สิกขาข้อศีลมี ๒ ด้าน

16 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 7 จาก 21 ตอนของ

สิกขาข้อศีลมี ๒ ด้าน

เมื่อทำไปแล้วก็ตรวจสอบได้อีก คราวนี้วัดผลด้วยภาวนา ๔ เลย แต่เรื่องภาวนา ๔ นี้ ต้องโยงกับสิกขา ๓ หรือไตรสิกขาให้ดี ต้องชัดว่า เราใช้ภาวนา ๔ วัดผลของสิกขา ๓

อีกอย่างหนึ่ง ต้องชัดว่า สิกขา ๓ กลายเป็นภาวนา ๔ เพราะเรื่องสิกขา ๓ เป็นการดูการทำงานแบบองค์รวมขององค์ร่วม ๓ (เรียกรวมเป็นคำเดียวว่า “ไตรสิกขา”) แต่เรื่องภาวนา ๔ เป็นการจำแนกแยกแยะออกดูแต่ละด้านให้ชัดไปทีละอย่าง

ภาวนา ๔ ครูอาจารย์ที่นี่ทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้ว คือ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตตภาวนา และ ปัญญาภาวนา

เมื่อเทียบกับสิกขา ๓ ก็จะเห็นว่า ภาวนา ๓ ข้อหลัง ตรงกับสิกขา ๓ เลย แต่เพิ่มข้อแรกคือกายภาวนาเข้ามา จึงต้องทำความเข้าใจนิดหน่อยว่า สิกขาข้อแรก คือศีลนั่นแหละแยกออกเป็น ๒ อย่าง เป็นกาย กับศีล

ทำไมในภาวนา ๔ นั้น แยกศีลเป็น ๒ อย่าง ก็อธิบายว่า ศีลที่ว่าสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมนั้นแยกย่อยออกไปเป็น ๒ ด้าน คือ สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพด้านหนึ่ง และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมด้านหนึ่ง ในเรื่องภาวนานี้ต้องการดูทีละอย่างให้ละเอียด จึงแยกศีลซอยออกไปเป็น ๒ ด้าน

แต่ในไตรสิกขา ทำไมศีลจึงรวมหมด ทั้งความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านวัตถุ และสัมพันธ์กับบุคคลและสังคม ก็เพราะว่าในไตรสิกขานั้น ศีล-สมาธิ-ปัญญา ต้องเป็นไปพร้อมด้วยกันทั้ง ๓ อย่างตลอดเวลา ศีลจึงต้องรวมเป็นข้อเดียว เพราะในครั้งหนึ่งๆ เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียว

เป็นอันว่า การศึกษาก็อยู่ในกิจกรรมทุกอย่างของชีวิตนี่เอง จึงบอกว่าตั้งแต่เกิดมาเราก็ต้องเริ่มการศึกษาแล้ว เพื่อจะให้ชีวิตเป็นอยู่ด้วยดี เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงเริ่มฝึกคนให้ศึกษาตั้งแต่ในการเป็นอยู่ประจำวัน ว่าการกินการอยู่นี่แหละ เราต้องมีการศึกษา ถ้ากินไม่เป็น ไม่รู้จักใช้ไตรสิกขาในการกิน การกินก็ไม่ได้ผลดี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สอนเด็กให้ได้ครบไตรสิกขากินอย่างไรให้เป็นไตรสิกขา >>

No Comments

Comments are closed.