รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย (บทสรุป)

17 พฤษภาคม 2544
เป็นตอนที่ 1 จาก 4 ตอนของ

รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย1

(บทสรุป)

การที่จะสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประเทศชาติให้เจริญมั่นคงและดีงาม มีสันติสุขได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ทรัพยากรวัตถุที่เพียงพอ ความพร้อมเพรียงสามัคคีของคน และความฉลาดในวิธีจัดการดำเนินการ เป็นต้น แต่บรรดาปัจจัยทั้งหมดนั้น ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบหลักมี ๒ อย่าง คือ

๑. เจตนาที่ดี คือ ความปรารถนาดีต่อสังคมประเทศชาติโดยบริสุทธิ์ใจ มีเจตจำนงมุ่งมั่นแน่วแน่ต่อจุดหมาย คือประโยชน์สุขของส่วนรวม ไม่หลอกลวง ไม่มีเจตนาเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง

๒. ปัญญาที่ถึงและทัน คือ ความรู้เข้าใจปัญหา มองเห็นทั่วตลอด ทันต่อสถานการณ์ หยั่งเห็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก รวมทั้งสิ่งที่นิยมเรียกว่า วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์ ว่ามองไกล ก็มักมองได้แค่ในกรอบของยุคสมัย

อย่างไรก็ตาม ในด้านปัญญา คนทั่วไป แม้แต่ที่ถือกันว่าฉลาดหลักแหลม ก็มักจะรู้และคิดกันภายในกรอบของสถานการณ์ และกระแสของยุคสมัย โดยมุ่งเพื่อจะแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องของกาลเทศะนั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย คือในยุคปัจจุบัน มีการแข่งขันเป็นโลกาภิวัตน์ เจตจำนงและปรีชาสามารถทุกอย่างก็จะถูกระดมมาใช้ เพื่อหาทางให้ตนและสังคมประเทศชาติของตนมีชัยชนะในการแข่งขันกับสังคมอื่นประเทศอื่น โดยเฉพาะด้านที่เด่นของยุคปัจจุบัน ก็คือชัยชนะเชิงธุรกิจเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ

แม้แต่คำว่า “วิสัยทัศน์” ที่นิยมกันนักหนาเวลานี้ โดยทั่วไปก็มองความหมายกันเพียงในแง่ของการมีสายตายาวไกล มองเห็นการณ์ข้างหน้า หยั่งหรือคาดหมายอนาคตได้แม่นยำ แต่ทั้งหมดนั้นก็มุ่งเพื่อสนองแนวคิดความมุ่งหมายที่อยู่ในกรอบแห่งสถานการณ์ และกระแสของยุคสมัย คือการที่จะประสบความสำเร็จหรือมีชัยในการแข่งขันอย่างที่พูดข้างต้น

การแข่งขันนั้น มองที่สถานการณ์เฉพาะหน้า ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ เพราะสภาพแวดล้อมบีบรัด จึงจะต้องเข้มแข็งพอที่จะยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ถูกใครครอบงำ แต่ต้องมองกว้างออกไปอีกชั้นหนึ่ง ถึงความจริงที่ครอบคลุมอยู่เบื้องหลังด้วยว่า เมื่อมนุษย์แข่งขันเอาชนะกันอยู่นั้น ต่างก็มุ่งแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และอำนาจการเมือง เพื่อฉกฉวยผลประโยชน์และครองความยิ่งใหญ่ แต่ผลรวมก็เหมือนกับว่ามนุษย์สมคบกันทำลายชีวิตสังคมและธรรมชาติให้เสื่อมโทรม จนอาจถึงพินาศ ดังที่ประจักษ์กันอยู่แล้วว่าขณะนี้ ปัญหาชีวิต ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมในโลก เพิ่มขยายร้ายแรงขึ้นเพียงใด

มนุษย์จะต้องมองทะลุสถานการณ์เฉพาะหน้า และกรอบความคิดแห่งการแข่งขันของโลกาภิวัตน์นี้ออกไป จึงจะเห็นความจริงแท้ของโลกและชีวิต กับทั้งจุดหมายอันยั่งยืนถาวรที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยต้องการ คือ ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่น่าอยู่อาศัย ปัญญาที่มนุษย์จะต้องพัฒนาขึ้นมาใช้ในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมนั้น จะต้องก้าวมาถึงขั้นนี้ มิใช่แค่วิสัยทัศน์ที่เพียงสนองจุดหมายแห่งความสำเร็จ ในกรอบความคิดของการเอาชนะในระบบแข่งขัน

ในยุคยาวนานที่ผ่านมา มนุษย์ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าขึ้นมา ด้วยความเพียรพยายามที่มุ่งหมายจะเอาชนะธรรมชาติ แต่ในที่สุด เมื่อประมาณ ๓๐ ปีมานี้เอง มนุษย์ชาวตะวันตกก็ได้เกิดความสำนึกผิดว่า แนวคิดความมุ่งหมายนี้ เป็นเหตุให้มนุษย์ข่มเหงทำลายธรรมชาติ ซึ่งส่งผลสะท้อนกลับมาให้มนุษย์ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นๆ จนคุกคามต่อความอยู่รอดของโลกมนุษย์เอง มนุษย์ตะวันตกนั้นจึงสอนและเตือนกันให้เลิกคิดแยกตัวจากธรรมชาติ และเลิกคิดเอาชนะมัน แต่ให้หันมามองตนเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และคิดที่จะเกื้อกูลและอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

ทั้งที่เกิดความสำนึกผิดอย่างนี้ และร่ำร้องกันว่าจะต้องเลิกคิดเอาชนะธรรมชาติ แต่การแข่งขันจะเอาชนะระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ได้กลายเป็นเครื่องกีดกั้นขัดขวางตนเองให้ไม่สามารถอยู่กับธรรมชาติได้โดยสันติ และต้องรุกรานข่มเหงธรรมชาติต่อไป เพื่อให้มีผลประโยชน์ที่จะรักษาอำนาจ และสถานะแห่งความยิ่งใหญ่ของตนไว้

มนุษย์จะต้องพัฒนาปัญญาที่รู้ตระหนักถึงจุดหมายที่แท้จริงของอารยธรรม คือ ความเจริญงอกงามของชีวิต สังคม และธรรมชาติ ในการที่จะดำรงอยู่อย่างประสานเกื้อกูลกัน และดีงามยิ่งขึ้น เบียดเบียนตนและเบียดเบียนกันน้อยลง และจะต้องจัดสรรพลังความเพียรพยายามส่วนสำคัญให้แก่การกระทำเพื่อจุดหมายนี้

จำเป็นต้องแข่งขัน ก็ต้องรู้เขาอย่างถึงรากเหง้าและเนื้อใน

แต่ในสถานการณ์ต่อหน้า ที่ถูกแวดล้อมและบีบรัดด้วยระบบแข่งขันนี้ มนุษย์ผู้ตั้งใจจรรโลงชีวิต สังคม และธรรมชาติ จะทำการที่มุ่งหมายได้ ต้องมีอิสรภาพ และมีกำลังเข้มแข็งพอที่จะไม่ถูกครอบงำหรือกำจัดเสียก่อน ดังนั้น มนุษย์ผู้มีเจตนาที่ชอบธรรม และมีปัญญาที่ถึงธรรม เมื่อจะนำอารยธรรมของมนุษย์ให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง จึงมีภารกิจ ๒ ชั้น คือ

ชั้นแรก จะต้องยืนหยัดอยู่ได้อย่างดี ไม่พ่ายแพ้ ไม่ถูกครอบงำ และไม่จมลงใต้กระแสโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขันนั้น แต่เป็นอิสระที่จะใช้กำลังจัดการกับกระแสนั้นได้ และ

ชั้นที่สอง พยายามผันเบนนำกระแสอารยธรรมไปในทิศทางสู่จุดหมายที่ถูกต้อง

ภารกิจชั้นแรก คือการที่จะมีชัย เพื่อยืนหยัดอยู่ได้ในกระแสโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขัน ไม่ถูกครอบงำ และมีอิสรภาพที่จะทำการอะไรตามเจตจำนงของตนได้นั้น ปัญญาด้านหนึ่งที่สำคัญ ก็คือที่พูดกันด้วยภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่า “รู้เขา รู้เรา”

ในโลกแห่งการแข่งขัน ที่มีประเทศชาติมากมายอยู่บนเวทีนั้น สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่จะต้อง “รู้เขา” ให้ชัดเป็นพิเศษ ทั้งในแง่ที่เป็นผู้นำ มีกำลังใหญ่ที่สุดในการแข่งขัน ในแง่ที่เป็นต้นแหล่งแห่งกระแสการแข่งขัน และในแง่เป็นแบบอย่างที่สังคมไทยชื่นชมนิยมตาม การรู้เขาจึงควรเริ่มด้วยอเมริกาเป็นอันดับแรก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปรู้จักอเมริกา >>

เชิงอรรถ

  1. เดิมเขียนขึ้นเพื่อเป็นคำปรารภสำหรับบทเสวนาผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม ๖ ครั้ง แห่ง พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะรวบรวมจัดพิมพ์ขึ้น ในกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๔ แต่ปรากฏว่าเขียนยาวเกินไป จึงต้องตัดย่อสั้นลงเป็นคำปรารภฉบับหนึ่ง
    ส่วนฉบับยาวนี้ ขอมอบให้แก่กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม สวช. สนองตามคำขอบทความเรื่อง “วิกฤตการณ์ทางสังคมและทางออก” และขอมอบแก่พระธรรมทูตสายต่างประเทศ ผู้เข้ารับการอบรมรุ่นที่ ๗ ณ มหาจุฬาฯ แทนการบรรยายตามกำหนดในวันที่ ๑๗ พ.ค. ๒๕๔๔ ที่ได้งดเพราะอาพาธ

No Comments

Comments are closed.