การพัฒนาคนเป็นปฏิบัติการตามธรรมชาติ

6 กรกฎาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 12 ตอนของ

การพัฒนาคนเป็นปฏิบัติการตามธรรมชาติ

ทีนี้ก็มามองถึงธรรมชาติของมนุษย์ให้ลึกเข้าไปอีก มีคำถามว่าเราก็ดำเนินชีวิตด้วยพฤติกรรม จิตใจและปัญญาอยู่อย่างนี้แล้ว เมื่อจะพัฒนาคนก็ต้องพัฒนา ๓ ด้าน คือพัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา แต่ทำไมเราจะต้องพัฒนามันด้วย เรื่องนี้ก็โยงไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์นี้ทางธรรมถือว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ทำไมจึงว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เราลองเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น

สัตว์โดยทั่วๆ ไปนั้นเราพูดแบบคร่าวๆ หรือพูดแบบกว้างๆ ว่าเป็นสัตว์ที่ไม่ต้องฝึก เพราะอะไร เพราะว่ามันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องฝึกเลย มันมีการเรียนรู้บ้างแต่เพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่มันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดมาแล้วหรือคลอดออกมาแล้วมันจึงใช้เวลาไม่นานในการที่จะเรียนรู้แล้วก็ดำรงชีวิตอยู่ได้ สัตว์บางชนิดคลอดออกมาประเดี๋ยวเดียวก็เดินได้ มันก็อยู่รอดได้ เริ่มดำเนินชีวิตได้ เพราะฉะนั้นเราจึงพูดแบบคร่าวๆ โดยเปรียบเทียบกับมนุษย์ว่ามันเป็นสัตว์ที่ไม่ต้องฝึก คือไม่ต้องเรียนรู้ไม่ต้องฝึกหัดพัฒนา อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ

ส่วนมนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ คือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ถ้าไม่ฝึก คือไม่เรียนรู้ไม่ฝึกหัดพัฒนาแล้วจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อยู่ไม่รอด และไม่สามารถมีชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ามนุษย์เกิดมาแล้วต้องอาศัยพ่อแม่เป็นต้น เลี้ยงดูอุ้มชู ซึ่งใช้เวลานานหลายปี บางทีเป็นสิบๆ ปีกว่าที่จะดำเนินชีวิตได้ เพราะอาศัยสัญชาตญาณได้น้อยที่สุด แต่เขาต้องอาศัยการฝึก ลองพิจารณาดูว่าในระหว่างที่พ่อแม่เป็นต้น เลี้ยงดูนั้น ตัวเขาเองทำอะไร ตัวเขาเองก็ไม่ได้อยู่เปล่าๆ เขาเรียนอยู่ตลอดเวลา ช่วงเวลาระยะแรกเรามักจะมองไปที่คนอื่นว่าเลี้ยง แต่เจ้าตัวล่ะ เจ้าตัวก็เรียน เลี้ยงจึงคู่กับเรียน เมื่อคนอื่นเขาเลี้ยง ในขณะที่พ่อแม่เลี้ยง เด็กก็เรียน เรียนก็คือเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา

ทุกอย่างที่มนุษย์ได้มาในการดำเนินชีวิตเราต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัด ต้องพัฒนาขึ้นมาทั้งสิ้น เราไม่ได้มันมาเปล่าๆเหมือนสัตว์ชนิดอื่น เราต้องเรียน เราต้องฝึกหัดแม้แต่การกิน การนั่ง การนอน การขับถ่าย การเดิน การพูด ทุกอย่างต้องได้มาจากการฝึกหัดทั้งหมด เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงเป็นสัตว์พิเศษตรงนี้ ตรงที่ว่าดำเนินชีวิตได้ด้วยการเรียนรู้ หรือการที่ต้องฝึกหัดพัฒนา ที่เรียกว่าสิกขา หรือการศึกษา

การที่ต้องเรียนต้องฝึกจึงอยู่รอดได้หรือจึงดำเนินชีวิตอยู่ได้นี้ มองในแง่หนึ่งก็เป็นข้อด้อยของมนุษย์ แต่มองอีกทีก็เป็นข้อดีของมนุษย์ เพราะการเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกนี้มีความหมายทางบวกว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ส่วนสัตว์ชนิดอื่นนั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกไม่ได้ คือไม่ใช่ฝึกไม่ได้เลย แต่มันฝึกได้น้อยเหลือเกิน เพียงพอให้ดำเนินชีวิตเบื้องต้น เรียนรู้นิดหน่อย แล้วต่อจากนั้นก็ฝึกอีกไม่ได้ ถ้าฝึกได้บ้างต่อจากนี้ก็ต้องให้มนุษย์ฝึกให้ ตัวมันเองฝึกตัวไม่ได้ เช่น ช้าง ม้า ลิง เป็นต้น คนก็เอามาฝึก ให้ทำโน่นทำนี่ เอามันมาใช้งานหรือเล่นละครสัตว์เป็นต้น แต่ก็ได้แค่ในขอบเขตนิดหน่อย ต่อจากนั้นมันก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ มันเกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น แต่ส่วนมนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คือเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาได้ และฝึกได้อย่างแทบไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นเมื่อมนุษย์เริ่มฝึกหัดพัฒนาแล้วก็งอกงามดีงามยิ่งขึ้นๆ จนทิ้งสัตว์ชนิดอื่นไปหมด

มนุษย์สามารถถ่ายทอดภูมิธรรมภูมิปัญญากันต่อมา อารยธรรมและวัฒนธรรมที่สะสมมาจากรุ่นของบรรพบุรุษไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีมาแล้วมนุษย์สามารถเรียนได้ในเวลาอันรวดเร็ว และยังสามารถพัฒนาต่อไปอีกด้วยการฝึกฝนตนเอง มนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ทางวัตถุให้เกิดมีเทคโนโลยี สร้างโลกของมนุษย์ขึ้นมาต่างหากจากโลกของธรรมชาติ สามารถที่จะทำแม้แต่คอมพิวเตอร์ สร้างดาวเทียม สร้างยานอวกาศ อะไรต่างๆ สามารถพัฒนาภูมิปัญญาจนกระทั่งกลายเป็นบุคคลที่วิเศษสุด ประเสริฐเลิศล้ำเป็นพุทธะได้ เพราะฉะนั้นเราก็จึงตั้งพุทธะนี้เป็นตัวแบบไว้เพื่อเตือนให้มนุษย์รู้ตัวว่า เราเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ที่พัฒนาได้ ถ้าไม่ยอมหยุดในการฝึกฝนพัฒนา ก็จะเป็นได้กระทั่งพุทธะ ซึ่งถือว่าเลิศประเสริฐกว่าเทวดาตลอดจนพระพรหมทั้งหมด

มนุษย์นั้นถ้ายังไม่ฝึกจะด้อยกว่าสัตว์ทุกชนิด แต่ถ้าฝึกแล้วจะประเสริฐเหนือกว่าเทพกว่าพรหมทั้งหลายทั้งหมด แม้แต่เทพและพรหมก็ต้องกลับมานมัสการนอบน้อมเคารพบูชามนุษย์ที่ฝึกแล้ว การระลึกถึงองค์พุทธะเป็นการให้กำลังใจแก่มนุษย์เพื่อจะระลึกถึงศักยภาพของตนในความเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้

รวมความว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่จะมีชีวิตที่ดีงามได้ด้วยการศึกษาคือต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ความจริงข้อนี้จะต้องถือเป็นหลักประจำภาวะของมนุษย์ เราจำเป็นจะต้องพัฒนามนุษย์เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่รอดได้ด้วยการฝึกฝนพัฒนา และยิ่งฝึกฝนพัฒนาก็ยิ่งเจริญงอกงามบรรลุความดีเลิศ ชีวิตจะประเสริฐยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ หลักการนี้เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับธรรมชาติของมนุษย์

ที่ว่ามานี้เป็นการพูดถึงหลักการทั่วไป แต่เรื่องไม่จบเท่านั้น กล่าวคือการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นการได้สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยดังที่เราเรียกว่าเป็นสังคม เพราะฉะนั้น เพื่อจะช่วยให้มนุษย์แต่ละคนพัฒนาไปได้อย่างดี มนุษย์จึงมาช่วยเหลือกัน โดยสร้างระบบการอยู่ร่วมกันหรือระบบความสัมพันธ์ ที่เรียกว่าระบบสังคม ให้ดี ให้เป็นสังคมที่เกื้อกูล

การจัดสรรระบบสังคมแห่งความเป็นอยู่ร่วมกันให้ดี ให้กลับมาช่วยเกื้อหนุนการพัฒนาของแต่ละคนนี้ก็เป็นหลักสำคัญยิ่งในทางพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ในทางพระพุทธศาสนาท่านจึงแยกเรื่องของการพัฒนามนุษย์เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเรียกว่าธรรม คือเรื่องพฤติกรรมพร้อมทั้งจิตใจและปัญญาของแต่ละคน ที่เราจะต้องฝึกฝนพัฒนา และอีกส่วนหนึ่งคือการจัดระบบสังคมมนุษย์ให้เป็นระบบที่ดีงาม ที่เอื้อเกื้อหนุนและนำทางการพัฒนาของแต่ละคน ซึ่งเรียกว่าวินัย

วินัยไม่ได้มีความหมายแคบแค่ระเบียบ แต่หมายถึงการจัดระเบียบชีวิตและระบบแบบแผนการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ สาระสำคัญก็คือเป็นการจัดระบบความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์นี้ให้เอื้อ เกื้อหนุน และช่วยนำทางการพัฒนาของแต่ละคน ให้แต่ละคนพัฒนาความสามารถของตนไปด้วยดี เพราะฉะนั้นเราจึงเรียกระบบสังคมนี้ว่าสังคมแห่งกัลยาณมิตร หมายความว่าเราพยายามให้คนมาเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน มาเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในการที่แต่ละคนจะได้มีชีวิตที่พัฒนายิ่งขึ้นไป โดยที่ภายในแต่ละคนก็พัฒนาพฤติกรรม พร้อมทั้งจิตใจและปัญญาของตนขึ้นไป แล้วสองส่วนนี้ก็จะเข้ามาประสานกัน คือเราจะมีสังคมดีงามซึ่งประกอบด้วยบุคคลผู้มีชีวิตที่ดีงาม ที่ประกอบด้วยพฤติกรรม จิตใจและปัญญาที่พัฒนาแล้วนี้ หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า เราจะมีสังคมดีงามที่เกื้อหนุนต่อการที่แต่ละบุคคลจะพัฒนาตนให้เป็นส่วนร่วมของสังคมที่ดีงาม

ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยดีเราเรียกว่าเป็นมรรค ซึ่งแปลว่าทางหรือทางดำเนินชีวิต มรรคหรือทางดำเนินชีวิตอันดีงาม ที่มีพฤติกรรมพร้อมทั้งจิตใจและปัญญาที่ดำเนินไปด้วยดีนี้ เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาที่เรียกว่าสิกขา ซึ่งแปลว่าศึกษา คือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา สิกขาหรือการศึกษานี้มีสามด้านจึงเรียกว่าไตรสิกขา คือประกอบด้วยการฝึกด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจและด้านปัญญา การฝึกหัดพัฒนาด้านพฤติกรรมเรียกว่าศีล การฝึกหัดพัฒนาในด้านจิตใจเรียกว่าสมาธิ (เพราะเอาสมาธิเป็นแกนในการฝึกทางจิตใจ ทั้งในด้านคุณธรรมความดีงาม ทั้งในด้านสมรรถภาพความเข้มแข็งของจิตใจ และในด้านความสุข) และการฝึกหัดพัฒนาด้านความรู้ความเข้าใจเรียกว่าปัญญา สามส่วนนี้แยกออกจากกันไม่ได้ เมื่อเราฝึกหัดพัฒนาสามด้านนี้ชีวิตก็ดีขึ้นทั้งสามด้านไปด้วยกัน คือเมื่อสิกขาเดินหน้า มรรคาก็ดีงามยิ่งขึ้นไป ขอพูดถึงหลักการกว้างๆ ไว้เท่านี้ก่อน ต่อจากนี้ก็ขอเข้ามาสู่เรื่องของยุคสมัย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การพัฒนาคนเป็นระบบแห่งบูรณาการคุณภาพคนไทยที่ต้องพัฒนาให้ทันยุคสมัย >>

No Comments

Comments are closed.