พัฒนาจากความเป็นผู้ตาม-ผู้รับ สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้

23 สิงหาคม 2532
เป็นตอนที่ 11 จาก 12 ตอนของ

พัฒนาจากความเป็นผู้ตาม-ผู้รับ สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้

พอดีเวลาก็จะหมด อาตมาจะขอย้ำไว้แต่เพียงส่วนที่เป็นเรื่องของตัวชีวิตเด็กเองนี้เป็นจุดเริ่มต้น ส่วนหัวข้อต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น จะขอข้ามไปก่อน ทั้งในด้านที่เกี่ยวกับสังคมไทย ในด้านที่เกี่ยวกับสังคมโลก และในด้านที่เกี่ยวกับสถานการณ์ของยุคสมัย แต่สิ่งที่จะพูดไว้อย่างหนึ่งก่อนที่จะจบนี้ คือ คนในสังคมไทยในระยะเวลาที่ผ่านมานี้ มีลักษณะหนึ่งซึ่งเป็นที่น่าสังเกต คือ เรามีลักษณะเป็นผู้ตาม หมายความว่า เป็นผู้มีความนิยมวัฒนธรรมตะวันตกมาก เห็นความเจริญของตะวันตกเป็นแบบอย่าง เห็นเขามีอะไรก็จะพยายามตามอย่างนั้น (แต่ตามบริโภค ไม่ใช่ตามผลิต)

แล้วพร้อมกับลักษณะที่เป็นผู้ตามนี้ ก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่งพ่วงมาด้วยที่ไม่ค่อยมองกัน คือ ลักษณะของการเป็นผู้รับ ตามและรับ เป็นลักษณะของคนในสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ใช่หรือเปล่า เราต้องคิดดู ตามเขา เขามีอะไรก็ตาม เขาชอบอะไรก็ตาม เขามีค่านิยมอะไรก็ตาม (ยกเว้นค่านิยมผลิต) เขามีอะไรเกิดขึ้นก็รับเอามา และรับเอาอย่างนักบริโภค ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องยอมรับว่าพลาด ต่อไปนี้เราจะต้องเน้นการสร้างสรรค์สังคมของเรา โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะหันเหเบนจากการเป็นผู้ตามและผู้รับ มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์พัฒนาเยาวชนของเรา ให้เป็นผู้มีลักษณะแห่งความเป็นผู้นำและผู้ให้ ที่ว่าเป็นผู้นำและผู้ให้นั้น เรามองเรื่องนี้โดยสัมพันธ์กับสังคมมนุษย์ทั้งหมด คือทั้งโลกว่า ในประชาคมโลกนี้ทำอย่างไรคนในสังคมไทยเราจึงจะเป็นผู้นำ จะนำด้านใดด้านหนึ่ง วิชาการด้านใดด้านหนึ่ง หรือแนวความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง อะไรก็ตาม ต้องนำเขาได้บ้าง ต้องมีอะไรที่จะให้เขาบ้าง และต้องเป็นผู้ให้อะไรแก่เขาได้บ้าง อย่างที่เรียกว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกมนุษย์ เราจะต้องมาพิจารณาตัวเราเองให้มาก

เท่าที่ผ่านมา สังคมไทยได้มีส่วนอะไรบ้าง ในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ในการทำให้โลกเจริญขึ้นมา ถ้าโลกที่แล้วมาเจริญผิด ก็ดีไป เราจะได้ไปช่วยแก้ไข ตอนนี้เป็นโอกาสของเราว่า เราจะช่วยแก้ไขปัญหาของโลก มีส่วนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมของโลกในทางที่ดีงาม ถ้าเราไม่มีจุดมุ่งหมาย หรือเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว เราจะพัฒนาสังคมไปอย่างเลื่อนลอย สะเปะสะปะ เราจะต้องมีความมุ่งมั่นสักอย่างหนึ่ง จะต้องเป็นสังคมที่พัฒนาโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน และพยายามสร้างจิตสำนึกในแนวนั้นขึ้นมา ให้เป็นจิตสำนึกของสังคมและของชาติ เมื่อพิจารณาดูลักษณะสังคมของไทย ถ้าเรายอมรับว่าเราเป็นผู้ตาม และผู้รับแล้ว ก็ขอให้เรามาสร้างจิตสำนึกกันใหม่ มากระตุ้นเร้ากันว่า เราจะต้องพยายามเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ ต่อไปเยาวชนของเราจะต้องมีบุคลิกภาพ แนวความคิด จิตใจ และลักษณะของความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้ เริ่มตั้งแต่ในชุมชนเล็กๆ ให้มีลักษณะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้ความร่วมแรง ร่วมงาน ร่วมมือ ร่วมใจ ซึ่งขณะนี้เรากำลังเป็นปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ความมีน้ำใจกำลังจะหมดไป การร่วมมือร่วมใจ ร่วมงานกันไม่มี ทำกิจการและกิจกรรมร่วมกันไม่ได้ รวมทั้งการร่วมสุขร่วมทุกข์ กว้างออกไป ก็มีความคิด มีสติปัญญา มีความเจริญทางวิชาการ เป็นต้น เรียกสั้นๆ ว่า มีภูมิธรรมภูมิปัญญาที่จะนำเขา ที่จะให้แก่ผู้อื่นจนถึงชุมชนโลก ดังที่บอกเมื่อครู่ว่า ชาติไทยของเรามีอะไรเป็นส่วนร่วมที่จะให้แก่อารยธรรมของมนุษย์บ้าง เพื่อว่าเราจะได้มีความภูมิใจในสังคมของตนเองขึ้นมาได้บ้าง ไม่ใช่มีแต่ความรู้สึกเป็นผู้ตาม ซึ่งในจิตสำนึกลึกๆ นั้นก็คือความเป็นผู้ด้อย ในความเป็นผู้ตาม และผู้รับนั้น ในส่วนลึกของจิตใจจะมีความเป็นผู้ด้อยอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความภูมิใจในตัวเองอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น จะต้องพยายามเปลี่ยนแนวทางของชีวิตและสังคมกันใหม่ สร้างจิตสำนึกกันใหม่ เพื่อให้ชีวิตของเด็กและเยาวชนนั้นพัฒนาสู่ความสมบูรณ์

ตามที่อาตมากล่าวมาทั้งหมดนี้ เมื่อสรุปแล้วก็รวมอยู่ที่การสร้างสรรค์ชีวิตเพื่อให้เข้าถึงองค์ประกอบ ๓ ประการของชีวิตที่สมบูรณ์ เมื่อใดเราพัฒนาชีวิตให้ประกอบด้วยองค์ ๓ แล้ว ก็จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ องค์ ๓ คืออะไรบ้าง ในการที่จะพัฒนาตัวเด็กให้มีรุ่งอรุณของการศึกษา ตลอดจนดำเนินชีวิตตามมรรคนั้น เราต้องการให้เข้าถึงองค์ ๓ ประการนี้ ซึ่งประกอบกันเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ กล่าวคือ

๑. ในการพัฒนาคนนั้น แก่นแท้ก็คือการพัฒนาปัญญาให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ในขั้นสูงสุดก็คือรู้สัจจธรรม นี่คือเป้าหมายในการพัฒนา คือมีปัญญารู้สัจจธรรม เป็นเป้าหมายใหญ่ เป็นองค์ประกอบใหญ่

๒. เมื่อรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงแล้ว เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้ถูกต้อง สภาพที่เป็นปัญหาก็เพราะเราปฏิบัติไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่รู้ว่ามันคืออะไร ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร เมื่อเรารู้จักชีวิตรู้จักโลกตามความเป็นจริง เราก็ปฏิบัติต่อชีวิต และต่อโลกอย่างถูกต้อง การปฏิบัติต่อชีวิต หรือดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และปฏิบัติต่อโลกอย่างถูกต้อง หรือต่อประสบการณ์ถูกต้อง นี้คือ จริยธรรม

๓. เมื่อเราปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง หรือดำเนินชีวิตถูกต้อง ปฏิบัติต่อโลก ต่อประสบการณ์ทั้งหลายถูกต้อง ก็นำไปสู่ผล คือการแก้ปัญหาได้สำเร็จ เป็นอันว่า เริ่มแรกรู้จักสิ่งต่างๆ ถูกต้อง แล้วปฏิบัติได้ถูกต้อง นำสู่ผลเบื้องปลาย คือ แก้ปัญหาได้ เมื่อแก้ปัญหาได้ ก็มีความสุขในระดับขั้นต่างๆ จนถึงภาวะอันสูงสุด หมดปัญหาหมดความทุกข์ ถึงภาวะที่สิ่งทั้งหลายไม่เกิดเป็นปัญหา ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น ก็เกิดความเป็นอิสรภาพ สันติสุขก็เกิดขึ้นเป็นองค์ประกอบองค์ที่ ๓ โดยสรุป องค์ประกอบ ๓ ประการคือ

  1. มีปัญญารู้สัจจธรรม จึงทำให้
  2. มีการปฏิบัติที่เป็นจริยธรรม แล้วก็
  3. เข้าถึงอิสรภาพ มีสันติสุข

นี้คือองค์ประกอบของชีวิตที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของการสร้างสรรค์พัฒนาเยาวชน นี้คือสิ่งที่อาตมาได้นำมาเสนอในวันนี้ ซึ่งส่วนมากได้เน้นในแง่ที่หนึ่ง คือมองเยาวชนโดยสัมพันธ์กับตัวของเขาเอง เน้นที่การพัฒนาชีวิตของเขาว่า จะให้เขาเป็นคนอย่างไร มีบุคลิกภาพอย่างไร มีคุณสมบัติอะไร ไปสู่จุดหมายอะไรของชีวิต ทั้งนี้โดยคำนึงถึงพระพุทธพจน์ที่ว่า ปุตฺตา วตฺถุ มนุสฺสานํ เด็กทั้งหลายเป็นที่รองรับไว้ซึ่งมนุษยชาติ

การที่เราทั้งหลายมองเห็นความสำคัญของเยาวชนนี้ นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ดังที่ได้มีกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมจริยธรรมของเด็กและเยาวชนในวันนี้ ขอให้กิจกรรมในวันนี้ จงนำไปสู่กิจกรรมสืบเนื่องที่เป็นความเจริญยิ่งขึ้นต่อไป คือการปฏิบัติหรือลงมือทำ โดยอิงอาศัยการช่วยกันคิดพิจารณา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ ขอเอาใจช่วยให้การประชุมสัมมนาครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงเกิดผลประโยชน์ สมความมุ่งหมาย และขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร ให้ทุกท่านประสบจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข พรั่งพร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ในการบำเพ็ญประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านให้สำเร็จ โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< รุ่งอรุณของการศึกษาเกริ่นนำ >>

No Comments

Comments are closed.