๑. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ของชีวิต ๓ ด้าน

25 กุมภาพันธ์ 2541
เป็นตอนที่ 20 จาก 24 ตอนของ

๑. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ของชีวิต ๓ ด้าน

ก) องค์ประกอบของชีวิตและการดำเนินชีวิต

การที่จะรู้เข้าใจชีวิต วิธีหนึ่งก็คือแยกชีวิตออกไปเป็นองค์ประกอบต่างๆ

ในทางธรรมถือว่า ชีวิตนี้เกิดขึ้นจากองค์ประกอบต่างๆ มารวมกันขึ้น แต่ชีวิตนี้ไม่ใช่ของนิ่ง ไม่ใช่ของเฉย มันเป็นสภาวะที่มีความคืบเคลื่อน ดังที่เราเรียกว่า การดำเนินชีวิต ดังนั้น นอกจากแยกองค์ประกอบว่ามีอะไรบ้างแล้ว ก็ต้องแยกต่อไปอีกในแง่ที่ว่า องค์ประกอบนั้นๆ ทำงานอย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ส่งผลต่อกันอย่างไร เหมือนกับรถ เมื่อเราแยกส่วนว่ามีชิ้นส่วนอะไรบ้างแล้ว ก็ยังไม่พอ จะต้องดูด้วยว่าชิ้นส่วนเหล่านั้นทำงานอย่างไร และสัมพันธ์กันอย่างไร

รวมความว่า ชีวิตนี้ต้องแยกแยะ ๒ แบบ คือ

๑. แยกองค์ประกอบในภาวะนิ่ง เหมือนรถที่จอดอยู่นิ่งๆ เราก็ดูว่ามีชิ้นส่วนอะไรบ้าง วิธีนี้แยก ชีวิต อย่างง่ายๆ ว่ามี ๒ ส่วน คือ รูปกับนาม หรือกายกับใจ แต่ที่จริงแยกย่อยไปได้อีกมากมาย เช่น แยกเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่อย่างง่ายที่สุดก็คือแยกเป็นกายกับใจ

อย่างไรก็ตาม วิธีแยกว่าชีวิตมีองค์ประกอบอะไรแบบอยู่นิ่งๆ นี้ ไม่พอสำหรับมนุษย์ที่มีการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการคืบเคลื่อน

การแยกอีกแบบหนึ่งนั้นสำคัญมาก แต่เรามักมองข้าม พุทธศาสนามิใช่แยกชีวิตอยู่แค่ ๒ ด้าน เป็นกายกับใจ เท่านั้น แต่มีการแยกแยะชีวิตเมื่อดำเนินไป ว่ามีอะไร เป็นอย่างไรด้วย

๒. แยกองค์ประกอบในภาวะเคลื่อนไหว วิธีนี้แยกการดำเนินชีวิต ของมนุษย์ออกเป็น ๓ ด้าน ที่ประสานสัมพันธ์เป็นปัจจัยหนุนเนื่องไปด้วยกัน คือ

ด้านที่ ๑ การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งรับเข้าและแสดงออก ได้แก่พฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัตถุ คือสิ่งของเครื่องใช้ปัจจัย ๔ เริ่มแต่อาหารการกิน ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และเทคโนโลยี และทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เรามีความสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ ด้วยพฤติกรรมทางกายและทางวาจา ทั้งการรับเข้า และการแสดงออกภายนอก ทั้งหมดนี้เป็นด้านหนึ่งของชีวิต รวมเรียกว่า ด้านพฤติกรรม

ด้านที่ ๒ การสื่อสัมพันธ์และพฤติกรรมทั้งหมด ทั้งด้านรับเข้าและแสดงออกนี้ มิได้เกิดขึ้นโดยเลื่อนลอย แต่เกิดจากความตั้งใจ

การรับรู้เข้ามาและพฤติกรรมที่แสดงออกไปแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะพูด จะทำ จะเคลื่อนไหวอย่างไร ย่อมเกิดจากความตั้งใจ จงใจ เจตจำนง และเจตจำนงหรือความตั้งใจนั้น ก็มีแรงจูงใจอยู่เบื้องหลัง แรงจูงใจนั้นมีทั้งที่ดีและที่ร้าย เช่น ความรัก ความชอบ ความโกรธ ความเกลียด ความอยากได้ เป็นต้น ซึ่งทำให้เราเลือกรับข่าวสาร และเคลื่อนไหวกระทำพฤติกรรมต่างๆ โดยมีสภาพจิตใจที่ดีและชั่วเป็นตัวปรุงแต่งอยู่เบื้องหลัง นอกจากนั้นยังมีความสุข และความทุกข์เป็นแรงผลักดัน โดยที่การสื่อสัมพันธ์และการเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมต่างๆ นั้น เป็นไปเพื่อหาความสุขบ้าง เพื่อหลีกหนีความทุกข์บ้าง

ด้านที่ ๒ ของชีวิตที่ดำเนินไปด้วยกันโดยอยู่เบื้องหลังการสื่อสัมพันธ์และพฤติกรรมนี้ ก็คือ ด้านจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องของคุณธรรมความดีงามหรือความชั่วบ้าง เรื่องของสมรรถภาพและประสิทธิภาพของจิตใจ เช่น ความเข้มแข็ง ความเพียรพยายาม ความอดทน ความมีสติสมาธิบ้าง เรื่องของความสุขความทุกข์บ้าง

ด้านที่ ๓ การที่เราจะขยับเขยื้อนมีพฤติกรรมแสดงออกอย่างไรๆ ทั้งหมดนั้นต้องอาศัยความรู้ เรามีความรู้แค่ไหน เราก็ทำพฤติกรรมได้แค่นั้น หมายความว่าเราทำพฤติกรรมได้ภายในขอบเขตของความรู้ ที่เรียกว่าปัญญา

ถ้าปัญญาของเราขยายออกไป พฤติกรรมของเราก็ขยายกว้างซับซ้อนขึ้น และได้ผลยิ่งขึ้น คนมีปัญญาน้อย ความรู้น้อย ก็ทำพฤติกรรมได้ตื้นๆ และไม่ได้ผล แต่พอมีความรู้มากขึ้น คิดอะไรได้ซับซ้อนขึ้น พฤติกรรมก็ยิ่งซับซ้อนและได้ผลมากขึ้น องค์ประกอบของชีวิตส่วนนี้ เรียกว่า ด้านปัญญา

สามด้านของชีวิตนี้ทำงานสัมพันธ์ไปด้วยกันตลอด คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

อนึ่ง ขอทำความเข้าใจกันไว้ก่อนว่า คำว่า “พฤติกรรม” ในที่นี้ ใช้ในความหมายพิเศษที่กว้างกว่าปกติ คือหมายถึงความสัมพันธ์เชิงรูปธรรมกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในการสื่อสารรับรู้เสพความรู้สึกทางอินทรีย์คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และการสื่อเจตนาที่แสดงออกทางกายและวาจา

ข) ความสัมพันธ์เชิงปัจจัยของชีวิตทั้ง ๓ ด้าน ในกระบวนการเรียนรู้

ที่ว่าการดำเนินชีวิตสามด้านนี้ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และส่งผลต่อกันนั้น ในด้านพฤติกรรมก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าต้องอาศัยจิตใจ และต้องอาศัยปัญญา เช่น เราจะทำอะไรก็ต้องมีความตั้งใจและแรงจูงใจ และจะทำได้แค่ไหน ก็ต้องอาศัยปัญญาบอกนั้น เรื่องนี้ก็ชัดอยู่แล้ว

ในทางกลับกัน จิตใจจะเสพอารมณ์และแสดงออก ก็ต้องอาศัยพฤติกรรม โดยใช้พฤติกรรมเป็นช่องทางสนองความต้องการของตน เพื่อทำให้ตนเองได้ความสุข หรือหนีความทุกข์ และสนองความอยากความปรารถนาต่างๆ

จิตใจก็ต้องอาศัยปัญญา จิตใจมีความปรารถนาอะไรต่างๆ ได้ในขอบเขตของความรู้ และถ้าไปเจออะไรแล้ว ไม่มีความรู้ว่าจะทำอย่างไรเป็นต้น จิตใจก็จะติดขัดคับข้องถูกบีบคั้น มีความทุกข์ แต่พอรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร ใจก็โล่งหายทุกข์ ฉะนั้นปัญญาจึงเป็นตัวปลดปล่อยจิตใจ ทำจิตใจให้เป็นอิสระ และเป็นตัวเปลี่ยนท่าทีของจิตใจ

อย่างที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ ว่า เราเห็นคนคนหนึ่ง พอพบกัน เขาหน้าบึ้ง เราก็มีความโน้มเอียงจะโกรธ หรือไม่พอใจว่า ทำไมคนนี้หน้าบึ้งกับเรา แต่พอเราใช้ปัญญาคิดพิจารณา เพียงแค่คิดถึงความเป็นไปได้ว่า เอ คนนี้เขาอาจจะมีปัญหา เขาอาจจะถูกดุว่า หรือเขามีเรื่องกระทบกระทั่ง มีอารมณ์ค้างมาจากบ้าน หรือไม่สบายใจเพราะไม่มีเงินใช้ พอเราเริ่มใช้ปัญญาคิดอย่างนี้ เราก็เริ่มหายโกรธ และอาจจะเปลี่ยนเป็นสงสาร ยิ่งเมื่อรู้ปัญหาของเขา เราจะเปลี่ยนท่าทีเลย จากความโกรธก็กลายเป็นความกรุณา ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นตัวเปลี่ยนท่าทีของจิตใจ และเป็นตัวปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ

แต่ปัญญาจะพัฒนาไปได้ก็ต้องอาศัยพฤติกรรม เช่นต้องใช้เท้าเดินไปหาข้อมูลเป็นต้น ต้องใช้มือทำงาน เวลามีของมาอยากจะรู้ว่าเป็นอะไร ก็อาจจะต้องรื้อออก อาจจะต้องจับแยกเป็นส่วนๆ และอาจจะต้องเอามาจัดเอามาประกอบดู ทำดู ฝึกหัดดู หรืออาศัยพฤติกรรมทางวาจา เช่นไปไถ่ถามผู้อื่น ไปปรึกษาหารือ รู้จักตั้งคำถาม เพราะถ้าตั้งคำถามไม่เป็น เขาก็ไม่พอใจที่จะตอบ หรือเขาไม่รู้เรื่อง แต่พอตั้งคำถามเป็น พูดเป็น และพูดดีด้วย เขาก็อยากจะตอบ อยากร่วมมือ และตอบได้ชัดเจน เราก็ได้ความรู้หรือได้ปัญญา ปัญญาจึงต้องอาศัยพฤติกรรม

พร้อมนั้น ปัญญาก็ต้องอาศัยจิตใจ เช่น เมื่อมีใจใฝ่รู้ มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทน มีสมาธิ มีสติ แน่วแน่ไม่ฟุ้งซ่าน ก็ทำให้ปัญญาพัฒนาได้ผล เป็นต้น

ฉะนั้น กระบวนการของชีวิตที่ดำเนินไปจึงสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้หรือการศึกษาทั้งหมด หมายความว่า พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา สามส่วนนี้ ต้องเอามาใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ประกอบไปด้วยกัน ไม่ใช่ไปแยกส่วน

ค) จริยธรรมที่แท้ เป็นระบบความสัมพันธ์ของชีวิตทั้ง ๓ ด้าน

เวลานี้มีความโน้มเอียงในทางที่จะแยกส่วน เช่นจริยธรรมก็มักมองเฉพาะในแง่พฤติกรรม โดยโยงไม่ค่อยถึงจิตใจ และตัดออกไปจากปัญญา เป็นการหลงติดในจริยธรรมตะวันตก ที่ไม่เอาปัญญาเข้ามาด้วย

จริยธรรมตะวันตกมองแค่พฤติกรรม โดยโยงมาหาจิตใจเพียงในแง่คุณธรรมนิดหน่อย (แง่สุข-ทุกข์ ถูกมองข้าม) แต่ปัญญาไม่นึกถึง เพิ่งจะมีโกลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg, ๑๙๒๗-๑๙๘๗) มาเริ่มโยงบ้าง ก็ทำให้นักการศึกษาตื่นเต้นกันว่า จริยธรรมแบบโกลเบอร์กนี่เอาเรื่องเหตุผลเข้ามาพิจารณาด้วย อะไรทำนองนี้

ความจริงจริยธรรมต้องครบทั้ง ๓ ด้าน จะแยกกันไม่ได้ จริยธรรมก็คือชีวิตทั้งหมดที่ดำเนินไปด้วยดี

จริยธรรม คืออะไร ก็คือการที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดี หรือหลักการดำเนินชีวิตที่ดี ซึ่งประกอบด้วย ๓ ด้านของชีวิต คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ซึ่งจะต้องเอามาประสานกันให้เป็นองค์รวมให้ได้ เพราะคนเราเรียนรู้จากสามด้านนี้มาประสานกัน แต่ละด้านก็มีการเรียนรู้

เรียนรู้ทางด้านพฤติกรรม เมื่อเราเคลื่อนไหวพูดจาจัดแจงอะไรต่างๆ ก็ทำให้เกิดความเคยชิน มีทักษะ

เรียนรู้ทางด้านจิตใจ เช่น เราไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ที่สงบ เรามีความซาบซึ้ง มีความสุขจากธรรมชาติ หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่มนุษย์ มีการช่วยเหลือกัน มีความเอื้อเฟื้อไมตรี เกิดความชื่นชมมีความสุข การเรียนรู้ในทางจิตใจแบบนี้ ก็ทำให้เกิดการพัฒนาคุณธรรม มีความโน้มเอียงของจิตใจ เช่นจริตอัธยาศัยต่างๆ เกิดขึ้น

เรียนรู้ทางปัญญา เมื่อเรารู้จักคิดพิจารณา ที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ ก็จะได้ความรู้เข้าใจได้ความคิด และทำให้ทั้งพฤติกรรมและจิตใจเปลี่ยนแปลงไป

เราเรียนรู้ทั้งสามด้านนี่แหละ แต่จะต้องเอามาประสานกันให้ได้ กระบวนการเรียนรู้จึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี

ถ้าเราพัฒนาพฤติกรรม กาย วาจา ที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุก็ดี ทางสังคมก็ดี ให้เกิดเป็นคุณลักษณะประจำตัวในทางที่ดี ท่านเรียกว่าศีล การฝึกทางด้านจิตใจนั้น มีสมาธิเป็นแกน ก็เลยเรียกว่าสมาธิ ส่วนการฝึกฝนพัฒนาในด้านความรู้ความเข้าใจ ก็เรียกว่าปัญญา

ง) ประชาธิปไตยจะสำเร็จ ต้องประสานชีวิต ๓ ด้านให้เสริมกันให้ได้

ประชาธิปไตยนี้ เน้นหลักการอย่างหนึ่ง คือการใช้เสรีภาพ ซึ่งมักมองกันที่พฤติกรรมในการใช้เสรีภาพนั้น เพราะว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบ เป็นระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เน้นรูปธรรม ฉะนั้น พฤติกรรมจึงเป็นตัวเด่น แต่กระนั้นการใช้เสรีภาพก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การศึกษาที่ครบองค์ประกอบทั้งสามด้านนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง

แม้ว่าการใช้เสรีภาพจะแสดงออกทางพฤติกรรม แต่ถ้าจิตใจของเรามากด้วยความเห็นแก่ตัว ขาดคุณธรรม ไม่ยึดมั่นในหลักการ หรือขาดปัญญา เช่นขาดวิจารณญาณ เราก็อาจจะใช้เสรีภาพในทางสนองความเห็นแก่ตัว ทำอะไรๆ แบบตามใจตัว ทำให้เกิดความขัดแย้ง สังคมแตกกระจัดกระจาย หรือก่อความผิดพลาดเสียหายได้มากมาย อย่างที่เคยอธิบายแล้วข้างต้น

การขาดปัญญาอาจทำให้เกิดผลอีกอย่างหนึ่ง ที่ตรงข้ามกับที่ว่ามาแล้ว คือเสรีภาพอาจจะเป็นเสรีภาพที่จะทำตามที่ถูกชักจูง

คนจำนวนมากในสังคมถูกชักจูงตื่นไปตามข่าวตื่นเต้น หลงไปตามลัทธิที่เหลวไหลต่างๆ จนไม่น่าเชื่อว่าสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างนี้ จะมีความตื่นตูม เชื่อ ถูกชักจูงไปด้วยเรื่องเหลวไหลได้ง่ายๆ ฉะนั้น ถ้าขาดปัญญาแล้ว การใช้เสรีภาพจะก่อผลร้ายที่ตรงกันข้าม ๒ แบบ คือ

๑. แต่ละคนทำตามใจชอบ เอาแต่ความคิดเห็นของตัว ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกกระจัดกระจายกันไป

๒. คนอาจจะรวมกัน แต่เป็นการยอมถูกชักจูงไปในเรื่องไม่เข้าเรื่อง เสียหาย ทำให้เกิดความเสื่อมแก่สังคม คนขาดปัญญาที่มาใช้เสรีภาพแบบนี้ อาจจะพากันไปทำความวิบัติเป็นกลุ่มเป็นพวกใหญ่ อย่างในบางสังคมที่มีลัทธิแปลกๆ ชวนกันไปฆ่าตัวตายเป็นจำนวนร้อย หรือก่อการใหญ่ที่ทำให้คนตายกันมากมาย เสรีภาพแบบนี้ จึงกลายเป็นอันตราย

ถึงแม้มีปัญญา แต่ถ้าขาดการพัฒนาจิตใจ ก็ไม่มีคุณธรรม ไม่มีความใฝ่ดี ไม่มีความใฝ่ในอุดมคติ หรือในอุดมการณ์ของประชาธิปไตย แต่ละคนก็ใช้เสรีภาพไปในการสนองตัณหา หาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง สนองมานะในการแสวงอำนาจเป็นต้น ซึ่งก็ทำให้ขัดแย้งกันอีก

แต่ถ้าเราพัฒนาทางด้านจิตใจ ให้มีความใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์ มั่นคงในอุดมคติของประชาธิปไตย มีใจมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สังคมให้บรรลุจุดหมายที่ดีงามมีสันติสุข คนก็สามารถใช้ปัญญามาร่วมกันให้เกิดความสมานฉันท์ เสรีภาพก็จะเป็นช่องทางให้นำเอาศักยภาพของแต่ละคนออกมาใช้ในการร่วมสร้างสรรค์สังคมได้สมความมุ่งหมาย

เรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นว่า การพัฒนาคนด้วยการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และการพัฒนาในกระบวนการของการเรียนรู้นี้ ก็คือการรู้จักประสาน ๓ ด้านของชีวิตให้มาเอื้อเสริมต่อกันให้ได้ ในกระบวนการของการพัฒนา ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาไปด้วยกัน ไม่ใช่แยกเป็นส่วนๆ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ระบบแห่งกระบวนการเรียนรู้๒. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสื่อสัมพันธ์กับโลกทางอินทรีย์ ๖ >>

No Comments

Comments are closed.