พระพุทธศาสนามุ่งหมายให้คนเข้มแข็งและก้าวหน้า

10 สิงหาคม 2538
เป็นตอนที่ 4 จาก 16 ตอนของ

พระพุทธศาสนามุ่งหมายให้คนเข้มแข็งและก้าวหน้า

ก่อนที่พุทธศาสนาจะเกิดขึ้นในอินเดียนั้น ความเชื่อในสิ่งเหล่านี้แพร่หลายมาก และสภาพเช่นนี้เองเป็นเหตุให้พุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ ถ้าสิ่งเหล่านี้ดีงามถูกต้องเป็นประโยชน์เพียงพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้

พระพุทธศาสนาดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม หมายความว่า คนในยุคนั้นหวังโชคลาภ ความสำเร็จ ความปลอดพ้นจากภัยอันตราย ด้วยอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า คนจึงต้องเอาใจบูชาบวงสรวงเทพเจ้า จนกระทั่งมีการบูชายัญต่างๆ คนไม่ได้ดูว่าตัวเองจะต้องทำอะไร ตัวเองจะต้องแก้ไขปรับปรุงตนเองอย่างไร แต่มองไปว่าเราจะไปขอรับการช่วยเหลือจากเทพเจ้าองค์ไหน เราจะต้องเอาใจท่านอย่างไร เมื่อเราคิดว่าผลที่ต้องการอยู่ที่การดลบันดาลของท่าน เราก็ต้องพยายามเอาใจท่าน หมายความว่า จิตใจก็คิดแต่ว่าจะเอาใจท่านอย่างไร ให้ท่านโปรด ฉะนั้นก็ไม่เป็นอันได้ทำสิ่งที่ควรจะต้องทำด้วยความเพียรพยายามของตน

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา พระองค์ตรัสว่า ดูนี่ซิ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลที่จะเกิดขึ้นย่อมเกิดจากเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านต้องการผลอะไร ท่านก็ต้องทำเหตุของมัน เราจึงพูดว่าพระพุทธเจ้าดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม คือมาสู่ความจริงแห่งกฎธรรมชาติ แห่งความเป็นไปตามเหตุและผลตามหลักที่ว่า “สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย” ซึ่งเรียกว่า หลักธรรม

จากหลักธรรม คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็โยงมาสู่หลักกรรม คือการที่มนุษย์จะต้องทำเหตุปัจจัยเพื่อให้เกิดผลที่ตนต้องการ ดังนั้นพระพุทธศาสนา จึงเรียกว่ากรรมวาทะ และพระพุทธเจ้าจึงมีพระนามว่ากรรมวาที พร้อมกันนั้น คู่กับ กรรมวาทะและกรรมวาที ก็คือ พระพุทธศาสนาเป็นวิริยวาทะ และพระพุทธเจ้าเป็นวิริยวาที สองคำนี้จะต้องเรียกคู่กัน ไม่ขาดจากกัน กรรมวาทะและวิริยวาทะ เป็นชื่อของพระพุทธศาสนา กรรมวาทีและวิริยวาที เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า

กรรมวาทะ แปลว่าถือหลักการกระทำ วิริยวาทะ แปลว่าถือหลักความเพียร เป็นคู่กัน เพราะว่าคนเราจะทำอะไรให้สำเร็จด้วยตัวเองก็ต้องใช้ความเพียร แต่ถ้าอ้อนวอนเทพเจ้าก็ไม่ต้องใช้ความเพียร เพียงแต่พยายามเอาใจท่าน แล้วก็รอให้ท่านดลบันดาลให้เราไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าบอกว่าผลสำเร็จที่ต้องการเราต้องทำเอง เราก็ต้องใช้ความเพียรเพราะฉะนั้นกรรมจึงมาพร้อมกับความเพียรพยายาม แต่การกระทำของเขานั้นมีจุดสำคัญคือต้องถูกต้องตามกฎแห่งเหตุปัจจัยหรือกฎธรรมชาติด้วย แม้เขาจะมีความเพียรทำการต่างๆ แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่ถูกต้องตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ การกระทำนั้นก็จะไม่นำสู่ผลสำเร็จที่ต้องการ ถึงเพียรพยายามทำไปก็เหนื่อยเปล่า

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นอีกประการหนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้กรรมหรือการกระทำของเรานั้นถูกต้องตามเหตุปัจจัย คำตอบก็คือเรา ต้องมีปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย เพื่อจะทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง และเพื่อจะให้เกิดปัญญา จึงต้องมีการศึกษา

การศึกษา หรือ สิกขา จึงเป็นหลักการทั้งหมดในทางปฏิบัติของพระพุทธศาสนา ใครๆ ก็รู้ว่าพระพุทธศาสนานี้ ภาคปฏิบัติทั้งหมดคือไตรสิกขา เป็นการศึกษาทั้งนั้น ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตน

การที่พุทธศาสนาดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม ทำให้ต้องสอนหลักกรรม และความเพียร และการที่จะพัฒนาคนให้มีปัญญาที่จะทำกรรมได้ถูกต้อง จึงต้องมีการศึกษาที่เรียกว่าสิกขา คือ ต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตน การฝึกฝนแก้ไขปรับปรุงนี้ จึงเป็นภาคปฏิบัติทั้งหมดของพุทธศาสนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สังคมต้องไม่ถูกครอบงำด้วยความพร่ามัว และความเลื่อนลอยธรรมชาติบอกว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตแห่งการฝึกฝนพัฒนา >>

No Comments

Comments are closed.