ถ้ามองเห็นความสำคัญของความเคยชิน ก็รู้ความสำคัญของวินัย

16 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 12 จาก 21 ตอนของ

ถ้ามองเห็นความสำคัญของความเคยชิน ก็รู้ความสำคัญของวินัย

คนเรานี้อยู่ด้วยความเคยชินเป็นสำคัญ ใครจะปฏิเสธได้… ที่เราอยู่กันนี้ เราทำไปตามความเคยชินแทบทั้งนั้น เราจะชอบอะไร เราจะหันไปหาอะไร เราจะพูดคำไหนอย่างไร แม้แต่จะเดินแบบไหน ก็มักทำไปตามความเคยชิน

ความเคยชินนี้มีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ความเคยชินทางใจ ก็คือใจจะชอบอะไร เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น คนที่ชอบไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า ความเคยชินจะออกมาเลย คนหนึ่งก็ไปเข้าร้านหนังสือ อีกคนหนึ่งก็ไปร้านขายเครื่องใช้ของใช้ในบ้าน อีกคนหนึ่งไปร้านเครื่องบันเทิง หรือสิ่งบำรุงบำเรอความสุข นี่เป็นไปตามการสั่งสมสภาพจิตใจที่เคยชิน คนเราก็ทำไปตามความเคยชินนั้น

พระพุทธเจ้าทรงเน้นความสำคัญของความเคยชิน คนเรามีทั้งความเคยชินที่ดี และความเคยชินที่ไม่ดี ถ้าเคยชินไม่ดีก็เสียหาย ซึ่งอาจจะทำให้เสื่อมได้มาก

ถ้าไม่มีคนอย่างพ่อแม่หรือคุณครู ที่เป็นกัลยาณมิตรมาช่วยนำ เด็กก็อาจจะจับพลัดจับผลูไปสร้างความเคยชินที่ไม่ดีขึ้นมา เช่น เด็กเกิดนึกสนุกขึ้นมา ถือไม้ติดมือ เดินไป พอเห็นต้นไม้ ดอกไม้ ก็หวดซ้ายหวดขวา ใบไม้ดอกไม้ขาดกระจุย ต่อมาอีกวันพอเดินไป แกก็มีความโน้มเอียงจะทำอย่างนั้นอีก ทำไปทำมาก็เคยชินติดนิสัยกระทั่งไปเป็นผู้ใหญ่ ที่นี้ก็แก้ยากแล้วซิ

เพราะเหตุนี้เราก็เลยต้องพยายามเข้าชิงเสียก่อน ชิงกันระหว่างความเคยชินที่ดี กับไม่ดี โดยที่เราชิงให้ความเคยชินที่ดีเริ่มต้นได้ก่อน พอเคยชินดีแล้วเราก็สบายใจได้ ฉะนั้น ศีลนี้เป็นเรื่องสำคัญในแง่หนึ่งก็คือ การฝึกความเคยชินที่ดีนั่นเอง และความเคยชินที่ดีนี้ก็เกิดขึ้นด้วยวินัย คือ การจัดตั้งระบบ การวางระเบียบแบบแผนอะไรต่างๆ ให้มีการทำพฤติกรรมที่ดีกันจนเคยชินอยู่ตัว

วินัยแปลว่าอะไร? ท่านแปลว่า “การนำไปให้วิเศษ” ภาษาของพระแปลได้อย่างนี้ ซึ่งในภาษาทางปฏิบัติก็แปลว่า “การฝึก” นั่นเอง แต่ห้ามแปลว่า “ข้อบังคับ” ไม่รู้ว่าทำไมคนไทยไปแปลว่า ข้อบังคับ ย้ำอีกทีว่า วินัย แปลว่า การนำไปให้วิเศษ หมายความว่า ชีวิตมนุษย์เรานี้จะดี จะวิเศษ จะประเสริฐได้ก็ด้วย การนำไปให้ถูกทาง

ถ้ามีผู้นำที่ดี มีประสบการณ์ รู้เข้าใจ เห็นทางถูกต้อง มีสัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว จะนำไปในทางที่ถูกต้อง ก็มาจัดตั้งวางระบบขึ้นเป็นวินัย

ระบบการจัดตั้งนี่สำคัญมาก วินัยเป็นรูปแบบที่ว่า บางทีโดยที่ยังไม่ทันรู้ตัว เราก็ได้ความเคยชินที่ดีแล้ว เป็นธรรมดาว่าเราจะหวังให้ทุกคนทำอะไรโดยต้องคิดพิจารณาทุกอย่างนี่ยาก แต่โดยมากคนจะทำตามกันไป ใช่ไหม เราไม่ทันดู ไม่ทันช่วยเลย แกตามไปซะแล้ว แกตามคนอื่น ถ้าตามอย่างที่ไม่ดีไป เกิดเป็นความเคยชินที่ไม่ดีเสียแล้ว คราวนี้ก็เป็นปัญหาที่ยาก

เพราะฉะนั้น เราก็เลยหาทางให้มีวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความเคยชินที่ดีร่วมกันที่ถ่ายทอดต่อมา เอามาช่วย ซึ่งก็อยู่ในเรื่องวินัยนี่แหละ เป็นระเบียบ แบบแผน ธรรมเนียม จารีต ประเพณี อะไรต่างๆ ซึ่งในที่สุดก็เป็นวิถีชีวิตขึ้นมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วินัย คือ จัดตั้งวิถีชีวิตแห่งไตรสิกขาวินัยเป็นรูปแบบ ต้องรักษาสาระไว้ และสื่อสาระได้ >>

No Comments

Comments are closed.