ไทยยังไม่เป็นสังคมผู้ผลิต แต่เป็นสังคมผู้บริโภคเทคโนโลยี

25 มกราคม 2540
เป็นตอนที่ 1 จาก 5 ตอนของ

คนไทย กับ เทคโนโลยี1

ไทยยังไม่เป็นสังคมผู้ผลิต แต่เป็นสังคมผู้บริโภคเทคโนโลยี

ทำอย่างไรจะพัฒนาคนไทยได้สำเร็จ หรือถ้าจะให้ดี น่าจะถามว่า ทำอย่างไรคนไทยเราจะพัฒนาตนเองได้ดียิ่งขึ้น เราต้องจับให้ได้ว่า คนไทยมีจุดอ่อนหรือย่อหย่อนในเรื่องอะไร โดยเฉพาะเหตุปัจจัยอะไรทำให้คนไทยอ่อนแอ ทำไมคนไทยจึงไม่ค่อยมีความเข้มแข็งจริงจังที่จะทำการต่างๆ ให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายามอย่างมั่นคงเด็ดเดี่ยว โดยมุ่งมั่นไปในทิศทางที่ชัดเจนอย่างแน่วแน่ต่อจุดหมาย

ในที่นี้ ขอแสดงความเห็นว่า นอกจากสภาพทางภูมิศาสตร์อันอุดมสมบูรณ์ ที่ทำให้จิตใจโน้มไปในทางที่จะติดเพลินในความสะดวกสบาย ชอบผัดเพี้ยน ไม่อยากดิ้นรน ขวนขวายแล้ว เหตุปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้คนไทยอ่อนแอมี ๒ อย่าง คือ

๑. ค่านิยมใฝ่เสพบริโภค

๒. ลัทธิรอผลดลบันดาล

เหตุปัจจัยข้อ ๒ ได้พูดไว้มากแล้ว คราวนี้จะพูดถึงเหตุปัจจัยข้อ ๑ คือ ค่านิยมใฝ่เสพหรือบริโภคนิยม และจะจำกัดในแง่ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญโดดเด่นสำหรับยุคสมัยนี้

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี ก็เป็นการพูดถึงความเจริญของยุคปัจจุบัน และโยงไปหาประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะคือฝรั่ง สำหรับตอนนี้ เราลองมาดูว่า ฝรั่งกับไทยต่างกันอย่างไร

ตอนนี้เราพูดกันถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่โลกอยู่ในระบบแข่งขัน ก็ต้องดูว่า ใครแพ้ ใครชนะ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราพอใจแค่เอาชนะการแข่งขันเท่านั้น เราจะต้องไปไกลกว่านั้น คือต้องถึงขั้นเหนือการแข่งขัน ซึ่งต้องเก่งกว่านี้อีก จึงจะแก้ปัญหาของโลกได้ แต่ตอนนี้เอาแค่ขั้นต้น คือการเอาชัยในระบบแข่งขันที่เป็นอยู่เฉพาะหน้านี้ ก็ทำให้ได้ก่อนเถอะ

เพื่อให้เห็นภาพกว้างๆ ก็มาดูสังคมไทยในเวลานี้ ว่าเมื่ออยู่ในประชาคมโลก สังคมไทยของเราเป็นอย่างไร

สังคมไทยของเรานี้ถูกตราชื่อว่าเป็นสังคมด้อยพัฒนา เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกำลังพัฒนา ที่ชื่อว่ากำลังพัฒนานี้ก็ไม่ดีอยู่แล้ว นอกจากนั้น ในภาวะที่กำลังพัฒนา ก็เป็นสังคมผู้ตาม และคู่กับความเป็นผู้ตามคือเป็นผู้รับ แล้วก็เป็นสังคมที่ถูกกำหนด ไม่เป็นสังคมที่เป็นฝ่ายกำหนด เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เสียเปรียบ เพราะว่า ถ้าเราจะมีบทบาทในโลก เราจะต้องเป็นผู้กำหนดอะไรได้บ้าง เมื่อไม่มีความสามารถที่จะกำหนดแล้ว สิทธิต่อรองเป็นต้นก็ไม่มี ต้องถูกสังคมที่มีอิทธิพล คือสังคมที่พัฒนาเขากำหนดให้หมด อย่างนี้ก็แย่

ทำไมจึงเป็นสังคมที่ถูกกำหนด ก็เพราะเป็นสังคมฝ่ายบริโภค ไม่ใช่ฝ่ายผลิต โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นตัวบันดาลอิทธิพลสำคัญในระบบเศรษฐกิจแห่งการแข่งขันในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญ เป็นอุปกรณ์ที่อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ของระบบแข่งขันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีจึงเป็นอุปกรณ์แห่งอำนาจ

ในแง่ของเทคโนโลยีนี้ เมื่อแบ่งฐานะและบทบาทของประเทศต่างๆ ในประชาคมโลก ก็จะมีประเทศที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี กับประเทศที่บริโภคเทคโนโลยี ประเทศไทยเป็นฝ่ายไหน ในแง่เทคโนโลยี ตอบว่าไทยเป็นประเทศผู้บริโภคเทคโนโลยี ไม่เป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี

กระแสโลกาภิวัตน์นั้น ประเทศที่ผลิตเทคโนโลยีจะเป็นผู้กำหนด ฉะนั้นประเทศของเราจึงไม่เป็นตัวของตัวเอง เราจะทำอะไรให้ก้าวต่อไปก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีเทคโนโลยี ต้องรอให้ฝรั่งผลิตขึ้นมาก่อนแล้วจึงทำได้

ทีนี้ นอกจากฝรั่งเป็นผู้กำหนดเราแล้ว เขายังหาผลประโยชน์จากเราได้ด้วย รวมทั้งญี่ปุ่น เขาก็มากระตุ้นเราให้อยากได้ เขาแข่งขันกันไป และจะโดยตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม ก็ล่อผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยีรุ่นต่อไป ว่าจะดีกว่าในแง่นั้นแง่นี้ รถยนต์รุ่นต่อไปมีดีเพิ่มขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ คอมพิวเตอร์รุ่นต่อไป Pentium เท่านั้น จาก 100 เป็น 120 เป็น 133 เป็น 150 ขึ้นไป 166 จาก Pentium เป็น Pentium Pro ว่ากันไปจนเลย 200 คอยกระตุ้นอยู่เรื่อย เราก็ต้องซื้อ เมื่อซื้อก็ต้องจ่าย ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่ยากจนอยู่แล้ว ก็ตามซื้อเขาอีก ถ้าไม่มีหลักคิด เอาแต่จะตามให้ทันก็ต้องคอยตามซื้อและทุ่มจ่ายเรื่อยไป เลยทำตัวให้เป็นเหยื่อของเขา เมื่ออยู่ในสภาพปัจจุบันแห่งเศรษฐกิจระบบแข่งขันแบบนี้ เราก็จึงกลายเป็นผู้ตาม เป็นผู้รับ เป็นผู้ถูกกำหนด เป็นผู้ถูกกระทำ และกลายเป็นเหยื่อ

ที่พูดอย่างนี้ ไม่ควรคิดว่าเป็นคำรุนแรง เพราะในระบบเศรษฐกิจแบบแข่งขัน ที่มนุษย์พยายามเอาชนะกัน แน่นอนว่าต้องมีฝ่ายหนึ่งเป็นเหยื่อ เราปฏิเสธคำนี้ไม่ได้ เราอาจจะพยายามสุภาพไม่ใช้คำนี้ แต่ที่จริงก็เป็นเหยื่อนั่นเอง

ทีนี้ สังคมไทยทำไมจึงอยู่ในภาวะอย่างนี้ เป็นเพราะเราไม่มีศักยภาพในการแข่งขันใช่หรือเปล่า โดยเฉพาะคนของเราไม่มีคุณภาพพอ นอกจากปัจจัยอย่างอื่น เช่นอิทธิพลจากภายนอกมาครอบงำเรา แต่ที่จริงอิทธิพลมี ๒ อย่าง

อิทธิพลอย่างหนึ่งคือ การถูกครอบงำโดยภาวะบีบคั้นบังคับ เนื่องจากเขามีอำนาจเข้มแข็งกว่า เราไม่มีสิทธิเรียกร้อง ไม่มีสิทธิต่อรอง เราจึงถูกครอบงำ แต่อีกอย่างหนึ่งคือ การถูกครอบงำโดยความพอใจ หมายความว่า สังคมไทยพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น เราจึงทำตัวให้เป็นเหยื่อไปเอง แบบที่สองนี้เป็นมาก ถ้าเราไม่พอใจที่จะเป็นเหยื่อ แม้เราจะถูกครอบงำจากภายนอกด้วยปัจจัยทางด้านระบบ แต่ไม่ช้า ด้วยความเข้มแข็งของคุณภาพคน เราจะพลิกตัวขึ้นอยู่เหนือได้ เชื่อไหม

เราจะมัวแต่บอกว่า โอ้ย! ไม่ได้หรอก เขามีอำนาจมีอิทธิพลกว่ามาครอบงำเรา ถ้าคิดอยู่อย่างนี้ก็ตันเท่านั้น ก็ทำไมไม่พัฒนาตัวให้เข้มแข็งล่ะ มันต้องปลดเปลื้องตัวเองได้ซิ ถ้าแน่จริงก็ต้องพ้นไปได้ เพราะฉะนั้น คุณภาพคนนี้สำคัญ จึงต้องพัฒนาคนไทยให้เข้มแข็ง

ขณะนี้เราเป็นสังคมที่เป็นฝ่ายบริโภคเทคโนโลยี ไม่ใช่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี ฉะนั้นเราจึงเสียเปรียบทุกอย่าง เราเป็นผู้รับ เมื่อจะรับก็ต้องคอยรอเขา เมื่อรอจากเขา ก็ต้องตามเขา ตามฟังตามดูว่า เขาจะผลิตอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อจะรับเอา จึงเป็นผู้ถูกกำหนด ทั้งหมดนี้ก็เพราะเป็นผู้บริโภคของที่เขาผลิต ผลิตเองไม่ได้

นิสัยในการผลิตนี้สำคัญมาก เป็นความเข็มแข็ง ส่วนความอ่อนแอมากับนิสัยชอบเสพบริโภค เป็นลักษณะจิตใจของคนที่เห็นแก่การเสพบริโภค

การเสพบริโภค คือ กินนอนสบายใช้ของสำเร็จ ไม่ต้องทำอะไร คนที่ชอบความสุขจากการเสพบริโภค ก็คือคนที่อยากได้รับการบำรุงบำเรอโดยตัวเองไม่ต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นคนที่เป็นนักเสพบริโภคจึงมีทุกข์จากการกระทำ ถ้าต้องทำอะไรแล้วทุกข์ เขาไม่ชอบการกระทำ เพราะต้องการให้คนอื่นทำให้ แล้วเขาก็รอที่จะเสพบริโภค ส่วนคนที่เป็นนักผลิต ต้องมีจิตใจเข้มแข็ง ชอบทำ และเขาจะมีความสุขจากการกระทำ เมื่อฝึกให้ดีก็จะก้าวไปสู่การมีความสุขจากการสร้างสรรค์

ทีนี้ นิสัยนักผลิตเรามีไหม ต้องถามคนไทยว่า เรามีนิสัยรักการผลิตหรือเปล่า คนไทยนี่นะ ขออภัยเถอะ แม้แต่ที่อยากเจริญอย่างฝรั่ง ซึ่งก็ตามเขาอยู่แล้ว เวลามองความหมายของคำว่าจะเจริญอย่างฝรั่ง เรายังมองแบบนักบริโภคเลย แทนที่จะมองแบบนักผลิต

ความเจริญอย่างฝรั่งมีความหมาย ๒ แบบ คือ แบบนักผลิต กับแบบนักบริโภค

ความเจริญอย่างฝรั่งในความหมายของนักบริโภคเป็นอย่างไร นักบริโภค เข้าใจว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ฝรั่งมีรถยนต์อะไรเราก็มีอย่างนั้น ฝรั่งมีตู้เย็นมีทีวีมีโทรศัพท์มือถืออะไรเราก็จะมีอย่างนั้น แล้วเราก็บอกว่านี่เราเจริญอย่างฝรั่ง

เพราะฉะนั้น เราก็ตามดูตามฟังเรื่อยซิว่า ฝรั่งมีอะไร ฝรั่งมีผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ เราก็ตามซื้อตามหามาใช้ แล้วก็เอามาอวดโก้กันเองว่า ฉันมีก่อนเธอนะ อย่างนี้เรียกว่าเจริญอย่างฝรั่งแบบนักบริโภค

ทีนี้ เจริญอย่างฝรั่งแบบนักผลิตเป็นอย่างไร นักผลิตคิดว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือทำได้อย่างฝรั่ง หมายความว่า ฝรั่งทำอะไรได้ ฉันก็จะทำให้ได้อย่างนั้น ถ้าเข้มแข็งขึ้นไปอีก ก็บอกว่า ฝรั่งทำอะไรได้ เราจะต้องทำให้ดียิ่งกว่าฝรั่ง คนไทยคิดอย่างนี้บ้างไหม

นี่แค่ความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งก็ยังไปไม่รอดแล้ว เราไม่มีนิสัยจิตใจแบบนักผลิตเลย ชาติที่เขาเจริญอย่างฝรั่งได้ทัน จนกระทั่งนำฝรั่งได้ ต้องมีนิสัยนักผลิต เริ่มตั้งแต่การมองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งว่า ฝรั่งทำได้อย่างไร ฉันต้องทำได้อย่างนั้น และก้าวไปอีกขั้นหนึ่งว่า ฝรั่งทำอะไรได้ฉันต้องทำได้อย่างนั้น และต้องทำให้ดีกว่าฝรั่ง ถ้าได้ขนาดนี้แล้วไม่ต้องกลัวเลย ชาติไทยชนะแน่การแข่งขัน

นี่แหละ แม้แต่สภาพจิตยังไม่เอื้อเลย ความเข้มแข็งในจิตใจไม่มี นิสัยนักผลิตไม่มี

ต่อไป ความเข้มแข็งทางปัญญา คือ ความใฝ่รู้ ถ้าอยากจะรู้อะไร ก็หาความรู้ในเรื่องนั้นอย่างอุทิศชีวิตให้เลย คนไทยยอมไหม ฝรั่งมีแล้ว ฝรั่งต้องการรู้เรื่องอะไร ถึงจะต้องเดินทางไป ๗ คาบสมุทรก็ไปเลย ยอมอุทิศให้ทั้งชีวิต ฝ่าฟันไปข้างหน้า ฝ่าดงดิบ ผจญภัยในท้องทะเล ทนหนาวทนร้อน ไปได้หมด เพื่อหาความรู้อย่างเดียวที่ต้องการ บุกไปเลย เท่าไรเท่ากัน ความใฝ่รู้นี้ คือความเข้มแข็งทางปัญญา

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีความรู้ขึ้นมา ก็มีความเข้มแข็ง และมีความมั่นใจในตัวเองยิ่งขึ้นอีก เมื่อรู้ว่าสิ่งที่จะเจอข้างหน้าเป็นอย่างไร จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร จะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ก็แกล้วกล้า เดินหน้าได้ แต่คนไม่รู้ก็ไม่มีแรง ต้องถอยแน่นอน

ฝรั่งมีสภาพจิตใจอย่างหนึ่งที่เขาภูมิใจนัก เขาเรียกว่า frontier mentality คือสภาพจิตแบบบุกฝ่าพรมแดน ซึ่งเขาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์ความเจริญของฝรั่ง ทั้งในยุโรปแล้วโดยเฉพาะก็มาพัฒนามากในคนอเมริกัน

ถ้าสังเกตในวัฒนธรรมฝรั่ง ฝรั่งชอบพูดคำว่า frontier ซึ่งทำให้มองไปข้างหน้า ทำให้บุกเบิกออกไป เมื่อไปสุดโลกนี้แล้ว ก็ต้องมุ่งหน้าไปในจักรวาล ออกไปสู่โลกอื่น มองออกไป ก้าวต่อไป บุกฝ่าไปเรื่อย จากยุโรปไปถึงแผ่นดินอเมริกาภาคตะวันออก ขึ้นฝั่งแล้ว ข้างหน้าโน้นตะวันตกกว้างขวาง มีแต่ป่าเขาลำเนาไพร จะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ว่านั่นคือแหล่งของความสำเร็จข้างหน้า ฉะนั้น ฝรั่งก็มองไปข้างหน้า บุกเบิกฝ่าไปตะวันตก Go west young man . . . เจ้าหนุ่มจงมุ่งหน้าไปตะวันตก นี่เป็นคติของฝรั่ง

แต่ frontier mentality นั้น ขณะนี้ฝรั่งเอง ที่เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบอกว่านี่แหละตัวทำลายละ เพราะเป็นต้นเหตุให้ฝรั่งทำลายธรรมชาติแวดล้อม ฉะนั้นฝรั่งจึงเกิดสำนึกว่าแนวคิด frontier mentality นี้ ทำให้เขา(รวมทั้งโลก)เกิดภัยพิบัติจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม แต่มันก็เป็นเหตุแห่งความสำเร็จของเขาในอดีต อันนี้เราเรียนรู้เพื่อที่จะได้เป็นบทเรียน เราจะต้องรู้เรารู้เขา และพัฒนาคนของเราให้ถูกต้อง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปไทยมีจุดเริ่มที่ผิด ในการสัมพันธ์กับเทคโนโลยี >>

เชิงอรรถ

  1. ตัดตอนจากคำบรรยายแก่คณะนักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ที่วัดญาณเวศกวัน วันเสาร์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๐ (และบางส่วนตัดตอนจากคำบรรยายเรื่อง “การพัฒนาแบบยั่งยืนตามแนวทางและหลักพุทธศาสนา” แก่คณะนักศึกษาปริญญาโท สาขาพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ที่วัดญาณเวศกวัน วันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐)

No Comments

Comments are closed.