจะได้จัดการกับปัจจุบันให้เกิดผลดีที่สุด

อาตมภาพเคยยกหลักธรรมข้ออื่นๆ มาพูดไปแล้ว เช่นเรื่อง อนิจจัง เราก็ปฏิบัติได้ครึ่งๆ กลางๆ โดยมากจะใช้อนิจจังสำหรับ “ปลง” คือปลงว่า อะไรต่ออะไรมันก็ไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องดับไป เจริญแล้ว มันก็ต้องเสื่อม เป็นธรรมดาของมัน เพราะฉะนั้นก็ต้องปล่อยไปตามธรรมดา ก็เลยไม่คิดแก้ไข ไม่ปรับปรุง ได้แต่ปลงอนิจจัง ก็สบายใจ มันก็มีความสุขดีเหมือนกัน แต่ไม่ได้แก้ไขอะไรให้ดีขึ้น

ที่จริง หลักอนิจจัง พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สองขั้น

ขั้นที่หนึ่ง คือ ให้รู้ความจริง จะได้ไม่เอาความปรารถนาของตัวไปดึงดันกับมัน ให้เกิดความทุกข์ แต่ให้รู้ด้วยปัญญาตามเหตุปัจจัยว่า สิ่งทั้งหลายเป็นธรรมดาอย่างนั้น มันไม่ขึ้นต่อความปรารถนาของเรา แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราต้องรู้ทัน อย่าไปทุกข์ร้อนกับมันมาก

ขั้นที่สอง ต่อจากนั้นท่านก็บอกว่า เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ เราจึงต้องจัดการตามเหตุปัจจัย เริ่มต้นเราก็ศึกษาเหตุปัจจัยให้รู้ว่า เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เสื่อม จะได้ป้องกันกำจัดแก้ไข เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เกิดความเจริญ เราเรียนรู้ศึกษาแล้ว จะได้เตรียมไว้ จะได้สร้างขึ้นมา

เมื่อปฏิบัติถูกต้อง ก็ได้สองขั้น คือ

หนึ่ง ก็ใจสบาย คลายทุกข์ได้ จิตใจไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง เป็นสุขง่าย

สอง ก็ทำการป้องกันภัยอันตรายความเสียหาย แก้ไขปัญหา และปรับปรุงพัฒนาได้สำเร็จด้วย

ข้อที่สำคัญยิ่งก็คือ อนิจจังนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เพื่อให้ไม่ประมาท เมื่อสอนทีไรพระพุทธเจ้าก็จะทรงเน้นว่า อนิจจัง รู้ว่าไม่เที่ยงแล้ว ก็อย่านอนใจนะ สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง แม้แต่ชีวิตของเรานี้ก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะฉะนั้น อย่านอนใจ ต้องรีบเร่งใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ อันนี้คือหลักไม่ประมาท

หลักไม่ประมาทนี้ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด และใช้เป็นเครื่องรักษาตัวไม่ให้ปฏิบัติผิดพลาดต่อธรรมได้มากมาย เพราะธรรมต่างๆ นั้น เวลาเข้าใจผิด และปฏิบัติผิด มักจะทำให้เกิดความประมาททันที

ถ้าปฏิบัติธรรมใดแล้ว เกิดความประมาท ก็แสดงว่าได้ปฏิบัติผิดพลาดไปแล้ว

ฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงเป็นหลักพระพุทธศาสนาข้อที่สำคัญอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสย้ำไว้มากมาย เช่นว่า

“ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย คนไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว”

อีกแห่งหนึ่งมีคำสอนว่า ความไม่ประมาทนี้เป็นหลักธรรมใหญ่ เหมือนรอยเท้าช้าง รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายที่อยู่บนบกนั้น ไม่มีรอยเท้าใดเกินรอยเท้าช้าง จับลงได้ในรอยเท้าช้างทุกชนิด ฉันใด ธรรมทุกข้อที่พระพุทธเจ้าตรัส ก็รวมลงในหลักความไม่ประมาท ฉันนั้น

หมายความว่า ธรรมเหล่านั้น จะเกิดผลเป็นประโยชน์ ก็ต่อเมื่อไม่ประมาท ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมนั้นจะดีอย่างไร ก็ไม่ได้ใช้ เมื่อไม่ได้ใช้ ก็ไม่มีประโยชน์เลย เหมือนนอนหลับอยู่ในคัมภีร์

ธรรมทุกข้อ ถ้ามีความประมาท ก็เหมือนนอนหลับอยู่ในคัมภีร์ มันดีอย่างไร ก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่ประมาทแล้ว เราก็ได้ใช้ธรรมทุกอย่าง เรารู้แค่ไหน ก็ได้ใช้หมดทุกอย่างแค่นั้น

ไม่ประมาทก็คือ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่นอนใจ กระตือรือร้น ขวนขวาย เร่งรัดจัดทำ

เรื่องนึกถึงอนิจจัง แล้วให้ไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสย้ำไว้ ถึงกับเป็นปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสครั้งสุดท้าย ในตอนที่จะปรินิพพานว่า

วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ

สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

พุทธดำรัสนี้แสดงชัดว่า เมื่อตรัสถึงความไม่เที่ยงแล้ว ก็ตรัสต่อด้วยความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น เพราะไม่เที่ยง จึงต้องไม่ประมาท

สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป ไม่อยู่นิ่ง ชีวิตเราก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเกี่ยวข้องก็ตาม ล้วนเปลี่ยนแปลงไปทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเวลาเคลื่อนคล้อยไป สิ่งทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลง จึงอย่านิ่งนอนใจ แต่จงเร่งขวนขวาย ทำเวลาให้เป็นประโยชน์ ให้มีค่ามากที่สุด

นี้คือหลักความไม่ประมาท ซึ่งใช้ได้กับทุกเรื่อง เรื่องอยู่กับปัจจุบันก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติต่อหลักธรรมเรื่องอยู่กับปัจจุบันแล้วทำให้เกิดความประมาท ก็แสดงว่าปฏิบัติผิดแล้ว เพราะถ้าปฏิบัติถูก จะต้องไม่ประมาท

ฉะนั้น จึงต้องเอาความไม่ประมาทมาใช้เป็นหลักในการวินิจฉัย จะได้ป้องกันความเสื่อมเสียหาย ความผิดพลาด ในการปฏิบัติธรรม

ถ้าปฏิบัติธรรมไม่ถูกหลัก ก็ไม่เป็นธัมมานุธัมมปฏิบัติ ธรรมนั้นไม่สอดคล้องกัน ไม่สัมพันธ์กันไปสู่จุดหมาย ภาษาโบราณพูดว่า ไม่ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม พอแปลอย่างนี้ก็เลยไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าอะไร ที่จริงก็คือ ปฏิบัติธรรมถูกหลัก สอดคล้องกัน เช่นรับช่วง ส่งต่อกัน เต็มระบบ ครบกระบวน ที่จะนำไปสู่จุดหมาย

เอาละ ไม่ต้องลงลึกไปในหลักมากมาย อย่างน้อย เอาแค่ คำพระที่สอนเตือนใจในชีวิตประจำวันนี่แหละ

ขอให้รู้เข้าใจอนุสาสนีว่าด้วยอนาคตภัยที่ยกมาให้ดู ต่อไปนี้ ก็จะปฏิบัติต่ออดีต ถึงปัจจุบัน ยันอนาคตได้ด้วยดี ดังพุทธคาถาที่ตรัสไว้ เมื่อทรงปรารภการต่อเรือทะเลลำใหญ่ของหัวหน้าช่างไม้บัณฑิต เพื่อเตรียมพร้อมในการหนีภัยน้ำทะเลที่คลื่นใหญ่จะซัดมากวาดล้างเกาะ ดังนี้

อนาคตํ ปฏิกยิราถ กิจฺจํ
มา มํ กิจฺจํ กิจฺจกาเล พฺยเธสิ

เตรียมกิจสำหรับอนาคตให้พร้อมไว้ก่อน อย่าให้กิจนั้นบีบคั้นตัวเมื่อถึงเวลาต้องทำเฉพาะหน้า

วันนี้ อาตมาพูดเรื่องหลักธรรมเกี่ยวกับการอยู่กับปัจจุบันมา ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติเพียงเท่านี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หลักการพัฒนาปัญญาบันทึกความเป็นมา >>

เชิงอรรถ

  1. พูดแก่โยมญาติมิตร หลังทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิ ภาคค่ำ วันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๗ พิมพ์เป็นเรื่องสุดท้าย ในหนังสือ กฐินสองที่สายใจธรรม ๑๓ พ.ย. ๒๕๓๗

No Comments

Comments are closed.