— อารยธรรมยังไปไม่ไกล มนุษย์ยังต้องอาศัยสิ่งกล่อม

6 กรกฎาคม 2539
เป็นตอนที่ 8 จาก 12 ตอนของ

อารยธรรมยังไปไม่ไกล มนุษย์ยังต้องอาศัยสิ่งกล่อม

สิ่งกล่อมมีมากมายหลายอย่างและหลายระดับ ตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด บางอย่างก็มีแต่โทษ บางอย่างก็มีประโยชน์ไม่น้อยถ้ารู้จักใช้แต่พอดี แม้แต่หลักปฏิบัติบางอย่างในทางพระศาสนาบางทีก็ถูกนำมาใช้ในทางที่อาจจะเกิดโทษโดยไม่รู้ตัว เพราะคนที่มีทุกข์มีปัญหาจิตใจ ก็หาทางแก้ปัญหาด้วยการนำหลักปฏิบัตินั้นๆ มาใช้ทำจิตใจให้สบาย

สิ่งกล่อมในขั้นที่หยาบมากซึ่งมีแต่โทษเป็นอันตรายก็เช่น สุรา ยาเสพติด และการพนัน ซึ่งเป็นทางเลี่ยงหลบจากความทุกข์และช่วยให้ลืมปัญหาในเมื่อไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ โดยเฉพาะการพนัน อาจเป็นเพราะอยากจะได้ผลสำเร็จ แต่ไม่สู้ที่จะทำงานหนัก จึงคิดเอาเฉพาะหน้าง่ายๆ โดยหวังลาภลอย และหลายครั้งจะเอาไปโยงกับเรื่องอำนาจดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปหวังพึ่งอำนาจดลบันดาล จึงไปเล่นการพนันพร้อมกับบนบานไปด้วย เรียกว่าเป็นการหวังลาภลอยจากสิ่งเลื่อนลอย นับว่าเป็นทางออกจากการที่จะต้องทำด้วยความเพียรพยายามที่หนักและยากลำบาก พร้อมทั้งเป็นสิ่งกล่อมด้วย คือกล่อมใจให้สบาย ลืมทุกข์หลบปัญหาไปได้ทีหนึ่งๆ เช่นเดียวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นทางออกอย่างหนึ่งของคนที่มีความทุกข์ ซึ่งไปพึ่งยาเสพติดเพราะใจของเขาไม่มีความสุข จึงเอาสิ่งเสพติดมาช่วยให้ลืมความทุกข์ และหวังจะได้สุขจากการเสพนั้น

สิ่งกล่อมสำคัญทางนามธรรม ซึ่งแพร่หลายและมีอิทธิพลอย่างยิ่ง ก็คือ ความเชื่อต่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พูดไปแล้วนั่นเอง ความเชื่อนี้เป็นเครื่องปลอบประโลมใจในยามทุกข์ ทำให้เกิดความหวังในความสุขความสำเร็จ และทำให้เกิดความอบอุ่นใจ แต่ก็ทำให้เกิดความโน้มเอียงในทางที่จะหวังพึ่งและรอคอยความช่วยเหลืออย่างที่กล่าวมาแล้ว อย่างน้อยก็เป็นเครื่องกล่อมใจ ทำให้เกิดความเบาใจสบายใจ แล้วก็เลยไม่เร่งรัดไม่กระตือรือร้นที่จะทำการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ เหมือนเด็กน้อยในอ้อมอกพ่อแม่ หรือเหมือนนกกระจอกเทศที่หนีภัยเอาหัวไปซุกทราย บอกตัวเองว่าปลอดภัย โดยที่ภัยนั้นก็ยังมีอยู่ และปล่อยให้ภัยอันตรายหรือปัญหานั้นพัฒนาตัวเพิ่มมากและรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น จึงต้องระวังมาก ถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นโทษมาก

ในบางสังคมผู้คนแม้จะมีทุกข์บีบคั้นมาก เช่นยากจนแร้นแค้น แต่มีความเชื่อในศาสนาแบบหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นเครื่องกล่อมใจ สิ่งกล่อมทางความเชื่อด้านจิตใจนี้ ก็สลายภาวะบีบเร่ง คนก็ไม่ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ไม่กระตือรือร้นบุกฝ่าไป สังคมแบบนี้ น่าจะยกเอาอินเดียเป็นตัวอย่างได้

เรายอมรับว่ามนุษย์ปุถุชนทั่วไปยังมีปัญหาจิตใจ จึงต้องอาศัยสิ่งกล่อมช่วยบ้าง อย่างน้อยเพื่อเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนใจคลายกังวล พอให้เพลินๆ หลบเรื่องร้อน ลืมเรื่องรัด ทำให้สดชื่น ฟื้นกำลัง เพิ่มความมีชีวิตชีวาบ้างเป็นบางครั้งบางคราว สิ่งกล่อมอย่างสามัญ ก็คือการบันเทิง ดนตรี และกีฬา ตลอดจนวรรณคดี ซึ่งถ้ารู้จักเลือกและรู้จักใช้ก็เป็นประโยชน์ไม่น้อย นอกจากเป็นสิ่งกล่อมแล้ว ยังอาจใช้เป็นสื่อที่จะนำขึ้นสู่สิ่งที่ดีงามสูงส่งหรือประเสริฐยิ่งขึ้นไป แม้แต่นำสู่ความเข้าใจธรรม ต่างจากสุรายาเสพติดและการพนันที่เป็นอันตรายมาก แทบว่าจะมีแต่โทษอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม สิ่งกล่อมทุกอย่าง สามารถก่อโทษได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะ ถ้าไปติดในสิ่งกล่อมเมื่อใดก็เสียทันที จึงต้องระวังใช้สิ่งกล่อมเพียงเพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว หรือช่วยให้สดชื่น หายแห้งแล้ง หายเหน็ดเหนื่อย ทำให้กระชุ่มกระชวยมีพลังแล้วก็ทำงานการเดินหน้าต่อไป เหมือนอย่างคนที่มีปัญหาถึงกับนอนไม่หลับ ก็อาจต้องใช้ยากล่อมประสาทช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยากล่อมประสาทก็ถือว่ามีประโยชน์ แต่อย่าอยู่ใต้อำนาจยากล่อมประสาท หมายความว่าอย่ากลายเป็นทาสของมันจนกระทั่งต้องนอนหลับด้วยยากล่อมประสาทตลอดไป ถ้าถึงขั้นนั้นก็แย่หน่อย แต่ถ้าใช้ชั่วคราวก็พอได้

แม้แต่ข้อปฏิบัติดีงามอย่างสูงลึกซึ้งทางจิตใจ ก็เอามาใช้เป็นสิ่งกล่อมได้ จัดเป็นสิ่งกล่อมอย่างประณีต เช่นสมาธิ เวลามีปัญหาจิตใจ ไม่สบายใจ มานั่งสมาธิก็สบาย หลบปัญหาไปได้ มีความสุข ก็เลยเกิดความโน้มเอียงว่า ถ้าไม่สบายใจมีปัญหาก็มานั่งสมาธิสบายไป ต่อไปพอเจอปัญหาข้างนอกก็ไม่เอาละ ฉันหลบทุกข์มาอยู่ในสมาธิ หาความสุขได้ ก็เลยไม่แก้ปัญหา ถ้าอย่างนี้สมาธิก็กลายเป็นสิ่งกล่อม จึงต้องระวังมากเหมือนกัน

ในเมื่อมนุษย์ปุถุชนยังต้องอาศัยสิ่งกล่อม และสิ่งกล่อมอาจก่อให้เกิดโทษได้มาก การปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งกล่อมจึงมีความสำคัญมาก เพื่อความเข้าใจง่ายในเรื่องนี้ อาจแบ่งบทบาทของสิ่งกล่อมเป็น ๓ ขั้น คือ

๑. ขั้นผ่อนคลาย คือ ใช้เพื่อพักกายพักใจ เพื่อผ่อนคลาย เพื่อฟื้นฟู ทำให้หายเหน็ดเหนื่อย หายล้า หายเปลี้ย ทำให้สดชื่นมีกำลังสบายขึ้น พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไป

๒. ขั้นกล่อม คือ ทำให้เพลิน ทำให้เคลิบเคลิ้ม ปล่อยตัวปล่อยจิตปล่อยใจไปกับความเพลิดเพลิน

๓. ขั้นเสพติด คือ เกิดความลุ่มหลงหมกมุ่น สยบ หรือมัวเมา ต้องอาศัยเป็นเครื่องช่วยให้ลืมปัญหา หรือเป็นที่หลบทุกข์ ตลอดจนต้องพึ่งพาขึ้นต่อมันในการที่จะมีความสุข

ถ้ายังจะใช้สิ่งกล่อม ก็ควรใช้อยู่ในขอบเขตของขั้นที่ ๑ คือขั้นผ่อนคลายเท่านั้น เพราะถ้าเลยขอบเขตเข้าสู่ขั้นที่ ๒ และ ๓ ก็จะกลายเป็นความประมาท และหยุดการพัฒนา

อนึ่ง ที่ว่าข้อปฏิบัติดีงาม เช่น สมาธิ ก็อาจกลายเป็นสิ่งกล่อม และอาจเกิดโทษได้เมื่อใช้ผิด เรื่องนี้จะระวังอย่างไร หลักการในเรื่องนี้มีอย่างไร ขอชี้แจงว่า สมาธิก็เช่นเดียวกับข้อปฏิบัติอื่นในพระพุทธศาสนา ข้อปฏิบัติทุกข้อในพระพุทธศาสนาอยู่ในระบบไตรสิกขา ไตรสิกขาก็คือระบบการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ตามหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์เอง ที่ว่าเป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้จึงจะอยู่ดีมีชีวิตที่เลิศได้ มนุษย์จะต้องพัฒนาไปข้างหน้า จนกว่าจะถึงจุดหมายสูงสุดเป็นชีวิตที่ดีงามแท้จริง ถ้ายังไม่ถึงแล้วหยุดไม่ได้ ถ้าเอาอะไรมาทำให้หยุดก็แสดงว่าพลาดผิดแล้ว เพราะฉะนั้น สมาธิที่ใช้ในลักษณะเป็นสิ่งกล่อม ทำให้สบายเป็นสุขได้อย่างนี้ เป็นเพียงการหลบทุกข์ลืมปัญหาทำให้หยุดไม่พัฒนา ก็ต้องผิด

สมาธิที่แท้จริงนั้นเป็นองค์ประกอบของไตรสิกขา อยู่ในกระบวนการพัฒนา เพราะฉะนั้นมันจะต้องเป็นปัจจัยส่งต่อในการที่จะทำให้เดินหน้าต่อไป ด้วยเหตุนี้ในระบบไตรสิกขาท่านจึงวางเป็นกระบวนการไว้ว่า ให้พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ไปจนตลอด สมาธิต้องเพื่อปัญญา สมาธิถ้าไม่ใช้เพื่อปัญญาต้องผิด อย่างน้อยก็ยังพร่อง เป็นเรื่องที่วินิจฉัยได้ง่ายๆ

ธรรมทุกข้อพูดได้ด้วยหลักการนี้ ถ้าธรรมข้อไหนปฏิบัติแล้วทำให้หยุด แม้แต่ทำให้สบายมีความสุขได้ก็ต้องผิดหรือยังพร่อง คือได้ผลเพียงข้างเดียวหรือส่วนเดียวและเสียดุล เช่น ปลงอนิจจังได้ก็สบายไปที หรือปลงกรรมเก่าว่าเป็นกรรมของเราก็ต้องปล่อยไปตามกรรม เลยกลายเป็นทำกรรมใหม่ที่ร้ายแรงคือความประมาทโดยไม่รู้ตัว รวมความว่า ธรรมทุกข้อจะต้องถามและตอบได้ว่ามันส่งผลสืบทอดไปยังข้อปฏิบัติอื่นให้ไปสู่จุดหมายอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนั้นจึงจะอยู่ในระบบหรือกระบวนการของไตรสิกขา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ต้องข้ามพ้นยากล่อมและสิ่งเสพติด ชีวิตและสังคมจึงจะไปรอด— ต้องรู้จักออมแรงออมเวลา การพัฒนาจึงจะได้ผล >>

No Comments

Comments are closed.