– ๑ – จิตใจของนักวิชาการ

23 กันยายน 2539
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

เอาความจริงของธรรมชาติมาใช้
การพัฒนาคนก็อยู่ไม่ไกล

ขอย้อนกลับมา ได้พูดไปแล้วว่า การแสวงปัญญาของมนุษย์จะพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยการพัฒนากระบวนการของชีวิตทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา และในบรรดาคุณสมบัติต่างๆ ที่จะทำให้เกิดปัญญานั้น องค์ประกอบสำคัญคือศรัทธา ได้แก่ความเชื่อมั่น ทั้งต่อสิ่งที่จะเข้าไปศึกษานั้น ในแง่ที่ว่ามันจะมีความจริงให้แก่เรา และมันจะช่วยให้เราสามารถทำสิ่งดีงามที่ต้องการให้สำเร็จได้ แล้วก็เชื่อมั่นในความสามารถ หรือศักยภาพของตัวเองว่าจะเข้าถึงความจริง และสามารถทำให้มันดีได้ด้วย ต่อมาก็สืบลึกลงไปอีกว่า

นอกเหนือจากศรัทธา ก่อนนั้นจะต้องมีความใฝ่รู้ และใฝ่ดี ที่เรียกว่า ฉันทะ ฉันทะนี้แปลว่าใฝ่รู้ และใฝ่ดี และใฝ่ทำให้มันดีขึ้น รวมเป็นฉันทะ ๓ ขั้น พร้อมทั้งมีความสุขพัฒนาขึ้นมาด้วยในทุกขั้น รวมเป็น ๔ ข้อ

๑. ใฝ่รู้ หมายถึง ใฝ่รู้ความจริง คือ ต้องการเข้าถึงความจริงให้ได้

๒. ใฝ่ดี หมายถึง อยากในภาวะที่ดีงาม ที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าตัวเราจะไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้มันดีไปหมด และ

๓. ใฝ่ทำให้มันดี หรือ ใฝ่สร้างสรรค์ หมายถึงอยากทำทุกอย่างให้ดีให้สมบูรณ์ หรือให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็น และ

๔. ความสุข ซึ่งจะเกิดตามมาเมื่อได้สนองความใฝ่คือความต้องการนั้นๆ ในทุกขั้นตอนตามธรรมดาของมันเอง เป็นกระบวนการที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ

ที่จริงนั้น ความใฝ่ดีนี้มีเชื้ออยู่แล้วในทุกคน แต่บางทีเราไม่ได้ใช้และไม่พัฒนามัน เหมือนอย่างเด็กทุกคน ก็มีมือ มีเท้า มีแขน มีขา มีหน้า มีตา เขามีมือเขาก็อยากให้มือของเขาสมบูรณ์ เป็นมือที่เรียบร้อย แข็งแรง มีเนื้อมีหนัง เอิบอิ่ม หน้าตาของเขา เขาก็อยากให้เอิบอิ่ม สมบูรณ์ น่าดู ให้มันดี ให้มันงาม เขามีความปรารถนาดี มีความรัก มีความใฝ่ อยากให้มันดี ถ้าเราพัฒนาให้ตรงจุดนี้ เวลาเด็กไปเกี่ยวข้องกับอะไร ก็ขยายความใฝ่ดี หรืออยากให้มันดีนี้ออกไป เรามีมือ เราก็อยากมีมือที่แข็งแรง ที่ใช้งานได้ดี แข็งแรง สมบูรณ์ เอิบอิ่ม เมื่อไปเกี่ยวข้องกับถ้วยชาม ก็อยากให้ถ้วยชามมันดี อยากให้ถ้วยชามสะอาดเรียบร้อย ไปเจอแก้วน้ำ ก็อยากให้แก้วน้ำนั้นสมบูรณ์ ไม่เว้าไม่แหว่ง ไม่แตกร้าว ใสสะอาด ไปเจอที่นั่ง ไปเจอบริเวณบ้าน ก็อยากให้มันสะอาดเรียบร้อย ไปเจอต้นไม้ ก็อยากให้มันเจริญงอกงามเขียวขจี ไม่ว่าไปเจออะไรก็อยากให้มันสมบูรณ์ดี ตัวนี้แหละถ้าพัฒนาได้ก็จะกลายเป็นความใฝ่ดี

ความใฝ่ดีอีกด้านหนึ่ง มาจากความใฝ่รู้อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า พอรู้ว่า ภาวะที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไร ความใฝ่ดีก็ตามมา ว่าอยากให้มันเป็นอย่างนั้น และพอใฝ่ดีแล้ว ความใฝ่อยากทำให้มันดี คือ ใฝ่สร้างสรรค์ก็ตามมาด้วย

ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่พัฒนาด้านนี้ เรากลับไปสนองความใฝ่เสพของเด็ก เช่นกระตุ้นว่า เอาอันนี้สิสวย อันนั้นสิสวยกว่า อันนี้ดีอร่อยกว่า อย่างนี้ก็จบเลย เป็นการปิดกั้นฉันทะของเด็ก เด็กจะเขวออกจากการศึกษาไปอีกทางหนึ่งเลย ตรงนี้เป็นจุดแยก จึงบอกว่าการศึกษาเริ่มต้นที่บ้าน พ่อแม่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ถ้าพ่อแม่ไปสนองความใฝ่เสพของเด็ก ไปกระตุ้น ไปหนุน ไปเร้าด้านนั้น เด็กก็ไม่พัฒนา แต่ถ้ากระตุ้นในทางใฝ่รู้และใฝ่ดี การศึกษาก็เริ่มต้น

สรุปในตอนนี้ว่า สิ่งที่เป็นจุดเริ่มและเป็นที่รองรับกระบวนการแสวงปัญญา ก็คือ ฉันทะ ที่แปลว่า ใฝ่รู้ ใฝ่ดี และใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้คนพัฒนาความสุขชนิดใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย ถ้าไม่มีฉันทะ ก็ขาดแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ชีวิตที่ดีงามก็จะไม่ตามมา และขาดรุ่งอรุณของการศึกษา การศึกษาก็ไม่ตามมา เพราะฉันทะเป็นตัวเริ่มจุดไฟหรือเป็นต้นกระแส ถ้าศรัทธาเป็นไฟชนวน ฉันทะก็เป็นผู้จุดไฟชนวนนั้น เมื่อเกิดฉันทะ คือความอยาก หรือความปรารถนาอย่างที่ว่านี้มาแล้ว คนก็จะก้าวเข้าสู่การศึกษา และเดินหน้าไปในชีวิตที่ดีงาม

เมื่อการศึกษาถูกหลักสิกขา
ปัญญาก็พัฒนาคู่มากับคุณธรรม

ในการพัฒนาชีวิต โดยเฉพาะในการพัฒนาปัญญา ฉันทะนี้เป็นคุณธรรมพื้นฐาน จึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญ บางทีในความหมายของคนทั่วไปเราอาจจะไม่นึกว่าฉันทะเป็นคุณธรรม เพราะคุณธรรมในความหมายของคนไทย มักจำกัดแคบโดยมองแค่ความดีความชั่วที่สัมพันธ์กับการแสดงออกหรือปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ แต่ที่จริง คุณธรรม ก็คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือเป็นคุณแก่ชีวิต ที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปด้วยดี เป็นคุณทั้งแก่ชีวิตของตนและแก่สังคมและแก่ทุกสิ่งทุกอย่าง

ถ้าเราไปพูดกับบางคนว่าความใฝ่รู้เป็นคุณธรรม เขาอาจจะสงสัยหรือถึงกับปฏิเสธ แต่ที่จริงมันเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นรากฐานเลยทีเดียว พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ฉนฺทมูลกา . . . สพฺเพ ธมฺมา” (องฺ.ทสก.๒๔/๕๘; วิสุทฺธิ.ฏีกา ๒/๑๓๖) ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล คือเป็นรากเหง้าหรือต้นตอหรือแหล่งที่มา ถ้าขาดฉันทะแล้วธรรมหรือคุณสมบัติอื่นๆ มาได้ยาก เพราะขาดราก

น่าแปลกใจว่า ในสังคมไทยนี้ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร คุณธรรมข้อนี้หายไป คนไทยแทบไม่รู้จักเลย แล้วยังแถมปฏิเสธความอยากเสียด้วย สังคมไทยที่เรียกว่าเป็นชาวพุทธนี้ มีการพูดว่าเป็นพุทธแล้วอยากไม่ได้ ถ้าอยากแล้วไม่ถูกต้อง เข้าใจเอาว่าความอยากมีแต่ตัณหา ถ้าอยากแล้วแสดงว่าไม่ใช่ชาวพุทธหรือปฏิบัติผิด ต้องละ ต้องลด ต้องกำจัดความอยาก นี่สุดโต่ง

ความอยากนั้น พุทธศาสนาให้แยกเป็น ๒ คือ

๑. ความอยากที่เป็นกุศล คือ ฉันทะ ได้แก่ ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์

๒. ความอยากที่เป็นอกุศล คือ ตัณหา ได้แก่ ใฝ่เสพ ใฝ่ได้ ใฝ่เอา

คนไม่ต้องมีการเรียนรู้ ไม่ต้องมีปัญญา ก็สามารถมีตัณหาได้ เพราะมันอยู่ที่ความรู้สึก รู้สึกสบายก็ชอบใจ ไม่สบายก็ไม่ชอบใจ นี่คือเรื่องของตัณหา แต่ฉันทะจะเกิดก็ต่อเมื่อมีความรู้ เพราะมันพัฒนาร่วมกับปัญญา พอปัญญารู้ว่าอันนี้ดีงาม เป็นประโยชน์ เป็นคุณ ก็จึงอยากให้เป็นอย่างนั้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นกินอาหาร ก็มีการกินแบบสนองตัณหากับแบบสนองปัญญา หรือสนองตัณหากับสนองฉันทะ คนเราเมื่อยังไม่ได้เรียน ไม่มีการศึกษา ยังไม่รู้จักคิดและไม่ต้องใช้ปัญญา ก็รู้สึกได้ว่านี่อร่อยลิ้น แล้วก็กิน การสนองความต้องการแบบนี้เรียกว่าสนองตัณหา แต่พอเราเริ่มใช้ปัญญาพิจารณาว่าเรากินเพื่ออะไร พอถามว่ากินเพื่ออะไร โยนิโสมนสิการก็เกิดขึ้น

พอโยนิโสมนสิการเกิด ถามว่ากินเพื่ออะไร แล้วคิดพิจารณามองเห็นว่าที่จริงเราไม่ได้กินเพื่ออร่อยนะ เรากินเพื่อซ่อมแซมและบำรุงร่างกาย ให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี พอมองเห็นว่าอันนี้ใช่แล้ว ความมุ่งหมายของการกินอยู่ที่นี่ นี่คือ การเรียนรู้เกิด พอความรู้เกิด ปัญญาเกิด ความอยากชนิดใหม่ก็เกิดตามมาด้วย แต่ก่อนนี้อยากกินแต่อาหารที่รู้สึกอร่อย ตอนนี้อยากกินอาหารที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ ที่ทำให้มีสุขภาพดี และเจ้าฉันทะนี่ก็จะมาถ่วงดุลกับตัณหา

ฝ่ายตัณหาต้องการกินอาหารอร่อย แต่ฉันทะต้องการกินอาหารที่มีคุณค่า พอปัญญามากขึ้น ฉันทะแรงขึ้น ก็มาคุมตัณหาอยู่ ตัณหาก็ครอบงำเราไม่ได้เต็มที่

การกินอาหารตามอร่อยนั้นไม่มีขอบเขตเมื่ออร่อยก็กินเข้าไปๆ จนกระทั่งเป็นผลร้ายต่อร่างกาย ในขณะเฉพาะหน้า ก็อาหารไม่ย่อย อึดอัด ท้องแน่น อืดเฟ้อ ระยะยาวก็สุขภาพเสีย เป็นโรค และเมื่อกินอาหารโดยไม่พิจารณาคุณค่า เอาแต่อร่อยเข้าว่า อาหารมีคุณค่าเป็นประโยชน์ไม่กิน ไปกินแต่อาหารที่อร่อยแต่เป็นโทษ ก็เข้าลักษณะที่เรียกว่า กินไม่พอดีทั้งปริมาณและประเภทอาหาร ยิ่งกว่านั้น ยังอาจจะมุ่งเอาความโก้เก๋ กินของนอกของแพงตามค่านิยมอีกด้วย ทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ ก่อขยะและมลภาวะมาก ทำลายธรรมชาติแวดล้อมอีกด้วย เรียกว่าเป็นการกินด้วยโมหะ

แต่พอมีปัญญาขึ้นมา รู้ว่ากินเพื่อสุขภาพ ก็จำกัดปริมาณในการกินแค่ให้ร่างกายแข็งแรง แล้วก็เลือกประเภทอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ ก็เกิดการกินพอดีขึ้นมา คือพอดีทั้งในแง่ปริมาณและประเภทของอาหาร การกินพอดีจึงเป็นการกินด้วยปัญญา คือรู้ว่า วัตถุประสงค์ของพฤติกรรมนั้นเพื่ออะไร พฤติกรรมการกินจึงถูกปรับให้พอดี หมายความว่าปัญญามาปรับพฤติกรรมในการกิน และฉันทะก็มาสนองปัญญานั้น คืออยากกินเพื่อสุขภาพ จะเห็นว่า ถ้าไม่มีปัญญามา ฉันทะก็เกิดไม่ได้ ความอยากประเภทฉันทะนี้เป็นความอยากที่ต้องอาศัยปัญญาและสนองปัญญา

เป็นอันว่า เรามีตัณหาเป็นความอยากประเภทที่อาศัยอวิชชา คือความโง่เขลาไม่รู้ กับฉันทะซึ่งเป็นความอยากประเภทที่อาศัยปัญญา ยิ่งพัฒนาปัญญาไป ฉันทะก็พัฒนาไปด้วย แต่ก่อนเคยเห็นว่าสิ่งนี้ดี เราก็มีฉันทะในสิ่งนั้น แต่พอปัญญาพัฒนาต่อไป สิ่งที่เคยรู้ว่าดี ยังไม่ดีจริง ฉันทะก็พัฒนาเปลี่ยนไปตามนั้น

ขอวกกลับมาเรื่องนี้อีกทีว่า ในกระบวนการพัฒนาปัญญา ฉันทะเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ฉันทะเป็นมูลของกุศลธรรมทั้งปวง ก็คือ เป็นที่มาของปัญญาด้วย เมื่อเราพัฒนาฉันทะขึ้นมา ฉันทะยิ่งเกิดก็ยิ่งทำให้ชีวิตพัฒนาด้วย คุณสมบัติต่างๆ เช่นปัญญาก็ตามมาด้วย การทำงานสร้างสรรค์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ งานทางด้านเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมือง หรือด้านใดก็ตาม ก็จะดำเนินไปด้วยความจริงใจและอย่างจริงจัง ชนิดที่ถ้ายังไม่สำเร็จจะไม่ยอมหยุด ถ้ายังไม่ดีจะไม่ยอมเลิก โดยเป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาบังคับควบคุม พร้อมกันนั้นความสุขก็ขยายกว้างออกไป เพราะเราได้เพิ่มมิติใหม่แห่งความสุข และเป็นความสุขที่เกื้อหนุนจริยธรรมด้วย

ขอย้ำว่า ชาวพุทธเราในเมืองไทยนี้คงต้องยอมรับว่าพลาด ที่เอาความอยากไปเป็นตัณหาหมด ก็เลยบอกว่าจะต้องละต้องลดความอยาก ทำให้ชาวพุทธไม่กล้าอยาก ความจริงพระพุทธเจ้าสอนให้อยากแบบฉันทะ ถ้าอยากแบบฉันทะนี้ ยิ่งอยากยิ่งดี

ขอแทรกนิดหนึ่ง มีความต่างระหว่างตัณหากับฉันทะอีกอย่างหนึ่ง คือในที่สุดทั้งอยากแบบตัณหาและอยากแบบฉันทะ เราจะต้องละด้วยกันทั้งคู่ ท่านว่า

๑. ตัณหา ละด้วยการทำให้หายไป คือ กำจัด ละ ลด หรือคุม หรือเบน หรือเปลี่ยนให้มันเป็นปัจจัยแก่คุณธรรมตัวอื่นไป แต่

๒. ฉันทะ ละด้วยการทำให้สำเร็จตามที่อยาก ท่านว่าอย่างนั้น แปลกไหม ละด้วยการทำให้สำเร็จ หมายความว่า พอเราทำให้สำเร็จตามอยากแล้ว เราก็ละความอยากหมดไปด้วย เพราะบรรลุจุดหมายของมันแล้ว คือ ฉันทะนั้นละด้วยการทำให้บรรลุผลของมัน พอบรรลุผลของมันแล้ว มันก็หมดหน้าที่ไป

เพราะฉะนั้นจำไว้ พอเรามีฉันทะแล้ว เอาเลย ละด้วยการทำให้สำเร็จตามนั้น นี้เป็นเรื่องที่ท่านแยกไว้เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างตัณหากับฉันทะ

เมื่อฉันทะและศรัทธาในใจทำให้คนมีชีวิตชีวา
สังคมก็มีบรรยากาศทางวิชาการ และงานทุกอย่างก็มีผลเลิศ

เมื่อมีฉันทะแล้ว ชีวิตชีวาก็มาทันที จิตใจจะมีกำลังสดชื่น ยิ่งถ้าศรัทธาตามมาด้วย การใฝ่แสวงปัญญาก็มีชีวิตชีวาเต็มที่ แต่ถ้าไม่มีฉันทะ และไม่มีศรัทธา ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ปฏิบัติการในการแสวงหาความรู้ที่เรียกว่าวิชาการจะแห้งแล้ง ได้สักแต่ว่ารูปแบบ ทำไปพอได้เกณฑ์ที่เขาตั้งไว้ เป็นเหมือนต้นไม้พลาสติก หรือต้นไม้เทียม บรรยากาศทางวิชาการที่แท้จริงก็ไม่มี เพราะมันไม่มีชีวิตชีวา

บรรยากาศเป็นสิ่งสำคัญที่มาหนุน บรรยากาศทางวิชาการแท้จริงจะมีได้ก็ต่อเมื่อคนมีฉันทะ เพราะฉันทะจะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นสุขในตัวคน และความมีชีวิตชีวาในสังคม แต่ถ้าไม่มีฉันทะ กำลังเรี่ยวแรงความมีชีวิตชีวาก็ไม่มี บรรยากาศทางวิชาการที่แท้ก็ไม่มี และตัวคนเองก็ไม่มีความสุข ได้แต่แสวงหาความรู้และทำงานวิชาการไปอย่างฝืนจิตจำใจ ต่อไปอาจจะเกิดความรู้สึกแปลกแยก และมองไม่เห็นคุณค่าของตนเอง

อีกด้านหนึ่ง ถ้าคนไม่มีความสุขในทางวิชาการ เขาก็จะตกไปอยู่ใต้อำนาจของความใฝ่เสพ แล้วก็เกิดความขัดแย้งในตัวเอง แทนที่ใจจะมุ่งไปที่ความสำเร็จในการแสวงปัญญา เขาก็จะต้องคิดถึงความสุขที่จะได้มาด้วยการไปหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตน หรือหาผลประโยชน์ต่างๆ จึงไม่มีความสุขกับงานที่ทำ เมื่อไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ก็เสียทั้งตัวเองเสียทั้งวิชาการ ซึ่งจะไม่บรรลุผลที่แท้จริง พร้อมกันนั้นความสัมพันธ์กับศิษย์และผู้ร่วมงาน ก็เสียหมด

อาจารย์ที่จะมาให้การศึกษาแก่ลูกศิษย์ ก็คือจะมาทำงานพัฒนาคน หรือมาช่วยให้ลูกศิษย์พัฒนาตัวของเขา เพราะฉะนั้นอาจารย์ก็จะต้องมีความใฝ่ดีต่อศิษย์ คือ อยากให้ชีวิตของเขาเป็นอย่างนั้นๆ ที่จะบรรลุจุดหมายที่ดีงาม ที่สมบูรณ์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าฉันทะที่ใฝ่ดีต่อชีวิตของลูกศิษย์ เพื่อความดีงามความสมบูรณ์ที่เป็นวัตถุประสงค์นั้นไม่มี ความสนใจใฝ่ใจก็ไปอยู่ที่เรื่องของตัวเอง ก็ทำงานสอนอย่างไม่มีความสุข ความสัมพันธ์กับศิษย์ที่จะดี ก็เป็นไปได้ยาก บรรยากาศก็จะเสียโดยทั่วไป แล้วก็ไม่สามารถสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการที่แท้จริง ครูอาจารย์ก็จะทำงานทางวิชาการเพียงแค่ให้ได้ตามกฎเกณฑ์ กติกา รูปแบบ

เพราะฉะนั้นจึงต้องมีฉันทะตัวนี้ ที่ใฝ่รู้ความจริงและใฝ่ทำให้มันดีอย่างแรงกล้า ถึงขนาดที่ว่า ถ้ายังไม่ถึงความจริงหรือยังหาทางทำให้มันดีไม่ได้ จะไม่ยอมหยุด หรือถ้าเป็นการทำหน้าที่ในการสั่งสอนก็ต้องใฝ่ดีที่จะสร้างสรรค์ชีวิตของลูกศิษย์ว่า ถ้าลูกศิษย์ยังไม่รู้จริงและยังไม่เป็นคนดี ฉันก็หยุดไม่ได้ นี่คือฉันทะของมนุษย์ผู้ประเสริฐเช่นพระโพธิสัตว์ ที่ถือว่า เมื่อเห็นเหตุปัจจัยพร้อมแล้ว ก็จะต้องเพียรไปให้ถึงความจริงและความดีงามสมบูรณ์จนสุดชีวิต ผู้ที่ทำงานศึกษาค้นคว้าวิจัยจะต้องมีฉันทะถึงขั้นนี้

ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ จะต้องมี “ฉันทะ” เป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้อย่างหนึ่ง และฉันทะนั้นจะต้องยิ่งใหญ่ เป็นความใฝ่ปรารถนาที่มีพลังแรงยิ่ง จึงจะบำเพ็ญบารมีจนปัญญาพัฒนาเป็นโพธิญาณได้สำเร็จ (เช่น สุตฺต.อ.๑/๔๖; จริยา.อ.๓๒๙)

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ทรงมีฉันทะที่แรงเข้ม ดังที่ท่านใช้คำว่า “ไม่มีความลดถอยแห่งฉันทะ” ซึ่งเป็นพระคุณสมบัติข้อที่ ๑๐ ใน “พุทธธรรม ๑๘ ประการ” (ที.อ.๓/๑๘๘)

ขอย้ำว่าไม่ใช่แค่รู้ แต่รู้เพื่อมาทำให้มันดี เราต้องการทำชีวิตให้ดีงาม ต้องการทำให้สังคมดีงาม ฉันจะต้องทำให้มันดีให้ได้

ในการที่จะทำให้มันดีให้ได้นั้น ก็ต้องรู้วิธีที่จะทำให้มันดี จึงต้องแสวงหาความรู้และคิดจัดสรรทุกอย่างที่จะมาทำให้มันดี ความใฝ่ดีจึงนำไปสู่การแสวงปัญญาและปฏิบัติการในทางวิชาการทุกอย่าง ชนิดที่จริงจังและมีชีวิตชีวาตามกระบวนการของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ฉันทะจึงเป็นฐานของกระบวนการทั้งหมด ทั้งอยากรู้ความจริง ชนิดที่ต้องให้ถึงความจริงให้ได้ ทั้งอยากทำให้มันดี ชนิดที่ต้องหาทางทำให้มันดีให้ได้

วิชาการทั้งหลายมีจุดหมายอยู่ที่ ๒ อย่างนี้ คือ

๑. รู้ความจริง

๒. หาทางทำให้มันดี

เมื่อมีฉันทะก็ได้ทั้งคู่ ขอให้สังเกตว่า ตัวความหมายที่แท้ของฉันทะอยู่ในขั้นทำ เพราะ ฉันทะ ได้แก่ “กัตตุกัมยตา” (“กัตตุ” = ทำ “กัมยตา” = ความปรารถนา หรือใคร่) แปลว่า ความปรารถนาที่จะทำ หมายถึงอยากทำให้มันดี ก็คือ ใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งทำให้มีความสุขจากการกระทำนั้นด้วย

เมื่อฉันทะนี้มาแล้วไม่ต้องกลัว อย่าว่าแต่เป็นอาจารย์เลย แม้แต่เป็นคนงาน ถ้ามีฉันทะแล้วไม่ต้องไปคุม นอกจากดูแลในเรื่องวิธีปฏิบัติตามระบบ แต่ไม่ต้องคุมตัวคน เพราะแรงข้างในตัวคนนั้นแหละจะไขและคุมตัวเขาเอง ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับอะไร เขาก็อยากทำให้มันดีไปหมด จะไปทำท่อน้ำ จะตอกตาปู จะขันนอต ก็อยากทำให้มันดี ถ้ายังไม่ดี ก็ไม่ยอมหยุด ลองคิดดูซิว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉะนั้นฉันทะนี้จะต้องสร้างขึ้นในตัวคนให้ได้ เมื่อสร้างฉันทะได้ ก็คือสร้างคนสำเร็จ แล้วคนนั้นก็จะไปสร้างทุกอย่างให้ดีทั้งหมด

เป็นอันว่า เราได้พูดถึงฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนา ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม คือความอยากที่ถูกต้อง ที่เป็นกุศล ที่เรียกว่าฉันทะนี้ พอได้ฉันทะมา ความเป็นเลิศทางวิชาการก็เกิดเอง เพราะเราต้องการรู้ความจริงและทำให้มันดีให้ได้ ถ้ายังไม่รู้ถึงที่สุด ยังไม่ดีที่สุด จะไม่ยอมหยุด แล้วจะไม่เป็นเลิศได้อย่างไร เพราะความเป็นเลิศคือจุดหมายที่อยู่ในตัวอยู่แล้ว และการบรรลุจุดหมายของฉันทะนั้นแหละคือความเป็นเลิศ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)– ๒ – ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ >>

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.