จะถึงสนธยาแห่งประชาธิปไตย ถ้ามัวใช้เสรีภาพ-เสมอภาคเพื่อแก่งแย่ง จะให้ประชาธิปไตยสดใส ต้องใช้เสรีภาพ-เสมอภาคเพื่อร่วมสร้างสรรค์

10 สิงหาคม 2538
เป็นตอนที่ 16 จาก 16 ตอนของ

จะถึงสนธยาแห่งประชาธิปไตย ถ้ามัวใช้เสรีภาพ-เสมอภาคเพื่อแก่งแย่ง
จะให้ประชาธิปไตยสดใส ต้องใช้เสรีภาพ-เสมอภาคเพื่อร่วมสร้างสรรค์

ประการต่อไป เราต้องมีความเสมอภาค คือการมีโอกาสเท่ากันในการที่จะร่วมสร้างสรรค์ ที่เรียกว่า ความเป็นผู้มีตนเสมอ (สมานัตตตา)

สมานัตตตา = สมาน + อัตตา

สมาน — ในภาษาบาลีเดิม แปลว่า เสมอ

สมาน — ในภาษาไทยปัจจุบัน แปลว่า ประสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน

ทำไม เสมอ จึงมีความหมายว่าประสานกลมกลืน (อย่างที่เราเข้าใจคำว่าสมาน) เพราะว่า ความมีตนเสมอ หมายถึง เสมอในสุขและทุกข์ หมายความว่า เขาสุข เราสุขด้วย เขาทุกข์ เราทุกข์ด้วย ยามสุขก็เสมอกัน ยามทุกข์ก็ไม่ทิ้งกัน มีปัญหาก็ร่วมกันแก้ไข แปลเป็นไทยว่าร่วมทุกข์ร่วมสุข ความเสมออย่างนี้เป็นการประสานกลมกลืนเข้ากันได้ นี่คือความเสมอแบบประสานกลมกลืนกัน

นอกจากนั้น ความมีตนเสมอ ยังหมายถึง ไม่ดูถูกดูแคลนกัน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ความเสมอแบบนี้แหละคือสมาน ซึ่งแปลว่า เสมอภาค ในความหมายแบบผสมผสานกลมกลืนกัน แต่เวลานี้เรามองความเสมอภาคเปลี่ยนไป กลายเป็นมองในแง่ที่ว่า คุณได้ห้าร้อยฉันก็ต้องได้ห้าร้อย คุณได้หนึ่งพันฉันก็ต้องได้หนึ่งพัน ความเสมอภาคถูกมองโดยนัยที่จะได้จะเอา เมื่อจะได้จะเอาก็มีการแบ่งแยกและแก่งแย่ง ฉะนั้น แนวความคิดแบบนี้ซึ่งเน้นในแง่จะได้จะเอา จึงนำไปสู่การแบ่งแยกและแก่งแย่ง ไม่นำไปสู่การร่วมสร้างสรรค์ ตรงข้ามกับประชาธิปไตยที่แท้ ที่เป็นแนวความคิดแบบให้ ผสานกลมกลืน ร่วมมือและสร้างสรรค์ อย่างน้อยก็ต้องมีดุลยภาพ แต่เวลานี้ เราเสียดุลยภาพหมดแล้ว เพราะเรามองเสรีภาพและเสมอภาคแบบแบ่งแยกและแก่งแย่ง ความเป็นพี่เป็นน้องและความสามัคคีตามหลักภราดรภาพจึงไม่เกิดขึ้น มีแต่เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก และการรวมกลุ่มกันเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ เพื่อจะได้จะเอา ไม่ใช่รวมกันเพื่อประสานและสร้างสรรค์ การรวมกลุ่มที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยคือ การรวมกลุ่มกัน เพื่อไปรวมเข้าด้วยกันให้เป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นจนเป็นกลุ่มเดียวกันหมดทั้งสังคม ไม่ใช่รวมกลุ่มเพื่อแยกกันเป็นพวกๆ

เวลานี้ สังคมอเมริกันเน้นมากในเรื่องเสรีภาพ (liberty และ freedom) และความเสมอภาค (equality) แต่อย่าลืมว่าในอดีตสังคมอเมริกันเน้นภราดรภาพด้วย ดังที่แสดงออกในคำว่า melting pot ซึ่งแปลว่า เบ้าหลอม สังคมอเมริกันภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในความเป็น melting pot

ปัจจุบันสังคมอเมริกันไม่ได้เป็น melting pot แล้ว แต่ได้แค่พยายามจะเป็น American mosaic คือเป็นเหมือนกระเบื้องชิ้นสีต่างๆ กันเอามาจัดเรียงประดับให้มีสีสันสวยงาม ซึ่งก็ไม่สำเร็จ แต่ได้กลายเป็นจานสลัด หมายความว่า คลุกคละปนเปกันเปรอะไปหมด นี่คือความเสื่อมของประชาธิปไตย คล้ายกับว่ากำลังย่างเข้าสู่ Twilight of Democracy ที่เป็นชื่อของหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งแปลว่าสนธยาแห่งประชาธิปไตย ที่ปัจจุบันนี้ทำท่าจะเป็นกันทั้งโลก ฉะนั้นสังคมไทยอย่าคิดแต่เพียงเป็นผู้ตาม ขอย้ำว่าเราจะต้องคิดเป็นผู้ให้ และเป็นผู้นำ การที่จะเป็นผู้นำนั้น คือมีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น นี้เป็นตัวอย่างของเรื่องที่จะต้องมาตรวจสอบและทบทวนกัน

เท่าที่พูดมาโดยตลอดนี้ เป็นเรื่องการพัฒนาคนโดยมีจุดเน้นที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ เป็นเรื่องการพัฒนามนุษย์โดยเน้นการสร้างเสริมคุณภาพของคนที่จะมาเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของยุคสมัย แต่ก็เป็นการพัฒนาคนที่สอดคล้องกับจุดหมายระยะยาวแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงการพัฒนามนุษย์เพื่อมาสนองความต้องการด้านทรัพยากรคนเฉพาะกาลเฉพาะกรณี ซึ่งจะเป็นเรื่องของนักวิชาการและวงงานที่ชำนาญพิเศษในด้านนั้นๆ

เนื้อหาที่บรรยายมา สามารถเชื่อมต่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคนในฐานะที่เป็นตัวมนุษย์เอง ที่เป็นการพัฒนามนุษย์ขั้นพื้นฐานระยะยาว ซึ่งมีจุดหมายเพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีงาม เป็นสัตว์ประเสริฐที่เราเรียกว่ามนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกหาได้ประเสริฐไม่ เรื่องนี้ต้องขอย้ำและฝากไว้ในวงการศึกษา เรามักจะพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่ที่จริงนั้นไม่ถูก (คงจะกร่อนไป) คำเดิมนั้นพูดเต็มว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าฝึกแล้วประเสริฐเลิศสุด ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ แปลว่าในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วหรือมีการศึกษานั้นเป็นผู้ประเสริฐสุด มนุษย์ที่ได้รับการฝึกแล้ว มีการศึกษาแล้ว เลิศ ประเสริฐ จน กระทั่งเทพและหมู่พรหมก็น้อมนมัสการ

พระพุทธเจ้าทรงให้กำลังใจแก่มนุษย์อย่างยิ่ง คือไม่ให้ยอมตัวมัวแต่ไปอ้อนวอน หรือบวงสรวงเทพเจ้า ท่านให้พัฒนาตนจนกระทั่งพระพรหมและปวงเทพ ก็เคารพหันมาไหว้เรา พุทธพจน์แบบที่ว่า บุคคลที่พัฒนาตนแล้ว เทพทั้งหลายย่อมบูชาหรือน้อมนมัสการนั้น ตรัสไว้มากมาย แต่คนไทยมัวคิดแต่จะคอยไป อ้อนวอนบูชาเทพอยู่เรื่อย ที่จริงเทพและพรหมยังมีกิเลส เทวดาแย่งคู่ครองกัน ยกทัพไปรบกัน ยังต้องพัฒนาตัวเอง เราจะไปมัวอ้อนวอนเขาทำไม ถ้ามัวเซ่นไหว้อ้อนวอน เทพก็หวังลาภจากมนุษย์ ไม่เป็นอันเอาใจใส่พัฒนาตัวเองเพราะมัวแต่จะคอยรับเครื่องเซ่นไหว้ก็หมดเวลาไป

จะเห็นว่าเวลาพระสวดมนต์ท่านเตือนอยู่เสมอ นั่นคือมีการสวดชุมนุมเทวดา ซึ่งเป็นการเชื้อเชิญให้โอกาสแก่เทวดาว่า เวลานี้เราจะฟังธรรมกัน ขอเชิญท่านทั้งหลายมาฟังด้วย นั่นคือเรามีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เทวดา เวลานี้ขณะนี้เราจะฟังธรรมได้ความรู้ ได้การศึกษา จึงขอให้มาฟังธรรมด้วยกัน เพื่อจะได้สิ่งที่ดีงามไปพัฒนาตัวเอง

เรื่องการพัฒนาคนในแง่ที่เป็นการพัฒนาตัวมนุษย์เองในขั้นพื้นฐานนี้ จะต้องบรรยายเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เพราะคราวนี้หมดเวลาแล้ว

สรุป

ท้ายที่สุดนี้ ขอสรุปว่า ความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก บนรากฐานแห่งความใฝ่ดีนั้น เป็นจุดหมายในการสร้างเด็กให้เป็นคนมีการศึกษาที่จะมีชีวิตและร่วมสร้างสรรค์สังคมยุคปัจจุบัน การพัฒนาคนนั้น เราต้องพัฒนาให้เป็นคนที่เก่ง ดี และมีความสุข แต่ก่อนนี้เราเน้นแต่เด็กเก่ง ต่อมาบอกว่าต้องดีด้วย แต่ดีด้วยก็ยังไม่พอ ถ้าจะพัฒนาคนให้เต็มต้องมีความสุขด้วย ระบบการศึกษาปัจจุบันนี้มีความย่อหย่อนในเรื่องนี้มาก การให้การศึกษาแก่เด็ก กลับกลายเป็นการสูบเอาความสุขออกจากตัวเด็กไป เด็กออกจากโรงเรียนสำเร็จการศึกษาไปพร้อมด้วยความหิวโหยกระหายความสุข พร้อมที่จะกอบโกยแย่งชิงความสุขให้เต็มที่

เมื่อเด็กขาดความสุข มุ่งแต่จะหาความสุข ก็ต้องแย่งชิงกัน เมื่อขาดสุขก็มีทุกข์ คนที่มีทุกข์ ก็เอาทุกข์ไประบายให้แก่สังคม คนที่หิวโหยกระหายความสุข แสวงหาความสุข ก็เบียดเบียนแย่งชิงทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เราจึงหวังได้ยากว่า คนที่ได้รับการศึกษาแบบนี้จะสร้างสรรค์สังคมให้สงบสุขได้

ดังนั้น ในการให้การศึกษาแก่เด็ก เราจึงต้องทำให้เขามีจิตใจที่มีความสุขอยู่ในตัว เมื่อเขามีความสุขแล้ว เขาก็พร้อมที่จะระบายความสุขให้แก่สังคมด้วย คนที่มีทุกข์ก็นำทุกข์ไประบายให้แก่ผู้อื่น คนที่มีสุขก็จะเอาความสุขไปเผื่อแผ่ ระบายสุขนั้นแก่ผู้อื่น

ฉะนั้น การศึกษาต้องทำให้คนเป็นคนที่เต็มคนด้วยการพัฒนาอย่างบริบูรณ์ ให้เป็นคนที่เก่ง ดี และมีความสุขด้วย นี้เป็นจุดหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จ สิกขา คือการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนตลอดเวลา ชีวิตและกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ต้องมีการแก้ไขปรับปรุง และหยุดไม่ได้เพราะต้องไม่ประมาท นี้คือหลักการที่แท้จริงซึ่งเป็นการศึกษาที่พึงประสงค์

ในที่สุดนี้ ขออนุโมทนาท่านอธิบดีกรมวิชาการ พร้อมทั้งอาจารย์ทุกท่านที่ได้มาร่วมประชุมกันเพื่อจุดมุ่งหมายที่เป็นกุศล คือการที่จะช่วยกันพัฒนาสังคมไทยของเราให้เจริญวัฒนาสถาพร เป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์และแก้ปัญหาของโลก และทำให้โลกนี้เจริญขึ้นอย่างถูกต้อง มีสันติสุขสืบต่อไป ขอให้ทุกท่านประสบจตุรพิธพรชัยและประสบความสำเร็จในกิจหน้าที่เพื่อความดีงามของชีวิตและสังคมไทยทั่วกัน ตลอดกาลทุกเมื่อ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถึงเวลาที่ต้องมาทบทวนกันใหม่ ในความหมายของหลักการสำคัญแห่งประชาธิปไตย

No Comments

Comments are closed.