กินอย่างไรให้เป็นไตรสิกขา

16 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 8 จาก 21 ตอนของ

กินอย่างไรให้เป็นไตรสิกขา

กินอย่างไรให้เป็นไตรสิกขา การกินก็เป็นความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมใช่ไหม คือเป็นการสัมพันธ์กับวัตถุข้างนอก เพราะในการกิน หรือรับประทานนั้น เราใช้ลิ้น ใช้ปาก สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก จึงเป็นด้านศีล ถ้าใช้คือสัมพันธ์แล้วเป็นประโยชน์เกื้อกูล ก็เป็นศีล แต่ถ้าใช้แล้วเกิดโทษก่อความเดือดร้อน ก็เสียศีล

พร้อมกันนั้น ในขณะที่กิน ด้านจิตใจเราก็มีความพอใจไม่พอใจ มีความสุขหรือความทุกข์ ใจชื่นบานหรือขุ่นมัวเศร้าหมอง ตื่นตัวหรือมัวเมา

นอกจากนั้นอีกด้านหนึ่ง การที่จะพอใจไม่พอใจ จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาด้วย ถ้ามองเห็นว่า ที่เรากินนี่มีความมุ่งหมายเพื่อให้สุขภาพดี ความพอใจก็เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ได้คิด ไม่ได้พิจารณา มุ่งสนองความต้องการของลิ้น ต้องการรสอร่อย ความพอใจและความสุขก็จะไปอีกอย่างหนึ่ง

ตัวปัญญาความรู้ก็มาเป็นปัจจัย หรือนำทางให้แก่ความสุขความทุกข์ด้วย และปรุงแต่งสภาพจิตใจ เช่น ความพอใจ หรือไม่พอใจ ท่านจึงสอนว่าให้เอาปัญญามาใช้พิจารณาว่าที่เรากินนี้ เรากินเพื่ออะไร

ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อพระบวชใหม่ เราจึงมีประเพณีมาแต่โบราณว่า ก่อนบวชต้องไปอยู่วัด ท่องบทสวดมนต์และฝึกฝนเตรียมตัวต่างๆ บรรดาบทสวดมนต์ทั้งหลายนั้น บทที่ให้ท่องบทหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้บางทีไม่รู้จักแล้ว แต่เข้าใจว่าครูอาจารย์ส่วนใหญ่ที่มานี่คงรู้จัก เรียกกันว่าบทปฏิสังขาโย ซึ่งเริ่มต้นว่า ปฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปฏิเสวามิ เป็นต้น ซึ่งเป็นบทพิจารณาอาหาร บทนี้รู้จักกันมากที่สุด ที่จริงท่านให้พิจารณาหมดทุกอย่าง มีบทเฉพาะสำหรับแต่ละอย่างๆ

บทพิจารณาอาหารมีใจความว่า ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย จึงบริโภคหรือฉันภัตตาหารนี้โดยมองเห็นว่า มิใช่บริโภคเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย เพื่อโก้เก๋อะไรต่างๆ แต่บริโภคเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ เพื่อเกื้อหนุนแก่ชีวิตประเสริฐหรือการดำเนินชีวิตที่ดีงาม คือ นำร่างกายไปใช้ทำประโยชน์

นี่เป็นการที่เรานำเอาปัญญามาพิจารณา เมื่อเอาปัญญามาพิจารณาเกิดความเข้าใจถูกต้องแล้ว จิตใจก็เกิดความพอใจที่เปลี่ยนไป คือถ้าหากว่าแต่ก่อนนี้มองเห็นอาหารไม่ถูกปากหรือไม่ได้อย่างใจหน่อยก็โกรธ ไม่ยอมรับประทานแล้ว แต่ตอนนี้พอพิจารณาว่าประโยชน์อยู่ที่คุณค่าที่จะหล่อเลี้ยงชีวิต ให้มีสุขภาพแข็งแรง เราก็รับประทานได้ง่ายขึ้น ทำให้มีพฤติกรรมในการรับประทานที่ดีงามถูกต้อง

ไม่ใช่เพียงแค่มีความพอใจที่จะรับประทานง่ายขึ้นเท่านั้น แม้แต่ปริมาณอาหารก็จะรับประทานไม่เกินควร ไม่ใช่ว่าเห็นแก่อร่อยก็กินเรื่อยไป แต่จะกินพอดี อย่างที่เรียกว่า “โภชเนมัตตัญญุตา” แปลว่า รู้จักประมาณในการบริโภค

การฝึกระดับนี้ ถ้าเป็นศีลของพระ จะมีชื่อเฉพาะเรียกว่า ปัจจัยสันนิสสิตสีล คือศีลที่อิงอาศัยปัจจัย ๔ แต่มีอีกชื่อหนึ่งว่าปัจจัยปฏิเสวนา คือศีลที่เกี่ยวกับการเสพปัจจัย ศีลประเภทนี้อยู่กับชีวิตประจำวัน แต่ห่างเหินไปจากคนไทยเรา จนเราแทบจะไม่รู้จัก ที่จริงศีลอย่างนี้สำคัญมากในครอบครัว ตั้งแต่ในบ้าน มาที่โรงเรียนก็สำคัญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สิกขาข้อศีลมี ๒ ด้านเอาปัญญากับจิตใจมาช่วยในการฝึกศีล >>

No Comments

Comments are closed.