วินัย คือ จัดตั้งวิถีชีวิตแห่งไตรสิกขา

16 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 11 จาก 21 ตอนของ

วินัย คือ จัดตั้งวิถีชีวิตแห่งไตรสิกขา

ในหลักการฝึกที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เมื่อพูดถึงวินัย เรามักไปนึกถึงแต่ศีลของพระ แล้วเราก็ไม่ได้เอาไปใช้ในวิถีชีวิตของญาติโยม ก็เลยเสียประโยชน์ที่ควรจะได้ สำหรับพระนี่มีดีอย่างหนึ่ง คือมีวินัยชัดเจน

วินัยนี้เป็นเครื่องมือที่จะสร้างวิถีชีวิต และเป็นตัวกำกับช่วยให้เรานำเอา “ระบบไตรสิกขา” มาใช้ได้ พูดง่ายๆ วินัยเป็นการจัดตั้งของมนุษย์ เพื่อให้เป้าหมายทางธรรมชาติเกิดผลขึ้นมา

เรารู้ความจริงแล้วว่า ธรรมดาเป็นอย่างนี้ เราต้องการจะมีชีวิตที่ดีงาม ธรรมชาติหรือธรรมดามันเรียกร้องให้เราทำอย่างนี้ เอ! ที่ว่าต้องทำอย่างนี้พูดสั้นๆ ว่าต้องไตรสิกขา แล้วจะมีวิธีอย่างไรให้คนทำอย่างนั้นหรือมีชีวิตอย่างนั้นล่ะ เราก็จัดตั้งวิถีชีวิตแบบนั้นขึ้นมา เรียกว่า “วินัย”

วินัย คือ การจัดสรร หรือจัดตั้งระบบวิถีชีวิต ที่จะทำให้คนต้องดำเนินชีวิต และทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ในแนวทางที่เราต้องการ ให้เป็นไปตาม “หลักไตรสิกขา” เพราะฉะนั้น วินัยจึงมาเป็นตัวสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับศีล คือจัดตั้งให้เกิดเป็นศีลหรือจัดตั้งวิถีชีวิตที่จะให้มีสิกขาขั้นศีล เพราะศีลเป็นเรื่องของพฤติกรรม ซึ่งแสดงออกทางกาย และวาจา ชัดเจนออกมา การจัดตั้งที่เป็นรูปธรรม ซึ่งอยู่ในสังคม ก็ออกมาในรูปของศีล

ที่จริงวินัยไม่ใช่แค่ฝึกศีลหรอก ก็จัดตั้งให้เกิดโอกาสที่จะฝึกไตรสิกขาทั้งหมดนั่นแหละ แต่มันปรากฏชัดที่ศีล พอฝึกตามวินัย มีชีวิตตามวินัย ตามรูปแบบที่วางไว้นี้ มันก็เกิดเป็นศีลขึ้นมา คือเป็นการดำเนินชีวิตด้านพฤติกรรม ทางกาย และวาจา เป็นต้น ที่เป็นปกติอย่างนั้น ศีลก็คือพฤติกรรมดีงามที่เป็นปกติอย่างนั้นแล้ว อยู่ตัวแล้ว หรือจะเรียกเป็นความเคยชินเลยก็ได้ แต่หมายถึงความเคยชินในทางที่ดี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พอกินอยู่เป็น…ก็คิดเป็นเองถ้ามองเห็นความสำคัญของความเคยชิน ก็รู้ความสำคัญของวินัย >>

No Comments

Comments are closed.