ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับการพัฒนา

14 ธันวาคม 2531
เป็นตอนที่ 7 จาก 9 ตอนของ

ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับการพัฒนา

ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม กับการพัฒนานั้น โดยสรุปก็คือ ในการที่สิ่งทั้งหลายจะดำรงอยู่ด้วยดี พร้อมที่จะเจริญงอกงามต่อไป องค์ประกอบของมันจะต้องประสานสัมพันธ์เกื้อกูลกันจนทำให้องค์รวมอยู่ในภาวะสมดุล วัฒนธรรมที่สืบมาจากเก่า กับการพัฒนาที่จะคืบหน้าต่อไป ก็จะต้องประสานสัมพันธ์เกื้อกูลกัน ปรับเข้ากันได้และสืบทอดต่อเนื่อง จนทำให้สังคมดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างมีดุลยภาพ ความเจริญงอกงามและประโยชน์สุขที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้

หลักการทั่วไปในการพัฒนาที่ถูกต้อง ก็เป็นการทำให้สมดุล โดยคอยจัดคอยประคับประคองให้องค์ประกอบต่างๆ ดำเนินไปอย่างประสานสัมพันธ์เกื้อกูลกันอย่างมีความสมดุล ความสมดุล นั้นเรียกง่ายๆ ว่าความพอดี ความพอดีนั้นเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา พุทธธรรมสอนเรื่อง ความพอดีเป็นหลักใหญ่

ความพอดีของแต่ละส่วน ในการกระทำแต่ละอย่างแต่ละเรื่อง เช่น บริโภคอาหารแต่พอดี เป็นต้น ความพอดีอย่างนี้ทางพระเรียกว่า “มัตตา” เช่น ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคเรียกว่า “โภชเนมัตตัญญุตา”

ประการต่อไป ความพอดีระหว่างองค์ประกอบที่ต่างก็ทำหน้าที่ของตนๆ โดยประสานสัมพันธ์กันอย่างสมดุล และทำให้องค์รวมก็เกิดความสมดุลด้วย การที่องค์ประกอบทั้งหลายทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ มีความสมดุลพอดีกัน หรือความได้สัดส่วนพอดีระหว่างองค์ประกอบ ตั้งแต่สองอย่างขึ้นไปนี้ ภาษาพระเรียกว่า “สมตา”

ประการที่สาม การที่ระบบทั้งหมดมีองค์ประกอบครบครันทำหน้าที่ได้พร้อมบริบูรณ์ มีความสมดุลพอดีที่จะให้สำเร็จผลบรรลุความมุ่งหมาย ความพอดีของระบบทั้งหมดอย่างนี้เรียกว่า “มัชฌิมา”

รวมแล้วมีความพอดี ๓ ประการ คือ “มัตตา” “สมตา” และ “มัชฌิมา” รวมเป็นระบบความคิดและการปฏิบัติที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ในการพัฒนาต่อไปนี้เราเน้นที่ความพอดีทุกอย่าง คือทั้ง มัตตา สมตา และมัชฌิมา แต่ความพอดีทั้งสามอย่างนั้น ทุกอย่างต้องอาศัยปัญญา จึงจะรู้ได้ว่าแค่ไหนพอดี และจึงจะจัดให้พอดีได้ จะต้องใช้หลักความพอดีอย่างนี้ ในการพัฒนาวัฒนธรรมและใช้วัฒนธรรมในการพัฒนา

ในการพัฒนาวัฒนธรรมและใช้วัฒนธรรมในการพัฒนานั้น มีข้อสังเกตและข้อคิดบางอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ระหว่างวัฒนธรรมกับการพัฒนา ที่จะขอกล่าวไว้เล็กน้อย

ทั้งวัฒนธรรมและการพัฒนา ต่างก็เป็นเรื่องของความเจริญงอกงามด้วยกันทั้งนั้น ว่าที่จริง “วัฒน” ในวัฒนธรรม ก็คือคำเดียวกับ “พัฒนา” นั่นเอง ดังนั้น ถ้าแปลอย่างง่ายๆ วัฒนธรรม จึงหมายถึง สิ่งที่เป็นความเจริญงอกงาม ส่วน พัฒนาแปลว่า การทำให้เจริญงอกงาม ซึ่งขยายความได้ดังนี้

วัฒนธรรม คือ ผลรวมของทุกสิ่งซึ่งเป็นความเจริญงอกงามที่สังคมนั้นๆ ได้ทำไว้หรือได้สั่งสมมาจนถึงบัดนี้ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ได้แก่ ผลรวมของความเจริญงอกงามเท่าที่มีมาถึงและมีอยู่ในปัจจุบัน

การพัฒนา คือ การสร้างสรรค์ปรับปรุงตัดแต่งเติมต่อ ให้สิ่งที่ได้สั่งสมมานั้นเจริญงอกงามสืบต่อไป พูดอีกนัยหนึ่งว่า การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทำให้เกิดมีสิ่งใหม่ๆ เพิ่มพูนกลมกลืนเข้าในกระแสธารแห่งความเจริญ ที่ได้สั่งสมกันมาให้งอกงามสืบต่อไป

วัฒนธรรมเน้นส่วนที่สืบมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การพัฒนา เน้นการทำต่อจากปัจจุบันที่จะสืบเนื่องไปในอนาคต วัฒนธรรมเป็นทุนจากเดิมเท่าที่มีอยู่ อันได้จัดเตรียมไว้ให้พร้อมสำหรับการที่จะก้าวเดินต่อไปในอนาคต ส่วนการพัฒนาเป็นการตัดแต่งเพิ่มขยาย จาก(ทุนที่มีอยู่ใน)ปัจจุบันให้เจริญงอกงามพรั่งพร้อมยิ่งขึ้นไปในอนาคต วัฒนธรรมหนักข้างอดีตถึงปัจจุบัน การพัฒนาโยงปัจจุบันไปหาอนาคต

วัฒนธรรม เป็นทั้งสิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามสืบมา และเป็นเนื้อตัวของความเจริญงอกงามที่มีอยู่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของความเจริญงอกงามต่อไป ตลอดจนเป็นเครื่องวัดระดับ ความเจริญงอกงามของสังคมนั้นๆ ส่วนการทำเนื้อตัวที่มีอยู่นั้นให้เจริญงอกงามต่อไปอีก ด้วยการดูดกลืนย่อยสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เรียกว่า การพัฒนา

วัฒนธรรม เป็นกระบวนการสร้างสรรค์สืบทอดต่อเนื่องจากอดีต สู่ปัจจุบัน เพื่อให้เจริญงอกงามต่อไปในอนาคต อย่างไม่ขาดตอน การที่วัฒนธรรมจะเจริญงอกงามสืบต่อไปในอนาคตด้วยดี จำต้องอาศัยการพัฒนา ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาวัฒนธรรม

การพัฒนานั้นมิใช่หมายเฉพาะการเสริมขยายเพิ่มพูนให้มากมายและเติบโตขึ้นเท่านั้น แต่หมายถึงการแก้ไขตัดทอน ขลิบแต่งให้ดีงามและเหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย

การพัฒนาวัฒนธรรม หมายถึง การทำให้วัฒนธรรมได้รับการปรับปรุงและปรับตัวให้มีคุณค่าสมสมัย และบังเกิดคุณประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอันเป็นจริง ที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน และกำลังก้าวเดินต่อไปในอนาคต

การพัฒนาด้วยวัฒนธรรม หรือการใช้วัฒนธรรมในการพัฒนา หมายถึง การนำเอาประสบการณ์ความจัดเจนและภูมิธรรมภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมสืบกันไว้ในสังคมของตน ออกมาใช้เป็นเครื่องมือในการที่จะเผชิญ ต้อนรับ ปรับ ดัดแปลง และสร้างสรรค์ จัดทำสิ่งใหม่ๆ ให้เข้ากันและบังเกิดคุณค่า อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

สิ่งทั้งหลายที่เพิ่มพูนเติมต่อเข้ามาใหม่ด้วยการพัฒนานั้น เมื่อกลมกลืนเข้าในวิถีชีวิตของสังคมแล้ว ก็กลายเป็นส่วนประกอบอยู่ในวัฒนธรรมไปด้วย

ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ ที่รุ่งเรืองด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเกลื่อนกล่นด้วยกิจกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ก็เป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน หากเป็นความรุ่งเรืองด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาเศรษฐกิจในความหมายที่แท้จริง เราก็อาจจะพูดว่า สังคมปัจจุบันนี้มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมเทคโนโลยี และวัฒนธรรมแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า แม้โลกปัจจุบันจะเจริญด้วยวิทยาศาสตร์ แต่คนสมัยใหม่ก็มิได้มีจิตใจแบบวิทยาศาสตร์ ท่าทีแห่งการมองโลกและชีวิตของเขายังเต็มไปด้วยลักษณะแห่งความเลื่อนลอย หรือไม่ก็เป็นไสยศาสตร์ แม้โลกปัจจุบันจะก้าวหน้าไปไกลด้วยเทคโนโลยี และได้ใช้เทคโนโลยีนั้นในการสร้างความเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่การใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ก็ได้เป็นไปเพียงเพื่อเสริมสร้างความพรั่งพร้อมทางวัตถุ และสนองค่านิยมบริโภค ไม่ได้ใช้เพื่อคุณค่าแท้ของมันในการที่จะเสริมสร้างคุณภาพชีวิต จึงส่งผลให้เกิดความสูญเสียคุณภาพชีวิต และการทำลายดุลยภาพแห่งระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ อันประกอบด้วยชีวิต ทั้งกายใจ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ผิดพลาด เราจึงมีเพียงวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมเทคโนโลยี และวัฒนธรรมแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเทียมๆ ซึ่งก็คือไม่ใช่วัฒนธรรมนั่นเอง เพราะไม่เป็นความเจริญงอกงามที่แท้จริงเลย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เมื่อพูดอย่างรวบรัดที่สุด ก็คือ เพราะเราไม่ได้พัฒนาวัฒนธรรม และไม่ได้ใช้วัฒนธรรมในการพัฒนา วัฒนธรรมกับการพัฒนาจึงไม่มาประสานบรรจบกัน บังเกิดเป็นการพัฒนาที่ไร้วัฒนธรรม และวัฒนธรรมเองก็ขาดตอนอุดตันเกิดความหมักหมม เป็นดุจน้ำนิ่งที่เน่าเสีย

ในเมื่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาเศรษฐกิจ มีบทบาทโดดเด่นในโลกยุคปัจจุบัน เราจึงจะต้องให้ความสนใจต่อมันให้มาก โดยโยงมันเข้ามาประสานบรรจบกับวัฒนธรรม ด้วยการพัฒนาอย่างถูกต้อง คือ ให้เป็นการพัฒนาที่ประสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เข้ากับวัฒนธรรม ให้ภูมิธรรมภูมิปัญญาที่มีอยู่ออกมาเสริมหนุน และกล่อมเกลาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ให้กลมกลืนเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชนอย่างมีคุณค่าที่เกื้อกูล และเสริมวัฒนธรรมให้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในทางที่จะนำมนุษยชาติสู่สันติสุขและอิสรภาพที่แท้จริง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แนวทางการพัฒนาในยุคต่อไปพระยาอนุมานราชธนกับงานทางด้านวัฒนธรรม >>

No Comments

Comments are closed.