– ๑ – จิตใจของนักวิชาการ

23 กันยายน 2539
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

ความใฝ่รู้คือรุ่งอรุณของการพัฒนาปัญญา

อย่างไรก็ดี ลึกลงไปศรัทธายังต้องอาศัยคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง ทำไมไอน์สไตน์จึงต้องก้าวมาสู่การมีความเชื่อมั่นในความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ และศรัทธาในศักยภาพของตัวเอง โดยเชื่อมั่นว่าตนจะเข้าถึงความจริงนั้นได้ ก่อนที่จะมาถึงขั้นศรัทธานั้น เขามีอะไร ตอบว่าเขามีความอยากรู้ในความจริง เมื่อเขามีความอยากรู้แล้วศรัทธาจึงมาเสริมมาช่วย เมื่ออยากรู้ หรือใฝ่รู้แล้ว จึงต่อมาสู่ขั้นที่เชื่อว่าจะสามารถรู้ได้ ความอยากรู้หรือใฝ่รู้นี้ไม่ใช่อยากรู้เฉยๆ แต่อยากรู้ให้ถึงความจริงแท้ของสิ่งนั้นๆ อยากรู้ความจริงว่ามันเป็นอะไรแน่

ความอยากรู้ความจริง อยากเข้าถึงความจริงนี่แหละที่สำคัญอย่างยิ่ง นักวิทยาศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติข้อนี้ก่อน คืออยากรู้ความจริงของธรรมชาติ แล้วศรัทธาก็มาช่วยเสริมว่ามีนะความจริง มีนะกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ศรัทธามีความเชื่อมั่นในความจริงนั้น และเชื่อว่าเรามีศักยภาพที่จะพัฒนาให้รู้ความจริงนั้นได้ แต่ความอยากรู้ที่เป็นแรงในตัวเองต้องมีก่อน ความอยากรู้นี้เป็นพลังขึ้นมาข้างใน ส่วนศรัทธาเป็นเครื่องเชื่อมตัวเรากับสิ่งที่ต้องการรู้ข้างนอก

ความอยากรู้ความจริง หรืออยากเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ นี้ ถ้ามีกำลังแรงก็จะถึงขั้นที่ทำให้บอกว่า ฉันจะต้องรู้ความจริงของสิ่งนั้นๆ ให้ได้ ถ้าไม่รู้ถึงความจริงจะไม่ยอมหยุด ต้องขนาดนี้ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ต้องมีคุณสมบัตินี้ในใจ คือมีความปรารถนา ความอยาก ความใฝ่รู้ต่อความจริงอย่างแรงกล้า (อย่าทิ้ง “ใฝ่รู้” ไว้ลอยๆ)

ใฝ่รู้ความจริงคือ ปรารถนาจะเข้าถึงความจริงให้ได้ ถ้าไม่ถึงความจริงจะไม่ยอมหยุด พอมีความใฝ่รู้แล้ว ศรัทธาก็มาช่วย คือเชื่อมั่นว่าในสิ่งที่ต้องการรู้นั้นมีความจริง มีกฎเกณฑ์ที่รู้ได้ และตัวเองก็มีความสามารถที่จะรู้ ก็จึงค้นคว้าไป อย่างที่ไอน์สไตน์มุ่งหน้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ตัวความใฝ่รู้ หรืออยากจะรู้นี้ เรียกว่า ฉันทะ เราไม่ค่อยเห็นศัพท์นี้ ฉันทะเป็นศัพท์ที่ค่อนข้างจะหายไป หรือถูกมองข้าม ฉันทะนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ในพระพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดี ฉันทะนี้มาเมื่อไร ชีวิตที่ดีเริ่มต้นเมื่อนั้น ถ้ามีฉันทะก็มั่นใจได้เลยว่าชีวิตที่ดีงามจะมา หรือถึงรุ่งอรุณของการศึกษา

ฉันทะ คือความใฝ่รู้ อยากจะรู้ความจริง อยากเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ ฉันทะนี้เป็นตัวริเริ่ม เป็นจุดตั้งต้น หรือเป็นพลังเริ่มแรกที่ผุดขึ้นภายใน แล้วจึงอาศัยศรัทธามาโยงออกไปหาสิ่งที่ต้องการ ศรัทธามาเป็นพลังหนุนหรือผลักดันปัญญา ช่วยให้เดินหน้าไป แต่เราต้องมีฉันทะนี่มาเป็นตัวเริ่มงาน เพราะฉะนั้นไอน์สไตน์จึงไม่ได้พูดแค่ว่าศรัทธาหรือความเชื่อ แต่พูดต่อไปถึงความใฝ่รู้ เขาบอกว่าวิทยาศาสตร์จะได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ก็โดยบุคคลที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ปรารถนาต่อสัจธรรมและต่อปัญญาที่เข้าใจความจริง อันนี้คือ ฉันทะ ตัวนี้สำคัญที่สุด เป็นฐานก่อนศรัทธา เมื่อพูดมาถึงฉันทะ จึงครบที่ไอน์สไตน์พูด

อาตมาจะขออ่านให้หมดอีกทีหนึ่ง ให้เห็นทั้ง ฉันทะ และทั้ง ศรัทธา ตามที่ไอน์สไตน์พูดไว้ว่า

“วิทยาศาสตร์นั้นจะรังสรรค์ขึ้นมาได้ ก็จำเพาะแต่โดยบุคคลที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ปรารถนา (aspiration) ต่อสัจธรรมและต่อปัญญาที่เข้าใจถึงความจริง อย่างไรก็ดี แหล่งที่มาของความรู้สึกนี้เกิดจากแดนของศาสนา และในแดนของศาสนาด้วยเช่นกัน ก็มี ความเชื่อ (faith) ในความเป็นไปได้ว่า กฎเกณฑ์ที่มีผลจริงต่อสากลพิภพนี้ เป็นสิ่งที่มีเหตุผล คือสามารถเข้าใจได้ด้วยปัญญาที่ไตร่ตรองพิจารณา ข้าพเจ้ามองไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้คนใดเลยที่จะไม่มีศรัทธาอันลึกซึ้งที่ว่านั้น (that profound faith)”1

คำกล่าวนี้ระบุชัดทั้งฉันทะและศรัทธา แล้วก็โยงมาสู่ปัญญาที่เราต้องการ

ที่พูดถึงไอน์สไตน์ก็เพื่อให้เห็นตัวอย่างของการแสวงหาความรู้ แสวงปัญญา หรือการพัฒนาวิชาการในยุคสมัยใหม่ ที่ใกล้ตัวของนักการศึกษาและนักวิชาการปัจจุบัน และเพื่อแสดงให้เห็นว่า ทัศนะของนักแสวงปัญญาและนักค้นพบผู้ยิ่งใหญ่ในยุคปัจจุบันท่านนี้ ก็ตรงกันกับหลักการที่กำลังพูดถึงในที่นี้ เพราะเป็นความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ

พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ที่ยกวาทะของไอน์สไตน์มาอ้างที่นี้ มิใช่เพราะเป็นคำพูดของไอน์สไตน์ แต่ยกมาอ้างเพราะไอน์สไตน์เป็นตัวอย่างของนักวิชาการยุคปัจจุบันที่มองเห็นหลักการแห่งความจริงตามธรรมชาตินี้ นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่า แม้แต่บุคคลที่สำคัญยิ่งในวงการวิทยาศาสตร์ที่ถือว่าเป็นวิทยาการนำสุด ในการแสวงหาความรู้อย่างเป็น objective ได้รู้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณธรรมหรือคุณค่าทางจิตใจต่อการแสวงหาความจริงนั้นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เรื่องของเราคงไม่จบเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์มุ่งหาความจริง เป้าหมายของเขาอยู่ที่นั่น แต่คนที่รู้และเห็นความจริงแล้ว ยังมีการก้าวต่อไป

พอเราเริ่มรู้ว่านี้เป็นอะไร ความรู้นั้นจะทำให้เราแยกได้ ว่าสิ่งนี้อยู่ในภาวะที่ควรจะเป็นของมันไหม เมื่อเรารู้ว่าภาวะที่เต็มหรือดีงามสมบูรณ์ของมันเป็นอย่างนี้ เราก็รู้ต่อไปว่า ภาวะที่มันเป็นอยู่ขณะนี้ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่เต็ม มันยังไม่อยู่ในภาวะที่ดี เช่นเราจะแยกได้ว่าต้นไม้ต้นนี้อยู่ในภาวะที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ไม่อยู่ในภาวะที่ดีงาม ที่ควรจะเป็น ความรู้ทำให้เราก้าวไปสู่ขั้นที่แยกเห็นความต่างระหว่างภาวะที่ควรจะเป็นกับภาวะที่ไม่ควรจะเป็น พอเราแยกอันนี้ได้ เราเห็น เรารู้ความแตกต่าง ความรู้นั้นก็จะทำให้เราก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือเราจะนึกถึงภาวะที่ควรจะเป็น ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร คือมันควรจะมีภาวะที่เต็มสมบูรณ์ดีงามอย่างไร

เมื่อกี้เรามีความใฝ่อยากรู้ความจริง ตอนนี้เมื่อเราเกิดมีความรู้แล้ว เราก็จะอยากอีกขั้นหนึ่ง คือ อยากจะให้มันเป็นอย่างที่ควรจะเป็น ภาวะที่ควรจะเป็นนี้ เราพูดสั้นๆ ว่า “ภาวะที่ดีงาม” หรือภาวะที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ก็แล้วแต่ พอเราอยากให้สิ่งนั้นอยู่ในภาวะที่ดีงาม กระบวนการทางจิตก็เดินหน้าต่อไปว่า ทำอย่างไรมันจึงจะกลายเป็นสิ่งที่ดีงามได้ เมื่อมันยังไม่เป็น เราก็อยากทำให้มันเป็น อยากทำให้มันดีงาม พออยากทำให้เป็นสิ่งที่ดีงาม เราก็ต้องทำ การกระทำก็เกิดขึ้น การกระทำให้ดีงามนี้เราเรียกว่า “การสร้างสรรค์”

เป็นอันว่า จากความใฝ่รู้ ก็ตามมาด้วยความใฝ่ดี คืออยากให้สิ่งทั้งหลายดีงาม จากใฝ่ดีก็ไปสู่การทำให้ดีงาม ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า การสร้างสรรค์ มันโยงกันหมด เพราะเป็นกระบวนการเดียวกันอันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกันมาเอง ถึงตอนนี้เราก็ ใฝ่สร้างสรรค์ คืออยากทำให้มันดี

เมื่อการศึกษาที่แท้เดินหน้า ความสุขก็พัฒนาตามไป

ในกระบวนการทั้งหมดนี้จะมีความสุขตามมาด้วยทุกตอน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ที่พัฒนาถูกต้อง จะพัฒนาคุณธรรมไปพร้อมกับความสุข กล่าวคือ คนเรานั้นมีความสุขจากการสนองความต้องการ เมื่อเราใฝ่รู้เราก็เกิดความต้องการใหม่ คือ ต้องการรู้ เมื่อเราได้สนองความต้องการที่จะรู้ เราก็มีความสุข คือมีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ เพราะฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงสามารถอยู่กับงาน อย่างชนิดลืมกินลืมนอนได้ โดยไม่หาความสุขจากการบำรุงบำเรอร่างกายตัวเองเลย เขาอยู่กับงานที่เขาค้นคว้าได้ เพราะเขามีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้

คนที่สร้างสรรค์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขาอยากให้มันดี เขาก็อยากทำให้มันดี เมื่อเขาทำให้มันดี เขาก็ได้สนองความต้องการของเขา เพราะฉะนั้นเขาจึงมีความสุขจากการกระทำ(ให้มันดี) คนสามารถมีความสุขจากการสนองความต้องการรู้ ด้วยการเรียนรู้ และสนองความต้องการในการใฝ่ดีหรือความใฝ่สร้างสรรค์ด้วยการกระทำ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้และการกระทำจึงเป็นความสุขได้ เรื่องนี้มีความหมายสำคัญในกระบวนการของการศึกษาทั้งหมด

ในกรณีของเด็ก ถ้าการศึกษาก้าวมาถึงขั้นนี้ จะปลอดภัยมาก เพราะว่าปัญหาของมนุษย์ก็คือ ในขั้นต้น เมื่อยังไม่มีการศึกษา เขาจะอยู่กับความสุขจากการเสพคือ เสพด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น ตาได้ดูรูปที่สวยงามสบายตา หูได้ฟังเสียงที่ไพเราะสบายหู ลิ้นได้ลิ้มรสอร่อยสบายลิ้น คนจะหาความสุขจากการเสพ หรือจากการบริโภค พูดง่ายๆ ว่า สุขจากเสพ ซึ่งมีความหมายว่า ต้องเจอสิ่งที่ชอบใจ เพราะสิ่งที่ชอบใจทำให้สบาย ส่วนสิ่งที่ไม่ชอบใจก็คือ สิ่งที่ทำให้ไม่สบาย ถ้าจะพูดให้ถูกต้อง ที่ไม่ชอบใจนั้นเกิดจากไม่สบาย คือมันทำให้เราไม่สบาย เราจึงไม่ชอบใจ ต่อไปเมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ เราก็ไม่สบาย มันย้อนกลับ ตอนแรกเจอสิ่งที่ไม่สบาย จึงไม่ชอบใจ ต่อไปเมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่สบาย รวมความว่าความสุขความทุกข์ของมนุษย์ในระดับนี้ขึ้นต่อความชอบใจและไม่ชอบใจ เขาจะหมุนเวียนอยู่ในวงจรที่เรียกว่า “สังสารวัฏ” แห่งความสุขจากสิ่งที่ชอบใจ และทุกข์จากสิ่งที่ไม่ชอบใจ

แต่พอเริ่มมีความใฝ่รู้ เขาก็เริ่มมีความสุขจากการเรียนรู้เพื่อสนองความใฝ่รู้นั้น และที่สำคัญก็คือ ตอนนี้เกิดมีมิติใหม่ว่า การเรียนรู้นั้นไม่ขึ้นต่อสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะสิ่งชอบใจก็ได้เรียนรู้ สิ่งไม่ชอบใจก็ได้เรียนรู้ทั้งนั้น ฉะนั้นความสุขจากการเรียนรู้จึงไม่ขึ้นต่อความชอบใจหรือไม่ชอบใจ เพราะความสุขของเขาเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ทุกอย่างไม่ว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ

เมื่อคนพัฒนามากขึ้น เขาจะสามารถมีความสุขจากการเผชิญปัญหา ที่จริงปัญหาเป็นสิ่งที่น่าท้อใจ น่าจะทำให้เกิดความทุกข์ เพราะปัญหาเป็นภาวะบีบคั้น ขัดข้อง เป็นทุกข์อยู่ในตัวแล้ว แต่คนที่พัฒนาตนเองสามารถมีความสุขจากปัญหา คือจากทุกข์นั่นเอง เขาสามารถหาความสุขจากความทุกข์ได้ เพราะเมื่อเขาพยายามแก้ปัญหา เขาได้คิด ได้ค้น ได้สนองความใฝ่รู้ เขาก็ยิ่งชอบใจ เขาจึงมีความสุขจากการเรียนรู้ในการแก้ปัญหา ฉะนั้น เขาจึงพ้นจาก สังสารวัฏแห่งสุขทุกข์จากความชอบใจไม่ชอบใจ

เป็นอันว่า เมื่อบุคคลเริ่มมีการศึกษา เขาก็เริ่มใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็น ทั้งคนที่มีการศึกษาและคนไม่มีการศึกษาก็ใช้สิ่งเดียวกัน แต่ใช้เพื่อความมุ่งหมายคนละอย่าง คนไม่มีการศึกษาใช้อะไร คนที่มีการศึกษาก็ใช้อันนั้น และการศึกษาก็เริ่มที่นั่น คือ เริ่มที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา

ก. เมื่อยังไม่มีการศึกษาก็ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อเสพสิ่งที่ชอบใจ เพื่อให้เกิดความสบาย ที่เรียกว่าสุขเวทนา ชีวิตของเขาอยู่ในระดับของการใช้ตา หู จมูก ลิ้น เพื่อเสพ และสุขทุกข์ของเขาก็อยู่ที่สิ่งชอบใจ และไม่ชอบใจ

ข. แต่พอเริ่มมีการศึกษาเขาก็เริ่มใช้ ตา หู จมูก ลิ้น เพื่อการเรียนรู้ และเขาก็มีความสุขใหม่จากการเรียนรู้ ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่ขึ้นต่อสิ่งชอบใจหรือไม่ชอบใจ ประสบการณ์ทุกอย่างสามารถเป็นสิ่งเรียนรู้ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเขาจึงได้ความสุขจากทุกประสบการณ์

ตรงนี้เป็นความก้าวหน้าและเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการศึกษา และคนก็เริ่มพัฒนา

พอถึงจุดนี้ คือพอเขาใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็น เราเรียกว่าคนเริ่มมีการศึกษา การศึกษาตั้งต้นที่นี่

เมื่อคนใฝ่เสพ งานคือทุกข์ เพราะต้องทำ
เมื่อคนใฝ่สร้างสรรค์ งานคือสุข เพราะสมใจที่ได้ทำ

อย่างที่บอกเมื่อกี้ ว่าการศึกษามีการก้าวต่อ มันไม่ได้หยุดแค่รู้ พอรู้แล้วความรู้นั้นทำให้เห็นว่าอะไรควรจะเป็นอย่างไร ก็ก้าวไปสู่ความใฝ่ดี ใฝ่ดีแล้วก็อยากทำให้มันดี อยากทำให้มันดีก็คืออยากสร้างสรรค์ พออยากทำแล้ว เมื่อได้ทำก็มีความสุขจากการกระทำนั้น ซึ่งตรงข้ามกับพวกที่ใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเสพ พวกที่ใช้อินทรีย์เพื่อเสพนั้นความสุขเกิดจากการเสพสิ่งที่ชอบใจอย่างเดียว และทุกข์ก็เกิดจากสิ่งที่ไม่ชอบใจ แล้วอะไรตามมาอีก

นอกจากสุขทุกข์ของเขาเกิดจากสิ่งชอบใจไม่ชอบใจแล้ว อีกด้านหนึ่งก็คือ ความสุขจากการเสพนี้ คือการที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้รับการบำเรอคือทำให้สบาย ความหมายที่แฝงอยู่ คือ จะได้สบายไม่ต้องทำอะไร ความสุขจากการเสพ คือ การที่ได้รับการบำรุงบำเรอให้สบาย ไม่ต้องทำอะไร แล้วผลที่ตามมาก็คือ การกระทำเป็นความฝืนใจจำใจ เป็นความทุกข์ พวกที่ไม่พัฒนาในการศึกษาใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเสพ เขาจะสุขต่อเมื่อได้รับการบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ความสุขของเขาคือ การได้รับการบำเรอ ไม่ต้องทำอะไร ถ้าต้องทำคือความทุกข์ เพราะฉะนั้น คนพวกนี้จะทำอะไรก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไข ว่าถ้าคุณไม่ทำแล้ว คุณจะไม่ได้สิ่งเสพ ใจเขาเองไม่อยากทำเลย แต่เขาต้องทำเพราะมันเป็นเงื่อนไขที่จะให้เขาได้สิ่งเสพ เพราะฉะนั้นการกระทำคือการฝืนใจและความทุกข์ เขาจึงทำด้วยความจำใจและด้วยความทุกข์ทรมาน

ส่วนคนที่มีการศึกษา พอพัฒนาตัวขึ้นมามีความใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์ คืออยากทำให้มันดี เมื่อได้ทำ การกระทำนั้นก็สนองความต้องการของตัวเอง เขาจึงมีความสุขจากการกระทำ ความสุขชนิดใหม่ก็เกิดขึ้น คือ ความสุขจากการกระทำ นี่แหละคือความสุขชนิดที่เราต้องการในการศึกษา คือความสุขจากการกระทำ(ให้มันดี) ซึ่งเป็นทางแยกกันคนละทิศกับความสุขจากการเสพ หรือความสุขจากการไม่ต้องทำ ของผู้ยังไม่มีการศึกษา เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะเห็นว่า การศึกษามีความหมายในเชิงความสุขด้วย คือเมื่อคนยังไม่มีการศึกษาความสุขเกิดจากการเสพ แล้วสุขทุกข์ก็วนเวียนอยู่ที่สิ่งชอบใจไม่ชอบใจ พร้อมทั้งมีทุกข์จากการกระทำ แต่พอมีการศึกษา ก็มีความสุขจากการศึกษา คือจากการเรียนรู้ ต่อจากนั้นก็สุขจากการสนองความใฝ่ดี และทำให้มันดี คือ สุขจากการสร้างสรรค์

ฝ่ายหนึ่งใฝ่เสพก็หาความสุขจากสิ่งเสพ อีกฝ่ายหนึ่งใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา และใฝ่สร้างสรรค์ ก็มีความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น การศึกษาที่ถูกต้องจึงมาพร้อมด้วยความสุข และเมื่อกระบวนการของความสุขพัฒนาไป ก็เห็นได้ชัดเจนว่าจะเกิดคุณธรรมพ่วงมาด้วยในตัว

ปัญหาก็คือ เกิดความไม่สอดคล้องในกระบวนการ ถ้าคนยังใฝ่ปรารถนาสุขจากเสพ แล้วเขาต้องมาศึกษา และในกรณีที่การศึกษานั้นไม่ใช่เป็นการศึกษาที่เกิดจากชีวิตจิตใจ คือ ไม่ใช่การศึกษาที่แท้จริง เป็นแต่เพียงการศึกษาโดยรูปแบบภายนอก เขาก็เล่าเรียนไปเพียงตามรูปแบบ จิตใจก็ไม่สอดคล้องกัน เขาก็ไม่มีความสุขจากการศึกษา และไม่มีความสุขจากการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น จึงเกิดความขัดแย้งตั้งแต่ภายในตัวบุคคล คือในจิตใจ พอออกไปสู่สังคมก็วุ่นวาย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)– ๒ – ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ >>

เชิงอรรถ

  1. Ibid.,p.46.

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.