รู้จักศีลครบ ๔ หมวด จึงจะเข้าใจคำว่า “ศีล”

16 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 14 จาก 21 ตอนของ

รู้จักศีลครบ ๔ หมวด จึงจะเข้าใจคำว่า “ศีล”

วินัยมีประโยชน์อย่างที่ว่ามานี้ แต่ถ้าใช้ไม่เป็นมันก็คลาดเคลื่อนเลือนลาง จนกระทั่งเนื้อหาสาระหมดไป ก็อาจจะเขว กลายความหมายเป็นอย่างอื่น จนถึงขั้นใช้ผิดวัตถุประสงค์ไปก็ได้ แต่นี่คือให้เห็นว่า การฝึก หรือการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้

การฝึกตนและฝึกคนเริ่มตั้งแต่ชีวิตประจำวันซึ่งเราอาจจะมองข้ามไป ตั้งแต่เรื่องการกินการอยู่ธรรมดานี่แหละ เพราะอย่างที่บอกแล้วว่า การทำให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ดีเป็นสิกขา และชีวิตที่เป็นอยู่ได้ดี ก็เป็นมรรค เพราะฉะนั้น การศึกษาก็คือการทำให้ชีวิตสามารถเป็นอยู่ได้อย่างดี และ การศึกษาก็เริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น

เมื่อกินอยู่เป็นการศึกษาก็เริ่มทันทีเลย ก็เลยอยากจะเน้น ทุกคนในครอบครัว ตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใช้ศีลประเภทนี้ด้วย ต้องมีศีลให้ครบ อย่าไปเอาเฉพาะศีล ๕ ก็เลยต้องถือโอกาสพูดเรื่องศีล นี่เวลาก็เกินแล้ว เรื่องศีลนี่ขอพูดอีกนิดหนึ่ง

ศีลของพระนี่ท่านจัดเป็น ๔ หมวด

๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในปาฏิโมกข์ อันนี้คือศีลแม่บท หรือศีลที่เกิดจากวินัยแม่บท คือวินัยแม่บทของชุมชน

เป็นธรรมดาว่าชุมชนแต่ละชุมชนจะต้องมีกติกา มีข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน ที่จะคุมชุมชนให้อยู่ในแบบแผนเดียวกันอย่างประณีตงดงาม และกำกับความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการมีชีวิตแบบนั้น เช่น ชีวิตครอบครัวของเรา ควรมี

วัตถุประสงค์อย่างไร? เราควรอยู่กันอย่างไรจึงจะได้ผลตามวัตถุประสงค์นั้น? ก็วางข้อปฏิบัติขึ้นมา จะเรียกว่ากติกา หรืออะไรก็ตาม ก็ตกลงกันไว้

สำหรับคฤหัสถ์ทั่วไป หรือสังคมใหญ่ เราเอาศีล ๕ นี่แหละ เป็นศีลปาฏิโมกข์ คือเป็นศีลแม่บทสำหรับคุมให้สังคมอยู่กันด้วยดี จะได้เป็นฐานให้ชีวิตของแต่ละคนก้าวไปสู่จุดหมายที่สูงขึ้นไปได้

๒. อินทรียสังวรศีล เป็นศีลอีกประเภทหนึ่งที่สำคัญ คือ การใช้อินทรีย์ ตั้งแต่ตา หู นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด อินทรีย์เป็นเรื่องใหญ่มาก คือเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละ โดยเฉพาะจะต้องใช้ตาเป็น ใช้หูเป็น ต้องดูเป็น ฟังเป็น

เรื่องนี้เป็นปัญหามากของยุคปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในยุคที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เกิดปัญหามากมาย เพราะคนใช้เทคโนโลยีไม่เป็น และการที่เราใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ก็เพราะไม่มีศีลด้านนี้ เมื่อศีลด้านอินทรียสังวรไม่มี เราก็ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ดูทีวีไม่เป็น ใช้เครื่องเสียง ใช้และเสพอะไรต่ออะไร แม้แต่คอมพิวเตอร์โดยไม่รู้และไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงเลย

ถ้าใช้อินทรีย์เป็น ก็ใช้ด้วยสติ และให้เกิดปัญญา ให้เข้าหลักสติปัฎฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ที่ว่า จะดู จะฟังอะไรก็ให้ได้ ๒ อย่าง คือ ได้ญาณ คือได้ความรู้ความเข้าใจ เข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ จับสาระได้ และ ได้สติ คือได้ข้อมูลไว้สำหรับระลึกใช้ประโยชน์ ได้ ๒ อย่าง คือ ได้ความรู้ความเข้าใจ และได้ข้อมูล ไม่ไปตามชอบใจไม่ชอบใจ ไม่ติดอยู่แค่ถูกใจเพลิดเพลิน

ถ้าเราใช้ สติปัฏฐาน ตั้งแต่เด็กๆ ก็สังเกตว่าเขาดูอะไรฟังอะไรแล้วเขาได้ไหม ๒ อย่างนี้ คือ ได้ความรู้ความเข้าใจและได้ข้อมูลไว้ใช้ ได้สองอย่างนี้ก็เข้าสติปัฎฐานแล้ว คือจิตไม่ไปตามชอบใจ-ไม่ชอบใจ มันก็ไม่ไปหลงวุ่นวายอะไรแล้ว พอใช้ตาดู หูฟัง เป็นแล้ว ก็เป็นอินทรียสังวร แต่ถ้าตาดู หูฟัง แค่เด็กดูทีวี ถ้าแกไม่มีหลัก ไม่มีอินทรียสังวร ก็ไปแล้ว แกก็ดูแค่ลุ่มหลง ชอบใจ-ไม่ชอบใจ เพลิดเพลิน หลงมัวเมา ไม่ได้ประโยชน์อะไรที่ควรจะได้

เอาละ … ไม่ว่าอะไร เรื่องบันเทิง สนุกสนาน ก็ว่าไป แต่อย่าให้มันกลายเป็นหลักนะ ความสนุกสนานบันเทิงนั้นเป็นตัวประกอบ ต้องถามว่าตัวแท้ที่เราต้องการหรือประโยชน์ที่แท้นั้นเราได้หรือเปล่า ต้องให้เรื่องบันเทิงเป็นตัวประกอบ และให้ได้ตัวแท้ คือได้ความรู้เข้าใจ และได้ข้อมูลไว้ระลึกใช้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วินัยเป็นรูปแบบ ต้องรักษาสาระไว้ และสื่อสาระได้ทำไม ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ท่านเริ่มต้นโดยเอาศีล เป็นที่บูรณาการไตรสิกขา >>

No Comments

Comments are closed.