คนไทยยังมองไม่ถึงความหมายของเทคโนโลยี

25 มกราคม 2540
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

คนไทยยังมองไม่ถึงความหมายของเทคโนโลยี

เรื่องคนไทยกับเทคโนโลยียังไม่จบเท่านี้ ในใจคนไทยเรามองความหมายของเทคโนโลยีโดยไม่รู้ตัวว่าอย่างไร เราไม่เคยเอามาพูดกัน เทคโนโลยีมีความหมายอย่างไร ในความหมายอย่างหยาบที่สุด คนโดยมากจะมองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นวัตถุอุปกรณ์สำเร็จรูป เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ อย่างไมโครโฟน เครื่องเทป เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ พูดง่ายๆ ว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเครื่องใช้

ทีนี้ ในความหมายแบบหยาบๆ ในขั้นสำเร็จรูป ที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้นี้ ก็ยังแยกการมองความหมายออกไปได้เป็น ๒ แบบ คือ

แบบที่ ๑. เทคโนโลยี คือ เครื่องมือเครื่องใช้ที่อำนวยความสุขสะดวกสบาย (ช่วยให้เราไม่ต้องทำอะไร) เราจะต้องทำอะไร มันก็มาทำแทนให้ เราเลยไม่ต้องทำ เราอยากสนุกสนานเพลินเพลิน มันก็เป็นเครื่องบำรุงบำเรอเราตามใจปรารถนา

แบบที่ ๒. สำหรับคนอีกพวกหนึ่ง ความหมายต่างออกไปว่า เทคโนโลยี คือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จะมาช่วยให้เราทำอะไรๆ ได้ดียิ่งขึ้น และสามารถทำได้ยิ่งๆ ขึ้นไป เช่นว่า เราคิด จะทำงานส่วนนี้ เทคโนโลยีมาทำแทนให้ เราจะได้ก้าวไปทำส่วนโน้นต่อ หรือเราทำงานนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีก็มาช่วยให้ทำได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับคนพวกหนึ่ง เทคโนโลยีมาช่วยให้ไม่ต้องทำ แต่สำหรับคนอีกพวกหนึ่ง เทคโนโลยีมาช่วยในการทำ หรือมาช่วยให้ทำได้ดียิ่งขึ้นและสามารถทำยิ่งๆ ขึ้นไป พูดสั้นๆ ว่ามองในแง่ของนักบริโภคกับนักผลิต หรือนักเสพกับนักสร้างสรรค์ จะเห็นว่าคนไทยเรามองเทคโนโลยีแบบนักเสพนักบริโภคแทบทั้งนั้น คือมองว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มาช่วยบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบาย (เราจะได้ไม่ต้องทำ) จึงคิดจะมีเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ตัวเองสบาย จะได้ไม่ต้องทำ แต่ขอให้ลองไปดูใน dictionary จะเห็นความหมายของเทคโนโลยีในเชิงช่วยอุดหนุนการกระทำให้ทำได้ดียิ่งขึ้น และทำยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่มาช่วยให้หยุดทำ

ฉะนั้นจะต้องมองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จะมาช่วยให้เราทำการสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น นี่ต่างหากคือความหมายที่พึงต้องการ แค่ความหมายของเทคโนโลยีก็ตกแล้ว แต่ยังไม่จบแค่นี้ นี่เป็นเพียงความหมายขั้นหยาบเท่านั้น

ถ้ามองไปถึงความหมายที่แท้ ซึ่งถูกต้องและละเอียดอ่อนกว่านั้น เทคโนโลยีไม่ใช่แค่สิ่งสำเร็จรูปอย่างนี้ ลองมาดูกันให้ถึงตัวศัพท์ เราพูดว่าเทคโนโลยี ก็คือคำฝรั่งว่า technology ซึ่งได้แก่ techno + logy คำว่า logy แปลว่าความรู้ หรือวิทยา จะเห็นว่า วิชาต่างๆ ที่ลงท้ายด้วย logy เราพยายามแปลเป็นไทยให้ลงท้ายด้วย “วิทยา” ทั้งนั้น เช่น psychology แปลว่า จิตวิทยา sociology แปลว่า สังคมวิทยา criminology แปลว่า อาชญาวิทยา anthropology เราแปลว่า มานุษยวิทยา ถ้าไม่ลง logy เราก็จะแปลเป็น “ศาสตร์” อย่าง the humanities เราก็แปลว่ามนุษยศาสตร์ science เราแปลว่า วิทยาศาสตร์ linguistics เราแปลว่า ภาษาศาสตร์ ที่พูดมานี้ เพื่อให้เห็นว่า เทคโนโลยีที่จริงเป็นเรื่องของความรู้มันไม่ใช่เป็นแค่เครื่องมือ และก็ไม่ใช่แค่ความรู้เฉยๆ แต่เป็นความรู้ที่จะทำ

การมองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นเครื่องมือเครื่องใช้นั้น นอกจากเป็นความหมายหยาบๆ ซึ่งไม่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นการมองความหมายแบบนักเอาผลหรือนักเสวยผล ไม่มองลึกลงไปแบบนักสร้างเหตุ ที่จริงความหมายที่แท้ของเทคโนโลยี เป็นความหมายขั้นการสร้างเหตุ

ตามความหมายที่แท้ เทคโนโลยี คือการนำเอาความรู้ โดยเฉพาะความรู้วิทยาศาสตร์ มาจัดทำดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นอยู่อย่างได้ผลดียิ่งขึ้น และทำการต่างๆ ได้สัมฤทธิผลดียิ่งขึ้น นี่คือเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีจึงไม่ได้อยู่แค่ความหมายหยาบ คือสิ่งสำเร็จรูปที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ แต่โยงไปหาเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น คือการนำความรู้มาใช้ นั่นคือ ตัวเหตุ

ความหมายที่แท้จริงต้องลงไปถึงความรู้ ถ้าไม่มีความรู้ เทคโนโลยีที่เข้าใจว่าเป็นวัตถุเครื่องใช้นั้นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น การมองเทคโนโลยีจะต้องมองลงไปถึงความหมายพื้นฐาน คือตัวภูมิปัญญา หรือตัวความรู้ และการมองอย่างนี้จะโยงไปหาวิทยาศาสตร์ พอมองอย่างนี้ก็จะเห็นว่า science คู่กับ technology คือวิทยาศาสตร์คู่กับเทคโนโลยี ถ้าเทคโนโลยีไม่มีวิทยาศาสตร์เป็นฐาน เทคโนโลยีพัฒนาไม่ได้ จึงต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์มาเป็นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี

คนไทยเรามักติดอยู่แค่เทคโนโลยี ไม่เข้าถึงวิทยาศาสตร์ ถ้าเราจะก้าวขึ้นไปในการกระทำคือการผลิตและการสร้างสรรค์ เราจะต้องมองเทคโนโลยีในความหมายที่ถูกต้อง คือมองลึกลงไปถึงตัวความหมายที่แท้ ที่ลงไปถึงเหตุ คือการนำความรู้โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์มาใช้สร้างสรรค์ เช่น ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่จะช่วยในการดำเนินชีวิตและทำกิจการงาน เมื่อมองอย่างนี้ ก็จะทำให้เราต้องหันไปเน้นในเรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นฐานของมัน เวลานี้เราใส่ใจกันนักในเรื่องเทคโนโลยี แต่ละเลยเรื่องวิทยาศาสตร์ ถ้าจะพัฒนาประเทศชาติกันจริงๆ จะต้องลงลึกไปถึงขั้นพัฒนาวิทยาศาสตร์ให้ได้

เมื่อคนไทยชอบใช้ชอบเสพเป็นนักบริโภค ก็นึกคิดกันอยู่แค่เทคโนโลยี เลยเข้าไม่ถึงวิทยาศาสตร์ แม้แต่เป็นผู้บริหารประเทศชาติ พอพูดถึงวิทยาศาสตร์ หลายท่านก็มองแค่เทคโนโลยี คนไทยจำนวนมากไม่เข้าใจคำว่าวิทยาศาสตร์ ว่าแตกต่างจากเทคโนโลยีอย่างไร เมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ ก็เข้าใจแค่เทคโนโลยีเท่านั้น และเทคโนโลยีที่เข้าใจนั้น ก็ไม่ถูกต้องอีก เพราะมองอยู่แค่ตัววัตถุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ คือโภคภัณฑ์ที่จะเอามาเสพมาใช้ ไม่มองถึงความรู้จักจัดทำ นับว่าเป็นความผิดพลาดที่สำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องส่วนประกอบของความเข้มแข็งทางปัญญาเลยทีเดียว ถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ จะไปพัฒนาคนกันได้อย่างไร เพราะว่าขนาดแค่ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ยังจับไม่ถูก

เทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องของความรู้ที่จะทำ หรือการรู้จักดำเนินการ ประยุกต์ความรู้มาใช้ประโยชน์ทำการสร้างสรรค์ คู่กับวิทยาศาสตร์ ทำไมเทคโนโลยีคู่กับวิทยาศาสตร์ เพราะว่าวิทยาศาสตร์เป็นตัวองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ค้นหาความจริงของธรรมชาติว่าคืออะไร เป็นอะไร เป็นอย่างไร เป็นเพราะอะไร วิทยาศาสตร์บอกอย่างนี้ แล้วเทคโนโลยี ซึ่งเป็นความรู้ว่าจะทำอย่างไร ก็ไปเอาความรู้วิทยาศาสตร์ที่ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร เพราะอะไรนั้น มาใช้จัดสรรดำเนินการให้การดำเนินชีวิตและทำกิจการงานของมนุษย์เป็นไปอย่างได้ผลดียิ่งขึ้น เทคโนโลยีจึงเป็นการนำความรู้วิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เป็นความรู้ขั้นปฏิบัติการ นำมาใช้ประโยชน์

วิทยาศาสตร์เป็นตัวความรู้เฉยๆ เทคโนโลยีก็ไปเอาความรู้วิทยาศาสตร์นั้นมาดำเนินการสร้างสรรค์ทำอะไรต่างๆ ให้เราได้ประโยชน์จากความรู้นั้น วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของความ “รู้” เทคโนโลยีเป็นเรื่องของการ “ทำ” แต่จะทำได้ก็ต้องรู้ หรือต้องรู้จึงทำได้ เทคโนโลยีเชื่อมโยงความรู้ออกมาสู่การกระทำ

การมองความหมายของเทคโนโลยีขั้นนี้เป็นขั้นมองลงไปถึงเหตุ ไม่ใช่มองแค่ผลผลิตที่สร้างสรรค์แล้ว แต่มองลึกลงไปถึงการที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถ โดยโยงต่อไปถึงการที่จะต้อง

๑. ทำให้เกิดความรู้วิทยาศาสตร์ขึ้นมา

๒. เอาความรู้วิทยาศาสตร์นั้นมาดำเนินการสร้างสรรค์จัดทำให้เกิดเป็นงานเป็นการ เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เป็นต้น

ขั้นนี้ต่างหากที่เราควรมองเทคโนโลยี แต่คนไทยโดยทั่วไปไม่มองความหมายถึงขั้นนี้ ยิ่งกว่านั้น คนไทยจะมองแม้แต่วิทยาศาสตร์ในความหมายที่เป็นเทคโนโลยี หลายคนเมื่อถูกถามว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร เขามองได้แค่เทคโนโลยีเท่านั้น เมืองไทยเราติดอยู่แค่เทคโนโลยี(ในความหมายอย่างหยาบที่ไม่ถูกต้อง) เข้าไม่ถึงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์แทบไม่เกิดขึ้นในเมืองไทยเลย ถ้าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เกิด จิตใจวิทยาศาสตร์เกิด จะมีความใฝ่รู้ จะนิยมเหตุผล จะชอบทดลอง จะนิยมปัญญา และจะชอบแสวงหาปัญญา คนไทยจะต้องสนใจให้ถึงตัววิทยาศาสตร์เอง ซึ่งเป็นฐานของเทคโนโลยี

ถ้าคนไทยมองเทคโนโลยีโยงไปถึงวิทยาศาสตร์อย่างนี้ ก็จะสร้างจิตใจของนักผลิตและนักสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ทำให้เกิดคุณสมบัติคู่กันที่ครบวงจร คือ วิทยาศาสตร์สร้างวัฒนธรรมแห่งความใฝ่รู้ และเทคโนโลยีสร้างวัฒนธรรมแห่งความใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งเมื่อประสานเข้ากับวัฒนธรรมแห่งความบากบั่นสู้สิ่งยากของอุตสาหกรรม ก็นำไปสู่ความเจริญขยายตัวของวิทยาการและการผลิตการสร้างสรรค์ พร้อมทั้งความก้าวหน้าทางวัตถุและความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์

มองลึกละเอียดลงไปให้เห็นแง่มุมเพิ่มขึ้นอีก เพื่อจะได้พัฒนาคนและพัฒนาทุกอย่างให้ถูกต้อง ที่ว่าเทคโนโลยีเชื่อมโยงความรู้ออกมาสู่การกระทำนั้น ยังมีความหมายซ้อนและซ่อนอยู่อีก กล่าวคือ ในการที่ความรู้จะโยงออกมาสู่การกระทำได้นั้น จะต้องมีความรู้คิดหยั่งเห็นในหนทางและวิธีการที่จะจัดทำนำความรู้มาใช้ และมีฝีมือที่จะทำให้สัมฤทธิ์วัตถุประสงค์ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ความสามารถที่จะแสดงออกซึ่งปรีชาที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ ความสามารถ ๒ ขั้นนี้มีชื่อเรียกว่า ศิลปะ เพราะฉะนั้น ในเทคโนโลยีจึงมีศิลปะรวมอยู่ด้วย พูดให้เป็นสำนวนว่า เทคโนโลยีโยงวิทยาศาสตร์กับศิลปะเข้าด้วยกัน หรือพูดให้สั้นลงไปอีกว่า เทคโนโลยีโยงศาสตร์กับศิลป์เข้าด้วยกัน และเมื่อทำได้อย่างนี้ เทคโนโลยีจึงทำให้วิทยาศาสตร์เกิดผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม หรือแก่มวลมนุษย์และแก่โลกทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ใช่เท่านั้น การที่เทคโนโลยีโยงศาสตร์กับศิลป์มาต่อกันได้อย่างนี้ ยังไม่เป็นหลักประกันว่าจะเกิดผลดีเป็นประโยชน์สุขอย่างแท้จริง การพัฒนาคนเพียงขั้นนี้ ยังไม่เพียงพอ ยังจะต้องมีการพัฒนาคนอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตัดสินเด็ดขาด คือ พัฒนาคนให้สามารถโยงศาสตร์กับศิลป์ ให้ถึงกุศลด้วย คือให้มาเชื่อมต่อหรือรับใช้เจตจำนงที่จะใช้ศิลป์นำศาสตร์ไปทำการสร้างสรรค์ให้เกิดผลดีเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง เช่นนำมาช่วยให้มนุษย์มีปัจจัยสี่กินใช้ทั่วถึง มีสุขภาพดี บำบัดทุกข์ภัย ให้เป็นอยู่อย่างสวัสดี มีสันติสุข

เมื่อเทคโนโลยีขึ้นมามีบทบาทสนองเจตจำนงที่เป็นกุศล ก็จะส่งผลสืบทอดไปถึงอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตเป็นไปในทางสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์และสรรพชีพอย่างแท้จริง

หากปราศจากการพัฒนากุศลแล้ว การพัฒนาศาสตร์และศิลป์อาจเบี่ยงเบนออกจากทางที่แท้อันถูกต้อง กลายเป็นเครื่องก่อความหายนะและความพินาศแก่มนุษย์และโลกทั้งหมดก็ได้ แต่ถ้าเราพัฒนาคนให้ถึงขั้น ได้ทั้งศาสตร์ ทั้งศิลป์ และทั้งกุศล และสามารถโยงศาสตร์และศิลป์ ให้ถึงกุศล ก็จะเป็นมงคล คือก่อให้เกิดความดีงามและความงอกงามของมนุษยชาติ เป็นอารยธรรมที่พึงประสงค์อย่างแท้จริง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ไทยมีจุดเริ่มที่ผิด ในการสัมพันธ์กับเทคโนโลยีคนไทยยังศึกษาไม่ถึงสาระของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี >>

No Comments

Comments are closed.