ไทยมีจุดเริ่มที่ผิด ในการสัมพันธ์กับเทคโนโลยี

25 มกราคม 2540
เป็นตอนที่ 2 จาก 5 ตอนของ

ไทยมีจุดเริ่มที่ผิด ในการสัมพันธ์กับเทคโนโลยี

ทีนี้ หันกลับมาสู่เรื่องที่พูดไว้แต่ต้นว่า คนไทยเรานี้ไม่มีนิสัยนักผลิต แล้วยังขาดความเข้มแข็งทางปัญญาอีกด้วย เริ่มแต่ขาดความใฝ่รู้ ทีนี้เราก็มาดูภูมิหลังว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร การที่พูดถึงเรื่องภูมิหลังต่างๆ ของคนไทย ก็เพื่อรู้จักตัวเราเองให้ถูกต้อง และในหลายเรื่องก็ต้องเอามาเทียบกับฝรั่ง(ที่เราเห็นว่าเขาเจริญ) ด้วย

เมืองไทยเรานี้ มีทุนดีพิเศษติดตัว คือ สภาพภูมิศาสตร์ ที่มีธรรมชาติแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ อย่างที่เราชอบพูดอยู่เสมอด้วยความภูมิใจว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าเรามัวเพลินอยู่กับความสะดวกสบายจากความอุดมสมบูรณ์นี้ ข้อดีก็ทำให้เกิดผลร้ายตามมาได้ คือทำให้คนไทยตกอยู่ในความประมาท ชอบผัดเพี้ยน ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย จะเอาแต่ที่สบาย และอ่อนแอ ขาดความมุ่งมั่นที่จะทำการต่างๆ อย่างเด็ดเดี่ยวจริงจัง ต่างจากฝรั่งที่ธรรมชาติแวดล้อมบีบคั้น ทำให้เขาต้องลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ตั้งจุดหมายแน่วแน่ ทำจริงจังมั่นคง ผัดเพี้ยนเวลาไม่ได้ แล้วก็ทำให้เข้มแข็ง

ทีนี้ก็มาดูภูมิหลังในด้านความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ตอนนี้ไม่ต้องพูดถึงแง่ของความสัมพันธ์ในเชิงเป็นฝ่ายผลิต หรือฝ่ายบริโภค แต่จะมีอีกแง่หนึ่งที่จะต้องพูด คือแง่ของจุดเริ่มต้นที่คนไทยได้สัมพันธ์เจอะเจอกับเทคโนโลยี อันนี้เป็นเรื่องของภูมิหลังที่ผ่านมาแล้ว แต่มีผลต่อความแตกต่างในด้านจิตใจ

คนไทยก็ใช้เทคโนโลยี ฝรั่งก็ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวกัน แต่ความรู้สึกนึกคิดและการมองความหมายไม่เหมือนกัน เราเคยคิดวิเคราะห์ความแตกต่างในเรื่องเหล่านี้ไหม ฝรั่งมองเทคโนโลยีในความหมายอย่างไร ไทยมองในความหมายอย่างไร ภูมิหลังเป็นมาอย่างไร การมองความหมายและความสัมพันธ์นั้นสร้างสรรค์ชีวิตและจิตใจอย่างไร คนไทยเจอกับเทคโนโลยี แล้วเราได้รับผลต่อชีวิตจิตใจต่างจากฝรั่งอย่างไร

คนไทยเจอเทคโนโลยีเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้ว โดยฝรั่งนำเข้ามา ข้อสังเกตก็คือว่า

๑. คนไทยเจอสิ่งของเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีที่สำเร็จรูปแล้ว ไม่ต้องผ่านการเพียรพยายามในการผลิตหรือการสร้างสรรค์ เจอปั๊บสำเร็จรูปมาแล้ว

๒. เครื่องใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูปที่เจอนั้น มาเด่นมาชัดมามากในประเภทบริโภค ไม่ค่อยมีอุปกรณ์เทคโนโลยีประเภทผลิต เพราะฝรั่งเดินทางมานี้เพื่อบุกฝ่าพรมแดน เที่ยวหาอาณานิคม เขาเอาเครื่องมือสำเร็จรูปมาใช้ มาอำนวยความสะดวกสบาย ส่วนเครื่องมือที่ผลิตอยู่ในประเทศของเขาเอง

ทีนี้ เมื่อคนไทยเจอเครื่องมือหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีประเภทสำเร็จรูป ที่มันมาช่วยในการดำเนินชีวิตให้สะดวกสบายในประเภทบริโภคนี้เข้า ก็เลยมองเทคโนโลยีในความหมายแบบบริโภคเลย คือมองว่า เทคโนโลยีก็คือเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกสบาย

คนไทยสะดวกสบายอยู่แล้ว ในด้านสภาพแวดล้อม ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เมื่อเจอเทคโนโลยีประเภทบริโภคมาเสริมความสะดวกสบายเข้าไปอีก เลยยิ่งสบายใหญ่ สบายซ้ำสอง ฉะนั้น แนวโน้มของจิตใจก็ยิ่งเห็นแก่ความสะดวกสบายมากขึ้น เสริมความเป็นนักเสพบริโภค แล้วก็ยิ่งอ่อนแอลงอีก

ทีนี้ เราหันไปดูเทคโนโลยีกับฝรั่งบ้าง อุปกรณ์เทคโนโลยีชิ้นเดียวกันอันอำนวยความสะดวกสบายที่คนไทยเจอซึ่งมากับฝรั่งนั้น มีความหมายสำหรับฝรั่งโดยสัมพันธ์กับภูมิหลังแห่งการสร้างสรรค์ว่า มันเป็นผลผลิตแห่งความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์ของเขาเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐๐ ปี กว่าเขาจะสร้างและพัฒนามันมาจนเป็นเครื่องใช้เทคโนโลยีชิ้นนั้นได้ มันนานเหลือเกิน

ทีนี้ เบื้องหลังของการสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีนั้น คืออะไร

๑. เทคโนโลยีอาศัยความรู้วิทยาศาสตร์ เริ่มแรก เทคโนโลยีแบบพื้นฐานอาศัยความรู้ที่ยังไม่เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ในการเป็นอยู่ประจำวัน เช่น จะขุดดิน แทนที่จะใช้มือก็เอาไม้มาเหลามาถากเข้าแล้วก็เอาไปขุดดิน ต่อมาก็ทำจอบ ทำเสียม แม้แต่ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีหลายอย่างก็ไม่ถึงกับต้องใช้ความรู้วิทยาศาสตร์(ในความหมายที่เคร่งครัดทางวิชาการ) เช่นการทำเครื่องเฟอร์นิเจอร์หลายอย่าง

แต่สำหรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ โดยทั่วไปต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ต้องมีความรู้ เรื่องไฮดรอลิกส์ เรื่องกลศาสตร์ เป็นต้น จึงทำรถแบคโฮมาขุดดินได้ หรืออย่างจะทำไมโครโฟน ทำเครื่องบันทึกเสียงนี้ ก็ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น เช่นความรู้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า ความรู้เรื่องเสียง จึงเปลี่ยนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นคลื่นเสียง และเปลี่ยนคลื่นเสียงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ยิ่งพวกเทคโนโลยีชั้นสูง ก็ยิ่งมาอิงกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาก เช่น จะทำคอมพิวเตอร์ สร้างโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ทำเครื่องมือเลเซอร์ ทำเรื่องวิศวพันธุกรรม ก็ต้องมีความรู้เรื่องอีเลกทรอนิกส์ เรื่องนิวเคลียร์ฟิสิกส์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงพูดกว้างๆ ว่า เทคโนโลยีอาศัยวิทยาศาสตร์

เป็นอันว่า เรื่องเทคโนโลยีโยงไปหาวิทยาศาสตร์ ฝรั่งต้องพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มานานเป็นร้อยปีกว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีระดับนี้ขึ้นได้ ในระหว่างที่เขาค้นคว้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นานเป็น ๑๐๐ ปีนั้น เขาได้อะไร วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้น จิตใจวิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้น นั่นก็คือ ความมีจิตใจใฝ่รู้ นิยมเหตุผล ชอบค้นคว้าทดลอง นี่คือสิ่งที่พ่วงมากับการพัฒนาเทคโนโลยีที่คนไทยไม่เคยมีภูมิหลัง เราไม่เกี่ยวด้วยเลย

ฉะนั้น ฝรั่งได้อย่างหนึ่งแล้วนะ จากภูมิหลังของความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีอันเดียวกันนี้ คือฝรั่งได้วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ได้จิตใจใฝ่รู้ นิยมเหตุผล ชอบค้นคว้าทดลอง เป็นต้น ซึ่งได้มาเป็นรากฐานของความเข้มแข็งทางปัญญา

๒. เทคโนโลยีนั้น นอกจากอาศัยวิทยาศาสตร์แล้ว ยังต้องอาศัยกระบวนการผลิตที่เรียกว่า อุตสาหกรรม เทคโนโลยีนั้นคู่มากับอุตสาหกรรม

ฝรั่งเจริญขึ้นมาได้ก็ด้วยอุตสาหกรรม และผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีได้ก็ด้วยอุตสาหกรรม แต่พร้อมกันนั้นเขาก็พัฒนาอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี เทคโนโลยีนี่แหละอยู่เบื้องหลังความเจริญของอุตสาหกรรม ในการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องมือเครื่องอุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องยนต์ เป็นเรื่องเทคโนโลยีทั้งนั้น แต่เทคโนโลยีจะพัฒนาก็ต้องอาศัยอุตสาหกรรม เขาจะผลิตเครื่องบันทึกเสียง ไมโครโฟน ตลอดจนคอมพิวเตอร์ ก็ต้องอาศัยกระบวนการอุตสาหกรรม ฉะนั้นเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมจึงคู่กันมา

ฝรั่งสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาด้วยอะไร เขาบอกเองว่า ด้วยแรงจูงใจที่จะเอาชนะ scarcity คือ ความแร้นแค้นขาดแคลน เพราะเขาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่ไม่อำนวย เช่น ความหนาวเย็นที่รุนแรง ในฤดูหนาวไม่มีอาหารจะกิน จะอยู่รอดได้อย่างไร ทำอย่างไรจะมีอาหารกินในฤดูหนาว เป็นต้น เขาคิดว่าด้วยความขยันหมั่นเพียรในกระบวนการผลิตที่เรียกว่า อุตสาหกรรมนี้ เขาจะเอาชนะความแร้นแค้นขาดแคลนได้แล้วอุตสาหกรรมก็พัฒนาขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ ฝรั่งจึงเรียกอุตสาหกรรมโดยใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า industry ซึ่งแปลว่า ความขยันหมั่นเพียร นี้คือตัวแท้ของอุตสาหกรรม คือ industry ที่แปลว่า ความขยันหมั่นเพียร แล้วไทยก็แปลมาเป็นอุตสาหกรรม คนประดิษฐ์คิดศัพท์ในภาษาไทยก็พยายามแปลและบัญญัติให้ตรงกับภาษาอังกฤษคือ industry นั้น และได้คำว่า “อุตสาหกรรม” ซึ่งแปลว่าการกระทำด้วยความอุตสาหะ อุตสาหะ ก็คือ ความขยันหมั่นเพียร ฮึดสู้

แต่คนไทยมองอุตสาหกรรมอย่างไร เราไม่ได้มองในความหมายของความขยันเลยใช่ไหม คนไทยมองอุตสาหกรรมว่าเป็นกระบวนการผลิตสิ่งเสพบริโภคเพื่อให้เราเป็นอยู่สบาย ส่วนฝรั่งมองอุตสาหกรรมว่าเป็นกระบวนการแห่งความขยันหมั่นเพียร สู้ยากบากบั่น ที่จะทำการผลิตขึ้นมา เพื่อเอาชนะความขาดแคลนแร้นแค้น ให้มีสิ่งบริโภค แล้วจะได้มีความสุขต่อไป จากภูมิหลังที่ต่างกัน ไทยกับฝรั่งจึงมองความหมายของอุตสาหกรรมไม่เหมือนกัน

อุตสาหกรรมอยู่เบื้องหลังความเจริญของเทคโนโลยี ฝรั่งบอกว่าเขามุ่งหมายความสำเร็จ ต้องการจะมีวัตถุบริโภคพรั่งพร้อม แต่เขาจะต้องอดทน ขยันหมั่นเพียร ไม่เห็นแก่ความสะดวกสบาย ไม่เห็นแก่ความสุขสนุกสนานบำรุงบำเรอ มุ่งหน้าทำการงานอย่างเข้มแข็ง ไม่ยอมแก่ความเหนื่อยยาก แต่ยอมอดยอมออมยอมอยู่ง่ายๆ ซึ่งเขาเรียกว่า work ethic (แปลว่า จริยธรรมในการทำงาน) และเขาก็มีความภูมิใจนักว่าด้วย work ethic นี้แหละ จึงทำให้เขาพัฒนาอุตสาหกรรมได้สำเร็จ

ฝรั่งภูมิใจเรื่องนี้นัก จนกระทั่งมาถึงยุคนี้เขาจึงเปลี่ยนมาคร่ำครวญกันหนักหนาว่า คนอเมริกันยุคใหม่ของเขาขาด work ethic เพราะเมื่อถึงยุคบริโภคแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่รู้รสของความยากลำบาก มีความสะดวกสบายทางวัตถุมาก ก็กลายเป็นคนหยิบโย่ง สำรวย ใจเสาะเปราะบาง ฉะนั้นคนอเมริกันรุ่นใหม่จึงกำลังถูกติเตียนจากคนอเมริกันรุ่นเก่า ว่ากำลังทำให้ประเทศของเขาเสื่อมลงและจะเสื่อมต่อไป

คนอเมริกันรุ่นเก่าเขาสร้างสรรค์ความเจริญมาด้วยฝีมือของตัวเอง เขาอยู่ในยุคอุตสาหกรรม แต่อเมริกายุคปัจจุบันนี้เป็น post-industrial คือ ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม มาเป็น consumer society กลายเป็นสังคมของนักบริโภคแล้ว ฉะนั้น ฝรั่งยุคปัจจุบันก็เลยพ้นยุคอุตสาหะ คือ พ้นยุคขยัน(มาเป็นยุคขี้เกียจ) และทำท่าจะพ้นยุคสร้างยุคผลิต(มาเป็นยุคเสพยุคบริโภค)

ยุคอุตสาหกรรม คือยุคคนขยัน สังคมอุตสาหกรรม คือ สังคมแห่งความขยันหมั่นเพียร ที่มีจริยธรรมในการทำงาน (work ethic) จริยธรรมในการทำงานนี้คือหัวใจแห่งความสำเร็จของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมมากับความขยันหมั่นเพียร เทคโนโลยีพัฒนามาด้วยอาศัยอุตสาหกรรม กว่าเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้ามาได้อย่างที่เป็นอยู่นี้ ก็ต้องผ่านยุคอุตสาหกรรมมาเป็นร้อยๆ ปี เพราะฉะนั้น มันจึงทำให้ฝรั่งได้วัฒนธรรมอุตสาหกรรม

วัฒนธรรมอุตสาหกรรม ก็คือวัฒนธรรมแห่งการผลิตด้วยความขยันหมั่นเพียร ความอดทนต่อความยากลำบาก ไม่ยอมย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อย พูดสั้นๆ ว่า ความสู้ยากบากบั่น เป็นอันว่า ฝรั่งได้นิสัยสู้สิ่งยาก และ นิสัยนักผลิต จากวัฒนธรรมอุตสาหกรรม

นี้คือภูมิหลังในการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งเราไม่มีเลย ไทยเราเจอเทคโนโลยีปั๊บ สำเร็จรูปมาแล้ว เสพสบายเลย เทคโนโลยีจึงมาหนุนมาเสริมความสะดวกสบาย ทำให้โน้มเอียงที่จะชอบเสพบริโภค เห็นแก่ความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ต่างจากฝรั่งซึ่งเทคโนโลยีนี้หมายถึงภูมิหลังของการได้พัฒนาวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ที่ทำให้เกิดมีนิสัยใจคอที่ฝังลึกคือ ความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก เพราะฉะนั้น ไทยเราจะต้องรู้ตัวและแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ไทยยังไม่เป็นสังคมผู้ผลิต แต่เป็นสังคมผู้บริโภคเทคโนโลยีคนไทยยังมองไม่ถึงความหมายของเทคโนโลยี >>

No Comments

Comments are closed.