หลักการสอน

16 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 4 จาก 21 ตอนของ

หลักการสอน

การศึกษานั้นเป็นงานของชีวิต หรือเป็นหน้าที่ของทุกคนทุกชีวิต พอพูดอย่างนี้ก็อาจจะรู้สึกว่าหนักหรือน่าเหนื่อย หลายคนหลายชีวิตยังศึกษาไม่เป็น ก็ศึกษาไม่ได้ผลดี หรือบางทีแทบไม่รู้จักศึกษาเลย ถึงตอนนี้ก็มีคุณครูเข้ามา คุณครูก็มาช่วยเราให้ศึกษา คือช่วยเราให้ศึกษาอย่างได้ผล การช่วยให้ศึกษานั้นเรียกว่า “การสอน” จะพูดว่าช่วยให้เรียน หรือช่วยให้เรียนรู้ ก็ได้

พอเด็กเริ่มดำเนินชีวิต คือเริ่มเป็นอยู่ เขาก็เริ่มศึกษา คือพยายามให้ชีวิตของเขาเป็นอยู่ได้และเป็นอยู่ดี ถึงตอนนี้คุณครูก็เข้ามา เช่น เด็กยังเดินไม่เป็น ก็มาสอนเดิน คือช่วยให้เด็กฝึกเดิน ศึกษาการเดิน หรือเรียนรู้ที่จะเดินให้เป็น คนที่จะช่วยให้เด็กศึกษาหรือฝึกเรียนรู้การเป็นอยู่พื้นฐานอย่างนี้ ก็คือ พ่อแม่ ซึ่งอยู่กับเด็ก ใกล้ชิดเด็กที่สุด เพราะฉะนั้น ทางพระจึงเรียกพ่อแม่ว่าเป็นครูคนแรก คือ “ครูต้น” หรือบูรพาจารย์

ทีนี้ ที่ว่าครูเป็นผู้ที่ช่วยให้ศึกษา เรียกว่า “สอน” จนกระทั่งเมื่อว่าโดยสาระ เรื่องของครูก็เป็นเรื่องของการสอนนั้น ต้องถามว่า ครูสอนอะไร เราลองมาดูว่าครูใหญ่สูงสุด คือพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร

เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่า พระพุทธศาสนานั้น ที่เรียกว่าธรรมก็คือความจริงของธรรมดา หรือธรรมชาติ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า …ตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ความจริงก็มีอยู่ตามธรรมดาของมันอย่างนั้น… พระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วนำมาแสดง มาบอกมากล่าวให้เข้าใจง่ายว่าเป็นอย่างนี้ๆ นี่ก็คือบอกว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา

ความจริงของธรรมดานั้นเราจะรู้ไปทำไม เราต้องรู้ก็เพราะว่า เมื่อชีวิตของเราและทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมดาหรือตามกฎธรรมชาตินี้ ถ้าเราไม่รู้ธรรมดานั้น ไม่รู้ความเป็นไปของมัน ไม่รู้กฎธรรมชาติ เช่นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล เป็นต้น เราก็ปฏิบัติอะไรไม่ถูก แม้แต่ชีวิตของเรา ตั้งแต่ร่างกายของเราก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เมื่อเราจะดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง เราก็ต้องรู้จักว่ามันเป็นอย่างไร ดังเช่นแพทย์จะรักษาคนไข้ ก็ต้องเรียนเรื่องความจริงของชีวิตด้านร่างกายกันตั้งมากมาย การรู้ความจริงตามธรรมดานี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด

ธรรมดานี่แหละยากที่สุด พุทธศาสนาเป็นเรื่องของธรรมดา และให้เข้าถึงธรรมดาเท่านั้นเอง แต่ใครเข้าถึงธรรมดานี่แหละคือสำเร็จ ไม่มีอะไรยากไปกว่าเรื่องธรรมดา ใครถึงธรรมดาคนนั้นก็สมบูรณ์เลย

เราต้องรู้ธรรมดา เพราะว่าเมื่อเรารู้ความจริงที่เป็นธรรมดานั้นแล้วเราจะได้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้อง เหมือนรู้ความจริงของไฟแล้ว ก็ปฏิบัติต่อไฟได้ถูกต้อง และเอาไฟมาใช้ประโยชน์ได้

การที่พระพุทธเจ้าตรัสคำสอนต่างๆ นั้น พระองค์ก็เอาความจริงของธรรมดามาเป็นฐาน ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่ก็คือเอาสัจธรรมมาเป็นฐาน คือสอนว่า ความจริงเป็นอย่างนี้นะ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ถามว่าเราจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร ตอนนี้แหละธรรมดาคือความจริงหรือสัจธรรมก็เรียกร้องหรือบังคับเราอยู่ในตัวว่า ถ้าคุณจะเป็นอยู่ให้ดีจริง คุณจะต้องดำเนินชีวิตอย่างนี้ คุณต้องทำอย่างนี้ คุณต้องทำเหตุปัจจัยอย่างนี้

ถึงตอนนี้ คำสอนประเภทที่ ๒ ก็จึงเกิดขึ้น คือคำสอนประเภทที่เราเรียกสมัยนี้ว่า “จริยธรรม” จริยธรรมก็คือข้อเรียกร้องของสัจธรรม หรือข้อเรียกร้องของธรรมดาต่อมนุษย์ ว่าถ้าคุณต้องการอยู่ดีคุณต้องทำอย่างนี้ คุณต้องปฏิบัติอย่างนี้ จริยธรรมก็จึงเป็นเรื่องของความจริงภาคปฏิบัติการที่สืบเนื่องจากธรรมดานั้น ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงแต่งขึ้นมา และไม่ใช่คำสั่งของพระองค์ พระองค์มาสอนโดยอาศัยความรู้ในความจริงนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ถ้าไม่รู้ความจริงถึงที่สุดแล้ว การที่จะมาสอนหลักจริยธรรมก็ไม่สามารถสมบูรณ์ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน คำสอนที่เป็นเรื่องข้อปฏิบัติ หรือธรรมะด้านที่เรานำมาใช้ อย่างเรื่องไตรสิกขา และเรื่องมรรคก็อยู่ในประเภทนี้

ที่พูดเมื่อกี้หมายความว่า การที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องสิกขา และเรื่องมรรค ก็เพราะว่าทรงได้ตรัสรู้สัจธรรม หรือความจริงตามธรรมดานั้นแล้ว จึงมาตรัสบอกมนุษย์ทั้งหลายว่าธรรมดาเป็นอย่างนี้นะ ถ้าคุณปฏิบัติถูกต้องตามธรรมดาแล้วชีวิตของคุณก็จะเป็นอยู่ดี และสังคมของคุณก็จะอยู่ดี เพราะฉะนั้นถ้าตกลงคุณก็ทำให้สอดคล้องกับธรรมดา หรือเอาความรู้ต่อธรรมดานั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างนี้นะ เราจึงได้มีการศึกษากัน

ความจริงเราก็ต้องศึกษาอยู่แล้ว แต่เราศึกษาไม่เป็น คนจำนวนมากศึกษาไม่เป็น ก็เลยทำให้เสียเวลากับชีวิต และผิดพลาด ไม่เจริญก้าวหน้า บางทีก็พลาดพลั้งไปในทางเสียหาย กลายเป็นความเสื่อมของชีวิตไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หลักการศึกษาไตรสิกขา เดินหน้าไปกับชีวิตทั้งสามด้าน >>

No Comments

Comments are closed.