รู้จักอเมริกา

17 พฤษภาคม 2544
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

รู้จักอเมริกา

ความ “รู้เขา” ที่สำคัญยิ่ง ซึ่งขาดไม่ได้ คือความรู้เข้าใจวัฒนธรรม พื้นเพ ภูมิหลัง แนวคิด สภาพจิตใจ ลักษณะนิสัยของคน เป็นต้น ที่เป็นเหตุปัจจัยอยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จของสังคมนั้นๆ รวมทั้งการที่จะนำมาเปรียบเทียบกับความ “รู้เรา”

ในวัฒนธรรมที่ครอบคลุมวิถีชีวิตอเมริกันนั้น มีคำพูด ๒ คำที่สำคัญเด่นพิเศษ คือ freedom (เสรีภาพ) และ opportunity (โอกาส)

คริสต์ศตวรรษที่ 17: หนีภัยศาสนามาจากยุโรป

ทวีปยุโรปในอดีตเป็นดินแดนที่มากไปด้วยการบีบคั้นกำจัดกัน หรือการห้ำหั่นบีฑาทางศาสนา (religious persecution) ซึ่งคู่มากับประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนา ตั้งแต่ยุคโรมัน การบีบคั้นกำจัดทางศาสนานี้ หมายถึงการบีบคั้นกำจัดทางการเมือง (political persecution) ด้วย เพราะศาสนาในยุโรปยุคนั้นมีอำนาจครอบงำการเมือง และการเมืองก็อิงอยู่กับอำนาจของฝ่ายศาสนา ครั้นเมื่อเกิดนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นใน ค.ศ. 1517 (พ.ศ. ๒๐๕๐) แล้ว ศาสนิกของนิกายทั้งสอง คือ โรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ก็ใช้อำนาจการเมืองบีบคั้นกำจัดกัน ทั้งการขังคุก ทรมาน ฆ่าฟันสังหาร ภายในประเทศ และการสงครามระหว่างกลุ่มประเทศที่นับถือต่างนิกายกัน อย่างยืดเยื้อยาวนานตลอดศตวรรษต่อมา

ระหว่างนั้น คนจำนวนมากได้เดินทางมายังโลกใหม่ คือแผ่นดินอเมริกา เพื่อหนีภัยการบีบคั้นกำจัด (persecution) ด้วยหวังจะมีเสรีภาพ (freedom) ทางศาสนา พร้อมทั้งหาที่ทำกินใหม่ แม้จะต้องฝ่าฟันทนทุกข์ทรมานมากมายจากภยันตรายกลางมหาสมุทร โรคภัยไข้เจ็บ ความขาดแคลนอาหาร และปัจจัยสี่ทุกอย่าง การต่อสู้กับอินเดียนแดง ตลอดจนปัญหากับผู้ปกครอง และพวกล่าอาณานิคมจากยุโรป ดังเช่น พวกที่เรียกกันว่า Pilgrim Fathers ซึ่งหนีภัยการบีบคั้นกำจัดของอำนาจรัฐแห่งนิกายอังกฤษ มาขึ้นฝั่งที่ New England เมื่อ ค.ศ. 1620 (พ.ศ. ๒๑๖๓) ซึ่งบางทีเรียกว่า “ฉากแรกของประวัติศาสตร์อเมริกา” ต่อจากนั้นก็มีการอพยพขนานใหญ่ (Great Migration) ของพวกเพียวริตัน (Puritans) ระหว่าง ค.ศ. 1630-1640 (พ.ศ. ๒๑๗๓ – ๒๑๘๓) และกลุ่มคณะอื่นๆ ต่อๆ มา

แม้จะพ้นภัยการห้ำหั่นบีฑาด้วยเรื่องศาสนาในประเทศเดิมมาแล้ว ชาวอพยพก็ยังบีบคั้นกำจัดกันในดินแดนใหม่นี้อีก ดังเช่นพวก Pilgrim Fathers นั้นเอง เมื่อตั้งอาณานิคมของตนปกครองกันเองแล้ว ก็ยังกำจัดขับไล่และฆ่าคนที่นับถือนิกายต่างออกไป

จากประสบการณ์แห่งภยันตราย และความทุกข์ยากจากการบีบคั้นกำจัดกันนี้ จึงทำให้ชาวอเมริกันเบื่อหน่ายขยาดกลัวต่อ persecution และใฝ่ปรารถนาเสรีภาพ คือ freedom เป็นอย่างยิ่ง

ภูมิหลังอเมริกา คือประวัติการถูกบีบคั้น-ดิ้นรนแสวงหา

ค.ศ. 1620 – 1890:
๓๐๐ ปี แห่งการบุกฝ่าขยายพรมแดน/frontier

ขั้นต่อไป เมื่อขึ้นฝั่งแผ่นดินใหญ่แล้ว ชาวอพยพเหล่านี้ ก็คือคนพลัดถิ่นผจญภัย มีที่อาศัยเพียงแค่ที่ตนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ต้องเผชิญทุกข์ภัย ทั้งความหนาวเย็น ป่าเขาพงไพร และคนที่ตนถือว่าป่าเถื่อนหรือเป็นอนารยชน คืออินเดียนแดง การขึ้นฝั่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการที่จะต้องบุกฝ่าภัยอันตรายไปข้างหน้า เพื่อหาที่ทำกินและสร้างถิ่นฐานบ้านเมือง นับแต่นั้นคนอเมริกันก็เข้าสู่ยุคบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier expansion)

บรรพบุรุษอเมริกันดิ้นรนต่อสู้บุกฝ่าภยันตรายขยายพรมแดนมุ่งหน้าตะวันตกเรื่อยไป ด้วยความหวังว่าจะมีโอกาส (opportunity) ได้พบความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุข้างหน้า

การบุกฝ่าขยายพรมแดนมุ่งหน้าตะวันตก ที่เรียกสั้นๆ ว่า frontier นี้ ดำเนินมาตลอดเวลายาวนานถึงประมาณ ๓๐๐ ปี โดยแบ่งออกได้เป็น ๓ ช่วง คือ

ช่วงที่ ๑ อาณานิคมชายฝั่งแอตแลนติก (Atlantic colonies) ใน ค.ศต. 17 – 18 (ปลาย พ.ศต. ๒๒ – กลาง พ.ศต. ๒๔)

ช่วงที่ ๒ ดินแดนภาคตะวันออกตลอดแนวเทือกเขาแอปพาเลเชียน (trans-Appalachia) ใน ค.ศต. 19 ถึง ค.ศ. 1880 (กลาง พ.ศต. ๒๔ – ต้น พ.ศต. ๒๕)

ช่วงที่ ๓ แดนตะวันตกที่ห่างไกล (Far West) คือเลยแม่น้ำมิซซิสซิปปีออกไป ในทศวรรษตั้งแต่ ค.ศ. 1880 (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๕ – ๒๔๓๕)

ถือกันมาว่า ใน ค.ศ. 1890 ชนชาติอเมริกันทะลุล่วงพรมแดนที่ขวางกั้น ได้ผืนแผ่นดินใหญ่ของอเมริกาปัจจุบันนี้ทั้งหมด และจบการต่อสู้กับอินเดียนแดง เป็นผู้ครอบครองผืนแผ่นดินใหม่สิ้นเชิง เป็นระยะทางจากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกทิศตะวันออก จดฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทิศตะวันตก ประมาณ ๓,๐๐๐ ไมล์ (๔,๘๐๐ กม.เศษ) เฉลี่ยบุกฝ่าคืบหน้าไปปีละ ๑๐ ไมล์

ด้วยเหตุนี้ คำว่า frontier ซึ่งหมายถึงการบุกฝ่าขยายพรมแดน จึงมีความสำคัญคู่กับประวัติศาสตร์ของชนชาติอเมริกัน ถือกันว่าเป็นเครื่องหล่อหลอมแนวคิดจิตใจ บุคลิกลักษณะ และวิถีชีวิต หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นรากฐานของวัฒนธรรมอเมริกัน

ลักษณะนิสัยอเมริกันที่หล่อหลอมขึ้นมาจากวิถีชีวิตแห่งการบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier traits) ตามที่นักประวัติศาสตร์และผู้รู้ของอเมริกาว่าไว้ ที่เป็นข้อสำคัญๆ คือ ความเป็นประชาธิปไตย (democracy) การเอาแต่ตัวหรือตัวใครตัวมัน (individualism) การพึ่งตนเอง (self-reliance) ความใฝ่รู้หรือชอบสอบถามสืบค้น (inquisitiveness) ความเพียรเร่งรุดไม่หยุดหย่อน (restless energy) ความช่างประดิษฐ์ชอบคิดการใหม่ๆ (inventiveness) ความเคลื่อนคล่อง (mobility) ความมุ่งผลเชิงปฏิบัติ (practicality) การมองแง่ดี (optimism) ความเป็นชาตินิยม (nationalism) ความเป็นวัตถุนิยม (materialism) ความหยาบ-ไม่สุภาพเรียบร้อย (coarseness) ความสุรุ่ยสุร่าย (wastefulness)

คริสต์ศตวรรษที่ 14 – 18:
แรงหนุนและทุนเก่าจากถิ่นเดิมในยุโรป

คติบุกฝ่าขยายพรมแดน ที่เรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่า คติ frontier (อเมริกันเรียก ideal of the frontier บ้าง myth of the frontier บ้าง) นี้ ได้รับแรงหนุนให้เข้มแข็งมากขึ้น ด้วยความกระตือรือร้นทางความคิดที่ติดมาจากยุโรป คือ ก่อนหนีภัยการห้ำหั่นบีฑาทางศาสนาและการเมืองมานั้น ในยุโรป คนได้ตื่นตัวกันขึ้นมาตั้งแต่ยุควิชาการโบราณคืนชีพ (Renaissance, คริสต์ศตวรรษที่ 14 – 16)

โดยเฉพาะช่วงหนีภัยมาอเมริกา เป็นระยะที่กำลังมีการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ซึ่งถือกันว่าเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1543 (พ.ศ. ๒๐๘๖) แนวคิดพิชิตธรรมชาติ (conquest of nature หรือ dominion/mastery over nature) กำลังเฟื่องฟู หนุนให้กระแสวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า และปลุกความคิดความใฝ่ฝันของคนตะวันตก จนเกิดเป็นยุคโพลงปัญญา (Enlightenment) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18

กระแสความคิดในยุคโพลงปัญญา (Enlightenment) นั้น เร้าใจคนให้เชื่อในคติแห่งความก้าวหน้า (ideal of progress) ว่าวิทยาศาสตร์จะนำมนุษย์ไปสู่ความพรั่งพร้อมรุ่งเรืองสุขสมบูรณ์

ต่อจากนั้นก็ตามมาด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่เริ่มใน ค.ศ. 1750 (พ.ศ. ๒๒๙๓) ซึ่งเสริมแรงวัตถุนิยมแบบรุกรานธรรมชาติ ที่นำสังคมตะวันตกขึ้นสู่ยุคสมัยใหม่ แล้วยังมีการปฏิวัติทางการเมือง หรือปฏิวัติสู่ประชาธิปไตยของฝรั่งเศส (French Revolution) ที่เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1789 (พ.ศ. ๒๓๓๒) ซึ่งมีแนวคิดประชาธิปไตย (democracy) ที่มาหนุนอุดมคติแห่งอิสรเสรีภาพของคนอเมริกันให้มีพลังยิ่งขึ้น

สาระสำคัญก็คือ คนอเมริกันเริ่มชีวิตและสังคมของเขาด้วยแนวคิดความเชื่อต่างๆ ทั้งที่ติดและตามมาจากยุโรปเหล่านี้ มาหนุนให้การบุกฝ่าไปข้างหน้าตามคติ frontier ของเขา มีพลังแห่งความกระตือรือร้นเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดบรรยากาศพร้อมทั้งกระแสจินตนาการ ที่หล่อเลี้ยงและปลุกเร้าความบากบั่นพากเพียร

รวมความว่า ประวัติศาสตร์อเมริกา ก็คือ เรื่องราวความเป็นมาของชนชาติที่

1. หลบหนีภัยการห้ำหั่นบีฑา (persecution) โดยเฉพาะทางศาสนา มุ่งหน้าจากยุโรปมา เพื่อแสวงหาอิสรเสรีภาพ (freedom)

2. บุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier) เคลื่อนย้ายขยับขยายจากฝั่งที่ขึ้นมา มุ่งตะวันตกไปข้างหน้าบนผืนแผ่นดินใหม่ เพื่อแสวงหาโอกาส (opportunity) ที่จะสร้างความมั่งคั่งพรั่งพร้อมสมบูรณ์

วาทะและคำบรรยายต่างๆ ของชาวอเมริกันคนสำคัญๆ และเอกสารตำราต่างๆ มีมากมายที่ให้ข้อสรุปได้อย่างนี้ แต่ที่ง่ายๆ ไม่นานนี้ คือข้อความในคำปราศรัยแถลงภาวะของประเทศต่อรัฐสภา ปี ๒๕๔๐ (The 1997 State of the Union address) ของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ๒ ประโยคที่ว่า

อเมริกา ได้เป็นชนชาติของผู้อพยพตลอดมา นับแต่ต้น กระแสประชาชนที่หลั่งไหลอย่างต่อเนื่อง ได้ละทิ้งแผ่นดินของตนมายึดเอาแผ่นดินผืนนี้เป็นบ้านของตน เพื่อแสวงหาอิสรเสรีภาพ (freedom) และโอกาส (opportunity)

คติไทยคือพอใจถิ่นนี้ คติอเมริกันคือฟันฝ่าหาต่อไป

หันมาดูสังคมไทยบ้าง ในฐานะที่เป็นสังคมของเราเอง ในที่นี้คงไม่จำเป็นต้องบรรยายความเป็นมาประกอบ ขอพูดเจาะลงไปเลยถึงข้อความที่แสดงพื้นฐานวัฒนธรรม ภาวะจิตใจ และวิถีชีวิตของสังคมไทย คือคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งแสดงถึงความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ ไม่ขาดแคลน ไม่บีบคั้น ไม่ขัดข้อง ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องดิ้นรนไปหาที่ไหนอีก และคนไทยก็ภูมิใจ (หรือเคยภูมิใจมาก) ที่จะยกข้อความนี้ขึ้นมาเอ่ยอ้าง

นอกจากความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมทางวัตถุแล้ว คำกล่าวนี้ มักมาด้วยกันหรือตามด้วยข้อความอื่นๆ ที่แสดงความหมายว่าสังคมไทยมีความสงบสุข ไม่มีความขัดแย้ง มีภัยศึกสงครามเป็นต้นน้อย เป็น “ไพร่ฟ้าหน้าใส” หรืออย่างที่ปรากฏภาพลักษณ์ให้คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมมองเห็นเด่นในแง่ที่พูดกันว่าเป็น “สยามเมืองยิ้ม”

การหนี persecution มาหา freedom และการบุกฝ่าขยาย frontier ไปหา opportunity ของอเมริกัน โดยเฉพาะคติ frontier ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเขาในแผ่นดินปัจจุบันตลอดเวลายาวนาน ที่เขาถือว่ามีอิทธิพลหล่อหลอมลักษณะนิสัยของคนอเมริกันนั้น เมื่อเอามาเทียบกับคติ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ของสังคมไทย ก็คือวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ หรือวัฒนธรรมที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ

คติ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ของไทย บอกว่า ที่นี่ดี ที่นี่อุดมสมบูรณ์ อยู่สุขสบายแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนไปหาที่ไหนอีก

คติ frontier ของอเมริกัน บอกว่า ที่นี่อยู่ไม่ได้ ที่นี่คับแคบขัดข้อง ที่นี่ยากแค้นบีบคั้น จะต้องบุกฝ่าไปข้างหน้า ด้วยหวังว่าจะได้พบโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งพรั่งพร้อมสุขสมบูรณ์ต่อไป

เป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ขัดข้องขาดแคลน ก็จะต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้อยู่รอด หรือบุกฝ่าไปหาถิ่นที่มั่นคงปลอดภัย มีปัจจัย ๔ หรือวัตถุบำรุงเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้ดี แต่เมื่อใดเศรษฐกิจฟู มีวัตถุพรั่งพร้อม อยู่ดี มีความมั่นคงปลอดภัย สังคมเหมือนดังว่าบรรลุจุดหมาย พ้นทุกข์พ้นภัยแล้ว เกิดความพึงพอใจแล้ว คนก็มีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชา ผัดเพี้ยน ถ้าเลยต่อไปก็ลุ่มหลงมัวเมา ติดจมอยู่ในอามิสและกามสุข

ทางออกที่จะไม่ให้สังคมติดตัน หมกจมและทำลายตัวเองด้วยความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ ก็คือการที่สังคมจะต้องมีเป้าหมายที่ใฝ่ปรารถนาจะทำหรือจะไปหาต่อไปอีก

บุกฝ่าหาดินแดน แล้วก็เดินหน้าหาความมั่งคั่ง

สังคมอเมริกัน แม้จะได้ดินแดนขยายไปตะวันตกจดฝั่งแปซิฟิก จบ frontier ไปแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1890 (พ.ศ. ๒๔๓๓) แต่ก็เป็นการจบเฉพาะ frontier ด้านเทศะ แม้จะได้เนื้อที่มากมายมาเป็นของตนสมปรารถนา ก็เป็นเพียงผืนแผ่นดินและทรัพยากร ซึ่งจะต้องเพียรพยายามบุกฝ่าปลูกสร้างทำงานกันต่อไป เพื่อบรรลุความใฝ่ฝันที่จะมีวัตถุมั่งคั่งพรั่งพร้อม สำหรับจุดหมายขั้นนี้ชาวอเมริกันได้ฝากความหวังไว้กับความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรม

ปลาย ค.ศต. 18: เร่งขยายดินแดน –
ปลาย ค.ศต. 19: เร่งขยายอุตสาหกรรม

ย้อนเล่าเรื่องก่อนจบการขยายดินแดนในแผ่นดินอเมริกาสักหน่อยว่า ระหว่างบุกฝ่าขยายพรมแดนออกไปทางตะวันตกนั้น นอกจากรบกับอินเดียนแดงแล้ว คนอเมริกันก็ต้องถูกบีบคั้นและขัดแย้งกับประเทศแม่ที่ตามมาปกครองด้วย โดยเฉพาะในปี 1763 (พ.ศ. ๒๓๐๖) อังกฤษได้ออกประกาศห้ามไม่ให้ชาวอาณานิคมไปตั้งถิ่นฐานเลยเทือกเขาแอปพาเลเชียน (Appalachian Mountains) ซึ่งอยู่ในแถบตะวันออกของอเมริกา (แล่นจากคานาดาตลอดลงมาผ่านรัฐ New York, Pennsylvania, West Virginia จนถึงรัฐ Alabama) ซึ่งได้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันทำการปฏิวัติ (American Revolution) ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1775 (พ.ศ. ๒๓๑๘)

เมื่อชนะสงครามได้อิสรภาพจากอังกฤษแล้ว บรรพบุรุษอเมริกันก็เริ่มแผนการผนวกรัฐใหม่ๆ ทันที โดยเฉพาะในปี 1784- 1785 (พ.ศ. ๒๓๒๗–๒๓๒๘) รัฐบาลอเมริกันที่เกิดขึ้นใหม่ได้เริ่มนโยบายยึดเอาแผ่นดินมาครอบครอง (policy of land acquisition)

ความกระตือรือร้นมุ่งมั่นในการบุกฝ่ายึดครองดินแดนตามคติ frontier ได้กลายเป็นคติที่นำมาสั่งสอนปลุกเร้ากัน จนกลายเป็นแนวคิดความเชื่อที่ต่อมาใน ค.ศ. 1845 (พ.ศ. ๒๓๘๘) เกิดมีคำใหม่ขึ้นมาใช้ว่า “Manifest Destiny” คือ คติความเชื่อว่า เป็นวิถีแห่งชะตาสังคมอเมริกันที่พระเป็นเจ้าได้กำหนดไว้แจ้งชัด ว่าจะต้องขยายดินแดนออกไปครอบครองแผ่นดินอเมริกาเหนือทั้งหมดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และชาวอเมริกันก็ได้ดำเนินการบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier) ต่อมา ทั้งทำสงครามแย่งชิงและซื้อแผ่นดินจากอินเดียนแดง ได้รัฐใหม่เพิ่มเข้ามาอีก ๓๕ รัฐ จนในที่สุดก็จดฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ในปี 1890 (พ.ศ. ๒๔๓๓) ดังได้กล่าวแล้ว

ที่จริง อเมริกามีนโยบายปลีกตัวหรือแยกอยู่โดดเดี่ยว (isola- tionism) ซึ่งประธานาธิบดียอร์จ วอชิงตัน ให้ไว้ และได้ถือปฏิบัติกันมาจนสะดุดเมื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ พอจบสงครามนั้นแล้ว ก็ถือต่อมาอีกจนยกเลิกจริงตั้งแต่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๒

อย่างไรก็ดี นโยบายปลีกตัวนี้สหรัฐใช้เฉพาะกับยุโรป ที่ขณะนั้นมีอำนาจมาก เพื่อรักษาตัวเองให้พ้นอิทธิพลของยุโรป และไม่ให้ต้องเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งในแถบนั้น แต่ไม่ใช้กับการขยายดินแดนในทวีปอเมริกาเองและในเอเชีย พูดง่ายๆ ว่าไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศที่ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของอเมริกา

ในช่วงเดียวกับที่อเมริกาทำการปฏิวัติ (ค.ศ. 1775 = พ.ศ. ๒๓๑๘) ที่ทำให้ได้อิสรภาพจากอังกฤษนั้น ในอังกฤษเองก็เริ่มเกิดความเจริญแบบอุตสาหกรรมที่เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม ขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 1750 (Industrial Revolution, พ.ศ. ๒๒๗๓) แต่ในระยะแรกความเจริญนั้นยังจำกัดอยู่แค่ในประเทศอังกฤษ จนกระทั่ง ๗๐–๘๐ ปีต่อมา การปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงขยายไปยังฝรั่งเศส เยอรมัน และประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ

ส่วนในอเมริกา หลังสงครามกลางเมืองเพื่อเลิกทาส ใน ค.ศ. 1861 – 1865 (พ.ศ. ๒๔๐๔ – ๒๔๐๘) อุตสาหกรรมก็เจริญขึ้น ซึ่งเป็นช่วงระยะที่การบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier) ใกล้จะจบสิ้น คนอเมริกันมั่นใจได้แล้วว่า จะครอบครองผืนแผ่นดินอเมริกาได้ทั้งหมด ภาระในการบุกฝ่าขยายพรมแดนด้านเทศะกำลังจะหมดสิ้นไป แต่ยังมีงานรอหน้าอีกมากมายที่จะต้องฝ่าฟันก้าวต่อไป ในการที่จะสร้างความเจริญพรั่งพร้อมอุดมสมบูรณ์และความสะดวกสบายขึ้นบนผืนแผ่นดินนั้น

อุตสาหกรรมได้เจริญก้าวหน้าในอเมริกาอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เริ่มแต่เป็นผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล และอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คนก็ได้สืบทอดนิสัยบุกฝ่าและจริยธรรมในการทำงาน (work ethic) ของโปรเตสแตนต์โดยเฉพาะแบบเพียวริตันกันมา อีกทั้งประดิษฐกรรมและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในอเมริการะยะนี้ ได้ทำให้มีการผลิตมหิมัต หรือผลิตแบบมหาปริมาณ (mass production) เช่น เกิดพลังงานไฟฟ้าใน ค.ศ. 1882 (= พ.ศ. ๒๔๒๕, ปีที่เอดิสันติดตั้งระบบไฟฟ้าให้แก่นครนิวยอร์ค) เกิดโทรเลขไฟฟ้าใน ค.ศ. 1844 (พ.ศ. ๒๓๘๗) เกิดโทรศัพท์ใน ค.ศ. 1876 (พ.ศ. ๒๔๑๙) และเฮนรี ฟอร์ด คิดทำสายพานประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ (assembly line) ขึ้นใช้ใน ค.ศ. 1913 (พ.ศ. ๒๔๕๖)

ไม่ช้าสหรัฐอเมริกาก็เจริญขึ้นเป็นผู้นำในทางอุตสาหกรรมคู่กับประเทศเยอรมนีในยุโรป เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่บนฐานของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดในอเมริกานี้ คนอเมริกันถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 (the Second Industrial Revolution) โดยนับแต่หลัง ค.ศ. 1860 (พ.ศ. ๒๔๐๓) เป็นต้นมา

สร้างพลังปลุกเร้าและความชอบธรรม
ในการแย่งเอาและเข้าครอบครอง

ปลาย ค.ศต. 19: ขับดันความคิดแข่งขันให้เข้มข้น

ปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ คือ องค์ประกอบด้านมโนกรรม อันได้แก่แนวคิดความเชื่อที่เป็นพลังขับดันอยู่เบื้องหลังและให้ความหมายแก่กิจกรรมและกิจการทั้งหมดที่บุคคลและสังคมปฏิบัติจัดทำ

ในระยะที่อเมริกากำลังมุ่งหน้าไปในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ในอังกฤษได้มีนักคิดสำคัญ ชื่อ เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ ผู้ตั้งแนวคิดที่เรียกว่า ลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) ขึ้นมา ลัทธินี้แม้จะเกิดในยุโรป แต่ไม่งอกงามในถิ่นเดิม กลับมามีอิทธิพลอย่างมากในอเมริกา

ลัทธินี้เป็นการนำหลักการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ในทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน มาใช้ทางสังคม ทั้งในด้านชีวิตบุคคลและกลุ่มชนหรือองค์กร คือถือว่า เป็นกฎธรรมชาติที่มนุษย์และกิจกรรมของมนุษย์ เช่น บริษัท และกิจการต่าง ๆ จะต้องดิ้นรนต่อสู้แข่งขันกัน คนใดเข้มแข็งแกร่งกล้าชาญฉลาดก็จะอยู่รอดและรุ่งเรือง ใครโง่เขลาอ่อนแอก็จะล้มหายตายจากไป ตามคำที่สเปนเซอร์คิดขึ้นมาใช้ว่า the survival of the fittest (ใครดีใครอยู่, ใครแข็งใครรอด, หรือคนเก่งที่สุดจึงอยู่รอด) ด้วยความเป็นไปเช่นนี้ คนหรือกิจการที่อยู่รอดก็จะพัฒนา มีคุณสมบัติดียิ่งขึ้น จนมีมนุษย์ที่ดีเลิศเป็นอุดมคติ

เพราะฉะนั้น ลัทธินี้จึงส่งเสริมลัทธิตัวใครตัวมัน หรือปัจเจกนิยม (individualism) และเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา (laissez-faire economics) อย่างเต็มที่ และสอนให้มีการแข่งขันอย่างสุดกำลังไม่มีขีดขั้น (unrestricted competition) ไม่ต้องมีการช่วยเหลือกัน เพื่อให้แต่ละคนมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ ที่จะดิ้นรนต่อสู้เพื่อสนองความปรารถนาในการแสวงหาผลประโยชน์ของตน ความเจริญเติบโตของธุรกิจอันใดก็คือความเป็นไปตามกฎธรรมชาติ การมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเครื่องพิสูจน์ความเหมาะที่จะอยู่รอด และเป็นคุณธรรมในตัวมันเอง ส่วนความยากจนก็เป็นเครื่องแสดงถึงความอ่อนด้อยตามธรรมชาติ จึงไม่ควรช่วยเหลือคนจน เพราะเป็นผู้ไม่เหมาะที่จะอยู่รอดต่อไป

ลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนี้ เป็นที่นิยมนับถือในวงวิชาการและธุรกิจของอเมริกา มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐก็รับเข้ามาจัดสอน ผลงานของสเปนเซอร์เด่นดังมากในช่วง ๒ ทศวรรษ 1870s – 1880s (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ประมาณ ๔๐ ปี) มหาเศรษฐีอเมริกัน เช่น จอห์น ดี. รอกกีเฟลเลอร์ (John D. Rockefeller) และ แอนดรูว์ คาร์เนกี (Andrew Carnegie) ชื่นชมลัทธินี้ยิ่งนัก

ลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนี้ เท่ากับมาหนุนหลักการทางเศรษฐกิจของ อาดัม สมิธ (Adam Smith, ค.ศ. 1723 – 1790=พ.ศ. ๒๒๖๖–๒๓๓๓) เสริมแรงจริยธรรมในการทำงาน (work ethic) เพิ่มพลังแก่การแข่งขัน และตลาดเสรี กับทั้งเป็นข้ออ้างที่จะให้ความชอบธรรมแก่ความเห็นแก่ได้ (acquisitiveness) และการใช้กลวิธีต่าง ๆ เพื่อความสำเร็จทางธุรกิจ

ปลาย ค.ศต. 19:
จบพรมแดนในประเทศ เริ่มขยายจักรวรรดิไปในโลก

ลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนี้ นอกจากหนุนการแสวงหาผลประโยชน์ในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีความหมายขยายกว้างออกไปในด้านการแผ่อำนาจการเมืองระหว่างประเทศด้วย เพราะชาวอเมริกันได้ใช้ลัทธินี้เป็นข้ออ้างในการตีความต่อไปว่า ตามกฎธรรมชาติที่ว่าผู้ที่เก่งกล้าเหมาะสมที่สุดจึงจะอยู่รอดนั้น การที่ชาติที่เข้มแข็งจะไปปกครองบังคับประเทศที่อ่อนแอ จึงเป็นความถูกต้องชอบธรรม เป็นไปตามกฎธรรมชาติ

นักคิดนักเขียนของอเมริกาบางคนชักนำจินตนาการของชาวอเมริกันไปถึงขั้นที่ว่า ชนผิวขาวชาวอเมริกันที่พูดภาษาอังกฤษนี้ เป็นชนชาติที่เข้มแข็ง และได้มีประสบการณ์มาแล้วในการกำราบพวกอินเดียนแดงพื้นเมือง ต่อไปนี้ ชนผิวขาวชาวอเมริกันจะต้องออกไปควบคุมปกครองดินแดนทุกหนแห่งที่ยังไม่มีอารยธรรม

ถึงตอนนี้ ลัทธิดาร์วินเชิงสังคม ก็มาประสานเข้ากับแนวคิดความเชื่อตามคติ “Manifest Destiny” ที่พูดไปแล้ว และขยายขอบเขตของคติความเชื่อนั้นกว้างออกไปว่า ชนชาติผิวขาวชาวอเมริกันได้รับมอบหมายจากพระเป็นเจ้า ให้นำสถาบันและอารย-ธรรมแบบอเมริกันนี้ไปสถาปนา หรือแม้แต่ไปบังคับจัดให้แก่มวลมนุษย์ทั่วทั้งโลก โดยถือเป็นวิถีแห่งชะตาของสังคมอเมริกันอย่างชัดแจ้ง ที่จะต้องไปชี้นำและให้การศึกษาแก่ชนชาติที่ด้อยทั้งหลายเป็นหน้าที่และเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ชาติตะวันตกจะต้องออกไปจัดการให้หมู่มนุษย์ในโลกที่ด้อยพัฒนา เข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมปกครองของประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว

นี้คือ คติวิถีแห่งชะตาสังคมที่พระเจ้ากำหนดมาฉบับใหม่ (new “Manifest Destiny”) ที่ได้ผลักดันประเทศอเมริกาเข้าสู่ยุคแห่งการเป็นจักรวรรดินิยม พร้อมทั้งเป็นข้ออ้างที่จะให้เกิดความรู้สึกชอบธรรมและมั่นใจในการแผ่ขยายอำนาจ พร้อมไปกับการขยายตลาดการค้า และหาแหล่งวัตถุดิบและอาหารราคาถูก เพื่อสนองความต้องการของระบบอุตสาหกรรมในประเทศอเมริกาเอง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อจากจบการขยายพรมแดน ปิด frontier ในอเมริกา ใน ค.ศ. 1890 (พ.ศ. ๒๔๓๓)

อย่างไรก็ดี เนื่องจากพวกนาซีเยอรมันก็ได้ใช้ลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนี้หนุนลัทธิของตน ในการเชิดชูเผ่าอารยัน และล้างผลาญคนยิวด้วย จึงเป็นเหตุให้ต่อมาคนอเมริกันเห็นพิษภัยและเสื่อมความนิยมในลัทธินี้ลงไป แต่กระนั้นลัทธินี้ก็ได้เฟื่องอยู่นานกว่าครึ่งศตวรรษ จึงยังมีอิทธิพลแฝงอยู่ในชีวิตและสังคมอเมริกันสืบมา

โดยเฉพาะลึกลงไป ลักษณะนิสัย สภาพจิตใจ และวิถีชีวิตที่คติ frontier ได้หล่อหลอมมาตลอดเวลาหลายศตวรรษ ก็ยังคงเป็นแรงผลักดันให้คนชาติอเมริกันมีความใฝ่ปรารถนาความสำเร็จและมั่งคั่งทางวัตถุสืบต่อไป แม้ว่าพรมแดนด้านเทศะคือผืนแผ่นดิน (land frontiers) จะปิดไปแล้ว แต่ชาวอเมริกันก็ยังมี frontiers อื่นที่จะบุกฝ่าต่อไป คือ frontiers of knowledge ได้แก่ พรมแดนแห่งความรู้ หรือวิชาการ และต่อมาก็ถึง space frontier บุกฝ่าพรมแดนแห่งอวกาศ ซึ่งยังจะต้องเดินหน้าต่อไปไม่เห็นที่สิ้นสุด

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญมาก คือ electronic frontier (พรมแดนด้านอิเล็กทรอนิกส์ คือความเจริญด้านคอมพิวเตอร์ อาจเรียกว่า cyberspace frontier) ก็เป็นแดนที่อเมริกาบุกฝ่าไปได้ไกลกว่าใครอื่น และยังเป็นผู้นำอยู่

แผ่ขยายวัฒนธรรม รักษาความเป็นผู้นำของโลก

ค.ศต. 20: ขยายพรมแดนแนวใหม่

อย่างไรก็ดี เมื่อ frontier ด้านเทศะที่เป็นรูปธรรมจบไปแล้ว ความหมายและพลังของถ้อยคำก็อาจจะจางลงไปบ้าง แรงเร้าปลุกใจอาจจะอ่อนลง ผู้นำอเมริกันบางคนจึงคิดหาทางเสริมพลังของคำนี้ขึ้นมาอีก ด้วยการใช้คำว่า New Frontier ให้คนอเมริกันคิดถึงพรมแดนใหม่ ที่จะต้องบุกฝ่าขยายต่อไป ดังที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอเมริกาถึง ๔ คนได้ใช้คำนี้ โดยเฉพาะที่เด่น คือ ประธานาธิบดีเคนเนดี (John F. Kennedy) ที่ชูนโยบาย New Frontier เป็นธงในการหาเสียง และเป็นหลักในการบริหารประเทศ

คำที่สื่อใจคนอเมริกันอีกคำหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นสมัยหลังต่อมา (เริ่มมีใช้ประมาณ ค.ศ. 1931 ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๗๔) อาจถือได้ว่าเป็นคำสืบเนื่องจากคติ frontier นั้น ซึ่งแสดงถึงอุดมคติวัตถุนิยมของสังคมอเมริกัน และคนอเมริกันรวมทั้งผู้นำทางการเมือง มักยกขึ้นมาอ้างเพื่อเป็นสื่อกระตุ้นแรงจูงใจของคนร่วมชาติ คือคำว่า American dream (ฝันอเมริกัน) ซึ่งหมายถึงความสำเร็จ และความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุ พร้อมทั้งการมีโอกาสอันเท่าเทียมกันที่จะเพียรพยายามเพื่อบรรลุจุดหมายเช่นนั้น

สังคมอเมริกัน ภายใต้แรงขับเคลื่อนของคติ frontier และอุดมคติต่างๆ ที่พ่วงมา ใช้เวลาบุกฝ่าขยายดินแดนสิ้นเวลา ๓๐๐ ปี จึงจบถึงฝั่งแปซิฟิกใน ค.ศ. 1890 (พ.ศ. ๒๔๓๓) และก้าวต่อไปจนถึงจุดหมายของระบบอุตสาหกรรม ในช่วงหลัง ค.ศ. 1975 (พ.ศ. ๒๕๑๘) กลายเป็นสังคมที่มีความมั่งคั่งสะดวกสบายพรั่งพร้อมทางวัตถุ แล้วสังคมอเมริกันก็ขึ้นสู่ยุคเป็น postindustrial society (สังคมที่ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม) และกลายเป็น consumer society (สังคมผู้บริโภค) ตลอดจนเป็น information society (สังคมข่าวสารข้อมูล) มีเศรษฐกิจใหม่ (new economy) มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้อเมริกาแผ่อิทธิพลไปเป็นโลกาภิวัตน์ (globalized) และสามารถจัดระเบียบโลกใหม่ (new world order)

เมื่อมีความมั่งคั่งพรั่งพร้อมสะดวกสบายทางวัตถุแล้ว ก็นับว่าสังคมอเมริกันได้วิ่งมาถึงหลักชัย บรรลุจุดหมายที่ใฝ่ฝันและพากเพียรมานานแสนนาน แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า มนุษย์ปุถุชนนั้นเมื่อพ้นภัยหายความทุกข์ยาก มีกินมีเสพพร้อมบริบูรณ์แล้ว ความเพียรพยายามและกระตือรือร้นที่จะดิ้นรนต่อสู้ก็มักอ่อนลง ชักจะเฉื่อยชา พร้อมทั้งเกิดความฟุ้งเฟ้อลุ่มหลงมัวเมา ติดจมในการเสพบริโภค ระเริงในกาม และการแสวงหาความสุข สังคมอเมริกันก็ไม่พ้นวงจรเก่านี้ ดังปัญหาชีวิต-สังคมที่เร้าระดมในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม พลังมุ่งไปข้างหน้าที่อ่อนและเฉื่อยชาลงนั้น คือด้านการสร้างความมั่งคั่งพรั่งพร้อมภายในสังคมของตน ที่ก้าวมาถึงขั้นเสวยผล อย่างที่ว่าเปลี่ยนจากสังคมของนักผลิตแห่งยุคอุตสาหกรรม มาเป็นนักบริโภคแห่งยุคหลังอุตสาหกรรม

แต่อีกด้านหนึ่ง ระหว่างที่สังคมอเมริกันก้าวเดินมาสู่จุดนี้ ก็ได้มีความสัมพันธ์กับนานาประเทศในโลกด้วย และเมื่อถึงตอนนี้ พลังมุ่งไปข้างหน้าของอเมริกาก็หันออกนอกประเทศ ไปสู่บทบาทของการเป็นผู้นำในโลก ซึ่งหมายถึงการแผ่ขยายวัฒนธรรมคตินิยมอุดมการณ์ พร้อมไปกับความจำเป็นในการรักษาความยิ่งใหญ่และผลประโยชน์แห่งชาติของตน

ความใฝ่ฝันของอเมริกา แสดงออกมาในวาทะของผู้นำ

ขอทบทวนว่า คติบุกฝ่าพรมแดน คือ frontier นั้น แม้ว่าความหมายเดิมแท้ๆ จะมุ่งเพื่อไปหาโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุ แต่ระหว่างที่บุกฝ่าคืบหน้าไป frontier ก็มีความหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งพ่วงเข้ามา คือการแผ่ขยายความเจริญหรืออารยธรรมไปให้แก่ถิ่นที่ยังป่าเถื่อนล้าหลัง หรือออกไปจัดการพัฒนาถิ่นที่ล้าหลังให้เจริญขึ้น ดังที่ได้เกิดคติ Manifest Destiny และไปๆ มาๆ ความหมายที่สองซึ่งพ่วงเข้ามานี้ ก็ได้กลายเป็นความหมายที่เด่นมากขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่งก็คงจะเป็นข้ออ้างเพื่อจะสร้างความรู้สึกชอบธรรมในการแผ่ขยายอำนาจของชนชาติอเมริกัน

ได้กล่าวแล้วว่า เมื่อ frontier ในประเทศจบลง คติ frontier ก็ได้เดินหน้าต่อไป โดยได้รับแรงหนุนจากลัทธิ Social Darwinism เกิดเป็นแนวคิด new “Manifest Destiny” ที่นำประเทศอเมริกาเข้าสู่ความเป็นจักรวรรดินิยม และก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในโลก ในช่วง ค.ศ. 1896 – 1920 (พ.ศ. ๒๔๓๙–๒๔๗๓) ซึ่งทำให้อเมริกาเริ่มบุกฝ่าออกไปในดินแดนส่วนอื่นของโลก เพื่อไปจัดการบังคับควบคุมชนชาติที่อ่อนแอ และนำชนชาติเหล่านั้นขึ้นสู่อารยธรรม โดยนำวัฒนธรรมที่ถือว่าสูงกว่าไปสถาปนาให้แก่ประเทศที่ล้าหลัง

เริ่มด้วยลงไปสู่อเมริกาใต้ ทำสงครามขับไล่สเปนออกจาก คิวบา ใน ค.ศ. 1898 (พ.ศ. ๒๔๔๑) แล้วบังคับซื้อฟิลิปปินส์จาก สเปนในปีเดียวกันนั้น (ราคา ๒๐ ล้านดอลลาร์) แล้วก็ผนวกหมู่เกาะฮาไวเข้ามา จนถึงซื้อหมู่เกาะเวอร์จินจากเดนมาร์กใน ค.ศ. 1917 (พ.ศ. ๒๔๗๐, ราคา ๒๕ ล้านดอลลาร์)

แม้ว่าต่อมาระบบอาณานิคมและจักรวรรดินิยมจะหมดสิ้นไป (นักวิชาการบางส่วนว่า เวลานี้เปลี่ยนไปเป็น informal imperialism คือจักรวรรดินิยมนอกแบบ) แต่อิทธิพลแนวคิดความเชื่อแบบ Manifest Destiny ก็ยังคงแฝงฝังอยู่ในจิตใจของคนอเมริกัน ดังจะเห็นได้ง่ายๆ ในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่ง inaugural address) และคำแถลงภาวะของประเทศ (State of the Union address) ของประธานาธิบดีอเมริกาหลายๆ คนจนถึงปัจจุบัน

ยกตัวอย่าง เช่น ประธานาธิบดี แมกคินลีย์ กล่าวในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่งครั้งที่ 1 (William McKinley, ค.ศ. 1897 = พ.ศ. ๒๓๔๐) ว่า

“ความไม่รู้หนังสือจะต้องถูกบำราศจากแผ่นดินอเมริกา ถ้าพวกเราจะลุถึงชะตาเด่น (high destiny) เป็นยอดสุดของประชาชาติที่เจริญแล้วในโลก ซึ่งเราควรจะทำให้สำเร็จภายใต้เทวประสงค์”

ประธานาธิบดีฮูเวอร์ กล่าวในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่ง (Herbert Hoover, ค.ศ. 1929 = พ.ศ. ๒๔๗๒) ว่า

“อิทธิพลและจุดหมายอันสูงส่งแห่งชาติของเรา ได้รับความยอมรับนับถือในหมู่ประชาชาติทั้งหลายของโลก เราใฝ่ปรารถนาความเด่นนำในโลก…”

ประธานาธิบดีไฮเซนฮาวร์ กล่าวในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่งครั้งแรก (Dwight D. Eisenhower, ค.ศ. 1953 = พ.ศ. ๒๔๙๖) ว่า

“วิถีแห่งชะตา (destiny) ได้เอาความรับผิดชอบแห่งความเป็นผู้นำของโลกเสรีมาวางลงให้แก่ประเทศของเรา… เราชาวอเมริกันรู้และเรามองเห็นความแตกต่างระหว่างความเป็นผู้นำของโลก กับความเป็นจักรวรรดินิยม…”

ในหนังสือ Beyond Peace ที่อดีตประธานาธิบดีนิกสันเขียนเสร็จก่อนล้มป่วยและถึงแก่อสัญกรรม (Richard M. Nixon, ถึงแก่อสัญกรรม 22 เม.ย. 1994 = พ.ศ. ๒๕๓๗) ได้แสดงความห่วงใยประเทศอเมริกา และเร้าเตือนประธานาธิบดีคลินตันไม่ให้ทำลายความเป็นผู้นำของอเมริกาในโลกนี้ เช่น ข้อความที่ว่า

“เราชื่นชมกับการแผ่ขยายสันติภาพและอิสรภาพ – แต่(ต้องเป็น)การแผ่ขยายสันติภาพโดยไม่เสี่ยงกับการเสียผลประโยชน์หรือหลักการของเรา และแผ่ขยายอิสรภาพโดยไม่ยอมเสี่ยงกับการเสียสันติภาพ…

คำเฟื่องใหม่ในวงการทูตอเมริกัน คือ “การแผ่ขยาย” หลังจากที่เรากักกั้นจำกัดวงลัทธิคอมมิวนิสม์มา ๔๕ ปี บัดนี้ เราได้รับคำบอกว่า จุดหมายของเรา ควรจะมุ่งแผ่ขยายประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี (free-market democracy=ประชาธิปไตยแบบทุนนิยม) … ด้วยเหตุที่เราเป็นอภิมหาอำนาจสุดท้ายที่เหลืออยู่ จึงไม่มีวิกฤติการณ์ใดที่จะไม่เกี่ยวมาถึงผลประโยชน์ของเรา…คนอเมริกันไม่รู้จักการจะเป็นที่สองหรือแม้แต่เป็นที่หนึ่งในบรรดาผู้เท่าเทียม คนอเมริกันรู้อย่างเดียวว่าจะเป็นผู้ที่เลิศสุด…”

ประธานาธิบดีคลินตัน กล่าวในคำปราศรัยแถลงภาวะของประเทศแก่รัฐสภา (William J. Clinton, ค.ศ. 1997 = พ.ศ. ๒๕๔๐) ว่า

“…ในสหัสวรรษใหม่ เพื่อให้เราสามารถคงความเป็นดวงประทีปนำทางแก่โลกนี้… เพื่อเตรียมอเมริกาให้พร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 เราจะต้องเป็นนายมีอำนาจบังคับควบคุมพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในโลกนี้ และดำรงรักษาความเป็นผู้นำของอเมริกาไว้ให้แข็งแรงและแน่ใจ… ”

คำกล่าวเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความใฝ่ปรารถนาของชนชาติอเมริกันที่จะเป็นผู้นำของโลก และแผ่ขยายแนวคิดความเชื่อ ค่านิยม ลัทธินิยม และสถาบันตามแบบของตนออกไปปลูกฝังลงในดินแดนหรือชนชาติที่ยังล้าหลังหรือด้อยพัฒนาทั่วทั้งโลก พร้อมไปด้วยกันกับการรักษาผลประโยชน์ของประเทศอเมริกาเอง

แม้แต่การบุกฝ่าไปในพรมแดนอวกาศ (space frontier) ที่มุ่งจะไปหาดินแดน และแหล่งทรัพยากรใหม่เพื่อความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุยิ่งขึ้นไป เวลานี้ก็มีความหมายด้านนั้นไม่มากนัก แต่กลับมีความหมายเด่นในแง่ของการแสดงความยิ่งใหญ่ และความเป็นผู้นำในโลกนี้

สภาพโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่ครอบคลุมและครอบงำโลกอยู่ในบัดนี้ ในความหมายหนึ่งก็คือการที่ชาวอเมริกัน หรือชนชาติตะวันตก แผ่ขยายพรมแดนตามคติ frontier นี้ออกไปในโลก หรือในอีกความหมายหนึ่ง ก็คือการออกไปทำการพิชิต (conquest) ดินแดนและวัฒนธรรมทั้งหลายทั่วไปทั้งโลก

บุกฝ่าก้าวมาได้ พอถึงจุดหมาย ก็กลายเป็นวุ่นวายสับสน

ข้างนอกยิ่งใหญ่ ข้างในทำท่าอับจน

หันกลับไปดูภายในสังคมอเมริกาเอง การแสวงหาความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้น เป็นความหมายและความมุ่งหมายเดิมของการบุกฝ่าตามคติ frontier ประวัติศาสตร์อเมริกันใช้เวลายาวนานหมดไปกับความเพียรพยายามด้านนี้ จนกลายเป็นการวางจุดหมายไว้ให้แก่สังคมเพียงชั้นเดียว คือมุ่งหาความสำเร็จและความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุ เมื่อถึงจุดหมายนั้นแล้ว ก็ไม่มีจุดหมายเหนือหรือสูงกว่าที่จะมุ่งหน้าเดินต่อไป นอกจากการที่จะมีสถานะแห่งความยิ่งใหญ่ในโลก และการรักษาผลประโยชน์ที่แอบอิงอยู่กับสถานะนั้น

เมื่อถึงจุดหมายมีวัตถุเสพบริโภคพรั่งพร้อมสะดวกสบาย จนถึงขั้นเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมของผู้บากบั่นขยันในการผลิต มาเป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม กลายเป็นนักบริโภคแล้ว ถ้าไม่ระวังให้ดี ลักษณะที่ส่อเค้าความเสื่อมก็จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่มักเป็นกันส่วนมาก คือ

๑. ความเฉื่อยชา ผัดเพี้ยน อ่อนแอลง หย่อนกำลังในการที่จะดิ้นรนต่อสู้ คลายความกระตือรือร้นลง

๒. ความฟุ้งเฟ้อหลงระเริงมัวเมาในการเสพบริโภค และหมกมุ่นในกาม ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาสังคมต่างๆ เช่น ยาเสพติด ปัญหาครอบครัว พร้อมทั้งปัญหาเด็กและเยาวชน

ในข้อ ๑. เห็นได้ชัดว่า คนอเมริกันรุ่นผู้ใหญ่หรือกลางคนเวลานี้ ติเตียนบ่นรำพึงรำพันว่า หนุ่มสาวอเมริกันยุคใหม่ อ่อนแอ สำรวย ใจเสาะ เปราะบาง ไม่สู้งาน และพากันหวั่นใจว่าประเทศของเขากำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จริยธรรมในการทำงานกำลังเสื่อมลงๆ โดยเฉพาะในช่วงปี 1990 – 1995 (พ.ศ. ๒๕๓๓–๒๕๓๘) มีหนังสือที่บ่นว่าและวิเคราะห์สภาพนี้ออกมามาก ทั้งงานเขียนทั่วไปและงานวิจัย ถ้าใครสนใจอาจหาอ่านจากตัวอย่างเช่น Why America Doesn’t Work (Chuck Colson and Jack Eckerd, 1991) Crisis in American Institutions (Jerome H. Skolnick and Elliot Currie, 1991) America at Century’s End (Alan Wolfe, ed., 1991) Taking Back America (M.W. Haga, 1995) เป็นต้น

ความจริง ที่ว่าคนอเมริกันรุ่นใหม่เกียจคร้านเฉื่อยชานั้น ก็ว่าโดยเปรียบเทียบในสายตาของคนรุ่นเก่ากว่า แต่ลักษณะนิสัยของชนชาตินี้ที่ปลูกฝังกันมายาวนานหลายร้อยปีในยุคบุกฝ่าหาที่ทำกิน และมุ่งหน้าไปในการผลิต ก็ยังส่งอิทธิพลอยู่มาก นอกจากนั้น วิถีชีวิตของเขาที่ตัวใครตัวมัน ต้องแข่งขันตลอดเวลา พึ่งกันไม่ค่อยได้ ก็บีบคั้น ทำให้ยังต้องดิ้นรนขวนขวายอาศัยเรี่ยวแรงของตัวเองอยู่ต่อไป เฉื่อยชาได้ยาก

องค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ ทั้งนิสัยบุกฝ่าจากทุนเก่า และวัฒนธรรมตัวใครตัวมันนี้ ก็ส่งผลผ่อนหรือชะลอความเสื่อมในข้อที่ ๒ ด้วย คือแม้จะเกิดความฟุ้งเฟ้อมัวเมา ก็ยากที่จะไปได้สุดเหวี่ยง

สภาพของตัวเอง
เมื่อได้พัฒนาสูงสุดเป็นผู้นำของโลก

แม้กระนั้น มองในแง่ข้อ ๒. สังคมอเมริกันยุคบริโภคนิยมก็เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ความระเริงในกาม และปัญหาทางเพศเกลื่อนกลาด ส่งผลมาถึงปัญหาครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกสลาย นอกจากปัญหาการหย่าร้างและปัญหาการทำแท้งแล้ว ปัญหาลูกไม่มีพ่อ มีลูกตั้งแต่เด็ก คือ teenage pregnancy ตลอดจนครอบครัวมีแต่แม่กับลูก เพิ่มมากจนจะกลายเป็นภาวะปกติ ทำให้ครอบครัวที่มีครบพ่อแม่ลูกชักจะกลายเป็นผิดปกติ หรือเป็นอุดมคติไป

พร้อมกันนั้น อีกด้านหนึ่งปัญหาทางจิตใจก็มากและรุนแรงขึ้น ความเหงา ความเบื่อหน่าย แปลกแยก โรคประสาท โรคจิต และการฆ่าตัวตาย ที่ติดมาตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม ก็ไม่เบาลง ในยุคอุต-สาหกรรม คนแก่ฆ่าตัวตายมาก เพราะถูกทอดทิ้ง เหงาอ้างว้าง แต่พอพ้นยุคอุตสาหกรรม เป็นสังคมบริโภค เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก เพียงในระยะ ๓๐ ปี สถิติคนอายุ ๑๕–๒๔ ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ๓๐๐% เพราะด้านหนึ่งมีบุคลิกภาพอ่อนแอลง ใจเสาะเปราะบาง และอีกด้านหนึ่ง เอาคุณค่าของชีวิตไปฝากหรือมอบไว้กับความพรั่งพร้อมทางวัตถุและความสำเร็จภายนอก พอผิดหวังหรือเบื่อหน่ายต่อสิ่งเหล่านั้น ชีวิตก็พลอยหมดความหมายไปด้วย

ปมปัญหาสำคัญที่เด่นมากของยุคนี้ คือ ความเครียด ซึ่งได้กลายเป็นสภาพจิตใจของคนสมัยปัจจุบัน ที่จริงนั้น ความเครียดนี้มีมานานแล้วในยุคอุตสาหกรรมของตะวันตก แต่ในยุคก่อนนี้ คนมีความหวังผลที่จะได้จากการบุกฝ่าเป็นตัวช่วยดุลไว้อีกด้านหนึ่ง คือ ความเครียดกลายเป็นแรงอัดกดดันให้คนยิ่งมีกำลังดิ้นรนต่อสู้มุ่งไปหาผลที่หมายว่าจะเป็นที่หลุดโล่งโปร่งสบายข้างหน้า ในยุคนั้นความเครียดแม้จะเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นกุญแจสำคัญที่บันดาลความสำเร็จ แต่มาถึงยุคนี้ คนเหมือนถึงจุดหมายแล้ว เมื่อถูกแรงอัดของความเครียดบีบกด ก็ไม่มีเป้าที่จะดันให้พุ่งต่อไปข้างหน้า ความเครียดจึงกลายเป็นภาวะว้าวุ่นอัดอั้นกดดันอยู่ภายใน แล้วระเบิดออกมาเป็นโรคทางกายบ้าง เป็นโรคทางจิตบ้าง หรือไม่ก็ระบายออกมาทางสังคมเป็นปัญหาในรูปแบบต่างๆ

ทางออกอย่างหนึ่งของคนเหล่านี้ คือการหันไปพึ่งยาเสพติด ซึ่งนอกจากกล่อมใจให้ลืมความทุกข์แล้ว ก็เป็นช่องทางที่จะเข้าถึงความสุข ที่เหนือกว่าสิ่งเสพบริโภคทั่วไปที่ชักจะจำเจ ชินชา และบางทีกลายเป็นน่าเบื่อหน่าย ทำให้ยาเสพติดกลายเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งของยุคปัจจุบัน

สื่อและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในยุคสังคมบริโภคก็มาสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีสภาพจิตอย่างนี้ ให้เพลิดเพลินหลงระเริง และระบายอารมณ์กับเรื่องรุนแรง และการโฆษณาปลุกเร้าความโลภและตัณหา

ปัญหาความรุนแรงได้แพร่ระบาดและขยายลงมาจนถึงเด็กนักเรียนชั้นประถม มีกรณีเกิดบ่อยขึ้นๆ ที่เด็กนักเรียนเอาปืนไปยิงเพื่อนนักเรียนและครูที่โรงเรียน การฆ่ากันตายมีสถิติสูงขึ้น และมีลักษณะพิเศษ คือฆ่าโดยไม่มีสาเหตุ ไม่ได้โกรธเคืองอาฆาตแค้นกัน ทำไปเพียงเพื่อระบายอารมณ์เครียดเป็นต้น ฆ่าโดยไม่มีจุดหมาย เช่นเห็นคนมากๆ ก็ยิงกราดไป ยิงเขาเจ็บหรือตายแล้ว ไม่มีความรู้สึกสะเทือนใจอะไร เฉยๆ หรือกลับสาสมใจ บางทีพากันมามุงดูคนดิ้นตาย และร้องเพลง rap song เพิ่มความสนุกขึ้นไปอีก

สังคมอเมริกามาถึงจุดเปลี่ยน ที่ตั้งเค้ามานาน

ย้อนหลังกลับไป ๓๐ กว่าปี พวกฮิปปี้คิดอย่างไร

ความจริงนั้น ความย่อหย่อนอ่อนวุฒิภาวะทางจิตใจและทางปัญญา พร้อมทั้งความมุ่งหวังที่เอียงดิ่งไปทางวัตถุข้างเดียว ที่ทำให้มนุษย์วางตัวไม่ถูกต้องและผิดหวังกับความเจริญทางวัตถุนั้น ได้เริ่มปรากฏเป็นปัญหาทางจิตใจและปัญหาทางสังคมมาตั้งแต่ประมาณ ๓๐ ปี ก่อนจบสิ้นยุคอุตสาหกรรมแล้ว คือในช่วง ค.ศ. 1960 – 1970 (ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๓–๒๕๑๓) ซึ่งเป็นระยะที่พอจะมองเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ถ้ามีวัตถุเสพบริโภคพรั่งพร้อมสมบูรณ์แล้ว คนจะมีความสุขสบายขนาดไหน

คนหนุ่มสาวยุคนั้นจำนวนมากมองเห็นว่า ความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุที่สังคมอเมริกันมุ่งมั่นทุ่มเทกำลังแสวงหามาตลอดเวลายาวนานนั้น ไม่ให้ความสมหวัง ไม่เป็นความสุขที่แท้จริง ไม่ให้ความหมายอะไรแก่ชีวิต เขาเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายแปลกแยก

เมื่อเบื่อหน่ายความเจริญนั้น ก็เบื่อหน่ายวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่รองรับคุณค่าทางวัตถุนั้นด้วย คนหนุ่มสาวยุคนั้นจึงปฏิเสธวิถีชีวิตและค่านิยมของสังคมอเมริกัน มองเห็นว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเขา เอาเวลาและพลังงานของชีวิตไปทุ่มเทให้กับการหาเงินสะสมวัตถุ วุ่นวายกันอยู่แค่นั้น ชีวิตหมดไปเปล่า หาแก่นสารอะไรไม่ได้ และจากการปฏิเสธคุณค่าที่สังคมของเขาเคยยึดถือกันมา ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางหักเหออกไปหลายอย่างตามมา ในลักษณะที่เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมย้อนยุค หรือวัฒนธรรมสวนกระแส (counterculture) ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

  • คนหนุ่มสาวจำนวนมากปฏิเสธระเบียบแบบแผนของสังคมอเมริกัน ที่บรรพบุรุษก่อร่างสร้างมา ออกไปมีชีวิตอยู่แบบง่ายๆ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ตั้งชุมชนของตนเอง โดยเฉพาะไปเป็นฮิปปี้ (hippies)
  • ปล่อยชีวิตตามสบาย อยู่อย่างธรรมชาติ นอนกลางดินกินกลางทราย ผมเผ้าไม่ต้องตัดแต่ง เสื้อผ้าขาดๆ เก่าๆ ไม่ต้องเอาใจใส่พับรีด ใช้รองเท้ายางง่ายๆ หรือไม่ต้องสวมเลย เป็นสามีภรรยากันโดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง สูบกัญชา ใช้ยาเสพติด (LSD) กันตามสบาย
  • บ้างก็แสวงหาคุณค่าทางจิตใจ หันไปชื่นชมศาสนาจากตะวันออกที่ให้ความสงบและปีติสุขลึกซึ้งภายใน หันไปสนใจสมาธิ เช่น หันไปหาโยคะ หริกฤษณะ เซ็น ตลอดจนแนวทางจิตของคนพื้นเมืองอินเดียนแดง ต่อมาก็พุทธศาสนาแบบวัชรยานของทิเบต
  • เนื่องจากนิยมความเป็นอิสระ อยู่กันอย่างง่ายๆ แบบธรรมชาติ จึงรังเกียจอำนาจและระบบการควบคุมบังคับบัญชา เกลียดชังสงคราม ดังที่พวกฮิปปี้นี้ มีบางส่วนออกไปทางการเมือง เรียกว่าพวก ยิปปี้ (Yippies) หันไปเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม โดยเฉพาะระยะนั้นเป็นช่วงอเมริกันทำสงครามในเวียตนาม นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของอเมริกา มีการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียตนามกันมาก
  • มองเห็นว่า สังคมอเมริกัน ที่บรรพบุรุษของตนบุกฝ่าแสวงหา สร้างความมั่งคั่งยิ่งใหญ่ขึ้นมานั้น ได้ข่มเหงแย่งชิงดินแดนมาจากคนพื้นเมืองอินเดียนแดง และฆ่าฟันคนเหล่านั้นล้มตายไปโดยไม่เป็นธรรม อีกด้านหนึ่งก็กดขี่ก่อความทุกข์ยากแก่คนผิวดำที่เอามาเป็นทาส คนหนุ่มสาวรุ่นนี้จึงเกิดความรู้สึกผิด (guilty) และหันไปติเตียนบรรพบุรุษของตน

คติ frontier ที่ภูมิใจ กลายเป็น conquest ที่น่ารังเกียจ

ความคิดของหนุ่มสาวอเมริกันรุ่นนี้ อยู่ในแนวทางเดียวกันกับนักปราชญ์อเมริกันรุ่นหลังๆ จำนวนมากที่มองคติ frontier ในแง่มุมที่เลวร้าย คติ frontier ที่มักถือกันมาว่าเป็นประวัติอันน่าภูมิใจยิ่ง แห่งการสร้างชาติและหล่อหลอมชีวิตจิตใจอเมริกัน พร้อมทั้งแผ่อารยธรรมไปปลูกฝังให้แก่ดินแดนที่ป่าเถื่อนหรือล้าหลังห่างไกลนั้น ปราชญ์อเมริกันรุ่นนี้กลับมองว่า คติ frontier นั้น ที่แท้ก็คือประวัติหรือเรื่องราวแห่งการรุกรานปราบปราม (a tale of conquest) ซึ่งเต็มไปด้วยการเข่นฆ่าข่มเหงคน แย่งชิงดินแดน ก่อให้เกิดภัยพิบัติและความทุกข์ยากแสนสาหัสแก่คนพื้นเมือง รวมทั้งนำโรคระบาดไปเผยแพร่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประชากรพื้นเมืองล้มหายตายลดจำนวนลงไปถึง ๕๐–๖๐% หรือบางคนว่าลดลงถึง ๙๕% ตลอดจนสลายวัฒนธรรม และทำลายธรรมชาติ (เช่น Patricia Limerick, The Legacy of Conquest: The Unbroken Past of the American West, 1988)

อีกด้านหนึ่ง เนื่องจากรังเกียจอำนาจบังคับควบคุมบังคับบัญชา พวกฮิปปี้จึงรังเกียจความเจริญแบบสมัยใหม่ ซึ่งโยงไปหาเทคโนโลยี ที่ว่าจะเป็นเครื่องมือของอำนาจ และเป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติ รวมทั้งคอมพิวเตอร์ด้วย พอดีระยะนี้ความเจริญทางด้านคอมพิวเตอร์นั้น ได้มาถึงขั้นที่เริ่มกำเนิดคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า mainframe (เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1964 = พ.ศ. ๒๕๐๗) พวกฮิปปี้รังเกียจว่าคอมพิวเตอร์อย่างนี้จะเป็นเครื่องมือรวมศูนย์อำนาจ ที่ควบคุมบังคับกิจการงานของมนุษย์จากศูนย์กลาง

การรังเกียจอำนาจบังคับควบคุมอย่างนี้ มีผลมาถึงความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ด้วย พวกฮิปปี้คิดว่าคนทั้งหลายควรมีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ได้ทั่วกันไม่จำกัดกีดกั้น และข้อมูลข่าวสารควรจะเป็นของฟรี ปรากฏว่าพวกฮิปปี้หลายคนมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดมีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (personal computer) ขึ้น ซึ่งช่วยให้คนทั่วไปหลุดพ้นจากอำนาจรวมศูนย์ของคอมพิวเตอร์แบบ mainframe (หนังสือพิมพ์ Time ฉบับฤดูใบไม้ผลิ 1995 = พ.ศ. ๒๕๓๘ ถึงกับทำเป็นฉบับพิเศษ “Welcome to Cyberspace” ลงเรื่องเอกของฉบับ ชื่อ “We Owe It All to the Hippies” ว่าการปฏิวัติด้านคอมพิวเตอร์ (computer revolution) นี้ พวกเราเป็นหนี้พวกฮิปปี้ทั้งนั้น)

เบ้าหลอมแตกไป เตือนอเมริกาให้สร้างจุดหมายใหม่

ข้างนอกยิ่งใหญ่ ข้างในวิกฤต

ชนชาติอเมริกันนั้นยึดโยงกันอยู่ด้วยแนวคิดคตินิยมอุดมการณ์ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับดินแดนหรือเผ่าพันธุ์ของคน ดังที่บุคคลสำคัญของเขาชอบพูดหรือคอยเตือนกันอยู่ เช่นที่นาย Newt Gingrich อดีตประธานรัฐสภาอเมริกัน เขียนไว้ใน To Renew America (p.30) ว่า

“อเมริกาเป็นมโนทัศน์ (idea) เป็นอารยธรรมที่มีมโนทัศน์เป็นฐานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ การที่จะเป็นคนอเมริกันก็คือการสวมรับเอาค่านิยมและชีวนิสัยที่ได้รุ่งเรืองบนพื้นทวีปนี้มาเกือบ ๔๐๐ ปี แล้ว…”

หรือล่าสุด อย่างที่ประธานาธิบดีบุชกล่าวในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่ง (inaugural addresss – 20 ม.ค. 2001 = พ.ศ. ๒๕๔๔) ว่า

“อเมริกาไม่เคยเป็นเอกภาพโดยสายเลือด โดยชาติกำเนิด หรือโดยผืนแผ่นดิน เราผูกพันกันด้วยอุดมคติทั้งหลาย…เด็กทุกคนจะต้องได้รับการสั่งสอนให้รู้หลักการเหล่านี้ พลเมืองทุกคนจะต้องเชิดชูหลักการเหล่านี้ และด้วยการสมาทานอุดมคติเหล่านี้ ผู้ที่อพยพเข้ามาทุกคน ก็ทำให้ประเทศของเรายิ่งเป็นอเมริกามากขึ้น หาได้น้อยลงไม่”

แนวคิด ค่านิยม อุดมคติ และวิถีชีวิตที่ทำให้เป็นอเมริกันนี้ จึงเป็นเหมือนเบ้าที่หลอมรวมคนต่างผิว ต่างเผ่า ต่างพรรณ ต่างวัฒนธรรม ซึ่งอพยพมาจากดินแดนต่างๆ ให้เป็นอันเดียวกัน คนอเมริกันจึงภูมิใจนักในคติที่ว่า อเมริกาเป็น “เบ้าหลอม” ที่เขาใช้คำว่า “melting pot” ซึ่งมีความหมายตรงกับคติที่ใช้เป็นทางการคือคำขวัญของชาติ (national motto) บนตราแผ่นดินของอเมริกาว่า “E pluribus unum” (จากหลายกลายเป็นหนึ่ง) หรือตามคำปฏิญาณธงแสดงความจงรักภักดีต่อประเทศอเมริกา (Pledge of Allegiance) ที่คนอเมริกันกล่าวเคารพธงชาติในพิธีสำคัญ และเด็กอเมริกันว่ากันในชั้นเรียนทั่วประเทศว่า อเมริกาเป็น “…one Nation under God…” (ชนชาติหนึ่งเดียวภายใต้องค์พระเป็นเจ้า) อย่างนี้เป็นต้น

พร้อมกันนั้น เนื่องจากภูมิหลังที่เต็มไปด้วยการข่มเหงรังแก ดิ้นรนต่อสู้ และสงครามเข่นฆ่าแย่งชิงกัน พร้อมทั้งวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน (individualism) และการมุ่งหน้าแข่งขันกัน (competition) โดยที่ทุกคนมุ่งหาและใช้โอกาส (opportunity) ให้ตนเหนือกว่า เพื่อสร้างความสำเร็จ (success) ของตน จึงเป็นเหตุบังคับและเรียกร้องให้ต้องสร้างกฎกติกาขึ้นมาเป็นเครื่องมือ และต้องยึดถือกฎหมายเป็นมาตรฐาน ต้องมีกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่กันด้วยหลักนิติธรรม (the rule of law) เพื่อไม่ให้คนเอารัดเอาเปรียบข่มเหงรังแกกัน คติต่างๆ ที่คนนับถือจะได้มีหลักประกันให้เกิดผลเป็นจริง และดำรงรักษาความมั่นคงของสังคมไว้ได้

รวมความว่า ขณะที่คนอเมริกันมีความเป็นส่วนตัวสูง และพึ่งตนเอง (self-reliance) ต่างคนต่างต้องระวังคอยปกป้องพิทักษ์สิทธิของตนเอง ในการบุกฝ่าไปเพื่อใช้โอกาสสร้างความสำเร็จตามความใฝ่ฝันแบบอเมริกัน (American dream) ที่จะมีจะเป็นจะเด่นจะสูงนั้น เขาก็มีคติเบ้าหลอม หรือ melting pot และคติแห่งนิติธรรมหรือการอยู่กันด้วยกฎหมายกฎเกณฑ์กติกาคือ the rule of law นี้ เป็นเครื่องยึดโยงและเป็นหลักประกันทางสังคม

อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมอเมริกันก้าวมาถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ คือมีความมั่งคั่งพรั่งพร้อมสะดวกสบายทางวัตถุ จบสิ้นยุคอุตสาห-กรรม กลายเป็นสังคมบริโภคแล้ว พลังพุ่งมุ่งไปหาจุดหมายอ่อนเบาลง นอกจากปัญหาทางจิตใจที่กล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่เป็นเงื่อนเป็นปมซ่อนและค้างคาอยู่ก็ผุดโผล่ออกมา กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนและสังคมอเมริกันว้าวุ่นสับสน

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง คือ คติเบ้าหลอม หรือ melting pot ที่ชื่นชมกันนักนั้น ปรากฏว่าหลอมคนไม่ได้จริง คนอเมริกันเข้ากันไม่ได้จริง ไม่สนิท ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระยะไม่นานนี้ คนผิวดำเริ่มเรียกร้องลึกเข้ามาแม้แต่ในด้านการศึกษาว่า หลักสูตรการศึกษายกย่องแต่คนผิวขาวว่าได้สร้างชาติอเมริกันมา แต่ที่จริงคนผิวดำก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสังคมอเมริกันเช่นเดียวกัน จะต้องเพิ่มในหลักสูตรการศึกษาให้มีเรื่องของคนผิวดำมากขึ้น ดังนี้เป็นต้น

melting pot ก็หลอมไม่ได้ rule of law ก็รวมไม่ติด

ในระยะนี้ คนอเมริกันยอมรับกันแล้วว่า เบ้าหลอมหรือหม้อต้ม (melting pot) แตกแล้ว สังคมอเมริกันเป็นได้แค่ American mosaic คือ เป็นเหมือนโมเสค ที่ประกอบด้วยกระเบื้องต่างสีหลากหลายมาประกอบกัน หรือไม่ก็เป็นเพียงชามสลัด (salad bowl) ที่ผักผลไม้นานาชนิดคลุกเคล้าปะปนกัน คติพหุวัฒนธรรม (multiculturalism) คือการที่คนมาอยู่ร่วมสังคมโดยแต่ละกลุ่มละพวกยังคงวิถีชีวิตของตนไว้ เป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม คตินี้กำลังเข้ามาแทนที่คติเบ้าหลอม

ลึกลงไป การที่สังคมอเมริกันหลอมรวมคนไม่สำเร็จ ก็เพราะความสุดโต่งไปข้างเดียว ที่เอาแต่ยึดมั่นในคติแห่งนิติธรรม (the rule of law) ซึ่งแม้จะเป็นจุดแข็งที่เป็นข้อดีของสังคมอเมริกา แต่เป็นเพียงด้านเดียวของอารยธรรม รวมคนได้เพียงชั้นนอกแค่ระดับสังคม ถึงแม้อเมริกาจะตรากฎหมายออกมาสร้างหลักประกันในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในแง่มุมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกผิวระหว่างคนขาวกับคนดำ แต่ไม่มีหลักและวิธีการในการสมานจิตใจ ผลรวมของคติ the rule of law ในเรื่องนี้ ก็เป็นอย่างที่ผู้รู้ของสังคมอเมริกันพูดว่า ช่องว่างแห่งความแตกแยกระหว่างผิวในสังคมอเมริกันยิ่งขยายกว้างห่างกันออกไป

คนชั้นนำและนักคิดนักเขียนในอเมริกามองเห็นว่า สังคมอเมริกันมาถึงภาวะวิกฤติ แม้ว่าวัฒนธรรมอเมริกันจะเข้มแข็งเด่นนำและกำลังเข้าครอบงำดูดกลืนวัฒนธรรมอื่นๆ จำนวนมาก จนทำให้วัฒนธรรมบางแห่งสูญสิ้นไป แต่ในอเมริกาเอง วัฒนธรรมของตนกลับเสื่อมโทรม ไม่เป็นที่พอใจของผู้ห่วงใยประเทศของเขา อย่างที่นายวิลเลี่ยม เจ. เบนเนตต์ อดีต รมว.กระทรวงศึกษาธิการ สหรัฐ เขียนไว้ (William J. Bennett, The De-Valuing of America, 1992, pp.11 – 13) ว่า

“อเมริกาเข้าสู่สงครามทางวัฒนธรรมที่กำลังเดินหน้าไปและเข้มข้นยิ่งขึ้น”

หรืออย่างที่นายนิวท์ กิงกริช อดีตประธานรัฐสภาสหรัฐเขียนไว้ (Newt Gingrich, To Renew America, 1995, pp.25 – 31) ว่า

“คนอเมริกันปัจจุบันนี้ เป็นคนรุ่นแรกในประวัติศาสตร์อเมริกา ที่ต้องเผชิญกับการท้าทายของความเสื่อมโทรมศีลธรรมจากภายในตัวเอง มีสภาพวิกฤติที่แท้ขึ้นในการศึกษาและในชีวิตของประชาชน เป็นปัญหาขึ้นมาว่า อเมริกันเรานี้เป็นอารยธรรมจริงหรือเปล่า และมีอะไรบ้างหรือไม่ในอดีตของอเมริกาที่มีคุณค่าควรแก่การถ่ายทอดสืบต่อไป”

อเมริกาเจริญก้าวหน้ายิ่งใหญ่
ก็ต้องตันเมื่อสุดทางที่พุ่งไปข้างเดียว

ไม่ต้องพูดถึงปัญหาความแบ่งแยกแตกกันระหว่างคนต่างผิว และปัญหายาเสพติดเป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างก็เป็นเรื่องใหญ่ร้ายแรงอยู่แล้ว เอาแค่ปัญหาครอบครัวแตกสลาย เด็กหญิงอายุเพียง ๑๒ – ๑๓ ขวบมีลูกกันมากมาย ครอบครัวที่มีแต่พ่อหรือมีแต่แม่ และเหย้าเรือนที่ไม่เป็นครอบครัว มีมากขึ้น เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวฆ่าตัวตายในช่วงเวลา ๓๐ ปี เพิ่มขึ้น ๓๐๐% เด็กตั้งแต่ชั้นประถม เอาปืนไปยิงกราดเพื่อนนักเรียนและครูที่โรงเรียน เป็นกรณีเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในขณะที่อเมริกาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นผู้นำพัฒนามากที่สุด กลับมีปัญหาเลวร้ายอย่างนี้มากที่สุด แสดงถึงสภาพชีวิตและสังคมที่ไม่มีความสุข และฟ้องถึงวิถีการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า หรือความสำเร็จที่ไม่พึงปรารถนา หรืออย่างน้อยน่ากังขา ซึ่งชาวอเมริกันเองจะต้องทบทวนตรวจสอบสังคมของตน และชาวโลกควรมองด้วยความรู้เท่าทัน ไม่ประมาท

เบื้องหลังสภาพสังคมอเมริกันที่เป็นอยู่นี้ มีเหตุปัจจัยสำคัญที่พอสรุปได้ คือ

ก. ถึงจุดหมาย แต่ไม่ดีอย่างที่หวัง จุดหมายของสังคมอเมริกัน ที่ได้เพียรบุกฝ่าบากบั่นพัฒนาสร้างกันขึ้นมา ตลอดประวัติ ศาสตร์ของชาติประมาณ ๔๐๐ ปี ก็เพื่อให้บรรลุความมั่งคั่งพรั่งพร้อมสมบูรณ์พูนสุขทางวัตถุ แต่เมื่อสังคมบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว

๑) คนจำนวนมากก็ย่อหย่อนอ่อนแอ เฉื่อยชาลง และหันไปลุ่มหลงหมกมุ่นกับการเสพบริโภค ฟุ้งเฟ้อมัวเมา ระเริงในกาม

๒) แต่พร้อมกันนั้น สำหรับคนอีกไม่น้อย ความสมบูรณ์พรั่งพร้อมนั้นก็ไม่ดีไม่เลิศอย่างที่ฝันไว้ ไม่ช่วยให้มีความสุขจริงอย่างที่หวัง ไม่เป็นความหมายที่แท้แก่ชีวิต หนำซ้ำยังมีผลร้ายที่พ่วงมา ซึ่งเกิดจากการสร้างความเจริญพรั่งพร้อมนั้นเอง เช่น ธรรมชาติแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง จึงมีอาการแสดงออกต่างๆ ที่เป็นปฏิกิริยาให้เห็นความผิดหวัง เช่นความเบื่อหน่าย การแสวงหาทางออกใหม่ เช่น ไปทางจิตใจ

ข. ยังต้องดิ้น ทั้งที่จบสิ้นไม่มีที่จะดิ้นต่อไป ในยุคแห่งการบุกฝ่าก้าวไปหาจุดหมายที่ยาวนานนั้น คนอเมริกันนอกจากต้องผจญกับความลำบากยากแค้นของสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ และภัยอันตรายจากการต่อสู้ ทั้งกับคนที่ตนถือว่าป่าเถื่อน และพวกที่เจริญ แต่มาเสี่ยงภัยแสวงหาโชคลาภเช่นเดียวกับตนแล้ว สังคมของเขาเองก็ได้สร้างระบบแบบแผนและวิถีชีวิตที่เร่งรัดบีบคั้นบุคคลให้ต้องดิ้นรนต่อสู้มุ่งไปข้างหน้า และตื่นตัวตลอดเวลาด้วย เช่นลัทธิตัวใครตัวมัน ระบบแข่งขัน คติใครดีใครอยู่ และการอยู่กันด้วยกฎกติกา เป็นต้น อย่างที่กล่าวแล้ว

สภาพของสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและทางสังคม และวิถีชีวิตแบบนี้ เป็นเหมือนแรงอัดหรือภาวะเครียดที่กดดันให้คนต้องวิ่งแล่นเร่งรุดไป ความเครียดกดดันนั้นทำให้ยิ่งมีพลังในการบุกฝ่ามากขึ้น เพราะการวิ่งแล่นเร่งรุดบุกไปนั้นเป็นการผ่อนคลายระบายความเครียดความกดดันออกไป

แต่เมื่อถึงจุดหมาย เหมือนกับไม่มีที่หรือทางที่จะเร่งรุดบุกฝ่าต่อไปแล้ว วิถีชีวิตที่สะสมสร้างกันมาก็ยังคงเป็นระบบที่บีบคั้นเร่งรัดกดดันให้เครียดอยู่อย่างเดิม เมื่อไม่มีช่องทางที่จะคลายระบายออกไป แรงบีบอัดและความเครียดนั้นก็ก่อผลร้าย เหมือนไอน้ำหรือแก๊สที่ระบายออกไม่ได้ ก็ปั่นป่วนกลัดกลุ้มอยู่ข้างใน หรือไม่ก็ระเบิดออกมา ความเครียดของยุคปัจจุบันจึงก่อปัญหาทางจิตใจ โรคจิต และการระบายออกเป็นปัญหาสังคมในรูปแบบต่างๆ

ค. ตั้งจุดหมายไว้ชั้นเดียว ขึ้นไปได้สุดทางแล้ว ก็วนเวียนติดตันหรือถอยลง อย่างที่กล่าวแล้วว่า สังคมอเมริกันได้ระดมทุ่มเทเรี่ยวแรงกำลังกายกำลังความคิดจิตใจพากเพียรบุกฝ่ามุ่งไปหาและสร้างสรรค์ด้านวัตถุให้มีความมั่งคั่งพรั่งพร้อม และได้สะสมพลังพุ่งมาในทางของจุดหมายนี้ เป็นเวลายาวนาน ซึ่งเป็นข้อดีของสังคมอเมริกันในการสร้างลักษณะนิสัยบางอย่าง แต่จุดหมายที่มุ่งนั้นอยู่ในขั้นของวัตถุหรือรูปธรรมเท่านั้น เป็นจุดหมายชั้นเดียว เมื่อบรรลุจุดหมายทางวัตถุแล้วก็ไม่มีจุดหมายขั้นจิตใจและระดับปัญญาที่จะมุ่งหน้าต่อไป

ขอให้ดูอุดมคติ 4 อย่างซึ่งบางทีถือว่าจะต้องรู้จึงจะเข้าใจชาติอเมริกัน อุดมคติข้อแรกคือ คติหรืออุดมคติบุกฝ่าพรมแดน (ideal of the frontier) ก็เป็นคติด้านวัตถุชัดเจนอยู่แล้ว ข้อต่อไป อุดมคติแห่งอิสรเสรีภาพ (ideal of freedom) ก็มุ่งที่เสรีภาพด้านรูปธรรม เกี่ยวกับโอกาสในการแสวงหาวัตถุและเสรีภาพทางสังคม ข้อที่สาม อุดมคติแห่งความก้าวหน้า (ideal of progress) ก็เน้นชัดในแง่ความเจริญก้าวหน้าในการสร้างความสำเร็จทางวัตถุ ทางวิชาการ และการที่จะเอาชนะและจัดการกับธรรมชาติ ข้อสุดท้าย อุดมคติแห่งประชาธิปไตย (ideal of democracy) ก็เป็นเรื่องทางสังคม และเกี่ยวกับโอกาสที่เป็นรูปธรรม

อาจจะพูดว่าสังคมอเมริกันก็มีจุดหมายทางปัญญา ซึ่งก็แน่ นอนละ มิฉะนั้นจะเจริญก้าวหน้ามาไม่ได้ แต่จุดหมายทางปัญญาของอเมริกัน ก็มาเน้นที่ด้านวัตถุอีก คือ การที่จะค้นหาล้วงเอาความลับของธรรมชาติ มาจัดการกับธรรมชาติให้ได้ผล ส่วนจุดหมายทางจิตใจเขาก็มี แต่ก็อยู่ในระดับที่เนื่องด้วยวัตถุหรือเรื่องรูปธรรมเป็นหลัก เช่นเรื่องศิลปะเป็นต้น แต่ด้านจิตใจแท้ๆ และปัญญาเกี่ยวกับนามธรรม แม้แต่ในแบบเดิมของสังคมตะวันตกคือเรื่องทางศาสนา ก็พูดได้รวมๆ กว้างๆ ว่าชาวตะวันตกได้ละทิ้งหันหลังให้มานานแล้ว

พูดได้ว่า สังคมอเมริกัน (และสังคมอุตสาหกรรมทั้งหลาย) เป็นสังคมที่เอาความพรั่งพร้อมทางวัตถุหรือเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย เมื่อวางจุดหมายไว้ในขั้นวัตถุเพียงอย่างเดียว ครั้นถึงจุดหมายนั้นแล้ว ไม่มีเป้าหมายที่จะไปต่อ ก็เคว้งคว้างวนเวียนติดตัน ถ้าตั้งจุดหมายขั้นต่อไปให้ชัดไม่ได้ คนอเมริกันก็จะต้องจมอยู่กับปัญหาที่พูดแล้วในข้อที่ ๑ และ ๒ และสังคมก็จะต้องเสื่อมลงไป

ถึงจะถลำสุดโต่งไป ก็ได้ศักยภาพเตรียมไว้ให้ฟื้นตัวได้

อย่างไรก็ตาม ขอเน้นว่า การที่คนอเมริกันได้สะสมอุปนิสัยแห่งความมุ่งมั่นบุกฝ่ามายาวนาน แม้จะถึงยุคที่อ่อนล้าเฉื่อยชาลง แต่พลังที่สะสมมาแต่เดิมก็อาจจะช่วยเขาไว้ ทำให้เกิดผลที่ว่า เมื่อพูดโดยเปรียบเทียบกับสังคมที่สุขสบายมาเป็นพื้น เขาก็จะไม่อ่อนแอเหลือเกินนัก และพลังแห่งความเข้มแข็งนั้นก็อาจจะยับยั้งไม่ให้เขาถลำจมลงไปในปลักแห่งความลุ่มหลงมัวเมามากนัก หรือนานเกินไปนัก

อีกด้านหนึ่งที่พูดแล้วคือ มีพรมแดนใหม่ที่เขายังหวังจะบุกฝ่าต่อไปอีก คือพรมแดนแห่งอวกาศ (space frontier) แม้ว่าการบุกฝ่าพรมแดนด้านนี้ จะกระตุ้นเร้าความตื่นเต้นคึกคักอยู่ได้ไม่นานก็เบาลง แล้วความสนใจก็อยู่ในวงจำกัด แต่มีพรมแดนใหม่อีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไปทั้งหมด คือพรมแดนแห่งการสื่อสารอวกาศ หรือความก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเรียกให้คู่กับ space frontier เป็น cyberspace frontier ซึ่งมาเร้าใจคนอเมริกันยุคปัจจุบันให้ฟันฝ่าต่อไป และพรมแดนอวกาศ ๒ อย่างนี้ ก็มาโยงกันอย่างดีกับแนวคิดแผ่ขยายความยิ่งใหญ่ ก้าวไปในความเป็นผู้นำของโลก และการรักษาผลประโยชน์ของชาติอเมริกัน

อย่างไรก็ดี การบุกฝ่าก้าวหน้าไปในแดน cyberspace นี้ มีลักษณะต่างจากการบุกฝ่าหาที่ทำกินในอดีต ที่เป็นเรื่องของทุกคนลงไปถึงชาวบ้านพร้อมกัน แต่การบุกฝ่าใน cyberspace เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญพิเศษบางกลุ่มบางพวก ส่วนคนทั่วไปเป็นผู้ได้รับผล และบางทีเอาไปหนุนความฟุ้งเฟ้อหมกมุ่นมัวเมาและความเสื่อมโทรมของมนุษย์ที่บรรลุจุดหมายแห่งความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุแล้ว และติดจม ไม่มีที่จะมุ่งหน้าต่อไป จึงเป็นความเจริญก้าวหน้าที่มีความขัดแย้งในตัว

การบุกฝ่าและความตื่นเต้นเร้าใจของ cyberspace นี้ อาจจะซู่ซ่าไปได้อีกระยะหนึ่ง แล้วสังคมอเมริกันและสังคมที่เดินตามเขา ก็จะต้องถึงจุดตันหรือหักเหใหม่อีกว่า จะว้าวุ่นสับสนจมถอยลงไป หรือหาทางไปข้างหน้าเพื่อจุดหมายทางจิตใจและทางปัญญา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย (บทสรุป)หันมาดูศักยภาพของไทย >>

No Comments

Comments are closed.