เด็กน้อยโพธิสัตว์ ฉลาดสร้างสรรค์

4 ตุลาคม 2528
เป็นตอนที่ 6 จาก 12 ตอนของ

เด็กน้อยโพธิสัตว์ ฉลาดสร้างสรรค์1

เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ ก็จะพูดในหัวข้อเรื่องปัญญาอีก และก็จะเป็นเรื่องแทรกแบบเบาๆ สมองอีกเหมือนกัน

ปัญญานี้เป็นพระบารมีอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก็จะต้องบำเพ็ญบารมี ซึ่งมีทั้งหมด ๑๐ ประการ และในบรรดาบารมี ๑๐ ประการนั้น ปัญญานี้ เป็นบารมีข้อที่ ๔ กล่าวคือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา สิบข้อด้วยกัน

ปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น ที่เป็นเรื่องเด่นก็คือสมัยที่เป็นมโหสถ และก็มีชาดกเรื่องหนึ่งชื่อว่า มโหสถชาดก อยู่ในทศชาติ หรือที่เราเรียกแบบภาษาชาวบ้านว่า พระเจ้า ๑๐ ชาติ มโหสถชาดกนี้เป็นชาดกที่ยาวมาก

วันนี้ อาตมภาพก็จะปรารภเรื่องมโหสถชาดก เอามาพูดสั้นๆ เป็นตัวอย่างประกอบเรื่องเกี่ยวกับการใช้ปัญญา เฉพาะเรื่องนี้เป็นปัญญาของพระโพธิสัตว์ในระหว่างบำเพ็ญบารมี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัญญานั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นในการที่จะบรรลุโพธิญาณ และเป็นคุณธรรมที่ค่อยๆ เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อยๆ สำหรับมโหสถชาดกนี้ ก็มีเรื่องเล่ามาว่า

ในอดีตกาลนานมาแล้ว มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งในชมพูทวีป พระนามว่า พระเจ้าวิเทหะ ครองแผ่นดินอยู่ที่เมืองมิถิลา พระเจ้าวิเทหะนี้ มีบัณฑิตเป็นที่ปรึกษาราชการ และเป็นผู้สั่งสอนขนบธรรมเนียมประเพณีในการบริหารกิจการแผ่นดินอยู่ ๔ ท่าน หัวหน้าของบัณฑิตทั้ง ๔ มีชื่อว่า เสนกะ

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหะบรรทมหลับไป และก็ได้ทรงพระสุบิน คือฝัน พระองค์ฝันไปว่า ที่พระลานหลวงของพระองค์นั้น มีกองไฟใหญ่ลุกโพลงอยู่ ๔ มุม และต่อมาก็มีแสงไฟเล็กๆ เหมือนกับแสงหิ่งห้อยเกิดขึ้นที่ตรงกลางพระลานนั้น

ท่ามกลางกองไฟทั้ง ๔ แสงไฟเล็กๆ นั้นค่อยๆ ลุกโพลงสว่างขึ้นๆ เรื่อยๆ จนในที่สุดก็สว่างเกินกว่ากองไฟทั้ง ๔ นั้น และสว่างขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งว่าโพลงจ้าไปหมดทั่วทั้งฟ้าและแผ่นดิน แล้วพระองค์ก็ตื่นบรรทมขึ้นมา

เมื่อตื่นบรรทมแล้ว ก็ทรงวิตกกังวลว่า เอ! ที่เราฝันนั้น มันฝันร้ายหรือฝันดี เพราะว่าฝันเป็นไฟเสียด้วย ไฟลุกมาก ก็ไม่สบายพระทัย ต่อจากนั้นก็บรรทมไม่หลับ รอเวลาจนกระทั่งว่าบัณฑิตทั้ง ๔ คนมาเฝ้า บัณฑิตก็ทูลถามว่า พระองค์บรรทมหลับสบายดีหรือ พระเจ้าอยู่หัวก็ตรัสว่า จะสบายได้อย่างไรล่ะ ฝันเรื่องสำคัญขึ้นมา ไม่รู้ว่ามันจะร้ายหรือดี ก็เลยตรัสเล่าเรื่องที่ทรงฝันให้ฟัง

บัณฑิตทั้ง ๔ คนก็ทูลทำนายฝันว่า ที่พระองค์ฝันนั้นเป็นฝันดี มีความหมายว่า จะมีผู้มีปัญญายิ่งใหญ่เกิดขึ้น กองไฟใหญ่ทั้ง ๔ กองที่มุมพระลานหลวงนั้น ก็คือ ข้าพระองค์ทั้ง ๔ นี่แหละ แต่จะมีคนดีเกิดขึ้น คงจะเกิดขึ้นในวันนี้ ในวันที่พระองค์ฝันนี่แหละ แล้วคนมีปัญญาคนนั้นก็จะมีความยิ่งใหญ่ล้ำกว่าข้าพระองค์ทั้ง ๔ นี้มากมาย

พระเจ้าแผ่นดินก็ดีพระทัย ทรงจับเอาเป็นข้อสังเกตไว้ และรอกาลเวลา

ทีนี้ กล่าวถึงเหตุการณ์ทางด้านความเป็นจริง ที่ใกล้ประตูเมืองด้านทิศตะวันออก มีหมู่บ้านหมู่หนึ่ง ที่หมู่บ้านนั้นมีเศรษฐีท่านหนึ่ง ชื่อว่า สิริวัฑฒกะ

ในเวลานั้น ก็พอดีที่บ้านของท่านเศรษฐีนี้ ภรรยาได้ตั้งครรภ์ขึ้น และต่อมาก็ได้คลอดบุตร และเมื่อคลอดบุตรคนนี้ ตามตำนานบอกว่า พระอินทร์มีความดีใจ ต้องการประกาศความยิ่งใหญ่ของเด็กคนนี้ ที่เกิดมาจะมีปัญญามาก ก็ได้เหาะเอาขวดยามาใส่มือเด็กคนนี้ เมื่อตอนที่เกิดใหม่ๆ เลยกลายเป็นว่าเด็กคนนี้เกิดมาก็มีขวดยาติดมาด้วย

เศรษฐีอาศัยนิมิตที่ว่าเด็กนี้มียาติดมาด้วย ก็ตั้งชื่อว่าโอสถ แต่เติมคำว่ามหาเข้าไปด้วยก็เป็น มหาโอสถ รวมกันเป็น มโหสถ มโหสถก็แปลว่ายาขนานใหญ่ หรือยาที่มีคุณเป็นอันมาก มีประโยชน์มาก

เด็กชายมโหสถนี้เติบโตขึ้นมา จนกระทั่งอายุได้ ๗ ขวบ มีเพื่อนเล่นมากมาย มีความสามารถ มีสติปัญญาสูง

คราวหนึ่ง ท่านเศรษฐีเกิดความคิดว่า ที่เด็กๆ มาเล่นกันนี้ ถ้ามีศาลาหลังหนึ่งไว้ก็จะดี ก็ให้ช่างมาสร้าง เมื่อช่างกำลังสร้างอยู่นั้น เด็กคนนี้มีสติปัญญามาก เห็นช่างสร้าง ก็รู้ดีกว่าช่างที่สร้าง กลับไปสอนช่างว่าที่ท่านทำอย่างนั้น ถ้าทำอย่างโน้น จะดีกว่า ก็แนะนำช่าง เมื่อช่างทำตามก็ได้ผลดี และการสร้างศาลาก็ดำเนินต่อมาจนเสร็จ

ศาลาหลังนี้ เป็นศาลาใหญ่ มีที่พักคนเดินทาง และมีที่สงเคราะห์ในด้านการรักษาพยาบาลเป็นต้นด้วย พร้อมทั้งขุดสระโบกขรณีอะไรต่างๆ ให้เป็นที่ที่รื่นรมย์ ก็คงจะคล้ายๆ เป็นศาลาในปาร์ค หรือในอุทยาน และเพราะเหตุที่เป็นเด็กมีปัญญามาก มีคนเชื่อถือมาก มีเรื่องอะไรก็มาปรึกษา เด็กชายมโหสถก็เลยกลายเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ที่คนไปมาที่ศาลานี้เอามาปรึกษาความด้วย โดยใช้ศาลานี้เป็นศูนย์กลาง เป็นที่พักผ่อนและคล้ายๆ เป็นที่ทำงานไปด้วย

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดิน คือ พระเจ้าวิเทหะนั้น เมื่อเวลาผ่านมาได้ ๗ ปีแล้ว ก็ทรงหวนระลึกถึงความหลังครั้งที่ได้ทรงพระสุบิน ก็ทรงพระดำริว่าน่าจะหาตัวเด็กคนนี้ได้แล้ว ถ้าเป็นคนมีปัญญาก็คงจะมีอะไรแสดงออกมา เพราะเมื่ออายุเด็กถึง ๗ ขวบ จะสามารถแสดงลักษณะพิเศษของตนออกมาได้ ก็จึงส่งอำมาตย์ออกไปลองหาดู ไปค้นหาดูตัวเด็กชายที่มีสติปัญญามาก ว่าอยู่ที่ไหน อำมาตย์ก็แยกย้ายกันออกไปในทิศทางต่างๆ

ในบรรดาอำมาตย์ที่ออกไปสืบค้นเหล่านั้น ก็มีคนหนึ่งมาทางด้านนี้ และได้มาถึงที่ศาลานี่ แล้วก็ได้เข้ามาพัก เมื่อเห็นสถานที่นั้นดีมาก ก็ถามคนแถวนั้นว่า ศาลานี้ใครสร้าง คนแถวนั้นก็เล่าให้ฟังถึงความอัศจรรย์ของเด็กชาย ๗ ขวบนี้ ที่เป็นผู้อำนวยการสร้างศาลา

อำมาตย์คนนั้นก็เลยมีความมั่นใจว่าคงจะต้องเป็นเด็กคนนี้ ก็ถามว่า เขาเกิดเมื่อไร สืบได้ความว่า เกิดเมื่อ ๗ ปีมาแล้ว วันเวลาก็ตรงกัน ก็เลยยิ่งมั่นใจใหญ่ว่าคงจะใช่แน่ๆ

จากนั้น ท่านอำมาตย์จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ว่าเด็กคนนี้ ที่เป็นลูกชายของสิริวัฑฒกเศรษฐีนั้น เป็นคนมีปัญญามาก และอายุก็พอดี ๗ ขวบ ได้แสดงความสามารถให้ปรากฏในการสร้างศาลาหลังใหญ่ ซึ่งมีสถานที่ใช้งานเป็นประโยชน์ และมีสิ่งประกอบที่สวยงามรื่นรมย์

พระเจ้าแผ่นดินรับฟังคำกราบทูลรายงานแล้ว ก็ทรงปรึกษากับอำมาตย์บัณฑิตทั้ง ๔ นั้น

ตอนนี้ บัณฑิตทั้ง ๔ ชักจะเกิดความริษยา ชักจะไม่พอใจเพราะไม่อยากให้ใครมาล้ำหน้ากว่าตน ก็เลยกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า “อ๋อ ศาลาแค่นี้ใครๆ ก็สร้างได้ ไม่เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นบัณฑิตหรอก เพราะฉะนั้นควรจะให้รอไว้ก่อน”

พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงตกลงว่าจะรอดูต่อไป จึงทรงส่งอำมาตย์กลับไปว่า “เอ้า ไปสังเกตดูซิ คอยติดตามพฤติกรรมของเด็กคนนี้ต่อไปว่าจะแสดงความสามารถอย่างไรอีก”

เรื่องราวต่อจากนั้นมา ก็เป็นคำเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ ซึ่งแสดงถึงการใช้สติปัญญาความสามารถของมโหสถนี้ มากมายหลายอย่าง อาตมภาพจะยกมาเล่าเป็นตัวอย่าง เช่นเรื่องหนึ่งว่า

ไล่เหยี่ยวบนฟ้า ก้มหน้ามองดิน

วันหนึ่ง เหยี่ยวตัวหนึ่งบินลงไปเฉี่ยวเอาชิ้นเนื้อที่เขียงของคนขายเนื้อ แล้วก็บินไปในอากาศ พวกเด็กๆ ทั้งหลายในบ้านนอกนี่ชอบไล่นก พอเห็นเหยี่ยวบินคาบเนื้อไป ก็พากันวิ่งไล่ เด็กเหล่านั้นวิ่งตามไป ตาก็มองดูเหยี่ยวบนอากาศ วิ่งไปก็สะดุดตอไม้บ้าง พลัดลงหลุมบ้าง หกล้มหกลุก เจ็บช้ำไปตามๆ กัน

ฝ่ายเด็กชายมโหสถไม่ทำอย่างนั้น ขาวิ่งตามเหยี่ยว แต่หน้าก้มตามองที่แผ่นดิน คือมองดูตามเงาเหยี่ยว ไม่ต้องดูฟ้าเลย วิ่งตามเงาไปเรื่อย พอทันเงา เท้าเหยียบทันเงา ก็เอามือปรบเสียงดังพร้อมกับร้องตะโกน เพื่อให้เหยี่ยวปล่อยเหยื่อ เหยี่ยวนั้นได้ยินเสียงดังตกใจก็ปล่อยชิ้นเนื้อลงมา เด็กชายมโหสถก็เอามือรับทันด้วย ประชาชนที่ได้มาเห็นเหตุการณ์ก็พากันโห่ร้องปรบมือให้ แสดงความชื่นชมยินดี นี้ก็เป็นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่แสดงถึงความมีสติปัญญาของมโหสถ

ใครเป็นเจ้าของวัว? ช่วยตัดสินทีเถอะ

อีกตัวอย่างหนึ่ง วันหนึ่งเจ้าของวัวรายหนึ่ง นำวัวออกไปไถนา ทำงานเหนื่อยแล้วก็ไปนั่งใต้ต้นไม้ และเพราะความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ก็เลยหลับไป

คราวนั้น พอดีมีโจรมากัน ๒ คน เห็นเจ้าของวัวหลับอยู่ ได้โอกาส ก็เลยจูงเอาวัวนั้นไป ฝ่ายเจ้าของวัวตื่นขึ้นมา เห็นเข้า ก็รีบวิ่งติดตามไป พอทันก็เข้าแย่งวัว ฝ่ายโจรก็บอกว่า “เฮ้ย! วัวของข้าฯ แกจะมาเอาไปยังไง” ทางนี้ก็บอกว่า “วัวของฉัน ฉันนอนหลับ ผูกไว้ แกเอาไป” ก็เถียงกันอยู่อย่างนี้ตกลงกันไม่ได้ จนกระทั่งมาเจอเด็กชายมโหสถนี้ ซึ่งมีชื่อเสียงร่ำลือ เด็กชายมโหสถ ก็เลยรับอาสาตัดสินให้

เด็กชายมโหสถก็ถามทั้งสองฝ่าย ถามฝ่ายโจรก่อนว่า “เออนี่ ท่านเอาอะไรให้วัวกิน?” ฝ่ายโจรก็บอกว่า “ข้าพเจ้าเอางาเอาขนม (ขนมอินเดียเขาเรียกว่า กุมมาส) ให้มันกิน”

นี่คือ โจรคิดในใจว่าจะต้องบอกชื่ออาหารที่ดีที่สุด โดยกะว่า ต้องพูดให้เห็นว่าได้เลี้ยงวัวอย่างดีสมกับที่เป็นเจ้าของ

จากนั้นมโหสถก็หันมาถามเจ้าของวัวที่แท้บ้างว่า “เอ! ท่านล่ะ ท่านเอาอะไรให้วัวของท่านกิน” เจ้าของวัวก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนจนจะมีอาหารดีๆ อย่างนั้นที่ไหน ข้าพเจ้าเอาหญ้าให้มันกิน”

เด็กชายมโหสถก็ให้คนของตนเอง ไปเอาใบประยงค์มา (ต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อประยงค์) แล้วก็เอามาตำโขลกเข้า ขยำกับน้ำให้วัวกิน วัวกินใบไม้ชนิดนี้แล้วจะอาเจียน ดังนั้น เมื่อวัวตัวนี้กินใบประยงค์เข้าไปแล้ว ก็อาเจียนออกมาเป็นหญ้า

เด็กชายมโหสถก็ให้ประชาชนตัดสินเอง ว่าใครเป็นเจ้าของวัวที่แท้จริง ก็เป็นอันได้ความชัดเจน ประชาชนก็ตัดสินได้ถูกต้อง โดยดูจากประจักษ์พยานที่ปรากฏนั้น เจ้าของวัวเดิมก็ได้วัวกลับคืนไป และเด็กชายมโหสถก็ได้สั่งสอนโจรว่า ให้ตั้งตนเป็นคนดี ให้กลับตัวเสีย นี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

คนไหนนางยักษ์ คนไหนเป็นแม่

ตัวอย่างต่อไปก็เรื่องแย่งลูกกัน แม่คนหนึ่ง พาลูกของตัวไปที่สระน้ำ สระน้ำอย่างดีสมัยก่อนเขาเรียกว่าสระโบกขรณี พอพาไปถึง ก็เอาลูกลงอาบน้ำ เสร็จแล้วก็เอาผ้าปูให้ลูกของตัวนั่ง ลูกยังตัวเล็กๆ ยังกินนมอยู่ เสร็จแล้วตัวเองก็ลงไปล้างหน้า

ทีนี้ นางยักษิณีตนหนึ่ง อยากจะกินเด็ก ก็แปลงตัวเป็นผู้หญิงเข้ามาใกล้ๆ แล้วทำท่าทำทางแสดงว่าเป็นคนมีความเมตตากรุณา รักเด็ก

นางยักษิณีแปลงนั้นเดินเข้ามาถามแม่เด็กว่า “เออนี่ ลูกของคุณใช่ไหม?” แม่เด็กก็บอกว่า “ใช่” นางยักษิณีก็ว่า “แหม น่ารักจังเลยนะ ขออุ้มสักหน่อย” ทางนี้ก็ให้อุ้ม พออุ้มได้ก็เล่นกับเด็กไป สักครู่หนึ่งแล้วก็พาหนี

พอนางยักษิณีแปลงพาเด็กหนี แม่เด็กก็ตกใจวิ่งไล่ตาม วิ่งไล่ทันแล้วก็ไปยื้อยุดฉุดแย่งกัน ฝ่ายนางยักษิณีก็บอกว่า นี่ลูกของฉัน ฝ่ายแม่ก็บอกว่า ลูกของฉัน ต่างคนต่างแย่ง ไม่รู้ว่าลูกของใครแน่ เรื่องก็ไปถึงเด็กชายมโหสถอีกตามเคย

เด็กชายมโหสถ ก็เลยช่วยตัดสิน แต่ขอความยินยอมก่อนว่า “เอานะ ถ้าท่านยอมรับ ข้าพเจ้าจะตัดสินให้” เขาก็ยอมรับ

เด็กชายมโหสถก็ขีดเส้นลงที่พื้นดินเส้นหนึ่ง แล้วก็เอาเด็กวางที่ตรงกลางเส้นนั้นบอกว่า “เอ้า! ท่านทั้งสองดึงกัน ใครดึงชนะก็เป็นแม่” ก็ให้แม่จับทางเท้า และนางยักษิณีแปลงจับทางมือ สองฝ่ายก็ฉุดกัน

นางยักษิณีนั้นไม่คิดถึงอะไรทั้งสิ้น ฉุดอย่างเต็มที่เลย เพราะว่าต้องการจะเอาไปกิน พอฉุดกันแรงๆ เด็กมีความเจ็บปวด ก็ร้องไห้จ้าขึ้น พอเด็กร้องไห้จ้าขึ้นมา ฝ่ายแม่นั้นมีจิตใจอ่อนโยน มีความรักลูกมาก ก็หัวใจแทบจะแตก ก็ทนไม่ไหว ต้องปล่อย ปล่อยแล้ว ก็ยืนร้องไห้

พอแม่ปล่อย ยืนร้องไห้ เด็กชายมโหสถก็บอกว่าหยุดได้แล้ว พอได้ยินดังนี้ นางยักษิณีก็จะเอาเด็กไป เพราะถือว่าตัวชนะแล้ว มโหสถก็บอกว่าหยุดก่อนๆ เดี๋ยวๆ ตัดสินเรื่องให้เสร็จเสียก่อน

แล้วมโหสถก็ถามประชาชนว่า “ท่านทั้งหลาย ธรรมดาจิตใจของผู้หญิง คนไหนจะใจอ่อนต่อลูกมากกว่ากัน แม่หรือว่าคนอื่น” ประชาชนก็บอกว่า “แม่สิ แม่ก็ย่อมรักลูกมาก”

มโหสถก็บอกว่า “นี่แสดงว่า คนที่ยอมปล่อยนี่เป็นแม่ เพราะว่ามีความรักลูกมาก ถึงแม้ว่าอยากจะได้ลูกก็จริง แต่กลัวลูกจะตาย กลัวลูกจะเจ็บ ก็ต้องปล่อย ทนไม่ไหวที่จะให้ลูกเจ็บปวด”

ในที่สุด เมื่อถามซักไปมา นางยักษิณีก็ยอมรับว่า ตนเองเป็นฝ่ายมาลักลูกเขาไป เรื่องก็ยุติลงด้วยดี

ทั้งท่อนเหมือนกัน ข้างไหนโคน ข้างไหนปลาย

ต่อมาก็มีเรื่องอื่นอีก อาตมภาพจะเล่าอีกสักเรื่องสองเรื่อง คราวนี้ พระเจ้าแผ่นดินต้องการจะทดสอบด้วยพระองค์เองว่า เด็กชายมโหสถนี่จะมีปัญญาจริงหรือไม่ ไม่เอาเรื่องที่เขาเล่า

พระองค์ได้ไม้ตะเคียนมาท่อนหนึ่ง ก็ให้เขากลึงอย่างดีเหลือแต่ข้างใน มองดูต้นปลายไม่ออก ทำเป็นท่อนยาวๆ สักหน่อย แล้วก็ส่งไปที่หมู่บ้านนี้ ส่งไปให้คนทั้งหมู่บ้านเลย บอกว่า ไม้ท่อนนี้พระเจ้าแผ่นดินส่งมา ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งหมดนี่ บอกพระองค์ให้ได้ว่า ทางไหนเป็นโคน ทางไหนเป็นปลาย ถ้าไม่มีใครบอกได้ จะปรับชาวบ้านนี้รวมกันทั้งหมดพันเหรียญ

ชาวบ้านก็มาประชุมกันหาวิธีว่า เอ! ทำอย่างไรจะบอกได้ว่าท่อนไม้ท่อนนี้ ซึ่งกลึงเรียบร้อยแล้ว ข้างไหนเป็นท่อนหัว ท่อนหาง ท่อนโคน ท่อนปลาย ก็บอกไม่ได้สักคน

เรื่องก็เข้ามาถึงมโหสถอีก มโหสถก็ให้ไปเอาเชือกมา ได้เชือกมาแล้วก็ผูกตรงกลางท่อนไม้ ผูกเสร็จก็เอาหย่อนลงน้ำ พอหย่อนลงน้ำ ท่อนโคนก็จมน้ำ ท่อนปลายก็กระดกขึ้น มโหสถก็ถามชาวบ้านว่า ธรรมดาท่อนไม้นี่ท่อนโคนหรือท่อนปลายหนักกว่ากัน ประชาชนก็บอกว่า ท่อนโคนต้องหนักกว่า ท่อนปลายก็เบากว่า

มโหสถก็บอกว่า นี่ท่านเห็นไหม ท่านบอกได้หรือยังว่าทางไหนเป็นโคน ทางไหนเป็นปลาย ประชาชนก็บอกว่า ได้ ที่จมน้ำก็เป็นท่อนโคน ท่อนที่โผล่ขึ้นมาก็เป็นท่อนปลาย เสร็จแล้วก็ส่งเรื่องกลับไปให้พระเจ้าแผ่นดินๆ ก็พอพระทัย

ในระหว่างนี้ พระเจ้าแผ่นดินพอพระทัยหลายหนแล้ว และพยายามจะให้เอามโหสถเข้ามาในวัง แต่ก็ถูกเสนกบัณฑิตเป็นต้น คัดค้านทุกทีด้วยความริษยา บอกว่า “เอ้ย! ยังหรอก แค่นี้ยังไม่แสดงว่าเป็นบัณฑิต” ก็ค้านกันเรื่อยมา จนกระทั่งคราวนี้ พระเจ้าแผ่นดินก็พยายามที่จะเอาเข้ามาให้ได้

ในที่สุด พวกบัณฑิต ๔ คนนั้นคัดค้านไม่สำเร็จ พระเจ้าแผ่นดินก็เอาเข้ามาในวังจนได้ เมื่อเข้ามาในวังแล้วก็เพียงแต่ให้อยู่ เหมือนกับรับให้เป็นลูก ยังไม่ได้รับราชการโดยตรง เพราะยังจะต้องปรึกษาให้ได้รับความเห็นชอบจากบัณฑิตเหล่านี้

ในสระน้ำก็เห็น ในถังน้ำก็มี แก้วมณีอยู่ไหนแน่?

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ตอนที่มาอยู่ในวังแล้ว คราวหนึ่งมีคนไปเห็นแก้วมณีอยู่ในกลางสระในพระราชวัง สุกปลั่งรัศมีงดงาม พระเจ้าแผ่นดินก็ตรัสว่า “เอ้า! ถ้าใครสามารถเอาแก้วมณีนี้ขึ้นมาได้ จะให้รางวัล” แล้วก็ทรงปรึกษากับบัณฑิต

บัณฑิตทั้ง ๔ ก็ให้คนมาช่วยกันวิดน้ำออกจากสระจนกระทั่งแห้ง ถึงโคลนถึงตมก็ยังไม่ได้แก้วมณี และไม่พบด้วย แต่พอน้ำกลับเข้ามาก็มองเห็นแก้วมณีเหมือนเดิมอีก วิดไปก็ไม่ปรากฏ ก็เลยไม่สำเร็จ

พอเรื่องถึงมโหสถ มโหสถมาเห็นก็บอกว่า แก้วมณีนี้ไม่ได้อยู่ในกลางสระ แต่อยู่ข้างบน อยู่บนยอดไม้

พระเจ้าแผ่นดินถามว่า เธอรู้ได้อย่างไร มโหสถก็ให้คนไปเอาภาชนะมาอันหนึ่งแล้วใส่น้ำ แล้วก็ถวายให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตร กราบทูลว่าในภาชนะนี้ก็มีแก้วมณีเหมือนกันใช่ไหม ไม่ใช่มีเฉพาะในสระเท่านั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงเห็น ก็ยอมรับ

แล้วมโหสถก็บอกว่านี่ แก้วมณีมันไม่ได้อยู่ในน้ำหรอก แต่มันอยู่บนยอดไม้ข้างบนโน่น เมื่อค้นต้นไม้ข้างบน ก็ได้พบแก้วมณีอยู่บนต้นตาล ที่ยอดตาลโน่น อยู่ในรังกา เข้าใจว่ากาคงจะไปคาบอะไรมา แล้วแก้วมณีติดมาด้วย

เมื่อเห็นปัญญาของมโหสถครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุด บัณฑิตทั้ง ๔ คนนั้นก็คัดค้านไว้ไม่ไหว มโหสถก็ได้เข้ารับราชการ และต่อจากนั้นก็ได้ช่วยในการแผ่นดินต่างๆ รวมทั้งช่วยในการสงครามด้วยสติปัญญาเป็นอันมาก

อาตมภาพยกเรื่องนี้มาเล่าเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงถึงการใช้สติปัญญา ที่ช่วยเหลือทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทำให้เขาพ้นความเดือดร้อนต่างๆ ซึ่งเป็นปฏิปทาอย่างหนึ่งของพระโพธิสัตว์ คือเป็นผู้มีปัญญา แต่ใช้ปัญญาในทางที่ดีงาม ไม่ได้ใช้ในทางเสียหาย

ไม่เหมือนอย่างเรื่องนายยอดบัณฑิตหรือนายยอดฉลาด ที่ใช้ปัญญาในการที่จะโกงคนอื่น แต่นี่เป็นการใช้ปัญญาในทางที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ เป็นการบำเพ็ญบารมี

ขอให้สังเกตว่า การใช้ปัญญาของคนทั่วไปนั้น แม้จะใช้ในทางที่ดี ก็มักอยู่เพียงในขั้นของการทำกิจธุระหรือแก้ปัญหาส่วนตัว บางทีก็เป็นการหักล้างหรือชิงไหวชิงพริบกัน เพื่อช่วยให้ตนเองหลุดรอดชีวิตพ้นจากภัย ยังอยู่ในโลกแห่งการเบียดเบียน ดังจะเห็นได้จากเรื่องต่างๆ ที่ได้เล่ามาแล้ว

แต่พระโพธิสัตว์ และท่านผู้ดำเนินตามวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ มุ่งใช้ปัญญาในทางที่บริสุทธิ์ ช่วยให้ชีวิตเจริญงอกงามโดยธรรม และใช้ปัญญานั้นในการช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประสบทุกข์โดยทั่วไป สร้างสรรค์ประโยชน์ เพียรพยายามแก้ไขให้โลกแห่งการเบียดเบียนนั้น เปลี่ยนไปเป็นโลกแห่งความเป็นสุขร่มเย็น

อย่างไรก็ดี เรื่องที่เล่ามานี้ยังเป็นเพียงส่วนที่แสดงให้เห็นปัญญาของมโหสถ เมื่อครั้งยังเป็นเด็กอยู่ ส่วนตอนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว คือตอนที่รับราชการได้ทำประโยชน์อย่างไรบ้างนั้น เป็นเรื่องยืดยาว จะไม่นำมาเล่าในที่นี้

ปัญญามีคุณประโยชน์อย่างที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงควรสั่งสมเจริญปัญญา ดำเนินตามพุทธปฏิปทา

การที่จะเจริญปัญญานั้น ก็เหมือนกับที่อาตมภาพจะได้กล่าวต่อไป ถึงทางเกิดของปัญญา ๓ ทาง คือ

สุตะ การสดับตรับฟัง เล่าเรียน อ่าน

จินตะ การคิด การใช้ความคิดพินิจพิจารณา แล้วก็

ภาวนา การลงมือทำ หรือปฏิบัติ

อาจจะใช้ ๓ อย่างนี้มาร่วมกัน คือฟัง เล่าเรียน อ่านให้มากด้วย แล้วก็ใช้ความคิด โดยรู้จักคิดให้ถูกวิธี และก็ลงมือนำมาใช้นำมาปฏิบัติ เพื่อให้เห็นด้วยตนเองว่า มันจะเกิดผลจริงจังอย่างไร สติปัญญาก็จะเจริญยิ่งขึ้นไปตามลำดับ

อาตมภาพคิดว่า สำหรับวันนี้ เล่าเรื่องมาก็มาก พอสมควรแก่เวลา ขออนุโมทนาโยมเพียงเท่านี้ เจริญพร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญญาทันเกม ต้องให้ทันกาลสร้างปัญญาทางไหนดี >>

เชิงอรรถ

  1. เล่าเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๒๘

No Comments

Comments are closed.