การพัฒนาคนเป็นระบบแห่งบูรณาการ

6 กรกฎาคม 2539
เป็นตอนที่ 2 จาก 12 ตอนของ

การพัฒนาคนเป็นระบบแห่งบูรณาการ

คนนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งเราเรียกในภาษาปัจจุบันว่าเป็นองค์รวม การดำเนินชีวิตของเขานั้นแยกออกได้เป็นหลายด้าน แต่ทุกด้านนั้นมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ด้านต่างๆ เหล่านี้มีอะไรบ้าง ขอแยกอย่างง่ายๆ ว่ามีด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านความรู้ความคิดที่เรียกว่าปัญญา ชีวิตทั้งสามด้านนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

พฤติกรรมของเรา คือการแสดงออกและการเคลื่อนไหว ทางกาย และทางวาจา โดยสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมก็มีทั้งสิ่งแวดล้อมทางสังคมคือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพหรือทางวัตถุ เริ่มตั้งแต่ปัจจัยสี่ คือสิ่งบริโภค และเครื่องใช้สอยต่างๆ จนกระทั่งถึงธรรมชาติแวดล้อมอย่างที่เราเรียกกันในสมัยปัจจุบัน ตลอดจนการทำมาหาเลี้ยงชีพ เราเคลื่อนไหวไปด้วยพฤติกรรมในเรื่องเหล่านี้ นี่ด้านหนึ่ง

ขอให้มองต่อไปว่าพฤติกรรมนั้นมาจากไหน ในการที่จะมีพฤติกรรม ไม่ว่าทางกาย หรือทางวาจา เรามีความตั้งใจทุกครั้งว่าเราจะทำอะไร เราจะพูดอะไร นอกจากมีความตั้งใจแล้วลึกลงไปก็มีแรงจูงใจ ว่าอยากจะได้อะไร เช่นต้องการผลประโยชน์ หรืออาจจะมีแรงจูงใจในทางโกรธ ในทางเคียดแค้น เมื่อเรามีแรงจูงใจอย่างไรเราก็ตั้งใจโดยสอดคล้องกับแรงจูงใจนั้น แล้วก็แสดงออกทางพฤติกรรมด้วยกายและวาจา นอกจากนั้นความรู้สึก หรือสภาพอารมณ์ รวมทั้งคุณธรรมและบาปอกุศล เช่น ความรัก ความชอบใจ ความเกลียดชัง ความเครียด ความริษยา ความน้อยใจ ความซาบซึ้งใจ ความหวาดกลัว อะไรต่างๆ เหล่านี้ก็มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมทั้งนั้น ถ้ามีความรักก็จะมีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ถ้ามีความเกลียดชังก็มีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง

แม้ว่าถ้าเราต้องการมีพฤติกรรมภายนอกอย่างหนึ่งที่เรียกว่าพึงประสงค์ในทางสังคม เช่นไม่ให้ทำร้ายผู้อื่น แต่ถ้าในใจของเรามีสภาพจิตไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมตามข้อกำหนดของสังคมนั้น สังคมกำหนดว่าไม่ให้ทำร้ายกัน ไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น แต่ในใจของเรามีความโกรธแค้นอยู่ พฤติกรรมนั้นเราก็จะทำด้วยความฝืนใจ ถึงแม้พฤติกรรมจะดี แต่จิตใจก็เป็นทุกข์ แต่ในทางตรงข้าม ถ้าจิตใจของเราดี แทนที่จะโกรธจะเกลียด ก็มีความรัก พฤติกรรมที่จะไม่ทำร้ายกันนั้นก็สอดคล้องกัน เป็นไปเองโดยไม่ต้องมีการบังคับภายนอก นอกจากนั้นในจิตใจก็ยังมีความสุขด้วยที่ได้ทำพฤติกรรมนั้น และพฤติกรรมที่มีความสุขเป็นฐานที่ตั้งก็จะมีความมั่นคง ตรงกันข้าม ถ้าพฤติกรรมนั้นทำด้วยจิตใจที่เป็นทุกข์ฝืนใจก็จะไม่มั่นคง นี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับพฤติกรรม

ในทางกลับกัน จิตใจก็อาศัยพฤติกรรม เช่น เมื่อได้ทำพฤติกรรมที่เคยชินหรือถูกใจก็ชอบใจสบายใจ หรือพฤติกรรมของตนดำเนินไปได้ตามต้องการ จิตใจก็จะมีความสุข แต่ถ้าพฤติกรรมถูกขัดขวางปิดกั้น ก็ไม่ชอบใจ อาจจะโกรธ หรือเกิดความทุกข์

นอกจากนั้นพฤติกรรมก็ต้องอาศัยปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การที่เราจะแสดงพฤติกรรมอะไรออกมานั้นเราต้องมีความรู้ความเข้าใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มองเห็นความมุ่งหมาย และมีความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลว่าเพื่อผลที่ต้องการอันนี้จะต้องทำพฤติกรรมใดอย่างไร เรามีปัญญาแค่ไหน เราก็ทำพฤติกรรมได้ภายในขอบเขตของปัญญานั้น ถ้าปัญญามีน้อย พฤติกรรมก็อาจตื้นเขิน ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้ามีความรู้เข้าใจมีปัญญามากก็สามารถวางแผนพฤติกรรมได้ละเอียดลออและได้ผลมาก เพราะฉะนั้นปัญญาก็สัมพันธ์กับพฤติกรรม แยกกันไม่ได้

พร้อมกันนั้นปัญญาก็ส่งผลต่อจิตใจด้วย เช่นถ้าเราไปเจออะไร เราไม่มีความรู้ เราไปเจอสถานการณ์หนึ่งแล้วเราไม่รู้ว่าในสถานการณ์นี้เราจะต้องทำอะไร สิ่งที่เราพบอยู่นั้นคืออะไร เป็นอย่างไร เราจะต้องปฏิบัติต่อมันอย่างไร เพียงแค่นี้จิตใจก็อึดอัด จิตใจของเราจะมีปัญหา มีความติดขัดบีบคั้น เรียกว่าเป็นทุกข์ คือประสบปัญหา แต่พอมีปัญญารู้ว่า อันนี้คืออะไร เป็นอย่างไร จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ก็โล่ง จิตใจก็โปร่งสบายเกิดความสุข หรือว่าเราเจอกับคนอื่น เห็นหน้าเขาบึ้ง แม้แต่อาจจะเป็นเพื่อนกันใกล้ชิด เคยพูดจากันดี เคยแสดงอาการยิ้มย่องผ่องใส มาวันหนึ่งเจอไม่พูดด้วยเสียแล้ว หน้าตาบูดบึ้ง เราก็คิดว่า เอ๊ะคุณทำไมมาโกรธฉันล่ะ ฉันก็โกรธเป็นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นฉันก็บึ้งได้ จิตใจเราก็มีความโกรธไม่สบาย แต่ถ้าเราเกิดนึกคิดขึ้นมาหรือเราเกิดรู้ขึ้นมาว่า อ๋อ เพื่อนของเรานี้มีปัญหาค้างใจ วันนี้ที่บ้านเขามีเรื่องทะเลาะกัน หรือว่าเขาไม่มีเงินใช้ หรือมีปัญหากดดันในจิตใจอย่างใดอย่างหนึ่ง พอปัญญาของเรารู้หรือมีแนวความคิดนี้ขึ้นมาก็เปลี่ยนสภาพจิตจากความโกรธไปเป็นความสงสาร ดังนั้นปัญญาก็มีอิทธิพลเปลี่ยนจิตใจ

ทีนี้ปัญญาก็เหมือนกัน ต้องพึ่งอาศัยพฤติกรรม ก่อนจะได้ปัญญาเราต้องทำพฤติกรรมในการหาข้อมูล เป็นต้น ถ้าเราไม่รู้จักหาข้อมูล ไม่รู้จักเคลื่อนไหวกายวาจา ไม่รู้จักพูดจา ไม่รู้จักเข้าหาคน ไม่รู้จักสอบถาม พูดไม่เป็น ตั้งคำถามไม่เป็น เราก็ไม่ได้ข้อมูล ไม่ได้ข้อแนะนำ เป็นต้น ที่ดี ไม่ได้แนวความคิดอะไรต่างๆ ปัญญาก็ไม่พัฒนา แต่ถ้ารู้จักมีพฤติกรรมกายวาจาที่ดีก็จะช่วยให้เราได้ปัญญา

ปัญญานั้นก็ต้องอาศัยจิตใจด้วย ถ้าจิตใจของเรามีความเพียร มีความขยันอดทน ใจสู้ เจอปัญหาไม่ถอย เราพยายามคิด การขบคิดของเราก็ทำให้เกิดปัญญา ถ้าเราท้อถอย ใจไม่สู้ ไม่พยายามคิด ปัญญาก็ไม่เกิด นอกจากเพียรพยายามคิดแล้ว จิตใจที่แน่วแน่มีสมาธิก็ทำให้ความคิดชัดเจน เจาะลึกได้ง่าย เพราะฉะนั้นสภาพจิตก็เป็นฐานที่จะให้ปัญญาทำงานและพัฒนาได้ด้วยดี

นี้เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ตัวอย่างที่มองเห็นง่ายๆ ก็เช่นว่า เราต้องการให้คนมีพฤติกรรมที่เป็นไปตามเหตุตามผล คือให้เป็นพฤติกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา แต่พฤติกรรมนั้นจะเป็นไปตามเหตุผลของปัญญาได้ก็ต้องอาศัยความเข้มแข็งของจิตใจมาช่วย อย่างที่พูดว่ารู้จักควบคุมจิตใจของตนเอง การควบคุมบังคับจิตใจของตนเองก็อยู่เบื้องหลังการดำรงรักษาพฤติกรรมนั้น แต่ถ้าสามารถทำให้จิตใจเป็นสุขด้วยพฤติกรรมนั้นก็อาจจะไม่ต้องควบคุม ความเข้มแข็งของจิตใจก็ใช้น้อยลง เพราะด้านความสุขมาช่วยแล้ว

บางทีเราพูดว่าเราไม่ต้องการให้คนทำอะไรตามอารมณ์ อารมณ์ก็เป็นสภาพของจิตใจ ที่เราบอกว่าให้ทำตามเหตุผลก็คือเราต้องการให้พฤติกรรมนั้นไม่เป็นไปเพียงตามสภาพความอ่อนไหวของจิตใจ แต่ให้เป็นไปตามปัญญา คือให้ปัญญาบอกจิตใจให้ควบคุมพฤติกรรมไว้ นี่ก็แสดงถึงความสัมพันธ์กันระหว่างพฤติกรรมและจิตใจและปัญญาอยู่แล้ว ในกรณีนี้ปัญญามองเห็นเหตุผลและรู้ว่าพฤติกรรมควรจะเป็นอย่างไร แต่การที่จะให้พฤติกรรมเป็นไปได้ต้องเกิดจากความตั้งใจและการสั่งบังคับของจิตใจ แต่จิตใจนั้นมีความเป็นไปได้ทั้งสองฝ่าย คือทั้งอาจจะมีความหวั่นไหว อ่อนเอนไปตามอารมณ์ หรืออาจจะมีความเข้มแข็ง เราก็จะต้องพัฒนาความเข้มแข็งขึ้นมาให้ข่มหรือบังคับหรือสลายเจ้าความอ่อนไหวไปให้ได้ แต่ถ้าเรามีปัญญาดีจริงๆ ชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว มันก็ทำให้การใช้พลังทางจิตใจนี้น้อยลงไปอีก เพราะฉะนั้นการพัฒนาทั้ง ๓ ด้านนี้จึงต้องดำเนินไปด้วยกัน โดยเฉพาะตัวที่สำคัญที่สุดในขั้นสุดท้ายก็คือปัญญา ซึ่งท่านถือว่าเป็นตัวปลดปล่อย ทำให้พฤติกรรมได้รับการนำไปในทางที่ถูกต้อง และเป็นตัวปลดปล่อยจิตให้เป็นอิสระด้วย

เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นว่าไม่เหมือนกับคำว่าจริยธรรม ตามที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะคำว่า จริยธรรมจะเน้นที่พฤติกรรม ยิ่งสมัยก่อนโน้นจะเน้นที่พฤติกรรมเชิงสังคม มาสมัยนี้จึงขยายไปสู่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติต่างๆ ด้วย ดังที่มีจริยธรรมแบบใหม่ๆ ขึ้นมารวมทั้งจริยธรรมทางธุรกิจ ซึ่งเป็นการมองออกไปข้างนอก แต่แท้จริงแล้วชีวิตของคนเรานี้มีด้านต่างๆ อย่างที่กล่าวมา ซึ่งไม่สามารถแยกจากกันออกไปได้

ในสังคมไทยเราเมื่อเริ่มใช้คำว่าจริยธรรมใหม่ๆ เมื่อสัก ๓๐ ปีก่อน มีการพูดถึงการพัฒนาจริยธรรมเป็นต้น ในการประชุมสัมมนาและการประชุมทางวิชาการต่างๆ ต่อมาสักระยะหนึ่งเราก็มาคิดกันว่า จริยธรรมนี้เป็นเรื่องที่เน้นทางด้านพฤติกรรมโดยเฉพาะทางสังคม คงไม่เพียงพอ จะต้องมีเรื่องทางจิตใจด้วย ต่อมาเราก็มีความโน้มเอียงที่จะเพิ่มคำว่าคุณธรรมเข้าไป การประชุมในสมัยต่อมาแทบทุกครั้ง ถ้ามีการพิจารณาเรื่องจริยธรรมก็จะมีคำว่าคุณธรรมเติมเข้าไปด้วย นี้ก็หมายความว่าเอาเรื่องจิตใจเพิ่มเข้าไป เพราะเห็นว่าพฤติกรรมไม่พอ ต้องเอาจิตใจด้วย เราจึงมีการสัมมนาหรือมีการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาจริยธรรมและคุณธรรม

เวลานี้ในทางวิชาการและในราชการอย่างในการทำแผน ๘ ก็ตาม แผนปฏิรูปทางการศึกษาก็ตาม เราจะพูดควบกันไปหมดว่าจริยธรรมและคุณธรรม แต่ความจริงนั้นถ้าว่าไปแล้วมันก็ยังไม่ครบ มันก็ยังเป็นความคิดแบบแยกส่วนที่ไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาคนให้ได้ผลอยู่นั่นเอง เพราะแม้ว่าจะพูดถึงด้านจิตใจแล้วไปเอาคุณธรรมมามันก็ไม่ครบ เพราะในจิตใจของเราไม่ได้มีเฉพาะเรื่องคุณธรรมที่ตรงข้ามกับความชั่วเท่านั้น แต่มันมีเรื่องความสุขความทุกข์ด้วยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก

ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าความสุขเป็นเรื่องใหญ่ เป็นที่อาศัยของจริยธรรมที่เราพูดกันนี้ คือพฤติกรรมต้องอาศัยความสุขด้วย เราจึงไม่พูดแยกกัน อย่างในเรื่องของการกระทำที่เราเรียกว่าปฏิบัติธรรม ซึ่งภาษาสมัยนี้พูดแคบเข้ามาแล้ว ถ้าเราจะปฏิบัติให้เกิดสมาธิ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญ ท่านบอกว่าสุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ ถ้าไม่มีสุขแล้วสมาธิก็ยากที่จะเกิด จะเกิดสมาธิได้ต้องมีความสุข

สภาพจิตที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่เสมอในกระบวนการปฏิบัติให้เกิดสมาธิและปัญญาคือ ปราโมทย์ ความเบิกบานใจ แล้วก็มี ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความสงบเย็นผ่อนคลายกายใจ แล้วก็ สุข พอสุขแล้วสมาธิก็ตามมา พอสมาธิมาก็ทำให้จิตได้ดุลยภาพเหมาะแก่การใช้งาน พอใช้งานจะใช้ไปทางไหนดี ก็ใช้ทางปัญญา เพราะฉะนั้นในวงการพระพุทธศาสนาจะพูดถึงศัพท์ที่แสดงความสัมพันธ์ในเรื่องเหล่านี้ ขอใช้คำบาลีเลยว่า สุขิโน จิตฺตํ สมาธิยติ แปลว่า ผู้เป็นสุขจิตย่อมเป็นสมาธิ จากนั้น สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมเกิดปัญญารู้ชัดตามที่มันเป็น หมายความว่ามันเป็นองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน แยกกันไม่ได้

เพราะฉะนั้น ที่เราพูดว่าพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมนี้ ต่อไปเราก็จะรู้ว่าไม่พอ แล้วก็จะต้องไปเพิ่มว่า “การประชุมพัฒนาจริยธรรม คุณธรรมและความสุข” และต่อไปเราก็จะค้นพบว่ามันก็ไม่พออยู่นั่นแหละเพราะมันขาดองค์ประกอบด้านปัญญา แล้วเราก็คงจะต้องเติมว่า “การประชุมพัฒนาจริยธรรม คุณธรรม ความสุข และปัญญา” อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งคงจะจบยาก ทางที่ดีน่าจะมาดูกันที่หลักการให้ชัดให้ตรงตามความจริงของธรรมชาติว่า เรื่องของชีวิตนั้นเป็นองค์รวมซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ เข้ามาประสานสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ไม่อาจจะแยกขาดออกจากกันโดยเด็ดขาดได้ เราพูดคำศัพท์เหล่านั้นเพียงเพื่อความสะดวกทางระบบความคิดในการที่จะศึกษา จะได้รู้ตำแหน่งความสัมพันธ์ของมัน แล้วก็จัดความสัมพันธ์ในกระบวนการพัฒนาของมันให้ถูกต้อง แต่รวมแล้วพูดง่ายๆ ว่ามี ๓ ด้าน คือ ด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา นี้คือเรื่องของการดำเนินชีวิตของมนุษย์เราที่เป็นอยู่ตลอดเวลา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน ตามแนวธรรมชาติการพัฒนาคนเป็นปฏิบัติการตามธรรมชาติ >>

No Comments

Comments are closed.