มอง Child-Centered Education อย่างไร จึงจะเอามาใช้หรือไม่ใช้ อย่างเท่าทัน

16 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 20 จาก 21 ตอนของ

มอง Child-Centered Education อย่างไร จึงจะเอามาใช้หรือไม่ใช้ อย่างเท่าทัน

อีกอย่างหนึ่งที่อยากพูดไว้ คือ เราอยู่ท่ามกลางความเป็นจริงของกระแสสังคม เมื่อสังคมโดยเฉพาะในด้านการศึกษามีความเคลื่อนไหวอย่างไร ว่าโดยเชิงประวัติเป็นมาอย่างไร มันเสื่อมลงและเจริญขึ้นอย่างไร Child-Centered Education แข่งกับ Teacher and Subject-Centered Education อย่างไร มันชนะกันตอนไหน ด้วยเหตุผลอะไร เราก็ต้องรู้ ต้องทันด้วย

ในเชิงประวัติศาสตร์ การศึกษาแบบที่เรียกว่า “มีเด็กเป็นศูนย์กลาง” นี้ เราเอามาจากอเมริกา

Child-Centered Education ออกมาสู่การปฏิบัติตั้งแต่ปี ๑๘๗๕ ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ใช้ แล้วก็มาพัฒนามากในยุคของ จอห์น ดิวอี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ควรเรียกว่า เป็นหัวหอก หรือเป็นผู้นำในเรื่อง Progressive Education

• ต่อมาหลังปี ๑๙๐๐ Child-Centered Education ก็แย่ลง โดยเฉพาะพอรัสเซียส่งดาวเทียมสปุตนิกขึ้นไป เมื่อปี ๑๙๕๗ Child-Centered Education ก็ตกวูบเลย คนอเมริกันพากันติเตียนว่า Child-Centered Education ทำให้เด็กอ่อนวิชา บุคลิกภาพก็อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง เรียกง่ายๆ ว่าไม่สู้สิ่งยาก ตามใจเด็กมากเกินไป เน้นที่การสนองความต้องการของเด็ก ถึงตอนนี้ Teacher and Subject-Centered Education ก็เฟื่องฟูขึ้นมาอีก ตั้งแต่ปี ๑๙๕๗ เป็นต้นมา

• แต่มาถึงระยะ ๑๙๘๐ เอาอีกแล้ว คนอเมริกันบอกว่าเด็กมี alienation มีความแปลกแยก มีจิตใจที่ไม่สบาย มีความทุกข์ เครียด อะไรพวกนี้ Teacher and Subject-Centered Education ไม่ดีแล้ว ก็เลยหันกลับมา Child-Centered Education อีก ฝรั่งก็เลยแกว่งเป็นลูกตุ้ม แกว่งไป แกว่งมา แกว่งซ้าย แกว่งขวา ใครจะแกว่งตามอย่างไร ก็แกว่งไป

น่าพิจารณาว่าเรื่องนี้บางทีมันกลายเป็นสุดโต่งทั้ง ๒ อย่าง ทางที่ถูกมันน่าจะเป็นมัชฌิมาได้หรือเปล่า มัชฌิมาปฏิปทาก็คือการปฏิบัติจัดดำเนินการที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมดา การศึกษาที่แท้ก็ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมดา

พูดถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมดา ธรรมดานั้นเราต้องรู้ด้วยปัญญาใช่ไหม ? นี่ก็คือสัมมาทิฏฐิ เมื่อรู้เข้าใจความเป็นจริงของธรรมดาแล้ว ก็จัดให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ เรียกว่า มัชฌิมา คือพอดีกับความจริง เมื่อพอดีกับความจริงก็เป็นมัชฌิมา

เพราะฉะนั้น การศึกษาในพุทธศาสนาเป็นมัชฌิมา ซึ่งคงไม่ใช่ Child-Centered Education ไม่ใช่ Teacher and Subject-Centered Education ทั้งนั้นแหละ (หรือจะบอกว่าใช่ ก็ต้องทั้งสองอย่างเลย โดยประสานกันอย่างพอดี)

สองอย่างนั้น ดีไม่ดีจะเป็นสุดโต่ง ๒ ทาง

อย่างที่เขาบอกว่าให้ค้นเอาศักยภาพของเด็กขึ้นมา เราก็บอกว่าให้ระวังนะ ศักยภาพของเด็กน่ะดีแล้ว แต่อย่าลืมศักยภาพของชีวิตด้วยนะ เรื่องของคนเราไม่ใช่มีแค่ศักยภาพของเด็ก บางทีเราคิดแคบไป เราต้องดูด้วยว่าศักยภาพของชีวิตหรือศักยภาพของความเป็นมนุษย์นี่คืออะไร

อีกตัวอย่างหนึ่ง Child-Centered Education จะเน้นเรื่องความแตกต่างของเด็กในด้านความถนัดอะไรพวกนี้ แต่อย่าลืมว่าเด็กต่างกัน ไม่ใช่ในเรื่องความถนัดอย่างเดียว

ทางพุทธศาสนาให้แยก ความแตกต่างระหว่างบุคคล เป็น ๒ ด้าน คือ

๑. ด้านอธิมุติ คือเรื่องความถนัด ความสนใจ ความพอใจ และภูมิหลังอะไรต่างๆ ตลอดจน ความเคยชินที่ลงตัวอยู่ตัว ซึ่งท่านเรียกว่า “วาสนา” อย่างยกตัวอย่างเมื่อกี้ว่าไปห้างสรรพสินค้า คนหนึ่งเข้าร้านเครื่องบันเทิง คนหนึ่งเข้าร้านหนังสือเป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าไปตามวาสนา

๒. ด้านอินทรีย์ คือ ระดับการพัฒนา เช่นว่า มีศรัทธา มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาแค่ไหน

พระพุทธเจ้าจะสอนคน ต้องทรงรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้ง ๒ ด้าน คือ

• ด้านอธิมุติ เรียกว่า นานาธิมุตติกญาณ

• ด้านอินทรีย์ เรียกว่า อินทริยปโรปริยัตตญาณ

แต่ที่ได้ยินพูดกันอยู่ เวลาพูดถึงความแตกต่างของเด็ก มักจะไปเน้นเรื่องความถนัด เรามักจะพูดถึงด้านเดียว แต่ที่จริงความแตกต่างต้องครบ ๒ ด้าน ด้านอินทรีย์นี้ต้องฝึกทุกคน ต้องพยายามให้ได้มากที่สุดสูงสุด ไม่ใช่ไปดูแต่ด้านความถนัดอย่างเดียว

ทีนี้ศักยภาพของเด็ก กับศักยภาพของความเป็นมนุษย์ บางทีก็ไม่ใช่อันเดียวกัน เราจะต้องพยายามให้เด็กทุกคนเข้าถึงสุดยอดแห่งศักยภาพของมนุษย์ ใช่ไหม? ไม่ใช่เอาแค่ศักยภาพของตัวเขาเท่านั้น…

เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง แต่รวมความก็คือว่า เรื่องของยุคสมัย เช่นเรื่องของแนวคิดต่างๆ ที่เข้ามา เราต้องทันและเอามาวิเคราะห์กัน ความเท่าทันสถานการณ์นี้จึงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การศึกษา ออกผลมาเป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี มีวิถีชีวิตดีงามที่พัฒนาไปในมรรค จนเป็นภาวิต ๔ของที่นำเข้า ต้องรู้ให้เต็มเท่าที่เขาเข้าใจ ของเขาพร่องตรงไหน ก็ต้องรู้และเติมให้เต็มจริงๆ ได้ >>

No Comments

Comments are closed.