– ๑ – จากอุบาสก-อุบาสิกา มาถึงปัญหาภิกษุณี

19 กรกฎาคม 2544
เป็นตอนที่ 1 จาก 24 ตอนของ

– ๑ –
จากอุบาสก-อุบาสิกา
มาถึงปัญหาภิกษุณี1

เข้าพรรษา คือถึงฤดูกาลแห่งการศึกษา

วันเข้าพรรษานี้ ทราบกันดีว่าเป็นเวลาที่พระสงฆ์อยู่ประจำที่ โดยเฉพาะเมื่อพระเก่าอยู่กับวัด ก็เป็นโอกาสให้มีผู้เข้ามาบวชเป็นพระใหม่

เมื่อพระใหม่กับพระเก่ามาอยู่ร่วมกัน พระเก่าก็จะได้เป็นกัลยาณมิตร ที่จะนำความรู้พระธรรมวินัย และประสบการณ์ในการปฏิบัติเป็นต้น มาถ่ายทอดแนะนำสั่งสอนให้แก่ผู้ใหม่ เราจึงได้มีประเพณีนิยมบวชในระยะเข้าพรรษา

ตัวอย่างเช่นที่วัดนี้ ปีนี้ มีพระทั้งหมดทั้งเก่าและใหม่ ๑๘ รูปด้วยกัน เป็นพระเก่าครึ่งหนึ่ง คือ ๙ รูป และพระใหม่อีกครึ่งหนึ่ง คือ ๙ รูปเหมือนกัน

การบวชเรียนนี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาตามประเพณี เป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทยที่ตั้งอยู่บนฐานของพระพุทธศาสนา คือเรานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จึงได้มีประเพณีนี้เกิดขึ้น การที่เราปฏิบัติในสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ และทำต่อกันมานานเข้าก็กลายเป็นประเพณี

ประเพณีนี้เราเรียกว่า “ประเพณีบวชเรียน” ซึ่งนิยมปฏิบัติ กันมาในช่วงเข้าพรรษา ตลอดฤดูฝน ถ้าทำได้ตามนี้ก็ถือว่าสมบูรณ์ตามประเพณี

แต่ปัจจุบันผู้ที่จะปฏิบัติได้ครบอย่างนี้มีน้อยลง มักบวชกันไม่ค่อยเกินหนึ่งเดือน บางทีสั้นกว่านั้นอีก เหลือแค่ครึ่งเดือน บางแห่งเจ็ดวันก็มี สั้นกว่านั้นก็มี จนกระทั่งมีคำล้อกันว่า บวชยังครองผ้าไม่เป็น ก็สึกไปแล้ว

การบวชที่แท้นั้นเป็นการบวชเรียน คือการบวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และให้เรียนรู้ภาคปฏิบัติในชีวิตจริง คือเรียนด้วยชีวิตของตน เป็นไตรสิกขา ได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา

เวลานี้ผู้ที่บวชอยู่จำตลอดพรรษามีน้อยลง เพราะฉะนั้น ที่วัดนี้ จึงวางหลักว่า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้บวชอย่างน้อยสักเดือนหนึ่ง ถ้าบวชได้เต็มที่ครบสามเดือนก็ดี สำหรับพรรษานี้มีท่านที่อยู่ได้หลายรูป

การบวชอยู่ได้สั้นลงนี้ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเราจะไปว่าใครได้ยาก จะทำได้ก็เพียงว่า ทำอย่างไรจะให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดเป็นประโยชน์เท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่อพระจำพรรษาอยู่ด้วยกัน มีผู้ใหม่กับผู้เก่า นอกจากพระใหม่จะได้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ก็ยังมีญาติโยม ซึ่งเมื่อพระอยู่ประจำที่ ก็เป็นโอกาสที่จะมาพบปะ มาทำบุญ มาปรึกษาสนทนาธรรมได้มากขึ้น บางท่านจึงได้ถือเหมือนกับเป็นวัตร คือเป็นข้อปฏิบัติประจำ ที่จะมาที่วัดวาอาราม แล้วก็มาทำบุญ มารักษาศีล เจริญภาวนา

ญาติโยมชาวธรรมะร่วมสมัยที่นัดหมายกันมาในวันนี้ ก็จัดเข้าเป็นการปฏิบัติตามคติแห่งประเพณีนี้เหมือนกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน >>

เชิงอรรถ

  1. ธรรมกถา แก่ชาวธรรมะร่วมสมัย ผู้เดินทางไปทำบุญที่วัดญาณเวศกวัน ในโอกาสเข้าพรรษาใหม่ๆ ณ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔

No Comments

Comments are closed.