ผู้หญิงมาบวชไม่ได้ ก็ไม่น่าต้องไปเป็นโสเภณีที่ไหน

17 กันยายน 2541
เป็นตอนที่ 17 จาก 24 ตอนของ

ผู้หญิงมาบวชไม่ได้ ก็ไม่น่าต้องไปเป็นโสเภณีที่ไหน

ถาม: ในประเด็นที่เขาอ้างจำนวนผู้ชายที่มาบวชในพระศาสนาพอๆ กับจำนวนผู้หญิงที่ต้องไปตกต่ำ เพราะสถาบันศาสนาไม่เปิดโอกาสให้ ในสถานะของการเป็นแม่ชีก็ไม่เทียบเท่ากับการเป็นนักบวช ได้รับสภาพที่ต่ำกว่า คือแม้กระทั่งรัฐบาลก็ไม่รู้ว่าจะให้เป็นอะไรกันแน่

ตอบ: อันนี้เอามาปนกันหลายเรื่องเกินไป เรื่องของสังคมไทย เรื่องของศาสนา เรื่องของคณะสงฆ์ เราต้องแยกแยะก่อน คณะสงฆ์หรือพระมีหน้าที่อะไร การที่จะให้การศึกษาช่วยเหลือคนยากไร้ไม่ให้ตกต่ำ ด้วยการมาเป็นพระภิกษุนั้น เป็นบทบาทพลอยได้ขึ้นมา โดยที่มันเป็นความบกพร่องของสังคมไทยเอง

มันไม่ใช่เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะต้องมาช่วยให้การศึกษาแก่คนยากไร้ แต่มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่มีอยู่ยุคสมัยหนึ่งที่รัฐบาลเองบกพร่อง โดยขาดความสามารถก็ตาม โดยความไม่รู้ก็ตาม ทำให้ชาวชนบทที่ยากไร้ไม่เข้าถึงการศึกษาของรัฐ แต่เพราะวัดและพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางของการศึกษาอยู่แล้ว ก็เลยทำให้คนชนบทได้พลอยมีโอกาสศึกษาต่อมา เป็นช่องที่พอกล้อม แกล้มไป ไม่ใช่หมายความว่าได้ผลเต็มที่ เพราะว่ารัฐก็ไม่ยอมรับรองผลการศึกษาของคณะสงฆ์ที่คนยากไร้ได้อาศัย รัฐไม่ได้สนับ สนุน เพียงแต่หาทางรอดมาพอเป็นไปได้เท่านั้นเอง แต่ก็ช่วยผ่อนเบาปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษาไปได้เยอะพอสมควร

ทีนี้เรื่องที่ว่าผู้หญิงมาเป็นโสเภณีนั้น มันก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกับการที่ผู้ชายมาบวช การที่ผู้ชายบวชได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงเหล่านั้นจะต้องไปเป็นโสเภณี สมัยก่อนผู้ชายก็บวชมานานแล้ว ก็ไม่ได้มีปัญหานี้ แต่มันเป็นปัญหาของสังคมไทยเอง อย่างที่พูดแล้วว่าบทบาทพลอยได้อย่างหนึ่งคือ คณะสงฆ์เหมือนกับว่าช่วยเด็กผู้ชายยากไร้จากชนบทไว้ได้จำนวนหนึ่งให้ได้มีโอกาสทางด้านการศึกษา แต่เพราะว่าไม่มีภิกษุณีก็เลยไม่ได้ช่วยในฝ่ายหญิง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบทบาทนี้เป็นหน้าที่ของพระ และถ้าจะเอาประโยชน์ในแง่นี้ ถึงจะไม่มีภิกษุณี ผู้หญิงไปบวชเป็นแม่ชี ถ้าจัดให้ดีก็คงมีผลเท่ากัน

เดิมนั้นเมื่อผู้ชายจำนวนเท่านี้มาบวช ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจำนวนเท่านั้นจะต้องกลายเป็นคนเสียหาย สังคมที่ดีก็ต้องมีระบบการจัดการของตัวเอง สมัยนั้นเมื่อผู้ชายไปบวช กุลสตรีก็อยู่กันตามประเพณีวัฒนธรรมของเรา อันนี้ก็อย่างที่ว่า ข้อสำคัญมันเกิดจากการที่สังคมของเราบกพร่องเอง ถ้าสังคมของเราดี ก็ไม่ปล่อยให้ผู้หญิงเหล่านี้มาเป็นโสเภณีหรอก แล้วที่จริงมันก็ไม่จำเป็นอะไรที่ผู้ชายมาบวชแล้วผู้หญิงจะต้องไปเป็นโสเภณี แล้วก็ไม่ควรปล่อยให้เด็กเหล่านี้ขาดโอกาสในการศึกษา หรือได้รับการศึกษากระท่อนกระแท่น

เด็กจากชนบทที่คณะสงฆ์ช่วยไว้ ก็ใช่ว่าจะได้รับการศึกษาดี ก็กระท่อนกระแท่นกันไป เพราะทางฝ่ายรัฐก็ไม่ได้ยอมรับ เป็นแต่เพียงว่ามันเกิดเป็นผลพลอยได้จากเรื่องเก่า อาศัยบทบาทเก่าเท่านั้น ส่วนการที่จะดูแลผู้หญิงชาวชนบทนั้น เป็นหน้าที่ของสังคมที่ดีต้องวางระบบขึ้นเอง มันไม่ใช่หน้าที่ของพระ

เราอาจจะพูดได้ว่าในโอกาสที่สังคมบกพร่อง สถาบันสงฆ์ได้ทำงานที่เป็นผลพลอยได้อย่างหนึ่ง คือช่วยเด็กผู้ชายจำนวนหนึ่งไว้ แต่มันไม่ใช่หน้าที่ของพระที่จะมาทำงานนี้ เดี๋ยวจะจับบทบาทของพระผิดไป ตอนนี้บทบาทนี้ก็แทบจะช่วยไม่ได้แล้ว ถ้าเราจะมาเอาที่จุดนี้ ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะว่ามันเป็นเพียงการช่วยไว้ตามสภาพสังคมในยุคนั้น พอผ่านมาแล้วก็ช่วยอะไรไม่ได้

ยกตัวอย่างง่ายๆ พอรัฐขยายการศึกษาขึ้นไปประถม ๖ – ประถม ๗ ก็เกิดปัญหาแล้ว แม้แต่เด็กผู้ชายก็ไม่เข้ามาบวชแล้ว แล้วคณะสงฆ์จะไปช่วยอะไรได้ มันกลายไปขึ้นต่อเงื่อนไขของฝ่ายรัฐต่างหาก พอรัฐทำอย่างนี้ ขยายการศึกษาขึ้นไป ทีนี้ไม่มีเณรมาบวชแล้ว อย่าว่าแต่เรื่องผู้หญิงเลย เด็กผู้ชายก็เหมือนกัน พอจบประถมแล้ว แทนที่จะมาบวช กลับไปเข้าโรงงานอุตสาหกรรม นี่กลายเป็นปัญหาสังคมอีกใช่ไหม คือเรื่องแรงงานเด็กน่ะ ในยุคที่แล้วเกิดปัญหาแรงงานเด็กเยอะแยะไป ผู้ชายนี่ละก็เป็นปัญหาของสังคมไทยขึ้นมาอีก เราจะต้องพิจารณาจับหลักให้ถูก อะไรมันควรจะเป็นบทบาทของใคร จะพูดแง่เดียว จุดเดียวไม่ได้

ส่วนความเป็นแม่นั้น เป็นสถานะโดยธรรมชาติ มีความสูงเลิศอยู่ในตัว ไม่เป็นเรื่องที่จะเอาไปเทียบกับอะไร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เมืองไทยเป็นอย่างนี้ จะมีภิกษุณีเถรวาทได้ไหมแม่ชีที่เรามีอยู่แล้ว ช่วยกันส่งเสริมขึ้นมาจะดีไหม >>

No Comments

Comments are closed.