– ๑ – จิตใจของนักวิชาการ

23 กันยายน 2539
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

จะเอาดีแค่ตามฝรั่ง หรือจะรู้จักฝรั่งทั้งส่วนที่ร้ายและที่ดี

ฝรั่งที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการได้ก็เพราะเขามีฉันทะ แต่ฉันทะของเขานั้นโดยพื้นฐานเกิดขึ้นจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม คือแรงบีบคั้นในธรรมชาติ และประวัติศาสตร์แห่งความบีบคั้นทางสังคม ไม่ได้เกิดจากกระบวนการทางปัญญาและคุณธรรมภายในโดยตรง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงยุคนี้ พอสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ฝรั่งจึงเริ่มเสื่อมจากฉันทะ แล้วกำลังจะกลายมาเป็นนักเสพบริโภค สังคมฝรั่งกำลังโอดครวญกันอย่างหนักว่า คนรุ่นใหม่ของเขาอ่อนแอลง สำรวย หยิบโหย่ง ใจเสาะ เปราะบาง เพราะเปลี่ยนมาเป็นสังคมบริโภคนิยม เสื่อมจาก work ethic จริยธรรมในการทำงานกำลังจะหายไป สังคมโทรมทรุดลง

ในเมืองไทยเรานี้ คนจำนวนมากชื่นชมความเจริญก้าวหน้าของสังคมตะวันตก แล้วอยากให้คนไทยสร้างสรรค์สังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างนั้นบ้าง ความปรารถนานี้เป็นเหตุให้คนไทยไม่น้อยนิยมทำตามวิถีชีวิตของชาวตะวันตก และบางทีก็จะเอาอย่างลักษณะนิสัยจิตใจของชาวตะวันตกด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ในบางช่วงของยุคสมัยมีบางท่านพูดและเขียนแนะนำตลอดจนกระตุ้นเร้าส่งเสริมให้คนไทยมีคุณสมบัติที่คำฝรั่งเรียกว่า “ambition” ซึ่งมักแปลกันเป็นภาษาไทยว่า “ความทะเยอทะยาน” โดยเข้าใจว่าคุณสมบัติข้อนี้ทำให้ฝรั่งสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าได้สำเร็จ

ที่จริง ambition ซึ่งจะแปลว่า ความทะเยอทะยาน ความใฝ่ฝัน ความใฝ่สูง หรืออะไรก็ตาม เป็นตัวอย่างของคุณสมบัติที่เราควรจะศึกษาวิเคราะห์ให้เข้าใจฝรั่ง และเหตุปัจจัยแห่งความเด่นและความด้อยของเขา มากกว่าจะไปเอามาตามอย่าง อย่างน้อยขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับ “ambition” ที่นิยมแปลว่า ความทะเยอทะยานนั้นไว้ว่า

๑. ความทะเยอทะยาน หรือ ambition นี้เป็นตัวอย่างของความมีพลังทางจิตใจโดยขาดความชัดเจนทางปัญญา คือเป็นความอยากที่ไม่แบ่งแยกออกไปให้ชัดระหว่างอยากในทางดีหรืออยากในทางร้าย พูดง่ายๆ ว่า อาจจะเป็นความอยากแบบตัณหาก็ได้ หรือเป็นความอยากแบบฉันทะก็ได้ เป็นคำที่กำกวมหรือก้ำกึ่ง ดังจะเห็นว่า พจนานุกรมต่างๆ ของฝรั่งให้ความหมายของคำนี้ชนิดที่เป็นไปได้ทั้ง ๒ ทาง คือ อาจจะเป็นความอยากได้ทรัพย์ สถานะ และอำนาจ ก็ได้ เป็นความอยากทำการสร้างสรรค์บางอย่างให้สำเร็จ ก็ได้

ความใฝ่ฝันของฮิตเลอร์ที่จะล้างแค้นชาวยิวเป็นต้นและสถาปนาอาณาจักรไรค์ที่ ๓ อันยิ่งใหญ่ด้วยมหาสงคราม ก็เรียกว่า ambition ความปรารถนาของพระเจ้าอโศกที่จะเผยแพร่ธรรมออกไปด้วยสันติวิธีให้ชาวโลกรู้ความจริงความดีงามและอยู่กันอย่างสันติสุข ฝรั่งก็เรียกว่า ambition ความใฝ่ฝันของนโปเลียนที่จะครอบครองยุโรปทั้งหมด ก็เรียกว่า ambition ความปรารถนาอย่างแรงกล้าของเมธีชนทั้งหลายที่จะใช้วิธีการทางปัญญาจัดวางระบบที่ชอบธรรมเป็นธรรมขึ้นในการดำเนินกิจการของมวลมนุษย์ ก็เรียกว่า ambition คนผู้หนึ่งมีความใฝ่ฝันอยู่อย่างเดียวที่จะให้ตนได้เป็นเศรษฐีที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดของประเทศหรือของโลก ก็เรียกว่า มี ambition อีกคนหนึ่งมีความมุ่งมั่นจะสร้างสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพเป็นแบบอย่างขึ้นให้ได้ ความปรารถนาของเขาก็เรียกว่า ambition

จริงอยู่ ฝรั่งก็ปฏิเสธหรือประณามความทะเยอทะยานฝันใฝ่ในทางร้ายที่ก่อผลเป็นภัยรุนแรง แต่นั่นเป็นการแยกได้เพียงขั้นหยาบๆ ด้วยมาตรฐานทางศีลธรรมสามัญ หรือไม่ก็เป็นการแยกโดยระดับความรุนแรงหรือดูที่ผล ไม่ใช่เป็นการแบ่งจำแนกโดยประเภทตามธรรมชาติของความอยาก พูดง่ายๆ ว่าฝรั่งมองความอยากปนเปกันไปหมด แยกไม่ได้ระหว่างความอยากที่เป็นอกุศล คือ ตัณหา กับความอยากที่เป็นกุศล คือ ฉันทะ

๒. แนวคิดทางการศึกษาและจิตวิทยาของฝรั่ง มอง ambition ที่แปลว่า ความทะเยอทะยานนี้ ว่าเป็นแรงจูงใจที่ดีควรส่งเสริม เป็นแรงขับที่นำไปสู่ความสำเร็จและความเป็นเลิศ แต่ดังได้กล่าวแล้วว่าฝรั่งมองปนเป แยกไม่ออกระหว่างฉันทะกับตัณหา อารยธรรมตะวันตกจึงได้รับผลที่ปะปนกันไปของความอยากทั้งสองประเภทนั้น ตนเองก็ประสบผลทั้งในด้านความเจริญก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ และในด้านปัญหาต่างๆ ทั้งทางชีวิตจิตใจทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เพิ่มพูนขึ้นจนในปัจจุบันได้สงสัยกันว่าจะคุ้มกับความเจริญที่ได้สร้างขึ้นมาหรือไม่ และยังนำเอาภัยพิบัตินั้นไปหยิบยื่นให้หรือแผ่ขยายไปให้แก่โลกส่วนอื่น เริ่มแต่ลัทธิอาณานิคม จนถึงปัญหาชนิดที่เป็นโลกาภิวัตน์ คือทั่วทั้งโลกในปัจจุบัน

ในขณะที่ฝรั่งมองความอยากปนเปกันไป ทั้งฉันทะ และตัณหา แล้วส่งเสริมทั้งสองอย่าง คนไทยก็มองความอยากปนเปกันไปทั้งสองอย่างเช่นเดียวกัน แต่เข้าใจไปว่าการปฏิบัติที่ถูก คือ ต้องลดละหรือกำจัดความอยากให้หมด ก็เลยมีความโน้มเอียงที่จะกดระงับ ดับความอยากให้สิ้นทั้งสองอย่าง ฝรั่งกับไทยก็เลยไปสุดคนละทาง

อย่างไรก็ตาม เรื่องจริงไม่ใช่อยู่แค่นั้น เพราะเหตุที่การระงับความอยากทั้งหมดเป็นภาวะที่เป็นไปไม่ได้โดยธรรมชาติของปุถุชน ในสังคมไทยก็เกิดมีการหาทางออกโดยมาแบ่งแยกวิถีชีวิตเป็น ๒ แบบ คือ เป็นทางโลก กับ ทางธรรม แล้วก็ถือว่า ใครอยู่ทางธรรมก็ให้ลดละกำจัดความอยากทั้งหมด (เท่ากับหมดไปด้วยกันทั้งฉันทะและตัณหา) ส่วนผู้ใดอยู่ทางโลกก็ไม่ต้องลดละความอยากนั้น บางทีก็สนับสนุนส่งเสริมความอยากนั้นด้วย แต่ความอยากทางโลกที่เข้าใจและส่งเสริมนี้มุ่งไปที่ตัณหาอย่างเดียว

ยิ่งกว่านั้น คนไทยบางท่าน เมื่อชื่นชมความเจริญของฝรั่ง แต่เพราะความที่มองไม่ชัด ก็ไปจับเอามาเฉพาะความอยากแบบตัณหาของเขา ส่วนความอยากแบบฉันทะที่อยู่ลึกลงไป ซึ่งเป็นแก่นแท้ที่สร้างสรรค์ความเจริญของเขา กลับมองข้ามไปเสีย เลยมาส่งเสริมกระตุ้นเร้าคนไทยให้อยากแบบตัณหาให้มากๆ

ถ้าจะพูดให้เห็นเป็นภาพชัดขึ้น ขอยกตัวอย่าง เช่น วัฒนธรรมตะวันตกหนุนฝรั่งให้เป็นทั้ง acquisitive (มักได้ หรือใฝ่เอา) และ inquisitive (ชอบสอบถามหาความรู้ หรือใฝ่รู้) ไทยไม่เอาทั้ง acquisitive และ inquisitive แต่ต่อมาเมื่อจะเอาอย่างฝรั่ง ก็หนุนคนให้ acquisitive (ใฝ่เอา) แต่ไม่ได้ใส่ใจหนุนกันให้ inquisitive (ใฝ่รู้หรือให้มี spirit of inquiry)1

ไปๆ มาๆ ในสังคมไทย ท่าทีต่อความอยากนอกจากสับสนพร่ามัวครึ่งๆ กลางๆ แล้ว ความอยากฝ่ายฉันทะกลับถูกกดหายไป เหลือแต่ความอยากแบบตัณหาอย่างเดียวที่มีบทบาทโดดเด่น เมื่อเป็นเช่นนี้ผลต่อชีวิตและสังคมจะเป็นอย่างไร ก็ไม่จำเป็นจะต้องบรรยาย

๓. ที่จริงนั้น จะมองแค่ ambition หรือความทะเยอทะยานฝันใฝ่เท่านั้นไม่พอ ลึกลงไป สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ambition ก็คือ แนวคิดความเชื่อที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด เป็นพลังหล่อเลี้ยง เป็นเครื่องกำหนดลักษณะรูปแบบและทิศทางของ ambition ในสังคมหรือหมู่ชนนั้นอีกต่อหนึ่ง ยกตัวอย่าง ในประเทศตะวันตกตั้งแต่ยุคกำเนิดวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา the idea of (inevitable) progress คือ คติแห่งความก้าวหน้า (ที่มิอาจหลีกเลี่ยง) ได้เป็นพลังหลักที่ผลักดันอยู่เบื้องหลัง ambition ของชาวตะวันตก มองแคบเข้าไปอีก โดยเฉพาะในอเมริกา the myth of frontier คือคติแห่งการบุกฝ่าพรมแดน ได้เป็นพลังฝังใจที่สร้างเป้าหมายให้แก่ ambition แล้วยังมี American dream คือฝันอเมริกัน ซึ่งกำหนดรูปลักษณ์แห่งความใฝ่ฝันของคนอเมริกัน ดังนี้เป็นต้น

ถ้าจะเอาประโยชน์จากฝรั่งมาใช้ก็ควรจะศึกษาเหตุปัจจัยในวัฒนธรรมของเขาให้ชัดเจน จะได้เป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา ไม่ใช่ผลีผลามจับเอามา อย่างน้อยก็แยกเอามาใช้เฉพาะ ambition ฝ่ายกุศลที่เป็นฉันทะ ซึ่งเราเองมีแหล่งแห่งหลักการสร้างสรรค์ที่ชัดเจนกว่าด้วยซ้ำ พร้อมกันนี้ก็ต้องพูดยืนยันสำทับไว้ว่า บรรยากาศแห่งวิชาการและความเป็นเลิศทางวิชาการจะเกิดขึ้นได้ด้วยฉันทะเท่านั้น จะไม่อาจเกิดขึ้นด้วยตัณหาได้เลยอย่างแน่นอน

เมื่อขาดฉันทะ นอกจากสร้างสรรค์ไม่ได้
ตัณหาก็จะเข้ามาทำลายและก่อปัญหา

ถ้าขาดฉันทะ หรือถ้ามีแต่ความใฝ่เสพ เป็นนักบริโภค นอกจากไม่สามารถสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการแล้ว ประโยชน์ที่ต้องการสร้างสรรค์แก่สังคม และแก่ชีวิตที่แท้จริง ก็ไม่สำเร็จ การที่จะนำเอาวิชาการมาช่วยเป็นส่วนสร้างสรรค์หรือแก้ปัญหาสังคม ก็เลยไม่ค่อยได้ผล ความได้ผลก็สูญเสียไป และต่อไปก็สิ้นเปลืองทั้งทรัพย์สินเงินทอง และสิ้นเปลืองทรัพยากรมาก ถึงแม้จะมีทรัพยากรคนมาก แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการที่จะแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ เงินทองก็ต้องใช้มากโดยใช่เหตุ ทั้งจ้างคนทำ ทั้งจ้างคนคุม ถมเข้าไปๆ ก็ละลายหายหมด

ทำไมจึงว่าสิ้นเปลืองมาก แต่ไม่ได้ผล ก็เพราะว่าเมื่อขาดฉันทะ คนที่ทำงานด้วยตัณหา ก็คือทำงานเพื่อผลตอบแทน เมื่อเป้าหมายอยู่ที่ผลตอบแทน เขาก็ต้องหาทางให้ได้ผลตอบแทนให้มากที่สุด และไม่คำนึงถึงผลดีต่อชีวิตและสังคม

ตรงข้ามกับคนที่มีฉันทะซึ่งไม่ต้องใช้จ่ายสิ้นเปลือง เพราะใช้เงินเพื่องานแท้ๆ ตัวเองไม่มีมูลค่าราคาที่จะเอามาแลกเปลี่ยน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ ขอแต่ให้ได้สนองความใฝ่รู้ความจริงและใฝ่สร้างสรรค์นี้ให้สำเร็จ ก็บอกแล้วนี่ว่าแม้แต่สละชีวิตก็ยอมได้ คนขนาดยอมสละชีวิตได้แล้ว ก็ไม่ต้องกลัว มันไม่เอาอะไรแล้ว เพราะฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์จึงไม่เห็นแก่เรื่องสิ่งเสพบำรุงบำเรอ หรือเรื่องวัตถุอะไรทั้งนั้น ใจมุ่งอยู่แต่ว่า ทำอย่างไรจะรู้อันนี้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีฉันทะตัวนี้ก็เป็นอันว่าวิชาการต่างๆ จะไม่บรรลุผลสำเร็จ แต่จะเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมาในกระบวนการอย่างมากมาย และคุณธรรมต่างๆ ก็ไม่มา แต่จะมีความเสียหายต่างๆ มาแทน

ถ้าเป็นไปตามแนวทางของฉันทะ คุณธรรมจะเรียกร้องตัวของมันขึ้นมาเอง พร้อมไปด้วยกันกับการพัฒนาปัญญา เพราะเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ

ในที่สุด เมื่อคนขาดฉันทะ แม้จะอยู่ในยุคไอทีที่แสนจะเจริญ มีข่าวสารข้อมูลแพร่หลายทั่วถึงจนท่วมท้น เป็นสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาปัญญา แต่คนก็ไม่สามารถเข้าถึงคุณค่าของข่าวสารข้อมูลเหล่านั้น แทนที่ข่าวสารข้อมูลที่มากมายจะช่วยให้เกิดปัญญา ก็กลับกลายเป็นเครื่องเพิ่มโมหะและกระตุ้นเร้าอกุศลอื่นๆ ทำให้คนตกเป็นเหยื่อมากกว่าได้ประโยชน์ อาจจะตกเป็นทาส หรือก่อทุกข์ภัยขึ้นจากไอที เช่น ผู้ผลิตและผู้แพร่มุ่งในแง่หาผลประโยชน์สนองโลภะ ผู้บริโภคก็มุ่งหาแต่สิ่งบันเทิงเริงรมย์สนองความใฝ่เสพและค่านิยมที่เป็นโมหะ ทั้งสองฝ่ายเหมือนดังสมคบกันใช้ไอทีทำลายชีวิตและสังคมของตน

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในการสัมพันธ์กับสื่อมวลชนด้านข่าว ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ “เสพข่าว” (ดูฟังอ่านข่าวเพื่อสนองความอยากตื่นเต้น เพื่อเอามาพูดจาเล่าขานสนุกปากกันไป) มากกว่าจะเป็นผู้ “ศึกษาข่าว” (ดูฟังอ่านข่าว เพื่อหาความรู้ หาความจริง เพื่อรู้เข้าใจสถานการณ์และเพื่อคิดแก้ไขจัดการ) และวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวข่าวสารแบบ “วิจารณ์ทิ้ง” (วิจารณ์เพื่อเสพรสอร่อยในการถกเถียงแล้วก็ผ่านไป) ไม่เป็นการ “วิจารณ์เพื่อทำ” (วิจารณ์เพื่อสนองฉันทะที่จะหาทางทำการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่ง)

สภาพทั่วไปอย่างหนึ่งก็คือ ขณะที่ประชาชนส่วนมากเป็นเพียงผู้เสพข่าวสารข้อมูล ไม่เป็นผู้ศึกษาข่าวสารข้อมูล มักไหลไปตามกระแสข่าวสารข้อมูล และตกอยู่ใต้อิทธิพลของสื่อมวลชนที่จะนำกระแสนั้นไป แต่ในขณะเดียวกันนั้นสื่อมวลชนก็มักยอมตัวปล่อยตนให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของมวลชนที่เสพข่าว คือผลิตหรือนำเสนอข่าวสารข้อมูลเพียงเพื่อเสริมสนองความต้องการของมวลชนในการเสพข่าว ไม่ก้าวขึ้นไปสู่อุดมคติในทางสร้างสรรค์ที่สูงกว่านั้น โดยนัยนี้ ทั้งมวลชนผู้เสพข่าวสารข้อมูล และสื่อมวลชนผู้นำเสนอข่าวสารข้อมูล ก็มาเป็นปัจจัยเสริมแก่กันและกัน ในการสร้างวงจรในทางเสื่อมลงแห่งคุณภาพชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่สื่อมวลชนคุณภาพดียังมีน้อย และสื่อมวลชนจำนวนมากยังเป็นสิ่งแวดล้อมในทางลบ จึงจะต้องเอาจริงเอาจังในการพัฒนาคนให้มีฉันทะและประกอบด้วยโยนิโสมนสิการ เพื่อให้เป็นอยู่อย่างปลอดภัยและสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงจากไอทีของยุคนี้ คือสร้างคนที่สามารถสรรหาสาระและสร้างสรรค์ประโยชน์ได้แม้แต่จากข่าวสารข้อมูลที่ด้อยคุณภาพ

ที่พูดมาในตอนนี้เป็นการเน้นเรื่องฉันทะ คือความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำให้มันดี หรือใฝ่ศึกษา ใฝ่สูง และใฝ่สร้างสรรค์

จากฉันทะต่อทุกสิ่ง สู่เมตตากรุณาต่อทุกคน

ทีนี้หันมาพูดถึงครู อาจารย์ และวงการการศึกษา เรื่องไม่จบเท่านี้ ไม่จบแค่ฉันทะ และไม่จบแค่ศรัทธา ในวงวิชาการยังมีอะไรอีก

ในวงการการศึกษาและในวงการทางวิชาการ เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้และความจริงในกฎธรรมชาติอย่างนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น และเราก็มิใช่เพียงจะมาสร้างสรรค์วัตถุให้มันดีเท่านั้น แต่เรายังมีองค์ประกอบที่ต้องเกี่ยวข้องมากกว่านั้นอีก คือ เราต้องเกี่ยวข้องกับคน คือให้การศึกษาแก่มนุษย์ ที่ว่าเราต้องการให้ชีวิตของเขาดีงาม

ชีวิตของคนที่ยังไม่สมบูรณ์นั้น ถ้ามองในสายตาของคนที่สมบูรณ์แล้ว ก็เห็นว่าเขายังบกพร่องคือยังทุกข์อยู่ เมื่อเห็นคนอื่นมีทุกข์อยู่ คุณธรรมที่เกิดขึ้นแก่ผู้มองเห็นก็คือ กรุณา ซึ่งสืบเนื่องมาจากเมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดีต่อชีวิตของผู้อื่น

ที่จริงก็ฉันทะนี่แหละ พอมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์เข้า มันก็เปลี่ยนชื่อไป ฉันทะ แปลว่า อยากให้มันดี พอไปเจอเพื่อนมนุษย์ ความอยากให้มันดีไปแสดงออกที่คน ก็กลายเป็นอยากให้คนนั้นเขาดี เช่น อยากให้เขาอยู่ในภาวะที่ดีงาม เป็นคนดี มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีสุขภาพดี มีความสุข เอิบอิ่ม ฉันทะที่ว่าใฝ่ดี คือ ปรารถนาดี เมื่อมาแสดงต่อมนุษย์ก็กลายเป็นเมตตา ฉะนั้นเวลาท่านอธิบายเมตตา ท่านจะโยงไปหาฉันทะ เพราะโดยพื้นฐานที่แท้ฉันทะเป็นจุดเริ่มของเมตตา (เช่น วิสุทฺธิ.๒/๑๒๕; วิสุทฺธิ.ฏีกา ๒/๑๓๖)

ขอให้จับจุดนี้ให้ได้ จับที่รากเหง้าต้นตอเลย ฉันทะนี่เอง อยากให้มันดี ไปเกี่ยวข้องกับวัตถุ ก็เรียกฉันทะ พอมาเกี่ยวข้องกับคน ก็เปลี่ยนศัพท์ใหม่ เรียกว่าเมตตา คือปรารถนาดีหรือใฝ่ดีต่อเพื่อนมนุษย์

เป็นอันว่า ครูอาจารย์ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่ตัวความรู้ และไม่ได้เกี่ยวข้องแค่วัตถุสิ่งของ แต่เรามาเกี่ยวข้องกับคน ก็เลยต้องขยับมาสู่คุณธรรมที่เรียกว่าเมตตา

เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็อยากให้เขามีความสุข เรียกว่า เมตตา ต่อจากนั้นเมื่อเขามีปัญหา มีความทุกข์ เราก็อยากให้เขาพ้นจากทุกข์ หรือพ้นจากปัญหานั้น เมตตาก็เปลี่ยนไปเป็นกรุณา เมตตาใช้ในภาวะปกติ ส่วนกรุณาใช้ในภาวะที่คนนั้นตกต่ำ เดือดร้อน

ทีนี้สำหรับผู้ที่มองในแง่ของภาวะที่เลิศสูงสุดหรือสมบูรณ์ ก็จะมองคนทั่วไปว่ายังไม่สมบูรณ์ เมื่อมองเห็นว่าไม่สมบูรณ์ กรุณาก็จะเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา เช่นในการปฏิบัติพุทธกิจ เสด็จจาริกไปสั่งสอนประชาชนนั้น เราจะเห็นว่าคุณธรรมหรือพระคุณของพระพุทธเจ้าข้อนี้คือมหากรุณา เราไม่เรียกว่ามหาเมตตา เพราะเอาความสมบูรณ์เป็นมาตรฐาน หรือเป็นตัวตั้ง คือมองที่จุดสมบูรณ์ว่า มนุษย์ทั้งหลายยังไม่สมบูรณ์ เมื่อยังไม่สมบูรณ์ ท่าทีของจิตใจต่อคนที่ยังบกพร่องก็คือ กรุณา เพราะฉะนั้นพระคุณที่สำคัญในการช่วยเหลือมนุษย์ คือ จะพัฒนาเขาให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์ขึ้นไปสู่ความดีงามสมบูรณ์ จึงเรียกว่ากรุณา

ครูอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีคุณธรรมข้อนี้ในใจ อยากให้ชีวิตของผู้เรียนผู้ศึกษาพ้นจากความบกพร่อง พ้นจากปัญหา ขึ้นไปสู่ความดีงาม จนมีความสมบูรณ์ คุณธรรมที่เกิดในใจนี้ก็คือกรุณา เมื่อมีกรุณา ก็คือฉันทะมาแล้ว และจะทำให้การปฏิบัติงานของครูอาจารย์ได้ผลเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ที่สอน หรือเป็นครูอาจารย์ที่บริหารก็ตาม เมื่อกรุณามาแล้ว ฉันทะทำหน้าที่ ก็ต้องพยายามทำเด็กให้ดีให้ได้ ถ้าเด็กยังไม่ดีก็จะไม่ยอมหยุด ถ้าเด็กยังไม่หมดปัญหาก็จะไม่ยอมหยุด ถ้ามีคุณธรรมนี้อยู่เป็นแรงในใจ การศึกษาก็ต้องพัฒนา เดินหน้าแน่นอน เพราะฉะนั้นครูอาจารย์จึงไม่ใช่อยู่แค่วิชาการ แต่โยงเอาวิชาการมาสู่คนอีกขั้นหนึ่งด้วย คือทำให้วิชาการเกิดผลเชิงปฏิบัติการในชีวิตของคน โดยฉันทะโยงความรักวิชาการมาสู่การสอนคนด้วยกรุณา

ตอนนี้ก็ได้พูดมาแล้วหลายเรื่อง

๑. เรื่องการพัฒนาปัญญาในกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่เป็นระบบปัจจัยสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

๒. เรื่องปัญญาที่อาศัยศรัทธา เพื่อจะจับจุดให้ บอกทิศทางให้ และเพิ่มกำลังให้

๓. เรื่องที่ว่าการพัฒนาปัญญาต้องอาศัยจุดเริ่มหรือรากฐาน คือ ฉันทะ ได้แก่ความใฝ่รู้ ใฝ่ดี และใฝ่ทำให้มันดี พูดง่ายๆ ว่า ใฝ่ศึกษา ใฝ่สูง และใฝ่สร้างสรรค์ และ

๔. เรื่องการพัฒนาความสุข ที่พ่วงมาด้วยในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น

ทุกข์นั้นเพื่อรู้ทัน จะได้จัดการถูกที่
สุขนี้เพื่อให้มีสภาพคล่องในการสร้างสรรค์

ขอเน้นว่า เรื่องความสุขนี้สำคัญมาก ถ้าความสุขไม่มา การพัฒนามนุษย์จะสำเร็จยาก พุทธศาสนาเน้นเรื่องความสุขมาก ฝรั่งเข้าใจผิด แม้แต่คนไทยไม่น้อยก็หลงนึกว่าพระพุทธศาสนาทำไมสอนแต่เรื่องทุกข์ นี่คือจับไม่ถูก

พุทธศาสนาสอนอะไรจะต้องมีข้อปฏิบัติต่อสิ่งนั้น อย่างอริยสัจ ก็มีหน้าที่ต่ออริยสัจ ทุกข้อ คือต้องมีหน้าที่ต่อทุกข์ หน้าที่ต่อสมุทัย หน้าที่ต่อนิโรธ หน้าที่ต่อมรรค

หน้าที่ต่อทุกข์คืออะไร คือ ปริญญา เดี๋ยวนี้เราเอาปริญญามาพูดกันถึงปริญญาเอก ที่จริงนั้น ปริญญาเป็นเรื่องเกี่ยวกับทุกข์ ปริญญาสำหรับรู้เท่าทันทุกข์ เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ แต่เรามีหน้าที่รู้ทุกข์ คือรู้เท่าทันมัน พูดได้สั้นๆ ว่า ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับปัญญารู้ พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ปัญหาเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญหน้า ด้วยปัญญาที่รู้ ต้องรู้ปัญหาจึงจะแก้ปัญหาและทำให้คนมีความสุขจริงได้ เหมือนแพทย์ต้องการช่วยให้คนมีสุขภาพดี ก็ต้องรู้จักโรค และร่างกายซึ่งเป็นที่ตั้งของโรค

เป็นอันว่า ทุกข์เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือรู้ทันมัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ทุกฺขํ ปริญฺเญยฺยํ ทุกข์เป็นสิ่งที่จะพึงกำหนดรู้ รู้ทัน รู้จักมันให้ถูกต้อง พอจับมันได้ ทันมันแล้ว เราก็ไม่ต้องกลัวมันอีก ส่วนในการปฏิบัติ เรามีแต่ห่างทุกข์และเป็นสุขยิ่งขึ้นๆ ทุกข์สำหรับเรารู้ แต่สุขสำหรับเราเป็น พอปฏิบัติไปมีแต่สุขยิ่งขึ้นๆ ทุกข์น้อยลงๆ ปฏิบัติก้าวหน้าไปกับความสุข

แม้แต่สมาธิก็ต้องอาศัยสุข ถ้าไม่สุขแล้วสมาธิเกิดยาก คนที่มีความทุกข์อยู่ภายใน จิตใจย่อมดิ้นรน พลุ่งพล่าน ว้าวุ่น กระวนกระวาย เดือดร้อน จึงไม่สามารถจะสงบ ไม่สามารถจะตั้งแน่วแน่ลงได้ เพราะทุกข์มันบีบ ทำให้ดิ้น ทีนี้พอมีสุข ใจก็สงบลง โน้มไปสู่ความแน่วแน่มั่นคง เพราะไม่ถูกกวน เพราะฉะนั้นท่านจึงให้หลักไว้ว่า สมาธิมีสุขเป็นปทัฏฐาน (เช่น ที.ปา.๑๑/๓๐๒; วิสุทฺธิ.๑/๑๐๕) และพอได้สมาธิแล้วก็ยิ่งสุข

แต่พอสมาธิทำให้เกิดสุขแล้วจะต้องระวัง อาจเกิดโทษ คือพอสุขปั๊บก็เพลิน คนเรานี้พอทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่พอสุขสบาย ทั้งที่เป็นโอกาสดีที่จะทำงานได้คล่องและสะดวก เพราะไม่มีอะไรบีบคั้นติดขัดหรือรบกวน แต่กลับมีความโน้มเอียงที่จะหยุด จะเฉื่อยหรือเนือยลง จะนอน จะเสวยสุข คือ ขี้เกียจ ตกอยู่ในความประมาท ไม่ใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นท่านจึงเตือนไว้ว่า สมาธินี้เข้าพวกกันกับความเกียจคร้าน (วิสุทฺธิ.๑/๑๖๔) เมื่อสมาธิมา นอกจากสงบอยู่ตัวเข้าที่แล้ว ก็มีความโน้มเอียงที่จะเกิดความเกียจคร้านด้วย เรียกว่าเป็นที่มาของโกสัชชะ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีดุลยภาพ คือ ถ้ามีสมาธิ ต้องเอาวิริยะมาเข้าคู่

วิริยะ คือความเพียร เป็นภาวะจิตที่คึกคักเข้มแข็ง จะก้าวไปข้างหน้า วิริยะ มาจากวีระ แปลว่า แกล้วกล้า คนมีวิริยะก็คือคนที่ใจสู้ บุกฝ่า จะก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ไม่ยอมหยุด วิริยะนี้พาเดินหน้า ส่วนสมาธินั้นสงบ จะหยุดจะนิ่ง ถ้าวิริยะมากไปก็เดินหน้าแบบพลุ่งพล่าน เอาแต่จะเดินหน้าไป อาจจะกลายเป็นว้าวุ่น กระวนกระวาย ก็เสียผล ส่วนสมาธิทำให้สงบมั่นคงแน่วแน่ แต่ก็จะหยุดนิ่ง อาจจะกลายเป็นนอนนิ่งอย่างแน่วแน่ แต่พอวิริยะกับสมาธิมาเข้าคู่กัน ก็จะเดินหน้าอย่างแน่วแน่ อย่างสงบ และอย่างมั่นคง ทำให้ทำการต่างๆ อย่างได้ผลดีที่สุด เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีดุลยภาพในการปฏิบัติธรรม ถ้ามีสมาธิปั๊บ วิริยะต้องเข้ามา นี้เป็นเรื่องแทรก

รวมความว่า ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่เรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งประกอบด้วย

๑. พัฒนาพฤติกรรม เรียกว่า ศีล

๒. พัฒนาจิตใจโดยมีสมาธิเป็นแกน จึงเอาสมาธิมาเป็นชื่อเรียก ในฐานะเป็นตัวแทนของกระบวนการพัฒนาจิต โดยเรียกว่า สมาธิ

๓. พัฒนาปัญญา ซึ่งคงเรียกชื่อว่า ปัญญา

กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นภาคปฏิบัติทั้งหมดของพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าชีวิตของเราต้องอยู่ในไตรสิกขา คือ ก้าวหน้าไปในกระบวนการพัฒนานี้ตลอดเวลา ข้อปฏิบัติทุกอย่างในพุทธศาสนา ที่เรียกว่าธรรมทั้งหลาย อยู่ในกระบวนการที่เรียกว่าไตรสิกขานี้ทั้งหมด ไตรสิกขาคลุมหมด

เราเห็นชัดว่าไตรสิกขาเป็นกระบวนการที่คืบเคลื่อนไปสู่จุดหมาย เมื่อคืบเคลื่อน ก็ต้องเดินหน้าตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าปฏิบัติธรรมข้อไหนไม่เห็นความสัมพันธ์ว่า ข้อปฏิบัติหรือธรรมข้อนี้ส่งผลในกระบวนการของสิกขา ให้เดินหน้าไปอย่างไร ก็แสดงว่าเราจับจุดไม่ได้ และการปฏิบัติก็ต้องผิด ซึ่งกลายเป็นว่าธรรมมาดึงเราให้หยุด เช่นปฏิบัติสมาธิแล้วกลายเป็นหยุด นอนสบาย หรือแม้แต่เข้าสมาธิหาความสงบสุขทางจิตใจ แล้วหลบปัญหา หลบทุกข์ กลายเป็นว่าเอาสมาธิเป็นยากล่อม ก็แสดงว่าไม่ถูกต้อง

ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ธรรมทุกข้อจะต้องมีผลสัมพันธ์ส่งต่อในกระบวนการเดินหน้าในไตรสิกขา อันนี้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยข้อปฏิบัติทุกอย่างในพุทธศาสนา เพราะคุณสมบัติและข้อปฏิบัติคือธรรมทุกอย่างในพุทธศาสนา หรือที่จริงคือในธรรมชาติ อยู่ในกระบวนการของไตรสิกขาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นธรรมทุกข้อจะต้องจับให้ได้ว่ามันส่งผลอย่างไรต่อข้อปฏิบัติอื่นที่จะมารับช่วงต่อไป เช่น สมาธิเป็นเครื่องเตรียมจิตให้พร้อมที่จะทำงาน (เป็นกัมมนีย์ หรือกรรมนีย์) และจะต้องส่งผลต่อปัญญา หรือสุขจะมาช่วยให้เกิดสภาพคล่องในกระบวนการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติผิด สุขมาทำให้เราติด เพลิน สยบ หยุด ก็กลายเป็นประมาท พอประมาทก็พลาดหมด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)– ๒ – ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ >>

เชิงอรรถ

  1. ย้อนหลังไปนานไกลในอดีตสมัยกลางของยุโรป ฝรั่งคนไหน inquisitive (ชอบสอบถามมากนัก) ก็มีหวังถูกจับขึ้น Inquisition (ศาลไต่สวนศรัทธา) แต่เพราะถูกบีบถูกกดด้วย Inquisition ก็ยิ่งทำให้ฝรั่งมีนิสัย inquisitive มากขึ้น

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.