รุ่งอรุณของการศึกษา

23 สิงหาคม 2532
เป็นตอนที่ 10 จาก 12 ตอนของ

รุ่งอรุณของการศึกษา

รุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรืองดีงาม มี ๗ ประการ คือ

๑. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี ข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้น เยาวชนที่จะเติบโตไปสู่ชีวิตที่ดีงาม สามารถพัฒนาชีวิตของเขาเองก็ดี พัฒนาสังคมก็ดี จะต้องเป็นคนที่รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี เด็กที่จะเติบโตและรุ่งเรืองขึ้นมาได้ จะต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อม โดยเฉพาะในทางสังคม

การรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีนี้เป็นจุดเชื่อมต่ออย่างถูกต้อง ในการสัมพันธ์กับสังคม เมื่อสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ก็ทำให้เกิดการพัฒนาแก่ชีวิต การสัมพันธ์กับสังคม จะทำให้การพัฒนาชีวิตสำเร็จผลได้ ก็ต่อเมื่อเด็กรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี เขาจะเริ่มเป็นผู้กระทำ ไม่เป็นแค่เพียงผู้รับ หรือเป็นผู้ถูกกระทำเท่านั้น เพราะสิ่งแวดล้อมภายนอกทางสังคมนั้นมีทั้งดีทั้งชั่ว เด็กพร้อมที่จะรับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกเหล่านั้น เมื่ออิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทางสังคมเข้ามา ถ้าเด็กไม่มีการกระทำของตัวเอง เด็กก็จะเป็นเพียงผู้ถูกกระทำ ก็อาจจะถูกปัจจัยแวดล้อมที่ไม่ดีมาหล่อหลอม ทำให้เกิดผลเสียขึ้น

เด็กที่จะพัฒนาตัวเองได้ จุดเริ่มก็คือ การที่เด็กนั้นเริ่มสัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมทางสังคมเป็น การรู้จักสัมพันธ์เป็นก็คือ เขารู้จักทำ มีการกระทำของตนเอง ซึ่งเริ่มด้วยการเลือกหาแหล่งความรู้ และได้แบบอย่างที่ดี ฉะนั้น ถ้าเด็กจะทำอะไรก็ตาม เช่น จะดูโทรทัศน์ ถ้าแกมีหลักนี้ ก็ดูโทรทัศน์เป็น รู้จักเลือกหาว่ารายการไหนที่จะได้ประโยชน์ จะได้ความรู้มาสร้างสรรค์ชีวิตของตนเอง พัฒนาตนเอง และรู้จักเลือกแบบอย่างที่ดี พอเรียนหนังสือก็รู้จักใช้ห้องสมุด รู้จักอ่านหนังสือ รู้จักพิจารณาว่า หนังสือไหนควรอ่านเพื่อจะได้ความรู้ อย่างนี้เรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา เป็นจุดที่การพัฒนาชีวิตเริ่มต้น

หลักธรรมนี้ เรียกว่า กัลยาณมิตตตา พ่อแม่ ครูอาจารย์ สื่อสารมวลชน และผู้ใหญ่ทั่วไป มีหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร โดยเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี และช่วยจัดสรรสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่เด็ก แต่การที่กัลยาณมิตรจะมาคอยจัดสภาพแวดล้อมให้ ซึ่งรวมไปถึงการคอยช่วยบอกช่วยเลือกว่า หนังสือเล่มนี้ดี รายการโทรทัศน์นี้ดี แค่นี้ยังไม่พอ ยังไม่เข้าถึงเนื้อตัวของการศึกษา เด็กยังต้องพึ่งพาขึ้นต่อปัจจัยภายนอก พ่อแม่และครูอาจารย์ เป็นต้น จะต้องก้าวต่อไปให้ถึงขั้นที่ชี้แนะให้เด็กรู้จักเลือก รู้จักหากัลยาณมิตรด้วยตนเอง คือ รู้จักคบคน รู้จักเลือกหนังสือ รู้จักเลือกรายการโทรทัศน์ รู้จักรับเอาตัวอย่างที่ดีด้วยตนเอง ต้องถึงขั้นนี้จึงจะมั่นใจและไว้ใจได้ เด็กจะไม่มีแต่กัลยาณมิตรเท่านั้น แต่จะมีกัลยาณมิตตตาด้วย และนี่แหละคือการศึกษาที่แท้จริงได้เริ่มต้นแล้ว เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา

๒. รู้จักจัดระเบียบชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม คือ ความมีวินัยนั่นเอง ในความมีวินัยนี้ จุดสำคัญที่ควรจะเน้นก็คือ การรู้จักจัดระเบียบชีวิตของตน และรู้จักจัดระเบียบความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น วินัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นตัวเอื้ออำนวยให้เรามีโอกาส มีเวลาที่จะพัฒนาชีวิตของเราได้สะดวกขึ้น

ถ้าชีวิตไม่เป็นระเบียบ สับสน ก็ต้องมัวแต่วุ่นวายติดขัด ไม่ปลอดโปร่ง และไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนมาใช้ประโยชน์ ชีวิตที่จัดระเบียบได้ดีแล้ว เป็นชีวิตซึ่งพร้อมที่จะรับการพัฒนาโอกาสของมนุษย์ในแต่ละวัน เช่น เวลา และความคล่องตัว เกิดจากการรู้จักจัดระเบียบชีวิตของแต่ละคนนั้น ถ้าจัดระเบียบเป็นแล้ว ก็มีเวลาให้ไปทำโน่นทำนี่ได้ประโยชน์เป็นอันมาก ในทางสังคมก็เช่นเดียวกัน ถ้าจัดระเบียบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่เป็น ก็จะสับสนวุ่นวาย มัวแต่ยุ่งอยู่กับปัญหา เช่นความขัดแย้ง ก็เลยไม่เป็นอันทำอะไร ไม่มีเวลาที่จะใช้โอกาสของชีวิตในการที่จะพัฒนาตน ในการแสวงหาความรู้ เป็นต้น แต่ถ้าจัดระเบียบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นไว้ดี ก็จะเอื้ออำนวยให้เรามีโอกาสที่จะแสวงหา และทำสิ่งต่างๆ ที่จะพัฒนาชีวิตของตนเองได้

กฎเกณฑ์และกติกาต่างๆ ของสังคม ตั้งแต่ศีล ๕ ลงมาจนถึงวินัยของข้าราชการ ระเบียบในห้องเรียน และกติกาในสนามกีฬา ว่าโดยความมุ่งหมายที่ถูกต้องแท้จริง ก็มุ่งเพื่อให้คนอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน มีความสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งในเรื่องทั่วๆ ไป และในเฉพาะแต่ละเรื่อง อย่างสงบราบรื่น ไม่เบียดเบียนข่มเหง แก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบกัน การอยู่ร่วมและกิจกรรมนั้นๆ จะได้ดำเนินไปด้วยดี บรรลุผลตามวัตถุประสงค์

ดังนั้น การจัดระเบียบชีวิต และระเบียบการอยู่ร่วมในสังคม จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ท่านจึงจัดเป็นอันดับ ๒ เรียกง่ายๆ ว่า ชีวิตมีวินัย ซึ่งในที่นี้ให้เข้าใจว่า เป็นการจัดระเบียบของชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้ชีวิตนั้นมีเวลาและโอกาส เป็นชีวิตที่มีสภาพความเป็นอยู่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตนเอง นี้ก็คือหลักธรรมที่เรียกว่า สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล แปลให้เป็นภาษาสมัยใหม่ว่า การจัดระเบียบชีวิตและจัดระเบียบการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี

๓. มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ คนเราที่จะพัฒนาชีวิตไปได้ จะต้องมีแรงจูงใจ ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ หรือจะทำอะไรสักอย่างก็ต้องมีแรงจูงใจ คือมีความอยากมีความปรารถนา เช่น นักเรียนอยากได้ประกาศนียบัตร อยากได้งานที่ดีทำ อยากมีเงินเดือนดี จึงเข้าเรียนหนังสือ จึงเลือกเรียน เลือกวิชา เลือกอาชีพ ที่ตนคิดว่าจะทำให้ได้เงินดี แต่นี่เป็นความอยากหรือความปรารถนาที่หยาบๆ ตื้นๆ ลึกลงไปกว่านั้น ถ้าเด็กมีความใฝ่รู้ อยากรู้ความจริงของสิ่งต่างๆ และอยากรู้วิชาการนั้นๆ เช่น อยากรู้กฎทางวิทยาศาสตร์ อยากรู้ความจริงของเรื่องราวนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เขาก็จะต้องตั้งใจอ่านหนังสือค้นคว้าตำรับตำรา ตั้งใจทดลองสิ่งต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความรู้ แรงจูงใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ท่านจัดไว้เป็นอันดับที่ ๓ คือต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง

แรงจูงใจที่ถูกต้อง ที่จะทำให้มนุษย์พัฒนาตนเองได้ คือ แรงจูงใจที่เรียกว่า ฉันทะ ได้แก่ ความใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์ หรือใฝ่ทำ ต้องการทำ ไม่ใช่ต้องการเสพ ความใฝ่สร้างสรรค์นี้ ถ้าเอามาใช้ในการผลิตต่างๆ ทางด้านอุตสาหกรรม ก็คือ ความใฝ่ผลิต ถ้าใช้ในทางที่ดีงามทั่วๆ ไป ก็คือ ความต้องการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ทำประโยชน์ให้เกิดมีเป็นจริงขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับแรงจูงใจที่ผิด คือความใฝ่เสพ หรือความใฝ่หาสิ่งบำรุงปรนเปรอ ซึ่งไม่ต้องการความรู้อะไร ไม่ต้องการทำงานอะไร แต่อยากได้สิ่งต่างๆ มาบำรุงบำเรอ หู ตา จมูก ปาก ลิ้น โดยไม่ต้องทำ ถ้าเราไปสอนชาวบ้านให้อยากได้สิ่งฟุ่มเฟือยหรูหรา ก็เท่ากับว่าเราไปสนับสนุนส่งเสริมแรงจูงใจใฝ่เสพ ทำให้เขาไม่อยากทำงาน ไม่อยากผลิต คิดแต่จะหาทางลัด เพื่อให้ได้สิ่งบำรุงบำเรอมา แล้วจะทำให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนาอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้

ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง ได้แก่แรงจูงใจใฝ่รู้ ใฝ่ทำ ใฝ่ผลิต และใฝ่สร้างสรรค์ แรงจูงใจใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์นี้ เป็นอาการแสดงออกของการรักความจริง รักความดีงาม ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้มีการใช้ปัญญา และริเริ่มลงมือทำ เช่น อยากมีสังคมที่ดีงาม ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้ว่า สังคมอย่างไรเป็นสังคมที่ดี แล้วก็มองเห็นว่า สังคมที่ดีนั้นจะต้องเป็นสังคมที่เรียบร้อย มีความสงบสุข ประชาชนมีสุขภาพ มีอนามัยดี เมื่ออยากจะมีสังคมที่ดีงามอย่างนั้น เราก็ต้องสร้างสรรค์จัดทำ ต้องทำงาน ซึ่งเป็นปัจจัยโดยตรงที่จะทำให้เกิดผลที่ต้องการ แรงจูงใจแบบนี้จึงทำให้เขาพยายามที่จะทำ และเป็นผู้ผลิตขึ้นมา แต่ถ้ามีแรงจูงใจใฝ่เสพ ก็จะทำให้ไม่อยากทำงาน หรือถ้าจะทำก็เป็นเพราะเงื่อนไข คือต้องทำจึงจะได้เงิน ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็จะหลีกเลี่ยงการทำงาน เพราะไม่อยากทำ ทำด้วยความจำใจ และหาทางลัดกู้หนี้ยืมสิน ถ้าลักขโมยได้ก็เอา เพื่อจะได้สิ่งเสพมา เพื่อมีเงินไปซื้อของ

เพราะฉะนั้น การพัฒนาที่มีส่วนส่งเสริมแรงจูงใจใฝ่เสพ กระตุ้นเร้าตัณหา จึงเป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด ผิดจุด เนื่องจากการสร้างแรงจูงใจที่ผิด การศึกษาเล่าเรียน และการพัฒนาชีวิต พัฒนาสังคมจะสำเร็จได้ ต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง สังคมที่พัฒนาแล้ว เริ่มต้นการพัฒนาของเขาด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ และใฝ่ทำนี้ และสร้างค่านิยมผลิตขึ้นมาได้ จึงได้สร้างความเจริญ พัฒนาอุตสาหกรรมได้สำเร็จ คนมีฉันทะนั้น เห็นอะไรไม่ดี ไม่เรียบร้อย ไม่สมบูรณ์ ก็อยากทำให้ดี ให้เรียบร้อย ให้สมบูรณ์ มีแรงกระตุ้นเตือนจากภายในให้ออกไปทำ ไม่ต้องรอให้ใครคอยบอกคอยสั่ง และไม่มองหาผลตอบแทนแก่ตน นอกจากความสำเร็จของงาน ทำเพื่อเห็นแก่ความถูกต้องดีงาม หรือความเรียบร้อยสมบูรณ์นั้นล้วนๆ แท้ๆ ยิ่งกว่านั้น เมื่อผลได้ส่วนตัวขัดกับหลักการหรือความถูกต้องชอบธรรม ฉันทะจะทำให้ยอมสละผลได้หรือผลประโยชน์ส่วนตัว และยึดถือหรือปฏิบัติไปตามหลักการหรือตามความถูกต้องชอบธรรมนั้น แรงจูงใจที่เรียกว่าฉันทะนี้ จึงจำเป็นยิ่งสำหรับการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประชาธิปไตย ถ้าไม่สามารถสร้างฉันทะให้เกิดขึ้น การพัฒนาประชาธิปไตยจะไม่มีทางสำเร็จ การมีแรงจูงใจที่ถูกต้องนี้ เรียกทางพระว่า ฉันทสัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ มิใช่ถึงพร้อมด้วยตัณหา

๔. พัฒนาศักยภาพของตนให้เต็มที่ พระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คือพัฒนาได้ ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า มีศักยภาพ มนุษย์แต่ละคนมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาให้สมบูรณ์ ทั้งศักยภาพเฉพาะตัว คือ มีความถนัดจัดเจนของตนเอง ถ้าไม่พัฒนา ไม่ฝึกฝนขึ้นมา ก็ไม่มีโอกาสแสดงออก ไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และศักยภาพของมนุษย์ คือ มีความเป็นสัตว์ประเสริฐที่สามารถเข้าถึงปรีชาญาณ ความดีงาม และอิสรภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงต้องพัฒนาศักยภาพนั้นขึ้นมา โดยมีความเชื่อมั่นตามหลักการที่ว่า มนุษย์สามารถพัฒนาตนได้จนเป็นสัตว์ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง แม้แต่จะเป็นพุทธะก็ได้ เป็นผู้ที่เทวดา มาร ตลอดจนพระพรหม เคารพบูชาก็ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้มนุษย์ฝึกฝนตนเอง เรียกว่า พัฒนาศักยภาพของตนจนสมบูรณ์

หลักประการที่ ๔ คือ การพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สมบูรณ์นี้ นอกจากทำให้มีการศึกษาตามหลักการทั่วไปแล้ว ก็ทำให้ต้องค้นหาว่าตนเองมีความถนัด มีความสามารถด้านไหน แล้วก็พัฒนาตนขึ้นไปให้เต็มที่แห่งศักยภาพนั้น หลักการข้อนี้ เรียกทางภาษาพระว่า อัตตสัมปทา แปลว่า การทำตนให้ถึงพร้อม

๕. มีทัศนคติ และค่านิยมที่ดี หลักข้อนี้สำคัญมาก เพราะชีวิตและสังคมจะดำเนินไปอย่างไร จะเป็นไปตามทัศนคติ และค่านิยม คนในสังคมมีค่านิยมอย่างไร ก็หันเหวิถีของสังคมไปอย่างนั้น เช่น ในการมองภาพความเจริญ ถ้าคนในสังคมมีค่านิยมในการผลิต ก็มองภาพความเจริญอย่างนักผลิตว่า เจริญอย่างเขา คือ ทำได้อย่างเขา ถ้ามีค่านิยมบริโภค ก็มองภาพความเจริญแบบนักบริโภคว่า เจริญอย่างเขา คือมีกินมีใช้อย่างเขา เราต้องการสร้างค่านิยม และทัศนคติที่ถูกต้อง ทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้องเริ่มด้วยอะไร ทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา เริ่มด้วยการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นท่าทีของจิตใจที่นำมาซึ่งปัญญา และการกระทำตามเหตุตามผล เพราะเชื่อการกระทำที่เป็นไปตามกระบวนการของเหตุผลว่า ทำเหตุอย่างไร ผลเกิดอย่างนั้น ซึ่งก็คือหลักกรรมในพระพุทธศาสนา หลักกรรมนี้ใช้กับชีวิตของคนทั่วไป พื้นฐานกว่านั้นก็คือ หลักปฏิจจสมุปบาทซึ่งมองลึกลงไปอีก แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัยทั้งนั้น

ทัศนคติในพระพุทธศาสนา เป็นทัศนคติที่มองสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัย พอเจออะไร ก็มองตามเหตุปัจจัยทันทีว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สืบสาวหาเหตุแล้วโยงไปหาผล เยาวชนควรมีทัศนคติแบบนี้ และควรได้รับการพัฒนาให้มีทัศนคติแบบนี้ เพราะถ้าเราไม่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย เราก็จะมองแบบนักเสพ แต่ถ้ามองแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัย ก็จะนำไปสู่การกระทำ นำไปสู่การผลิต นำไปสู่การสร้างสรรค์ได้ เพราะว่าในการที่ได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จขึ้นมานั้น สิ่งที่ทำขึ้นมาเราเรียกว่าเป็นผลผลิต ผลผลิตเกิดจากอะไร ก็เกิดจากเหตุปัจจัยที่ว่าทำมาอย่างไร คนที่มองตามเหตุปัจจัย พอเห็นผลิตผลอย่างหนึ่ง ก็มองว่าผลผลิตนี้ทำมาอย่างไร ไม่มองเพียงว่า จะเอามาเสพอย่างไร มาใช้อย่างไร มีแล้วโก้หรู ไม่มองอย่างนั้น สังคมที่มองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เข้ามาจากภายนอกประเทศ ว่าอันนั้นสวยอันนี้โก้ แล้วอยากใช้ อยากมี จบแค่นั้น ก็เป็นนักบำรุงบำเรอหรือนักเสพอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นนักผลิตมอง จะมองด้วยทัศนคติตามเหตุปัจจัย เขาจะมองว่า ผลผลิตนี้แปลก เขาทำขึ้นมาได้อย่างไร เราจะต้องหาเหตุปัจจัยของมัน พอมองอย่างนี้ กระบวนการคิดก็เริ่มต้นอย่างถูกต้อง และนำไปสู่การพัฒนาทันที ทัศนคติพื้นฐานของพระพุทธศาสนา คือ ทัศนคติมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย อย่างนี้ เราเคยสอนกันบ้างหรือเปล่า อันนี้เป็นการสร้างสรรค์เยาวชนในขั้นรากฐานทีเดียว

จากทัศนคติที่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ก็นำไปสู่ทัศนตคิหรือท่าทีแห่งการเรียนรู้ ซึ่งต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชีวิตในแต่ละวันของคนเรานี้ เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่เข้ามาทั้งทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้แก่ สิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ลิ้มรส ฯลฯ ชีวิตของเราแต่ละวันนี้ อยู่กับอารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ การรับรู้อารมณ์ หรือประสบการณ์เหล่านี้ เป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเราในแต่ละวัน แต่คนส่วนใหญ่ที่ต้องประสบกับอารมณ์ทั้ง ๖ เหล่านี้ มีท่าทีต่อมันอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ ไม่ได้เรียนรู้ จะมีท่าทีแบบยินดียินร้าย ในพุทธศาสนานั้น เราจะได้ยินคำนี้อยู่เสมอ บอกว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อรับฟังเสียงด้วยหู ได้เห็นรูปด้วยตา ก็เกิดความยินดี หรือไม่ก็ยินร้าย เรียกอีกสำนวนหนึ่งว่า ไม่ชอบ ก็ชัง ไม่ติดใจ ก็ขัดใจ ได้แค่นั้น ความรู้หายไปแล้ว ต่อจากนั้นก็มีแต่การคิดปรุงแต่งไปตามอัตวิสัยว่าจะรัก จะเกลียด จะอยากเอา อยากได้ หรืออยากทุบ อยากทำลาย เป็นต้น ทัศนคติอย่างนี้นำไปสู่แรงจูงใจใฝ่เสพ และนำไปสู่ค่านิยมบริโภค ซึ่งสัมพันธ์กันหมด

แต่ถ้ามีการเรียนรู้อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ส่วนอริยสาวกผู้ที่ได้เรียนรู้แล้ว ผู้ได้สดับ (สุตฺวา อริยสาวโก) มองเห็นรูปด้วยตา ได้ยินเสียงด้วยหูแล้ว ไม่เป็นไปตามความยินดียินร้าย แต่จะมีสติสัมปชัญญะรับรู้ กำหนดรู้สิ่งนั้นๆ ตามความเป็นจริง คือมองว่า มันคืออะไร มันเป็นมาอย่างไร เป็นไปอย่างไร เกิดจากอะไร ดังที่กล่าวเมื่อครู่นี้

ดังนั้น ทัศนคติที่มองสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัย จึงเป็นทัศนคติที่มองสิ่งทั้งหลายเป็นการเรียนรู้ คือมองโดยสัมพันธ์กับคุณค่าต่อชีวิต ว่าจะเอาความรู้จากสิ่งนั้นมาใช้พัฒนาชีวิตของตนได้อย่างไร และใช้กับสังคมได้อย่างไร ทัศนคติแบบการเรียนรู้ หรือท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายแบบเรียนรู้นี้ เป็นการศึกษาที่เริ่มต้น ถ้าไม่ถึงจุดนี้ก็ไม่ถือว่าการศึกษาได้เริ่มต้น การศึกษาเริ่มต้นที่ท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายที่เป็นประสบการณ์ ถ้าเปลี่ยนทัศนคติจากการยินดียินร้ายมาเป็นการเรียนรู้ ก็หมายถึงว่า การศึกษาได้เริ่มต้นแล้ว และอันนี้เป็นจุดบรรจบระหว่างการศึกษากับจริยธรรมและศาสนาด้วย

ดังนั้น การศึกษากับจริยธรรม จึงไม่ได้อยู่ห่างกันเลย มันอยู่ด้วยกันที่นี่ พระพุทธศาสนาก็สอนจุดเริ่มต้นที่นี่ ว่าให้มีทัศนคติแบบมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย แล้วนำไปสู่การมีท่าทีแห่งการเรียนรู้ต่อสิ่งทั้งหลาย ซึ่งนำไปสู่ค่านิยมที่สมเหตุสมผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมอะไรก็แล้วแต่ ล้วนเป็นไปตามกระบวนการอันเดียวกัน หลักข้อนี้เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา แปลว่า การทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม

๖. มีความกระตือรือร้นขวนขวาย ไม่ประมาท เราอยู่ในโลกแห่งสภาวธรรมที่พระพุทธศาสนาบอกว่า เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง โลกนี้เป็นสังขาร สิ่งทั้งหลายเกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง มีแต่การเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เป็นอนิจจัง เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน โดยเฉพาะชีวิตของเรานี้จะเอาแน่อะไรไม่ได้ พรุ่งนี้จะอยู่หรือไม่ แล้ววันต่อไปจะเป็นอย่างไร จะอยู่ดีมีสุข หรือทุกข์อย่างไร จะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่ เราไม่รู้แท้แน่นอน

เพราะฉะนั้น เราจะประมาทมิได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา คือเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ฉะนั้น จะต้องยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ในเมื่อสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อไร เราจะต้องไม่ประมาทตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น จิตสำนึกต่อความเปลี่ยนแปลงจึงนำไปสู่ความไม่ประมาท คือ ความกระตือรือร้นขวนขวาย ไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า มีอะไรเกิดขึ้นที่อาจจะเป็นเหตุแห่งความเสื่อม ก็ไม่อยู่นิ่ง ต้องรู้เท่าทัน ต้องป้องกันแก้ไข อะไรที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นทางมาแห่งความสุขความเจริญ ก็ต้องรีบสร้างสรรค์ จะรอช้าอยู่มิได้ จะทอดทิ้งปล่อยปละละเลยมิได้ ท่าทีนี้เรียกว่ามีจิตสำนึกต่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปพร้อมกับความไม่ประมาท จิตสำนึกต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ นำไปสู่จิตสำนึกต่อกาลเวลา ผู้ที่มองเห็นความสำคัญของความเปลี่ยนแปลง ก็จะเห็นความสำคัญของกาลเวลา เพราะกาลเวลานั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปตามกาลเวลา ดังนั้น เมื่อเราไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อไร ก็จำต้องเห็นความสำคัญของกาลเวลา

พระพุทธศาสนาสอนมาก ในเรื่องความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง และความสำคัญของกาลเวลา ดังเช่นพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา มีใจความว่า เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า ให้ได้อะไรบ้าง ไม่มากก็น้อย นี่เป็นข้อเตือนใจให้ทุกคนพิจารณา ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ทุกวันก็จะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย ไม่ทางกายก็ทางใจ ลองคิดพิจารณาตนเองว่า วันนี้เราทำอะไรที่เป็นประโยชน์แล้วหรือยัง ทำทุกวันๆ สะสมขึ้นไป แม้แต่บรรพชิต ท่านก็สอนให้พิจารณาทุกวันว่า กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺตีติ ปพฺพชิเตน อภิณฺหํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันเวลาของเราผ่านไปอย่างไร นี้เป็นเรื่องความสำคัญของกาลเวลา ที่ท่านให้มีจิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้เรามีความไม่ประมาท

มีข้อที่จะต้องสังเกตว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปด้วยกันกับหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความไม่เที่ยงนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย หลักการนี้สำคัญมาก เราจะไปจบอยู่แค่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนแค่นั้น ไม่ได้บอกว่าสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงเรื่อยเปื่อยไป แล้วเราก็เลยหมดทางแก้ไข จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้จบสิ้นกัน ไม่ต้องทำอะไร พอสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป เรากำหนดไม่ได้ ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำอะไรอย่างไร แต่พระพุทธเจ้าสอนต่อไปว่า ที่ว่าไม่เที่ยงและเปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งเข้ากับทัศนคติของการมองสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัย เข้ากับแรงจูงใจใฝ่รู้ ที่ทำให้ศึกษาเหตุปัจจัย เพื่อให้รู้ว่าเหตุปัจจัยนั้นคืออะไร สัมพันธ์กันไปหมด ข้อสำคัญคือมันนำไปสู่การที่ทำให้เราต้องศึกษาค้นคว้าหาเหตุปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงนั้น ความเปลี่ยนแปลงลักษณะหนึ่งที่ดีที่เราต้องการ เราเรียกว่า ความเจริญ ความเปลี่ยนแปลงอีกลักษณะหนึ่งที่ไม่ดีเราไม่ต้องการ เราเรียกว่า ความเสื่อม เมื่อเราต้องการความเจริญ เราก็ต้องพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ด้วยการสร้างสรรค์เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีที่เราชอบนั้น ถ้าการเปลี่ยนแปลงอะไรจะเป็นไปในทางที่ไม่ดี ที่เราเรียกว่า ความเสื่อม ซึ่งเราไม่ชอบ เราก็ศึกษาเหตุปัจจัยของมัน แล้วป้องกันกำจัดเสีย

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ไม่ประมาท เพื่อจะได้รู้เท่าทัน ตื่นตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้นเป็นสัญญาณ เป็นนิมิตหมายที่จะเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม ก็รีบค้นหาให้รู้แล้วป้องกันแก้ไข อะไรเกิดขึ้นเป็นสัญญาณ เป็นนิมิตหมายที่จะนำไปสู่ความสุข ความเจริญ ก็ให้รีบสร้างเสริมขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา การปฏิบัติอย่างนี้คือหลักธรรมที่เรียกว่า อัปปมาทสัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เป็นหลักที่สำคัญมาก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในรุ่งอรุณของการศึกษาเป็นหลักที่ ๖ เป็นเครื่องชี้บ่งว่า คนที่อยู่ในพระพุทธศาสนาจะต้องเป็นคนที่กระตือรือร้นตลอดเวลา ไม่ใช่คนเฉื่อยชา

๗. รู้จักคิดพิจารณาให้เกิดปัญญาที่จะรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เมื่อรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจึงจะปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง

การที่มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะเราปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นไปอย่างไร มีคุณหรือมีโทษอย่างไร ทำให้ไม่รู้ว่า เราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ดังนั้น จึงต้องรู้จักสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้จักโลก รู้จักชีวิต รู้จักปัญหา รู้จักเหตุของปัญหา เมื่อรู้แล้ว ก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นได้ถูกต้อง นี่แหละคือการแก้ปัญหา แก้ทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยสติปัญญาที่รู้ที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ได้ถูกต้อง

การที่จะมีปัญญานั้น สิ่งหนึ่งที่จะต้องสร้างขึ้นให้เป็นตัวนำมาซึ่งปัญญา ก็คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ที่สมัยนี้เน้นกันนักหนาในวงการศึกษา เรียกว่า การคิดเป็น ทางพระเรียกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่าการทำในใจโดยแยบคาย หรือการรู้จักคิด คิดเป็น คิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น แยกแยะมันออกไปให้เห็นชัดว่า ส่วนใดเป็นส่วนดี ส่วนใดเป็นส่วนเสีย ส่วนไหนเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ ส่วนไหนเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม พร้อมกันนั้นก็รู้จักคิดสืบสาวตามกระบวนการของเหตุปัจจัยว่า สิ่งนี้เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

การคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องจะทำให้เกิดปัญญา และเกิดคุณธรรม ความดีงาม เช่น พบเห็นคนที่แต่งตัวกะรุ่งกะริ่ง ถ้าเราไม่มีโยนิโสมนสิการ มองไม่เป็น จิตใจก็เกิดความรู้สึกดูถูกเหยียดหยาม รังเกียจ แต่ถ้าทำใจเป็น มีโยนิโสมนสิการ เมื่อมองแล้วก็เกิดความสงสารคิดอยากช่วยเหลือ หรือถ้าคิดไปในทางปัญญา โดยสืบสาวหาเหตุปัจจัยว่า คนนี้ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ สภาพสังคมเป็นอย่างไร มีเหตุปัจจัยอะไรทำให้เขามีสภาพอย่างนี้ ครอบครัวของเขาเป็นอย่างไร ก็นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจ และการที่จะแก้ไขปัญหาสังคม

ทั้งหมดนี้จะเป็นไปอย่างไรก็อยู่ที่โยนิโสมนสิการ คนเรานี้มองสิ่งทั้งหลายอันเดียวกัน แต่คนหนึ่งมองด้วยความรู้สึกและความเข้าใจอย่างหนึ่ง ได้ผลไปอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งมองด้วยความรู้สึกและความเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ได้ผลไปอีกอย่างหนึ่ง หรือคนเดียวกันนี่แหละ มองสิ่งเดียวกัน แต่ต่างเวลา มีท่าทีของจิตใจต่างกัน ก็ได้รับผลไม่เหมือนกัน ดังนั้น ท่าทีของจิตใจในการมองสิ่งต่างๆ ให้รู้จักคิดรู้จักพิจารณานี้ เป็นสิ่งที่จะต้องฝึกกันขึ้นให้มองให้เป็น คิดให้เป็น ให้คิดแล้วได้ปัญญา และได้คุณธรรม ข้อนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการสัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ เป็นหลักสำคัญประการที่ ๗

หลักข้อที่ ๗ คือ การรู้จักคิดพิจารณานี้ มีจุดใช้งานที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ เอามาใช้ทำงาน ควบคู่หรือต่อเนื่องกับหลักข้อที่ ๑ คือ การรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี เช่น เมื่อเรารู้จักเลือกรายการวิทยุ รายการทีวีที่ดี ว่าอันไหนจะมีคุณค่าเป็นประโยชน์แล้ว ในเวลาที่ฟังและดูรายการนั้น ก็ต้องดูเป็นและฟังเป็นอีกด้วย คือดูแล้วฟังแล้วรู้จักคิดพิจารณา จึงจะได้ประโยชน์ ได้ปัญญาจากสิ่งที่ดูหรือฟังนั้น หรือเมื่อจะอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เริ่มแรกตามหลักข้อที่ ๑ เด็กรู้จักเลือกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสารคดีมีประโยชน์ ไม่ใช่หนังสือที่ทำให้คิดเพ้อฝันไป ไม่ได้ประโยชน์ไร้สาระ

เมื่อเลือกหนังสือมาอ่านได้แล้ว ก็มาถึงหลักข้อ ๗ นี้ คือ ต้องอ่านเป็น รู้จักคิดรู้จักพิจารณา คือตอนนี้โยนิโสมนสิการจะทำให้ได้ผลต่างกัน คนหนึ่งอ่านแล้วได้ความรู้ตามข้อมูลที่หนังสือบอก อีกคนหนึ่ง อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน โดยมีโยนิโสมนสิการมากขึ้น อ่านแล้วได้ความเข้าใจลึกซึ้งว่า คนเขียนนั้นเขาคิดอย่างไร อีกคนหนึ่งมาอ่านแล้วได้ปัญญามากขึ้นไปกว่านั้นอีก สามารถเชื่อมโยงกับความรู้อื่นๆ สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ นำไปสู่การประดิษฐ์การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

โยนิโสมนสิการนี้ เป็นปัจจัยตัวสำคัญที่สุดในการพัฒนาชีวิตของคน และจะทำให้คนมีอิสรภาพพึ่งตนเองได้ ตอนแรกเราเริ่มด้วยการเกี่ยวข้องกับสังคม หรือปัจจัยภายนอก รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี ซึ่งเป็นตอนที่เรายังต้องพึ่งปัจจัยภายนอก เพื่อเป็นช่องทางนำไปสู่การเริ่มรู้จักทำด้วยตนเอง แต่เมื่อใดเรามีโยนิโสมนสิการ คิดเองเป็นแล้ว เราก็จะมีอิสรภาพ เราจะมีปัญญาของตนเอง ได้ความคิด และมีการกระทำจากความริเริ่มของตนเอง ที่เกิดจากตนเอง และสามารถพึ่งตนเอง หลัก ๗ ประการนี้ เรียกว่า ธรรมที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือเป็นประดุจแสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรืองดีงาม ซึ่งเราจะต้องสร้างเสริมให้เกิดขึ้นแก่ตัวเด็ก หรือพูดให้ถูกกว่านั้นว่า จะต้องช่วยให้เด็กพัฒนา ให้มีขึ้นในตัวของเขาเอง และการที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนพัฒนาตัวของเขาขึ้นมาได้อย่างนี้ ก็คือการที่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องจะต้องเป็นกัลยาณมิตรให้แก่เด็กนั่นเอง และอันนี้แหละคือการทำหน้าที่อย่างถูกต้องของครู ของพ่อแม่ ของสื่อมวลชน และของสังคมทั้งหมด ธรรมที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา ๗ ประการนี้ ขอสรุปเป็นหัวข้ออีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดจดจำได้ง่าย คือ

  1. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี
  2. มีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย
  3. พร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์
  4. มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ
  5. ปรับทัศนคติและค่านิยมให้สมแนวเหตุผล
  6. มีสติกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลา
  7. แก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด

เท่าที่ได้พูดมา ในธรรมที่เป็นหลักสำคัญทั้งหมดนี้เป็นแง่ที่ ๑ คือแง่ที่ว่า เรามองเยาวชนโดยสัมพันธ์กับตัวเด็กเองว่า เราจะสร้างเสริมให้เขามีคุณสมบัติอะไรบ้าง ซึ่งก็มี ๗ ประการที่กล่าวมา ถ้ามีหลัก ๗ ประการนี้แล้ว มรรคจะมาเอง ชีวิตที่ดีจะมาเอง เพราะฉะนั้น เราอย่าไปมัวพูดกันมากนักเกี่ยวกับเรื่องมรรค มรรคนั้นสำคัญอย่างยิ่ง ไม่มีมรรคแล้วไปถึงจุดหมายไม่ได้ แต่ก่อนที่เราจะเข้าสู่มรรคได้นั้น เราจะต้องนึกถึงรุ่งอรุณของมรรค ที่จะนำเข้าสู่มรรคก่อน ธรรม ๗ ประการนี้ คือ สิ่งที่จะนำไปสู่มรรค

ขอให้กลับมาเน้นเรื่องรุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองของมรรคานี้ ธรรมหมวดนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้บ่อย ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ มหาวารวรรค สังยุตตนิกายในตอนต้นๆ ตรัสแล้วตรัสอีกว่า ธรรมแต่ละข้อนี้เป็นรุ่งอรุณทั้งสิ้น เกิดขึ้นมาแต่ละอย่างก็นำไปสู่การศึกษาทั้งหมด จึงขอให้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น

หลังจากสร้างสรรค์ตัวเด็กที่เป็นแกนขึ้นมาแล้ว ต่อไปนี้ เราจะมาพิจารณาตัวเด็กโดยสัมพันธ์กับสังคมไทย ตั้งแต่ชุมชนท้องถิ่นของเขาเป็นต้นมา แล้วก็พิจารณาให้สัมพันธ์กับโลก และอารยธรรมทั้งหมด ในแง่ที่ว่าเขาเป็นพลโลก ว่าจะทำให้เขาเป็นคนมีคุณภาพอย่างไร และสัมพันธ์กับสถานการณ์เฉพาะยุคสมัยว่า ยุคสมัยนี้ประเทศไทยมีปัญหาอะไรเด่นเป็นพิเศษ มุ่งต้องการสร้างความเจริญก้าวหน้าด้านไหน เราจะมีกิจกรรมในสังคมอะไรมากเป็นพิเศษที่จะต้องเกี่ยวข้อง แล้วก็พิจารณาให้สัมพันธ์กับสถานการณ์เฉพาะหน้าของยุคสมัยนั้น เหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเยาวชนพัฒนาจากความเป็นผู้ตาม-ผู้รับ สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้ >>

No Comments

Comments are closed.