วินัยเป็นรูปแบบ ต้องรักษาสาระไว้ และสื่อสาระได้

16 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 13 จาก 21 ตอนของ

วินัยเป็นรูปแบบ ต้องรักษาสาระไว้ และสื่อสาระได้

ในเรื่องการจัดตั้งที่เป็นวินัยนั้น เราก็ต้องการจัดตั้งวิถีชีวิตและแบบแผนของสังคม ให้มันอยู่ตัวเป็นศีลให้ได้ พอเรามีวิถีชีวิตอย่างนั้นอยู่ตัวแล้ว มันก็กลายเป็นศีลขึ้นมา เพราะฉะนั้นวินัยจึงเป็นจุดเริ่มต้น

แต่เวลาพูดกับญาติโยม เราไม่ได้ใส่ใจพิจารณา เราไม่นึกว่าญาติโยมก็ต้องมีวินัย เดี๋ยวนี้จึงต้องย้ำกันเรื่อย ว่า “นี่ ที่จริงญาติโยมคฤหัสถ์ก็มีวินัยนะ ไม่ใช่มีแต่พระ” เวลาพูดถึงวินัยก็นึกถึงแต่วินัยพระ ถ้าไม่งั้นก็นึกถึงวินัยทหาร และวินัยอะไรต่ออะไร แต่แท้จริงที่สำคัญอย่างยิ่ง คือวินัยชาวพุทธ วินัยชาวบ้าน ซึ่งทุกคนต้องมี

พอนึกถึงวินัยของพระ ก็จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงฝึกให้พระมีวิถีชีวิตที่ดี ด้วยอาศัยวินัย จึงจัดตั้งขึ้นมาเป็นรูปแบบ ซึ่งถ้ารูปแบบนี้คนปฏิบัติโดยมีความเข้าใจ ใช้ปัญญา และได้จิตใจมาร่วมด้วย เช่น พอใจ สมัครใจ เต็มใจ ตั้งใจอยากฝึกให้เป็นด้วย ก็ไปได้ดี แต่ถ้าไม่มีด้านปัญญาและจิตใจเข้ามา มันก็เหลือแต่รูปแบบ

แต่ก็ยังดีนะที่วินัยภายนอกช่วยรักษารูปไว้ ตราบใดที่ยังมีขวด ก็ยังมีทางที่จะกรอกน้ำใส่ ถ้ายังมีแก้ว ก็ยังมีทางไปตักน้ำมาดื่ม ถ้าตอนนั้นน้ำไม่มีแล้ว เนื้อไม่มี มีแต่แก้ว มันก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ถ้าเรายังมีแก้ว ก็ยังดีกว่าไม่มีเลยใช่ไหม? วันดีคืนดีเรารู้ว่า เอ๊ะ! แก้วนี่มันไม่ใช่ของที่จะทิ้งไว้เฉยๆ นะ มันต้องเอามาใช้ประโยชน์ ใส่น้ำดื่มหรืออะไรเป็นต้น เออ! เราก็เอามาใช้ประโยชน์

เหมือนวินัย แบบแผนที่เป็นรูปแบบนี่ นานๆ ไป สาระ และความเข้าใจความหมาย เป็นต้น มันหายไป เหลือแค่รูปแบบ แต่รูปแบบนี่ก็รักษาไว้ เช่น สังฆกรรมหลายอย่างของพระเวลานี้ เหลือเพียงพิธีกรรม พอเหลือเป็นพิธีกรรม ก็เหลือแต่รูปแบบ ทำกันไปโดยไม่เข้าใจความหมาย คิดไปอีกทีว่า เออ! ก็ยังดียังรักษารูปแบบไว้ ก็ได้ขั้นหนึ่ง พอจะได้ความเคยชินที่ดี แต่ไปๆ มาๆ เหลือเป็นเพียงความศักดิ์สิทธิ์ เหลือเป็นความไม่รู้อะไรเลย ไปๆ มาๆ บางทีเขวเถลไถลไปไหนไม่รู้

เหมือนที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้ว่า ในศีลของพระ มีเรื่องการปฏิบัติต่อปัจจัย ๔ เรียกว่า ปัจจยปฏิเสวนา เป็นศีลชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาจะบวชพระนี่ สมัยอดีตต้องมาอยู่วัดก่อนและท่านก็จะให้ท่องบทสวดมนต์ต่างๆ ซึ่งมีบทสวดปฏิสังขาโย คือบทพิจารณาปัจจัย ๔ นี่ด้วย ต้องท่องหมด เรียกว่า “ปัจจัย-ปัจจเวกขณ์” แล้วก็มีทั้งบทสวดพิจารณาปัจจุบัน และบทสวดพิจารณาอดีต หมายความว่า ถ้าเผลอไปไม่ได้พิจารณาตอนรับประทาน หรือตอนใช้ปัจจัย ๔ ก็เอาไว้ตอนผ่านไปแล้ว โดยเฉพาะตอนทำวัตรค่ำ ก็มาสวดกันเพื่อตรวจสอบทวนตัวเอง จะได้สอนใจและได้วัดผลไปด้วย

ที่นี้ก็กลายเป็นประเพณีของพระที่จะต้องท่องเข้าไว้ พอถึงเวลาฉันก็ เอ้า! พิจารณานะ แต่ไปๆ มาๆ สวดกันไปๆ กลายเป็นเสกอาหาร เวลานี้ตอนว่าปฏิสังขาโย บางทีเรียกกันว่า “เสกอาหาร” หรือ “เสกข้าว” เลยนึกว่า เวลาจะฉันเราสวดบทนี้เพื่อจะให้อาหารมันศักดิ์สิทธิ์ หรืออะไรทำนองนั้น เรียกกันมาอย่างนี้ กลายเป็นคำที่ชาวบ้านเขาเรียกกัน

แต่เดี๋ยวนี้เลือนไปเลือนมา ก็เลิกสวดเลย เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว ยิ่งบวชกันสั้นๆ ก็เลยไม่รู้จัก บางแห่งไม่รู้จักเลย ปฏิสังขาโย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนและเลือนลางต่างๆ ที่เป็นไปได้ และเป็นไปแล้ว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้ามองเห็นความสำคัญของความเคยชิน ก็รู้ความสำคัญของวินัยรู้จักศีลครบ ๔ หมวด จึงจะเข้าใจคำว่า “ศีล” >>

No Comments

Comments are closed.