การศึกษา ออกผลมาเป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี มีวิถีชีวิตดีงามที่พัฒนาไปในมรรค จนเป็นภาวิต ๔

16 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 19 จาก 21 ตอนของ

การศึกษา ออกผลมาเป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี มีวิถีชีวิตดีงามที่พัฒนาไปในมรรค จนเป็นภาวิต ๔

ไตรสิกขากับมรรคต้องไปด้วยกัน เมื่อเราดำเนินชีวิตไป เราจะฝึกให้ชีวิตพัฒนา ก็เอาไตรสิกขาใส่เข้าไปในชีวิต ชีวิตก็กลายเป็นมรรคไป ที่นี้พอชีวิตเป็นมรรคแล้ว มันก็เอื้อต่อไตรสิกขาที่จะเดินหน้าต่อไปอีก มรรคกับไตรสิกขาก็เจริญคู่กันไป

ฉะนั้น เมื่อสรุปประมวลทั้งหมด ก็มาบรรจบกัน ทั้งไตรสิกขาก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา และมรรคก็สรุปย่อได้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา

แต่ทางฝ่ายไตรสิกขา ท่านเรียกเต็มว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา (ธรรมหมวดสมาธินั้นเวลาเรียกชื่อเต็มจริงๆ ท่านไม่เรียกว่าสมาธิ ที่เราเรียกกันว่าสมาธินั้นเป็นการเรียกกันแบบง่ายๆ สั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เวลาเรียกเป็นทางการ ท่านเรียกว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา ซึ่งเป็นเรื่องจิตใจทั้งหมดรวมทั้งสมาธิด้วย และอธิปัญญาสิกขา)

ส่วนทางฝ่ายมรรคมีองค์ ๘ ประการ ท่านจัดเป็นขันธ์ เรียกว่า ศีลขันธ์ หมวดศีล สมาธิขันธ์ หมวดสมาธิ และปัญญาขันธ์ หมวดปัญญา

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เคยมีผู้มาสนทนากับพระอานนท์ เขาถามว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องอะไรมากที่สุด พระอานนท์ก็ตอบเขาว่า เรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสมาก หรือธรรมที่ทรงสอนอยู่เสมอก็คือ เรื่อง ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ซึ่งครอบคลุมหลักปฏิบัติทั้งหมด

ที่นี้เมื่อเราปฏิบัติไปตามนี้ก็จะเกิดภาวนาขึ้นมา เป็นการพัฒนาชีวิต ๔ ด้าน อย่างที่เคยบอกแล้วว่า เวลาปฏิบัติหรือในการฝึกนั้น เป็นสิกขา ๓ แต่เมื่อดูผล แยกออกเป็นภาวนา ๔ เพราะว่าสิกขาข้อที่ ๑ แยกไปเป็นภาวนา ๒ คือเป็นการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านวัตถุอย่างหนึ่ง (กายภาวนา) และการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างหนึ่ง (ศีลภาวนา)

ในแต่ละขณะจิต มีไตรสิกขาครบทั้ง ๓ และก็มีได้พร้อมกันครั้งละ ๓ เท่านั้น ไม่เป็น ๔ เพราะอะไร เพราะว่าความสัมพันธ์กับวัตถุหรือกับสังคมนั้น ในขณะจิตหนึ่งสัมพันธ์ได้อย่างเดียว ต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง

ของพระนั้นท่านแยกเป็นขณะจิตเลย ในเมื่อขณะจิตหนึ่งสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างใดอย่างหนึ่งอันเดียว เพราะฉะนั้นในการฝึกศึกษาหรือสิกขาจึงต้องเป็น ๓ แต่ในเวลาวัดผล เราต้องการดูรายละเอียดให้กระจ่างแจ้ง ก็ดูให้ชัดไปเป็นอย่างๆ ไม่ต้องดูพร้อมกันทีเดียว เลยแยกเป็น ๔ ก็เป็นภาวนา ๔

เพราะฉะนั้น เมื่อจะดูว่า…เออ…คุณได้ศึกษามีไตรสิกขามา ประสบความสำเร็จงอกงามดีแค่ไหน ก็วัดด้วยภาวนา ๔ เมื่อวัดด้วยภาวนา ๔ ถ้าได้จบภาวนา ๔ ก็เป็นภาวิต ๔

ภาวนา เป็นตัวการกระทำหรือกิจกรรมของการพัฒนา ทีนี้เมื่อเป็นคนที่พัฒนาด้านนั้นๆ แล้ว ก็เรียกว่าเป็นภาวิตด้านนั้นๆ รวมทั้งหมดก็เป็น ภาวิต ๔ คือ ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต และภาวิตปัญญา แปลว่า เป็นผู้มีกายที่พัฒนาแล้วหรือภาวนาแล้ว มีศีลที่ภาวนาแล้ว มีจิตที่ภาวนาแล้ว แล้วก็มีปัญญาที่ภาวนาแล้ว

ภาวนานี้ ถ้าพูดตามสำนวนโบราณเรียกว่า เจริญแล้ว คือเจริญกายแล้ว เจริญศีลแล้ว เจริญจิตแล้ว เจริญปัญญาแล้ว เพราะภาวนาภาษาเก่าแปลว่าเจริญ เช่น วิปัสสนาภาวนา – เจริญวิปัสสนา, สมถภาวนา – เจริญสมถะ, เมตตาภาวนา – เจริญเมตตา

ภาวนา แปลว่าเจริญ ภาวิต แปลว่าได้เจริญแล้ว รวมทั้งหมดก็เป็นภาวิต ๔ คนไหนเป็นภาวิต ๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนนั้นคือพระอรหันต์

จุดมุ่งหมายของการศึกษา คือ การเป็นพระอรหันต์ ผู้ที่มีภาวิต ๔ ก็คือภาวนาครบ ๔ ด้าน และภาวนา ๔ นั้นวัดผลได้เลย ใครมีภาวนา ๔ แค่ไหน ก็พัฒนาเจริญไปได้รับผลการศึกษาเท่านั้น หรือมีชีวิตที่อยู่ดีได้เท่านั้น จนในที่สุดก็เป็นภาวิต ๔ ที่สมบูรณ์ จบหลักสูตรพระพุทธศาสนา ง่ายๆ ใช่ไหม ? ดูก็มีนิดเดียว นี่ละพุทธศาสนา…

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้ามีวินัยชาวพุทธ ก็มีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการศึกษามอง Child-Centered Education อย่างไร จึงจะเอามาใช้หรือไม่ใช้ อย่างเท่าทัน >>

No Comments

Comments are closed.