พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่จะช่วยให้พระพุทธศาสนาพ้นภัย

1 กุมภาพันธ์ 2545
เป็นตอนที่ 1 จาก 3 ตอนของ

พ.ร.บ.คณะสงฆ์
ที่จะช่วยให้พระพุทธศาสนาพ้นภัย1

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)

 

พ.ร.บ. สงฆ์ จะไม่มีความหมาย
ถ้าไม่เป็นฐานรองรับธรรมวินัย
และไม่เป็นประกันให้พระเณรเจริญในไตรสิกขา

…พระธรรมวินัยเป็นเนื้อเป็นตัวของพระพุทธศาสนา ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา อยู่ที่พระธรรมวินัย จะรักษาพระพุทธศาสนาก็ต้องรักษาพระธรรมวินัย และยึดเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักเป็นเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา

เราจะรักษาพระธรรมวินัย และเอาพระธรรมวินัยมาตั้งเป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้อย่างไร ก็ต้องมีการศึกษาเล่าเรียน เมื่อเล่าเรียนก็รู้ เมื่อรู้แล้วนำมาปฏิบัติ พระธรรมวินัยก็ปรากฏออกมาในการประพฤติปฏิบัตินั้น เช่น ในจริยาวัตรของพระเณรเป็นต้น และเมื่อคนประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระเณรนำมาสั่งสอน ประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา เช่นทำให้สังคมดีมีศีลธรรม อยู่กันสงบเรียบร้อยร่มเย็นเป็นสุข และชีวิตพัฒนาดียิ่งขึ้นไป

ถ้าตัวเราเองไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แต่ช่วยสนับสนุนพระเณรให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ก็เท่ากับช่วยรักษาสืบต่อพระพุทธศาสนา ยิ่งถ้าตัวเองก็ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยด้วย สนับสนุนผู้อื่นด้วย ก็ประเสริฐที่สุด

พระพุทธเจ้าทรงปกครองคณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ทรงจัดตั้งวางระเบียบต่างๆ ก็เพื่อให้พุทธบริษัท คือพระสงฆ์และประชาชน ได้ประโยชน์จากพระธรรมวินัยที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอน พูดง่ายๆ ว่าคนทั้งหลายจะมาเอาพระธรรมวินัยจากพระองค์ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงจัดระเบียบพระสงฆ์ และวัดวาอารามให้มั่นใจว่า พุทธบริษัททุกคนจะได้ธรรมวินัยไปอย่างดีที่สุด เรียกว่าพระธรรมวินัยนั่นแหละเป็นเป้าหมายของการปกครองคณะสงฆ์ และก็เป็นหลักเป็นเกณฑ์ในการจัดการปกครองนั้นด้วย

คนจะได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา คือจากพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน ก็ด้วยการศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น ที่ท่านเรียกว่าไตรสิกขา ให้พระเณรเป็นต้น เจริญในศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้าจัดการปกครอง จัดระเบียบพระสงฆ์และวัดวาอาราม ให้เป็นเครื่องกำกับหรือเกื้อหนุนให้พระเณรได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย จนมั่นใจได้ว่า พระเณรเหล่านั้นจะเจริญงอกงามในศีล สมาธิ ปัญญา และสามารถมาสอนประชาชนให้รู้เข้าใจประพฤติปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนา ดำเนินชีวิตให้ดีงาม และช่วยกันสร้างสรรค์สังคมได้ ก็พูดได้ว่า การปกครองคณะสงฆ์และการจัดตั้งวางระเบียบการคณะสงฆ์นั้นประสบความสำเร็จ

แต่ถ้าปกครองกันไปแล้ว จัดตั้งวางระเบียบไปแล้ว ไม่เกิดผลตามนี้ ไม่ว่าจะมีวัตถุ อาคาร สถานที่ หรืออะไรๆ มากมายเพิ่มขึ้นมา หรือแม้แต่ลงโทษคนร้ายได้เฉียบขาดรุนแรง ก็ต้องพูดว่าเป็นความล้มเหลว

เวลานี้พูดกันว่า จะแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะออกกฎหมายคณะสงฆ์ใหม่ ก็ควรจะมีความชัดเจนว่า จะออกกฎหมายมาเพื่ออะไร จะปกครองเพื่ออะไร จะจัดระเบียบการคณะสงฆ์เพื่ออะไร

ถ้าต้องการจัดการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อดำรงรักษาพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระพุทธศาสนาปรากฏ และให้พระพุทธศาสนาเกิดประโยชน์แก่ชีวิตแก่สังคมประเทศชาติ พ.ร.บ. หรือ กฎหมายคณะสงฆ์นั้นก็ต้องมีพระธรรมวินัยเป็นหลักเป็นเป้าหมาย

กฎหมายจะต้องเป็นเครื่องมือที่จะรองรับพระธรรมวินัย และเป็นหลักประกันที่จะให้พระธรรมวินัยโดดเด่นออกมาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ และออกมาสู่การรู้เข้าใจและการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั้งปวง

พร้อมกันนั้น พ.ร.บ. หรือกฎหมายคณะสงฆ์ ก็จะต้องเป็นเครื่องกำกับ และเป็นหลักประกันให้พุทธบริษัท โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณร ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยที่เป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนานั้น และมีความประพฤติ ศีลาจารวัตร มีจิตสำนึก มีคุณธรรม มีปัญญารู้เข้าใจเจริญงอกงามขึ้นมา เป็นพระเณรที่ดีมีคุณภาพ สามารถทำหน้าที่ต่อพุทธบริษัท ด้วยการให้ธรรมแก่ชาวบ้าน หรือใช้วัดเป็นที่บำเพ็ญประโยชน์แก่ญาติโยมประชาชนตามหลักธรรมทานได้

พูดง่ายๆ ว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ต้องช่วยกำกับให้พุทธบริษัทเจริญในไตรสิกขา คือ ทำให้พระธรรมวินัยเกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมประเทศชาติ ด้วยไตรสิกขา

อย่างน้อย ง่ายและสั้นที่สุดว่า ถ้า พ.ร.บ. หรือกฎหมายคณะสงฆ์นี้ จะเป็นเครื่องกำกับและเป็นหลักประกันให้การคณะสงฆ์ไทยทั้งหมดยังเป็นระบบการ “บวชเรียน” คือ บวชเพื่อเรียน หรือบวชแล้วต้องศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัย แค่นี้ การออก พ.ร.บ.คณะสงฆ์นั้นก็คุ้มค่า บรรลุวัตถุประสงค์

แต่ถ้าไม่เกิดผลอย่างนี้ ถึงจะตรากฎหมายให้วิจิตรพิสดารเพียงใด ก็ต้องพูดว่าล้มเหลว ไร้ความหมาย

ที่ว่าให้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์เป็นหลักประกันระบบการบวชเรียนนั้น จะต้องเน้น และทำให้มั่นใจว่า จะต้องให้มาตรการนี้เกิดขึ้นที่วัดซึ่งอยู่กับชุมชนเล็กน้อยทั้งหลายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยนี้

ความสำเร็จของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ วัดได้ตรงนี้ คือที่วัดและชุมชนหน่วยย่อยๆ ทุกตำบลหมู่บ้าน ถ้าฟื้นฟูวัดและ ชุมชนทั้งหลายขึ้นมาสู่พระธรรมวินัยและไตรสิกขาได้ เมืองไทยจะกลายเป็นประเทศพัฒนาที่แท้อย่างแน่นอน

เวลานี้ รู้กันดีว่า พระเณรมากมายหรือจะว่าส่วนใหญ่ก็ได้ ไม่รู้ธรรมวินัย ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ว่าเชื่อถือหรือประพฤติปฏิบัติอย่างไรเป็นพระพุทธศาสนา

ที่เราว่าการเรียนท่องจำได้อย่างนกแก้วนกขุนทอง เป็นการศึกษาที่ไม่ดี แต่เวลานี้ ถ้าพระเณรไทยส่วนใหญ่จำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้บ้าง แม้เพียงอย่างนกแก้วนกขุนทอง ก็ต้องนับว่าดีมากทีเดียว (อย่าดูถูกการเป็นนกแก้วนกขุนทองให้เกินไปนัก แม้นกแก้วนกขุนทองจะพูดแจ้วโดยไม่รู้ความหมาย แต่ก็ช่วยเตือนสติเจ้าของได้และทำให้ขโมยที่แอบเข้ามาชะงักไปหน่อยเหมือนกัน)

สรุปว่า กฎหมายคณะสงฆ์ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะต้องเป็นฐานรองรับให้พระธรรมวินัยปรากฏโดดเด่นขึ้นมาเป็นหลักของพระพุทธศาสนา และเป็นเครื่องกำกับให้พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาแล้ว ได้เจริญงอกงามในศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักไตรสิกขา สามารถสั่งสอนธรรม นำประชาชนให้พัฒนาชีวิตและสังคมประเทศชาติสู่ความเจริญมั่นคงและประโยชน์สุขที่แท้จริงยั่งยืน

พูดอย่างสั้นว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ต้องเป็นฐานรองรับ พระธรรมวินัย กำกับพระเณรให้เจริญในไตรสิกขา และทำวัดให้เป็นแหล่งแผ่ธรรมขยายปัญญาสู่ชุมชน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปข้อคิดเห็นเบื้องต้น เกี่ยวกับการปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ >>

เชิงอรรถ

  1. ตัดตอนจากหนังสือ “ภัยแห่งพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย” หน้า ๖๗-๗๑ พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

No Comments

Comments are closed.