สร้างปัญญาทางไหนดี

3 ตุลาคม 2528
เป็นตอนที่ 7 จาก 12 ตอนของ

สร้างปัญญาทางไหนดี1

เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ ก็จะพูดเรื่องปัญญาต่อ แต่จะวกกลับมาในเนื้อหาที่เป็นหลักวิชา คืออาตมภาพได้พูดแล้วว่า ปัญญานั้นมีอยู่หลายอย่าง วิธีแบ่งปัญญาก็มีหลายวิธี คราวนี้จะแบ่งตามทางเกิดของปัญญา

เมื่อว่าตามทางเกิดของปัญญา ท่านแบ่งปัญญาเป็น ๓ ชนิด คือ

๑. จินตมยปัญญา หรือเรามักจะเรียกกันยาวๆ ว่า จินตามยปัญญา แปลว่า ปัญญาเกิดจากการคิด

๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง หรือการสดับเล่าเรียน

๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติ หรือลงมือทำ

รวมความว่าแหล่งเกิดปัญญาก็มี การคิด การสดับฟัง และการลงมือปฏิบัติ

ทีนี้ ปัญญาที่เกิดจากการคิดนั้น ท่านเรียงไว้เป็นอันดับที่ ๑ แต่ที่เราเอามาใช้ในเมืองไทย เรามักจะเรียงสุตมยปัญญาก่อน เพราะเราไปคิดในแง่ว่า น่าจะเริ่มต้นด้วยการสดับฟังคนอื่น สดับฟังแล้ว ก็เอามาคิด คิดแล้ว ก็ลงมือทำ

แต่ส่วนในพระบาลีนั้น ท่านเอาจินตมยปัญญาขึ้นก่อน ที่ท่านเริ่มอย่างนั้น ก็เพราะท่านมุ่งจะพูดถึงประเภทของคน คือคนบางพวก สามารถที่จะคิดหาเหตุผลเองแล้ว ก็เกิดปัญญามีความเข้าใจขึ้นมา ท่านบอกว่าคนประเภทนี้เป็นผู้ฉลาดมาก รู้จักคิดเองเป็นหรือรู้จักมนสิการ โดยเฉพาะก็ได้แก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้ด้วยตนเองได้

ท่านเหล่านี้รู้จักคิดหรือคิดเป็น ท่านเป็นผู้ค้นพบ มีความรู้ต่างๆ หลายอย่างโดยที่ท่านไม่ได้สดับเล่าเรียนเพราะยังไม่มีคนอื่นรู้เข้าใจมาก่อน ท่านคิดค้นพิจารณาจนมองเห็นชัดด้วยตนเอง ก็คือปัญญาตรัสรู้นี่แหละ ท่านรู้จักสังเกต พินิจ และรู้จักพิจารณา ก็ได้ปัญญา

อย่างคนบางคนไปอยู่ในที่สงบ ได้เห็นธรรมชาติแวดล้อมแล้ว เกิดความคิดพิจารณา เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องชีวิตของตน อันนี้ก็เป็นปัญญาที่เกิดจากการคิด เป็นการคิดขึ้นมาจากสิ่งที่ตนได้เห็น โดยไม่ต้องมีคนอื่นสอนหรือบอกเล่า

ดังเช่นว่า ไปอยู่ในที่สงัด มองเห็นใบไม้ร่วงหล่น ใบไม้นั้นเป็นสีเหลือง เป็นใบไม้แก่ ก็สะกิดใจ น้อมคำนึงถึงความจริงแล้ว ก็มองเห็นธรรมดาของชีวิต ทำให้เกิดปัญญารู้เท่าทันความเป็นไปของสังขาร อย่างที่เรียกว่า รู้ไตรลักษณ์ เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปัญญาที่เกิดจากการรู้จักคิดด้วยตนเองนี้ เรียกว่า จินตมยปัญญา

แต่คนส่วนมากไม่สามารถในการคิดเอง ต้องอาศัยผู้อื่น เช่น มีครูอบรมสั่งสอนแนะนำ หรือมีท่านผู้รู้ที่จะบอกกล่าวเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะก็คือบุคคลที่หวังดี ที่เรียกว่า กัลยาณมิตร

ความรู้ที่เกิดจากการสดับตรับฟังเล่าเรียนมาจากผู้อื่นนี้ เมื่อเขาแนะนำชี้แจงดีจนเกิดความเข้าใจขึ้นมา เห็นตามนั้น รู้เท่าถึงความเป็นจริง ก็เกิดเป็นปัญญาขึ้น อันนี้เรียกว่า สุตมยปัญญา

ข้อสุดท้ายคือภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติ หรือลงมือทำ

ตามตัวอักษร “ภาวนา” แปลว่าทำให้เจริญ หรือการทำให้เกิดให้มีขึ้น หมายถึงการลงมือปฏิบัติ เหมือนอย่างบางคนได้ฝึกปรือในการงานอาชีพบางอย่างมา ด้วยการลงมือทำเอง เช่น เป็นช่างเครื่องยนต์ ทำไปก็เรียนรู้และทำเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะสมความรู้ความชำนาญมากขึ้น จนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ได้เล่าเรียนในโรงเรียน

อีกตัวอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างเราได้ยินเรื่องวิธีปลูกต้นไม้ คนอื่นเล่าให้ฟัง หรือสอนให้ บอกให้ ก็ได้สุตะมา แต่ปัญญานั้นก็ยังไม่แจ่มแจ้ง ต่อมาเมื่อได้ลงมือปลูกด้วยตนเองจึงจะรู้ รู้ชัดเจน ประจักษ์แก่ตัวเอง เป็นปัญญาที่แน่นอน เพราะว่าได้ยินได้สดับมานั้น บางทีก็เอามาทำเองไม่ได้ เรียนรู้ตามที่เขาบอกว่า ปลูกต้นไม้ต้องทำอย่างนั้นๆ แต่พอมาทำเอง ปรากฏว่าปลูกไม่สำเร็จ ต้นไม้ไม่งอก ไม่ขึ้น ไม่งาม ก็ต้องมาหัดทำ

เพราะฉะนั้น วิธีเรียนวิธีการศึกษาอย่างหนึ่ง ก็คือ ให้ลงมือทำหรือทำด้วยตนเอง อย่างนี้ ถ้าทำสำเร็จ เรียกว่าเป็น ภาวนามยปัญญา

ในการปฏิบัติธรรมทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน ปัญญาที่เกิดจากภาวนา คือการลงมือปฏิบัติ จะทำให้เห็นประจักษ์ชัดแก่ตนเอง

ดังเช่น เรียนรู้สติปัฏฐาน ท่านบอกให้ว่า สติปัฏฐาน คือการตั้งสติ หรือมีสติกำหนดพิจารณารู้เท่าทันความเป็นจริงของสังขารทั้งหลาย ว่าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มี ๔ ข้อ คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และ ธัมมานุปัสสนา แต่ละอย่างเป็นอย่างนั้นๆ ทำอย่างนั้นๆ เราได้สดับมา แต่ไม่เคยปฏิบัติ ก็ไม่รู้ชัด ไม่เห็นผลจริง

ต่อเมื่อใดเอาไปลงมือปฏิบัติ ก็ได้เห็นประจักษ์แก่ตัวเอง และได้รับผลเป็นขั้นเป็นตอนไป ปัญญาที่เกิดด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา และโดยเฉพาะ ก็หมายถึงปัญญาที่เกิดจากการที่จิตเคยได้สมาธิแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ท่านกล่าวว่า สมาธินั้นเป็นบาทฐานของปัญญา เมื่อจิตใจสงบ ตั้งมั่น มีสมาธิดีแล้ว ก็พิจารณาจนเห็นความจริง ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

ตกลงว่าปัญญามี ๓ อย่าง แบ่งตามทางเกิด อย่างที่ได้กล่าวมานี้ ซึ่งสำหรับคนทั่วไป มักต้องใช้ให้สัมพันธ์กัน คือ

ตอนแรกก็ได้สดับเล่าเรียนจากผู้อื่น เพราะเราอาจจะยังไม่สามารถในการคิดได้โดยลำพัง ก็สดับตรับฟังจากท่านผู้รู้ ท่านผู้เป็นครูอาจารย์สั่งสอน

เมื่อสดับตรับฟังแล้ว ก็เอามาคิดมาพิจารณาสุตะ ก็เกิดเป็นจินตะ หรือเป็นจินตาขึ้น

เมื่อคิดพิจารณาแล้ว ก็ไม่ปล่อยให้เป็นเพียงความคิดอยู่ในสมอง แต่เอามาลงมือทำลงมือปฏิบัติด้วย ก็ได้เห็นผลประจักษ์จริงขึ้นมาเป็นลำดับ

เรียกว่า โดยทั่วไปแล้ว ก็ใช้ทั้ง ๓ อย่าง เป็นขั้นเป็นตอน

แต่บางที สำหรับผู้มีปัญญามาก พอได้สุตะ ก็เข้าใจที่สุตะนั้นทีเดียว หรืออย่างผู้มีจินตะ รู้จักคิด คิดเป็น ก็ได้ปัญญา รู้แจ่มแจ้งที่จินตะ และบางคนก็ได้ปัญญาต่อเมื่อมาทำภาวนา จึงจะรู้

เป็นอันว่า ทางเกิดของปัญญานี้ ทำให้เรารู้ลู่ทางในการที่จะสร้างสมเจริญปัญญาให้แก่ตนเอง ท่านแบ่งไว้เพื่อเป็นเครื่องกำหนดของพุทธศาสนิกชน ไม่ใช่เพียงแค่ให้เป็นความรู้เท่านั้น แต่เพื่อผลในทางปฏิบัติ ที่จะให้เกิดประโยชน์จริงจังด้วย

คำอธิบายตอนนี้ อาตมภาพนำมากล่าวเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาบารมี พอให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญญาในแง่ต่างๆ มากขึ้น

คิดว่า วันนี้กล่าวธรรมกถา เป็นความรู้เพิ่มเติมในเรื่องปัญญา ก็พอสมควรแก่เวลา ขออนุโมทนาโยมเท่านี้ เจริญพร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เด็กน้อยโพธิสัตว์ ฉลาดสร้างสรรค์หลักการพัฒนาปัญญา >>

เชิงอรรถ

  1. เล่าเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๘

No Comments

Comments are closed.