ของที่นำเข้า ต้องรู้ให้เต็มเท่าที่เขาเข้าใจ ของเขาพร่องตรงไหน ก็ต้องรู้และเติมให้เต็มจริงๆ ได้

16 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 21 จาก 21 ตอนของ

ของที่นำเข้า ต้องรู้ให้เต็มเท่าที่เขาเข้าใจ ของเขาพร่องตรงไหน ก็ต้องรู้และเติมให้เต็มจริงๆ ได้

เราอาจจะต้องมาคุยกันในเรื่องเหล่านี้ว่า “แนวคิดที่เข้ามาสมัยใหม่นี้ ของตะวันตกว่าอย่างไร หรือใครว่าอย่างไร มันมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร หรือมีความหมายที่แท้อย่างไร คลาดเคลื่อนไปอย่างไร?”

อย่างเวลานี้ ในเรื่อง Child-Centered Education เมื่อฟังนักการศึกษาพูด ครูอาจารย์ที่อยู่โรงเรียนต่างๆ ดีไม่ดีก็เข้าใจแค่ว่ามุ่งสนองความพอใจของเด็ก เด็กเอาอย่างไร ก็เอาแค่นั้น เลยไม่ต้องพัฒนาเด็ก

แค่คำว่า “ความต้องการ” ของเด็ก ก็ยุ่งแล้ว สับสนกันไป ฝรั่งเขาพูดถึง needs แต่ครูจำนวนมากนึกถึง desire เอาความอยากเป็นความต้องการ แล้วจะพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร แค่ภาษาก็สับสนแล้ว

ยิ่งกว่านั้น การสนองความต้องการของเด็ก กับการพัฒนาความต้องการของเด็ก ก็ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม? ตามหลักพุทธของเรา เราถือว่าความต้องการพัฒนาได้ การศึกษาจึงไม่ใช่แค่สนองความต้องการ แต่ต้องพัฒนาความต้องการด้วย

เขาบอกว่าทำให้เด็กเป็นสุข เราบอกว่า “พัฒนาเหตุปัจจัยของความสุข” แทนที่จะมัวหาทางทำให้เด็กเป็นสุข เราทำเหตุปัจจัยแห่งความสุขสิ เราช่วยให้เด็กสร้างเหตุปัจจัยของความสุขขึ้นมา เด็กก็มีความสุขได้ด้วยตัวเอง และพัฒนาเปลี่ยนความสุขได้ด้วย

ไม่ใช่จะมัวติด concept ว่าความสุขคืออย่างนี้ แล้วก็พยายามทำให้เด็กเป็นสุขอย่างนั้น ซึ่งเป็นการสนองทิฏฐิอันหนึ่งที่ยึดไว้ว่า ความสุข คืออย่างนี้ แล้วก็ทำให้เด็กเป็นสุขได้แค่อย่างนั้น โดยไม่รู้ว่า ความสุขนั้นมีหลายแบบ พัฒนาได้หลายขั้น ซึ่งเราควรจะสร้างเหตุปัจจัยแห่งความสุขที่พัฒนาขึ้นไป พร้อมทั้งกำจัดเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์ อันนี้สิที่สำคัญ

แทนที่จะมัวมาดูว่า สุข – ไม่สุข ทุกข์ – ไม่ทุกข์ โดยที่ตัวเองมี concept ความเข้าใจ คือทิฏฐิในเรื่องความสุข-ความทุกข์ที่ตายตัวไปแล้ว ซึ่งทำให้เด็กเสียประโยชน์ที่เขาควรจะได้ และการศึกษาก็ไม่ทำให้คนพัฒนาเนื้อตัวที่แท้ของเขาขึ้นมา

นี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมาคิดมาพูดกันอีกมาก เอาละ! วันนี้เวลาหมด อันที่จริง ครูอาจารย์มีปัญหาจะมาถาม เลยไม่รู้จะถามอย่างไร เอาไว้โอกาสหน้า

ขออนุโมทนา ทางโรงเรียน ครูอาจารย์ ผู้บริหาร โยมที่เป็นบุพการีของโรงเรียน ทุกท่านที่ได้มีจิตใจเป็นกุศล มาเยี่ยมเยียนวัด เยี่ยมเยียนพระสงฆ์ และมาเยี่ยมเยียนอาตมภาพด้วย ในโอกาสวันครู ซึ่งเป็นวันของโรงเรียน และของคุณครูทุกท่าน

ถ้าถือตามคติพุทธศาสนา จิตใจที่เป็นบุญ เป็นกุศล นี้แหละคือตัวมงคลละ มงคลจึงเกิดขึ้นแล้ว เมื่อมงคลเกิดขึ้น มีจิตใจที่สดใส เบิกบาน มีความสุข มีปีติ มีความอิ่มใจ เป็นต้น ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด ความสุข ความเจริญ งอกงามต่อไป

อาตมภาพขอถือโอกาสนี้ ตั้งจิตเป็นบุญ เป็นกุศล ร่วมด้วย และขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัย ให้พร อภิบาลรักษาให้ท่านผู้ใหญ่ โยมบุพการีของโรงเรียน และคุณครู อาจารย์ ผู้บริหาร ครอบครัว พ่อแม่ทั้งหลาย ผู้ปกครอง เป็นต้น โดยเฉพาะเด็กๆ ทั้งหลาย จงเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย ร่มเย็นในธรรม มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปทุกเมื่อ เทอญ….. สาธุ…สาธุ…

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มอง Child-Centered Education อย่างไร จึงจะเอามาใช้หรือไม่ใช้ อย่างเท่าทัน

No Comments

Comments are closed.