(บทบาทของสื่อมวลชนต่อวงการสงฆ์และสังคมไทย)

16 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 7 จาก 11 ตอนของ

(บทบาทของสื่อมวลชนต่อวงการสงฆ์และสังคมไทย)1

ผู้สัมภาษณ์ : แต่มีข้อสังเกตว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เขาจับประเด็นกัน อย่างที่สื่อมวลชนเสนอนั้น มักจะไม่เป็นไปตามที่ท่านเจ้าคุณตั้งประเด็นเอาไว้ คือเป็นอย่างที่ท่านว่า ได้แต่กล่าวเหน็บแนมบ้าง พูดไม่ตรงจุดบ้าง กลับไปเอาเรื่องอื่นมาเป็นจุดสนใจในการโต้ตอบโจมตีกันบ้าง อะไรอย่างนี้ อยากกราบนมัสการถามว่า ในระยะที่สื่อมวลชนมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องกรณีสันติอโศกนี้มาก ไม่ฉบับนี้ลงก็ฉบับโน้นลง เห็นได้ในระยะสามเดือนนี้แทบจะทุกวันนะคะ ขอกราบนมัสการถามว่า สื่อมวลชนที่พยายามติดต่อเพื่อที่จะสัมภาษณ์ท่านเจ้าคุณมีบ้างไหมเจ้าคะ

พระเทพเวที : มีบ้างแต่น้อยและอาตมาก็ไม่ให้สัมภาษณ์เลย เพราะอาตมาถือว่าหนังสือออกไปแล้ว ก็ขอให้อ่านไปตามนั้น หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ก็เคยติดต่อขอสัมภาษณ์ ต่อมาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็เคยส่งคนมาสัมภาษณ์ แต่อาตมาก็บอกว่ามีหนังสืออยู่แล้ว และอาตมาก็ให้หนังสือกรณีสันติอโศกไป สำหรับ Bangkok Post ไม่ทราบว่าได้ลงหรือเปล่า อาตมาไม่ได้ติดตาม แต่คุณที่มาจากไทยรัฐแกก็บอกว่าจะไปอ่านแล้วสรุปลง แต่แล้วก็เห็นเงียบไป ไม่เห็นสรุป เดลิมิเรอร์ก็เคยติดต่อมาผ่านทางคนรู้จักจะขอสัมภาษณ์ อาตมาก็ไม่ให้ เพราะเดี๋ยวจะเข้าไปเกี่ยวข้องในวงการเมือง เขาก็เปลี่ยนเป็นว่าให้ช่วยเขียนเรื่องลง อาตมาก็ขอตัวว่าไม่มีเวลาจริงๆ อาตมาถือว่าได้ทำหน้าที่ของเราไปดีแล้ว และก็ท้ายสุด สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ก็มาสัมภาษณ์เรื่องอื่น ว่าจะทำสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ฉบับพิเศษ ครบรอบตั้งมาได้ ๓๕ ปี ขอสัมภาษณ์อาตมาในเรื่องเกี่ยวกับ ทางออกของสังคมไทย ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ที่ถามจากหลายท่าน ในแง่นี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสันติอโศก เป็นเรื่องในทางวิชาการ แต่ในเวลามาสัมภาษณ์จริงก็ถามเรื่องนี้ด้วย อาตมาก็ให้คำตอบไปเพราะถือเป็นเรื่องแทรก

ผู้สัมภาษณ์ : หลายประเด็นไหมเจ้าคะที่เขามาถามเกี่ยวโยงไปถึงความคิดเห็นเรื่องสันติอโศก

พระเทพเวที : ก็ตอบไปมาก ยาวเหมือนกัน มีอยู่ในเทป และพิมพ์ออกมาแล้ว

ผู้สัมภาษณ์ : อีกเรื่องหนึ่งเจ้าค่ะ ขอกราบนมัสการถามว่า คงไม่ใช่จะมีแต่สำนักสันติอโศกเท่านั้นที่มีแนวปฏิบัติ และแนวคำสอนต่างๆ ที่ผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมวินัยหรือแก่นของพระพุทธศาสนา แต่ยังมีสำนักอื่นๆ อีกมากมายดังที่เราเห็นกันอยู่ และบางสำนัก สื่อมวลชนก็เริ่มเข้าไปคล้ายๆ ว่าจะหาข่าวมาตีแผ่ ทีนี้การสร้างสำนักสงฆ์ในลักษณะนี้ ผู้มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาหลายท่านก็วิจารณ์ว่า อีกหน่อยสังคมไทยจะไม่มีแกนรวมของพระพุทธศาสนา จะมีก็แต่ลัทธิต่างๆ ท่านเจ้าคุณมีความเห็นอย่างไรบ้างเจ้าคะ

พระเทพเวที : นี่ก็เรื่องยาว ซึ่งอาตมาก็ได้พูดไปกับสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ด้วย ความจริงอาตมาพูดมานานแล้วว่า การพระศาสนาในช่วงนี้เสื่อมโทรมและอ่อนแอมาก ปัญหาเรื่องสำนักต่างๆ จึงเกิดขึ้นมาได้ เราต้องการการปรับปรุงแก้ไข แต่การปรับปรุงแก้ไขจะทำได้อย่างไร ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองจะต้องคิดดำเนินการ ในกรณีนี้ ถ้าเราไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่ผู้ปกครองเอง ก็ยากที่จะทำอะไรได้ ก็ได้แต่พูดพยายามให้เขาเห็นความสำคัญและตื่นขึ้นมาทำ ส่วนที่เราจะทำได้ก็เป็นเรื่องกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในขอบเขตเท่าที่เราพร้อม ซึ่งเราก็พยายามทำของเราไป การที่พระทั่วไปในระดับล่างลงมานี้ ได้เกิดความตื่นตัว เกิดความสำนึกกันขึ้นมาเอง แล้วมาช่วยกันปรับปรุงก็ยังดี

เรื่องที่อาตมาว่าสำคัญและเป็นห่วงมาก คือพระพุทธศาสนาในชนบท ซึ่งขณะนี้เสื่อมโทรมและอ่อนแอมาก พระที่บวชเข้ามาส่วนมากไม่ได้รับการศึกษา เมื่อไม่ได้รับการศึกษา ก็ไม่มีหลักในการดำเนินชีวิตอย่างพระ ในการที่จะบำรุงรักษาวัดทำกิจพระศาสนา หรือแม้แต่จะประคับประคองตัวเองให้อยู่ในความประพฤติที่ดีงามถูกต้อง บวชเข้ามาแล้วก็ได้แต่ทำพิธีกรรม บางทีแม้แต่พิธีกรรมก็ไม่รู้ ต้องอาศัยมรรคนายกและชาวบ้านมาสอนให้อีกที กลายเป็นเพียงปฏิบัติพิธีกรรมไปตามที่ชาวบ้านเขาสอนให้ และทำหน้าที่นั่งเป็นประธานให้เขา ทีนี้เมื่อมีกลุ่ม มีสำนักอะไรเกิดขึ้น ถึงแม้เขาจะสอนผิดๆ เพี้ยนๆ ไป ประการที่หนึ่ง ตัวพระเหล่านี้เองก็ไม่มีกำลัง ไม่มีความรู้ที่จะไปตอบไปชี้แจงอะไรได้ ประการที่สอง ซ้ำร้ายกว่านั้น ตัวเองก็กลายเป็นจุดอ่อน ที่สำนักเหล่านั้นมาหยิบยกเอาไปเป็นเป้าโจมตี เพื่อทำให้ตัวเขาเด่นขึ้นมา

น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ชนบทของเราตอนนี้ กำลังทรุด การศึกษาไม่ได้รับการเอาใจใส่ และคนที่บวชตอนนี้โดยมากก็เป็นคนสูงอายุเข้ามาบวช บางคนที่ไม่มีทางไปแล้ว ก็บวชเข้ามา เพื่อหาเลี้ยงชีพเป็นอยู่ ถ้าไม่ใช่อย่างนั้น ก็เป็นพวกที่อายุมาก ต้องการพักผ่อน งานการอาชีพควรจะหยุด ก็เข้ามาบวช เพื่อพักผ่อน สองพวกนี้ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเล่าเรียนศึกษา และก็ไม่มีที่จะให้เล่าเรียนด้วย ก็สักแต่ว่ามาอยู่กับวัด เราจะเห็นว่า ปัจจุบันนี้มีวัดหลวงตาเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศไทย ซึ่งพระที่อยู่อายุมาก แต่เมื่อไปถามแล้ว ก็เพิ่งบวชได้แค่พรรษาสองพรรษา ไม่มีประสิทธิภาพในการที่จะปฏิบัติกิจการศาสนาอะไรเลย เป็นส่วนที่จะทำให้เกิดปัญหามากกว่าจะมีผลดี แต่ก็ขอบคุณท่านอยู่หน่อยที่รักษาวัดไว้ให้ ในขณะที่เราขาดแคลนพระที่มีคุณภาพ สำหรับผู้ที่บวชมาเพื่อพักผ่อนก็ยังดีกว่าพวกที่บวชเข้ามาเพราะไม่มีทางไปในการเลี้ยงชีพ พวกหลังนี้จะทำให้เกิดความเสียหายมาก เมื่อมาบวชแล้ว แกก็ต้องการหาเลี้ยงชีพ ประชาชนก็ไม่มีความรู้ แกก็อาศัยความไม่รู้ของประชาชนเป็นเหยื่อ ในการที่จะประกอบสิ่งที่เรียกว่าเดียรัจฉานวิชา และไสยศาสตร์ เมื่อชาวบ้านมาเชื่อถืองมงาย พระพวกนี้ก็ได้ลาภได้ผลส่วนตัวไป แต่ทำให้พระพุทธศาสนา ส่วนรวมเสื่อมเสีย และไม่เสื่อมเสียเพียงแค่นั้น กลุ่มอื่นก็เข้ามายกเอาเป็นจุดอ่อนโจมตี เวลานี้ ยิ่งหนักไปกว่านั้นอีก มีคนปลอมตัวเป็นพระเป็นชี ลงมาจากต่างจังหวัด เข้ามาเรี่ยไรและหาเงินด้วยวิธีการต่างๆ ในกรุงเทพฯ มากมาย เฉพาะจากจังหวัดชัยภูมิ มีผู้ใกล้ชิดเรื่องให้ตัวเลขว่า มีคนปลอมเป็นพระและเป็นชีเพื่อมาหาเงินในกรุงเทพฯ ถึงประมาณ ๑,๖๐๐ คน ทีนี้ อาตมาก็มองว่า ทำไมคณะสงฆ์ผู้บริหารจึงไม่แก้ไขปรับปรุงอะไรต่างๆ ซึ่งอาตมาและพระข้างเคียงจะพูดกันในเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา และเราก็มองว่า แม้แต่กฎหมายคณะสงฆ์ที่มีอยู่ คือ พระราชบัญญัติฉบับปัจจุบันนี้ ก็เป็นตัวเหตุสำคัญที่ทำให้การบริหารคณะสงฆ์ไม่ได้ผล รวมความก็คือต้องแยกประเด็น การที่อาตมาชี้แจงความเป็นจริงในแง่ของตัวบทกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจะถามว่าอาตมาเป็นพวกของกฎหมายนั้นหรือเปล่า เห็นด้วยกับกฎหมายนั้นหรือไม่ ก็เป็นคนละเรื่อง คนละประเด็น คนโดยมากเข้าใจไม่ถูก แยกไม่เป็น ซึ่งจะเห็นได้ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ พยายามเขียนให้เห็นว่าอาตมาเป็นพระของมหาเถรสมาคมก็มี ก็อย่างที่ได้พูดแล้วข้างต้นว่า ความจริงเป็นคนละเรื่อง คนไทยทุกคนย่อมขึ้นต่อกฎหมายไทย และขึ้นต่อการปกครองของรัฐบาลไทย แต่เราพูดไม่ได้ว่าเขาเป็นคนของรัฐบาล ในแง่ความคิดเห็นเขาอาจจะไม่ชอบนโยบายของรัฐบาลนั้นก็ได้ แต่ในแง่ข้อเท็จจริงเขาจำเป็นต้องขึ้นต่อรัฐบาลในแง่ของการปกครองตามกฎหมาย

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเขาจะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทยนั้นก็ไม่ได้ใช่ไหมเจ้าคะ

พระเทพเวที : ไม่ได้ นั่นเป็นการชี้แจงความจริง สมมติว่าคนไทยคนหนึ่งไม่ชอบรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน แล้วเขาไปเจอคนไทยอีกคนหนึ่ง ซึ่งพูดว่าผมไม่ขึ้นกับกฎหมายไทย ผมลาออกแล้ว คนไทยคนแรกนั้นทั้งๆ ที่ไม่ชอบรัฐบาลไทยเลย แต่ก็ต้องชี้แจงว่าคนไทยคนหลังนี้พูดไม่ถูก จะไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ นี้เป็นการชี้แจงตามข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนของรัฐบาล เหตุการณ์ที่ผ่านมานี้แสดงให้เห็นว่า หนังสือพิมพ์ก็ตาม คนทั่วไปก็ตาม จำนวนมากทีเดียว ไม่สามารถแยกความเข้าใจอันนี้ได้เลย เมื่อสองสามวันนี้ก็มีโยมท่านหนึ่งมีปัญหากับหน่วยราชการ และบ่นว่า “แหม! ฉันอยากจะลาออกจากความเป็นราษฎรไทยเหลือเกิน” ท่านอายุตั้งเจ็ดสิบกว่าปีแล้ว ถ้ามองในแง่ของการวิเคราะห์สังคมก็แสดงว่า เดี๋ยวนี้มีคนไทยไม่พอใจต่อสภาพบ้านเมือง แต่ไม่ได้แสดงว่าท่านจะลาออกได้จริง เว้นแต่จะออกจากประเทศไทยไปโอนสัญชาติที่อื่น

ผู้สัมภาษณ์ : เหตุปัจจัยบางอย่างเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เช่น ถ้าเราเกิด ก็ต้องระบุสัญชาติโดยอัตโนมัติ เป็นคนไทยก็ขึ้นต่อกฎหมายไทย เข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เราก็ต้องอยู่ภายใต้กฏของข้าราชการพลเรือนเป็นต้น ฉะนั้นเมื่อบวชเป็นพระไทยก็ต้องขึ้นกับกฎหมายคณะสงฆ์ไทย ประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่ง ที่ท่านเจ้าคุณอยากให้เกิดการเข้าใจอย่างกระจ่างใช่ไหมเจ้าคะ

พระเทพเวที : อย่างเช่นเป็นทหาร ถ้ายังเป็นทหารอยู่ จะบอกว่าฉันลาออกจากกฎหมายสำหรับทหารแล้ว ก็ไม่มีผลอะไร ถ้ายังเป็นพระไทย ก็ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ จะลาออกจากกฎหมายไม่ได้ ต้องลาออกจากความเป็นพระ การเป็นพระเกิดขึ้นเพราะการบวช เมื่อจะพ้นจากความเป็นพระก็ต้องสึก เมื่อเกิดเป็นพระขึ้นมาแล้วก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่ปกครองพระ อาตมาก็พยายามชี้แจงว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่เรื่องที่เราจะชอบหรือไม่ชอบกฎหมายนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แค่นี้ก็ไม่ทราบว่าทำไมจึงเข้าใจกันยาก

ผู้สัมภาษณ์ : อาจจะเป็นได้ไหมเจ้าคะว่า เวลาจับประเด็นต่างๆ อาจมองประเด็นกันไม่แจ่มแจ้ง และในการติดตามข่าวจากสื่อมวลชน บางครั้งการตีความบางอย่างก็เอียงไป ดิฉันมีความเห็นว่าสื่อมวลชนมีความสำคัญมาก เช่นการเสนอข่าวทางโทรทัศน์ บางครั้งมีการพูดพาดพิงให้เห็นเหมือนกับว่าเกิดการแตกแยกในคณะสงฆ์ไทย แต่ไม่ช่วยชี้วิธีการให้พิจารณาว่าการแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้ เมื่อมีส่วนที่เข้าใจไม่ตรงกัน มาพูดจาโต้แย้งกัน น่าจะเป็นเรื่องธรรมดา อันนั้นไม่ใช่เรื่องของความแตกแยก แต่กลับจับประเด็นว่า เมื่อมีการโต้แย้งกัน ก็มีความแตกแยกกันขึ้น

อีกข้อหนึ่ง จะขอกราบนมัสการถามท่านเจ้าคุณต่อไปเลยว่า ท่านได้ชี้ให้เห็นปัญหาว่า ตอนนี้พระพุทธศาสนาอ่อนแอมาก อย่างเช่นที่ยกตัวอย่างว่า คนที่เข้ามาบวช ขาดคุณสมบัติต่างๆ เช่น ทางด้านการศึกษา ทำให้ผู้สืบต่อพระศาสนาไม่มีคุณภาพ เพราะว่าการคัดสรรคนที่เข้ามาเป็นพระ ได้ถูกปล่อยปละละเลย เช่น เป็นการบวชตามประเพณีบ้าง บวชเพื่อพิธีกรรมบ้าง อยากให้ท่านเจ้าคุณกรุณาให้คำตอบกับปัญหาที่ว่า เมื่อมาถึงจุดที่อ่อนแออย่างนี้แล้ว สถาบันสงฆ์จะมีวิธีการใด ที่จะฟื้นฟูสถาบันสงฆ์ให้เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา โดยเฉพาะศรัทธาที่ผนวกด้วยปัญญา เพราะดิฉันมองเห็นว่า สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันที่ก่อให้เกิดความมั่นคงของประเทศชาติ

พระเทพเวที : เรื่องนี้อาตมาได้เน้นแล้วว่า เป็นห่วงชนบทมาก ห่วงพระที่ไม่มีการศึกษา จุดที่อาตมาสนใจมากคือ ทำอย่างไรจึงจะให้การศึกษาแก่พระได้อย่างเพียงพอ อย่างน้อยให้มีความรู้พื้นฐานระดับหนึ่ง ที่พอไว้วางใจได้ว่าท่านจะรักษาตัวได้ พอที่จะชี้แจงกับชาวบ้านได้ พระในชนบทมีความหมายยิ่งกว่าเป็นพระในศาสนา คนในชนบทนั้นเขานับถือพระ พระได้ชื่อว่าเป็นผู้นำของชนบทหรือท้องถิ่น และเป็นผู้นำในอันดับแรกด้วย ชาวบ้านจะมองพระเป็นอันดับหนึ่งก่อนแล้วจึงมองผู้นำคนอื่น เพราะฉะนั้น เรื่องของพระจึงไม่ใช่จะเป็นแต่เรื่องของศาสนา จะต้องมองในแง่ของสังคม เมื่อพระเป็นผู้นำของชุมชน เราก็จำเป็นต้องทำให้พระเป็นผู้นำที่มีคุณภาพ ชนบทจึงจะอยู่ได้ดีขึ้น ชนบทจึงจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ขณะนี้ ในเมื่อผู้นำไม่มีคุณภาพ ชนบทก็ยิ่งทรุดโทรม การแก้ปัญหาด้านศาสนาโดยเฉพาะการศึกษาของพระสงฆ์ในชนบท ไม่ได้มีความหมายเฉพาะว่าเป็นการปรับปรุงแก้ไขการพระศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการปรับปรุงแก้ไขปัญหาของสังคมไทยด้วย

ผู้สัมภาษณ์ : ดิฉันติดตามงานเขียนของท่านเจ้าคุณที่ชี้ประเด็นเรื่องการบวชและการดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ว่ามีปัญหาต่างๆ มากมายนั้น คิดว่าข้อประเด็นต่างๆ เหล่านั้นท่านเจ้าคุณก็ได้กล่าวมานานมากแล้ว แต่ช่องทางและการร่วมมือในส่วนของรัฐ ในการจัดการศึกษาของพระสงฆ์ ที่จะให้มีการเพิ่มพูนขึ้นนั้น รู้สึกว่าเป็นไปได้ช้าเหลือเกิน ท่านเจ้าคุณอยากจะฝากข้อคิดอะไรไว้บ้างเจ้าคะ

พระเทพเวที : ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือช้ามากเหลือเกิน และไม่ค่อยได้ผลอะไร แต่เวลานี้ก็ได้ผลขึ้นบ้างเหมือนกัน กล่าวคือ ทางฝ่ายบ้านเมือง ตอนนี้ก็ได้ให้ความสนใจมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่เห็นว่าจะมีผลจริงจังแค่ไหน แต่ในด้านความสนใจเชิงวิชาการทางฝ่ายพระสงฆ์เอง พระสงฆ์รุ่นใหม่ๆ ก็มีความตระหนักเข้าใจปัญหามากขึ้น อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์รุ่นใหม่ก็มีปัญหาของท่านเอง ซึ่งทำให้ติดขัดในการจะมาร่วมทำงานกันได้ จึงยังหวังได้ยาก ถ้าจะให้ได้ผลจริง ต้องออกมาจากฝ่ายบริหารซึ่งมีหน้าที่โดยตรง แต่ก็ยังมีอีกทางหนึ่ง คือ โอกาสในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของคณะสงฆ์ เวลานี้ก็กำลังจะมีแผนการศึกษาของคณะสงฆ์ ซึ่งอาตมาก็ได้ร่างให้และได้รับการเห็นชอบแล้ว คิดว่าอีกสักวันสองวัน ก็อาจจะเซ็นประกาศ เป็นประกาศที่เรียกว่า นโยบายและแผนการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นเพียงการประกาศเป็นทางการออกมาเท่านั้น ในทางปฏิบัติก็อยู่ที่ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญ และเอาจริงเอาจังด้วย จึงจะเกิดผล แต่ถ้าเป็นเพียงการยอมรับตามที่กรรมการแจ้งมา เพราะเป็นอำนาจตามกฎหมายแล้ว ก็เซ็นผ่านๆ ไป เสร็จแล้วก็ไม่มีแรงในการผลักดันให้เกิดผลทางปฏิบัติขึ้น ก็จะหวังอะไรไม่ได้มากมาย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (การดำเนินการของมหาเถรสมาคม)(พุทธบริษัทจะมีส่วนร่วมทะนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างไรได้บ้าง) >>

เชิงอรรถ

  1. ทางเว็บไซต์เป็นผู้จัดแบ่งเนื้อหาเป็นส่วนๆ และตั้งชื่อหัวข้อแต่ละส่วน เพื่อความสะดวกในการนำเสนอบนเว็บ หนังสือต้นฉบับไม่มีการจัดแบ่งหัวข้อแต่อย่างใด

No Comments

Comments are closed.