(พุทธบริษัทจะมีส่วนร่วมทะนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างไรได้บ้าง)

16 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 8 จาก 11 ตอนของ

(พุทธบริษัทจะมีส่วนร่วมทะนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างไรได้บ้าง)1

ผู้สัมภาษณ์ : อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านเจ้าคุณเคยแสดงธรรมเทศนาว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าศาสนาจะดำรงอยู่ได้นั้น พุทธบริษัทสี่ต้องช่วยกันทะนุบำรุง แต่ไปๆ มาๆ พอศาสนาเสื่อม ฝ่ายต่างๆ ก็มักมาโทษพระเป็นจุดแรก ดิฉันอยากจะทราบว่า ท่าทีที่ถูกต้องต่อการทะนุบำรุงพระศาสนาให้เป็นสถาบันที่ก่อความศรัทธา พุทธบริษัทอีกสามส่วนควรจะร่วมมือกันอย่างไรบ้างเจ้าค่ะ และประเด็นที่ท่านเจ้าคุณ กล่าวไว้ในกรณีสันติอโศกว่า อยากให้ประชาชนเข้าใจให้ถูกต้อง ขอกราบนมัสการให้ท่านเจ้าคุณให้แนวคิดเจ้าค่ะ

พระเทพเวที : อันนี้ก็แน่นอนละที่ว่า พระศาสนาจะอยู่ได้ก็ด้วยพุทธบริษัททั้งสี่ ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ในบางสมัยพระสงฆ์อ่อนแอ ฝ่ายคฤหัสถ์ก็เข้ามาช่วยเป็นฐานกำลังให้ เหมือนกับว่าเป็นกำแพงล้อมรอบ มาช่วยรักษาประคับประคองไว้ ตลอดจนมาช่วยกระตุ้นเนื้อในให้ปรับปรุงตัวขึ้น ทีนี้ฝ่ายคฤหัสถ์ที่เป็นผู้นำเป็นตัวแทนของอุบาสกอุบาสิกา ถ้ามองในระดับที่หนึ่งก็คือผู้บริหารประเทศ จะต้องเข้าใจหลักการและสภาพทั่วไปของพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมให้ชัดเจน ว่าจะแก้ไขอะไรที่จุดไหน

แต่ถ้าฝ่ายคณะสงฆ์ก็อ่อนแอ ฝ่ายตัวแทนของอุบาสกอุบาสิกา คือผู้บริหารประเทศก็อ่อนแอ ก็เหลือแต่พระสงฆ์ทั่วไป และอุบาสกอุบาสิกาอื่นๆ ที่มีกำลังคนละเล็กละน้อยกระจัดกระจายอยู่ ก็ต้องมาร่วมกันคิดแก้ไข ซึ่งตอนนี้เราก็จะเห็นว่า พระศาสนาฝ่ายพระสงฆ์ค่อนข้างอ่อนแอ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคม เราจะเห็นว่าปัจจุบันนี้ มีองค์กรหรือกลุ่มบุคคลหรือแม้แต่เอกชนฝ่ายคฤหัสถ์ ได้มาช่วยทำหน้าที่ในการเผยแผ่อะไรต่างๆ ที่ได้รับความนิยมเชื่อถือก็มีมิใช่น้อยเหมือนกัน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่ของฝ่ายอุบาสกอุบาสิกา แต่ก็เป็นการช่วยไว้เพียงบางส่วน คือเป็นกิจกรรมของบุคคลหรือเอกชนที่เข้ามาช่วยพยุงไว้เป็นจุดๆ หย่อมๆ ในงานเผยแผ่พระศาสนา ที่เป็นเรื่องของตัวธรรมะโดยตรง ซึ่งไม่มีหลักประกันการทำงานในระยะยาว แต่การดำรงสถาบันหรือองค์กรในระยะยาวจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่เรายังไม่ค่อยมองกัน อุบาสกอุบาสิกาจึงควรหันมาสนใจในเรื่องนี้ อย่างน้อยต้องสร้างความเข้าใจขึ้นมาก่อน เพราะขณะนี้เราประสบปัญหาแม้แต่ในขั้นความเข้าใจ นั่นคือ ความรู้ความเข้าใจว่า ปัญหาของคณะสงฆ์อยู่ที่ไหน และตัวปัจจัยสำคัญที่จะให้ศาสนาดำรงอยู่ได้คืออะไร ถ้าเราจับประเด็นถูกต้องและร่วมมือกันแก้ไข เช่นว่า การศึกษาในคณะสงฆ์เราจะช่วยสนับสนุนได้อย่างไร อาจจะต้องมีพระที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารทางศาสนาหันมาทำงานในด้านนี้ และประชาชนก็เข้ามาช่วย

ปัจจุบันนี้ ยังมีความคลาดเคลื่อนอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทัศนคติในการทำบุญของประชาชน เรามุ่งแต่การทำบุญถวายภัตตาหารให้พระสงฆ์มีฉัน เรามองข้ามไปว่า พระที่ฉันแล้วควรจะทำอะไร และเราควรจะช่วยสนับสนุนได้อย่างไร เราลืมการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางด้านการศึกษาแก่พระ ถ้าเรามองย้อนกลับไป แม้เพียงในสมัยรัตนโกสินทร์ก็เห็นชัดเลยว่าในรัชกาลที่หนึ่ง มีการทำบุญด้วยการให้การศึกษาแก่พระสงฆ์มาก โดยที่ในหลวงทรงทำเป็นตัวอย่าง คือ ในพระราชวังมีการจัดชั้นเรียนให้พระ พระมาเรียนในวัง แล้วจัดราชบัณฑิตมาถวายความรู้ และปรากฏว่า ตามวังของเจ้านายทั้งหลายก็เอาอย่าง มีการจัดว่าจ้างครูอาจารย์มาสอน และเลยไปถึงพวกขุนนางข้าราชการก็พลอยทำตามกัน นอกจากนั้น ก็เป็นประเพณีว่า เมื่อมีการจัดสอบของพระ ในหลวงจะทรงเป็นประธาน ดังตัวอย่างในรัชกาลที่ห้า เวลาสอบ ในหลวงจะเสด็จมา ทำกันเป็นเรื่องเป็นราว เป็นประกาศของในหลวงเองว่าให้ดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งได้อ่านพบว่า การจัดการศึกษาของพระสงฆ์นี้ให้ถือเป็นพระราชกิจ

ในปัจจุบัน ทางบ้านเมืองไม่เข้าใจประเพณีนี้เลย ท่านที่เป็นผู้บริหารประเทศไม่เข้าใจ เห็นว่า การศึกษาของพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็จัดไป ก็เลยไม่ได้เหลียวแล และทางด้านพระสงฆ์เอง ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจในการจัดการศึกษาให้กับคนของตัวเอง ไม่รู้ว่าพระเณรที่มาบวช มาเป็นนักเรียนในความรับผิดชอบของตน เป็นใครมาจากไหน เมื่อเข้ามาอยู่ในวัดจะให้การศึกษาอย่างไร เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจก็จัดไม่ตรงกับความต้องการของบุคคล และไม่รู้ว่าสังคมต้องการอะไร เมื่อไม่รู้ความต้องการของสังคม ไม่รู้ความต้องการของพระศาสนา ก็เลยสนองความต้องการของสังคมไม่ได้ ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ผู้บริหารการพระศาสนามองไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา บางท่านดูเหมือนจะถึงกับรังเกียจการศึกษาด้วยซ้ำ เพราะอย่างนี้ จึงเป็นปัญหาไปหมด ยุคนี้ก็เลยติดตันอยู่แค่ขั้นต้นที่สุดว่า ทำอย่างไรจะสร้างความเข้าใจขึ้นมาได้ก่อน แล้วมาช่วยกัน ร่วมมือในตัวหลักตัวที่เป็นปัจจัยสำคัญของการแก้ปัญหา

ผู้สัมภาษณ์ : ขอโยงเรื่องนี้เข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐสักนิดหนึ่ง จากที่ท่านเจ้าคุณ พูดถึงการศึกษาของพระสงฆ์ แล้วพูดถึงอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งก็รวมถึงผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ และนักวิชาการด้วย ตอนนี้รู้สึกว่า นักการศึกษาที่อยู่ในวงการศึกษาส่วนใหญ่ได้ร่ำเรียนจากประเทศตะวันตก การที่จะมีความรู้ความสนใจทางพระพุทธศาสนาก็มีน้อย แต่จะมีความสนใจในวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นวิทยาการจากต่างประเทศอย่างยิ่ง ในระบบการศึกษานี้ อยากให้ท่านเจ้าคุณฝากข้อคิดไว้สักนิดเจ้าค่ะ ในแง่ที่ว่า จะนำหลักพุทธธรรมมาปรับอย่างไร เพื่อให้คนมีความรู้ถึงแก่นพระพุทธศาสนาที่แท้จริง เกิดปัญญาสามารถนำไปเผยแพร่และดำรงชีวิตให้เกิดความสงบและสันติสุข

พระเทพเวที : คำถามนี้เป็นเรื่องที่กว้างมาก ในที่นี้จะยังไม่ตอบโดยตรง แต่จะพูดถึงเพียงเหตุผลหรือความจำเป็นที่นักวิชาการไทยจะต้องศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งก็มีข้อคิดอยู่บางอย่าง ในแง่ของพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมและจิตใจของประชาชน ซึ่งเป็นเนื้อตัวของเราเองที่มีอยู่ ในการที่จะพัฒนาอะไรขึ้นไป ก็ย่อมมีเนื้อตัวของตนเองซึ่งเป็นทุนเดิมเป็นรากฐานอยู่ก่อน และเนื้อตัวของเรานี้ก็ย่อมมีบทบาทเป็นปัจจัยส่งผลต่อการพัฒนาด้วย ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม การรู้จักตัวเองจึงมีความสำคัญ ทีนี้มามองดูที่วัฒนธรรมไทยของเรา ก็จะเห็นว่ามีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนามาก ถ้าเราจะเข้าใจตัวเอง เราจำเป็นต้องเรียนรู้พุทธศาสนาด้วย นอกจากเพื่อเข้าใจตนเอง และเพื่อรู้ว่าจะเอาเนื้อตัวที่มีอยู่เป็นทุนเดิมนั้นมาใช้อย่างไรแล้ว ก็เพื่อว่าเวลาไปรับของเขามา จะได้เอามาปรับให้เป็นของเราอย่างเข้ากันกลมกลืนสนิทได้ ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นเรื่องของความจำเป็นทีเดียว ไม่ใช่เป็นเพียงคำถามหรือทางเลือกว่า เราจะเรียนรู้เข้าใจพุทธศาสนา และเราจะใช้ดีหรือไม่ใช้ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อเราจะนำมาใช้ให้ได้ผลดี เราจะต้องเข้าใจและใช้ให้ถูก จึงเป็นความจำเป็นที่ว่าเราต้องทำความเข้าใจ เพื่อปรับเนื้อตัวที่เป็นทุนเดิมมาจากวัฒนธรรมที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐานนั้น ให้เข้ากับความต้องการ หรือแม้แต่ให้เข้ากับหลักวิชาของตะวันตกได้

ถึงแม้ว่าเราจะชอบวิชาการตะวันตกก็ไม่มีปัญหาอะไร ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าจะปรับอย่างไรให้วิชาการของตะวันตกนั้นเข้ากับตัวเราได้ หรือแม้แต่ถ้าว่าเราไม่ชอบเนื้อตัวของเราเองที่มีอยู่ เราก็ต้องหาทางชำระล้างเนื้อตัวของเราเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการรับของใหม่นั้นออกไปเสีย แม้แต่มองในแง่ลบ ถ้าจะต้องชำระเอาเนื้อตัวที่ติดมาแต่เดิมออกไป เราก็ต้องศึกษาอีกว่า อะไรที่เราจะต้องเอาออก และจะเอาออกได้อย่างไร จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และเข้าใจ อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้เราได้ก้าวมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว ถึงจุดที่มองเห็นกันว่า วิชาการตะวันตกก็เกิดปัญหาขึ้นมา พอเกิดปัญหาอย่างนี้เราก็แสวงหาทางออก ก็เลยมาคิดทบทวนหาสิ่งที่เป็นคุณค่าของเราเองที่มีอยู่ เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเป็นการได้ทางออกเข้าพอดีในขณะที่เรากำลังพยายามเข้าใจตนเอง เพื่อทำการปรับตนเองให้ได้ดีนั้น เราศึกษาไปๆ ก็อาจจะได้ข้อสรุปที่จะเอามาใช้แก้ปัญหาทางการศึกษาที่ตะวันตกติดตันอยู่ได้ด้วย ถ้าได้อย่างนี้ก็จะเป็นผลดียิ่งขึ้น

ผู้สัมภาษณ์ : ดิฉันในนามของฝ่ายบรรณาธิการวารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งเป็นตัวแทนมาสัมภาษณ์ ขอกราบนมัสการขอบพระคุณในความเมตตาของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ ที่เมตตาสละเวลาตอบข้อสัมภาษณ์ต่างๆ อันเป็นธรรมทานก่อให้เกิดความกระจ่างในแง่วิชาการอย่างดียิ่งเจ้าค่ะ ขอน้อมนมัสการด้วยจิตสำนึกในเมตตาธรรมที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์มีต่อคณะศึกษาศาสตร์ตลอดมาด้วยเจ้าค่ะ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (บทบาทของสื่อมวลชนต่อวงการสงฆ์และสังคมไทย)ภาคผนวก ๑: ปัญหาการแปลและตีความคำบาลีของพระโพธิรักษ์ >>

เชิงอรรถ

  1. ทางเว็บไซต์เป็นผู้จัดแบ่งเนื้อหาเป็นส่วนๆ และตั้งชื่อหัวข้อแต่ละส่วน เพื่อความสะดวกในการนำเสนอบนเว็บ หนังสือต้นฉบับไม่มีการจัดแบ่งหัวข้อแต่อย่างใด

No Comments

Comments are closed.