— ก) การเรียนอย่างมีความสุข ก็ต้องแยกแยะเข้าใจให้ถูก

25 กุมภาพันธ์ 2541
เป็นตอนที่ 23 จาก 24 ตอนของ

ก) การเรียนอย่างมีความสุข ก็ต้องแยกแยะเข้าใจให้ถูก

เวลานี้เรามาเน้นกันในเรื่องการเรียนรู้อย่างมีความสุข ก็เลยขอแทรกตอนนี้ว่า การเรียนรู้อย่างมีความสุขนั้นมี ๒ แบบ คือ

๑. ความสุขที่อาศัยปัจจัยภายนอก คือ มีกัลยาณมิตร เช่น ครู อาจารย์ เป็นต้น ที่สร้างบรรยากาศแห่งความรักความเมตตาและช่วยให้สนุก แต่อันนี้เป็นความสุขที่เกิดจากสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศเอื้อ ซึ่งแม้จะสำคัญมาก แต่ต้องระวัง ถ้าคุมไม่ดี ความสุขแบบนี้ จะทำให้เด็กอ่อนแอลง ยิ่งถ้ากลายเป็นการเอาใจหรือตามใจ ก็จะยิ่งอ่อนแอลงไป และเกิดลักษณะพึ่งพา

๒. ความสุขจากปัจจัยภายใน เมื่อบุคคลเกิดความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์แล้ว เขาก็มีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์นั้น ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากภายในตัวเขาเอง อย่างเป็นอิสระ และเขาจะเข้มแข็งขึ้น ความสุขแบบนี้ ทำให้คนเข้มแข็ง เพราะยิ่งทำ คนก็ยิ่งเข้มแข็ง พร้อมกับยิ่งมีความสุขชนิดที่ไม่ต้องพึ่งพา และเมื่อทำได้เอง ก็พึ่งตนเองได้ จึงเป็นอิสระ

ตรงนี้สำคัญ คือ ถ้าเรามีการศึกษาผิดที่ทำให้คนใฝ่เสพ คนก็จะต้องได้สนองความใฝ่เสพ ได้รับการบำรุงบำเรอ สบายแล้ว ไม่ต้องทำ จึงจะมีความสุข แต่เมื่อไรต้องทำ ก็คือความทุกข์

ในทางตรงข้าม ถ้าเราให้การศึกษาที่ถูกต้อง คนเกิดความใฝ่รู้ ใฝ่ทำ ใฝ่สร้างสรรค์ เขาก็จะมีความสุขเมื่อเรียนรู้ และเมื่อทำ ยิ่งทำ ก็ยิ่งมีความสุข และเมื่อทำ ก็ยิ่งมีความเข้มแข็ง เพราะฉะนั้น การศึกษาจะทำให้คนเข้มแข็งขึ้น มีความสุขมากขึ้น พัฒนายิ่งขึ้น และพึ่งตนเองได้ เป็นอิสระมากขึ้น

เป็นอันว่า การเรียนรู้ด้วยความสุข ต้องแยกเป็น ๒ แบบ คือ

๑. สุขจากการเอื้อของปัจจัยภายนอก คือ บรรยากาศที่เกิดจากกัลยาณมิตร ครู อาจารย์ที่มีเมตตาเป็นต้น ซึ่งต้องระวัง ที่ว่าจะทำให้อ่อนแอลง และพึ่งพา

๒. สุขที่เกิดจากการสนองปัจจัยภายใน คือ การเรียนรู้และการทำงาน เป็นการสนองความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ในตัวของเขาเอง ซึ่งทำให้เขามีความสุขขึ้นในตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นอิสระ และทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๓. กระบวนการเรียนรู้ในระบบสัมพันธ์ปัจจัยภายใน-ภายนอก— ข) เรียนด้วยความสุข และสนุกในการเรียน >>

No Comments

Comments are closed.