เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะมนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้

25 กุมภาพันธ์ 2541
เป็นตอนที่ 18 จาก 24 ตอนของ

เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะมนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้

ตอนนี้มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุผลเข้ามาแทรกอยู่นิดหน่อย คือเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมมานิยมพูดกันตอนนี้

ก) เรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่หาความรู้ตลอดชีวิต

สำหรับเหตุผลที่จะให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรามักจะไปเน้นกันที่ว่า ปัจจุบันนี้ เป็นยุคที่มีข่าวสารข้อมูลมาก โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สิ่งที่จะต้องเรียนรู้เพิ่มพูนก้าวไปเรื่อยไม่รู้จักหยุดหย่อน การที่เราจะมีชีวิตที่ดีงามได้ เราจะต้องปรับตัวให้ทัน รับมือได้กับความเปลี่ยนแปลง และใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งแปลกใหม่ทั้งหลาย ถ้าเราไม่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เราก็จะไม่สามารถตามทันข่าวสารข้อมูลเป็นต้น รับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ไหว และใช้ประโยชน์จากสิ่งแปลกใหม่ไม่ได้ อันนี้ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เอามาอ้างกัน ในการที่จะทำให้ต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และให้มีสังคมแห่งการเรียนรู้ ถ้าพูดอย่างนี้ก็กลายเป็นว่า

  1. เราถูกความจำเป็นบังคับ ทำให้ต้องมีและต้องถือคติแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตนี้ และ
  2. เรามักจะเน้นการเรียนที่มุ่งความรู้เป็นสำคัญ

ฉะนั้น ถ้าไม่ระวังก็จะก้าวพลาดจากความหมายของการศึกษา ความจริงเราควรจะพูดว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็คือการหันเข้าหาหลักความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักการที่แท้จริงอันถูกต้อง เป็นแต่ว่าเราเผลอเราพลาดไปนาน เราอาจจะหลงระเริงไปเสีย ก็เลยลืมหลักการที่เป็นจริง

ข) มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้

การเป็นผู้ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตนี้ เป็นหลักความจริงตามธรรมชาติแท้ๆ เพราะฉะนั้น การที่เราหันมาใช้หลักการนี้ จึงเป็นการหันเข้าหาหลักเดิมที่แท้ เพราะมนุษย์นั้นถือว่าเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ ความพิเศษของมนุษย์อยู่ที่นี่ ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐนั้น ก็เพราะเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ เรียกอย่างภาษาพระว่าเป็น “สัตว์ที่ฝึกได้”

คำว่า “ฝึก” ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าเป็นไวพจน์ของคำว่าเรียนนั่นเอง เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก ก็คือเรียนรู้ได้และต้องเรียนรู้ หมายความว่า การดำเนินชีวิต ที่จะให้รอดก็ตาม และให้ดีก็ตาม มนุษย์ไม่ได้มาเปล่าๆ เพียงด้วยสัญชาตญาณ แต่จะได้มาด้วยการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่เรียนรู้ได้น้อย และแทบไม่ต้องเรียนรู้เลย ก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่ก็อยู่ด้วยสัญชาตญาณนั้นไปจนตาย เกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น

พระพุทธศาสนาบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ไม่พูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ

การพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐนั้นเป็นคำที่เสี่ยง และเป็นคำที่ไม่สมบูรณ์ ความจริงนั้น ถ้าไม่มีการฝึก หรือไม่มีการเรียนรู้แล้ว มนุษย์หาประเสริฐไม่ อาจจะแย่ยิ่งกว่าสัตว์ชนิดอื่นด้วย ฉะนั้นจะต้องพูดให้เต็มว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าใช้สำนวนสมัยใหม่ก็ว่าประเสริฐด้วยการเรียนรู้ ซึ่งสืบเนื่องมาจากที่พูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก คือเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้

ในเมื่อเรารู้ว่า มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม โดยมิใช่จะได้มาเฉยๆ แต่มนุษย์จะต้องลงทุนด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนา เราจึงมองว่า ถ้ามนุษย์จะมีชีวิตที่ดีที่ประเสริฐ ก็จะต้องฝึกต้องเรียนรู้อยู่เรื่อยไป

การเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนานี้ เป็นความพิเศษของมนุษย์ที่สัตว์ชนิดอื่นทำไม่ได้ สัตว์ชนิดอื่นนั้นเรียนรู้ได้จำกัดอย่างยิ่ง เราเรียกรวบรัดว่าไม่สามารถเรียนรู้ หรือเป็นสัตว์ที่ฝึกไม่ได้

แม้ว่าสัตว์บางชนิดอาจจะฝึกได้มาก แต่ก็ต้องให้มนุษย์ฝึกให้ ส่วนมนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้เรียนรู้ได้ และฝึกตนเองได้ด้วย แล้วยังฝึกได้จนกระทั่งไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด ตั้งแต่เกิดจนตาย มนุษย์ที่ฝึกตนหรือมีการเรียนรู้ จึงเปลี่ยนแปลงไป และทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ฝึกจนกระทั่งเป็นพุทธะก็ได้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงตั้งพุทธะไว้เป็นตัวแบบ เพื่อเตือนให้มนุษย์ระลึกถึงศักยภาพของตนว่า เรามีศักยภาพที่จะเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาได้ จนกระทั่งเป็นบุคคลแบบอย่างนี้ คือจะเป็นพุทธะก็ได้ แล้วก็เตือนใจว่าเราจะต้องเรียนรู้ฝึกฝนตลอดไป ไม่เฉพาะชีวิตนี้ ไม่ว่าจะมีกี่ชีวิตก็ต้องเรียนรู้กันเรื่อยไป จนกว่าจะเป็นพุทธะ จึงจะเลิกเรียนได้

นี่คือเหตุผลที่พูดว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นหลักความจริงตามธรรมชาติ การที่ต้องย้ำจุดนี้ ไม่ใช่เพราะความจำเป็นของยุคสมัย แต่เพราะมันเป็นการศึกษาที่ถูกต้องตามหลักการที่แท้ คือตรงตามความจริงของธรรมชาติ

ค) เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะจุดหมายชีวิตของมนุษย์ คือเป็นพุทธะ

ขอตั้งข้อสังเกตหน่อยว่า ถ้าเราเอาเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิตมามองในแง่ของการที่ถูกสภาพแวดล้อมของยุคสมัยบังคับ ก็จะเป็นการตั้งวัตถุประสงค์ต่ำเกินไป คือเราจะตั้งวัตถุประสงค์แค่ว่าให้มนุษย์ปรับตัวได้ แล้วก็สามารถจัดการกับสภาพแวดล้อมในยุคสมัยนี้ และฉวยเอาประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วนี้ได้อย่างดีเท่านั้น คือมีมาตรฐานแค่ว่า แต่ก่อนเคยอยู่มาอย่างนี้ๆ ก็อยู่ดีได้ ไม่ต้องเรียนรู้แบบนี้ แต่ตอนนี้มันเกิดความจำเป็น จะอยู่ให้ดีแค่นั้นไม่ได้ จึงต้องปรับตัว อะไรทำนองนั้น

แต่ในทางหลักธรรม เราตั้งอุดมคติว่า การที่มนุษย์จะต้องพัฒนาไปจนถึงจุดสูงสุดนี้เป็นหลักธรรมดา อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราตั้งเป้าหมายไว้เป็นพุทธะ หรือเป็นภาวิต ซึ่งแปลว่าบุคคลที่พัฒนาแล้ว

บุคคลมีชีวิตตราบใด ก็จะต้องพัฒนาฝึกฝนเรียนรู้เรื่อยไปจนกว่าจะถึงจุดหมายนี้ จุดหมายสูงสุดนี้จะต้องตั้งไว้

เรื่องนี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่ควรจะตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่างระหว่างตะวันตกกับตะวันออก อย่างเช่นในทางจิตวิทยา

จิตวิทยาตะวันตกเอามนุษย์ปุถุชนธรรมดาเป็นมาตรฐานสำหรับวัดว่า เป็นมนุษย์ปกติที่ดีแล้ว มนุษย์ที่ผิดปกติก็คือสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์นั้น แต่ต่ำนั้นเน้นมาก เพราะวิชาจิตวิทยาพัฒนาขึ้นมาจากฐานนั้น คือเริ่มจากคนที่ผิดปกติมากๆ เช่นคนบ้า คนเสียสติ หรือคนเป็นโรคจิต ที่มีปัญหาว่าทำอย่างไรจะให้กลับขึ้นมาเป็นคนปกติ ที่เป็นคนมีโลภ โกรธ หลงอย่างทั่วๆไป และถือว่านี่แหละใช้ได้แล้ว

ส่วนพุทธศาสนาเริ่มจากคนที่เป็นปุถุชนว่าเป็นอย่างต่ำ ซึ่งจะต้องพัฒนาขึ้นไปจนสูงสุด จึงเป็นแนวความคิดคนละแบบ อันนี้เป็นเรื่องของการตั้งข้อสังเกตไว้

ง) เด็กเกิดมา ที่ว่าบริสุทธิ์ คือว่างเปล่าจากความรู้ จึงอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย

อีกอย่างหนึ่งที่อยากพูดไว้ด้วย ก็คือเรื่องของเด็กที่เกิดมานี้ เรามักพูดว่าเด็กว่างเปล่า เหมือนผ้าขาวหรือกระดาษที่ยังไม่ได้เขียน หรือบางทีก็ว่าเด็กเป็นคนบริสุทธิ์ คำว่าบริสุทธิ์นี่เป็นคำที่กำกวม

ว่างเปล่าคือไม่มีอะไร แต่ในความหมายหนึ่งก็คือว่างจากความรู้ด้วย คือไม่มีความรู้ ตรงนี้แหละสำคัญมาก พุทธศาสนาจะไม่บอกว่าเด็กบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ แต่เราพูดอยู่อย่างหนึ่งว่า ยังมีความไม่รู้ หรือว่างเปล่าจากความรู้ เมื่อว่างเปล่าปราศจากความรู้ หรือไม่มีความรู้ ก็อยู่ในภาวะเสี่ยง

มนุษย์จะเป็นอยู่อย่างไรถ้าไม่มีความรู้ เมื่อเจออะไร ถ้าไม่รู้ว่ามันคืออะไร และจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ก็ติดขัดเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นคนที่ไม่มีความรู้ก็คือมีศักยภาพแห่งปัญหา พอไปเจออะไร เมื่อไม่รู้ว่าคืออะไร และจะทำต่อมันอย่างไร ก็เกิดปัญหาทันที คือเกิดความติดขัดคับข้องบีบคั้นขึ้นมา ซึ่งเรียกว่าทุกข์หรือปัญหา

ฉะนั้น ความไม่รู้ ก็คือศักยภาพที่จะทำให้เกิดปัญหา จากความไม่รู้ ก็กลายเป็นงง หรือหลง ถ้าถึงขนาดหลง ก็จะทำหรือปฏิบัติต่อสิ่งนั้นผิดพลาด การที่เด็กเกิดมาพร้อมกับความไม่มีอะไรอย่างหนึ่ง คือไม่มีความรู้ หรือว่างเปล่าจากความรู้ นี่แหละเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญมาก

ความบริสุทธิ์ที่แท้ ต้องเป็นความบริสุทธิ์ที่เกิดจากปัญญาคือความรู้ ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ที่อยู่กับความไม่รู้ หรือเป็นความบริสุทธิ์ในความมืด จึงต้องรู้จักแยก ระหว่างความบริสุทธิ์แบบไร้เดียงสา กับความบริสุทธิ์จากความรู้แจ้งด้วยปัญญา

เรื่องนี้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ เอามาพูดแทรกไว้ในที่นี้ แต่ไม่ใช่โอกาสที่จะอธิบาย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เลี้ยง – เลียน – เรียนระบบแห่งกระบวนการเรียนรู้ >>

No Comments

Comments are closed.